สรุปภาพรวมการส่งออกสินค้าไทยไปยังสเปน ปี 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 30, 2009 14:20 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ผลกระทบจากวิกฤตการเงินของโลก โดยเฉพาะในตลาดหลักที่มีกำลังซื้อสูง อันได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ต่างก็ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงและเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งสามารถสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนในไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 โดยเริ่มตั้งแต่สถาบันการเงินหลักของสหรัฐฯทะยอยกันล้มละลายในเดือนกันยายนและตุลาคม 2551 อันเนื่องมาจากหนี้ด้อย คุณภาพในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่เคยมีการระดมทุนจากแหล่งเงินทุนสำคัญๆทั่วโลก รวมทั้งสถาบันการเงินหลักของทวีปยุโรปหลายแห่งที่ต้องตกอยู่ในภาวะล้มละลายตามมาอันส่งผลให้มูลค่าในตลาด หลักทรัพย์ทั่วโลกปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว

ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่สำคัญคือ ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในการหารายได้จึงจำกัดการจับจ่ายใช้สอยและเพิ่มการออม ขณะเดียวกัน เมื่อความต้องการสินค้าลดต่ำลงทั่วโลก ก็ย่อมมีผลทำให้ภาคการส่งออกลดต่ำลงไปด้วย ด้วยเหตุนี้ปัจจัยที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศต่างหยุดชะงักงันพร้อมกัน ถึงแม้ว่าราคาพลังงานและอัตราเงินเฟ้อจะลดลงก็ตามก็ไม่ได้มีส่วนช่วยมากนักในส่วนภาคธุรกิจและการผลิตก็จำเป็นต้องปลดหรือปรับลดพนักงานจนกระทั่งอัตราการว่างงานอยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ ทั้งนี้ ผลกระทบจากวิกฤตทางเศรษฐกิจของโลก คาดว่าจะส่งผลต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี 2552

ประเทศไทยที่พึ่งพารายได้จากการส่งออกเป็นหลัก ย่อมได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยจะเห็นได้ว่ายอดการส่งออกของไทยในเดือนพฤศจิกายน 2551 ได้ปรับตัวลดลงถึงร้อยละ 18 และต่อเนื่องในเดือนธันวาคม 2551 ปรับลดลงอีกร้อยละ 15 อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีการกระจายการส่งออกในหลายกลุ่มสินค้า ทั้งสินค้าเกษตร สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร และสินค้าอุตสาหกรรมมิได้เน้นการส่งออกไปที่ภาคสินค้ากลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นการเฉพาะ จึงช่วยบรรเทาภาวะความรุนแรงของผลกระทบได้ในระดับหนึ่ง

การส่งออกของไทยในภาคสินค้าอุตสาหกรรม ได้รับผลกระทบค่อนข้างรุนแรง โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่มีลักษณะคงทน อาทิเช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน และเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ เป็นต้น ส่วนสินค้าที่มีความจำเป็นในการดำรงชีวิต อาทิเช่น อาหารและเครื่องนุ่งห่ม ยังคงขยายตัวได้ ถึงแม้จะมีอัตราขยายตัวลดลงก็ตาม

ภาวะเศรษฐกิจของราชอาณาจักรสเปน

ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ 2 พบว่าดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจต่างขยายตัวลดลงทุกตัว หรือขยายตัวในแดนลบ ยกเว้นการใช้จ่ายของภาครัฐ พอสรุปได้ ดังนี้

ตารางแสดงตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจของสเปนในไตรมาสที่ 3 ปี 2551
        ตัวชี้วัด                       เพิ่มขึ้น/ลดลง (ร้อยละ)
GDP                                      +0.9
การใช้จ่ายของผู้บริโภค                        +0.1
การลงทุนในสินค้าประเภททุน                    -0.6
การลงทุนในอุตสาหกรรมการก่อสร้าง              -6.4
อุปสงค์ภายในประเทศ                         +0.1
การใช้จ่ายของภาครัฐ                         +5.9
การส่งออกสินค้าและบริการ                     +1.5
การนำเข้าสินค้าและบริการ                     -1.1
ที่มา: The Spanish Economy Monthly Report, La Caixa, December 2008

