ตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ในอิตาลี

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 25, 2009 14:14 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. นโยบายการให้ความช่วยเหลือของรัฐบาลอิตาลี

1.1 เป็นไปตามนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป โดยให้ความช่วยเหลือและส่งเสริมเกษตรกรที่ผลิต/เก็บเกี่ยวผลผลิตเกษตรอินทรีย์ซึ่งมีประโยชน์ต่อสุขภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้แก่ชุมชน โดยมีหลักการคือ

  • ให้ความช่วยเหลือเฉพาะเกษตรกรผู้ผลิตเท่านั้นไม่รวมถึงผู้ประกอบการแปรรูปหรือผู้จัดจำหน่าย
  • การช่วยเหลือหมายรวมถึงเงินที่ให้แก่เกษตรกรโดยตรงด้วย
  • ในการขอรับการช่วยเหลือแต่ละแคว้นต้องจัดทำแผนการดำเนินการและส่งให้คณะกรรมาธิการยุโรปเป็นผู้พิจารณาอนุมัติและมีผลบังคับใช้เป็นเวลา 5 ปี
  • มูลค่าการให้ความช่วยเหลือในแต่ละปีจะมีมูลค่าเฉลี่ยประมาณ 200 — 600 ยูโรต่อเฮคตาร์ (เปลี่ยนแปลงไปตามประเภทของเกษตรกรรม)

1.2 ตามแผนดำเนินการด้านเกษตรอินทรีย์แห่งชาติของรัฐบาลอิตาลี ได้จัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาตลาดเกษตรอินทรีย์ขึ้น โดยในปี 2549 มีมูลค่า 5 ล้านยูโรและปี2550 ,2551 และ 2552 มีมูลค่าปีละ 10 ล้านยูโรตามลำดับ

เงินกองทุนนี้จะไม่ได้ถึงมือเกษตรกรโดยตรงแต่จะเป็นการใช้เพื่อการพัฒนาภาคเกษตรอินทรีย์ให้เป็นระบบสากล การเข้าร่วมงานแสดงสินค้า การให้บริการด้านการสื่อสารและการค้าเป็นต้น

2. การผลิต

2.1 จากข้อมูลของหน่วยงาน SINAB ซึ่งดูแลสินค้าเกษตรอินทรีย์และจัดตั้งโดยกระทรวงเกษตรอิตาลีฯ ปรากฏว่า ณ ธ.ค. 2550 อิตาลีมีผู้ประกอบการสินค้าเกษตรอินทรีย์ทั้งสิ้น 50,246 รายลดลงจากปีก่อนหน้าร้อยละ 1.55 แยกเป็นผู้ผลิต (Producers) 43,159 ราย ผู้ผ่านกรรมวิธีการผลิต (Processors) 4,782 รายและเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ผ่านกรรมวิธีการผลิต 2,065 ราย

มีพื้นที่ทำการเพาะปลูกสินค้าเกษตรอินทรีย์ทั้งสิ้น 1,150,253 เฮคตาร์ เพิ่มขึ้นจากปี 2549 ร้อยละ 0.18 แคว้นที่มีพื้นที่ในการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์มากที่สุดได้แก่ ซีซีลี บาซิลีคาต้า และเอมิเลียโรมาญนา ตามด้วยมาเคร์ คาลาเบีรย และลาซิโอ

2.2 ในกลุ่มสหภาพยุโรป อิตาลีเป็นผู้นำในด้านจำนวนฟาร์มที่ปลูกพืชผักเกษตรอินทรีย์และติดอันดับรายที่ 5 ของโลกรองจาก ออสเตรเลีย อาร์เจนติน่า จีน สหรัฐ กลุ่มประเทศที่ตามหลังได้แก่ เสปน เยอรมัน และอังกฤษ(ตามประเภทของผลผลิตเกษตรอินทรีย์) ทั้งนี้ อิตาลีเป็นลำดับแรกของโลกที่เป็นผู้ผลิตพืชผัก ซีเรียล องุ่นและส้ม รวมถึงมะกอก และเป็นลำดับที่สองรองจากประเทศไทยสำหรับการผลิตข้าวเกษตรอินทรีย์

