เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2551 บริษัท Alibaba.com Limited1 ซึ่งเป็นบริษัทดำเนินธุรกิจ e-commerce ชั้นนำของโลก ได้ทำการสำรวจแนวโน้มรสนิยมการซื้อเครื่องประดับของสตรีญี่ปุ่น ประจำปี 2551 โดยเจาะกลุ่มเป้าหมายสตรีสมรสแล้วที่มีอายุระหว่าง 20-60 ปี เกี่ยวกับประเภทและรูปแบบของเครื่องประดับ ราคา และสถานที่ที่นิยมซื้อ ผลการสำรวจจากผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 300 ราย ปรากฎว่าอายุของผู้ซื้อ เป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดรสนิยมของเครื่องประดับ กล่าวคือ ผู้ที่มีอายุมากกว่ามักจะให้ความสนใจในคุณภาพ รูปแบบที่สะท้อนรสนิยมและความสวมใส่สบายมากกว่าความสวยงามแต่เพียงอย่างเดียว รวมทั้งยินดีที่จะจ่ายในราคาที่แพงกว่าเช่นกัน
จากผลการสำรวจ เครื่องประดับที่สตรีชาวญี่ปุ่นนิยมซื้อมากที่สุดใน 3 อันดับแรก คือ สร้อยคอ (30.7%) รองลงมา คือ ต่างหู (29.3%) และแหวน ( 14.0%) ตามลำดับ
ถ้าแบ่งรสนิยมตามกลุ่มอายุ เครื่องประดับที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในกลุ่มสตรีที่มีอายุระหว่าง 40-60 ปี คือ สร้อยคอ ถัดมา คือ ต่างหู และแหวน เช่นกัน
ขณะที่ในกลุ่มสตรีที่อายุระหว่าง 20 — 40 ปี ความนิยมใส่ต่างหูมาเป็นอันดับหนึ่ง ตามมาด้วย สร้อยคอ และแหวน
รูปแบบของเครื่องประดับที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อก็มีความแตกต่างกันไปตามกลุ่มอายุเช่นกัน สตรีอายุ 20 — 40 ปี เครื่องประดับแนวเก๋ไก๋และน่ารัก จะได้รับความสนใจและเลือกซื้อเป็นลำดับแรก มากกว่าแบบที่ดูอ่อนหวานหรือหรูหราส่วนกลุ่มที่มีอายุระหว่าง 40 — 50 ปี ให้ความสำคัญกับแบบที่หรูหราสะท้อนรสนิยมมากที่สุด ในขณะที่สตรีที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปจะเน้นในเรื่องของคุณภาพ ความสะดวกสบายในการสวมใส่เป็นลำดับต้น ตามมาด้วยรูปแบบที่หรูหราและอ่อนหวาน
แหล่งชอปปิ้งที่สตรีญี่ปุ่นนิยมไปเลือกซื้อเครื่องประดับ คือ ห้างสรรพสินค้า ที่กระจายอยู่ทั่วไปในแหล่งชอปปิ้งของเมืองต่างๆ รองลงมา อาทิ ชอปปิ้งมอลล์ ร้านขายเครื่องประดับ นอกจากนี้การซื้อขายผ่านอินเทอร์เน็ตก็เป็นช่องทางที่ได้รับความนิยมเช่นกัน (ยกเว้นในกลุ่มสตรีที่มีอายุมากกว่า 50 ปี ขึ้นไป) ซึ่งผู้ที่สนใจตลาดเครื่องประดับญี่ปุ่นควรศึกษาเป็นข้อมูลเพื่อวางสินค้าได้ตรงตามกลุ่มเป้าหมาย
สำหรับระดับราคาของเครื่องประดับที่ผู้บริโภคในแต่ละกลุ่มอายุเลือกซื้อมีหลากหลายเริ่มต้นตั้งแต่ราคาหลักร้อยบาทขึ้นไป โดยกลุ่มสตรีวัยทำงานอายุระหว่าง 20 — 40 ปี นิยมเลือกซื้อเครื่องประดับที่มีราคาไม่สูงมาก อยู่ระหว่าง 2,500 — 5,000 เยน/ชิ้น (หรือประมาณ 800-1,700 บาท/ชิ้น) หากเป็นกลุ่มสตรีอายุ 40-60 ปี จะเน้นซื้อเครื่องประดับที่มีคุณภาพ และรูปแบบที่เสริมบุคลิกภาพ ซึ่งก็จะมีราคาที่สูงขึ้น