อุปสงค์ภายในประเทศที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.1 เนื่องมาจากปรับตัวลดลงของการลงทุนและการบริโภคซึ่งจะคงยืดเยื้อต่อไปในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนจากยอดจำหน่ายรถยนต์ที่ลดลงร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมากอปรกับการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ลดลงควบคู่ไปกับอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่นและมีแนวโน้มที่จะออมทรัพย์มากขึ้นเนื่องจากการถดถอยอย่างรุนแรงของมูลค่าในตลาดหลักทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ที่เคยเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจมาตลอด

ขณะเดียวกันผลประกอบการของภาคธุรกิจก็มีกำไรลดลงและต้องเผชิญกับสภาวะการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดจากสถาบันการเงินส่วนภาคธุรกิจบริการขยายตัวอย่างชะลอตัวในอัตราร้อยละ 3 รวมทั้งธุรกิจการท่องเที่ยวที่เป็นแหล่งรายได้และแหล่งการจ้างงานที่สำคัญก็มีจำนวนนักท่องเที่ยวถดถอยลงเป็นลำดับ

ในส่วนการนำเข้ามีการปรับตัวลดลงร้อยละ 1.1 แสดงให้เห็นว่าความต้องการบริโภคสินค้าของประชากรลดน้อยลงเป็นลำดับ ขณะที่ภาคการส่งออกก็ขยายตัวเล็กน้อย เพียงร้อยละ 1.5

องค์กรทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่สำคัญ ได้แก่กรรมธิการสหภาพยุโรป IMF และ OECD ได้ปรับลดอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของสเปนลงอีกโดยคาดว่าในปี 2552 GDP จะขยายตัวลดลงร้อยละ -0.8

ในสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจอย่างนี้ รัฐบาลกลางได้ออกมาตรการความช่วยเหลือทางด้านการเงินสำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเป็นเงิน 1 หมื่นล้านยูโรผ่านสถาบัน Official Credit Institute ควบคู่ไปกับการขยายเวลาชำระหนี้เดิมมากกว่า 3 พันล้านยูโร ในปี 2552 ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระสภาพคล่องในการดำเนินกิจการของภาคธุรกิจนอกจากนั้นยังเตรียมออกมาตรการกระตุ้น เศรษฐกิจให้สอดคล้องกับสหภาพยุโรปโดยจะเน้นภาคการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานทั้งนี้ มาตรการสำคัญในปัจจุบันที่จะนำมาใช้ คือการลดภาษีเงินได้ส่วนบุคคลในอัตราคนละไม่เกิน 400 ยูโร

การส่งออกของไทยมายังราชอาณาจักรสเปน

ในภาพรวมการส่งออกของไทยมายังตลาดสเปนปี 2551 (ม.ค.-ธ.ค.) มีมูลค่า 1,343 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.4 ของตลาดนำเข้ารวมของสเปนขยายตัวได้ร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาซึ่งถือว่าขยายตัวลดลงมากกว่าสองปีที่ผ่านมาที่เคยขยายตัวได้ร้อยละ 16.72 และ 22.97 ตามลำดับ โดยปีนี้ไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้ามูลค่า 812 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

สินค้าสำคัญในอันดับต้นๆ ได้แก่ เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน และรถยนต์อุปกรณ์ อุปกรณ์ และชิ้นส่วนซึ่งเคยมีสัดส่วนรวมกันสูงกว่าร้อยละ 50 ได้ปรับตัวลดลงอย่างมากจากภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวยโดยในหมวดเครื่องปรับอากาศได้ปรับตัวลดลงร้อยละ -38.79 และหมวดรถยนต์และชิ้นส่วน ลดลงร้อยละ -38.58 ขณะเดียวกัน สินค้าเกษตรของไทย ยังคงสามารถขยายตัวได้ดี รวมทั้งสินค้าอุตสาหกรรมบางประเภทที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ อาทิเช่น อาหาร และเครื่องนุ่งห่ม ก็ปรับตัวสูงขึ้นเป็นลำดับจึงช่วยสนับสนุนให้ยอดส่งออกรวมของไทยยังคงรักษาตลาดในมูลค่าที่เพิ่มสูงขึ้นได้เล็กน้อยโดยพอสรุปจำแนกสินค้าส่งออกของไทยในหมวดต่างๆได้ ดังนี้

ตารางแสดงมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยไปยังสเปน (ม.ค.-ธ.ค. 2551)
 สินค้า                   มูลค่า (ล้าน USD)   เพิ่มขึ้น/ลดลง(%)      สัดส่วน (%)
ยางพารา                    108.1             -2.03             8.05
ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง             66.2            +26.97             4.93
ข้าว                         23.0            +21.67             1.71
ที่มา: ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร

สินค้ายางพาราของไทย ถึงแม้จะขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ในปี 2551 แต่แนวโน้มความต้องการสินค้ายังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะตัวสินค้ามีความสัมพันธ์อย่างสูงกับอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง อันอาจส่งผลให้ตัวเลขติดลบในปี 2552

ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เป็นมันสำปะหลังอัดเม็ด ซึ่งนำมาใช้ในอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์ โดยมีความต้องการของผู้บริโภคและสภาพดินฟ้าอากาศสำหรับการเพาะปลูกธัญพืชในยุโรปเองเป็นปัจจัยสำคัญในการขยายตัวของสินค้าจากไทย

สินค้าข้าว ถึงแม้จะขยายตัวได้ดี แต่ก็มีสัดส่วนและมูลค่าการส่งออกไปยังสเปนไม่ มากนักเนื่องจากชาวสเปนไม่นิยมรับประทานข้าวเมล็ดยาวซึ่งมีราคาแพง และยังมีปัจจัยความผันผวน ด้านราคาทำให้ผู้นำเข้าอาจชะลอการนำเข้าจนกว่าราคาจะทรงตัว แนวทางการส่งเสริมการส่งออก คือสร้างราคาให้มีสเถียรภาพ และเน้นการประชาสัมพันธ์ข้าวไทยและส่งเสริมธรุกิจร้านอาหารให้เพิ่มขึ้น เพราะเป็นสถานที่ที่ผู้บริโภคจะมีโอกาสได้ทดลองรับประทานและรู้จักข้าวไทยมากขึ้น

ตารางแสดงมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรของไทยไปยังสเปน (ม.ค.-ธ.ค. 2551)
         สินค้า                  มูลค่า(ล้าน USD)   เพิ่มขึ้น/ลดลง(%)     สัดส่วน (%)
อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป            45.5            +68.71          3.39
ผลไม้กระป๋องและแปรรูป                 36.0            +40.25          2.68
ปลาสดแช่เย็น แช่แข็ง                   31.7            +41.69          2.36
กุ้งสดแช่เย็น แช่แข็ง                    31.6           +375.84          2.35
ที่มา: ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร

หมวดสินค้าอาหารจากไทยโดยรวม ยังคงขยายตัวได้ดีถึงแม้จะมีสัดส่วนการส่งออกของสินค้าไทยไปยังตลาดสเปนไม่มากนัก คือประมาณร้อยละ 10 ก็ตาม

กุ้งสดแช่เย็น/แช่แข็ง ที่บริษัท ซีพีเอฟ ของไทยได้เข้ามาเปิดกิจการในกรุงมาดริด เพื่อรุกตลาดอย่างจริงจัง ถึงแม้จะประสบปัญหาบ้างในช่วงแรกในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคของสเปนให้หันมารับประทานกุ้งเลี้ยงจากไทยทดแทนกุ้งธรรมชาติตามความเคยชิน แต่ขณะนี้ สามารถ ส่งออกกุ้งเข้าตลาดสเปน ได้กว่า 5,000 ตัน ในปี 2551 แต่ทั้งนี้ หากผู้บริโภคยังคงลดการจับจ่ายใช้สอยอันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างต่อเนื่องและต้องเผชิญภาวะการแข่งขันอย่างกับสินค้าจาก แถบอเมริกาใต้ รวมทั้งปัญหาการชะลอการชำระเงินจากผู้นำเข้า ก็อาจจะมีผลกระทบการขยายตัวสินค้ากุ้งของไทยได้ในปี 2551 แนวทางการส่งเสริมการส่งออก คือ นำผู้ส่งออกของไทยเข้าร่วมงานแสดงสินค้าอาหารทะเล CONXEMAR ณ เมือง Vigo เพื่อแนะนำสินค้า โดยเน้นสินค้าอาหารทะเลที่มีมูลค่าเพิ่มและความหลากหลาย และเพิ่มโอกาสพบปะเจรจาการค้ากับผู้นำเข้าให้มากขึ้น รวมทั้งการแก้ไขปัญหาสินค้าอาหารทะเลที่ถูกกักกันเพื่อตรวจสอบเป็นครั้งคราวที่ท่าเรือนำเข้าของสเปน