3. ตลาดเกษตรอินทรีย์ในอิตาลี

3.1 ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ได้มีการพัฒนามากกว่าสินค้าประเภทอื่นในภาคการเกษตร กระแสสินค้าเกษตรอินทรีย์นี้ได้รับการส่งเสริมจากหลายปัจจัยคือ

  • ผู้บริโภคให้การใส่ใจมากขึ้นในสินค้าที่บริโภค และให้ความสำคัญไม่เพียงแต่รสชาติเท่านั้นแต่รวมถึงการใส่ใจในเรื่องของสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง
  • ให้ความสำคัญต่อภูมิปัญญาท้องถิ่น จนกลายเป็นปัจจัยหลักที่มีอิทธิพลต่อตลาด
  • ความต้องการของผลผลิตเกษตรอินทรีย์ที่จดทะเบียนได้เพิ่มขึ้นในระยะเวลาอันรวดเร็ว เนื่องจากปัญหาเชื้อโรคใหม่ๆทางด้านอาหารที่เพิ่มมากขึ้น เช่น โรควัวบ้า หรือเชื้อไวรัสในไก่ ฯลฯ 3.2 ตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ของอิตาลีมีมูลค่าประมาณ 2,650 ถึง 2,700 ล้านยูโร โดย 1,650 ล้านยูโร มาจากร้านค้าปลีก หรือร้านขายสินค้าเฉพาะอย่าง ในขณะที่200 ถึง 250 ล้านยูโรมาจากโรงอาหารในโรงเรียน
4. ช่องทางการจำหน่าย

4.1 ร้านขายสินค้าเฉพาะอย่าง

ในปี 2551 ได้ประมาณการว่ามีร้านจำหน่ายสินค้าเฉพาะสำหรับผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์จำนวน 100 ร้าน ส่วนใหญ่(ร้อยละ 67)อยู่ทางเหนือของอิตาลี ร้านค้าปลีกเหล่านี้มักจะพบตามชุมชนที่มีรายได้ดีและมักมีผลิตภัณฑ์เสริมความงามที่มาจากธรรมชาติจำหน่ายรวมอยู่ด้วยเช่นกัน รายขายสินค้ารายใหญ่ ได้แก่ Naturasi, Bottega และ Natura

4.2 ร้านค้าปลีกรายใหญ่

  • อัตราการขยายตัวของร้านประเภทลดราคาเพิ่มขึ้นถึง +45.9% โดยร้านค้าประเภทขายของชำจะมีการขยายตัวค่อนข้างต่ำคือ +17.3% และการขยายตัวของห้างจัดจำหน่ายรายใหญ่อยู่ที่ +5%

ตารางแสดงการบริโภคแยกตามช่องทางการจัดจำหน่าย(ปี 2551)

% เพิ่ม/ลดของมูลค่าขายจากปีก่อน

          ซุปเปอร์มาร์เก็ต                 5.2%
          ห้างสรรพสินค้า                  5.8%
          ร้านขายของชำ                 17.3%
          ร้านค้าประเภทลดราคา           45.9%
          อื่นๆ                          2.5%
  • ปัจจุบัน ในซุปเปอร์มาร์เก็ตได้มีการขายสินค้าเกษตรอินทรีย์อย่างหลากหลาย ผู้ประกอบการายใหญ่ 2 ราย ได้แก่Coop Italia และ Esselunga เป็นผู้ค้ารายใหญ่ที่ได้มีการพัฒนาจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ภายใต้เครื่องหมายการค้าของตนเอง อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการรายอื่นเช่น A&O, Auchan, Bennet,
Carrefour, Citta’ Mercato, Colmark, Conad, ContinentCrai, Euromercato, Famila, GS, Ipercoop, Pam, Panorama, Rinascente-Sma ก็มีแผนกผักและผลไม้เกษตรอินทรีย์ในร้านค้าเหล่านี้
  • ซุปเปอร์มาร์เก็ตหลัก 2 ราย ที่จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ในอิตาลีได้แก่

Coop Italia

เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ภายใต้เครื่องหมายการค้า BIO ตั้งแต่ปี2543 โดยในปี2550 มียอดจำหน่ายถึง50% ของยอดจำหน่าย ทั้งหมด( มูลค่า 80 ล้านยูโร) แบ่งเป็นผักสดและผลไม้40% อาหารกล่อง 60%

