สินค้าเกษตรอินทรีย์ของประเทศอิตาลี

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 12, 2009 14:52 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. ภาพรวมตลาด

สินค้าเกษตรอินทรีย์หรือที่รู้จักกันว่า สินค้า Organic เป็นสินค้าที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากปัจจุบันมีการรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังขึ้น ทำให้ผู้บริโภคใส่ใจกับสภาพ แวดล้อมที่มีผลโดยตรงต่อห่วงโซ่อาหาร และผลผลิตที่มีผลต่อสุขภาพ จึงเลือกบริโภคอาหารปลอดสารพิษมากขึ้น รวมถึงความรู้ความเข้าใจถึงประโยชน์แท้จริงของการบริโภคอาหารเกษตรอินทรีย์ ทั้งนี้ แนวโน้มอัตราการเติบโตของ Sector ดังกล่าว ยังสวนกระแสกับภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคอิตาเลียนเพียง 1 ใน 4 เท่านั้น ที่รู้เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์อย่างถูกต้อง เนื่องจากกฎเกณฑ์ของกรรมวิธีและขั้นตอนในการผลิต และหลักเกณฑ์ที่ใช้ จำแนก/ตรวจสอบสินค้าฯ ยังไม่ชัดเจนนักในสินค้าหลายรายการและค่อนข้างยากต่อการทำความเข้าใจของผู้บริโภคทั่วไป

ปัจจุบันตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ในยุโรป เป็นตลาดที่กำลังเติบโต และเป็นที่นิยมมาก เนื่องจากมีการเพาะปลูกที่รักษาสิ่งแวดล้อม และให้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ให้คุณค่าทางอาหารสูงกว่าสินค้าที่เพาะปลูกตามปกติ และปลอดภัยต่อการบริโภค เพราะไม่มีการใช้สารเคมีในการเพาะปลูก ตั้งแต่ปี 2002 เป็นต้นมาสินค้าเกษตรอินทรีย์ได้ขยายตัวอย่างรวดเร็วในยุโรป โดยมีจำนวน Organic Farm ถึง 5.8 ล้านเฮคเตอร์ หรือร้อยละ 4 ของพื้นที่เกษตรกรรมของยุโรป และมีมูลค่าการค้าปลีกรวมกว่า 10 ล้านยูโร โดยมีประเทศที่มีพื้นที่การเพาะปลูก Organic Farm มากที่สุด คือ อิตาลี( ปี 2007 ประมาณ 1.15 ล้านเฮกเตอร์ เพิ่มขึ้นจากปี 2007 ร้อยละ 0.18)

2. สินค้าเกษตรอินทรีย์ (Organic) ในอิตาลี

ได้แก่ ผัก/ผลไม้สด ธัญพืช ไข่ นมสด โยเกิต เครื่องดื่มสุขภาพ อาหารเด็กอ่อน น้ำมันโอลีฟ พาสต้า น้ำผึ้ง บิสกิต มะเขือเทศ สินค้าอาหารแปรรูป และสินค้าอื่นๆ ที่ใช้วัตถุดิบในการผลิตเป็น Organic เช่น สบู่ ครีม ฯลฯ สินค้าเกษตรอินทรีย์ที่สำคัญของอิตาลีได้แก่ ผัก/ผลไม้สดและอาหาร(Proceed Food)

