พาณิชย์เร่งรุกหารือภาคเอกชนกำหนดมาตรการเร่งด่วนกระตุ้นการส่งออกปี 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 12, 2009 13:45 —กรมส่งเสริมการส่งออก

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์นำรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์พร้อมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงเร่งหารือองค์กรหลักภาคเอกชนทุกสาขากว่า 150 คน เพื่อระดมความเห็นในการกู้วิกฤติเศรษฐกิจพร้อมกำหนดมาตรการเร่งด่วนกระตุ้นส่งออกปี 2552 หวังสร้างรายได้เข้าประเทศหนุนเศรษฐกิจไทยขยายตัว

วันนี้(7 ม.ค.52) นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เพื่อจัดทำมาตรการเร่งด่วนกระตุ้นการส่งออกปี 2552 โดยมีนายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นรองประธาน พร้อมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง ร่วมหารือกับองค์กรหลักภาคเอกชนทุกสาขากว่า 150 คน ณ ห้องประชุม 30410 ชั้น 4 สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ นนทบุรี เพื่อระดมความคิดเห็นจากภาคเอกชนทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย และสมาคมที่เกี่ยวข้องกับสินค้าและบริการ ครอบคลุมเกือบ 100 % ของผู้ส่งออกซึ่งสามารถสรุปข้อคิดเห็นจากการสัมมนาได้ดังนี้

1. มาตรการด้านตัวสินค้า

1.1 ทางรัฐบาล จะช่วยสนับสนุนด้านนวัตกรรมโดยขอความร่วมมือจาก สนช. (สำนักนวัตกรรมแห่งชาติ) เพื่อให้ความรู้และแนวทางกับกลุ่มธุรกิจต่างๆ ที่ขอมา

1.2 ทางรัฐบาล จะขอความร่วมมือจากกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ร่วมถึงสถาบันการศึกษาที่มีการวิจัยและพัฒนาสินค้าสำเร็จแล้ว ออกมาเผยแพร่ให้กลุ่มธุรกิจได้นำไปช่วยเสริมการวิจัยและพัฒนา เพื่อให้ได้สินค้าที่ตรงใจลูกค้า และมีหลากหลายมากขึ้น

1.3 ทางภาครัฐ จะให้ความสำคัญกับเรื่องการพัฒนาสินค้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพิ่มมูลค่า หรือเรื่องการสร้าง Brand โดยจะจัดอบรมสัมมนาให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง

1.4 ส่งเสริมธุรกิจสินค้าที่มีศักยภาพสูง ได้แก่ ธุรกิจบริการภายใต้โครงการ “Siam Supreme Service” หรือเรียกว่า โครงการ “ Triple S ” (SSS) โดยจะสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาคุณภาพและการเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการและเร่งดำเนินกิจกรรมด้านการตลาดและจัดให้มีสถาบันเฉพาะของธุรกิจบริการ เพื่อเป็นหน่วยงานหลักในการกำหนดยุทธศาสตร์และส่งเสริมธุรกิจบริการ โดยในระยะแรกจะดำเนินการในสาขาธุรกิจบันเทิงธุรกิจสุขภาพและธุรกิจออกแบบก่อสร้าง

1.5 มาตรการครัวไทยสู่ครัวโลกฉบับสมบูรณ์

จากที่เห็นโอกาสของอาหารไทย ทางรัฐบาลจะเร่งรัดเสริมครัวไทยไปสู่ครัวโลก อย่างเต็มที่ โดยไม่มุ่งเน้นเฉพาะร้านอาหารไทยในต่างประเทศ แต่จะส่งเสริมทุกธุรกิจอาหารไทยที่มีโอกาสเข้าไปอยู่ในครัวของคนทั่วโลก เช่น พืช ผัก ผลไม้ เนื้อหมู เนื้อไก่ อาหารทะเล เครื่องปรุง ไม่ว่าจะเป็นสินค้าพร้อมปรุงและพร้อมรับประทาน โดยจะตั้งทีมงานและทำ Work Shop แยกกลุ่ม เพื่อให้มาตรการครัวไทยสู่ครัวโลก ฉบับสมบูรณ์สำเร็จอย่างเร่งด่วน (ทีมงานจะประกอบไปด้วย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สถาบันอาหาร ภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง)

