ภาคการเกษตรมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจเวียดนาม โดยสามารถสร้างรายได้ 30 % ของรายได้จากการส่งออกทั้งหมดและ 25 % ของ GDP ของประเทศ
การเพาะปลูกและการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ในเวียดนามยังเป็นเรื่องใหม่และเพิ่งเริ่มมีขึ้นเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว โดยเริ่มจากชาและเครื่องเทศจำนวนไม่มากนักอย่างไรก็ตามเมื่อประมาณ 2 - 3 ปีที่ผ่านมาพื้นที่การผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ของชา ผัก ข้าว เครื่องเทศ น้ำผึ้งและสัตว์น้ำได้ขยายตัวมากขึ้นโดยสถิติเมื่อปี 2549 เวียดนามมีฟาร์มสินค้าเกษตรอินทรีย์จำนวน 1,022 ฟาร์ม มีพื้นที่เพิ่มเป็น 6,475 เฮคตาร์ ซึ่งคิดเป็นเพียง 0.08% ของพื้นที่เกษตรทั้งหมดของเวียดนาม
ผลผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ของเวียดนามบางชนิดสามารถส่งออกได้แล้วแต่ส่วนใหญ่ยังไม่มีศักยภาพในการผลิตเท่าใดนัก ปัจจุบันมีองค์กรระหว่างประเทศ 2 - 3 องค์กรที่ให้การสนับสนุนการเกษตรอินทรีย์ในเวียดนาม เช่น ADDA ของเดนมาร์ค ( Agricultural Development Denmark Asia ) GTZ ของเยอรมัน และ JICA ของญี่ปุ่น เป็นต้น นอกจากนี้เวียดนามยังได้รับการสนับสนุนจากบริษัทที่ผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก ( สัตว์น้ำ ชา เครื่องเทศ และผลไม้ ) โดยชาเป็นสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด
ผลผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่สำคัญของเวียดนาม ประกอบด้วย
ในพื้นที่เขตเมือง : ผัก ผลไม้ เนื้อ ไข่และนม
ในจังหวัดแถบภูเขา : ชา กาแฟ พริกไทย ผลไม้ พืชสมุนไพรทำยา เม็ดมะม่วงหิมพานต์ พืชป่า( เช่น ซินนามอน ) ซึ่งผลผลิตดังกล่าวผลิตภายใต้การรับรองตามมาตรฐานของประเทศผู้นำเข้า เช่น สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา โดยการตรวจสอบและออกใบรับรองกระทำโดยหน่วยงานออกใบรับรองของต่างชาติ ( certification bodies — CB’s )
ปัจจุบันประมาณ 90% ของสินค้าเกษตรอินทรีย์เป็นสินค้าส่งออกโดยมีตลาดหลัก คือ สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ส่วนตลาดในประเทศยังมีน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นชาและผักออร์แกนนิคที่ขายให้กับคนต่างชาติในเวียดนาม คนเวียดนามที่มีฐานะดีในกรุงฮานอยและนครโฮจิมินห์ รีสอร์ทระดับ 5 ดาวและภัตตาคารตามเมืองใหญ่ ๆ
ในปี 2542 ได้มีการจัดตั้ง Hanoi Organic Company เพื่อเป็นบริษัทที่ดูแลในการพัฒนาตลาดผัก organic ในประเทศ โดยบริษัทจะรับคำสั่งซื้อจากลูกค้าและแจ้งไปยังเกษตรกรเพื่อการเพาะปลูกเก็บเกี่ยวและนำมาจำหน่ายให้กับบริษัท บริษัทจะนำไปจำหน่ายต่อให้ลูกค้าในกรุงฮานอย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติและโรงแรม แต่ระบบดังกล่าวยังไม่สู้จะได้ผลนัก เพราะ
- ในส่วนของเกษตรกร ปริมาณผัก organic ที่ผลิตได้ยังมีน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับผลผลิตเกษตรแบบดั้งเดิม และเกษตรกรได้รับรายได้ต่ำกว่า
- ในส่วนของผู้บริโภค ตลาดผัก organic ไม่ใหญ่และผลผลิตที่จำหน่ายไม่มีการรับรอง ( ช่วงที่ CB’s ยังไม่ให้บริการตรวจสอบและออกใบรับรองในเวียดนาม)
- ในส่วนของผู้จำหน่าย ไม่มีผลกำไร ทำให้ไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้
ในปี 2548 ภาคเอกชนเวียดนามได้จัดตั้งบริษัทเอกชนชื่อ Ecolink เพื่อทำธุรกิจชาอินทรีย์และบริษัทนี้มีบทบาทเป็นอย่างมากในการพัฒนาชา organic ในเวียดนาม และได้ผลดีมากโดยตลาดส่งออกที่สำคัญคือ สหรัฐอเมริกา อิตาลี และแคนาดา แต่ตลาดในประเทศยังมีไม่มากในอนาคตบริษัท Ecolink มีแผนจะขยายชนิดของผลผลิตโดยเริ่มจากการผลิตผักในพื้นที่รอบ ๆ กรุงฮานอยเพื่อลดต้นทุนการขนส่ง
