ภาวะการตลาดรถยนต์นั่ง และผลจากการดำเนินมาตรการกระตุ้นอุปสงค์รถยนต์นั่งในเยอรมนี

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 30, 2009 11:39 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ตามที่ได้เกิดวิกฤตการณ์อุตสาหกรรมรถยนต์ขึ้นโดยที่อุปสงค์สำหรับรถยนต์ในตลาดโลกลดลงอย่างมาก ขณะที่บริษัทผู้ผลิตต่างได้ขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์ในปัจจุบันเกิดภาวะกำลังการผลิตเกินกว่าความต้องการซื้อที่มีในตลาดโลก และโดยเฉพาะในภูมิภาคยุโรปถือได้ว่ามีกำลังการผลิตรถยนต์เกินกว่าความต้องการของตลาดมากที่สุดภูมิภาคหนึ่ง ซึ่งรัฐบาลของแต่ละประเทศได้มีมาตรการเพื่อช่วยลดกำลังการผลิตส่วนเกิน และกระตุ้นอุปสงค์ตลาดภายในแต่ละประเทศนั้น

สรุปภาพรวมของสถานการณ์การตลาดรถยนต์ และการดำเนินมาตรการกระตุ้นอุปสงค์รถยนต์นั่งในเยอรมนี ซึ่งเป็นตลาดส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์และชิ้นส่วนประกอบ ที่สำคัญของไทย ได้ดังต่อไปนี้

1. ภาวะการตลาดรถยนต์นั่งในตลาดเยอรมนีในปี 2551 มียอดการจำหน่ายรถยนต์ภายในประเทศลดลงเหลือ 3.1 ล้านคัน และคาดว่าจะลดลงต่อเนื่องในต้นปี 2552 ปริมาณการส่งออกรถยนต์ของเยอรมนีในปี 2551 ลดลงร้อยละ 4.0 หรือส่งออกเป็นจำนวน 4.13 ล้านคัน ซึ่งเมื่อเทียบกับปริมาณการส่งออกรถยนต์ทั้งสิ้นในตลาดโลกที่ลดลงร้อยละ 5.0 ในปีที่ผ่านมายังคงแสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ของเยอรมนี สามารถรักษาส่วนแบ่งในตลาดโลกอยู่ได้ในช่วงภาวะวิกฤติเช่นนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2551 รถยนต์เยอรมันมีสัดส่วนการตลาดเพิ่มขึ้นในตลาดยุโรปตะวันตก สหรัฐฯ และรัสเซีย ร้อยละ 0.7 ร้อยละ 1.0 และร้อยละ 1.5 ตามลำดับ รวมทั้งยังสามารถเพิ่มส่วนแบ่งตลาดได้อีกเล็กน้อยในตลาดจีนด้วย ซึ่งสมาคมอุตสาหกรรมรถยนต์ของเยอรมนี คาดว่า รถยนต์เยอรมันจะสามารถรักษาส่วนแบ่งการตลาดในตลาดรถยนต์โลกได้อย่างต่อเนื่องต่อไปในปี 2552

2. ผลจากวิกฤตการณ์อุตสาหกรรมรถยนต์โลกที่ผ่านมาในปี 2551 มีบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ในเยอรมนี อาทิ BMW Volkswagen และ Daimler ได้ประกาศปลดพนักงาน ปรับเปลี่ยนช่วงเวลาการทำงานและลดชั่วโมงการทำงานลงขณะที่บริษัท Opel (ซึ่งมี GM เป็นบริษัทแม่)ได้ยื่นขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจากรัฐบาลเยอรมนี สำหรับภาวะฉุกเฉินกรณีหากบริษัทแม่ล้มละลาย

3. รัฐบาลเยอรมนี ตระหนักถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมรถยนต์ภายในประเทศ เนื่องจากเป็นแหล่งการจ้างงานที่สำคัญ โดยได้ออกมาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์ทั้งมาตรการด้านการเงิน การคลัง และมาตรการอื่นๆ เพื่อกระตุ้นอุปสงค์สำหรับรถยนต์นั่งของตลาดภายในประเทศ ประกอบด้วย (1) การยกเว้นการเก็บภาษีรถยนต์นั่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภายในปี 2552-2553 เพื่อกระตุ้นความต้องการซื้อรถยนต์ใหม่ (2) การให้ Scrapping Bonus ชดเชยให้เจ้าของรถยนต์เก่าอายุเกิน 9 ปี และเป็นเจ้าของมานานเกิน 1 ปี เมื่อมีการยกเลิกป้ายทะเบียนหรือยกเลิกการใช้รถยนต์เก่าพร้อมทั้งมีหลักฐานการทำลายซากรถเก่านั้นแล้ว โดยเจ้าของรถยนต์ดังกล่าวจะได้รับเงินจำนวน 2,500 ยูโรต่อคัน สำหรับการซื้อรถยนต์ใหม่ทดแทนโดยต้องเป็นรถที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 14 มกราคม-ธันวาคม 2552 และ (3) การให้เงินสนับสนุน/ส่งเสริมการผลิตเครื่องยนต์ที่ใช้พลังงานทดแทนอื่นๆ ได้แก่ การใช้เซลล์พลังงาน และพลังงานจากเทคโนโลยีไฮโดรเจน ในวงเงิน 500 ล้านยูโร ตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นไป

