รองเท้าแตะไทยยึดตลาดอินเดีย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 7, 2009 14:10 —กรมส่งเสริมการส่งออก

วัฒนธรรมอินเดียดูจะผูกพันกับรองเท้าแตะอย่างเหนียวแน่น ทุกคนนิยมสวมรองเท้าแตะในเกือบทุกโอกาส

ปัจจุบันแม้ว่าอินเดียจะเข้าสู่ยุค IT แล้ว แต่สาวๆ ที่ทำงานบริษัทส่วนใหญ่ก็ยังนิยมใส่ชุดส่าหรีกันอยู่ และที่ขาดไม่ได้ก็คือรองเท้าแตะเก๋ๆ ที่เข้าชุดกับส่าหรี ซึ่งสียอดนิยมจะเป็นสีดำ สีชมพู และสีม่วง อย่างไรก็ตาม ชาวมังสะวิรัติที่มีประมาณ 50 % ของประชากรอินเดีย จะพิถีพิถันมากขึ้น โดยจะถามผู้ขายก่อนเสมอให้แน่ใจว่าไม่ใช่หนังแท้ จึงจะยอมซึ้อ ซึ่งรองเท้าแตะของไทยจะเป็นที่ถูกใจเป็นพิเศษเพราะไม่ได้ใช้หนังแท้เป็นส่วนประกอบ

อีกเหตุผลหนึ่งก็เห็นจะเป็นเรื่องศาสนา คนอินเดียเคร่งศาสนามาก ทุกเช้า -เย็นและวันสำคัญทางศาสนาที่มีกว่า 100 วันในแต่ละปี ชาวฮินดูทุกคนนิยมไปเข้าวัด เมื่อเข้าวัดจะต้องถอดรองเท้า ซึ่งการสวมรองเท้าแตะนั้นจะใส่หรือจะถอดล้วนสะดวกสบายไร้กังวล จะหายก็ไม่รู้สึกเสียดายอะไรมากมาย และสำหรับชาวมุสลิมอินเดีย การสวมรองเท้าแตะนับว่าคล่องตัวมากสำหรับชีวิตประจำวันที่จะต้องละหมาดวันละหลายๆ ครั้ง

สำหรับผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมือง เช่น นักการเมืองไม่นิยมสวมสูทใส่เสื้อนอกเหมือนบ้านเรา แต่นิยมชุดประจำชาติคือเสื้อขาว โจงกระเบนขาว และที่ขาดไม่ได้คือรองเท้าแตะสีขาวซึ่งถือว่าเป็นสีที่สุภาพ เหตุผลเบื้องหลังน่าจะสืบเนื่องมาจากการได้แบบอย่างมาจากมหาตมะคานธี มหาบุรุษของอินเดียที่สวมชุดประจำชาติเสมอจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต

ตลาดรองเท้าแตะอินเดียใหญ่มาก ประชากร 1.1 พันล้านคนมักสวมรองเท้าแตะในชีวิตประจำวันเป็นส่วนใหญ่ สำหรับนักท่องเที่ยวอินเดียที่ไปเที่ยวเมืองไทย สิ่งที่ขาดไม่ได้คือการกว้านซื้อรองเท้าแตะยี่ห้อดังๆ ของไทยไปฝากพ่อแม่พี่น้อง เนื่องจากรองเท้าแตะไทยทั้งสวย ทั้งถูก เป็นที่สุขใจทั้งผู้ให้และผู้รับเป็นอย่างยิ่ง

ในงานแสดงสินค้า Thailand Exhibition ที่จัดเป็นประจำทุกปีของกรมส่งเสริมการส่งออกที่หัวเมืองสำคัญๆ ของอินเดีย เช่น มุมไบ เจนไน นิวเดลี และไฮเดอราบัด มักจะมีรองเท้าแตะไทยยี่ห้อดังๆ เช่น Aerosoft ไปร่วมงานเสมอ ซึ่งก็ไม่ผิดหวังเพราะประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง สินค้าขายเกลี้ยงก่อนวันสุดท้ายทุกปี แถมยังมีบริษัทขอเป็นตัวแทนจำหน่ายหลายราย แสดงให้เห็นชัดเจนถึงความนิยมของคนอินเดียต่อรองเท้าแตะของไทย ผู้สนใจร่วมงาน Thailand Exhibition ที่อินเดีย สามารถสอบถามรายละเอียดได้โดยตรง ที่กรมส่งเสริมการส่งออก

โดย ไพศาล มะระพฤกษ์วรรณ

รองกงสุลใหญ่ฝ่ายการพาณิชย์ ณ เมืองเจนไน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