นโยบายด้านพลังงานของญี่ปุ่น

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 1, 2009 16:53 —กรมส่งเสริมการส่งออก

บทสรุป

นโยบายด้านพลังงานของประเทศญี่ปุ่น มีพื้นฐานมาจากปัจจัยหลัก 2 ปัจจัย ได้แก่ ความมั่นคงด้านพลังงาน(Energy Security) และการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก (Climate Change) โดยภาพรวม นโยบายฯ มีกรอบการดำเนินการเป็น 3 ระยะ คือ ระยะสั้น (1-5 ปี หรือปี 2008-2012) ระยะกลาง (5-10 ปี) และระยะยาว (เป้าหมายที่ปี 2050) ตาม Post Kyoto Protocol International Framework โดยมาตรการต่างๆ ประกอบด้วยการลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยเฉพาะน้ำมันดิบ การหันมาใช้เชื้อเพลิงที่ถูกและสะอาดกว่า เช่น ก๊าซธรรมชาติ หรือเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาด เช่น เชื้อเพลิงชีวมวล พลังน้ำ ลม แสงอาทิตย์ และนิวเคลียร์ ในสัดส่วนที่มากขึ้น ส่วนการลดก๊าซเรือนกระจกนั้น เป็นแบบรายสาขา (Sectoral Approach) โดยในระยะแรก เน้นการใช้วิธีปฏิบัติที่ดีที่สุด(Best Practice) กับเทคโนโลยีที่ดีที่สุดที่มีอยู่ (Best Available Technology หรือ BAT) และการได้รับความร่วมมือของชาติที่มีส่วนปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมาก ในลักษณะของเครือข่ายตามรายสาขาที่มีความเข้าใจและสามารถแลกเปลี่ยนความรู้/เทคโนโลยี เพื่อปรับปรุงพัฒนากิจกรรมและกระบวนการผลิตของตนได้ และเพื่อที่จะบรรลุถึงเป้าหมายการแก้ไขปัญหาโลกร้อน (Global Warming) ในระยะยาว นั้น จำเป็นต้องอาศัยนวัตกรรมที่ได้จากการลงทุนค้นคว้าและวิจัยที่ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ในมาตรการระยะแรกอย่างต่อเนื่อง

1. ความมั่นคงด้านพลังงาน (Energy security)

ญี่ปุ่นนับเป็นประเทศที่มีการใช้พลังงานต่อรายได้ประชาชาติอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดในโลก ในปี2006 มีการใช้พลังงาน ในรูป TPES (Total Primary Energy Supply in ton oil equivalence) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ton CO2) เมื่อเปรียบเทียบกับสหรัฐอเมริกา (ค่าในวงเล็บ) เป็นดังนี้

TPES/population = 4.13 toe/capita หรือคิดเป็นพลังงานไฟฟ้า 8,220 kW-h/capita

(7.74 toe/capita หรือคิดเป็นพลังงานไฟฟ้า 13,515 kW-h/capita)

          TPES/GDP          = 0.1 toe/thousand US$ (0.21 toe/thousand US$)

CO2/population = 9.49 tons/capita (19.0 tons/capita)

          CO2/GDP           = 0.24 kg/US$ (0.51 kg/US$)
          Population        = 127.76 millions (299.83 millions)

อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานในรูปต่างๆ รวมกันมากถึงประมาณร้อยละ 97 จึงทำให้ต้องคำนึงทั้งความมั่นคงด้านพลังงาน ประสิทธิภาพเชิงเศรษฐกิจ (Economic efficiency) ควบคู่ไปกับความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental sustainability) ไปพร้อมกัน

1.1 ภาพรวมแหล่งพลังงานของญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นอาศัยแหล่งพลังงานที่มาจากเชึ้อเพลิงฟอสซิลและเป็น Non-renewable มากถึงประมาณร้อยละ 82 แหล่งพลังงานนิวเคลียร์ ประมาณร้อยละ 15 และแหล่งพลังงานที่เป็น Alternative or renewable อื่นๆ อีกประมาณร้อยละ 3 เท่านั้น

          แหล่งพลังงานในรูป           TPES ktoe (kilotons oil equivalence)     % share
          - ถ่านหิน                                112,410                      21.31
          - น้ำมันดิบ                               207,907                      39.41
          - ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมต่างๆ                    32,666                       6.19
          - ก๊าซธรรมชาติ                            77,443                      14.68
          - นิวเคลียร์                               79,075                      14.99
          - พลังน้ำ                                  7,375                       1.40
          - ความร้อนใต้พิภพ/แสงอาทิตย์/ลม               3,567                       0.68
          - ชีวมวล/ของเสีย                           7,116                       1.35

