โอกาสและกฏระเบียบการนำเข้าสินค้าผลไม้สดประเทศแคนาดา

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 25, 2009 12:02 —กรมส่งเสริมการส่งออก

แคนาดามีการนำเข้าสินค้าผลไม้สดจากทั่วโลก (HS Code: 08) ในปี 2551 มีมูลค่า 3,266.94 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ม.ค.-ธ.ค. 51) เพิ่มขึ้น 10.58% โดยในช่วง มค-มีค 52 มีมูลค่านำเข้า 699.95 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง -8.17% ประเทศคู่ค้าหลักอันดับ 1-5 ได้แก่ ประเทศ สหรัฐฯ ชิลี เม็กซิโก คอสตาริก้า เอกวาดอร์(ไทยอยู่อันดับที่ 15 ดังเอกสารแนบ 1) โดยเป็นประเทศที่มีระยะทางที่ใกล้กับแคนาดา โดยผลไม้นำเข้าที่สำคัญในประเทศเหล่านี้ ได้แก่ สตอเบอรี่ กล้วย เชอรี่ แอปเปิล องุ่น มะนาว ที่มีการขนส่งลำเลียงทางบก ทำให้มีต้นทุนไม่สูง และมีราคาขายปลีกไม่สูงนัก ทำให้เข้าถึงตลาดหลัก (Mass Market) ของแคนาดาได้ (เข้าถึงตลาดระดับ สูง-กลาง-ล่าง) ในขณะที่ สินค้าผลไม้สดจากไทย ยกเว้น ลำใย มะขาม และ ส้มโอ ที่สามารถขนส่งทางเรือได้ ที่เหลือผลไม้เกือบทุกชนิด (อาทิ มะม่วง มังคุด เงาะ มะละกอ ฯลฯ) จะต้องขนส่งทางอากาศ เนื่องจากอายุ (Shelf Life) ที่สั้น และค่าใช้จ่ายต้นสูงที่สูงทำให้ศักยภาพโอกาสทางการตลาดที่ลดลง

แคนาดามีการนำเข้าสินค้าผลไม้สดจากไทยในช่วง มค-มีค 52 มีมูลค่า 2.068 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง -29.82% โดยผลไม้นำเข้าหลักได้แก่ มังคุด มะม่วง ทุเรียน ลำใย เงาะ ส้มโอ และ มะละกอ โดยประเทศคู่แข่งผลไม้ของไทยได้แก่ จีน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ เม็กซิโก ทั้งนี้ผลไม้สดจากไทย ส่วนใหญ่จะถูกจัดว่า เป็นสินค้าระดับสูง (Premium Product) เนื่องจากมีราคาและเป็นการนำเข้าทางอากาศ โดยกลุ่มลูกค้าหลักได้แก่ ชาวเอเซีย ที่ย้ายถิ่นฐานมายังแคนาดาที่มีรายได้สูง

กฏระเบียบการนำเข้า

หน่วยงาน Canadian Food Inspection Agency (CFIA) และกระทรวงสาธารณสุข (Health Canada) เป็นหน่วยงานที่กำหนดกฏระเบียบการนำเข้าสินค้าผลไม้สด ที่นำเข้าจากทั่วโลก รวมถึงไทยด้วย โดยสามารถสรุปข้อมูลกฏระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าผลไม้สดจากไทยได้ดังนี้