ผลผลิตผักผลไม้สดประเภท Organic ของอิตาลีมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องทั้งตลาดภายใน ประเทศและส่งออก แต่อย่างไรก็ ตามตลาดก็ยังคงจำกัดอยู่ในชนกลุ่มน้อย ตั้งแต่ปี 1998 อิตาลีนับว่าเป็นแหล่งเพาะปลูกผักผลไม้ Organic แหล่งใหญ่ที่สุดของสหภาพยุโรป รวมทั้งมีจำนวน Organic Farm ที่มากที่สุดในรอบปีที่ผ่านมาการขยายตัวของสินค้าเกษตรอินทรีย์มีสูงขึ้นโดยตลอด มีพื้นที่ไร่ที่ได้รับการรับรองถึงกว่า 1 ล้านเฮคเตอร์ และมีจำนวนฟาร์มกว่า 50,200 ฟาร์มในปัจจุบัน มียอดจำหน่ายประมาณ 1.6 พันล้านยูโร แบ่งเป็น ผู้ผลิตร้อยละ 85.8 ผู้แปรรูปร้อยละ 9.5 ผู้ผลิตและผู้แปรรูปร้อยละ 4.1 ผู้นำเข้าร้อยละ 0.091 และร้อยละ 0.33 เป็นทั้งผู้นำเข้า/ผู้ผลิต/และผู้แปรรูป และกิจกรรมทางธุรกิจอื่นๆ อีกร้อยละ 0.12 ทั้งนี้ การขยายตัวเริ่มมากตั้งแต่ปี 1992 ซึ่งเป็นปีที่อิตาลีเริ่มออกกฏหมาย EC Reg.2092/91 เกี่ยวกับการออกใบรับรองสินค้าเกษตรอินทรีย์ และกฎหมาย EC Reg 2078/92 เกี่ยวกับการให้การสนับสนุนฟาร์มที่มีการรักษาสิ่งแวดล้อม รวมทั้ง Organic Farm จากกฎหมายฉบับนี้ทำให้การขยายตัวของ Organic Farm ในอิตาลีเพิ่มมากขึ้น

3. แหล่งปลูกผักผลไม้ Organic

กว่าร้อยละ 50 ของฟาร์มผลไม้จะอยู่ทางตอนใต้ของอิตาลี คือ เกาะ Sicily, Sardegna, Campania, Friuli และในแคว้น Emilia Romagna สำหรับผักปลูกมากทางตอนใต้ของประเทศ เช่นกันโดยเฉพาะที่เกาะ Sicily, Apulia

ตารางแสดงจำนวนผู้ประกอบการใน Biological agriculture sector ในอิตาลี(2007)
    Sicilia        7,524        Veneto            1,548
    Calabria       6,963        Umbria            1,501
    Puglia         4,987        Campania          1,460
    Basilica       4,680        Lombardia         1,329
    Emilia R.      3,801        Abruzzo           1,290
    Marche         2,822        Pr.At. TN e BZ    1,199
    Lazio          2,674        Molise              753
    Toscana        2,589        Liguria             399
    Piemonte       2,244        Friuli V.G.         371
    Sardegna       2,060        A.Aosta              82
รวมทั้งประเทศ                                      50,276
ที่มา SINAB : http://int.sinab.it

4. การสนับสนุนของรัฐบาลอิตาลี

รัฐบาลจะสนับสนุนสินค้าเกษตรอินทรีย์ภายใต้กรอบ EC Framework (EC Reg 2078/92 และ EC Reg. 1257/99 เท่าที่ผ่านมารัฐบาลจ่ายเงินในการสนับสนุนการผลิตพืชผัก Organic ไปแล้วกว่า 175.2 ล้านยูโร รวมทั้งมีการเก็บภาษียาฆ่าแมลงเพื่อนำรายได้ไปส่งเสริมสินค้าเกษตรอินทรีย์

5. การบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์ในอิตาลี

เป็นการยากที่จะระบุตัวเลขแน่ชัดของการค้าผักผลไม้ Organic เนื่องจากตัวเลขจะปนกันไปกับสินค้าประเภท Convention แต่อย่างไรก็ตาม ได้มีการประมาณการตัวเลขการขายปลีกของ Organic Food ในอิตาลีไว้กว่า 1.2 ล้านยูโรต่อปี โดยมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 17 ในปี 2008 จากการสังเกต พบว่าในช่วง 5 ปีหลังที่ผ่านมา(2003-2008)มีอัตราการเติบโตกว่าร้อยละ 90 อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะเป็นตลาดเล็กแต่ก็มีแนวโน้มตลาดเติบโตอย่างต่อเนื่องสวนกระแสเศรษฐกิจในปัจจุบัน Organic Food ขายได้ดีทางตอนกลางและตอนเหนือของประเทศที่คนมีรายได้ดี เพราะเป็นเขตเศรษฐกิจที่สำคัญของอิตาลี ความต้องการส่วนใหญ่จะเป็นผักผลไม้มากกว่าสินค้า Organic Food อื่นๆ

