ธุรกิจเครื่องดื่มในจีนปี 2552...โอกาสเติบโตภายใต้วิกฤตเศรษฐกิจโลก

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 27, 2009 11:30 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ปฏิเสธไม่ได้ว่าภายหลังการเปิดประเทศสู่โลกการค้าของจีนในปี 2521 และการเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ในปี 2544 มีความสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศจีนเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วซึ่งส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคขยายตัว อีกทั้งยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรในประเทศ โดยกำลังซื้อของผู้บริโภคชาวจีนที่เพิ่มขึ้นนี้ได้ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มซึ่งเป็นสินค้าอุปโภคและบริโภคที่สำคัญอย่างหนึ่งขยายตัวและพัฒนาอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ในปี 2551 ที่ผ่านมา วิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนกดดันภาคการบริโภคและธุรกิจในประเทศรวมทั้งธุรกิจเครื่องดื่มในจีนด้วย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสรุปสถานการณ์ธุรกิจเครื่องดื่มในจีนและแนวโน้มในปี 2552 โดยมีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

สถานการณ์ของธุรกิจเครื่องดื่มในตลาดจีน...แข่งขันรุนแรง

ปัจจุบันธุรกิจเครื่องดื่มถือเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ขยายตัวรวดเร็วที่สุดในประเทศจีน ซึ่งข้อมูลจากสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มจีน เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมเครื่องดื่มในประเทศจีนขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 16 ต่อปี ในระหว่างปี 2547-2550 มูลค่าค้าปลีกในปี 2550 กว่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ สำหรับในปี 2551 มีปริมาณการผลิตเครื่องดื่มทะลุ 60 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ที่มีปริมาณการผลิตกว่า 51 ล้านตันและคิดเป็น 210 เท่าของปี 2523 จนปัจจุบันจีนกลายเป็นประเทศผู้ผลิตเครื่องดื่มมากเป็นอันดับ 2 ของโลก โดยพื้นที่ผลิตเครื่องดื่มที่สำคัญส่วนใหญ่ตั้งอยู่บริเวณมณฑลกวางตุ้ง มณฑลเจ้อเจียง มณฑลเฮอหนาน มณฑลซานตง มณฑลเจียงซู และ มหานครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งมีสัดส่วนการผลิตรวมกันมากกว่าครึ่งของกำลังการผลิตทั้งหมดทั่วประเทศ

เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนเครื่องดื่มน้ำผลไม้ในจีนระหว่างปี 2543 และ ปี 2550 พบว่า สัดส่วนเครื่องดื่มน้ำผลไม้ในปี 2550 เพิ่มขึ้นซึ่งสวนทางกับเครื่องดื่มน้ำอัดลม โดยสถิติจากสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มจีน ระบุว่า ในปี 2543 ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มน้ำผลไม้ในประเทศจีนมีสัดส่วนในตลาดเพียงร้อยละ 6.5 ของตลาดเครื่องดื่มทั้งหมด เทียบกับสัดส่วนของผลิตภัณฑ์น้ำอัดลมในปีเดียวกันมีสัดส่วนร้อยละ 31 ของตลาดทั้งหมด อย่างไรก็ตามในปี 2550 สัดส่วนของผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มน้ำผลไม้ในจีน เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20 ขณะที่สัดส่วนของเครื่องดื่มประเภทน้ำอัดลมลดลงเหลือร้อยละ 21 ของตลาดทั้งหมด การขยายตัวของสัดส่วนเครื่องดื่มน้ำผลไม้

สะท้อนถึงความต้องการและพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคชาวจีนได้หันมาให้ความสำคัญต่อสุขภาพมากขึ้นส่งผลให้ผู้ประกอบการยักษ์ใหญ่ข้ามชาติหลายรายต่างต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การนำเสนอผลิตภัณฑ์ให้เหมาะตามความต้องการผู้บริโภคในตลาดจีน ปัจจัยท้าทายของการขยายธุรกิจเครื่องดื่มในจีนปี 2552

ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลก...ค้าปลีกชะลอตัว

ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซาอย่างหนักเริ่มส่งผลกดดันเศรษฐกิจจีนมากขึ้น โดยในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2551 เศรษฐกิจจีนชะลอตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 3 ที่เติบโตร้อยละ 9 มาอยู่ที่ร้อยละ 6.8 ถือเป็นอัตราการเติบโตต่ำสุดในรอบ 7 ปี ส่งผลให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในปี 2551 ลดลงเหลือเลขหลักเดียวในอัตราร้อยละ 9 หลังจากที่เคยขยายตัวอย่างรวดเร็วในอัตราสองหลักตั้งแต่ปี 2546 ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลกดังกล่าวได้ส่งผลกระทบโดยตรงไปยังภาคส่งออกและภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับภาคส่งออกเนื่องจากยอดคำสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศอ่อนแรงลงและส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังภาคเศรษฐกิจภายในจีนทั้งการบริโภคและการลงทุนด้วย

ทั้งนี้ แม้ว่ายอดค้าปลีกในปี 2551 จะมีมูลค่าทะลุ 10 ล้านล้านหยวน (1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ) ขยายตัวร้อยละ 21.6 สูงกว่าปี 2550 ร้อยละ 4.8 แสดงถึงการขยายตัวโดยรวมของภาคการบริโภคของจีนในปีที่ผ่านที่ยังคงรักษาระดับการเติบโตได้อย่างแข็งแรง อย่างไรก็ตาม หากเทียบการขยายตัวของยอดค้าปลีกเป็นรายไตรมาสโดยเฉพาะในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 พบว่า การเติบโตของยอดค้าปลีกในจีนในไตรมาสสุดท้ายขยายตัวที่ร้อยละ 20.6 (yoy) ชะลอตัวจากไตรมาสที่ 3 ที่ขยายตัวร้อยละ 23.2 ทั้งนี้ ตัวเลขดังกล่าวแสดงถึงกำลังการซื้อของผู้บริโภคที่อ่อนแรงลงตามสภาวะที่ซบเซาของเศรษฐกิจส่งผลให้ผู้บริโภคมีความระมัดระวังในการอุปโภคบริโภคมากขึ้น

ภาวะการแข่งขันในตลาด

เศรษฐกิจจีนในปีนี้มีแนวโน้มชะลอตัวจากปี 2551 โดยเฉพาะในช่วง 2 ไตรมาสแรก คาดว่าจะส่งผลให้สภาพการแข่งขันในธุรกิจเครื่องดื่มในจีนรุนแรงขึ้นจากภาวะข้อจำกัดด้านอุปสงค์ที่อ่อนแรงทำให้ผู้ประกอบการในตลาดต่างจำเป็นต้องใช้กลยุทธ์การตลาดที่เข้มข้นขึ้นเพื่อเพิ่มแรงจูงใจในการซื้อของผู้บริโภค โดยคาดว่าการใช้กลยุทธ์ด้านราคาเพื่อช่วงชิงตลาดจะรุนแรงขึ้นเช่นกัน ทั้งนี้ นับตั้งแต่เศรษฐกิจจีนเติบโตทะยานขึ้นเป็นเลข 2 หลัก ได้ส่งผลให้ภาวะการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงขึ้นจากการขยายตัวของจำนวนผู้ผลิตและผู้ประกอบการในธุรกิจเครื่องดื่มในตลาดจีนซึ่งเป็นความท้าทายประการสำคัญสำหรับผู้ผลิตและผู้ประกอบการหลายรายในตลาดรวมถึงผู้ประกอบการรายใหม่ที่มีแผนบุกเข้าไปช่วงชิงส่วนแบ่งในตลาดมูลค่ามหาศาลนี้ อีกทั้ง ไม่เพียงต้องทำให้ผู้ประกอบการต้องเผชิญหน้ากับคู่แข่งในท้องถิ่นเท่านั้น แต่ยังต้องแข่งขันกับคู่แข่งต่างชาติอีกด้วยเนื่องจากผู้ผลิตเครื่องดื่มชั้นนำทั้งในท้องถิ่นและจากต่างประเทศต่างให้ความสำคัญกับการขยายตัวของตลาดเครื่องดื่มที่เติบโตอย่างต่อเนื่องในประเทศจีน นอกจากนี้ การแข่งขันของธุรกิจเครื่องดื่มในจีนไม่เพียงจำกัดอยู่ในผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มประเภทน้ำอัดลมเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงเครื่องดื่มประเภทอื่น อาทิ น้ำผลไม้ ผลิตภัณฑ์จากนม เครื่องดื่มชูกำลัง กาแฟ และชาซึ่งเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมของผู้บริโภคชาวจีน