2. มาตรการด้านราคาและต้นทุนสินค้าและสภาพคล่อง

2.1 จะช่วยดูแลเรื่องภาษีวัตถุดิบของธุรกิจนำเข้าเพื่อส่งออกและหามาตรการ ช่วยเหลือผู้ส่งออกอย่างเร่งด่วน ตามที่ผู้ส่งออกได้นำเสนอมา

2.2 จะขอให้เพิ่มสภาพคล่องทางการเงินให้กับผู้ส่งออกโดยเพิ่มการให้สินเชื่อเพื่อการส่งออก ผ่าน Exim Bank วงเงิน 10,000 ล้านบาท

2.3 หาวงเงินช่วยประกันการส่งออก โดยผ่าน Exim Bank โดยจัดตั้งกองทุนประกันการส่งออกเพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านการชำระเงินจากผู้ซื้อหรือธนาคารผู้ซื้อในต่างประเทศ วงเงิน 5,000 ล้านบาท

2.4 จะร่วมกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาเรื่องแรงงาน ให้กับบางกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรม — ไก่แช่แข็ง , อุตสาหกรรมกุ้งแช่แข็งและอาหารทะเลกระป๋อง เป็นต้น

2.5 หาทางร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดูแลเรื่องการตลาดและวางแผนสำหรับสินค้าเกษตรเพื่อหาทางผลักดันเข้าสู่ระบบ (Contract Faming) ให้มากที่สุด

2.6 ประสานกับภาคเอกชนดูแลเรื่องต้นทุนด้าน Logistic ให้เหมาะสมและไม่ทำให้ผู้ส่งออกมีต้นทุนที่สูงเกินจริง

3. มาตรการด้านการตลาด

3.1 จะรักษาตลาดเก่าให้เข้มแข็ง

          โดยภาครัฐจะช่วยผู้ส่งออกโดยการสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายด้วยวิธี CRM (Customer Relation Management) ภายใต้โครงการ Thailand Best Friend โดยจะเชิญลูกค้ารายใหญ่ของทุกกลุ่มธุรกิจมาเป็นแขกพิเศษของรัฐบาล  โดยมอบเกียรติบัตรเป็น Thailand Best Friend พร้อมมอบสิทธิประโยชน์มากมายระหว่างที่อยู่ในประเทศไทย ให้ลูกค้ามีความรู้สึกว่าประเทศไทยเป็นบ้านที่สอง        เพื่อสร้าง Royalty Customer

3.2 สร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจกับกลุ่มลูกค้าเดิม โดยร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ได้แก่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เป็นต้น โดยในระยะแรกจะดำเนินการ Road Show ไปประเทศจีน ญี่ปุ่น อาเซียน และตะวันออกกลาง ในช่วงเดือน ก.พ. — เม.ย. 52 นี้

3.3 เร่งขยายการส่งออกไปตลาดใหม่

เร่งรัดการดำเนินการตามแผนงานกิจกรรมส่งเสริมการตลาดตามแผนงาน / โครงการซึ่งได้กำหนดไว้แล้ว 692 โครงการ โดยเร่งทั้งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม อาทิ โครงการส่งเสริมสินค้าอาหารร่วมกับห้างสรรพสินค้าที่สำคัญ เช่น ห้าง Kau Thof และห้าง Metro ในตลาดเยอรมนี ห้าง Jusco ในจีน และญี่ปุ่น

สำหรับโครงการตลาดใหม่จะนำคณะผู้แทนการค้า ไปเจรจาการค้าในตลาดใหม่ โดยจะนำธุรกิจที่มีโอกาสในตลาดใหม่เหล่านี้ไปร่วมเจรจาตามที่แจ้งความจำนงค์มาได้แก่ รัสเซีย ยุโรปตะวันออก และสเปน

นอกจากนี้จะจัดคณะผู้แทนการค้าเครื่องไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ไปตลาดญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย และจะจัดคณะผู้แทนการค้าสิ่งพิมพ์ไปออสเตรเลียและดูไบ เป็นต้น

สำหรับกลุ่มสินค้าที่มีปัญหาและแจ้งความจำนงค์ในการเร่งหาตลาดใหม่และเป็นกลุ่มส่งออกที่มีมูลค่าสูง ได้แก่ สินค้าชิ้นส่วนยานยนต์ โดยจะจัดคณะไปขยายตลาดในตะวันออกกลาง แอฟริกา ลาตินอเมริกา