1.2 การใช้พลังงานไฟฟ้า

ในปี 2006 ญี่ปุ่นมีการใช้พลังงานไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรม ประมาณ 1 ใน 3 และเป็นที่น่าสังเกตว่ามีการใช้ไฟฟ้าในภาคการขนส่ง หรือใช้กับระบบราง มากถึง 19,004 GW-h หรือประมาณร้อยละ 2

          ภาคการใช้พลังงาน           GW-h(Gigawatt-hour)           % share
          - อุตสาหกรรม                     320,601                  32.69
          - ขนส่ง                           19,004                   1.94
          - ที่พักอาศัย                       279,594                  28.50
          - ธุรกิจและสาธารณูปโภค             360,809                  36.78
          - เกษตรกรรม/ป่าไม้                    864                   0.09

1.3 ความผันผวนด้านราคาของน้ำมันดิบ

น้ำมันดิบเป็นแหล่งพลังงานสำคัญของญี่ปุ่น โดยมีส่วนแบ่งประมาณร้อยละ 39 นับตั้งแต่ปี 1999 ที่ราคาน้ำมันลดลงต่ำสุด คือ ต่ำกว่า 15 US$/barrel จากนั้น ราคาน้ำมันก็ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในระหว่างปี 2005-2007 ราคาอยู่ในช่วง 60-70 US$/barrel และพุ่งขึ้นมากกว่า 140 US$/barrel ในปี 2008 จนถึงปี 2009 เมื่อสหรัฐอเมริกาเกิดปัญหาเศรษฐกิจและลุกลามไปทั่วโลก ราคาน้ำมันเริ่มปรับตัวลงมาอยู่ที่ประมาณ 60 US$/barrel

ในสภาวะเช่นนี้ ญี่ปุ่นได้วิเคราะห์สาเหตุของความผันผวนของน้ำมันดิบอย่างน่าสนใจ ดังนี้

1.3.1 ปัจจัยพื้นฐาน แบ่งเป็น 2 ด้าน ได้แก่

(1) Demand ในระยะกลาง-ยาว ได้แก่ อุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากของ Emerging economies โดยเฉพาะประเทศในเอเชีย ส่วนในระยะสั้น ได้แก่ ความผันผวนของธุรกิจ ความผันผวนตามฤดูกาล ฯลฯ

(2) Stock ในระยะกลาง-ยาว ได้แก่ ความสามารถในการลงทุนที่ได้รับผลระทบจากค่าใช้จ่ายในการผลิต ราคาวัสดุและเครื่องจักรที่แพงมากขึ้น โดยค่าเฉลี่ยของการผลิตน้ำมันดิบ เพิ่มขึ้นจาก 5.4 US$/barrel ในปี 1992-1993 เป็น 11.0 US$/barrel ในปี 2003-2005 และเพิ่มเป็น 17.2 US$/barrel ในปี 2004-2005 และกำลังการผลิตสำรอง เช่น กำลังการผลิตสำรองของกลุ่ม OPEC ที่ลดลงต่ำตั้งแต่ปี 1990 เหลือประมาณเพียงประมาณวันละ2-4 ล้านบาร์เรลเท่านั้น ส่วนในระยะสั้น ได้แก่ อุบัติเหตุ ภัยธรรมชาติที่มีผลต่อแท่นขุดเจาะน้ำมัน เช่น พายุเฮอริเคน ฯลฯ ซึ่งทำให้ปริมาณน้ำมันที่ป้อนสู่ตลาดโลกเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างรวดเร็ว

นักเศรษฐศาสตร์หลายคน ได้ทำการคำนวณ Price Elasticity in Demand ของน้ำมันดิบ (Elasticity เท่ากับ % การเปลี่ยนปริมาณอุปสงค์ หารด้วย % การเปลี่ยนแปลงราคา) จากอดีตที่ผ่านมา (ตั้งแต่ปี 1993-2006) พบว่า Elasticity มีค่าประมาณ -0.1 ซึ่งหมายความว่า เมื่อราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น ร้อยละ 10 ก็จะทำให้อุปสงค์ลดลง ร้อยละ 1