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีผู้ผลิตและผู้ประกอบการในธุรกิจเครื่องดื่มในประเทศจีนกว่า 1,300 แห่ง เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 226 แห่ง ซึ่ง 10 อันดับแรกของบริษัทเครื่องดื่มที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ผลิตเครื่องดื่มดีเด่นปี 2551 โดยมีบริษัทผลิตเครื่องดื่มไทยติดอันดับที่ 10 ได้แก่ Red Bull Vitamin Drink Co., Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทผลิตเครื่องดื่มชูกำลังชั้นนำของไทยที่สามารถทำตลาดในจีนอย่างกว้างขวาง

นอกจากนี้ พฤติกรรมของผู้บริโภคมีความสำคัญต่อธุรกิจค้าปลีกอย่างมาก ซึ่งในปัจจุบันกระแสการตื่นตัวของอาหารและเครื่องดื่มที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพได้ส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคในประเทศจีนโดยเฉพาะผู้บริโภคระดับกลาง-บนเนื่องจากการเผยแพร่ข่าวสารทั่วถึงมากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคห่วงใยต่อปัญหาสุขภาพและอนามัยของอาหารมากขึ้น อีกทั้งประชากรส่วนใหญ่มีระดับการศึกษาสูงขึ้น ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคชาวจีนที่ตระหนักถึงสินค้าที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพย่อมส่งผลให้ธุรกิจเครื่องดื่มสุขภาพโดยเฉพาะเครื่องดื่มน้ำผลไม้ชนิดต่าง ๆ ในตลาดจีนเติบโตอย่างรวดเร็วซึ่งทำให้ผู้ผลิตและผู้ประกอบการหลายรายในตลาดต่างปรับกลยุทธ์ตามกระแสการบริโภคเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพที่กำลังมาแรงในตลาดขณะนี้ นอกจากกระแสนิยมสินค้าสุขภาพแล้ว ผู้บริโภคยังให้ความสนใจและเปิดรับกับความหลากหลายของผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มที่สอดคล้องกับวิถีการดำเนินชีวิตและคุณภาพชีวิตมากขึ้น

แนวโน้มธุรกิจเครื่องดื่มในจีนปี 2552

ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกของจีนให้ชะลอตัวทำให้รัฐบาลจีนต้องหันมาพึ่งพาตลาดภายในประเทศโดยการกระตุ้นการบริโภคของประชาชนภายในประเทศเพื่อบรรเทาผลกระทบจากภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยทางการจีนได้ดำเนินการออกแผนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งมาตรการการเงินและการคลังเพื่อกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ในด้านนโยบายการเงินนั้น ในปี 2551 ที่ผ่านมา ทางการจีนได้ดำเนินการผ่อนคลายทางการเงินโดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเหลือร้อยละ 5.3 ขณะที่นโยบายการคลังได้ทำการอัดฉีดงบประมาณมูลค่า 586 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจนถึงปี 2553 ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งในด้านการบริโภคและการลงทุนโดยการสร้างระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ในประเทศและยังเป็นการสร้างการจ้างงานภายในประเทศอีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ ล่าสุดทางการจีนยังได้อัดฉีดงบประมาณกระตุ้นการบริโภคโดยการสนับสนุนเพิ่มจำนวนร้านค้าปลีกในชนบทเพื่อกระจายการอุปโภคบริโภคสินค้าและเป็นการกระจายรายได้ในระดับชนบทของประเทศ โดยรัฐบาลจีนได้ตั้งเป้าที่จะจัดตั้งร้านค้าปลีกในชนบทราว 510,000 แห่ง ภายในปี 2553 ซึ่งคาดว่า นโยบายสนับสนุนจากภาครัฐบาลจีนดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นให้ธุรกิจเครื่องดื่มเติบโตดีขึ้นจากช่องทางการจัดจำหน่ายผ่านร้านค้าปลีกที่ขยายตัวเข้าไปสู่ภาคชนบทมากขึ้น

