ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ (ดร.วีระศักดิ์ จินารัตน์)
และคณะผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์เยือนสาธารณรัฐรัสเซีย
ณ กรุงมอสโก-นครเซนต์ปีเตอร์สเบิกร์ก
ระหว่างวันที่ 17-23 พฤษภาคม 2552
...........................
1. การเข้าพบและหารือกับรองประธานสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมกรุงมอสโก Moscow Chamber of Commerce and Industry (Mr. Yuri Azarov , Vice President ) และสมาชิกหอการค้ากรุงมอสโก
สภาหอการค้าและอุตสาหกรรม ณ กรุงมอสโกเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่คล้ายกับสภาอุตสาหกรรมและหอการค้าของไทย โดยจะเป็นองค์กรกลางระหว่างภาครัฐและเอกชน มีหน้าที่หลักในการส่งเสริมและพัฒนา บริการให้ความรู้ผู้ประกอบการในด้านการค้าและการส่งออก จัดคณะผู้แทนการค้าไปเจรจาการค้าและหาผู้ร่วมทุนในต่างประเทศ จัดงานแสดงสินค้า จัดสัมมนา และ Business Matching รวมทั้งบรรเทาข้อพิพาททางการค้าระหว่างภาครัฐและเอกชน ปัจจุบันมีสมาชิก 2,300 บริษัท ในการประชุมครังนี้ Mr.Yuri Azarov , Vice President สภาหอการค้าและอุตสาหกรรมรัสเซีย ได้ให้เกียรติเป็นประธานร่วม โดยฝ่ายไทยมี ได้แก่ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ (ดร.วีระศักดิ์ จินารัตน์) ที่ปรึกษาการพาณิชย์ หัวหน้าศูนย์ภูมิภาค CIS (นายวินิจฉัย แจ่มแจ้ง) ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักงานส่งเสริมการค้ารัสเซีย (นายภาษิต พุ่มชูศรี) นายวีระชัย นพสุวรรณวงศ์ นักวิชาการพาณิชย์ 9ชช. กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งคณะผู้แทนหอการค้าไทย (นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานคณะกรรมการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมหอการค้าไทย หัวหน้าคณะฯ) และคณะผู้แทนสมาคมผู้ค้าอัญมณีไทยและเครื่องประดับ (นางประพีร์ สรไกรกิติกูล รองนายกสมาคมผู้ค้าอัญมณีไทยและเครื่องประดับ หัวหน้าคณะฯ) เข้าร่วมการหารือเกี่ยวกับลู่ทางการขยายการค้าการลงทุน รวมทั้งแนวทางแก้ไขอุปสรรคโดยเฉพาะ ข้าว อัญมณี การท่องเที่ยว โลจิสติก และอื่นๆ หลังจากนั้นมีการจับคู่ทางธุรกิจระหว่างคณะผู้แทนสภาหอการค้าไทยและสภาหอการค้ากรุงมอสโกอีกด้วย
- รองประธานสภาหอการค้ากรุงมอสโก ให้ข้อมูลว่าการค้าระหว่างประเทศของประเทศรัสเซีย ส่วนใหญ่จะมีการการดำเนินธุรกิจในกรุงมอสโก ซึ่งในปี 2551 รัสเซียมีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศสูงถึง 2.83 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ บทบาทของสภาหอการค้าฯ ส่วนหนึ่งจึงมุ่งเน้นในการหาหุ้นส่วนจากต่างชาติ เพื่อสนับสนุนและขยายมูลค่าการค้าการลงทุนระหว่างผู้ประกอบการรัสเซียกับผู้ประกอบการชาวต่างชาติ และสภาหอการค้าฯ ได้มีคณะกรรมาธิการการค้าระหว่างรัสเซีย-ไทย เพื่อเป็นกลไกในการขับเครื่องความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนของทั้งสองประเทศ
- ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ (ดร.วีระศักดิ์ จินารัตน์) ได้แจ้งให้ผู้ประกอบการไทยที่เข้าร่วมประชุมดังกล่าว ให้ความเห็นเกี่ยวกับอุปสรรคสำคัญทางการค้าระหว่างไทย-รัสเซียในขณะนี้ คือ ระบบศุลกากรที่ล่าช้า (เอกสาร) รวมทั้งต้นทุนการขนส่ง (logistic) ทำให้สินค้าจากไทยขาดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศคู่แข่งในตลาดรัสเซีย ซึ่งผู้แทนหอการค้ารัสเซีย ได้ยกตัวอย่างการทำการค้ากับชาวรัสเซียว่า ในกรณีที่สินค้าอาหารจากจีนที่สามารถมาเปิดตลาดรัสเซียได้มากกว่าสินค้าจากไทยเนื่องจากบริษัทที่ส่งออกจากจีนมีการร่วมทุนกับชาวรัสเซีย และชาวรัสเซียก็จะผู้เปิดเป็นบริษัทผู้แทนจำหน่ายรวมถึงสถานที่เก็บสินค้าในประเทศรัสเซีย จึงเป็นการง่ายที่จะขยายตลาดโดยตรง และลดต้นทุนและเวลาในการส่งมอบสินค้าได้รวดเร็วกว่าการสั่งสินค้าและขนส่งมาจากจากประเทศไทย ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรหาพันธมิตรทางการค้ากับชาวรัสเซียเพื่อช่วยเหลือและประสานงานภายในประเทศรัสเซียด้วย