1.3.2 ปัจจัยพิเศษ แบ่งเป็น 2 ด้าน ได้แก่

(1) Uncertainty of the future ได้แก่ ปัญหาความไม่มั่นคง/ความไม่สงบทางการเมืองของประเทศผู้ผลิตน้ำมัน นโยบายการควบคุมราคาและปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของรัฐผู้ผลิตน้ำมันดิบ เช่น กลุ่มผู้ส่งออกน้ำมัน Gulf corporation council (GCC) ได้แก่ บาห์เรน โอมาน ซาอุดิอาระเบีย กาตาร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ยกเว้นคูเวต ที่ตรึงค่าเงินไว้กับดอลล่าร์ ซึ่งสุญเสียรายได้ เมื่อดอลล่าร์อ่อนค่าลง จึงจำเป็นต้องเพิ่มราคาขายน้ำมันดิบ เพื่อชดเชยส่วนต่างและนำมาใช้จ่ายเพื่อบรรเทาภาวะเงินเฟ้อของประเทศ

(2) Future market ได้แก่ การซื้อขายเก็งกำไรในอนาคตทั้งระยะสั้นและระยะยาวของกองทุนประเภทต่างๆ ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมาก ตั้งแต่ปี 2004 จำนวนสัญญาซื้อขายล่วงหน้าได้เพิ่มขั้นจาก 3 แสนฉบับ เป็น 1 ล้านสี่แสนฉบับในปี 2008 สาเหตุหนึ่ง อาจเนื่องมาจากเงินดอลล่าร์ที่อ่อนค่าลงมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2007 จึงทำให้นักลงทุนหันมาลงทุนในสินค้า Commodity เช่น น้ำมัน ทองคำ ฯลฯ มากขึ้น

จากการวิเคราะห์และคำนวณ METI (Ministry of Economy, Trade and Industry)พบว่า ในปี 2007 เมื่อน้ำมันดิบราคา 90 US$/barrel เป็นราคาที่เกิดจากปัจจัยพิเศษ มากกว่า 30 US$/barrel

1.4 ผลกระทบจากความผันผวนด้านราคาของน้ำมันดิบ

1.4.1 อุตสาหกรรมการผลิต นับตั้งแต่ปี1998 เป็นต้นมาอุตสาหกรรมหลัก 4 ประเภทของญี่ปุ่น ได้แก่ กระดาษ ซีเมนต์ เคมีและเหล็ก ได้พยายามลดสัดส่วนการพึ่งพาเชื้อเพลิงจากน้ำมันดิบมาอย่างต่อเนื่อง โดยหันมาใช้พลังงานทางเลือกอื่นๆ โดยเฉพาะ การใช้ก๊าซธรรมชาติ แทน และสามารถลดสัดส่วนการพึ่งพาฯ ลงได้ ร้อยละ 2-10

1.4.2 การเกษตรและประมงในญี่ปุ่น มีการหันมาใช้ ในการสร้างความอบอุ่นในเรือนเพาะปลูกแทนการใช้เตาน้ำมันก๊าด การเปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์ 2 จังหวะแทนเครื่องยนต์ 4 จังหวะ ในเรือประมงขนาดเล็ก

1.4.3 ภาคธุรกิจในญี่ปุ่น หันมาใช้ไฟฟ้า แทนการใช้น้ำมันก๊าด และก๊าซปิโตรเลียมเหลว

1.4.4 ภาคการขนส่งในญี่ปุ่น รถยนต์ไฮบริดและรถยนต์ขนาดเล็ก มียอดขายเพิ่มขึ้นประมาณ 1 เท่าตัว นับตั้งแต่ปี 2003-2006 โดยมีส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1 เป็นร้อยละ 2.2 หรือคิดเป็นยอดขายประมาณ 2 แสนคันต่อปี

1.4.5 ภาค Supply มีการผลิตน้ำมันดิบจาก Sand oil (Bitumen deposits ประเภทหนึ่ง) หรือที่เรียกว่า Synthetic หรือ Non-conventional crude oil โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศแคนาดาและเวเนซูเอล่าค่าการผลิต Non-conventional crude oil อยู่ที่ 36-40 US$/barrel (ราคาในปี 2005)

