ตลาดสินค้าเฟอร์นิเจอร์ในอิตาลี

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 18, 2009 16:08 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. สถานการณ์ทั่วไป

สินค้าเฟอร์นิเจอร์ของอิตาลีมีประวัติศาสตร์การผลิตมายาวนานสืบต่อกันมาหลายรุ่น มีชื่อในด้านรูปแบบดีไซน์สวยงาม สร้างสรรและคุณภาพดี มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก ด้วย เหตุนี้พบว่าอิตาลีมีมูลค่าการส่งออกสินค้าเฟอร์นิเจอร์สูงกว่ามูลค่าการนำเข้ามาตลอด แม้ในปี หลังที่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ภาพรวมหนึ่งทศวรรษของอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์อิตาลี(ระหว่างปี 1998 — 2007) ถือเป็นช่วงเวลาที่มีความรุ่งเรืองมากจาก Strong Demand ทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อ เนื่อง โดยมีอัตราการเติบโตมากกว่ากำลังการผลิต จนกระทั่งปี 2008 การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกส่งผลชัดเจนมากขึ้น หลายอุตสาหกรรมเริ่มเข้าสู่ภาวะชะลอตัว ไม่เว้นแม้แต่อุตสาหกรรมที่เข้มแข็งอย่างอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์อิตาลี สาเหตุจากราคาน้ำมันที่ไต่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้วัตถุดิบและกึ่งวัตถุดิบมีราคาสูงขึ้น ธนาคารไม่ปล่อยกู้ จนทำให้ธุรกิจชะลอตัวและเข้าขั้นชะงักในไตรมาสสุดท้ายของปี 2008 เมื่อเกิดเหตุการณ์วิกฤติเศรษฐกิจ(International Economy Slump)ในประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา ได้ปลุกให้ทั่วโลกตื่นตัวและระมัดระวังในการบริโภค/การลงทุนมากยิ่งขึ้น

2. การผลิต

ตั้งแต่ปี 2007 สถานการณ์ตลาดเฟอร์นิเจอร์อิตาลีมีแนวโน้มชะลอตัว เมื่อเข้าสู่ปี 2008 ตลาดสินค้าเฟอร์นิเจอร์ก็อยู่ในภาวะคงที่/ชะลอตัวมาตลอด โดยมีอัตราการผลิตลดลงร้อยละ 3.9 ส่วนยอดจำหน่ายลดลงร้อยละ 4.5 หรือคิดเป็นประมาณ 38 พันล้านยูโร สืบเนื่องจากผู้ผลิตชะลอดู Demand ตลาดภายในประเทศซึ่งมีแนวโน้มลดลงและ Demand ตลาดต่างประเทศที่กำลังเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจ/การเงินโลก ถึงแม้ว่าบางช่วงเวลาดังกล่าวค่าเงินยูโรจะได้เปรียบเงินดอลล่าห์ก็ตาม เนื่องจากหนึ่งในลูกค้าหลัก Top5 ของอิตาลีคือ สหรัฐอเมริกา

ปี 2009 จากผลการวิเคราะห์ตลาดของสมาคมผู้ผลิตสินค้าเฟอร์นิเจอร์อิตาลี(FederLegno-Arredo/Cosmit)คาดการณ์ว่าสถานการณ์ตลาดจะยังคงชะลอตัวต่อไป โดยการผลิตคาดว่าจะมีอัตราลดลงจากปี 2008 อีก จากสาเหตุต่อเนื่อง External Demand และ Internal Demand ต่ำ เนื่องจากผู้บริโภคอยู่ในสถานการณ์ขาดความเชื่อมั่น การจ้างงานลดลง การออมน้อยและสาเหตุจากหนี้ที่เกิดจากเงินกู้ยืมโดยเฉพาะการผ่อนบ้านที่อยู่อาศัยระยะยาว