2. การเข้าพบและหารือกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการค้ารัสเซีย (Mr.Andrey Slepnyev- Deputy Minister of Economic Development and Trade)
ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ไทย ได้เข้าพบรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการค้ารัสเซีย โดยได้หารือถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองรวมถึงลู่ทางการขยายการค้าการลงทุนระหว่างกันและเห็นพ้องให้มีการจัดประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้ารัสเซีย-ไทย โดยเร็ว โดยแต่ละฝ่ายได้หยิบยกปัญหาอุปสรรค เช่น การเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้าเหล็ก มาตรการสุขอนามัยไก่สดแช่เย็น แช่แข็ง ด้านการศุลกากร ฯลฯ ให้อีกฝ่ายนำไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการพิจารณาแก้ไขทั้งสองฝ่ายเห็นชอบกับการสนับสนุนให้มีการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee: JTC) ประมาณเดือนกันยายน 2552 ทั้งในระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส และระดับรัฐมนตรี จะเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมการค้า และเป็นเวทีในการหารือมาตรการในการแก้ไขอุปสรรคทางการค้าของทั้งสองประเทศ โดยที่ฝ่ายรัสเซียเสนอว่าควรจะมีเวทีของภาคเอกชน (Business Forum) เพิ่มเติมด้วย
- ฝ่ายไทยได้หยิบยกประเด็นอุปสรรคด้านมาตรฐานสุขอนามัยในการส่งออกสินค้าประเภทเนื้อไก่ และไก่แช่แข็งมายังรัสเซีย ซึ่งปัจจุบันยังมีการห้ามนำเข้าไก่จากประเทศไทย โดยฝ่ายไทยได้ชี้แจงว่าไทยได้มีการส่งออกสินค้าประเภทไก่ไปยังกลุ่มประเทศ EU และญี่ปุ่น ซึ่งมีมาตรฐานการนำเข้าที่สูง แสดงให้เห็นว่าสินค้าจากไทยได้มีมาตรฐานสุขอนามันที่ผ่านเกณฑ์ของสากล โดยฝ่ายรัสเซียรับที่จะนำประเด็นดังกล่าวไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กระทรวงเกษตร (Federal Service for Veterinary and Phytosanitary Surveillance) อีกครั้งหนึ่ง
- ฝ่ายรัสเซียได้หยิบยกประเด็นที่ไทยมีมาตรการการปกป้องภาคการผลิตสินค้าเหล็กในประเทศ (Anti-Dumping) ซึ่งฝ่ายไทยจะนำประเด็นนี้กลับไปหารืออีกครั้ง และแจ้งให้ฝ่ายรัสเซียทราบว่าไทยยินดีที่จะให้อุตสาหกรรมเหล็กของรัสเซียข้ามาร่วมทุนกับเอกชนไทยในอุตสาหกรรมเหล็ก ซึ่งจะนำไปสู่การขยายการค้าและการลงทุนที่จะเป็นประโยชน์ต่อการค้าของทั้งสองประเทศ
3. การเยี่ยมชมงานแสดงสินค้าอัญมณี Yuvelir-2 ณ กรุงมอสโก
ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิช์และคณะ เข้าเยี่ยมชมงานแสดงสินค้าอัญมณี Yuvelir-2 ซึ่งมีผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมเปิดคูหาในงานจำนวน 3 ราย โดยมีสมาชิกสมาคมอัญมณีและเครื่องประดับของไทยเข้าร่วมแสดงและชมสินค้าในงานประมาณ 30-40 ราย มีการจัดแถลงข่าวร่วมกัน ระหว่างผู้ประกอบการไทยและรัสเซีย โดยมีผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิช์เป็นประธาน เพื่อเพิ่มความร่วมมือกันในด้านต่างๆ เช่น การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ การนำเข้าวัตถุดิบจากรัสเซีย การแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการค้าและความร่วมมือระหว่างกัน อีกทั้งสมาคมอัญมณีแห่งประเทศไทย ได้เชิญสมาคมผู้ค้าอัญมณีรัสเซีย เดินทางไปเยี่ยมชมงานแสดงสินค้า Bangkok Gems & Jewelry Fair ที่ประเทศไทย และอาจมีการลงนามความร่วมมือด้านการเพิ่มมูลค่าการส่งออกและนำเข้า ตลอดจนเทคโนโลยีการผลิตในช่วงงานแสดงสินค้าดังกล่าว