1.4.6 พลังงานนิวเคลียร์ (Nuclear power) กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง โดยเกิดโครงการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ขึ้นในประเทศต่างๆ ในอนาคตมากว่า 100 แห่ง ได้แก่ ญี่ปุ่น 11 แห่งสหรัฐอเมริกา 33 แห่ง (ปัจจุบันมีส่วนแบ่งอยู่แล้ว 19%) รัสเซีย 40 แห่ง (ปัจจุบันมีส่วนแบ่งอยู่แล้ว 16%)อินเดีย 20 แห่ง (ปัจจุบันมีส่วนแบ่งอยู่แล้ว 3%) จีน 30 แห่ง (ปัจจุบันมีส่วนแบ่งอยู่แล้ว 2%) นอกจากนี้ ในประเทศอื่นๆ เช่น ฝรั่งเศส (ปัจจุบันมีส่วนแบ่งอยู่แล้ว 78%) สหราชอาณาจักร (ปัจจุบันมีส่วนแบ่งอยู่แล้ว 18%) โรมาเนีย ลิธัวเนีย บัลแกเรีย สโลวาเกีย เวียดนาม อินโดนีเซีย คาร์ซักสถาน ตุรกี อียิปต์ และเกาหลีต่างก็มีโครงการเช่นกัน ด้วยสาเหตุ โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์รุ่นใหม่ มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น และมีต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิล ดังแสดงในตารางต่อไปนี้

        แหล่งพลังงาน                 เยน/kW-h %           Capacity factor
Hydroelectric                       8.2-13.3                  45
Oil-fired                           10.0-17.3               30-80
LNG-fired                            5.8-7.1                60-80
Coal-fired                           5.0-6.5                70-80
Nuclear                              4.8-6.2                70-85
Photovoltaic (Solar)                   46                     12
Wind                                  10-14                   20
หมายเหตุ การคำนวณ คิดอายุเครื่องจักร 40 ปี Discount rate 0-4% ราคาน้ำมันดิบที่ 27.4 US$/barrel (ค่าเฉลี่ยในปี 2002) และรวมค่ากำจัดกากนิวเคลียร์ไว้แล้ว

นอกจากนั้น ยังถือว่า เป็นพลังงานที่สะอาดมากกว่าเชื้อเหลิงฟอสซิลมาก ในแง่ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเห็นได้จากค่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตลอดวัฎจักรของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ เมื่อเปรียบเทียบกับการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานอื่นๆ (Life cycle of Power Generation) ดังต่อไปนี้

    แหล่งพลังงาน                     กรัม CO2/kW-h        % of Coal-fired power
Coal-fired                               975                   100
Oil-fired                                742                    78
Natural gas-fired                        608                    62
Natural gas-fired combined cycle         519                    53
Nuclear                                 22-25                  2.5
Hydroelectric                             11                   1.1
Geothermal                                15                   1.5
Photovoltaic                              53                   5.4
Wind                                      29                   3.0

1.4.7 เชื้อเพลิงชีวมวล (Biofuels) มีการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงชีวมวลเพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่าตัว นับตั้งแต่ปี 2003-2007โดยเพิ่มจาก 22 ล้านกิโลลิตร เป็น 50 ล้านกิโลลิตร ทั้งนี้บริษัทผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ ได้แก่ Exxon-Mobil Shell BP Chevron และ Conoco-Phillips ต่างก็หันมาศึกษาวิจัยพลังงานทางเลือกใหม่นี้ ซึ่งการวิจัย ณ ขณะนี้ เน้นไปที่การผลิตจาก Non-food biomass

1.4.8 เซลแสงอาทิตย์ (Solar cell) ปริมาณเซลแสงอาทิตย์ที่ผลิตออกสู่ตลาดโลกมีจำนวนเพิ่มขึ้นอบ่างต่อเนื่อง นับนับตั้งแต่ปี 2001-2006โดยยอดสะสมเพิ่มจากประมาณ 1,000 MW เป็นประมาณ 5,800 MW

1.4.9 Coal liquefaction เพื่อผลิต Non-conventional crude oil ได้มีโครงการศึกษาความเป็นไปได้ของความคุ้มค่าเชิงเศรษฐศาสตร์เกิดขึ้นหลายแห่ง ในประเทศที่มีแหล่งสำรองถ่านหินปริมาณมากได้แก่ จีนและอินโดนีเซีย

1.4.10 การนำ Methane hydrate หรือ Methane ice ที่สะสมใต้ดินและในชั้นตะกอนใต้มหาสมุทรที่มีอุณหภูมิพื้นผิวต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียสล มาใช้เป็นเชื้อเพลิง โดยหลายประเทศหันมาศึกษาวิจัยอย่างจริงจัง ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา และรัสเซีย

1.5 มาตรการแก้ไขผลกระทบจากความผันผวนด้านราคาของน้ำมันดิบ

มาตรการส่วนใหญ่ เน้นการแก้ไขความผันผวนที่เกิดจากปัจจัยพื้นฐาน มากกว่าปัจจัยพิเศษ ซึ่งโดยมาก สร้างปัญหาในระยะสั้น

