ผลิตภัณฑ์อาหารจากถั่วเหลือง อาหารเพื่อสุขภาพที่ได้รับความนิยมในญี่ปุ่น

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 14, 2009 14:00 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ผลิตภัณฑ์จากถั่วถือว่าเป็นอาหารประเภทโปรตีนทดแทนที่ได้รับความนิยมบริโภคมากที่สุดในญี่ปุ่น จนกล่าวได้ว่า อาหารถั่วชนิดต่างๆ ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอาหารประจำชาติและวัฒนธรรมการบริโภคของชาวญี่ปุ่น ผลิตภัณฑ์จากถั่วที่ถือกันว่าเป็นอาหารประจำของทุกครัวเรือนคือ เต้าหู้ หรือ Tofu ซึ่งมีหลายหลายรสชาด รวมทั้งมีการคิดค้นเมนูใหม่ๆ เช่น เต้าหู้ผสมงาขาว งาดำ ซึ่งล้วนมีคุณสมบัติพิเศษเช่นไม่มีคอเลสเตอร์รอล มีแคลอรี่ต่ำกว่าผลิตภัณฑ์จากนมถึงร้อยละ 20 และเป็นอาหารที่เหมาะสำหรับผู้ที่แพ้นม และไข่ ผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก เป็นต้น ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของตนไปสู่ New Japanese Style ที่เน้นการบริโภคอาหารย่อยง่าย และอาหารเพื่อสุขภาพที่ดี ความนิยมบริโภคเต้าหู้และผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองจึงเพิ่มปริมาณ และแพร่หลายมากยิ่งขึ้นในญี่ปุ่น บริษัทผู้ผลิตและแปรรูปอาหารและอาหารเสริมจึงหันมาเน้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จากถั่ว ตั้งแต่เดือนกันยายน ที่ผ่านมา เช่น

  • Kracie Food Co., Ltd. เริ่มวางขายไอสครีมถ้วยผลิตจากน้ำเต้าหู้ (ice soy milk) โดยมีจุดขายคือรสชาดเหมือนไอสครีมแต่ไม่มีคอเรสเตอรรอล บริษัทประมาณว่าตลาดสินค้ากลุ่มนี้มีมูลค่าถึง 2,000 ล้านเยนในปี 2551 และน่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 7,000 ล้านเยนภายในปี 2553
  • Kikkoman Co., บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายซ้อสถั่วเหลืองรายใหญ่ของญี่ปุ่นที่มีประวัติยาวนานกว่า 400 ปี เริ่มออกผลิตภัณฑ์ใหม่มีลักษณะเหมือนโยเกิร์ต เรียกว่า Yu Kuro Goma(Excellence Black Sesame) มีจุดขายคือ ใช้กรด (acid) ที่สกัดจากพืช ให้แคลอรี่ต่ำกว่าโยเกิร์ตทั่วไปถึงร้อยละ 20 และไม่มีคอเลสเตอร์รอล มีเป้าหมายที่กลุ่มสตรีวัย 20-40 คาดว่าจะมียอดขายประมาณ 2,000 ล้านเยน/ปี
  • Otsuka Pharmaceutical Co., ได้วางขายผลิตภัณฑ์จากนมถั่วเหลือง Soyjoy Health Bar มาตั้งแต่ปี 2549 สินค้าได้รับความนิยมมาก บริษัทจึงเริ่มวางขายผลิตภัณฑ์ใหม่เรียกว่า Orange Folic Acid Plus และเพิ่มธาตุเหล็กเข้าไปใน Soyjoy Health Bar ทำให้สินค้าดังกล่าวสามารถบริโภคเป็นอาหารเสริมได้ด้วย (food supplement) ปรากฎตลาดให้การต้อนรับด้วยดี มียอดขายสูงถึง 5,000 ล้านเยนในปีแรกและเพิ่มเป็น 15,000 ล้านเยนในปีถัดมา บริษัทคาดว่ายอดขายจะเพิ่มเป็น 20,000 ล้านเยนในปี 2552

ผลิตภัณฑ์อาหารชนิดใหม่ๆ จากถั่วเหลืองข้างต้น เป็นเพียงตัวอย่างของอาหารที่ได้รับความนิยม ซึ่งต่างก็มีจุดขายที่เน้นการมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ ลดปริมาณไขมันที่เป็นโทษ ไม่เป็นเหตุให้เพิ่มน้ำหนักตัว โอกาสตลาดของสินค้าในกลุ่มนนี้ยังมีลู่ทางขยายได้อีกมาก สิ่งสำคัญคือ การคิดค้นดัดแปลงทำเป็นอาหารชนิดใหม่ๆ รวมทั้งการดัดแปลงส่วนประกอบของอาหาร โดยนำสารอาหารที่เป็นประโยชน์เข้าไปทดแทน การผลิตอาหารสุขภาพ และอาหารบำรุงร่างกาย เช่น การใช้แป้งข้าวเจ้าทดแทนแป้งสาลี การใช้น้ำนมถั่วเหลืองแทนนมจากสัตว์ การเพิ่มสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายในส่วนผสมของอาหาร เป็นต้น จึงเป็นแนวโน้มใหม่ที่สามารถผู้ผลิตไทยสามารถประดิษฐ์คิดค้นขึ้น เพื่อการขยายตลาดส่งออก

Fuji Keizai Co., บริษัทวิจัยด้านการตลาดให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มการนำเสนอผลิตภัณฑ์อาหารชนิดใหม่ๆ ว่า บริษัทผู้ผลิตสินค้ามักไม่เน้นการประชาสัมพันธ์ถึงประโยชน์ของต่อสุขภาพของสินค้า เพราะกฎหมายกำหนดกฎระเบียบไว้อย่างเข้มงวด แต่จะหลีกเลี่ยงด้วยการให้ข้อมูลส่วนประกอบหรือสารอาหารที่แตกต่างออกไปและผู้บริโภครับรู้ประโยชน์ชัดแจ้งแล้ว ผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพของไทยที่ต้องการขายในตลาดญี่ปุ่นจึงควรคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ด้วย

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