Esselunga Spa

เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์เครื่องหมายการค้า Esselunga Bio ตั้งแต่ปี2542 มีมูลค่าการค้า 73 ล้านยูโรจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ทั้งสิ้น 252 ชนิดสินค้าซึ่งในจำนวนนี้เป็นผักสดและผลไม้ถึง 63% อาหารกล่อง 30% และผลิตภัณฑ์นม เนย 7%

4.3 การจำหน่ายสินค้าระบบตรงถึงผู้บริโภค (direct sales)

เป็นช่องทางจำหน่ายแบบใหม่ซึ่งในช่วงตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมามีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี 2551 ผู้จำหน่ายสินค้าระบบตรงได้เพิ่มขึ้นถึง 17% จากปีก่อนหน้า และเพิ่มขึ้นถึง 90 % จากปี2546 ชี้ให้เห็นว่า ในภาวะสถานการณ์วิกฤตทางเศรษฐกิจ ผู้บริโภคก็ยังคงต้องการสินค้าเกษตรอินทรีย์ซึ่งมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากกว่า

ตารางแสดงจำนวนผู้ประกอบการแบบขายตรงสินค้าเกษตรอินทรีย์ ปี 2546-2551
          ปี           บริษัท(ราย)    ฟาร์ม(ราย)     รวม(ราย)
          2546           375           630          1,005
          2547           523           661          1,184
          2548           540           659          1,199
          2549           608           716          1,324
          2550           763           882          1,645
          2551           915         1,013          1,928

4.4 การขายผ่านโรงเรียนและโรงอาหาร

โรงเรียนทั้งในส่วนเอกชนและของภาครัฐ ได้เริ่มมีการแนะนำอาหารเกษตรอินทรีย์เข้าสู่โรงอาหารของตนโดยในปี 2551 มีจำนวนเพิ่มขึ้น 16% และ 41% ช่วงระหว่างปี2546-2551 ผลจากการนำอาหารเกษตรอินทรีย์เข้าสู่โรงอาหารของโรงเรียนทำให้ยอดการรับประทานอาหารกลางวันเพิ่มขึ้น 6% ในปี2008 และ 25% ในช่วงระหว่างปี2003 — 2008 สัดส่วนดังกล่าวเป็นเครื่องยืนยันว่าช่องทางการจำหน่ายอาหารเกษตรอินทรีย์ในโรงเรียนมีสถิติที่สูงขึ้น ดังนั้นประเทศอื่นๆ จึงพยายามนำตัวอย่างของอิตาลีนี้ไปพัฒนาในประเทศตน

อาหารเกษตรอินทรีย์ในโรงอาหารในอิตาลีปี2546-2551

ภายในโรงเรียนของภาครัฐและภาคเอกชน

          ปี       จำนวนโรงอาหาร     จำนวนมื้อ/ วัน
          2546           561           785,000
          2547           608           806,000
          2548           647           839,000
          2549           658           896,000
          2550           683           924,000
          2008           791           983,000

4.5 นอกจากนี้ ยังมีร้านอาหารเกษตรอินทรีย์ในอิตาลีประมาณ 100 ร้าน ซึ่งมีมากทางภาคเหนือ ทั้งนี้ร้านอาหารที่ปลูกพืชผักเกษตรอินทรีย์ไว้ใช้เองยังไม่มีมากนัก แต่พบว่าในร้านอาหารคุณภาพดีจะมีผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์เช่น ไวน์ น้ำมันมะกอก เนยแข็ง และผักสดให้ลูกค้าเลือกได้ตามความต้องการ

5. การบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์ในอิตาลี

5.1 โดยหลัก ผู้บริโภคอาหารเกษตรอินทรีย์แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะด้วยกัน คือ ผู้บริโภคแต่เฉพาะอาหารเกษตรอินทรีย์อย่างเดียว เนื่องจากมีความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์ที่ได้จากธรรมชาติ และปัจจัยทางด้านราคาไม่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อ และผู้บริโภคตามวาระโอกาส ซึ่งจะให้ความสำคัญทางด้านราคามากกว่าด้านประโยชน์ต่อ สุขภาพ