สำหรับแนวโน้มของธุรกิจเครื่องดื่มจีนในปี 2552 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า การบริโภคของประชาชนที่ชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจซบเซาทำให้มูลค่าธุรกิจเครื่องดื่มของจีนในปีนี้น่าจะมีแนวโน้มชะลอตัวเหลือร้อยละ 19 เป็น 55.35 พันล้านหยวน จากปี 2551 ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่า 46.52 พันล้านหยวน เติบโตที่ร้อยละ 21.5 อย่างไรก็ตาม แม้คาดว่าอัตราเติบโตอาจชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจจีนที่คาดว่ายังคงซบเซาถึงกลางปี 2552 แต่ยังมีการดำเนินการของมาตรการการเงินผ่อนคลายและมาตรการการคลังเพื่อกระตุ้นการบริโภคประชาชนภายในประเทศอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 และ คาดว่าจะดำเนินต่อเนื่องในปี 2552 เพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจในปี 2552 ขยายตัวที่ร้อยละ 8 ตามเป้าหมายของทางการจีนทำให้คาดว่า น่าจะช่วยขับเคลื่อนการบริโภคภายในประเทศ รวมถึงมูลค่าค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคน่าจะขยายตัวได้ดีขึ้นในระยะต่อไปตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่คาดว่าจะค่อยดีขึ้นในช่วงกลางปี 2552 ส่วนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนอย่างมั่นคง คาดว่าคงต้องรอเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวซึ่งน่าจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2552 ทำให้ธุรกิจเครื่องดื่มในตลาดจีนน่าจะมีทิศทางการเติบโตที่ดีขึ้นตามไปด้วย โดยสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มคาดว่า ในช่วงปลายแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 ของจีน (2549-2553) ประเทศจีนจะกลายเป็นประเทศผู้ผลิตเครื่องดื่มที่ใหญ่ที่สุดในโลก และในอีก 30 ปีข้างหน้าจีนจะเป็นประเทศผู้ผลิตเครื่องดื่มที่มีความสำคัญมากที่สุดในโลก นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์จีนคาดการณ์ว่า ในปี 2552 จีนจะกลายเป็นตลาดที่มีการบริโภคมากที่สุดในเอเชีย

ทั้งนี้ หลังจากที่ทางการจีนประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 586 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา เริ่มส่งสัญญาณกระตุ้นภาคเศรษฐกิจภายในจีนให้ปรับตัวดีขึ้น โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (Consumer Confidence Indicator: CCCI) ในเดือนธันวาคม 2551 ปรับตัวขึ้นจากระดับ 88.6 ในเดือนพฤศจิกายน 2551 มาอยู่ที่ 91.2 ขณะที่ดัชนีการจัดซื้อ (Purchase Management Indicator: PMI) ในเดือนมกราคม 2552 อยู่ที่ 42.4 ปรับขึ้นจากระดับต่ำสุดในเดือนพฤศจิกายน 2551 ที่ 38.8 ซึ่งเริ่มส่งสัญญาณบวกเนื่องจากปรับตัวขึ้นติดต่อกัน 2 เดือน จากเดือนธันวาคม 2551 อยู่ที่ 41.2 นอกจากนี้ เม็ดเงินอัดฉีดของภาครัฐบาลจีนในส่วนของการพัฒนาด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานภายในประเทศยังทำให้ราคาเหล็กปรับสูงขึ้นและนโยบายการเงินผ่อนคลายของจีนส่งผลให้มูลค่าของสินเชื่อใหม่ในเดือนมกราคม 2552 ขยายตัวร้อยละ 103.6 (yoy) เป็น 237 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนอย่างมีเสถียรภาพคงต้องพิจารณาจากปัจจัยสำคัญอื่น ๆ ด้วย ได้แก่ การฟื้นตัวของภาคส่งออกและการแก้ไขปัญหาการว่างงานซึ่งคงต้องอาศัยระยะเวลาหนึ่งตามการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลก

โอกาสการลงทุนในธุรกิจเครื่องดื่มในจีน

หากมองในแง่ของโอกาสทางการค้าและการลงทุนที่น่าจะเป็นไปได้สำหรับผู้ผลิตและผู้ประกอบการไทยในธุรกิจเครื่องดื่มของประเทศจีนมีดังนี้

  • โอกาสทางการค้า

ผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพในการส่งออกอาจทำการส่งออกสินค้าวัตถุดิบโดยเฉพาะผลไม้ อาทิ สัปปะรด และ ส้ม ซึ่งไทยมีศักยภาพด้านแหล่งเพาะปลูกและขีดความสามารถทางการแข่งขันเพื่อป้อนให้แก่ผู้ผลิตในธุรกิจเครื่องดื่มของประเทศจีนเพื่อนำวัตถุดิบเหล่านั้นไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มน้ำผลไม้ที่มีแนวโน้มการขยายตัวและเป็นที่นิยมในประเทศจีน รวมถึง ผลไม้ไทยที่ในปัจจุบันอาจยังไม่เป็นที่แพร่หลายในจีน แต่อาจมีโอกาสนำไปใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตเป็นน้ำผลไม้ในจีนในอนาคต เช่น มะขาม ลำไย และ มังคุด โดยผู้ประกอบการไทยใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าในส่วนของมาตรการทางด้านภาษีสำหรับสินค้าผลไม้ภายใต้กรอบการค้าเสรีระหว่างอาเซียน-จีนที่ลดเหลือร้อยละ 0 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2546