ประเทศอิตาลี                       การบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์ 2008       % 2008/2007
ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ                          44.10%                     6.80%
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ                         27.20%                    -0.80%
ภาคกลางและแคว้น Sardegna                    19.70%                     8.50%
ภาคใต้                                       9.00%                    12.30%
ที่มา Ismea / Nielsen

จากการสำรวจของ ISMEA(Istituto di Servizi per il Mercato Agricolo Alimentare : www.ismea.it) และ NIELSEN(บริษัทวิจัยตลาด : http://it.nielsen.com/company/index.shtml) พบว่า Domestic consumption ปี 2008 มีอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 สินค้าที่มีอัตราการเติบโตสูงได้แก่ ผลไม้สดและแปรรูป(+20%) ผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กอ่อน(+16%) อาหารจำพวกขนมปัง/พาสต้า/ข้าว/ไข่(+14%) และเครื่องดื่มสุขภาพ ในขณะที่ผลิตภัณฑ์อาหารเช้า (กาแฟ ชา บิสกิต ของหวาน ฯลฯ) นั้นลดลง -14%

% 2008/2007 % สัดส่วน

นมสดและ dairy products                1.50%       19.80%
ผลไม้สดและแปรรูป                       19.80%       19.50%
ผลิตภัณฑ์อาหารเช้า                      -13.80%       14.10%
เครื่องดื่ม                               2.70%       10.00%
ขนมปัง พาสต้า ข้าว                      14.30%        7.70%
ไข่                                   14.10%        7.70%
ผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับเด็กอ่อน               16.10%        5.70%
น้ำมัน                                  7.10%        4.80%
น้ำผึ้ง                                  7.50%        3.70%
อาหารแช่แข็ง                           10.00%        2.40%
อื่นๆ                                    1.9v        4.60%
สินค้าเกษตรอินทรีย์รวม                     5.40%      100.00%
ที่มา Ismea / Nielsen

จากตารางการใช้จ่ายของครอบครัวอิตาเลียนในการซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์พบว่า 5 อันดับแรก ได้แก่ นมสดและ dairy products ผลไม้สดและแปรรูป ผลิตภัณฑ์อาหารเช้า และเครื่องดื่มสุขภาพ นั้น มีสัดส่วนการบริโภคแล้วกว่าร้อยละ 60

สินค้าผลไม้ Organic ได้แก่ พรุน Citrus(ส้มและมะนาว) แอปเปิ้ล กล้วย พีช และ ผลไม้นำเข้าต่างๆ ได้แก่ กีวี สตรอเบอรี่ อโวคาโด มะม่วง มะละกอ สับปะรด ผลไม้เมืองร้อน และอื่นๆ เช่น ลูกนัท, Saltanas และเมล็ดธัญพืช

          ประเภทผลไม้        %  2008/2007     สัดส่วนการบริโภค
          แอปเปิ้ล               10.50%              13.80%
          กล้วย                  8.20%              8.80%
          ส้ม                   -7.10%              8.20%
          ลูกแพร์                 3.40%              6.80%
          ลูกพีช                  6.90%              6.50%
          องุ่น                  -1.10%              5.50%
          เลมอน                21.00%              5.00%
          ลูกพรุน                33.40%              3.80%
          เมลอน                -7.00%              3.50%
          ส้มไร้เมล็ด             -1.50%              3.40%

ที่มา Ismea / Nielsen

อัตราการบริโภคผลไม้ Organic มีอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ทั้งนี้ ประเภทผลไม้ที่เป็นที่นิยมและมีปริมาณการบริโภครวมร้อยละ 65.2 ได้แก่ แอปเปิ้ล กล้วย ส้ม ลูกแพร์ ลูกพีช องุ่น เลมอน ลูกพรุน เมลอน และ ส้มไร้เมล็ด