  • อัตราพิกัดศุลกากรการนำเข้าสินค้าผลไม้สดจากไทย เท่ากับ 0% เนื่องจากผลไม้จากไทยทุกชนิด อาทิ มะม่วง ทุเรียน มังคุด ไม่สามารถปลูกได้ในแคนาดา ทำให้ไม่การตั้งกำแพงภาษีนำเข้า
  • บรรจุภัณฑ์ผลไม้สดที่นำเข้าจะต้องอยู่ในภาชนะ (Container) ที่บรรจุผลไม้มีน้ำหนักสุทธิรวมไม่ เกิน 10 กิโลกรัม/ภาชนะ โดยผู้ส่งออกส่วนใหญ่จะบรรจุในตะกร้าพลาสติก กล่องโฟม หรือ กล่องกระดาษลูกฟูก(Corrugated paper box)
  • CFIA ไม่อนุญาตให้มีการใช้สารเคมี (Chemical Treatment) กับผลไม้สดนำเข้า ยกเว้นผลไม้องุ่น ในการบ่มก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (So2) เพื่อการยืดอายุผลไม้ โดย CFIA จะทำการซุ่มตรวจสารตกค้างสินค้าผลไม้ ซึ่งถ้าตรวจพบสินค้าจากผู้ส่งออกไทยรายใด ก็จะขึ้นอยู่ในบัญชี Watch List ทำให้มีการซุ่มตรวจถี่ขึ้น ทำให้เสียเวลา และทั้งผู้นำเข้า/ส่งออกอาจเสียหายได้เนื่องจากสินค้าอาจจะเน่าเสียได้ก่อนถึงมือตลาดผู้บริโภค
  • กระทรวงสาธารณสุขแคนาดา และ CFIA ไม่มีการกำหนดสินค้าผลไม้สดที่นำเข้ามาจำหน่ายในแคนาดาจะต้องมีฉลากข้อมูลสารโภชนาการ (Nutrition Fact) หรือฉลากผลิตภัณฑ์อื่นๆ บนตัวผลไม้ ทั้งนี้ภาชนะที่ใช้ขนส่งผลไม้สด อาทิ ตะกร้าพลาสติก กล่องกระดาษ กล่องโฟม จะต้องมีฉลากสินค้าระบุเป็นไปตามทางรัฐฯ แคนาดา (Consumer Packaging and Labeling Act and Regulations) ระบุ ได้แก่ 1. ชื่อสามัญ(Common name) อาทิ Sweet Tamarind 2. ปริมาณน้ำหนักสุทธิ (Net Weight) 3. ข้อมูลผู้ผลิตสินค้า ได้แก่ ชื่อผู้ส่งออก ที่อยู่ผู้ผลิต โดยระบุเป็นภาษาอังกฤษหรือฝรั่งเศส (อย่างใดอย่างหนึ่ง) โดยจะต้องระบุประเทศผู้ผลิตสินค้า “Product of Thailand”
  • ข้อมูลเพิ่มเติมที่เกี่ยวกับการนำเข้าผลไม้ ผักสด มายังแคนาดา ค้นหาได้ที่ www.inspection.gc.ca
ข้อเสนอแนะ/ความคิดเห็น

สคต โตรอนโต ได้มีความคิดเห็นว่า ธุรกิจส่งออกสินค้าผลไม้มายังแคนาดา ยังมีโอกาสอีกมากเนื่องจาก ผลไม้ไทยมีลักษณะพิเศษที่ไม่เหมือนใคร (Uniqueness Factor) โดยไม่มีประเทศใดสามารถปลูกเลียนแบบผลไม้สดของไทยได้ อาทิ ลำใย ทุเรียน มะม่วงน้ำดอกไม้ มังคุด ฯลฯ อีกทั้งกระแสชของ ชาวเอเซียทีย้ายถิ่นฐานมายังแคนาดา ที่คุ้นเคยและชื่นชอบผลไม้จากไทย ทำให้มีความต้องการสินค้าผลไม้ไทยอีกมากในอนาคต ทั้งนี้ เนื่องจากต้นทุนค่าขนส่งทางอากาศ ทำให้เป็นอุปสรรคปัญหาในการขยายตลาด ไปสู่ตลาด กลางและล่าง ที่ราคาเป็นปัจจัยหลักในการเลือกซื้อผลไม้บริโภค

ในปัจจุบัน ภาพพจน์ผลไม้ไทยได้ถูกจัดวางตำแหน่งที่เป็นสินค้า Premium/Exotic ที่มีราคาสูงโดยช่องทางการจัดจำหน่ายนั้นส่วนใหญ่จะจำกัดอยู่ในตลาด ผู้นำเข้า ผู้ค้าชาวจีน อาทิ ใน China Town หรือ Asian Supermarket Chain ทั้งนี้การที่จะขยายตลาดไปยังตลาด Mainstream ที่เป็นคนผิวขาว (Caucasian market) ซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริโภคหลักนั้น สคต โตรอนโต มีความคิดเห็นว่าจะต้องจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ อาทิการจัด In-Store Promotion ร่วมกับ Supermarket Chain ที่สาขาคลอบคลุมเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคในวงกว้างและอย่างต่อเนื่องโดยเน้นประชาสัมพันธ์เรื่องคุณประโยชน์ทางโภชนาการและ สาธิตวิธีการรับประทาน (วิธีการปอก และเกบ็รักษา) รวมทั้งการทดลองแจกให้รับประทาน

ถ้าผู้ประกอบการไทยสามารถค้นหาเทคโนโลยีวิธีการจัดเก็บผลไม้ไว้อยู่ได้นาน อาทิ ยืดระยะเวลาผลไม้มังคุด ให้อยู่ได้นานกว่าอย่างน้อย 30 วัน โดยสามารถขนส่งทางเรือได้ (ระยะเวลาขนส่งทางเรือไทย-แคนาดา ประมาณ 21 วัน) จะทำให้โอกาสของผลไม้สดไทยขยายตัวได้อีกมาก

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโตรอนโต

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