หมวดสินค้าอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปส่วนมาก เป็นสินค้าปลาทูน่า รวมทั้งผลไม้กระป๋องและแปรรูปส่วนมากคือสัปปะรดกระป๋อง ยังคงสามารถขยายตลาดได้ดี เพราะถือเป็นสินค้าปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต และคาดว่าจะยังสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องในปี 2552 แนว ทางการส่งเสริมการส่งออก คือ รักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้นำเข้าเดิม และแสวงหาผู้นำเข้ารายใหม่และหาแนวทางการจัดกิจกรรมส่งเสริมการจำหน่ายร่วมกัน

นอกจากนี้ สินค้าที่มีลู่ทางจะส่งเสริมการส่งออกได้อีก คือ สินค้าอาหารสำเร็จรูป พร้อมรับประทาน ประเภท ทีวีดินเนอร์ เนื่องจากมีความสะดวกในการประกอบอาหารรับประทานเอง โดยประหยัดเวลานอกจากนั้น ชาวสเปนจากเดิมที่นิยมรับประทานอาหารนอกบ้าน ได้ปรับเปลี่ยน พฤติกรรมมาประกอบอาหารรับประทานเองเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ต้องประหยัดค่าใช้จ่ายมากขึ้น

ตารางแสดงมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของไทยไปยังสเปน (ม.ค.-ธ.ค. 2551)

สินค้า                                    มูลค่า(ล้าน USD)    เพิ่มขึ้น/ลดลง(%)     สัดส่วน (%)
เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ                  181.0             -38.79          13.48
เสื้อผ้าสำเร็จรูป                               137.1            +174.82          10.21
รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ                    81.0             -38.58           6.03
เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์ และส่วนประกอบ              73.3             -12.37           5.46
เคมีภัณฑ์                                      59.6            +121.00           4.44
เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์                      41.2             +36.58           3.07
ผลิตภัณฑ์ยาง                                   39.2             +23.46           2.92
เม็ดพลาสติก                                   32.9             -16.64           2.45
อัญมณีและเครื่องประดับ                           31.0              +2.67           2.31
เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และ                     29.0             +12.15           2.16
ส่วนประกอบ   เลนส์                            21.9             +23.50           1.63
เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ                  21.5             -21.42           1.60
เครื่องวิดีโอ เครื่องเสียงอุปกรณ์และส่วนประกอบ        17.7              +6.76           1.32
ที่มา: ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร

สินค้าอุตสาหกรรมหลักของไทยในตลาดสเปนโดยทั่วไปได้แก่ เครื่องปรับอากาศ และส่วนประกอบ และรถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ต่างขยายตัวติดลบเป็นจำนวนมาก จากเดิมที่เคยครองสัดส่วนการส่งออกจากไทยกว่าร้อยละ 50 ปรับตัวลดลงเหลือเพียงร้อยละ 20 ทั้งนี้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งประชาชนมีแนวโน้มที่จะหลีกเลี่ยงการใช้จ่ายในสินค้าที่มีลักษณะคงทนถาวรที่มีอายุใช้งานยาวนานในลำดับแรกๆ หากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจยังคงถดถอยอย่างต่อเนื่องในปี 2552 ย่อมส่งผลให้การขยายตัวติดลบต่อไปแนวทางการส่งเสริมการส่งออก คือ นำผู้ส่งออกไทยเข้าร่วมงานแสดงสินค้าสำคัญที่เกี่ยวข้อง โดยเน้นการขยายตลาดสินค้าชิ้นส่วนและอะไหล่ทดแทนสำหรับรถเก่าเพิ่มขึ้น

