การลงทุนของบริษัทต่างชาติในสิงคโปร์ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 9, 2009 10:40 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ถึงแม้ว่าวิกฤตการณ์การเงินทั้งในสหรัฐฯ และยุโรปได้ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ทั่วโลกชะลอตัวลง รวมทั้งสิงคโปร์ โดยได้ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังทุกภาคอุตสาหกรรมถึงกระนั้นก็ตาม ยังมีบริษัทต่างชาติได้เข้ามาลงทุนในสิงคโปร์ ซึ่งหน่วยงานภาครัฐ Economic Development of Singapore (EDB) ได้ประกาศว่า การลงทุนจากต่างชาติในปี 2551 มีมูลค่าประมาณ 20 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ (คาดว่าในปี 2552 จะมีเพียงประมาณ 10 พันล้านเหรียญสิงคโปร์) โดยสรุปบริษัทที่ลงทุนในสิงคโปร์ ดังนี้

1. บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการสื่อสารของอินเดีย Tata Communications Exchange กำหนดการสร้าง Internet Data Centre มูลค่า 180 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือ 270 ล้านเหรียญสิงคโปร์) ณ Paya Lebar Business Park และจะเริ่มดำเนินกิจการในต้นปี 2553 เป็นศูนย์ข้อมูลการสื่อสารทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะด้านการธนาคารและ media อีกทั้ง บริษัทได้เปิดตัวโครงการ TGN-Intra Asia Cable System มูลค่า 250 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่มีการวางสายเคเบิลใต้ทะเลระยะทาง 6,700 กิโลเมตร ระหว่างสิงคโปร์และญี่ปุ่นเชื่อมต่อกับฮ่องกง เวียดตามและฟิลิปปินส์นอกจากนี้ บริษัทมีแผนการลงทุนมูลค่ามากกว่า 2 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ภายใน 3 ปีข้างหน้า ทั้งนี้การลงทุนของ Tata Group ในสิงคโปร์ทำให้มีการจ้างงานเกือบ 2,000 อัตรา

2. บริษัท Scania ผู้ผลิตรถบรรทุกและรถเมล์ของสวีเดน ได้ขยายสำนักงานและศูนย์ให้บริการ 24 ชั่วโมง Scania Singapore ณ Senoko มูลค่า 6 ล้านเหรียญสิงคโปร์ ปัจจุบันบริษัทฯมีลูกค้าสำคัญคือ SBS Transit (บริษัทรถเมล์สิงคโปร์) ซึ่งได้รับการสั่งซื้อรถเมล์จำนวน 900 คัน แล้ว

3. บริษัท Hitachi Data Systems (HDS) ได้ขยายธุรกิจเปิดสำนักงานใหญ่ภูมิภาคและศูนย์บริการ 2 แห่ง ด้วยมูลค่าการลงทุน 10 ล้านเหรียญสิงคโปร์ ให้บริการสำหรับ HDS ด้านการจัดเก็บข้อมูล คาดว่าการเจริญเติบโตของ data storage จะขยายตัวระหว่างร้อยละ 60 และ 100 ต่อปี ส่วน digital information จะขยายตัวเพิ่มขึ้น 10 เท่า จากปี 2550 ถึงปี 2554 ทั้งนี้ DHS ได้เปิดศูนย์ให้บริการธุรกิจฯ แล้วในประเทศออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง และอินเดีย

4. บริษัทเภสัชภัณฑ์สหรัฐฯ Abbott ได้จัดสร้างห้องค้นคว้าทดลอง Abbott Laboratories ณ Biopolis มีมูลค่า 7.5 ล้านเหรียญสิงคโปร์ นับเป็นแห่งแรกในเอเชีย จะมุ่งเน้นด้านเภสัชภัณฑ์สำหรับ neuroscience and cancer ในขณะนี้มีการจ้างนักวิทยาศาสตร์สิงคโปร์ 17 คน นอกจากนี้ ยังจะสร้างโรงงานผลิตนมผงสำหรับเด็ก มูลค่า 450 ล้านเหรียญสิงคโปร์ ณ Tuas Biomedical Park เป็นการลงทุนก่อสร้างที่มีมูลค่าสูงมากที่สุดของบริษัท มีการจ้างงานเป็นนักวิจัยมากกว่า 4,000 อัตรา