1.5.1 สำหรับประเทศผู้ใช้น้ำมัน เน้นการอนุรักษ์พลังงานและใช้พลังงานทางเลือกแทนการใช้น้ำมันดิบ การสำรองเชื้อเพลิงในปริมาณที่เหมาะสมและพอเพียง

1.5.2 สำหรับประเทศผู้ผลิตน้ำมัน เน้นการลงทุนในการพัฒนาแหล่งน้ำมันใหม่ เพื่อให้กำลังการผลิตสำรองที่พอเพียงต่อความต้องการในตลาดโลก ความยืดหยุ่นในการควบคุมโควต้าการผลิต

1.5.3 ในกรณีการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากปัจจัยพิเศษ นั้น ประชาคมโลก ต้องช่วยเหลือและสนับสนุนให้เกิดความมั่นคงในภูมิภาคที่เป็นแหล่งน้ำมันดิบ ส่วนปัญหาที่เกิดจากการเก็งราคา นั้น ญี่ปุ่นมองว่า IEA (International Energy Agency) สามารถเข้ามาช่วยในการกำหนดและประกาศทิศทางของตลาด น้ำมันดิบที่แท้จริงให้นานาชาติได้ทราบ โดยอาศัยความร่วมมือของชาติสมาชิก อีกทางหนึ่ง

2. การลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก (Climate Change)

ท่าทีของสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียที่เปลี่ยนแปลงไป ต่อการเข้าร่วมกับประชาคมโลกในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในปี 2009 ส่งสัญญานว่า เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาของกรอบงานของพิธีสารเกียวโต ในปี2012 ชาติต่างๆ จะร่วมมือกันลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อแก้ไขปัญหา Climate change อย่างจริงจังมากขึ้น

2.1 ภาพรวมการปล่อยก๊าซคาร์บอนออกไซด์ของโลก

ข้อมูลในปี 2009 พบว่า ชาติที่มีพัธกรณีต้องลดก๊าซเรือนกระจก ในกลุ่ม Annex 1 countries ในขณะนี้ รวมทั้งญี่ปุ่น (มีส่วนแบ่งร้อยละ 4) มีส่วนแบ่งรวมกันในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประมาณร้อยละ 30 ในจำนวนนี้ กลุ่มชาติในประชาคมยุโรป 15 ประเทศ มีส่วนแบ่งประมาณร้อยละ 12.5 เท่านั้น ในขณะที่ชาติ ที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง 3 ชาติ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา (มีส่วนแบ่งร้อยละ 21) จีน (มีส่วนแบ่งร้อยละ 19) และอินเดีย (มีส่วนแบ่งร้อยละ 4) ยังไม่จำเป็นต้องลด รวมไปถึงชาติในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ ด้วย เนื่องจากผลกระทบจาก Climate change หรือ Global Warming เกิดขึ้นได้กับทุกๆ ชาติ จึงเป็น ปัญหาระดับโลก ที่ต้องการความร่วมมือในการแก้ไขด้วยกัน ส่วน ญี่ปุ่นเอง มีท่าทีต่อการแก้ไขปัญหา Climate change โดยเอานโยบายด้านพลังงานของประเทศเข้าไปร่วมด้วย ดังนี้

2.2 การแก้ไขปัญหา-ระยะสั้น

ญี่ปุ่นมองว่า ทุกชาติที่ลงสัตยาบันในพิธีสารเกียวโต ควรจะดำเนินการบรรลุตามเป้าหมายของตนเองให้ได้ ภายในปี 2012 รวมทั้งชาติที่ไม่มีพันธกรณีดังกล่าว ก็ควรพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเองด้วย

สำหรับญี่ปุ่น กำหนดไว้ว่า จะต้องเร่งนำพลังงานนิวเคลียร์ที่มีอยู่มาใช้ทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล การอนุรักษ์พลังานในโรงงาน อาคารและบ้านเรือนให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น การส่งเสริมรถยนต์ Eco car การใช้พลังงานทางเลือกอื่นๆ ตลอดจนการใช้กลไกของพิธีสารเกียวโต ได้แก่ CDM (Clean Development Mechanism) ET (Emission Trading) และ JI (Joint Implementation) เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของตนเอง