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการธุรกิจเครื่องดื่มไทยอาจส่งออกสินค้าเครื่องดื่มภายใต้แบรนด์ของไทยเองไปยังตลาดจีนโดยผ่านบริษัทตัวแทนหรือจับมือร่วมกับพันธมิตรท้องถิ่นที่มีศักยภาพเพื่อใช้ประโยชน์ช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าและการทำตลาดในประเทศจีน โดยผู้ประกอบการอาจต้องจัดเตรียมงบประมาณทางการตลาดในการทำกิจกรรมประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้แบรนด์ในกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมาย

  • โอกาสทางการลงทุน

ในส่วนของโอกาสการลงทุนในธุรกิจเครื่องดื่มของจีนนั้น ผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการไทยอาจเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจโดยอาจเข้าไปลงทุนจัดตั้งโรงงานเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์อาทิ กระป๋อง และ กล่องบรรจุภัณฑ์ เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจเครื่องดื่มในประเทศจีน หรือแม้แต่การเข้าไปผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายในประเทศจีนโดยการเข้าไปลงทุนโดยตรงหรือรวมทุนกับบริษัทท้องถิ่นจีน โดยเครื่องดื่มที่น่าจะมีโอกาสทำตลาดในประเทศจีน ได้แก่ เครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องดื่มเกลือแร่ เครื่องดื่มน้ำผลไม้ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงเครื่องดื่มนวัตกรรมเพื่อสุขภาพประเภทต่าง ๆ เพื่อเจาะกลุ่มผู้บริโภคที่รักสุขภาพและความงาม เครื่องดื่มอีกประเภทที่น่าสนใจคือ เครื่องดื่มน้ำสมุนไพรเพื่อสุขภาพซึ่งผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพในการผลิตและประสบการณ์ในการทำตลาด ได้แก่ น้ำลำไย น้ำมะขาม น้ำตระไคร้ และน้ำใบเตย ซึ่งเครื่องดื่มประเภทนี้น่าจะได้รับการตอบรับจากกลุ่มผู้บริโภคชาวจีนส่วนหนึ่ง เนื่องจากชาวจีนส่วนใหญ่ยังคงให้ความสนใจต่อกระบวนการรักษาโรคและการบำรุงสุขภาพตามศาสตร์แพทย์แผนจีนโดยใช้สมุนไพรทำการรักษาซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับการรักษาโดยแพทย์ทางเลือกของไทยที่ใช้สมุนไพรไทยในการรักษาโรค แต่สำหรับเครื่องดื่มที่ใช้วัตถุดิบจากผลไม้หรือพืชผักจากไทยที่มีคุณสมบัติบำรุงสุขภาพ ผู้ประกอบการไทยอาจต้องทำประชาสัมพันธ์ให้ความรู้/คุณประโยชน์แก่ผู้บริโภคชาวจีนที่ยังไม่มีความรู้และความคุ้นเคยกับผลไม้/พืชผักเหล่านี้ซึ่งในส่วนนี้คงต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคต่อผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มของไทย