ส่วนสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า จะจัดคณะผู้แทนการค้าไปเจาะตลาดอินเดีย ตะวันออกกลาง อเมริกาใต้ และรัสเซีย เป็นต้น

นอกจากนี้จะนำธุรกิจส่งออกอีกหลายกลุ่มไปเจาะกลุ่มตลาดใหม่ให้ครอบคลุมทุกธุรกิจ โดยเป้าหมายต้องครอบคลุมธุรกิจส่งออกที่มีมูลค่าส่งออกมากกว่า 50 % หรือประมาณ 3 ล้านล้านบาท

3.4 จะเร่งเจรจากรอบการค้า ASEAN SUMMIT + 6 ให้กับผู้ส่งออกได้รับประโยชน์จากมาตรการภาษีของประเทศคู่สัญญาที่ประเทศมีโอกาสส่งออกอีกหลายธุรกิจ เช่น ประเทศเกาหลี ประเทศอินเดีย หรือประเทศจีน เป็นต้น

4. มาตรการด้านการสื่อสารและสร้างภาพลักษณ์ให้กับสินค้าไทย

4.1 จะเร่งประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์สินค้าไทย ให้เป็นสินค้าที่มีคุณภาพรูปแบบและมาตรฐาน อาทิ โครงการ Thailand Brand ให้เป็นที่ยอมรับต่อสากล

4.2 หามาตรการประชาสัมพันธ์เชิงรุกถึงกลุ่มประเทศต่างๆ เป็นระบบ On-line โดยให้ครอบคลุมทุกผลิตภัณฑ์หรือเพื่อให้กลุ่มลูกค้าเก่าและใหม่ได้เข้าถึงข้อมูลของสินค้าจากประเทศไทยได้ง่ายขึ้น

5. มาตรการเสริมตามข้อเสนอขอผู้ส่งออกที่มีปัญหาเรื่องขาด Order ชั่วคราว

โดยจะบรรเทาปัญหาที่ผู้ส่งออกมีการสั่งซื้อลดลงและช่วยบรรเทาปัญหาการว่างงาน โดยนำสินค้ามาจัดจำหน่ายในงาน Made In Thailand ภายใต้โครงการ “ภูมิใจไทย ใช้ของไทย ฝ่าวิกฤติโลก” โดยจะจัดงาน Made In Thailand ที่ส่วนกลางและทุกภูมิภาค รวมทั้งการสนับสนุนการค้าชายแดนและประเทศเพื่อนบ้านให้มากขึ้น

โครงการนี้ดิฉันจะเน้นมากเป็นพิเศษ เพื่อสนับสนุนให้คนไทยหันมาใช้สินค้าไทยเพื่อช่วยลดการนำเข้าสินค้าและเป็นการช่วยลดปัญหาของผู้ส่งออกได้อีกทางหนึ่ง จากมาตรการทั้งหมดที่กล่าวมาได้วิเคราะห์และวางแผนแก้ไขปัญหามาจากรัฐบาล ข้าราชการและที่ปรึกษาเพื่อให้ตรงกับสิ่งที่ผู้ส่งออกต้องการมากที่สุด

และจากตัวเลขที่ติดลบบนพื้นฐานที่ไม่มีการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาต่างๆ แต่ถ้าเราสามารถขับเคลื่อนร่วมกันให้ตรงเป้าหมายและวัตถุประสงค์ผู้ส่งออกได้มีความมุ่งมั่นที่จะนำธุรกิจส่งออกขยับขึ้นมาเป็นบวกถึง 3% อย่างไรก็แล้วแต่ดิฉันเชื่อมั่นในศักยภาพของผู้ส่งออกทุกท่าน เพราะทุกๆ บาทของการส่งออกเพื่อนำเงินเข้ามาสู่ประเทศย่อมหมายถึงการจ้างงานการมีเงินหมุนเวียนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของเราให้เจริญมากขึ้น จึงขอให้ผู้ส่งออกทุกท่านมีกำลังใจ เพื่อร่วมกันฟันฝ่าวิกฤติของโลกนี้ไปให้ได้

มาตรการต่างๆ จะมีการ Monitor อย่างใกล้ชิดและแจ้งให้ผู้ส่งออกทราบเป็นระยะและจะให้สัมฤทธิ์ผลภายใน 3 เดือน

Upload Date :

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