แผนพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอของเวียดนามภายในปี 2558 และวิสัยทัศน์ปี 2563

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 2, 2009 16:02 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมสิ่งทอของเวียดนาม

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้าของเวียดนามมีผู้ผลิตประมาณ 2,500 บริษัท ซึ่งในจำนวนนี้มากกว่า 70% ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งในนครโฮจิมินห์และกระจายอยู่ในจังหวัดรอบ ๆ นครโฮจิมินห์ เช่น ลองอาน (Long An) ด่องนาย (Dong Nai ) บิ่นเยือง ( Binh Duong) อีกประมาณ 20% ตั้งอยู่ทางตอนเหนือโดยมีฮานอยเป็นหลัก และส่วนที่เหลือกระจายอยู่ทางภาคกลางของประเทศ

จำนวนคนงานในสาขาสิ่งทอของเวียดนามมีประมาณ 2.2 ล้านคน (ไม่นับรวมแรงงานที่ปลูกฝ้ายและปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ) ซึ่งในจำนวนนี้ทำงานในนิคมอุตสาหกรรมประมาณกว่า 1 ล้านคน

การผลิตผ้าผืนยังมีคุณภาพต่ำและไม่คงที่ ไม่มีความสม่ำเสมอของสีและความทนสีของผ้าย้อมส่วนใหญ่จะจำหน่ายตลาดภายในประเทศ

การผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปส่วนใหญ่ประมาณ 90% เป็นแบบรับจ้างผลิตซึ่งต้องพึ่งพาคำสั่งซื้อจากต่างประเทศอย่างมาก และมีสัดส่วนการใช้วัตถุดิบภายในประเทศเพียง 35%

อุตสาหกรรมสิ่งทอของเวียดนามกำลังพัฒนาเป็นลำดับและพยายามสร้างระบบมาตรฐานด้านการทอให้ดีขึ้น แต่ยังไม่สามารถสนองความต้องในประเทศได้ ปัญหาที่เผชิญขณะนี้คือ การขาดแคลนแรงงานที่ได้รับการอบรมแล้ว ขาดประสบการณ์ด้านการบริหาร ขาดข้อมูลการตลาดและยังไม่มีความสามารถในการออกแบบผลิตภัณฑ์

ตลาดส่งออก

นับตั้งแต่ปี 2548 เสื้อผ้าและสิ่งทอของเวียดนามสามารถเข้าสู่ตลาดที่สำคัญอย่างสหรัฐฯและสหภาพยุโรปได้โดยไม่มีข้อจำกัดด้านโควตาเนื่องจากการยกเลิกโควตาสิ่งทอขององค์การการค้าโลก หรือ WTO ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2548 เป็นต้นมาทำให้การส่งออกเสื้อผ้าและสิ่งทอของเวียดนามขยายตัวอย่างมากและต่อเนื่อง ในอัตราเฉลี่ยปีละกว่า 20 % นอกจากนี้เมื่อปลายปี 2549 เวียดนามได้ลงนามความตกลงการค้าและการลงทุน ( Trade and Investment Agreement : TIFA ) กับสหรัฐ เพื่อให้ได้รับฐานะประเทศคู่ค้าถาวร ทำให้การส่งออกสิ่งทอและเสื้อผ้าของเวียดนามไปยังตลาดสหรัฐฯซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของเวียดนามได้ขยายตัวอย่างรวดเร็วและสามารถทำรายได้จากการส่งออกขึ้นแซงหน้าสิ่งทอไทยได้เมื่อปี 2550 ( ตารางที่ 1)

ปัจจุบันเวียดนามเป็นผู้ส่งออกสิ่งทอและเสื้อผ้าอันดับ 9 ของโลกและตั้งเป้าจะสามารถเลื่อนอันดับเป็น 1 ใน 5 อันดับแรกของผู้ส่งออกสิ่งทอโลกภายในปี 2558

สหรัฐฯ เป็นตลาดที่รองรับการส่งออกสิ่งทอและเสื้อผ้าของเวียดนามที่สำคัญเป็นอันดับ 1 คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 57% ของการส่งออกสิ่งทอและเสื้อผ้าทั้งหมดของเวียดนาม รองลงมาคือ สหภาพยุโรปและญี่ปุ่น คิดเป็นสัดส่วน 18% และ 9% ตามลำดับ แต่อย่างไรก็ตาม สัดส่วนการนำเข้าสิ่งทอเวียดนามของสหรัฐ และญี่ปุ่น ยังเป็นเพียง 5.5%และ 3.2 % เท่านั้น