2.3 การแก้ไขปัญหา-ระยะกลาง

สำหรับญี่ปุ่น เห็นว่า กรอบงานช่วงหลังสิ้นสุดพิธีสารเกียวโต ควรจะมีความยืดหยุ่นมากขึ้น และมีความเสมอภาค โดยชาติที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาก ควรเข้ามามีส่วนร่วมทุกชาติ และให้ความสำคัญแก่วิธีการลดก๊าซเรือนกระจกแบบ Sectoral approach ซึ่งเน้นเรื่องประสิทธิภาพด้านพลังงาน ญี่ปุ่นเชื่อว่าวิธีการเช่นนี้ มีความเป็นธรรมแก่ทุกชาติ ส่วนชาติในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (ซึ่งมีส่วนแบ่งรวมกันประมาณร้อยละ 50) ก็สามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ เนื่องจากเป็นเรื่องของเทคโนโลโลยีการผลิตตามรายสาขาที่มีตัวเลขชัดเจน ซึ่งง่ายต่อการกำหนดเป้าหมายที่เป็นรูปธรรม ตามสภาพและเงื่อนไขของประเทศของตน ทั้งนี้ เพื่อคงตัวเลขความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไเออกไซด์ในบรรยากาศ มิให้เพิ่มมากขึ้นรายสาขาที่ญี่ปุ่นเห็นว่า มีความพร้อมในการดำเนินการ เนื่องจากมีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีและการอนุรักษ์พลังงาน จึงสามารถสนับสนุนชาติอื่นๆ ได้ และเป็นรายสาขาที่มีการปล่อยเรือนกระจกมาก จึงเป็นเป้าหมายสำคัญอันดับต้นๆ ในการแก้ไขปัญหา Climate change ด้วย คือ

2.3.1 กลุ่มพลังงาน ได้แก่ โรงไฟฟ้าถ่านหิน (ประสิทธิภาพด้านพลังงานของโรงไฟฟ้าญี่ปุ่นร้อยละ 45)

ตัวอย่างเช่น อินเดีย พบว่า มีศักยภาพในการเพิ่มประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าเก่า จากค่าเฉลี่ยที่ร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 35 และเพิ่มประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าใหม่ ให้ได้มากถึงร้อยละ 38-40 เรือมากกว่าเป็นต้น โรงไฟฟ้าถ่าหิน มีส่วนแบ่งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดประมาณร้อยละ 26.0

2.3.2 กลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต ได้แก่ โรงถลุงเหล็กและเหล็กกล้า และซีเมนต์ ซึ่งมีส่วนแบ่งประมาณร้อยละ 6.3 และ 2.9 ตามลำดับ

ตัวอย่างเช่น จีน มีแผนงานปี 2004 กำหนดให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากปริมาณในปี 2000 จาก 906 เป็น 700 kg-CO2/ton-crude steel (-23%) และ 181 เป็น 129 kg-CO2/ton-clinker (-29%) ภายในปี 2020 เป็นต้น

2.3.3 กลุ่มการขนส่งทางถนน ได้แก่ รถยนต์ ซึ่งมีส่วนแบ่งประมาณร้อยละ 17.1

ญี่ปุ่นเป็นผู้นำในการผลิตรถยนต์ประเภท Hybrid ตลอดจนมีการพัฒนารถยนต์ที่ประหยัดเชื้อเพลิงและมีการปล่อยไอเสียต่ำ ที่รวมเรียกว่า Eco car มาอย่างต่อเนื่อง

ทั้ง 4 รายสาขาตามข้อ 2.3.1-2.3.3 มีส่วนแบ่งในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในโลก รวมกันมากถึงร้อยละ 52.3 ญี่ปุ่น ยังมองว่า IEA สามารถเข้ามาช่วยร่วมดำเนินการ เพื่อสนับสนุนวิธีการลดก๊าซเรือนกระจกตามแนวทาง Sectoral approach ได้เป็นอย่างดี

รายสาขาอื่นๆ ที่ญี่ปุ่นมีความพร้อมด้านเทคโนโลยี ได้แก่ อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ โรงไฟฟ้าพลังก๊าซ (ประสิทธิภาพด้านพลังงานของโรงไฟฟ้าญี่ปุ่น ร้อยละ 45) โรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ (กลุ่มบริษัทผู้ออกแบ ผลิตและร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในโลก ปัจจุบัน มีเพียง 4 กลุ่มใหญ่ ซึ่ง 3 ใน 4 มีบริษัทญี่ปุ่นเข้า ร่วมอยู่ด้วย ได้แก่ กลุ่ม Toshiba-Westinghouse กลุ่ม Hitachi-GE กลุ่ม Mitsubishi-Areva และกลุ่ม Atomenergoprom ของรัสเซีย)