5. บริษัท Software จากแคนาดา ผลิตเครื่องมือเพื่อการจัดทำ visual effects software สำหรับภาพยนต์ ได้จัดตั้งสำนักงานใหญ่เอเชีย-แปซิฟิคในสิงคโปร์เพื่อจัดทำ side effects สำหรับภาพยนต์ต่างๆ โดยจะเรี่มดำเนินการด้วยพนักงานประมาณ 12 คน และต่อไปจะเพิ่มให้เป็น 35 คน (ในแคนาดามีพนักงาน 60 คน)

6. บริษัทยารักษาโรค Schering-Plough ลงทุนสร้างห้องทดลอง ณ Biopolis Research Centre เพื่อใช้เทคโนโลยีชั้นสูงทำการศึกษาค้นคว้าอุปกรณ์ชื่อว่า biomarkers ตรวจสอบประสิทธิภาพของยาในร่างกายของคนไข้ บริษัทมีการจ้างงานทั่วโลก 55,000 อัตรา และในปี 2551 มีรายได้ 28.3 พันล้านเหรียญสิงคโปร์

7. บริษัทยักษ์ใหญ่ Zuellig Pharma เป็นบริษัทจัดหา/ค้าส่งสินค้าเพื่อสุขภาพได้ลงทุนสร้าง สำนักงานฯใหม่มูลค่า 40 ล้านเหรียญสิงคโปร์ ณ Changi North Way ส่วนใหญ่ลูกค้าเป็นบริษัทนานาชาติมากกว่า 120 รายใน 15 ประเทศ ทั้งนี้ บริษัทฯ มีส่วนแบ่งธุรกิจในตลาดสิงคโปร์ร้อยละ 60 และการจ้างงานมากกว่า 300 อัตรา

8. บริษัทเทคโนโลยี Illumina สหรัฐฯ ลงทุนสร้างโรงงานผลิต gene chips ในสิงคโปร์ มูลค่า 30.5 ล้านเหรียญสิงคโปร์ ณ Woodlands บริษัทพัฒนาและผลิต gene chips ที่ช่วย farmers และ scientists สามารถบ่งชี้ถึงโรคระบาดที่จะแพร่สู่การเพาะปลูกและการเลี้ยงสัตว์ นอกจากนี้ ยังใช้ในการตรวจสอบ DNA สำหรับคนไข้ที่มีโรคเฉพาะให้ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี แต่เนิ่นๆ บริษัทสามารถผลิตสินค้าฯในสิงคโปร์ได้ไตรมาสละประมาณ 30,000-40,000 ชิ้น (เท่ากับประมาณครึ่งหนึ่งที่ผลิตในสหรัฐฯ) และมีการจ้างงาน 117 อัตรา

ข้อสังเกต

(1) การที่บริษัทต่างชาติยังสนใจเข้ามาลงทุนในสิงคโปร์ ทั้งๆที่อยู่ในช่วงวิกฤตการณ์เศรษฐกิจถดถอยและค่าใช้จ่ายสำหรับการดำเนินธุรกิจในสิงคโปร์อยู่ในระดับสูง แสดงให้เห็นถึงความมีเสถียรภาพของประเทศในด้านการเมืองโปร่งใส กฎ/ระเบียบที่ไม่ซับซ้อน รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่ช่วยสนับสนุนให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็วอย่างมีประสิทธิภาพ และประชากรที่มีความรู้ความชำนาญ

(2) ปัจจุบันส่วนใหญ่เศรษฐกิจสิงคโปร์ต้องพึ่งพาการค้าภายในประเทศและการลงทุนเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากการส่งออกสินค้าโดยเฉพาะสินค้าอิเล็คทรอนิกส์ไปยังประเทสคู่ค้าสำคัญๆได้ลดลงประมาณร้อยละ 30 โดยที่ภาค อุตสาหกรรมที่สามารถขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าที่ผลิตโดยใช้เทคโนโลยี รวมถึงด้านการสื่อสารโทรคมนาคม เภสัชภัณฑ์ และ IT ทั้งนี้กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ได้ประกาศคาดการณ์การเจริญเติบโต GDP ในปี 2552 อยู่ที่ร้อยละ -5.0 ถึง -2.0

ที่มา : Economic Development Board (EDB) of Singapore, The Straits Times and The Business Times

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ สิงคโปร์

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