กรมสุขอนามัยและความปลอดภัยของอาหาร กระทรวงสาธาณสุขเวียดนามได้ประกาศว่าผลิตภัณฑ์นมที่มีสารเมลามีนปนเปื้อนจำนวนประมาณ 438 ตันได้ถูกกำจัดออกจากตลาดเวียดนามแล้วตั้งแต่เดือนตุลาคม 2551 และกำชับให้ผู้ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการส่งออก การผลิตและการค้าผลิตภัณฑ์จะต้องเข้มงวดต่อคุณภาพของสินค้าที่นำมาจำหน่ายมากขึ้น
ผลิตภัณฑ์นมที่ถูกทำลายจำนวนมากกว่า 17.4 ตัน ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าจากบริษัท Yili จากประเทศจีนและจากการสุ่มตัวอย่างผลิตภัณฑ์นมจำนวน 1,226 ตัวอย่างมาทดสอบพบว่ามีจำนวนเพียง 32 รายที่มีสารเมลามีนนอกจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังได้ยึดผลิตภัณฑ์นมจำนวน 167 ตันที่ไม่ปรากฏแหล่งกำเนิดนำเข้าด้วย
กระทรวงสาธารณสุขเวียดนามได้กำหนดปริมาณจำกัดของสารเมลามีนที่ยินยอมให้ปนเปื้อนในอาหารต้องไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อ 1 กิโลกรมของอาหารสำหรับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 3 ปีและต้องไม่เกิน 2.5 มิลลิกรัมต่อ 1 กิโลกรัมของอาหารอื่น ๆ
ทั้งนี้ เวียดนามได้พิจารณาโดยอิงข้อค้นพบขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่พบว่าในปริมาณ 0.2 มิลลิกรัมของสารเคมีต่อ 1 กิโลกรัมของน้ำหนักคนต่อ 1 วัน เป็นปริมาณที่พอรับได้ซึ่งหมายความว่าคนที่มีน้ำหนัก 50 กิโลกรัมสามารถบริโภคเมลามีน 10 มิลลิกรัมได้ทุกวัน
ปริมาณจำกัดของสารเมลามีนของ WHO ต่ำกว่าในประเทศอุตสาหกรรมบางประเทศเช่น สหภาพยุโรป จำกัดที่ 0.5 มิลลิกรัม ต่อ 1 กิโลกรัมของน้ำหนักตัวคนและแคนาดาจำกัดที่ 0.35 มิลลิกรัม
กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท ( MARD) ได้ออกประกาศฉบับที่ 3762/ QD —BNN-ON มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2551 กำหนดให้อาหารที่ใช้เลี้ยงทารกสามารถมีส่วนประกอบของสารเมลามีนได้ไม่เกิน 2.5 มิลลิกรัม ต่อ 1 กิโลกรัม โดยเป็นผลจากการหารือร่วมกันของกระทรวงเกษตรและกระทรวงสาธารณสุข โดยอิงมาตรฐานของประเทศพัฒนาแล้ว เช่นสหรัฐอเมริกา แคนาดา และสหภาพยุโรป เป็นต้น
1. แม้ว่าเวียดนามจะกำหนดปริมาณจำกัดของสารเมลามีนที่อนุญาตให้ปนเปื้อนในอาหารได้ แต่กระทรวงสาธารณสุขก็ยังไม่อนุญาตให้มีปริมาณปนเปื้อนในอาหารไม่ว่าจะมีปริมาณเท่าใดก็ตาม รวมทั้งยังวางแผนจะควบคุมสินค้าทุกชนิดซึ่งมีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนสารเมลามีนอีกด้วย เช่นเดียวกับอาหารสัตว์ที่แม้จะมีการจำกัดปริมาณสารเมลามีนในอาหารสัตว์ แต่กระทรวงเกษตรฯ ก็ยังห้ามการนำเข้า การผลิต การค้าและการใช้อาหารสัตว์และวัตถุดิบของอาหารสัตว์ทุกชนิดที่มีสารเมลามีนปนเปื้อน
2. ปัจจุบันมีแนวโน้มที่หลายประเทศจะใช้มาตรการกีดกันทางการค้าเพื่อปกป้องตลาดในประเทศ รวมทั้งเวียดนามที่ใช้มาตรการตรวจสอบ / ทดสอบคุณภาพของสินค้าที่จะนำเข้ามาจำหน่ายในตลาดเวียดนามอย่างเข้มงวดมากขึ้นอีกทั้งยังหมั่นส่งเจ้าหน้าที่ออกสุ่มตัวอย่างของสินค้าที่วางขายในตลาดไปทดสอบเสมอ ๆ ดังนั้นผู้ประกอบการไทยควรตรวจสอบสินค้าส่งออกให้มั่นใจว่าไม่มีสารปนเปื้อนแม้จะในระดับต่ำกว่ามาตรฐานก็ตาม เพื่อมิให้เกิดประเด็นที่จะนำไปสู่การกีดกันทางการค้าได้
สคต.นครโฮจิมินห์
ที่มา: http://www.depthai.go.th