เมื่อปี 2551 ที่ผ่านมา รัสเซียนำเข้าสิ่งทอจากเวียดนามมากกว่า 700 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้รัสเซียเป็นตลาดใหม่ที่เวียดนามเริ่มให้ความสำคัญโดยมีโครงการจะเดินทางไปจัดงานแสดงสินค้าสิ่งทอและเสื้อผ้าที่รัสเซียในเดือนกันยายน 2552 นี้

การส่งออกสิ่งทอปี 2552 อาจต่ำกว่าเป้า

แม้การส่งออกสิ่งทอและเสื้อผ้าของเวียดนามในปี 2551 จะเพิ่มขึ้นจากปี 2550 ถึง 17.5 % โดยมีมูลค่า 9,108 ล้านเหรียญสหรัฐก็ตามแต่ก็ต่ำกว่าเป้าหมายที่กระทรวงการค้าและการลงทุน (MoIT) กำหนดไว้ที่ 9,500 ล้านเหรียญสหรัฐ และจากสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม( General Statistics Office : GSO) การส่งออกสิ่งทอและเสื้อผ้าของเวียดนามในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2552 เป็น 1,272 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นเพียง 0.7% ( year — on — year) Vinatex ( Vietnam Textile and Garment Group ) ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ผลิตและส่งออกสิ่งทอและเสื้อผ้ารายใหญ่ที่สุดของเวียดนามโดยมีสัดส่วนการส่งออก 55% ของการส่งออกเสื้อผ้าทั้งหมดของเวียดนาม คาดว่ารายได้จากการส่งออกสิ่งทอในปี 2552 ของเวียดนามคงเป็นเพียง 9.5 — 9.7 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือเพิ่มขึ้นประมาณ 5% ( year — on — year) แต่คงไม่สามารถบรรลุเป้าหมายตามที่ MoIT ของเวียดนามได้ตั้งไว้ คือ 11.5 พันล้านเหรียญสหรัฐได้

ผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกทำให้มีคำสั่งซื้อสินค้าจากตลาดลูกค้าดั้งเดิมหลัก เช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ลดลงจึงคาดว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 ปริมาณผลผลิตสิ่งทอและเสื้อผ้าของเวียดนามจะลดลง 10 - 15% และรายได้จากการส่งออกจะลดลงถึง 20 - 30% เพราะคำสั่งซื้อจากนอกประเทศลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของเวียดนามคาดว่าจะลดคำสั่งซื้อสิ่งทอและเสื้อผ้าจากเวียดนามในปี 2552 ถึง 15%

ต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมสิ่งทอของเวียดนามส่วนใหญ่มักลงทุนในโรงงาน ตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปส่งออกและมากกว่า 90% ผลิตตามคำสั่งซื้อ ดังนั้นเมื่อตลาดลูกค้าหลักของเวียดนามคือ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจชะลอตัวและลดคำสั่งซื้อลงอย่างมาก ทำให้โรงงานเหล่านี้ประสบปัญหาแม้รัฐบาลจะกระตุ้นให้หันมาพึ่งพาตลาดในประเทศแต่โรงงานเหล่านี้ไม่มีประสบการณ์ในการออกแบบให้เหมาะกับผู้บริโภคในประเทศไม่มีประสบการณ์ในช่องทางการจัดจำหน่ายในประเทศและขาดวัตถุดิบในการผลิตเพื่อรองรับการบริโภคในประเทศจึงเป็นเรื่องยากที่จะปรับการผลิตมาสู่ตลาดท้องถิ่น ทำให้โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าส่งออกที่ไม่มีคำสั่งซื้อจากลูกค้าต่างประเทศทะยอยปิดตัวลง

สมาคมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของเวียดนาม ( Vietnam Textile and Apparel Association : VITAS ) ให้ข้อมูลว่าคนงานมากกว่า 10,000 คนในสาขานี้ได้ถูกยกเลิกการจ้างงานตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้วและคาดว่าจำนวนคนงานมากกว่า 100,000 คนในอุตสาหกรรมนี้จะตกงานในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 นี้ ถ้าผู้ซื้อในตลาดส่งออกหลักยังคงลดค่าใช้จ่ายในการซื้อเสื้อผ้าลง

