ผลกระทบของวิกฤตการเงินสหรัฐฯต่อประเทศออสเตรเลีย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 30, 2008 11:20 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ตามที่ได้เกิดสถานการณ์วิกฤตการเงินสหรัฐฯขึ้นและได้เริ่มขยายเป็นวงกว้างสร้างผลกระทบต่อภาคการเงินและธุรกิจของประเทศต่างๆไปทั่วโลกนั้น ผลกระทบของสถานการณ์ต่อประเทศออสเตรเลียในเบื้องต้นสามารถสรุปดังนี้

1. ดัชนีหุ้นของออสเตรเลียได้ดิ่งลงเหลือต่ำกว่า 4000 จุด ในวันที่ 16 ตุลาคม 2551 ซึ่งถือว่าลดลงสูงสุดในรอบ ปีที่ผ่านมา โดยมูลค่าหุ้นของธนาคารใหญ่ในออสเตรเลีย 4 แห่งซึ่งได้แก่ Westpac, ANZ,National Australia Bank (NAB) and Commonwealth Bank of Australia ได้ตกลงมาประมาณ 30 %จากมูลค่าสูงสุดในเดือนพฤศจิกายน 2550 อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของสถาบันการเงินของออสเตรเลียยังไม่เลวร้ายเท่าในประเทศสหรัฐฯ และยุโรป เหตุผลหนึ่งเนื่องจากธนาคารของออสเตรเลียมีผลกำไรมากกว่าของสหรัฐฯ และประเทศในยุโรป โดยสถาบันการเงินในออสเตรเลียได้รายงานผลกำไรของแต่ละธนาคารครึ่งปีที่ประมาณ 10 พันล้านเหรียญออสเตรเลีย เพิ่มขึ้นประมาณ 12% ขณะที่ของสหรัฐฯ ตกลงประมาณ 75% และธนาคารใหญ่ 16 ธนาคารในยุโรปตกลงประมาณ 70% นอกจากนั้น ธนาคารของออสเตรเลียยังมีการถือครอง sub-prime Mortgage ของสหรัฐฯ ในสัดส่วนที่น้อย อย่างไรก็ตาม ธนาคารของออสเตรเลียก็มีความเปราะบางอยู่ เนื่องจากการกู้เงินจากต่างประเทศเพื่อปล่อยกู้ โดยต้นทุนของเงินเพิ่มขึ้นมากตั้งแต่กลางปี 2007 ซึ่งในที่สุดต้นทุนที่สูงขึ้นจะส่งผลให้กำไรลดลง นอกจากนั้น ธนาคารยังได้รับผลกระทบจากการปล่อยกู้ให้กับบริษัทที่ประสบปัญหาทางการเงินอันเป็นผลจาก sub-prime และก็อาจจะประสบปัญหาหนี้เสียจากการปล่อยกู้ซื้อบ้าน เช่นกัน

2. ธนาคารกลางออสเตรเลียประกาศลดอัตราดอกเบี้ย 1% เหลือ 6% ในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ซึ่งถือเป็นการลดอัตราดอกเบี้ยมากที่สุดในรอบ 16 ปี ทำให้ค่าเงิน ออสเตรเลียลดลงอย่างต่อเนื่อง จากสูงสุดที่ 1 ออสเตรเลียดอลลาห์เท่ากับ 0.98 ดอลลาห์สหรัฐ ลดลงต่ำสุดเหลือ 0.64 ดอลลาห์สหรัฐ เมื่อดอกเบี้ยลดลงประกอบกับการไม่แน่ใจในภาวะเศรษฐกิจจึงมีการเทขายดอลลาห์ออสเตรเลียลง ส่งผลให้ค่าเงินออสเตรเลียลดลงอย่างมาก ทั้งนี้ คาดว่าธนาคารกลางจะลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 0.75% ในเดือนพฤศจิกายน และลดลงเหลือ 3.75% ในเดือนมีนาคม ปีหน้า

3. ในวันที่ 15 ตุลาคม 2551 รัฐบาลออสเตรเลียได้ประกาศแพกเกจกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นมูลค่า 10.4 พันล้านเหรียญออสเตรเลียซึ่งเป็นมูลค่าเกือบครึ่งของประมาณการงบประมาณ โดย 9.65 พันล้านจะเข้าสู่ระบบภายในเดือนธันวาคมนี้ ทั้งนี้เพื่อป้องกันจากความหวั่นเกรงของประชาชนต่อผลกระทบของวิกฤตการเงินสหรัฐฯ และเพื่อที่จะสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของออสเตรเลียในปีหน้า โดยมุ่งเน้นไปที่กลุ่มpensioner ครอบครัวที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง และผู้ที่ซื้อบ้านเป็นครั้งแรก (first home buyers) และไม่รอที่จะให้มีการประชุมเพื่อทบทวนงบประมาณในเดือนหน้า โดยนาย Kevin Rudd นายกรัฐมนตรีชี้แจงว่าประเทศออสเตรเลียกำลังได้รับผลกระทบต่อวิกฤตการเงินสหรัฐฯ ซึ่งถือได้ว่าเป็นวิกฤตการเงินระหว่างประเทศที่เลวร้ายที่สุดในยุคนี้ หากออสเตรเลียรอดูผลกระทบจากตัวเลขที่คาดการณ์จากรัฐบาลกลางและ IMF ก็อาจจะช้าเกินไปต่อการแก้ปัญหา ดังนั้น จึงมีการออกแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจก่อนที่ความเสียหายจะเกิดขึ้น มิฉะนั้นแล้วความเสียหายอาจจะรุนแรง นอกจากนั้น รัฐบาลออสเตรเลียจะประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้งในปลายปีนี้

4. ในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สถานการณ์วิกฤตการเงินสหรัฐฯส่งผลให้ตลาดทุนหดตัวลงทั่วโลกสร้างความเสียหายให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงประเทศออสเตรเลียด้วย โดยธนาคารแห่งประเทศออสเตรเลียได้แจ้งมูลค่าความเสียหายของช่วงครึ่งปีแรกของปี 2551 เป็นมูลค่าประมาณ 245 พันล้านเหรียญออสเตรเลีย ทั้งนี้ ในแพกเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ 10.4 พันล้านเหรียญออสเตรเลียนั้น รัฐบาลได้แบ่งเงินจำนวน 1.5 พันล้านเหรียญเพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้กู้ซื้อบ้านครั้งแรก (first home buyer) ทำให้ภาคการเงินคาดหวังว่าแพกเกจนี้จะสามารถช่วยให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์สามารถฟื้นตัวได้ภายในครึ่งแรกของปี 2552 ในขณะที่มูลค่าของตลาดหุ้นลดลงอย่างรวดเร็ว ผู้ลงทุนจะหันมาลงทุนในตลาดอสังหาริมทรัพย์แทนเนื่องจากค่าเช่าบ้านที่ถีบตัวสูงขึ้น ราคาบ้านถูกลงและดอกเบี้ยที่ลดต่ำลงส่งผลให้ต้นทุนการลงทุนซื้อบ้านถูกลง

5. แม้ว่าการที่รัฐบาลออสเตรเลียได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะเป็นที่ยอมรับจากนักเศรษฐศาสตร์โดยทั่วไป อย่างไรก็ตาม ก็เกรงว่าอาจจะไม่เร็วพอที่จะป้องกันไม่ให้ออสเตรเลียเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยคาดการณ์ว่า GDP สิ้นสุด ณ เดือนมิถุนายน 2552 จะเพิ่มขึ้นเพียง 1.5% และอัตราการว่างงานจะสูงขึ้น โดยคาดว่าในปีหน้า อัตราการว่างงานจะสูงถึง 6 % ทั้งนี้เป็นผลเนื่องมาจากธุรกิจสูญเสีย momentum และอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ประมาณ 3.3% ระหว่างปี 2552-2553

ผลกระทบต่อสินค้าไทย

1. ผลกระทบของ sub-prime ที่มีต่อสหรัฐฯ และยุโรป ทำให้ชาวออสเตรเลียมีความไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจของออสเตรเลียและระมัดระวังในการลงทุน นอกจากนั้น การส่งออกแร่ เช่น เหล็ก ทองแดง อลูมิเนียม ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของออสเตรเลียก็ได้รับผลกระทบ ทำให้เหมืองต้องปลดคนงาน ซึ่งจะส่งผลทำให้อัตราการว่างงานเพิ่มสูงขึ้น และส่งผลต่อเนื่องต่อการใช้จ่ายของครัวเรือน นอกจากนั้น ผลจากค่าเงินที่ตกลงของออสเตรเลีย ทำให้สินค้านำเข้ามีราคาสูงขึ้น The Economist คาดว่าค่าเงินของออสเตรเลียที่ตกลงมาจะคงที่ไปจนถึงปี 2009-2010 ซึ่งหมายความว่าหากค่าเงินบาทไม่อ่อนไปกว่านี้ (ขณะนี้ 1 A$= 23 บาท จากเดิม ประมาณ 30 บาท) จะทำให้สินค้าที่ นำเข้าจากไทยมีมูลค่าเปรียบเทียบสูงขึ้น โดยออสเตรเลียอาจหันมากระตุ้นการใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้า Australia Brand ที่ยังมีการประชาสัมพันธ์อยู่อย่างต่อเนื่อง

2. ตลาดส่งออกสำคัญของออสเตรเลีย เช่น เกาหลี สหรัฐฯ อังกฤษ ต่างได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งออสเตรเลียคงต้องพยายามหาทางส่งออกสินค้าไปตลาดอื่นเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ อาเซียนถือเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของออสเตรเลีย โดยไทยเป็นประเทศในอาเซียนที่ออสเตรเลียส่งออกสินค้าไปมากที่สุดและจากการที่มีเขตการค้าเสรีระหว่างกัน รวมทั้งค่าเงินออสเตรเลียที่ตกลง ก็อาจส่งผลให้ไทยมีการนำเข้า สินค้าจากออสเตรเลียเพิ่มมากขึ้น นอกจากนั้น สินค้าจากออสเตรเลียก็อาจเป็นคู่แข่งในตลาดส่งออกของไทย

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครซิดนีย์

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