5.2 ผลการวิจัยของหน่วยงาน ISAB ปรากฏว่า 1ใน4 ของชาวอิตาเลี่ยน ยืนยันว่าไม่เคยรู้จักคำว่า“ผลิตภัณฑ์ทางชีวภาพ” (biological products)ในขณะที่1 ใน 7 ยืนยันว่ามีข้อมูลที่เพียงพอและเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีความตื่นตัวต่อการศึกษาผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ซึ่งได้แก่ผู้ชาย โสด มีการศึกษาสูง อายุระหว่าง 40 -49 อาศัยอยู่ทางภาคเหนือของอิตาลีมีหน้าที่การงานดีหรือเป็นเจ้าของกิจการที่มีรายได้ดี

  • โดยทั่วไป เพศหญิงจะให้ความสนใจต่อการซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์มากกว่าเพศชาย ผู้บริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์มักจะอยู่ในช่วงวัย 25 — 44 ปีเป็นชนชั้นกลางค่อนไปทางสูง มีการศึกษาสูงระดับปริญญา และอาศัยในภาคเหนือตอนกลาง ผู้บริโภคจะเข้าร้านค้าเกษตรอินทรีย์สัปดาห์ละครั้ง ในแต่ละครั้งจะมีการวางแผนล่วงหน้าว่าจะซื้อสินค้าประเภทใด (64% ของผู้ให้สัมภาษณ์)
  • ผู้บริโภคชาวอิตาลีมีความตื่นตัวในเรื่องอาหาร และให้ความสนใจอาหารเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆอย่างไรก็ตาม 67% ของผู้บริโภค ยังไม่ได้รับข้อมูลที่เพียงพอ ทั้งนี้ ผู้บริโภคอาหารเกษตรอินทรีย์ประมาณร้อยละ 3 มาจากทางภาคใต้ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจค่อนข้างต่ำ และประมาณ 80%เป็นผู้มีฐานะจากทางภาคเหนือของประเทศ
  • ในภาวการณ์เศรษฐกิจที่ประสบปัญหาในขณะนี้ 22%ของผู้บริโภคชาวอิตาลียังคงให้การสนับสนุนสินค้าเกษตรอินทรีย์เนื่องจากมีประโยชน์ต่อสุขภาพ และไม่มีส่วนผสมของสารกันเสีย แม้ว่าจะมีราคาที่สูงกว่าก็ตาม

5.3 ใน ปี2551 การบริโภคอาหารเกษตรอินทรีย์ในอิตาลีมีมูลค่าเพิ่มขึ้น +5.4% น้อยกว่าปี2550 เพิ่มขึ้น+10.2% อย่างไรก็ตามการบริโภคอาหารเกษตรอินทรีย์ยังคงมีมูลค่าสูงกว่าการบริโภคอาหารด้านอื่นๆ (ซึ่งตามสถิติในปี 2551 มูลค่าเติบโตแค่+4.4%) โดยแยกเป็นการบริโภคผักและผลไม้(+ 20%) ผลิตภัณฑ์เด็กอ่อน (+16% )ขนมปังและเส้นก๋วยเตี๋ยวประเภทพาสต้า และข้าว( +14%) ในทางกลับกันผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารเช้ามีกระแสลดลง(-13.8%) ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ที่เป็นที่ต้องการของตลาดเพิ่มมากขึ้นได้แก่ไข่นม โยเกิร์ตตามด้วยนมถั่วเหลือง ผลิตภัณฑ์เด็กอ่อน น้ำผลไม้ น้ำมันมะกอก และเส้นก๋วยเตี๋ยวประเภทพาสต้า