ส่วนผักที่นิยมได้แก่ มะเขือเทศ แตง(Courgette) อติโชก ผักกาดแก้ว มันฝรั่ง ถั่ว พริกหยวก มะเขือม่วง สลัดผักอื่นๆ ได้แก่ แครอท ดอกกระหล่ำ หัวหอม กระเทียม เป็นต้น ทั้งนี้ ประเภทผักข้างต้นมียอดรวมการบริโภคถึงร้อยละ 60

          ประเภทผัก            %2008/2007        สัดส่วนการบริโภค
          มะเขือเทศ               -6.70%            13.20%
          แตง(Courgette)         -1.30%             7.70%
          อติโชก                  50.70%             5.70%
          ผักกาดแก้ว                1.10%             5.40%
          มันฝรั่ง                   0.60%             5.30%
          ถั่ว(Beans)               2.80%             5.20%
          พริกหยวก                -2.60%             4.50%
          มะเขือม่วง                6.20%             4.40%
          สลัดผักอื่นๆ               -3.80%             4.10%
          Fennel                  7.70%             3.80%

ที่มา Ismea / Nielsen

โดยข้อเท็จจริงผู้บริโภคในอิตาลีใช้จ่ายเงินเพื่อซื้อ Organic Food น้อยกว่าร้อยละ 1 ของ การใช้จ่ายของครัวเรือน จากการสำรวจของ ISMEA-Nielsen CRA พบว่า Organic Food ที่นิยม ได้แก่ ไข่ นมสด โยเกิต เครื่องดื่มที่ทำจากถั่วเหลืองและน้ำผลไม้ น้ำมันโอลีฟ Cereals ผักผลไม้สด Dairy Products อื่นๆ และเนื้อสัตว์ ปัญหาหนึ่งของสินค้า Organic Food ที่ยังไม่แพร่หลายเท่าที่ควร ก็คือการขาดข่าวสารเพื่อเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าดังกล่าว และคนอิตาลีหลายคนยังเข้าใจว่า อิตาลีเป็นประเทศเดียวที่ผลิตสินค้า Organic ดังนั้นจึง ไม่แน่ใจในสินค้านำเข้า ประกอบกับผู้บริโภคหลายรายไม่ยินดีที่จะจ่ายเงินสูงเพื่อซื้อสินค้าดังกล่าว

6. ช่องทางการจำหน่าย แบ่งเป็น

1. ร้านค้าเฉพาะอย่าง (Specialised Shop) เช่น ร้านขาย Organic, สมุนไพร, ร้านอาหารเพื่อสุขภาพมีสินค้าตั้งแต่ 1,000-กว่า 3,500 รายการ และ ร้าน Organic Franchising Chain เช่น Naturas, Bottega E Natura ร้านค้าทั้งสองประเภทรวมกันคิดเป็นร้อยละ 45 โดยในปี 2008 มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 17.3

2. ซุปเปอร์มาเกต และไฮเปอร์มาเกตทั่วไปปัจจุบันมีกว่า 2000 แห่งที่มี Organic Corner ในร้าน ขายภายใต้ Private Label กว่า 300 รายการ ซุปเปอร์มาเกตดังกล่าวได้แก่ Auchan, SMA, A&O, Billa, Colmark, Conad, Coop, Crai, Despar, Esselunga, Carrefour, GS, Il Gigante, Iper, PAM คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 40 ปี 2008 มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 5

3. Collective Catering ( Public Catering, School Catering , hospitals ฯลฯ) ปัจจุบันในโรงเรียนและโรงพยาบาลได้พยายามหันมาใช้อาหาร organic มากขึ้น ภายใต้การสนับสนุนจากรัฐบาล มีสัดส่วนร้อยละ 10% นับเป็นช่องทางที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งและปัจจุบันได้รับการสนับสนุนทั้งจากผู้ปกครอง รัฐ และเอกชน ซึ่งสามารถเข้าถึงผู้บริโภคโดยตรง รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ปี 2008 มีอัตราการเติบโตร้อยละ 16