ในปี 2551 สินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปทุกประเภทจากไทย ขยายตัวในอัตราสูงมากถึงร้อยละ 175 โดยเฉพาะหมวดผ้าถัก (HS:61) ได้แก่ เสื้อสเว็ตเตอร์ ทีเชิร์ต และชุดสูทและกระโปรงสตรี และชุดสูทบุรุษ รองลงมาเป็นหมวดผ้าทอ (HS:62) ได้แก่ ชุดสูทสตรีและบุรุษ เชิร์ตบุรุษ และเสื้อผ้าเด็ก โดยสเปนได้ลดการนำเข้าจากประเทศฝรั่งเศส และโปรตุเกส รวมทั้งการนำเข้าจากประเทศคู่แข่งอื่นๆ ที่มีอัตราการขยายตัวที่ลดลงจากการสอบถามผู้นำเข้าพบว่าสินค้าของไทยมีคุณภาพได้มาตรฐาน รวมทั้งสามารถผลิตและส่งมอบสินค้าได้รวดเร็วกว่าจีนและอินเดีย ซึ่งสินค้าแฟชั่นในปัจจุบัน มีการ เปลี่ยนแปลงด้านดีไซน์อย่างรวดเร็ว ดังนั้น จึงต้องการเวลาผลิตและส่งมอบที่สั้นที่สุด แต่ทั้งนี้ ในช่วงเทศกาลปลายปียอดจำหน่ายสินค้าปลีกไม่ดีเท่าที่ควร ทำให้ร้านค้ายังคงมีสินค้าคงเหลือในระดับสูง ซึ่งจะมีผลทำให้ผู้นำเข้าชะลอการนำเข้าในช่วงต้นปี 2552 แนวทางการส่งเสริมการส่งออกคือ ร่วมจัดการส่งเสริมการจำหน่ายกับห้างสรรพสินค้าชั้นนำ และเชิญชวนผู้ส่งออกไทยมาเข้าร่วมงานแสดงสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่สำคัญของท้องถิ่น ควบคู่ไปกับการเชิญชวนผู้นำเข้าเดินทางไปเยือนงานแสดงสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปในประเทศไทยเพิ่มขึ้น

ในหมวดสินค้าเครื่องไฟฟ้าและส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบ และเครื่องวิดีโอ เครื่องเสียงอุปกรณ์และส่วนประกอบ ยังมีอัตราการขยายตัวได้แม้ในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำแต่ทั้งนี้ นโยบายและการตัดสินใจทางการผลิตและการส่งออกขึ้นอยู่กับบริษัทแม่ในต่างประเทศ ที่เป็นเจ้าของเป็นสำคัญ

หมวดสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ยังสามารถประคองตัวรักษายอดการส่งออกได้ดีในปี 2551 แต่ถ้าหากภาวะเศรษฐกิจยังคงถดถอยอย่างต่อเนื่องในปี 2552 อาจจะส่งผลให้เครื่องประดับในระดับคุณภาพและราคาต่ำถึงปานกลางได้รับผลกระทบมากขึ้น แนวทางการส่งเสริมการส่งออก คือ พยายามรักษาฐานลูกค้าเดิม โดยการเชิญชวนไปเยือนงานแสดงสินค้าในประเทศไทยอย่างสม่ำเสมอ และหาผู้นำเข้ารายใหม่เพิ่มเติม

ปัญหาและอุปสรรคการส่งออกของไทย

1. สเปน เป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป ที่เน้นนโยบายทำการค้ากันเองภายในกลุ่มประเทศสมาชิกก่อน ซึ่งมีสัดส่วนการนำเข้าสูงถึงร้อยละ 70-80

2. สเปน มีความสัมพันธ์ทางเชื้อชาติ ภาษา และวัฒนธรรมอย่างแนบแน่นกับกลุ่มประเทศแถบละตินอเมริกาที่เคยอยู่ภายใต้การปกครองในอดีตและให้สิทธิพิเศษ ทางการค้าแก่กลุ่มประเทศนี้มากกว่าประเทศอื่นๆ

3. ชาวสเปนส่วนมากไม่ใช้ภาษาอังกฤษ จึงจำเป็นที่นักธุรกิจไทยจะต้องเป็นฝ่ายปรับตัวเข้าหาลูกค้า โดยการใช้ล่ามในการติดต่อทางธุรกิจ รวมทั้งจัดทำเอกสารทางการค้าเป็นภาษาสเปนด้วย

4. ชาวสเปนมีนิสัยยึดติดกับขนบธรรมเนียมเดิมยากแก่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค อาทิเช่น การรับประทานอาหารแบบดั้งเดิมของท้องถิ่น ดังนั้น จึงทำให้การขยายตลาดสินค้าที่มีความเป็นไทยเป็นไปอย่างยากลำบาก เช่น อาหารไทย

