1. คนญี่ปุ่นมีแผนการใช้จ่ายเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย และสุขภาพเท่าเดิม แม้เศรษฐกิจชะลอตัว ผลการสำรวจแผนการใช้จ่ายในปีนี้จากคนญี่ปุ่น 1,000 คน ทั่วประเทศของ Nikkei เมื่อวันที่ 19-21 ธันวาคม 2551 ปรากฏว่าเกือบร้อยละ 80 ไม่ลดค่าใช้จ่าย เกี่ยวกับบ้าน และค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพและยารักษาโรค เกือบครึ่งของผู้ตอบแบบสำรวจจะประหยัดโดยลดการซื้อเครื่องนุ่งห่ม กระเป๋า และเครื่องประดับลง และตัดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นหรือไม่เร่งด่วนออกไป
ส่วนด้านอาหารนั้น ร้อยละ 65 ต้องการบริโภค “อาหารที่ผลิตในประเทศเพิ่มขึ้น” ร้อยละ 59 เห็นว่า “จุดขายสำคัญสำหรับสินค้าอาหาร คือ ความปลอดภัย” ร้อยละ 61 จะลดการซื้ออาหารนำเข้า และ
ร้อยละ 59 ระบุว่าจะรับประทานอาหารนอกบ้านน้อยลง ทั้งนี้ ผู้บริโภคตระหนักเรื่องความปลอดภัยด้านอาหารมากยิ่งขึ้น เมื่อเกิดเหตุการณ์พบสารพิษในอาหารแช่แข็งจากจีน จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่จะลดการซื้ออาหารนำเข้าและหันมาซื้ออาหารที่ผลิตในประเทศมากขึ้น และประหยัดค่าใช้จ่ายโดยเลือกซื้ออาหารราคาประหยัด และลดการออกไปรับประทานนอกบ้าน
2. นาย Fujio Mitarai ประธานบริษัท Cannon ในฐานะประธานสหพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น หรือ Nippon Keidanren เห็นว่าโลกจะยังคงประสบภาวะเศรษฐกิจถดถอยตลอดปี 2009 และเศรษฐกิจญี่ปุ่นซึ่งพึ่งพาการส่งออกจะได้รับผลกระทบรุนแรง ซึ่งประเทศสมาชิก G 20 ได้ยืนยันว่าจะพยายามพยุงเศรษฐกิจของตน ญี่ปุ่นเองก็ต้องใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเร็ว
ในส่วนของสกุลเงินหลักในธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ เนื่องจากการทำความตกลงทางการค้าจำเป็นต้องใช้เงินสกุลหลัก แม้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จะอ่อนลง แต่ยังไม่มีเงินสกุลอื่นสามารถแทนที่ได้ และไม่มั่นใจว่าโลกจะจัดการลักษณะการชำระเงินได้ดีถ้าใช้เงินหลายสกุล จึงต้องใช้ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อไป
สำหรับการผ่านพ้นวิกฤตของอุตสาหกรรมญี่ปุ่น นั้น ประธาน Keidanren เห็นว่า ญี่ปุ่นเก่งในการประดิษฐ์ และธุรกิจของญี่ปุ่นเป็นผู้นำในตลาดสินค้า อุปกรณ์เครื่องใช้ในบ้าน กล้องถ่ายรูป และโทรทัศน์ LCD จึงน่าจะมีบทบาทต่อโลกในเรื่องของเทคโยโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมและการประหยัดพลังงาน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการขยายตัวของญี่ปุ่นได้มหาศาล
3. รัฐบาลญี่ปุ่นมีเป้าหมายที่จะทำความตกลงด้านการลงทุนกับประเทศที่มีทรัพยากรสมบูรณ์ โดยจะเน้นประเทศตะวันออกกลาง และอเมริกาใต้ ญี่ปุ่นได้บรรลุความตกลงกับ 15 ประเทศ รวมทั้ง จีน เกาหลีใต้และรัสเซีย รัฐบาลญี่ปุ่นมีเป้าหมายที่จะเริ่มเจรจากับ การตาร์ โคลอมเบีย และคาซัคสถาน ในปี 2009 และทยอยขยายจำนวนประเทศเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ จากข้อกังวลของประเทศกำลังพัฒนาที่เห็นว่า การจัดทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจแบบกว้างซึ่งครอบคลุมความตกลงด้านสินค้าและการค้าบริการกับญี่ปุ่น จะส่งผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้า และญี่ปุ่นเองเห็นว่าการเจรจาเฉพาะข้อตกลงด้านการลงทุนสามารถจัดทำเสร็จสิ้นได้ภายใน 1 ปี จึงจะเน้นกระชับความสัมพันธ์จากความตกลงด้านการลงทุน
สำหรับหลักเกณฑ์ในการเลือกประเทศคู่เจรจา ได้แก่ ช่องทางการลงทุนของญี่ปุ่น ภาพรวมของประเทศนั้น ปัจจัยเพื่อการผลิตอุตสาหกรรมในประเทศ รวมทั้งการเข้าถึงแหล่งพลังงาน และอาหารสำคัญ
เนื่องจากบริษัทญี่ปุ่นจำนวนมากได้ไปดำเนินกิจการในตะวันออกกลาง รัฐบาลจะให้ความสำคัญที่จะเจรจากับ โอมาน บาห์เรน และลิเบีย รวมทั้ง กำลังพิจารณา ประเทศแอลจิเรีย แองโกลา และโบลิเวีย ในฐานะที่มีทรัพยากรมั่งคั่ง ตลอดจน อาร์เจนตินา และยูเครน ซึ่งอุดมด้วยแหล่งพลังงาน และอาหารสำคัญ
สำนักงานส่งเสริมการค้าฯ ณ กรุงโตเกียว
ที่มา: http://www.depthai.go.th