- การหารือความร่วมมือระหว่างสมาคมผู้ค้าอัญมณีไทยและเครื่องประดับไทย และศูนย์ผลิตและส่งออกอัญมณีรัสเซีย โดยเฉพาะการนำเข้าวัตถุดิบจากรัสเซีย เช่น เพชรดิบ เพื่อนำมาเจียระไนในไทย เนื่องจากประเทศไทยมีผู้ประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญการเจียระไนถือได้ว่าเป็นระดับต้นๆของโลก ซึ่งจะได้ผลิตภัณฑ์ทีมีคุณภาพยอดเยี่ยมเพื่อส่งไปจำหน่ายยังประเทศที่สาม รวมถึงการขยายความร่วมมือในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเพื่อขยายลู่ในการเปิดตลาดในสหรัฐอเมริกาฯ ซึ่งเป็นตลาดอัญมณีและเครื่องประดับที่ใหญ่ที่สุดของโลก
4. การจับคู่ธุรกิจทางการค้า (Business Matching) ระหว่างสมาชิกสภาหอการค้าไทยกับหอการค้ากรุงมอสโกและหอการค้านครเซนต์ปีเตอร์สเบิกร์ก
ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์เข้าเยี่ยมชมการจับคู่ทางธุรกิจ ระหว่างภาคเอกชนไทย 20 บริษัท และเอกชนรัสเซีย 25 บริษัท ได้แก่ สินค้าเครื่องประดับเครื่องเงิน พลอย สินค้าอาหาร ข้าวหอมมะลิ ข้าวโพดกระป๋อง สินค้าเครื่องใช้ในครัวเรือนทำจากพลาสติกและไม้ ผลิตภัณฑ์สปา และด้านการขนส่งสินค้า (logistic)
- สินค้าที่ได้รับความสนใจและมีการสั่งซื้อ ได้แก่ เครื่องประดับเงิน พลอย จากการสอบถามผู้ประกอบการทุกสินค้าทราบว่า มีการสั่งซื้อทันที 2 แสนเหรียญสหรัฐ
- นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานคณะกรรมการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมหอการค้าไทย แจ้งว่า ขณะนี้มีแนวคิดที่จะจัดสัมมนาเรื่องโอกาสของผู้ประกอบการไทยในตลาดรัสเซีย ซึ่งคาดว่าจะเชิญนักธุรกิจชาวรัสเซีย รวมทั้งข้อมูลที่ได้มาเผยแพร่ให้กับผู้ที่สนใจทำธุรกิจในรัสเซีย ในช่วงเดือนสิงหาคม 2552 นี้
5. การเข้าเยี่ยมผู้นำเข้ารายสำคัญ
ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์เข้าเยี่ยมผู้บริหารบริษัท Agroalliance และ บริษัท Angstrem ซึ่งทั้งสองบริษัทเป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ของรัสเซีย มีการนำเข้าข้าวจากไทยโดยเฉพาะข้าวเหนียว เป็นจำนวนมากและนำเข้าอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งผู้บริหารบริษัทMOPS Spa Salon และ Royal Spa Salon โดยผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ได้ให้กำลังใจ และมอบเอกสารข้อมูล กิจกรรมต่างๆ อาทิ งานแสดงสินค้าในประเทศไทย ให้แก่ผู้ประกอบการรัสเซียดังกล่าวด้วย
6. การพบและหารือผู้นำเข้าสินค้ามันสำปะหลัง ณ นครเซนต์ปีเตอร์สเบิกร์ก
ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์เข้าเยี่ยมผู้บริหารบริษัท Utah ซึ่งเป็นบริษัทผู้นำเข้าสินค้า tapioca starch รายใหญ่ของรัสเซีย และมีการนำเข้าสินค้ามันสำปะหลังจากไทยเป็นจำนวน 10,000 ตัน/ปี แต่เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2552 รัฐบาลรัสเซียได้มีการขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้าดังกล่าวเป็น 15% ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อมูลค่าการนำเข้าสินค้าจากไทย ซึ่งผู้แทนฝ่ายไทยได้เสนอแนะผู้นำเข้ารัสเซียว่า ฝ่ายไทยมีกลไกสนับสนุนผู้ส่งออกไทยผ่านทาง EXIM Bank โดยการให้ Credit line ให้กับผู้ส่งออกไทย ทั้งนี้ จะเป็นการแบ่งเบาภาระทางด้านต้นทุนกับผู้ส่งออกไทยได้ ทั้งนี้ผู้นำเข้ารายนี้สนใจที่จะนำเข้าข้าวจากไทยอีกด้วย