ตารางการบริโภคอาหารเกษตรอินทรีย์ในอิตาลี

          ปี 2551                     %เพิ่ม/ลด จากปี 2550     สัดส่วน %
          นม เนยแข็ง                        1.5%             19.8%
          ผัก/ ผลไม้(สด/ผ่านกรรมวิธีการผลิต)    19.8%             19.5%
          ผลิตภัณฑ์อาหารเช้า                 -13.8%             14.1%
          เครื่องดื่ม                          2.7%             10.0%
          ขนมปัง/ พาสต้า/ ข้าว               14.3%              7.7%
          ไข่                              14.1%              7.7%
          สินค้าเด็กอ่อน                      16.1%              5.7%
          น้ำมัน                             7.1%              4.8%
          น้ำผึ้ง                             7.5%              3.7%
          ไอศกรีม/ อาหารแช่แข็ง              10.0%              2.4%
          อื่นๆ                              1.9%              4.6%
          รวม                              5.4%            100.0%

5.4 หากพิจารณาแยกเป็นรายแคว้น ปรากฏว่าการบริโภคอาหารเกษตรอินทรีย์ในทางตอนเหนือจะค่อนข้างหนาแน่นได้แก่ ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ 44.1% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 27.2% ส่วนอัตราการเติบโตในภาคใต้อยู่ที่ + 12.3% และ +8.5% รายละเอียดตามตารางข้างล่าง

ตารางการบริโภคอาหารเกษตรอินทรีย์ในอิตาลีแบ่งตามพื้นที่

%เพิ่ม/ลด จากปี 2550 สัดส่วน %

          ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ               6.8%              44.1%
          ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ             -0.8%              27.2%
          ภาคกลาง และ ซาร์เดนญ่า            8.5%              19.7%
          ภาคใต้และซิซิลี                    12.3%               9.0%
          รวมอิตาลีทั้งประเทศ                 5.4%             100.0%

ผักสดเกษตรอินทรีย์ที่ผู้บริโภคนิยม 5 ลำดับต้นในอิตาลีปี 2551

%เพิ่ม/ลด จากปี 2550 สัดส่วน %

          มะเขือเทศ                -6.7%                13.2%
          บวบ                     -1.3%                 7.7%
          อาร์ติโชค                 50.7%                 5.7%
          ผักสลัด                    1.1%                 5.4%
          มันฝรั่ง                    0.6%                 5.3%

ผลไม้สดเกษตรอินทรีย์ที่ผู้บริโภคนิยม 5 ลำดับต้นในอิตาลีปี 2551

%เพิ่ม/ลด จากปี 2550 สัดส่วน %

          แอ๊ปเปิ้ล           10.5%               13.8%
          กล้วย              8.2%                8.8%
          ส้ม               -7.1%                8.2%
          ลูกแพร์             3.4%                6.8%
          พีช                6.9%                6.5%

6. ราคาจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ในอิตาลี

6.1 ราคาสินค้าเกษตรอินทรีย์จะมีราคาสูงกว่าสินค้าพื้นเมืองประเภทอื่น โดยราคาจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลัก 3 ประการ ได้แก่

6.1.1 การเก็บเกี่ยวและขั้นตอนการผลิตที่มีต้นทุนสูง (วัสดุธรรมชาติมีราคาที่สูงกว่าและจำเป็นต้องใช้แรงงานมากกว่า

6.1.2 ต้องมีประกาศนียบัตรรับรองผลิตภัณฑ์ซึ่งมีต้นทุนสูง จึงมีความจำเป็นต้องรวมค่าธรรมเนียมเข้าในผลิตภัณฑ์

6.1.3 ตลาดผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ยังคงมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับตลาดอาหารโดยรวม (ประมาณ 3 %) ดังนั้น ความต้องการของผู้บริโภคยังคงไม่มากพอที่จะดึงราคาให้ต่ำลงได้

6.2 โดยรวมแล้ว ราคาสินค้าเกษตรอินทรีย์ในอิตาลีจะสูงกว่าผลิตภัณฑ์ปกติประมาณ 5-50% ซึ่งขึ้นกับปัจจัยดังนี้

  • ประเภทของสินค้า ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์จะมีราคาสูงที่สุด เนื่องจากการให้อาหารและระยะเวลาการเลี้ยงดูที่ค่อนข้างยาว ในขณะที่น้ำมันที่ใช้ปรุงอาหาร ไวน์และ อาหารจำพวกเส้นประเภท พาสต้า กลับมีราคาลดลง เนื่องจากสามารถกระจายสู่ตลาดได้มากกว่า
  • ช่องทางการจำหน่าย มียอดจำหน่ายสูงสุดที่ประมาณ 10-30% ในซุปเปอร์มาร์เก็ตและเพิ่มสูงขึ้นในร้านขายสินค้าเฉพาะอย่าง