4. Direct Selling จำหน่ายเองโดยตรงจากฟาร์ม ส่งตรงถึงบ้านและร้านค้า กำลังขยายตัวเป็นเครือข่ายสมาชิกซึ่งมีแนวโน้มกว้างขวางออกไปเรื่อยๆ ภายใต้ชื่อสหกรณ์การเกษตร GAS- 2008 มีอัตราการเติบโตถึงร้อยละ 17 ดูจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนฟาร์มและ Holiday-farms ดังตาราง

ปี จำนวนฟาร์ม และ Holiday-farms
  2003                1,005
  2004                1,184
  2005                1,199
  2006                1,324
  2007                1,645
  2008                1,928
ที่มา Bio-Bank

7. การส่งออก - นำเข้า

อิตาลีส่งออก ผักผลไม้ Organic เป็นหลัก ส่วนใหญ่ได้แก่ Citrus (ตระกูลส้ม และมะนาว) โดยส่งออกไปยังตลาดในยุโรป โดยเฉพาะยุโรปเหนือ เยอรมัน และสวิสเซอร์แลนด์

อิตาลีนำเข้าผักผลไม้ Organic กว่า 20,000 ตันคิดเป็นมูลค่าประมาณ 17.5 ล้านยูโรประมาณร้อยละ 55 เป็นกล้วย

การนำเข้าสินค้าดังกล่าวอยู่ภายใต้กฎหมาย EC Reg. 2092/91 กล่าวคือสินค้าที่ไม่ได้มีแหล่งกำเนิดในสหภาพยุโรป จะต้องได้รับการ Certify ตามกระบวนการที่กำหนดไว้ในกฎหมาย โดยมีขั้นตอนโดยสรุปดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 Registration

1. ผู้นำเข้าจะต้องจดทะเบียนเข้าเป็น National List of Organic Importers กับหน่วยงาน Instiute of Certification (ICEA) และเลือกหน่วยงานที่จะตรวจสอบ และ Certify Body

2. ผู้นำเข้าต้องยื่นความจำนงที่จะนำเข้าสินค้า Organic จากประเทศที่สามเรียกว่า Notification of Import of Organic Products

ขั้นตอนที่ 2 Importation เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบการนำเข้า ผู้นำเข้าต้องจัดส่งเอกสารที่เรียกว่า Notification of Import of Organic Products from Third Countries ตัวจริงส่งกระทรวงเกษตรอิตาลี สำเนาส่งหน่วยงาน Certify Body เช่น ICEA โดยมีรายละเอียดประกอบด้วย

1) รายชื่อที่อยู่ของผู้นำเข้า

2) รายชื่อที่อยู่ของ First Consignee ที่ไม่ใช่ชื่อผู้นำเข้า

3) ชื่อที่อยู่ของ Public Authority และหรือ Private Body ที่รับผิดชอบการตรวจสอบ (Inspect) และออกใบรับรอง (Certification) ในประเทศผู้ส่งออกที่ออกเอกสารรับรองก่อนส่งออกต่างประเทศ

4) ชื่อของหน่วยงานตรวจสอบ และ ชื่อของหน่วยงานตรวจสอบ และ Certify ในอิตาลีเช่น ICEA

5) ชื่อ ประเทศที่ผลิตสินค้า

6) ชนิดของสินค้า, ผลผลิตต่อปี

7) ถ้ามี Ingredient ให้ใส่รายละเอียดทั้งหมด โดยกรอกในแบบฟอร์มของ ICEA

8) ต้องให้รายละเอียดเกี่ยวกับการเพาะปลูกทุกขั้นตอน, พื้นที่,ผลผลิต,แหล่งผลิต, สถานที่ ฯลฯ รวมทั้ง ชื่อผู้ส่งออก

9) ให้รายละเอียด Production Rules ที่กำหนดโดยผู้ผลิต 10) อธิบายระบบการตรวจสอบในประเทศผู้ส่งออก และหน่วยงานที่ตรวจสอบ