ทั้งนี้ โอกาสการค้าและการลงทุนของธุรกิจเครื่องดื่มในจีนที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นได้รับปัจจัยเอื้ออำนวยจากการขยายตัวทางรายได้ของประชากรในประเทศจีนตามการเติบโตของเศรษฐกิจจีนและมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศของทางการจีนในปัจจุบันที่มุ่งเน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศโดยคาดว่าจะส่งผลให้อำนาจการซื้อของผู้บริโภคขยายตัวดีขึ้นในระยะต่อไป ซึ่งจะช่วยผลักดันการเติบโตของธุรกิจค้าปลีกในจีนรวมทั้งธุรกิจเครื่องดื่ม โดยในปี 2551 ที่ผ่านมา รายได้ของประชากรในเขตเมืองเติบโตร้อยละ 14.5 มาอยู่ที่ 15,781 หยวนต่อหัว ขณะที่รายได้ของประชากรในเขตชนบทขยายตัวร้อยละ 15 มาอยู่ที่ 4,761 หยวนต่อหัว อีกทั้งผลสำรวจความคิดเห็นของประชากรชาวจีนเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีนจากสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน พบว่า ประชากรชาวจีนส่วนใหญ่เชื่อว่าปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยกว่าร้อยละ 80.9 ของผู้ตอบแบบสอบถามมองว่า ถึงแม้คลื่นเศรษฐกิจโลกจะส่งผลกระทบรุนแรงมายังประเทศจีน แต่ยังเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจจีนจะยังคงขยายตัวต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า ผู้ประกอบการไทยที่มีแผนเข้าไปลงทุนในตลาดเครื่องดื่มของประเทศจีนควรจับตาดูปัจจัยเสี่ยงภายนอกจากสภาพเศรษฐกิจโลกที่ซบเซาอย่างใกล้ชิดซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศจีนให้ชะลอตัวต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีสัญญาณที่ดีขึ้นบางประการก็ตามและอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจเครื่องดื่มในประเทศจีนจากภาวะอุปสงค์ที่ชะลอตัว ซึ่งภาวะซบเซาของเศรษฐกิจจีนที่ส่งผลให้การบริโภคของประชาชนชะลอลงอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจเครื่องดื่มประเภทที่ไม่จำเป็นหรือมีราคาสูงซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริโภคระดับกลาง-บน เช่น เครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพต่าง ๆ โดยผู้บริโภคอาจปรับลดการบริโภคลงในช่วงที่เศรษฐกิจซบเซาก็เป็นได้ อีกทั้งยังมีความท้าทายจากภาวะการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในตลาดจากคู่แข่งที่มากด้วยประสบการณ์จากต่างประเทศและคู่แข่งท้องถิ่นในตลาดซึ่งมีความได้เปรียบและเชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวจีนรวมถึงมีช่องทางการกระจายสินค้าที่แข็งแกร่ง

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการควรทำการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับพฤติกรรม วัฒนธรรม รสนิยม และ ประเพณี ของผู้บริโภคในประเทศจีนที่มีจำนวนกว่า 1.3 พันล้านคน ในแต่ละพื้นที่ของประเทศจีนที่เป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างลักษณะแตกต่างของผู้บริโภคในประเทศจีน โดยลักษณะแตกย่อยของตลาดจีนนี้เป็นโจทย์ท้าทายสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ก่อนการเข้าไปทำตลาดในประเทศจีนเพื่อพัฒนาและนำเสนอผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคชาวจีน การศึกษาข้อมูลของผู้บริโภคชาวจีนในแต่ละพื้นที่อย่างละเอียดดังกล่าวจะช่วยเสริมจุดแข็งในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ อีกทั้งยังทำให้ผู้ประกอบการทราบถึงพฤติกรรมและความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายก่อนการเข้าไปทำตลาดเพื่อกำหนดกลยุทธ์การตลาดให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคเป้าหมายได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยควรศึกษาอุปสรรคและปัญหาการส่งออกอาทิ มาตรการกีดกันการค้าที่มิใช้ภาษีของจีนและปัญหาด้านการขนส่งสินค้า รวมทั้งกฎข้อบังคับด้านการลงทุนและการควบคุมความปลอดภัยด้านอาหารของจีนทั้งในด้านสินค้าและบรรจุภัณฑ์อย่างละเอียดถี่ถ้วนซึ่งล้วนเป็นกุญแจสำคัญที่จะสามารถเข้าถึงผู้บริโภคชาวจีนได้อย่างลึกซึ้ง

ข้อสรุปและแนวทาง

ภายหลังการเปิดประเทศสู่โลกการค้าของจีนในปี 2521 และการเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ในปี 2544 มีความสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศจีนเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วซึ่งส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคขยายตัว อย่างไรก็ตาม ในปีที่ผ่านมาภาคการบริโภคและธุรกิจในประเทศรวมทั้งธุรกิจเครื่องดื่มในจีนต้องเผชิญกับแรงกดดันจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