นอกจากนี้ ยังมีอุปกรณ์ในภาคธุรกิจและครัวเรือน ที่ญี่ปุ่นได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ประหยัดพลังงานที่มีประสิทธิภาพสูง ไปแล้ว เช่น หลอดไฟชนิด LED Heat pump ที่ใช้ CO2 เป็น coolant เป็นต้น

2.4 การแก้ไขปัญหา-ระยะยาว

สำหรับญี่ปุ่น เห็นว่า เป้าหมายที่มีการกล่าวถึง คือ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ต่ำกว่าปริมาณในปีฐาน ครึ่งหนึ่ง ภายในปี 2050 นั้น จะเป็นจริงได้ ก็ต่อเมื่อนวัตกรรมใหม่ๆ ถูกพัฒนาขึ้นมารองรับเท่านั้นนวัตกรรมที่ได้พัฒนาแล้ว และกำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาของญี่ปุ่น จำนวน 21 อย่าง ได้แก่

(1) High efficiency natural gas-fired power generation

(2) High efficiency coal-fired power generation

(3) Carbon dioxide Capture and Storage (CCS)

(4) Innovative photovoltaic power generation

(5) Advanced nuclear power generation

(6) High efficiency superconducting power transmission

(7) Intelligent transport system

(8) Fuel cell vehicle

(9) Plug-in hybrid vehicle/Electric car

(10) Production of transport biofuel

(11) Innovative materials production/processing

(12) Innovative iron & steel making process

(13) High efficiency house and building

(14) Next generation high efficiency lighting

(15) Ultra high efficiency heat pump

(16) Stationary fuel cell

(17) High efficiency information device and system

(18) HEMS/BEMS/Local level EMS (Energy management system)

(19) High performance power storage (battery)

(20) Power electronics

(21) Hydrogen production, transport and storage

ตัวอย่าง Technology Development Roadmap ของญี่ปุ่น

(1) ไฟฟ้าจากเซลแสงอาทิตย์ (Photovoltaic power)

หมายเหตุ ผลิตภัณฑ์ PV แต่ละชนิดเหมาะสมในการใช้งานตามสภาพพื้นที่ที่แตกต่างกัน และกำลังการติดตั้งที่มีตั้งแต่ขนาดเล็กใช้ในบ้านไปจนถึงขนาดใหญ่ในรูปของโรงไฟฟ้า

(2) รถยนต์ไฟฟ้าแบบไฮบริด (Plug-in hybrid electric vehicle)

(3) โรงไฟฟ้านิวเคลียร์

หมายเหตุ ภายในปี 2015 ญี่ปุ่นจะมีการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพิ่มอีก ไม่น้อยกว่า 12,260 MW เพื่อให้มีสัดส่วนของพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ ร้อยละ 42 จากปี 2006 ที่มีสัดส่วนร้อยละ 27

3. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจกับนโยบายด้านพลังงานของญี่ปุ่น

3.1 งบประมาณในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

รัฐบาลญี่ปุ่นนำโดยนายกรัฐมนตรีทาโร อาโสะ ได้ขออนุมัติงบประมาณพิเศษ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน กระตุ้นเศรษฐกิจที่ถดถอย และสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ระบบเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต นับตั้งแต่เกิดภาวะวิกฤติเศรษฐกิจโลกปลายปี 2008 ดังนี้

3.2 มาตรการด้านพลังงานที่นำงบกระตุ้นเศรษฐกิจมาใช้

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ได้นำเอามาตรการด้านพลังงานที่ได้วางแผนและกำหนอไว้ มาใช้ในโอกาสเดียวกันอย่างสอดคล้อง แต่หวังผลสำเร็จที่เร็วยิ่งขึ้น โดยรัฐนำงบประมาณมาใช้ และเป็นผู้นำการขับเคลื่อน ตัวอย่างเช่น

3.2.1 ลดภาษีรถยนต์ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco car)

มาตรการนี้ เป็นส่วนหนึ่งของแผนงานที่มีชื่อว่า Tax Breaks on Eco-friendly Cars อยู่ภายใต้งบ จำนวน 2.1 แสนล้านเยน จากงบกระตุ้นเศรษฐกิจ งวดที่ 3 จำนวน 37.0 ล้านล้านเยน มาตรการนี้ มีผลบังคับใช้ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2009 คือ การลดภาษี เมื่อซื้อรถ Eco car นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นยังพิจารณาโครงการให้เงินสนับสนุนผู้ที่ต้องการเปลี่ยนมาใช้รถ Eco car และโครงการสนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการใช้รถรุ่นใหม่ดังกล่าว โดยมาตรการเหล่านี้ นอกจากจะเป็นผลดีต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแล้ว ยังจะช่วยกระตุ้นตลาดรถยนต์ที่ซบเซา อันเป็นผลมาจากวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในเวลานี้ด้วย และในทางอ้อม จะทำให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีทางด้าน Eco Car ต่อไป