ตารางแสดงราคาขายสินค้าเกษตรอินทรีย์ ณ ธ.ค. 51 Organic Food Prices (at Dec. 08,Euro per Kg./Lt.) by distribution channel

ราคา: ยูโร/กก./ลิตร

                   Specialt Store           Direct Sale
Vegetables          2.00 — 5.15              1.18-5.00
Fruits              2.04 - 9.65              1.68-6.00
Pasta                  3.38                     2.56
Rice                3.74 - 3.98              2.56-2.71
Oil                    11.54                   11.56
Wine                6.03- 9.01               5.50-7.27
Meat               15.00- 17.01             10.00-11.00
แหล่งที่มาของข้อมูล: ISMEA

7. การส่งออก

อิตาลีเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารเกษตรอินทรีย์รายหลักของโลกมีมูลค่าการส่งออกปีละ 800 ล้านยูโรโดยส่งออกไปยังยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น

8. การนำเข้า

8.1 อิตาลีนำเข้าสินค้าเกษตรอินทรีย์จากต่างประเทศปีละกว่า 40,000 ตันโดยมีธัญพืช(Cereals) ผักและผลไม้รวมกันแล้วสัดส่วนกว่า 60 % (เฉพาะข้าวอินทรีย์อิตาลีนำเข้าในปี 2550 ปริมาณ 2,254 ตัน) ผลไม้อินทรีย์ที่นำเข้าได้แก่ องุ่นแห้ง แอปเปิล องุ่น แปริคอต ถั่วเม็ดแห้ง มะพร้าว ผักอินทรีย์ที่นำเข้าได้แก่ หัวหอมและมันฝรั่ง มีสัดส่วนรวม 98 % ตามด้วยแครอท พริกไทย มะเขือเทศ ฝักทองและกระเทียม รายละเอียดตามตารางแนบ 1

8.2 ผู้นำเข้าผักผลไม้อินทรีย์รายใหญ่ของอิตาลี ได้แก่ BRIO SPA, ECOR SPA, Adria Fruit Italia SPA และ APOFRUIT ITALIA

8.2.1 BRIO SPA มีมูลค่าการค้าปีละ 20 ล้านยูโรและนำเข้าผักเกษตรอินทรีย์เกษตรปีละประมาณ 7 ล้านยูโร โดยนำเข้าจากอเมริกาใต้ อาฟริกาใต้ เอควาดอร์ อียิปต์ ตูนีเซีย นิวซีแลนด์ ตุรกีและเปรู สินค้าที่จำหน่ายมากกว่า 2,000 รายการ

8.2.2 ECOR SPA มีมูลค่าการค้าปีละ 18 ล้านยูโรและนำเข้าผักผลไม้เกษตรอินทรีย์ปีละประมาณ 5 ล้านยูโร โดยนำเข้าจากอเมริการใต้ เอควาดอร์ แอฟริกา ตูนีเซีย บราซิลและอียิปต์ บริษัทจำหน่ายสินค้าผ่านร้านค้าส่ง ( wholesalers) และร้านขายเฉพาะสินค้าเกษตรอินทรี

8.2.3 Adria Fruit Italia SPA มีมูลค่าการค้าปีละ 2 ล้านยูโรและเป็นผู้นำเข้ากล้วยรายใหญ่ โดยนำเข้าจากอเมริกากลางและอเมริกาใต้ แอฟริกา บราซิลและตูนีเซีย

8.2.4 APOFRUIT ITALIA เป็นสหกรณ์ผู้นำเข้ามีมูลค่าการค้าปีละ 152 ล้านยูโร และนำเข้าสินค้าเกษตรอินทรีย์ส่วนใหญ่จากอเมริกากลางและอเมริกาใต้ มูลค่าการนำเข้าปีละประมาณ 5 ล้านยูโร