5. การออกวีซ่าของสถานกงสุลสเปนในประเทศไทย มีความยุ่งยากไม่เอื้ออำนวยให้ นักธุรกิจไทยเดินทางมาเยือนสเปน เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในสหภาพยุโรป

6. สินค้าผักและผลไม้สดจากประเทศไทย เสียค่าใช้จ่ายในการขนส่งทางอากาศแพงกว่าสินค้าประเภทเดียวกันจากกลุ่มละตินอเมริกา เนื่องจากมีสายการบินและ เที่ยวบินระหว่างกันจำนวนมาก และขณะนี้ ประเทศบางประเทศในละตินอเมริกาสามารถเพาะปลูกผลไทยได้หลายชนิด อาทิ เช่น มังคุด ลำไย มะม่วง เป็นต้น

นอกจากนั้น การขนส่งจากละตินอเมริกายังสามารถขนส่งโดยตู้คอนเทนเนอร์ ตู้เย็นทางเรือได้ ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาและค่าขนส่งได้จำนวนมาก

7. สหภาพยุโรป ออกกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ทางการค้า ใหม่ๆเพิ่มขึ้นตลอดเวลา ทำให้เป็นการเพิ่มขั้นตอนและต้นทุนการผลิต จนบางครั้งผู้ส่งออกปรับตัวไม่ทัน

ข้อเสนอแนะ

1. สนับสนุนการท่องเที่ยวของไทย เพื่อให้ชาวสเปนได้รู้จักประเทศไทยมากขึ้น และมีโอกาสมาสัมผัสกับวัฒนธรรมไทยและได้พบเห็นหรือทดลองสินค้า/อาหารไทยรวมทั้ง ส่งเสริมการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ประเทศไทยในทุกโอกาส

2. ส่งเสริมการสร้างบุคลากรที่สามารถติดต่อสื่อสารด้วยภาษาสเปนให้เพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจุบันนี้ ยังมีจำนวนไม่เพียงพอ

3. กระตุ้นให้ผู้ส่งออกไทยใหันมาสนใจขยายตลาดในสเปนเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม จาก ที่เคยเน้นแต่บางประเทศในยุโรป อาทิเช่น เยอรมนี สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส รวมทั้ง เรียนรู้ทำความเข้าใจวิถีชีวิตความเป็นอยู่และศึกษาขนมธรรมเนียมวัฒนธรรม ตลอดจนพฤติกรรมผู้บริโภคของชาวสเปนที่แตกต่างจากตลาดอื่น

4. สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะกระทรวงเกษตร และศุลกากร เนื่องจากไม่รู้จักในตัวสินค้าบางชนิดจากประเทศไทย จึงทำการกักกันสินค้าไว้ก่อนเพื่อตรวจสอบ ทำให้การส่งมอบสินค้าไม่เป็นไปตามกำหนดเวลา หรือหากเป็นไปได้ควรเชิญผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเดินทางไปศึกษากระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานที่ประเทศไทย

5. ส่งเสริมการเปิดธุรกิจสปาไทยที่นำเสนอบริการของไทยอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่ง ปัจจุบันนี้ ธุรกิจสปาทั่วไป มักจะมีแต่เพียงบริการนวดแผนไทยแทรกอยู่เพียงรายการเดียวเท่านั้น

6. ผู้ส่งออกไทย ควรติดตามการเปลี่ยนแปลงของกฎ ระเบียบ และข้อบังคับทางการค้าของสหภาพยุโรปที่มักจะออกข้อกำหนดใหม่ๆออกมาตลอดเวลาอย่างใกล้ชิดและต้องพยายามปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง

7. ส่งเสริมธุรกิจกระจายสินค้าของไทยที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเก็บและแจกจ่ายสินค้าในกรณีที่มีปริมาณครั้งละไม่มาก

8. หาทางแก้ไขปัญหาค่าขนส่งสินค้าผักและผลไม้ไทย ที่เป็นข้อเสียเปรียบในการแข่งขันกับกลุ่มประเทศละตินอเมริกา

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมาดริด ราชอาณาจักรสปน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