ในปี 2547 นายเหวียน บ่า ฮึง ( Nguyen Ba Hung ) ได้ตั้งบริษัท Thien Private Enterprise ที่เมืองดาลัดเพื่อดำเนินกิจการผลิตและจำหน่ายผักปลอดสารพิษ ตามมาตรฐานของเวียดนามต่อมาในปี 2549 ได้ขยายกิจการและปรับมาตรฐานการผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐานยุโรป ( EUREP GAP ) และเปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่เป็น Organik Dalat Joint Venture Co. ซึ่งปัจจุบันบริษัทเก็บผักสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ๆ ละ 2.5 ตัน และ 80% ของผลผลิตจำหน่ายในประเทศ ส่วนที่เหลือส่งออกไปยังญี่ปุ่น เยอรมัน และไต้หวัน ในอนาคตบริษัทวางแผนจะตั้งร้านค้าในนครโฮจิมินห์และกรุงฮานอยเพื่อรองรับสินค้าของบริษัท รวมทั้งจะนำเข้าและจำหน่ายสินค้าอินทรีย์อื่นๆ เช่น ของแห้ง ( dried items ) เกลือ cooking oil และเครื่องเทศ เป็นต้นด้วย
- กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ( Ministry of Science and Technology )
- กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท ( Ministry of Agriculture and Rulal Development )
- กระทรวงศึกษาธิการ ( Ministry of Education )
เกษตรกรเวียดนามที่ปลูกพืชเกษตรอินทรีย์สามารถจำแนกได้กว้างๆ 3 ประเภท คือ
1. เกษตรกรที่เพาะปลูกเกษตรอินทรีย์แบบดั้งเดิม (traditional organic farmer ) คือเกษตรกรที่ไม่เคยใช้สารเคมีในการเพาะปลูกและยังคงใช้วิธีการเพาะปลูกแบบดั้งเดิม ปัจจุบัน เกษตรกรประเภทนี้เหลือไม่มากนักส่วนใหญ่เพาะปลูกตามพื้นที่แถบภูเขาและชนกลุ่มน้อยทางภาคเหนือของประเทศ
2. เกษตรกรที่ปรับมาเป็นการเพาะปลูกเกษตรอินทรีย์ ( reformed organic farmer ) คือเกษตรกรที่เดิมเคยใช้สารเคมีในไร่นา แต่ปัจจุบันหลังผ่านการ training course ว่าด้วยการจัดการด้านศัตรูพืชและผักปลอดสารพิษแล้ว ได้ปรับปรุงวิธีการเพาะปลูกโดยลด / ยกเลิกการใช้สารเคมี
3. เกษตรกรที่เพาะปลูกเกษตรอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองแล้ว ( certified organic farmer ) เป็นผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์ที่พัฒนาแล้วและได้รับการรับรองแล้ว หรืออยู่ระหว่างกระบวนการจะได้ใบรับรอง ส่วนใหญ่ได้รับการผลักดันจากบริษัทการค้าของเอกชนที่ต้องการส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์มีเพียง 2 — 3 โครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรด้านการพัฒนารายชื่อบริษัท / โครงการที่ให้การริเริ่มแก่เกษตรกรกลุ่มนี้ ปรากฏในตารางที่แนบ
แม้ว่าจะมีความพยายามจัดตั้งหน่วยงานของเอกชนในการออกใบรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ในประเทศ แต่เวียดนามยังคงไม่มีมาตรฐาน organic ของระเทศหรือแม้แต่หน่วยงานรับรองในประเทศผลผลิต organic ทั้งหมดจะถูกรับรองโดยผู้ออกใบรับรองต่างชาติ เช่น ICEA ( อิตาลี ) และ ACT (ไทย) เป็นต้น ซึ่งสิ่งนี้ถือเป็นจุดอ่อนของธุรกิจสินค้าเกษตรอินทรีย์ของเวียดนาม
ตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ในเวียดนามยังคงจำกัด เพราะผู้บริโภคยังมองว่าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยแม้ว่ารัฐบาลจะให้การสนับสนุนให้มีการผลิตและการจัดตั้งระบบการรับรองรวมทั้งให้ติดป้ายฉลาก “ผักปลอดสารพิษ”แต่ผู้บริโภคก็ไม่ให้ความเชื่อถือฉลากดังกล่าวซึ่งเป็นเหตุผลหลักสำหรับความล้มเหลวของตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ในประเทศ
อย่างไรก็ตาม คาดว่าอนาคตสำหรับตลาดในประเทศของสินค้าเกษตรอินทรีย์ของเวียดนามจะขยายตัวมากขึ้น เนื่องจาก :
- เวียดนามเป็นตลาดใหญ่มีพลเมืองมากกว่า 87 ล้านคน
- ประชากรในเขตเมืองที่มีรายได้สูงเพิ่มมากขึ้นและสามารถซื้อสินค้า organic ที่มีราคาสูงได้
- ผู้บริโภคในเขตเมืองเริ่มมีความตื่นตัวต่อการเลือกซื้ออาหารที่ปลอดภัยและเกี่ยวข้องกับสุขภาพมากขึ้น
สคต.นครโฮจิมินห์
ที่มา: http://www.depthai.go.th