นอกจากนี้ปีที่ผ่านมา ผู้ผลิตรายย่อยหายไปจากตลาดมาก(ประมาณร้อยละ 2.6) การจ้างงานลดลงเพราะแข่งขันกับบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ เช่น IKEA(จุดขยายเป็น 15 แห่งทั่วอิตาลี) นอกจากนี้ ยังมี Furniture Outlet ขนาดใหญ่อีกได้แก่ Cenni Holding , Conforama , Mondo Convenienza , Semeraro , Casamercato , Emmelunga , Grancasa เป็นต้น ซึ่งสามารถขายสินค้าจำนวนมากในราคาถูก โดยเฉพาะเฟอร์นิเจอร์ประเภทบุนวม(imbottiti)ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากทั้งจาก Demand ต่ำและคู่แข่งอย่างประเทศจีน ในปีหลังผู้ผลิตในอิตาลีจึงมีการปรับนโยบายการแข่งขันและส่งเสริมการขายมากขึ้นได้แก่

1) การย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศต้นทุนต่ำเช่น จีน หรือประเทศในแถบยุโรปตะวันออก

2) การผลิตโดยเน้นการผลิตสินค้าเฟอร์นิเจอร์สำหรับตลาดชั้นสูง(Niche Market) เช่น ผลิตเฟอร์นิเจอร์เฉพาะให้กับเรือยอร์ช

3) เน้นเทคนิคการตลาด และการโฆษณาตามสื่อต่างๆ อย่างไรก็ตาม สินค้าเฟอร์นิเจอร์อิตาลียังคงเน้นการผลิตสินค้าคุณภาพดี ฝีมือการผลิตที่สืบทอดรุ่นต่อรุ่น(คุณภาพ Made-In-Italy) นอกจากนั้น ปัจจุบันยังให้ความสำคัญกับแนวคิดใหม่ ดูแลสิ่งแวดล้อม Ecological Furniture ด้วย

ทั้งนี้ รัฐบาลได้ให้ความช่วยเหลือในด้านการเงินเพื่อเพิ่มสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจได้แก่ การลดภาษี อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ให้เงินงบประมาณโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภค ให้ความช่วยเหลือแก่ธนาคารที่ย่ำแย่ สร้างแรงจูงใจให้ซื้อรถและเฟอร์นิเจอร์ ประกันเงินฝาก ประชาชน และอื่นๆ

3. การบริโภค

ปี 2008 Demand สินค้าเฟอร์นิเจอร์ในประเทศคิดเป็นมูลค่าประมาณ 31.4 พันล้านยูโร มีอัตราลดลงร้อยละ 6.3 สาเหตุหลักมาจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาสินค้าสูงขึ้นตามมา ความไม่มั่นใจของผู้บริโภคและผู้ผลิต รวมทั้งข่าวในทางลบที่โหมกระหน่ำตลอดเวลาโดยเฉพาะหลังเดือนกันยายน 2008 ส่งผลให้พฤติกรรมการผลิต/การบริโภคเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด

ในปี 2009 สถานการณ์เศรษฐกิจยังคงชะงัก ขาดความแน่นอนอย่างมากและเสี่ยงต่อ ภาวะถดถอยลงไปอีก ทั้งนี้ เกิดจากหลายสาเหตุ โดยมีสาเหตุหลักมาจากผลกระทบของเศรษฐกิจ โลก(International Economy Slump)ที่กระทบไปทุกประเทศในโลก

จากสถานการณ์ปัจจุบัน รัฐบาลอิตาลีได้พยายามให้ความช่วยเหลือทั้งภาคอุตสาหกรรม และในระดับครอบครัวเพื่อจูงใจให้เพิ่มการลงทุนและกระตุ้นการใช้จ่ายระดับครอบครัวมากขึ้น