รายละเอียดทั้งหมดนี้ต้องยื่นต่อ กระทรวงเกษตรอิตาลี เพื่อขออนุมัติโดยข้อมูลทั้งหมดต้องเป็นที่พอใจแก่หน่วยงาน ว่าผู้ผลิต ผู้ส่งออกในประเทศนั้นๆ ได้มีการเพาะปลูก และกระทำทุกอย่างตามขั้นตอนของคำว่า Organic โดยระบบต้องเหมือนกับที่ใช้ในยุโรป ( Equivalence System) นอกจากนี้ผู้ส่งออกต้องจัดส่งเอกสารแนบคือ

1) EN 45011 หรือ ISO 65 Accreditation Certificate ของ Certify Body ในประเทศผู้ส่งออก

2) Certificate of Compliance with Community Rules สำหรับสินค้าในประเทศผู้ส่งออก ออกโดย Certify Body ของประเทศผู้ส่งออก

3) ตามกฎหมายใหม่ EC 1788/01 สินค้าที่นำเข้า EU จะต้องมีในรับรองการตรวจสอบออกโดยหน่วยงานตรวจสอบในประเทศนั้นๆ และต้องส่งตัวจริงมาที่ผู้นำเข้าซึ่งจะเป็นผู้ยื่นต่อศุลกากรอิตาลี

4) รายงานการตรวจสอบสินค้าไม่ว่าจะเป็นผักผลไม้ ฯลฯ ออกโดย Certify Body (ปัจจุบันมีประมาณ 16 แห่ง)ในช่วงของผลผลิตครั้งสุดท้ายของปีที่ผ่านมา

ขั้นตอนที่ 3 การยื่นขอต่ออายุการตรวจสอบ โดยปกติการออกใบอนุญาติจะมีระยะเวลา 12 เดือนหลังจากวันที่อนุมัติ ดังนั้นผู้นำเข้าต้องดำเนินการขอต่ออายุ โดยหน่วยงานกระทรวงเกษตร และ ICEA มีสิทธิที่จะดำเนินการตรวจสอบการดำเนินงาน และกิจกรรมของผู้นำเข้าได้ตลอดเวลา

เนื่องจากกระบวนการขั้นตอนการทำงานของทางการของอิตาลีค่อนข้างช้า และ เป็นทางการมากเกินไปทำให้ระยะเวลาการ Certify ช้ามาก ดังนั้นหากเป็นการนำเข้าในปริมาณน้อย จึงมักมีการนำเข้าผ่านประเทศอื่นที่มีประสิทธิภาพการดำเนินการมากกว่า เช่นนำเข้าจากเนเธอร์แลนด์ และ เยอรมัน แต่หากมีปริมาณการนำเข้าสูงก็จะนำเข้าโดยตรง เช่น กล้วยจาก Colombia

อิตาลีนำเข้าชนิด ผักผลไม้ Organic จากประเทศดังนี้

กล้วย - จาก Ecuador ,Costa rica ,Netherlands,Colombia,Belgium

แอปเปิ้ล, แพร์, หัวหอม และ Citrus (ส้ม-มะนาว) - จาก Argentina,Spain,Chili

Dates ,Fichi - จาก Costa rica ,Netherlands, Belgium

Grape Fruit - จาก Isarel

สตรอเบอร์รี่ กีวี ทุเรียน - จาก สเปน ชิลี ฝรั่งเศส

แครอท และกระเทียม - จาก Egypt

ผักกาดหอม และดอกกระหล่ำ - จาก Poland

สับปะรด - จาก Cameroon, Dominican Replublic,

นอกจากนี้ยังนำเข้าผ่านประเทศอื่นๆ ในยุโรป โดยเฉพาะจากประเทศ สเปน ตุรกี ฝรั่งเศส เนเธอแลนด์ เบลเยี่ยม และเยอรมัน