8.3 การนำเข้าจากไทย

ในปี 2550 อิตาลีนำเข้าสินค้าเกษตรอินทรีย์จากไทย ปริมาณ 1,025 ตัน เพิ่มสูงขึ้นจากปีก่อนหน้าซึ่งนำเข้าปริมาณ 533 ตันถึงร้อยละ 9 โดยสินค้านำเข้าสำคัญได้แก่ ข้าวหอมมะลิ น้ำมันปาล์มและมะพร้าว

ประเทศคู่แข่งในแถบเอเชียที่สำคัญได้แก่ จีน (พืชตระกูลถั่ว เมล็ดพันธ์งา ถั่วเหลือง ชาเขียวเยลลี่ วอลนัท)ฟิลิปปินส์ (อ้อย น้ำตาล) และอินเดีย (เครื่องเทศ สมุนไพร) ส่วนเวียดนามและอินโดนีเซีย ยังไม่พบว่ามีการนำเข้าจากอิตาลี

8.4 หลักเกณฑ์การนำเข้า

ตามข้อกำหนดของสหภาพยุโรป สินค้าเกษตรอินทรีย์ที่นำเข้าจากต่างประเทศต้องมีมาตรฐานเท่าเทียมกับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของสหภาพยุโรป รัฐบาลอิตาลีจึงได้จัดทำคู่มือการนำเข้าสินค้าที่จะติดฉลากเกษตรอินทรีย์ไว้ โดยผู้นำเข้าต้องยื่นแบบฟอร์มขออนุญาตต่อกระทรวงนโยบายเกษตรของอิตาลี (Ministry of gricultural Policies) และแจ้งชื่อหน่วยงานตรวจสอบจาก 9 หน่วยงานที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงฯ ประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพยุโรปที่มีข้อตกลงกับสหภาพยุโรปแล้วสามารถส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ไปยังอิตาลีได้แต่ประเทศที่ยังไม่มีชื่ออยู่ในบัญชีของสหภาพยุโรป ผู้นำเข้าในสหภาพยุโรป ต้องยื่นแบบฟอร์มพิเศษ ถ้าหน่วยงานตรวจสอบอยู่ในสหภาพยุโรปจะตรวจสอบเพื่อพิสูจน์ระบบเกษตรอินทรีย์ของประเทศผู้ส่งออก แต่ถ้าหน่วยงานตรวจสอบไม่ได้อยู่ในสหภาพยุโรป ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าระบบเกษตรอินทรีย์ในประเทศผู้ส่งออกมีมาตรฐานเท่าเทียมกับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของสหภาพยุโรป หน่วยงานตรวจสอบต้องส่งรายงานการผลิต การเก็บเกี่ยวหรือการแปรรูป ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์เส้นทางถนนที่เข้าถึงพื้นที่เพาะปลูก และประเภทธุรกิจ แผนผังของพื้นที่เพาะปลูกทั้งเกษตรอินทรีย์และสินค้าปกติพืชที่เพาะปลูก เทคนิคการผลิต เช่น ปุ๋ย ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ป้องกันผลผลิต ชื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วันที่เข้าสู่ระบบเกษตรอินทรีย์ และสถานภาพ 3 ปีก่อนหน้าที่จะเข้าสู่ระบบเกษตรอินทรีย์ รายชื่อหน่วยงานตรวจสอบและออกใบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ รายชื่อสมาคมที่เกี่ยวข้องและรายชื่อผู้นำเข้า ปรากฏตามเอกสารแนบ 1,เอกสารแนบ 2,และเอกสารแนบ 3 ตามลำดับ

8.5 กฏระเบียบที่เกี่ยวข้อง

  • ระเบียบคณะกรรมการ EEC 2092/91 ว่าด้วยเรื่องผลผลิตเกษตรอินทรีย์ของผลิตภัณฑ์เกษตร
  • ระเบียบคณะกรรมการ EC 834/2007 และข้อเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้อง : ซึ่งได้ทดแทนระเบียบคณะกรรมการเบื้องต้น 2092/91 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2552 ว่าด้วยเรื่องผลผลิตเกษตรอินทรีย์และฉลากของผลิตภัณฑ์เกษตร
  • ระเบียบคณะกรรมการ EC889/2008 และข้อแก้ไขที่เกี่ยวข้อง : กำหนดรายละเอียดและหลักเกณฑ์ในการปฎิบัติตามระเบียบคณะกรรมการ EC 834/2007 ว่าด้วยเรื่องผลผลิตเกษตรอินทรีย์และฉลากของผลิตภัณฑ์เกษตร โดยคำนึงถึงการควบคุมฉลากของผลผลิตเกษตรอินทรีย์ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2552
9. โอกาสของตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ในอิตาลี