การใช้จ่ายของครอบครัวอิตาเลียนปี 2008 มีอัตราลดลงร้อยละ 0.8 โดยร้อยละ 81.4 ใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็นได้แก่ ค่าอาหาร พลังงานไฟฟ้า น้ำ ก๊าซ ส่วนรายจ่ายเพื่อสินค้าเฟอร์นิเจอร์คิดเป็นร้อยละ 3 และจะเลือกซื้อสินค้าเฟอร์นิเจอร์จากร้านเฟอร์นิเจอร์ขนาดใหญ่(LARGE DISTRIBUTION) ที่มีสินค้าให้เลือกซื้อหลากหลายประเภทและราคามากกว่าร้านค้าย่อยถึงร้อยละ 75

ผู้บริโภคคำนึงถึง

1. ราคาอันดับหนึ่งโดยคิดเป็นร้อยละ 51 และเลือกซื้อในร้านค้าเฟอร์นิเจอร์ ขนาดใหญ่

2. ความสวยงาม เป็นเอกลักษณ์ และทันสมัย ร้อยละ 20 และเลือกซื้อจากทั้ง ร้านค้าเฟอร์นิเจอร์ขนาดใหญ่และร้าน INDEPENDENT OUTLETS

3. สามารถใช้งานได้ดี แข็งแรงทนทาน

4. และเฟอร์นิเจอร์ใหม่จักต้องเข้ากับบ้านและเฟอร์นิเจอร์ชิ้นอื่นๆ ที่มีอยู่ในบ้านแล้ว

4. การนำเข้า

เป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปีที่อิตาลีมีอัตราการนำเข้าลดลง คิดเป็นร้อยละ 1.1 หรือคิดเป็นมูลค่า 6.9 พันล้านยูโร สาเหตุหลังเกิดจาก Internal Demand ลดลง ทั้งจากผู้ผลิตและ Demand จากครอบครัวอิตาเลียน

ตลาดนำเข้าหลักของอิตาลีคือ จีน(+3.8%)และเยอรมัน(-2.1%)ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันเกือบร้อย ละ 40 ของการนำเข้าสินค้าประเภทดังกล่าวทั้งหมด สำหรับประเทศไทยอิตาลีนำเข้าเป็นลำดับที่ 19 คิดเป็นมูลค่าประมาณ 24 ล้านยูโร สัดส่วนร้อยละ 0.9 อัตรานำเข้าลดลงร้อยละ 11.5 โดยสินค้าเฟอร์นิเจอร์ที่อิตาลีนำเข้ามากจากไทยได้แก่ เฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากไม้ ได้แก่ เฟอร์นิเจอร์ สำหรับห้องนั่งเล่น/ห้องอาหาร/ห้องนอน คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 88 ในขณะที่สินค้าที่อิตาลีนำเข้าเพิ่มขึ้นมากจากไทยคือ เฟอร์นิเจอร์ไม้สำหรับห้องครัว(+30%) และเฟอร์นิเจอร์พลาสติก(+27%)

5. การส่งออก

สินค้าเฟอร์นิเจอร์ของอิตาลีเป็นสินค้าส่งออกลำดับที่ 8 ของประเทศ ปี 2008 มีมูลค่าส่ง ออก 13.4 พันล้านยูโร ลดลงร้อยละ 2 โดยมีตลาดส่งออกหลักคือ ฝรั่งเศส เยอรมัน อังกฤษ รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา

ปี 2008 ถือเป็นปีแรกเช่นกันที่อิตาลีส่งออกสินค้าเฟอร์นิเจอร์รวมลดลง(-3%) โดยเฉพาะกับประเทศคู่ค้าในยุโรปตะวันตก(ฝรั่งเศส เยอรมัน อังกฤษ แคนาดา สเปน ฮอลแลนด์ เบลเยี่ยม โปรตุเกส ไอแลนด์)และสหรัฐอเมริกา(-22.3%) ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาเช่น รัสเซีย ยูเครน โรมาเนีย โปแลนด์ และประเทศในแถบตะวันออกกลางนั้นการส่งออกเพิ่มขึ้นเกือบ ร้อยละ 2 โดยเฉพาะตลาดใหม่รัสเซีย อิตาลีส่งออกเพิ่มมากขึ้นถึงร้อยละ 26.4 และอิมิเรตส์เพิ่ม ขึ้นร้อยละ 42.8

