ผลกระทบของวิกฤตการเงินสหรัฐฯต่อประเทศนิวซีแลนด์

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 30, 2008 11:01 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ตามที่ได้เกิดสถานการณ์วิกฤตการเงินสหรัฐฯขึ้นและได้เริ่มขยายเป็นวงกว้างสร้างผลกระทบต่อภาคการเงินและธุรกิจของประเทศต่างๆไปทั่วโลกนั้น ผลกระทบของสถานการณ์ต่อประเทศนิวซีแลนด์ในเบื้องต้นสามารถสรุปดังนี้

1. ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศนิวซีแลนด์ได้แจ้งว่าธนาคารส่วนใหญ่ในประเทศนิวซีแลนด์ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงมากนักต่อกฤตการณ์การเงินในสหรัฐ แต่สถานการณ์การเงินโลกในขณะนี้อาจทำให้ธนาคารในนิวซีแลนด์มีต้นทุนทางการเงินสูงขึ้นและอาจมีความยากลำบากมากขึ้นที่จะเข้าถึงแหล่งเงินจากต่างประเทศประชาชนส่วนใหญ่มีความตระหนกกับการล้มละลายของสถาบันการเงินในสหรัฐอยู่บ้าง แต่รัฐบาลก็ได้ออกมาประกาศการประกันเงินฝากให้กับผู้ฝากเงินกับธนาคารเอกชนของนิวซีแลนด์ด้วยแล้ว

2. ผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจนิวซีแลนด์ เนื่องจากสัญญาณเศรษฐกิจถดถอยมีมาก่อนการประกาศวิกฤตการเงินสหรัฐฯ โดยในช่วงกลางปีนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติ นิวซีแลนด์ได้ประกาศตัวเลข GDP ไตรมาสที่สองของปีลดลง 0.2 % จากเมื่อไตรมาสแรกที่ได้หดตัวไปแล้ว 0.3 % ซึ่งถือว่าเป็นช่วงที่มีเศรษฐกิจตกต่ำมากที่สุดในรอบ 10 ปี โดยหวังว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวดีขึ้นหลังจากกลางปี แต่นิวซีแลนด์ต้องเผชิญกับสถานการณ์วิกฤตการเงินสหรัฐฯ ที่เกิดขึ้นตามมา

3. อัตราการว่างงานในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 4.2% สูงมากที่สุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา โดยธนาคารแห่งประเทศนิวซีแลนด์ได้คาดการณ์ว่าอัตราการว่างงานของทั้งปีจะสูงขึ้นถึง 4.6 % และอาจสูงถึง 5.6 % ในต้นปี 2010 นอกจากนี้อัตราเงินเฟ้อได้เพิ่มเป็น 5.1 % ในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ สูงมากที่สุดในรอบ 18 ปีที่ผ่านมา

4. อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจเห็นว่าสถานการณ์ของนิวซีแลนด์ยังไม่เลวร้ายเท่าประเทศอื่นๆ เนื่องจากรัฐบาลนิวซีแลนด์มีหนี้ต่างประเทศต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ทำให้มีช่องว่างที่จะสามารถใช้มาตรการทางการเงินและการคลังต่างๆเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การลดอัตราดอกเบี้ย การประกันเงินฝากเป็นต้น โดย ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ประกาศลดอัตราดอกเบี้ย จาก 8.25% เหลือ 8% และ เหลือ 6.5% ในเดือนกรกฎาคม และตุลาคม ตามลำดับ คาดว่าอาจจะมีการลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 1% ในเดือนธันวาคมนี้ ปัจจุบันค่าเงินนิวซีแลนด์ได้ลดลงจากจุดสูงสุดที่ 1 NZ$= 0.82 US$ เหลือเพียง 0.55 US$

5. กระทรวงการคลังของนิวซีแลนด์เชื่อว่า GDP ของนิวซีแลนด์ในปี 2008 ทั้งปีจะโตขึ้นเพียง 0.8% และจะเพิ่มเป็น 2 %ในปี 2009 อย่างไรก็ตามภาคธุรกิจธนาคารคาดการณ์ว่าจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นในขณะนี้ จะส่งผลให้ GDP ของนิวซีแลนด์ ในปี 2009 เติบโตขึ้นเพียง 1.3 %

6. เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2551 นิวซีแลนด์ได้มีการเลือกตั้งทั่วไป ผลปรากฏว่าพรรค National ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านเดิมได้รับชัยชนะ ส่งผลให้นาย John Key เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของประเทศนิวซีแลนด์ ต่อจากนาง Helen Clark จากพรรคแรงงาน ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาถึง 3 สมัย เป็นเวลา 9 ปี นาย John Key เคยทำงานในภาคการเงินมาก่อน จึงเป็นที่คาดหวังว่าจะสามารถพาประเทศนิวซีแลนด์ออกจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้โดยเร็ว โดยประกาศจะใช้นโยบายงบประมาณแบบขาดดุลหลังจากที่ใช้นโยบายงบประมาณเกินดุลมาติดต่อกันเป็นเวลา 15 ปี ลดการจัดเก็บภาษีเงินได้ และออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ แม้ในเชิงมูลค่าอาจจะไม่เทียบเท่ากับของออสเตรเลียก็ตาม

7. เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2551 นาย John Key นายกรัฐมนตรีคนใหม่ได้จัดตั้งคณะรัฐมนตรีเสร็จสิ้นแล้ว ประกอบไปด้วยรัฐมนตรีกระทรวงหลักๆ 20 คน รัฐมนตรีกระทรวงอื่นๆที่ไม่ได้ร่วมอยู่ในคณะรัฐมนตรี (Ministers Outside Cabinet) 3 คน และรัฐมนตรีสนับสนุนอีก 5 คน โดยมีนาย Garry Brownlee เป็นรัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาเศรษฐกิจ (Minister of Economic Development) และ นาย Tim Grocer เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้า (Minister of Trade) รายละเอียดปรากฏตามรายชื่อคณะมนตรี ดังเอกสารแนบ

ข้อคิดเห็น/ข้อสังเกต

8. วิกฤตการเงินสหรัฐฯ มิได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการเงินนิวซีแลนด์มากนัก แต่ด้วยปัจจัยที่ภาวะเศรษฐกิจนิวซีแลนด์อยู่ในช่วงขาลงอยู่แล้ว จึงคาดว่าน่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจซึมลึกยาวนานยิ่งขึ้น ส่งผลกระทบต่อรายได้และความต้องการบริโภคสินค้าในประเทศ ประกอบกับปัจจัยเรื่องค่าเงินนิวซีแลนด์ที่อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วจะส่งผลให้สินค้านำเข้าราคาสูงขึ้นตามมา คาดว่าการนำเข้าจากไทยจะได้รับผลกระทบอย่างมีนัย สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหมวดสินค้าฟุ่มเฟือย เช่นรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และเสื้อผ้า เป็นต้น

9. ในขณะเดียวกัน ค่าเงินที่ต่ำลงจะเป็นโอกาสต่ออุตสาหกรรมส่งออกหลักของประเทศนิวซีแลนด์ได้แก่ สินค้า Dairy Products อุตสาหกรรมท่องเที่ยว การศึกษา เป็นต้น

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครซิดนีย์

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