บรรยากาศทางธุรกิจดังกล่าวทำให้นายกรัฐมนตรีเวียดนามตัดสินใจเลื่อนการตรวจสอบกระบวนการกระจายหุ้น (equitization ) วิสาหกิจของรัฐที่เป็นสมาชิกกลุ่มผู้ผลิตและส่งออกสิ่งทอและเสื้อผ้าแห่งชาติของเวียดนาม (Vinatex) ซึ่งมีสัดส่วน 55% ของการส่งออกเครื่องนุ่งห่มทั้งหมดของเวียดนาม

Vitas ได้เสนอให้รัฐบาลใช้มาตรการกีดกันการค้าทางเทคนิค ( technical barriers ) เพื่อปกป้องโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าในประเทศจากการทะลักเข้ามาของเสื้อผ้าคุณภาพต่ำจากประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะ จีน และขณะเดียวกันVitasจะพยายามขยายการส่งออกไปยังตลาดใหม่ๆในแอฟริกา ตะวันออกกลาง และรัสเซีย โดยคาดหวังว่าจะสามารถส่งออกสิ่งทอและเสื้อผ้าไปตลาดรัสเซียได้เพิ่มจาก 700 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อปี 2551 เป็น 1 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2552 นอกจากนั้นยังเห็นว่าสามารถที่จะส่งออกสินค้าสิ่งทอและเสื้อผ้าไปตลาดญี่ปุ่นได้มากขึ้นกว่าปี 2551 ซึ่งมีมูลค่า 1,013 ล้าน เหรียญสหรัฐ

แผนพัฒนาสิ่งทอของเวียดนามภายในปี 2558 และวิสัยทัศน์ปี 2563

รัฐบาลเวียดนามประกาศเป้าหมายพัฒนาเวียดนามให้ก้าวสู่ประเทศอุตสาหกรรมที่ทันสมัยภายในปี 2563 โดยจุดแข็งที่สำคัญที่เวียดนามตระหนักดีคือความเข้มแข็งและความมั่นคงทางการเมือง และเสถียรภาพของรัฐบาล รวมทั้งบุคลากรจำนวนมากที่มีการศึกษาดีพร้อมรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี เวียดนามจึงได้กำหนดแผนพัฒนาสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มภายในปี 2558 และวิสัยทัศน์ภายในปี 2563 ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการค้าและการลงทุนเวียดนาม ( MoIT) เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2551 โดยกำหนดเป้าหมายต่าง ๆ ที่สำคัญของสาขาสิ่งทอ ดังนี้

  • รายได้จากการส่งออกสาขาสิ่งทอ เป็น 18 พันล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2558 และ 25 พันล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2563 ซึ่งเพิ่มมากขึ้นเป็น 2 เท่าและเกือบ 3 เท่าของรายได้จากการส่งออก ปี 2551
  • การผลิตขยายตัว 16 - 18% ต่อปี ขณะที่อัตราการเติบโตของการส่งออกปีละ 20% สำหรับในช่วงปี 2551 — 2553 และ 15% สำหรับปี 2554 — 2563 ขณะที่การผลิตเพิ่มเป็น 12 — 14%
  • ตั้งเป้าให้เวียดนามเป็นผู้ส่งออกสิ่งทอที่สำคัญ 1 ใน 5 อันดับแรกของโลกภายในปี 2558 จากที่ปัจจุบันเป็นอันดับ 9 ของผู้ส่งออกสิ่งทอโลก
  • เพิ่มสัดส่วนของ local content โดยจะให้ความสำคัญต่อการผลิตผ้า วัตถุดิบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องและวัสดุอุปกรณ์ตกแต่ง เพื่อให้สัดส่วนการใช้วัตถุดิบในประเทศเพิ่มจาก 35% ของปัจจุบันเป็น 50% ภายในปี 2553 60% ภายในปี 2558 และ 70% ภายในปี 2563