สำหรับประเทศไทย เป็นคู่ค้าส่งออกกับประเทศอิตาลีอันดับที่ 76 มีมูลค่าการส่งออกประมาณ 9 ล้านยูโร เพิ่ม ขึ้นร้อยละ 23 เฟอร์นิเจอร์ที่ส่งออกไปยังประเทศไทยเป็นประเภทเก้าอี้นั่ง เป็นต้น

ปี 2009 Demand ของสินค้าเฟอร์นิเจอร์ลดลงมากในตลาดหลักได้แก่ สหรัฐอเมริกา ยกเว้นในประเทศจีน อินเดีย และ เกาหลีใต้ ซึ่งอัตราการเติบโตของตลาดหลัก ได้แก่ จีน อินเดีย รัสเซีย อียิปต์ คูเวต รวมกันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 3

6. ช่องทางการจำหน่าย

อิตาลีมีบริษัทผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ประมาณ 34,000 ราย และมี FURNITURE OUTLET ประมาณ 18,000 แห่งโดย 2,000 แห่งจัดเป็น FURNITURE SPECIALIST ระดับ HIGH-END อิตาลีเป็นประเทศที่มีจำนวน FURNITURE OUTLET มากที่สุดแต่มีขนาดเล็กที่สุดเทียบกับประเทศอื่นๆ ในยุโรป อย่างไรก็ตาม สินค้า เฟอร์นิเจอร์ประเภท ARTISAN มีจำหน่ายเฉพาะในร้านค้าย่อยและร้านค้าเฉพาะทางเท่านั้น ในขณะที่ปัจจุบัน FURNITURE OUTLET ขนาดใหญ่ได้รับความนิยมมากขึ้นและมีแนวโน้มขยายตัวที่ดีในตลาดอิตาลี

เฟอร์นิเจอร์ประเภทโซฟา(UPHOLSTERY)ร้อยละ 78 จะจำหน่ายในร้านค้าปลีก เฟอร์นิเจอร์เฉพาะทางและในร้านสินค้าเฟอร์นิเจอร์ขนาดใหญ่รวม ถึงร้านเฟอร์นิเจอร์ทั่วไป และขายให้กับกลุ่มผู้ซื้อ อย่างไรก็ตาม จำนวนกลุ่มผู้ซื้อในอิตาลีมีไม่มากรายนัก ในทางตรง กันข้ามร้านค้าที่มีการซื้อลิขสิทธิ์ประเภทแฟรนไชน์นั้น มีจำนวนมากในอิตาลีถึงกว่า 300 แห่ง โดย BRAND หลักที่มีจำนวนแฟรนไชน์รวมกว่าร้อยละ 60 ของกลุ่ม ได้แก่ DIVANI&DIVANI , CHATEAU D’AX และ POLTRONE&SOFA’

เฟอร์นิเจอร์ห้องครัวจะจำหน่ายในร้าน INDEPENDENT STORE ร้อยละ 65, ร้านขาย ปลีกขนาดใหญ่ร้อยละ 9, ร้าน KITCHEN SPECIALIST ร้อยละ 15 และการขายตรงของผู้ผลิต(ARTISAN)ร้อยละ 10 ทั้งนี้ ร้านขายปลีกขนาดใหญ่และร้าน KITCHEN SPECIALIST มีจำนวน 200 และ 1,300 แห่งตามลำดับ