9.1 ช่วงที่ผลผลิตในอิตาลีออกสู่ตลาด อิตาลีจะนำเข้าผักผลไม้จากต่างประเทศน้อย เช่น Lemons ซึ่งมีผลิตมากในอิตาลีและเป็นสินค้าส่งออกหลักของอิตาลี ส่วนผู้ผลิตสินค้าแปรรูปต้องการวัตถุดิบราคาถูกกว่าที่ผลิตในอิตาลีเช่น มะเขือเทศ แครอท เซเลอรีรวมทั้งน้ำผลไม้เข้มข้น (Concentrated juice) ซึ่งจะมีลู่ทางดีในการส่งออกไปยังอิตาลี

9.2 ผู้นำเข้าสินค้าทั้งในอิตาลีและในประเทศอื่นที่อิตาลีนำเข้าต้องการความมั่นใจว่าสินค้าที่นำเข้ามีคุณภาพมาตรฐานและสามารถตรวจสอบกลับได้

9.3 สินค้าที่มีความต้องการสูงในอิตาลีเช่น หัวหอม แครอท แอปเปิลและแพร์ เกษตรกรของอิตาลีเองยังผลิตได้ในต้นทุนที่สูง ทำให้สินค้าเกษตรอินทรีย์ที่นำเข้าโดยเฉพาะผลไม้เมืองร้อน เช่น กล้วย สับปะรด อะโวคาโดมะพร้าว จึงมีโอกาสในตลาดอิตาลีค่อนข้างมากประเทศที่มีโอกาสตลาดสูง คือ ประเทศแถบเมดิเตอเรเนียน เช่นตุรกีอียิปต์ตูนีเซียและลิเบีย เนื่องจากผลิตสินค้าได้หลากหลาย เช่น มะกอก พืชเส้นใย น้ำผลไม้เข้มข้น และมะเขือเทศกระป๋อง นอกจากนี้สำหรับสินค้าตัดแต่งพันธุกรรม (Genetically modified organisms-GMOs) อิตาลีเห็นว่าไม่ได้มาจากธรรมชาติและไม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ดังนั้นจึงเป็นโอกาสดีต่อประเทศกำลังพัฒนาที่จะส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ไปยังอิตาลี

9.4 การผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ไม่ใช่สินค้าแปรรูปส่วนใหญ่ใช้แรงงานเป็นปัจจัยหลักในการผลิต ประเทศกำลังพัฒนาที่มีค่าแรงถูกกว่าจะได้เปรียบในการส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ไปยังอิตาลีและสหภาพยุโรป แต่ข้อจำกัดก็มีมากมายด้วยเช่นกันได้แก่ ตลาดยังค่อนข้างเล็ก การนำเข้าจากต่างประเทศที่ระยะทางไกลอาจมีภาระด้านค่าขนส่งและการเน่าเสีย มาตรการตรวจสอบที่เข้มงวดและการควบคุมสินค้า GMOs เป็น

9.5 โอกาสของสินค้าไทยในตลาดอิตาลียังคงมีศักยภาพสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าข้าวซึ่งมีสัดส่วนการนำเข้ากว่าร้อยละ 60 การนำเข้าสินค้าเกษตรอินทรีย์จากไทยทั้งหมด ทั้งนี้ ในปี 2550 อิตาลีนำเข้าข้าวเกษตรอินทรีย์จากทั่วโลกปริมาณ 2,254 ตัน เป็นการนำเข้าจากไทยถึง 1,025 ตันหรือคิดเป็นร้อยละ 45 ของการนำเข้าสินข้าวเกษตรอินทรีย์ของอิตาลี

แหล่งข้อมูล

1. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์อิตาลี

2. SINAB

3. Ismea ( Institution of service for food and agricultural market)

4. นิตยสาร Largo Consumer

5. อื่นๆ

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโรม

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