ส่วนโครงการการผลิตและการลงทุนผ้าผืนเพื่อการส่งออกภายในปี 2558 ( Cloth Investment and Production Programme for exports to 2558 ) ซึ่งตั้งเป้าหมายจะผลิตผ้าผืน 1 ล้าน ตร.ม. ภายในปี 2553 และ 1.5 ล้าน ตร.ม.ภายในปี 2558 นั้น รัฐบาลเวียดนามจะตั้งเขตอุตสาหกรรมทอผ้าและฟอกย้อมจำนวน 10 แห่งทั่วประเทศโดยจำนวน 6 แห่ง ( ในเขตจังหวัด Thai Binh, Ninh Binh, Nghe An, Khanh Hoa, Binh Thuan และ Long An ) จะดำเนินการ ภายในปี 2551 - 2555 และจำนวน 4 แห่ง คือ ในเขตจังหวัดห่าเตียน ( Ha Tinh) กวางจิ ( Quang Tri ) เตียนแยง (Tien Giang) และจาวินห์ (Tra Vinh) ภายในปี 2555 - 2558

นอกจากนี้ เวียดนามจะเร่งให้โครงการทอผ้าและฟอกย้อมที่สำคัญ 5 โครงการเสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2550 - 2555 อาทิ

  • โรงงานฟอกย้อม Teachang — Vina ซึ่งเป็น Joint venture ระหว่าง Vinatex บริษัท Thien Nam และบริษัท Teachang ของเกาหลีใต้ โดยมีกำลังการผลิตของการฟอกย้อมปีละ 63 ตร.ม.
  • บริษัทร่วมทุนระหว่าง Vinatex กับ ITG ของสหรัฐฯ มีกำลังฟอกย้อม ปีละ 76 ล้านตร.ม. ภายในปี 2553
  • โรงงานฟอกย้อม Binh An ซึ่งร่วมทุนโดยโรงงานฟอกย้อม Viet Thang กับ Tencate ของเนเธอร์แลนด์ กำลังฟอกย้อมปีละ 45 ล้าน ตร.ม. ภายในปี 2553

ตามโครงการดังกล่าวนี้ จะเน้นการเพิ่มจำนวนนักออกแบบแฟชั่นมืออาชีพและการเพิ่มจำนวนคนงานที่ผ่านการฝึกอบรมรวมทั้งการก่อตั้งมหาวิทยาลัยสิ่งทอเครื่องนุ่งห่มและแฟชั่นด้วย

ผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย

การที่รัฐบาลเวียดนามมีแผนพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอโดยเน้นการใช้วัตถุดิบที่ผลิตในท้องถิ่นเป็นหลัก เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ จะมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสิ่งทอไทย เพราะเวียดนามเป็นตลาดส่งออกผ้าผืนและเส้นใยประดิษฐ์อันดับ 2 ของไทยและเป็นอันดับ 7 สำหรับการเป็นตลาดส่งออกด้ายเส้นใยประดิษฐ์ ของไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งเส้นใยประดิษฐ์นั้น เวียดนามนำเข้าจากไทยมากเป็นอันดับ 3

เนื่องจากอุตสาหกรรมสิ่งทอเป็นอุตสาหกรรมที่ทำรายได้จากการส่งออกสูงถึง 14% ( 2551) ของการส่งออกทั้งหมดของเวียดนาม จึงไม่แปลกที่รัฐบาลเวียดนามจะทำทุกวิถีทางเพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมสามารถผงาดในตลาดโลกจะเห็นว่าในช่วง 4- 5 ปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมสิ่งทอเวียดนามเติบโตอย่างรวดเร็วจนแซงหน้าไทยไปแล้ว แต่จุดอ่อนประการหนึ่งของเวียดนามที่ยังสู้ไทยไม่ได้ คือ ฝีมือแรงงานและดูจะเป็นความหวังของอุตสาหกรรมสิ่งทอไทย หากไทยจะใช้จุดเด่นด้านฝีมือแรงงานในการหนีคู่แข่งด้วยการพัฒนาดีไซน์ และเร่งสร้างนักออกแบบมืออาชีพ แต่ทั้งนี้ไทยก็ไม่ควรประมาทเพราะเวียดนามเองก็กำลังเร่งพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อให้สามารถเทียบชั้นกับไทยด้วยเช่นกัน

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโฮจิมินห์

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