8. ผู้นำเข้า

ผู้นำเข้ารายใหญ่ได้แก่ Adriafruit มีเครื่องหมายการค้า “ Bio Adria” นำเข้าประมาณ 5 ตู้ต่อสัปดาห์ นอกนั้นมีผู้นำเข้ารายสำคัญอื่นๆ เช่น Verona Bio Frutta (มีฟาร์มใน Argentina) , ECOR, Brio, Sweet และ Organicsur (รายชื่อดังแนบ )

9. การซื้อ-ขาย และราคา

โดยปกติซุปเปอร์มาเกตจะไม่ซื้อโดยตรงจากผู้ผลิต หรือผู้ส่งออก แต่จะซื้อจาก Wholesaler หรือ Importer

Organic Food ถือเป็น Premium Product และมีราคาสูงกว่าสินค้าประเภท Convention 50-200 %

10. แนวโน้มและโอกาสทางการค้า

ความต้องการผักผลไม้ Organic มีอัตราการเติบโตสูงมากและอย่างต่อเนื่อง ในบางปีมีความต้องการมากกว่าที่ผลิตได้ในประเทศเช่น หัวหอม, แครอท, มันฝรั่ง, พริกไทย, แตงกวา, มะเขือม่วง, ผักใบเขียว ( Lettuce), กีวี, แอปเปิ้ล, แพร์, เมล่อน สำหรับผลไม้ Tropical Fruit มีความต้องการที่เพิ่มขึ้นเช่น สับปะรด, มะม่วง, อโวคาโด และ มะพร้าว รวมทั้งผลไม้แห้ง เช่นลูกนัท และ ลูกเกด อย่างไรก็ตามประเทศในแถบเมดิเตอร์เรเนี่ยน เช่น ตุรกี, อียิปต์, ตูนีเซีย และ Libya เป็นประเทศที่สามารถผลิต Tropical Organic Fruit ได้จึงถือว่าเป็นคู่แข่งที่สำคัญในยุโรป ซึ่งได้เปรียบด้านราคาค่าขนส่งและระยะทาง นอกจากนั้นสินค้าจำพวกเครื่องดื่มสุขภาพ น้ำผึ้ง อาหารแปรรูปจำพวกแป้ง(พาสต้า ข้าวไทย ฯลฯ) ที่ไทยมีศักยภาพในการผลิต ยังได้รับความนิยมสูงและมีแนวโน้มความต้องมากในตลาดอิตาลี

ข้อเสนอแนะ

1. สร้างความสัมพันธ์ และเครือข่ายกับหน่วยงาน Certify Bodies ระหว่างประเทศไทย กับอิตาลี เพื่อให้ได้มาซึ่ง Equivalency Certificate ซึ่งจะช่วยให้การนำเข้าเป็นไปอย่างง่ายขึ้น

2. ในช่วงฤดูร้อน(เมย.-มิย.)ผัก ผลไม้ของอิตาลีออกมามาก ทำให้ความต้องการนำเข้าในช่วงนั้นจะน้อย ดังนั้นการเสนอขายควรจะพิจารณาเรื่องของฤดูกาลด้วย

3. หาทางส่งออก ผักผลไม้ชนิดที่สามารถนำไปเป็น Raw Material ในการผลิต Organic Food อื่นๆ เช่น ในการผลิตซ๊อส เครื่องดื่ม แยม ฯลฯ

4. กระบวนการ การ Certify ของอิตาลีล่าช้า ทำให้ผู้ค้านิยมนำเข้าจากประเทศอื่น เช่นเนเธอร์แลนด์ และเยอรมัน ดังนั้นผู้ส่งอกไทยน่าจะพิจารณาการส่งออกผ่านประเทศอื่นในยุโรปด้วย

5. การเพาะปลูก ผักผลไม้ Organic จะใช้แรงงานมากกว่า ใน Convention Farm ดังนั้นโอกาสของประเทศในเอเซียที่ยังมีค่าแรงงานด้านเกษตรกรรมถูกจะมีความได้เปรียบกว่า อย่างไรก็ตามต้องผ่านการ Certify ตามกฎหมายอิตาลีก่อน

สำนักงานส่งเสริมการค้า ณ เมืองมิลาน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