เรื่อง การลดลงของยอดขายในอุตสาหกรรมร้านอาหารและห้างสรรพสินค้า

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 12, 2009 11:21 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ด้วยวิกฤตการณ์การเงินและเศรษฐกิจในครั้งนี้ ทำให้ภาวะเศรษฐกิจถดถอย จึงมีแนวโน้มว่าผู้บริโภคจะลดการรับประทานอาหารนอกบ้าน แล้วหันมาประหยัดด้วยการทานอาหารในบ้านแทน นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องความปลอดภัยของอาหาร เช่น กรณีเกี๊ยวซ่าแช่แข็งจากประเทศจีนมีสารพิษปนเปื้อน เป็นต้น บริษัทร้านอาหารแต่ละแห่งได้รับมือด้วยการปิดร้านสาขาที่ไม่ได้กำไรหรือลดราคาอาหารเพื่อรักษาลูกค้า แต่การต่อสู้ด้วยการลดราคาอาจจะทำให้เกิดการปะทะกันอย่างรุนแรงได้

จากรายงานของ Japan Food Service Association พบว่า ยอดขายของร้านอาหารในปี 2008 ลดลงจากปีก่อนหน้า 0.8% ร้านอาหารสำหรับครอบครัว (Family Restaurant) ร้านเนื้อย่าง ร้านบริการอาหารและเหล้า (Izakaya) ที่มีค่าใช้จ่ายต่อหัวของลูกค้าสูงกว่า 1,000 เยน นั้น มีไม่มาก ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปีที่ต่ำกว่ามาตรฐานของปีก่อนหน้า ประกอบกับราคาน้ำมันที่สูงตัวในช่วงครึ่งแรกของปีที่แล้วและการชะลอตัวของการบริโภค ทำให้ยอดขายของร้านอาหารสำหรับครอบครัว ซึ่งรวมถึงร้านเนื้อย่างลดลง 3.3% ผับหรือร้าน Izakaya ลดลง 1.6% ซึ่งเป็นการลดลงติดต่อกัน 12 ปีของทั้งสองประเภทธุรกิจนี้

ในอีกด้านหนึ่ง ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดซึ่งส่วนใหญ่ราคาถูก มียอดขายเพิ่มขึ้น 1.3% ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานของปีก่อนหน้าติดต่อกันเป็นปีที่ 4 บริษัทอันดับหนึ่ง McDonald’s Holdings Japan ยังคง “แมค 100 เยน” ซึ่งนำเสนอราคาถูก ไปพร้อมๆ กับรักษายอดขายจากเมนูอาหารชุด นอกจากนี้ ยุทธศาสตร์ในการรักษาผู้บริโภค เช่น การแจกคูปอง การขยายเวลาทำการ ก็ประสบความสำเร็จอย่างมากด้วย

จากรายงานดังกล่าวยังคาดการณ์ว่า ความซบเซาของอุตสาหกรรมร้านอาหารจะดำเนินต่อไปเป็นเวลานาน ทำให้ความเคลื่อนไหวในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างร้านอาหารเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะร้านอาหารสำหรับครอบครัว เช่น “สกายลาร์ค” ทำการปิด/เปลี่ยนรูปแบบธุรกิจของร้านที่ไม่มีกำไร 498 ร้าน ซึ่งอีก 1 ปีจากนี้ไป รูปแบบธุรกิจ “สกายลาร์ค” จะหายไป ด้าน Royal Holdings มีแผนที่จะปิดร้าน เช่น “Royal Host” จำนวน 60 ร้าน ภายในปลายปี 2010 นอกจากนี้ ร้านอาหารลูกโซ่ (Chain Restaurant) ที่ลดราคาเพื่อดึงดูดผู้บริโภคก็เริ่มเห็นเด่นชัดขึ้น เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่แล้ว Denny’s ลดราคา 30 รายการอาหาร และลดเพิ่มอีก 30 รายการในเดือนกันยายน ทั้งยังมีนโยบายที่จะลดค่าใช้จ่ายต่อหัวลูกค้าลงอีก

นอกจากนั้น ห้างสรรพสินค้าเองก็ทำการจัดช่วงลดราคาสินค้า โดยปรับลดราคาลง 30-50% แต่ลูกค้าในปัจจุบันจะซื้อเฉพาะของที่จำเป็นเท่านั้น ซึ่งหากเศรษฐกิจถดถอยเป็นเวลานาน จะยิ่งทำให้ลูกค้าระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายลูกค้าต่อหัวลดลง และด้วยเหตุนี้ อาจจะทำให้ลูกค้าเปลี่ยนไปใช้บริการร้านลูกโซ่ (Chain Store) หรือร้านลดราคาที่ประชาสัมพันธ์โดยใช้ราคาถูกเป็นจุดเด่น

เปอร์เซนต์การลดลงของยอดขายห้างสรรพสินค้ารายใหญ่

(เทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา)

รายชื่อห้างสรรพสินค้า          ม.ค.2009/ ม.ค.2008          ธ.ค.2008/ ธ.ค.2007
Mitsukoshi                     11.3%                        9.9%
Isetan                          9.1%                       10.0%
Daimaru                         8.4%                        8.9%
Matsusakaya                    12.2%                       13.5%
Takashimaya                    10.1%                       10.4%

จากตารางด้านบนแสดงให้เห็นว่า ยอดขายในเดือนมกราคมที่ห้างสรรพสินค้าใหญ่ 5 แห่งประกาศออกมานั้น ทุกบริษัทลดลงประมาณ 10% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งลดต่อเนื่องจากเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ในจำนวนนี้ ห้าง Matsusakaya ห้าง Mitsukoshi และห้าง Takashimaya ลดลงมากกว่า 10% สินค้าฟุ่มเฟือยและเสื้อผ้าซึ่งเป็นสินค้าหลักนั้น มียอดขายตกต่ำลงอย่างมาก แสดงให้เห็นแน่ชัดว่า เกิดความกดดันต่อผลประกอบการของแต่ละบริษัท

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ห้าง Matsusakaya ได้เผชิญหน้ากับการชะลอตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ สาขาโตโยต้า ลดลง 14.5% สาขานาโงย่าลดลง 14.8% สาขาโอกาซากิลดลง 15.2% ซึ่งแสดงให้เห็นถึงผลจากการถดถอยทางเศรษฐกิจในเขตจูบุที่มีอุตสาหกรรมรถยนต์ เช่น โตโยต้า ตั้งอยู่

โดย สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโอซากา

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