สตรีชาวญี่ปุ่นในแต่ละกลุ่มอายุมีความชื่นชอบเครื่องประดับแตกต่างกัน อย่างไรก็ตามเครื่อง ประดับเพชรยังคงเป็นอัญมณีที่ทุกกลุ่มอายุชื่นชอบที่สุด (กลุ่มอายุ 20-30 ปี ร้อยละ 49.3 อายุ 30-40 ปี ร้อยละ 45.3 อายุ 40-50 ปี ร้อยละ 53.3 และ 50-60 ปี ร้อยละ 52.0) รองลงมาได้แก่ ไข่มุก อะความารีน(aquamarine) ทับทิม เป็นต้น
นอกจากนี้ ความชื่นชอบในรูปทรงของเครื่องประดับแต่ละประเภทก็แตกต่างกัน เครื่องประดับรูปหัวใจจะได้รับความนิยมมากที่สุดในทุกกลุ่มอายุ รองลงมาคือรูปทรงดอกไม้หรือใบไม้ซึ่งดูไม่แข็งมากเกินไป ส่วนความนิยมอันดับ 3 นั้นแตกต่างกันไปในแต่ละกลุ่มอายุ กล่าวคือ สตรีอายุ 20-30 ปี นิยมรูปทรงที่ออกแบบตามจักรราศรีและรูปดาว สตรีอายุ 30-50 ปี นิยมรูปทรงดอกกุหลาบและรูปทรงเครื่องหมายกากบาท ส่วนในกลุ่มอายุ 50-60 ปี นิยมรูปทรงที่ออกแบบตามจักรราศรีและรูปดาว
ด้วยความที่สตรีญี่ปุ่นให้ความสำคัญต่อการแต่งกายที่ทันสมัย รวมทั้งชื่นชอบและนิยมสวมใส่เครื่องประดับประกอบกับมีอำนาจซื้อสูง ทำให้ญี่ปุ่นเป็นตลาดเครื่องประดับที่สำคัญอันดับต้นๆ ของโลกด้วยมูลค่าการนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับราว 1,425 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2551
ในด้านการค้ากับไทย ญี่ปุ่นเป็นตลาดส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับมีค่า (รหัส 7113)ใหญ่เป็นอันดับ 4 ด้วยมูลค่าประมาณ 108 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ประเทศไทยนับเป็นแหล่งผลิตอัญมณีและเครื่องประดับคุณภาพดีในสายตาชาวญี่ปุ่น นอกจากนี้การทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น หรือ JTEPA มีผลให้ภาษีนำเข้าเครื่องประดับระหว่างไทย-ญี่ปุ่นลดลงเหลือศูนย์ (0%) ได้แก่ เครื่องเพชรพลอยทำด้วยโลหะมีค่า (HS:7113.11;...19) เครื่องเพชรพลอยที่เป็นของเทียม (HS: 7117.19;....90) ของทำด้วยรัตนชาติ (HS:7116.20)ของทำด้วยมุก (HS:7116.10) และเครื่องเงิน (HS: 7114.11) สินค้าไทยจึงอยู่ในภาวะที่ได้เปรียบ นอกจากนี้การกำหนดกลุ่มเป้าหมายผู้ซื้อที่ชัดเจน นำเสนอสินค้าตามความนิยมของตลาด และวางช่องทางจำหน่ายที่เหมาะสม ตลอดจนพัฒนาคุณภาพของสินค้าอย่างต่อเนื่อง เป็นสิ่งจำเป็นในการขยายตลาดเครื่องประดับอัญมณีในญี่ปุ่นให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองฟูกูโอกะ
ที่มา: http://www.depthai.go.th