4. ผลจากการดำเนินมาตรการสนับสนุนและกระตุ้นอุปสงค์อุตสาหกรรมรถยนต์ภายในประเทศ ของรัฐบาลเยอรมนี ดังกล่าว ส่งผลให้มียอดการสั่งซื้อรถยนต์นั่งภายในประเทศ ในเดือนมกราคม 2552 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.0 และขยายตัวเพิ่มมากยิ่งขึ้นอีกในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ถึงร้อยละ 63.0 โดยในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2552 มีจำนวนการสั่งซื้อรถยนต์นั่งภายในประเทศแล้วทั้งสิ้น 482,000 คัน ซึ่งเป็นปริมาณมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา และจากผลการสำรวจเบื้องต้นยังพบว่า จำนวนกว่าครึ่งหนึ่งของผู้บริโภคที่ซื้อรถยนต์ใหม่ทดแทนคันเก่า ยังคงให้ความนิยมซื้อรถยนต์บริษัทเยอรมัน มากที่สุด ซึ่งอาจกล่าวได้ว่ามาตรการสนับสนุนจากรัฐบาลเยอรมนีในครั้งนี้ ยังมีผลกระทบทางอ้อมต่อความสามารถในการแข่งขันของรถยนต์นำเข้าจากต่างประเทศอีกด้วย

การจดทะเบียนรถยนต์นั่งใหม่ ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 21.0 หรือคิดเป็นจำนวนรถยนต์ใหม่จดทะเบียนในเดือนกุมภาพันธ์ จำนวน 278,000 คัน นับได้ว่าเป็นจำนวนสูงที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในรอบเกือบสิบปีที่ผ่านมานอกจากนี้ การขยายตัวของยอดการจำหน่ายรถยนต์นั่งภายในประเทศดังกล่าวยังคงมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องต่อไป และเป็นผลสืบเนื่องโดยตรงจากมาตรการกระตุ้นตลาดรถยนต์ภายในประเทศดังกล่าวข้างต้น และการเพิ่มขึ้นของยอดขายรถยนต์ภายในประเทศ ได้ช่วยทดแทนการส่งออกรถยนต์บริษัทเยอรมนี ที่มีการส่งออกลดลงได้เช่นกัน (ในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 เยอรมนีมีการส่งออกรถยนต์นั่งจำนวน 202,000 คัน ซึ่งลดลงถึงร้อยละ 51.0 ต่อเนื่องมาจากเดือนมกราคม 2552 ซึ่งลดลงร้อยละ 34.0)

5. ไทยส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบไปยังเยอรมนี มีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 120.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ปี 2549-2551) โดยในปี 2551 ไทยส่งออกเป็นมูลค่า 94.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากปีก่อนหน้าถึงร้อยละ 27.5 และในเดือนมกราคม 2552 ไทยส่งออกเป็นมูลค่า 6.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือลดลงร้อยละ 51.6 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนหน้า ชี้ให้เห็นถึงภาวะวิกฤตเศรษฐกิจที่มีผลต่ออุปสงค์และยอดขายรถยนต์ที่ลดลงอย่างมาก และได้กระทบถึงการส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบของไทยในตลาดเยอรมนีด้วย อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ว่ามาตรการกระตุ้นอุปสงค์รถยนต์ของเยอรมนีในครั้งนี้ จะยังคงส่งผลทางบวกต่อความต้องการรถยนต์ และเพิ่มยอดขายในอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศได้ต่อเนื่องต่อไปในเดือนมีนาคม ซึ่งสมาคมอุตสาหกรรมรถยนต์ของเยอรมนี มองว่าหากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดำเนินไปในหลายๆประเทศประสบผลสำเร็จ จะสามารถกระตุ้นอุปสงค์รถยนต์ในตลาดโลกโดยรวมในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 ได้เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในตลาดเยอรมนี

6. แนวโน้มการตลาดอุตสาหกรรมรถยนต์ในระยะยาว ทั้งในตลาดเยอรมนี และตลาดยุโรป จะมุ่งเน้นการพัฒนาและส่งเสริมการผลิตรถยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งผู้ประกอบการของไทย สามารถใช้เป็นข้อมูลในเพื่อปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบเพื่อการส่งออก ให้สอดคล้องกับแนวโน้มของตลาดเยอรมนี และตลาดยุโรปได้ต่อไป

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเบอร์ลิน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