7. โอกาสทางการค้า

สำหรับสินค้าเฟอร์นิเจอร์ อิตาลีไม่มีมาตรการกีดกันการทุ่มตลาด(antidumping) อย่างไร ก็ตาม เนื่องจากอิตาลีเป็นหนึ่งในสมาชิกสหภาพยุโรป การนำเข้าสินค้าดังกล่าวจึงต้องเป็นไปตาม กฎระเบียบของสหภาพยุโรป นอกจากนั้น ระหว่างประเทศไทยกับอิตาลีก็ไม่มีข้อตกลงทางการค้า (Trade Agreement)พิเศษใดๆ สำหรับสินค้าเฟอร์นิเจอร์ ทั้งนี้ ขั้นตอนการนำเข้าสินค้าเฟอร์นิเจอร์มีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก ดังนี้

a) ผู้นำเข้าติดต่อ Italian Chamber of Commerce เพื่อขออนุญาตินำเข้าสินค้าเฟอร์นิเจอร์

b) เมื่อสินค้านำเข้ามาถึงด่านศุลกากรอิตาลี ผู้นำเข้าจะมีค่าใช้จ่ายหลัก ดังนี้

  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT)สำหรับประเทศอิตาลี ร้อยละ 20
  • Custom Clearance Cost สำหรับโอกาสทางการค้ากับประเทศไทย สินค้าเฟอร์นิเจอร์จากไทยจัดอยู่ในคุณภาพ ดีถึงดีมาก และเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางของผู้นำเข้า อย่างไรก็ตาม ในช่วงปีหลัง ผู้นำเข้าอิตาลี ให้ความสำคัญกับราคาสินค้ามาก และให้ความสำคัญในด้านราคาเป็นอันดับแรกเพิ่มมากขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีคู่แข่งทางการค้าที่สำคัญได้แก่ จีน อินโดนีเซีย เวียตนาม และอินเดีย โดยเฉพาะเวียตนาม ปี 2008 อิตาลีเพิ่มอัตราการนำเข้าจากประเทศเวียตนามร้อยละ 9

ตลาดเฟอร์นิเจอร์ในอิตาลีแบ่งออกเป็น 2 ตลาดหลัก ได้แก่

  • Furniture Outlets สินค้าส่วนใหญ่มีคุณภาพและระดับราคาปานกลาง-ต่ำมุ่งสำหรับ กลุ่มผู้บริโภคระดับกลางถึงล่าง มีสินค้าให้เลือกหลากหลายทั้งรูปแบบและระดับราคาส่วนใหญ่ เป็นสินค้านำเข้าหรือสินค้านำเข้าที่สั่งผลิตในต่างประเทศภายใต้รูปแบบดีไซน์อิตาเลียน
  • Specialist Stores ผู้นำเข้าส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตและมีขนาดเล็ก ผลิตสินค้าคุณภาพดี-ดีมาก และราคาสูง มุ่งสำหรับตลาดบนหรือตลาดเฉพาะ(Niche Market) ปัจจุบันโลกอยู่ในสถานการณ์ ที่เรียกว่า “ผู้ผลิตต่างสร้างกลยุทธ์แข่งขันกันขาย ในขณะที่ผู้บริโภคต้องการออมมากขึ้น” ดังนั้น สินค้าที่จะเข้ามาในตลาดอิตาลีจึงต้องคำนึง ถึงกลุ่มผู้บริโภค การตั้งระดับราคาสินค้า ดีไซน์ และสถานการณ์ทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ

งานแสดงสินค้า Salone del Mobile 2009(www.cosmit.it)ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-27 เมษายน 2552 ถือเป็นงานแสดงสินค้าเฟอร์นิเจอร์ที่สำคัญที่สุดงานหนึ่งในโลก จัดขึ้น ณ เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี และเป็นปีแรกที่บริษัทผู้ส่งออกไทยมีโอกาสได้เข้าร่วมแสดงในงานฯ จึงนับได้ว่าเป็นโอกาสดีในการเผยแพร่สินค้าเฟอร์นิเจอร์ไทยในงานดังกล่าว

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมิลาน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