7. การเยี่ยมชมบริษัท USTIN Textile and Garments Company
ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์เข้าเยี่ยมผู้บริหาร บริษัท USTIN Textile and Garments Company ผู้นำเข้าเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มจากไทยหลายยี่ห้อ โดยใช้ brand ไทย เช่น Greyhound อีกทั้งได้มีการจัดงานแสดงแฟชั่นเพื่อเป็นการส่งเสริมสินค้าดังกล่าวด้วย
8. การสำรวจตลาดสินค้าไทยใน AWAN ( Hypermarket)
ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์สำรวจตลาดสินค้าไทย AWAN ซึ่งเป็นไฮเปอร์มาร์เก็ต Chain (AUCHAN)ของฝรั่งเศส ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในรัสเซียในปัจจุบัน สินค้าไทยที่วางขายอยู่เช่น สินค้าเครื่องใช้ในครัวเรือน เครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น เตาไมโครเวฟ และสินค้าอาหารต่างๆ เช่นอาหารกระป๋อง ประเภทข้าวโพดอ่อนกระป๋อง สับปะรดกระป๋อง ทูน่า และอาหารทะเลสดแช่เย็น แช่แข็ง กระทิสดกล่อง และข้าว เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าในกลุ่มอาหารเป็นสินค้าที่มีการนำเข้ามาจำหน่ายและได้รับความนิยมมากที่สุด ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีที่แสดงให้เห็นว่าสินค้าอาหารของไทยมีคุณภาพและมีศักยภาพในการที่จะขยายช่องการตลาดในตลาดรัสเซียต่อไปได้อีก
9. ข้อเสนอแนะและความเห็น
ถึงแม้ว่าในปัจจุบันมูลค่าการค้าระหว่างไทยและรัสเซียจะยังมีมูลค่าไม่มากเมื่อเทียบกับตลาดส่งออกหลักอื่นๆ ของไทย แต่จากการสำรวจตลาดและพบผู้ประกอบการของรัสเซีย แสดงให้เห็นว่ายังมีช่องว่างและโอกาสในการขยายมูลค่าทางการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีการพัฒนากลไกที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทย อาทิ ระบบการขนส่งและ Logistics การชำระเงินและการสนับสนุนการเงินแก่ผู้ส่งออกไทย (EXIM Bank) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลักดันให้มีการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee: JTC) ระหว่างไทย-รัสเซีย ทั้งในระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส และระดับรัฐมนตรี ซึ่งจะเป็นกลไกหลักในการหารือมาตรการสนับสนุนการค้า และหามาตรการที่เหมาะสมในการแก้ไขอุปสรรคระหว่างกัน ซึ่งจะนำไปสู่การขยายตลาดในประเทศรัสเซียได้ต่อไปในอนาคต และเห็นควรมีการดำเนินการดังนี้
9.1 ให้มีการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้าระหว่างไทย-รัสเซียโดยเร็ว หากเป็นไปได้ ควรจัดการประชุมประมาณเดือนกรกฎาคมนี้
9.2 ให้มีหนังสือเชิญรัฐมนตรีเศรษฐกิจและการพัฒนารัสเซียมาเยือนไทยและขอให้แก้ไขอุปสรรคการค้าของรัสเซีย เช่น มาตรการภาษีมันสำปะหลัง และมาตรการสุขอนามัยไก่สดแช่แข็ง
9.3 ให้มีการติดตามดูแลแก้ไขปัญหาของผู้นำเข้าสินค้าไทยในรัสเซียอย่างใกล้ชิด และให้พิจารณาปัญหาของรัสเซีย เช่น ภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดอย่างเป็นธรรมต่อไปด้วย
9.4 ให้มีการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าที่มีศักยภาพและหรือมีการแลกเปลี่ยนคูหาระหว่างไทยและรัสเซีย เพื่อสร้างเสริมความเข้าใจ และเป็นการเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันให้มากขึ้น
ที่มา: http://www.depthai.go.th