โดยในปี 2552 ธุรกิจเครื่องดื่มในประเทศจีนได้รับแรงกดดันภายใต้ภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบต่อภาคค้าปลีกในประเทศจีนให้ชะลอตัวตามกำลังซื้อของผู้บริโภคที่อ่อนแรงลง อีกทั้งผู้ประกอบการในธุรกิจเครื่องดื่มต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่ดุเดือดขึ้นจากการขยายตัวของผู้ประกอบการที่เพิ่มมากขึ้น โดยสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มจีน เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีผู้ผลิตและผู้ประกอบการในธุรกิจเครื่องดื่มในประเทศจีนกว่า 1,300 แห่ง

สำหรับแนวโน้มของธุรกิจเครื่องดื่มจีนในปี 2552 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า มูลค่าธุรกิจเครื่องดื่มของจีนในปีนี้น่าจะมีแนวโน้มชะลอตัวเหลือร้อยละ 18.9 เป็น 55.35 พันล้านหยวน (7.9 ดอลลาร์สหรัฐ) จากปี 2551 ที่ผ่านมา ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเติบโตที่ร้อยละ 21.5 อย่างไรก็ตาม แม้คาดว่าอัตราเติบโตอาจชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจจีนที่คาดว่ายังคงซบเซาถึงกลางปี 2552 แต่ยังมีการดำเนินการของมาตรการการเงินผ่อนคลายและมาตรการการคลังเพื่อกระตุ้นการบริโภคประชาชนภายในประเทศอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 ซึ่งคาดว่าจะดำเนินต่อเนื่องในปี 2552 เพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจในปี 2552 ขยายตัวที่ร้อยละ 8 ตามเป้าหมายของทางการจีน ทำให้คาดว่า น่าจะช่วยขับเคลื่อนการบริโภคภายในประเทศ รวมถึงมูลค่าค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคน่าจะขยายตัวได้ดีขึ้นในระยะต่อไปตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่คาดว่าจะค่อยดีขึ้นในช่วงกลางปี 2552 ส่วนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนอย่างมั่นคง คาดว่าคงจะต้องรอเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวซึ่งน่าจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2552 ทำให้ธุรกิจเครื่องดื่มในตลาดจีนน่าจะมีทิศทางการเติบโตที่ดีขึ้นตามไปด้วย โดยสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มคาดว่า ในช่วงปลายแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 ของจีน (2549-2553) ประเทศจีนจะกลายเป็นประเทศผู้ผลิตเครื่องดื่มที่ใหญ่ที่สุดในโลก และในอีก 30 ปีข้างหน้าจีนจะเป็นประเทศผู้ผลิตเครื่องดื่มที่มีความสำคัญมากที่สุดในโลก จากปัจจุบันที่จีนเป็นประเทศผู้ผลิตเครื่องดื่มมากเป็นอันดับ 2 ของโลก ทั้งนี้ จากสภาพตลาดของธุรกิจเครื่องดื่มในประเทศจีน พบว่า ปัจจุบันการขยายตัวของสัดส่วนเครื่องดื่มน้ำผลไม้เพิ่มขึ้นสวนทางกับเครื่องดื่มน้ำอัดลมซึ่งสะท้อนถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาให้ความสนใจต่อสินค้าที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากขึ้นส่งผลให้ปัจจุบันผู้ประกอบการยักษ์ใหญ่หลายรายทั้งในท้องถิ่นของจีนเองและข้ามชาติต่างปรับกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค

ในส่วนของโอกาสการค้าและการลงทุนในธุรกิจเครื่องดื่มในประเทศจีนนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ผู้ประกอบการไทยอาจทำการส่งออกสินค้าวัตถุดิบเพื่อป้อนให้แก่ผู้ผลิตในธุรกิจเครื่องดื่มของประเทศจีนโดยเฉพาะสินค้าเกษตรประเภทผลไม้อาทิ สัปปะรด และ ส้ม ซึ่งไทยมีศักยภาพและขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านแหล่งเพาะปลูกและการผลิตเพื่อผลิตเป็นสินค้าเครื่องดื่มน้ำผลไม้ที่มีแนวโน้มการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในประเทศจีนโดยใช้สิทธิประโยชน์จากเปิดการค้าเสรีระหว่างอาเซียน-จีนที่ได้ปรับลดภาษีสินค้าผลไม้เป็นร้อยละ 0 ตั้งแต่ปี 2546 นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพอาจดำเนินการส่งออกสินค้าเครื่องดื่มภายใต้แบรนด์ไทยไปยังตลาดจีน โดยผ่านบริษัทตัวแทนหรืออาจมองหาพันธมิตรท้องถิ่นที่มีศักยภาพเพื่อใช้ประโยชน์ด้านช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าและการทำตลาดในประเทศจีน ในด้านของการลงทุนผู้ผลิตไทยอาจเข้าไปจัดตั้งโรงงานเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์อาทิ กระป๋อง และกล่องบรรจุภัณฑ์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการผลิตสินค้าเพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจเครื่องดื่มในประเทศจีนหรือแม้แต่การเข้าไปผลิตสินค้าผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มเพื่อจำหน่ายในประเทศจีนโดยร่วมทุนกับบริษัทท้องถิ่นจีนที่มีความรู้ช่องทางการตลาดและรู้จักตลาดในจีนเป็นอย่างดี โดยเครื่องดื่มที่น่าจะมีโอกาสทำตลาดในประเทศจีน ได้แก่ เครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องดื่มเกลือแร่ เครื่องดื่มน้ำผลไม้ หรือแม้แต่เครื่องดื่มนวัตกรรมเพื่อสุขภาพประเภทต่าง ๆ เพื่อเจาะกลุ่มผู้บริโภคที่รักสุขภาพและความงาม เครื่องดื่มอีกประเภทที่น่าสนใจคือ เครื่องดื่มน้ำสมุนไพรเพื่อสุขภาพซึ่งผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพในการผลิตและค้นคว้าวิจัย รวมถึงมีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการทำตลาดซึ่งได้แก่ น้ำลำไย น้ำมะขาม และน้ำใบเตย ซึ่งน่าจะได้รับการตอบรับจากกลุ่มผู้บริโภคชาวจีนส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะผู้บริโภคระดับกลาง-บน เนื่องจากชาวจีนส่วนใหญ่ยังคงให้ความสนใจต่อกระบวนการรักษาโรคและการบำรุงสุขภาพตามศาสตร์แพทย์แผนจีนโดยใช้สมุนไพรทำการรักษาซึ่งคงต้องใช้งบประชาสัมพันธ์เพิ่มขึ้นเพื่อสร้างความรู้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในจีนต่อเครื่องดื่มของไทย

ทั้งนี้ โอกาสการค้าและการลงทุนในธุรกิจเครื่องดื่มจีนได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวทางรายได้ของประชากรในประเทศจีนและพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวจีนตามระดับรายได้ที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ในภาวะปัจจุบันที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัวจากผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกผู้ประกอบการไทยที่มีแผนเข้าไปลงทุนในตลาดเครื่องดื่มของประเทศจีนควรจับตาดูปัจจัยเสี่ยงภายนอกจากสภาพเศรษฐกิจโลกที่ซบเซาอย่างใกล้ชิดที่จะส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ภายในจีนโดยเฉพาะความต้องการบริโภคเครื่องดื่มประเภทที่มีราคาสูงและเป็นสินค้าไม่จำเป็นที่อาจชะลอตัว เช่น เครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ และ เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพต่างๆ รวมถึงภาวะการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในตลาดจากคู่แข่งที่มากด้วยประสบการณ์จากต่างประเทศและคู่แข่งท้องถิ่นจีนซึ่งมีความได้เปรียบและเชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวจีนรวมถึงมีช่องทางการกระจายสินค้าที่แข็งแกร่ง นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรทำการวิจัยค้นคว้าด้านพฤติกรรม วัฒนธรรม รสนิยม และ ประเพณี ที่มีความแตกต่างกันในแต่ละมณฑลของประเทศจีนอย่างละเอียดถี่ถ้วนก่อนการเข้าไปทำตลาดในประเทศจีนเพื่อพัฒนาและนำเสนอผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคชาวจีน ควบคู่กับการศึกษาด้านอุปสรรคและปัญหาการส่งออก อาทิ มาตรการกีดกันการค้าที่มิใช้ภาษีของจีนและปัญหาด้านการขนส่งสินค้า รวมทั้งกฎข้อบังคับด้านการลงทุนและการควบคุมความปลอดภัยด้านอาหารของจีนทั้งในด้านสินค้าและบรรจุภัณฑ์อย่างละเอียดถี่ถ้วนซึ่งล้วนเป็นกุญแจสำคัญที่จะสามารถเข้าถึงผู้บริโภคชาวจีนได้อย่างลึกซึ้ง

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