มาตรการลดภาษี แบ่งเป็น 4 ระดับด้วยกันคือ 1) ลด 100% 2) ลด 75% 3) ลด 50% และ 4)ลด 25% ทั้งนี้ ขึ้นกับระดับของประสิทธิภาพการใช้พลังงานและ/หรือปริมาณก๊าซไอเสียที่ปล่อย กล่าวคือ

(1) กลุ่มรถที่เป็น New Generation ได้แก่ รถไฮบริด รถไฟฟ้า รถปลั๊กอิน-ไฮบริด รถดีเซล-มลพิษต่ำ และรถใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ ได้รับการลดภาษีการครอบครองรถครั้งแรก (Automobile acquisition tax) กรณีที่เป็นรถใหม่ กับภาษีน้ำหนัก (Automobile weight tax) ในปีแรก เท่ากับ 100%

สำหรับปีถัดไป จะได้ลดภาษีน้ำหนัก เท่ากับ 100% กับภาษีรายปี (Automobile tax for the next year after registration) เท่ากับ 50%

(2) กลุ่มรถที่ได้ “มาตรฐานการปล่อยก๊าซไอเสียของปี 2005 75% (SU-LEV) และมาตรฐานการใช้เชื้อเพลิงปี 2010 [+25%]” ของ MLIT (Ministry of Land, Infrastructure and Transportation) ได้รับการลดภาษีการครอบครองรถ กรณีที่เป็นรถใหม่ กับภาษีน้ำหนักรถ เท่ากับ 75%

สำหรับปีถัดไป จะได้ลดภาษีน้ำหนัก เท่ากับ 75% กับภาษีรายปี เท่ากับ 50% (3) กลุ่มรถที่ได้ “มาตรฐาน SU-LEV 75% และมาตรฐานการใช้เชื้อเพลิงปี 2010 [+20%] หรือ [+15%]” ได้รับการลดภาษีการครอบครองรถครั้งแรก กรณีรถใหม่ กับภาษีน้ำหนักรถ เท่ากับ 50%

สำหรับปีถัดไป จะได้ลดภาษีน้ำหนัก เท่ากับ 50% กับภาษีรายปี เท่ากับ 25%

โดยรถใหม่ที่จะได้รับการลดภาษีทั้ง 3 ประเภทดังกล่าว จะต้องจดทะเบียนในช่วง 1 เมษายน 2009 ถึง 31 มีนาคม 2010 สำหรับรถเก่าที่สามารถผ่านเกณฑ์ดังกล่าว ก็สามารถใช้ประโยชน์จากมาตรการทางภาษีนี้ได้ด้วยเช่นกัน หากนำรถไปตรวจสภาพตามกฏหมายภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้

อีกมาตรการหนึ่งที่รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังพิจารณานำมาใช้เพื่อส่งเสริมการใช้ Eco Car คือ การให้เงินสนับสนุนแก่ผู้ที่เปลี่ยนมาใช้รถดังกล่าว ซึ่งได้แก่ รถไฮบริด รถพลังไฟฟ้า รถแก๊ซโซลีนและดีเซลที่มีระดับการปล่อยไอเสียต่ำกว่าที่กำหนด ทั้งนี้ เงินช่วยเหลือดังกล่าว อาจจะมีมูลค่า 1 แสนเยนสำหรับรถขนาดเล็ก และ 2 แสนเยนสำหรับรถทั่วไป โดยคาดว่า เงินสนับสนุนดังกล่าว นอกจากจะช่วยในเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแล้ว ยังจะช่วยกระตุ้นอุปสงค์ในตลาดรถยนต์ด้วย

นอกจากนั้น รัฐบาลญี่ปุ่นยังได้เลือกจังหวัดต่างๆ 8 แห่ง เพื่อเป็นเมืองต้นแบบในการส่งเสริมการใช้รถไฟฟ้าให้มีจำนวนมากขึ้น 500 — 15,000 คันในแต่ละจังหวัด โดยเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สถานีเติมพลังงานไฟฟ้าและที่จอดรถ ใน 8 จังหวัด ได้แก่ Tokyo Kanagawa Aomori Niigata Fukui Aichi Kyoto และ Nagasaki รัฐบาลญี่ปุ่นคาดหมายว่า จะมีการใช้ Eco Car มากขึ้น หากมีการให้เงินช่วยเหลือแก่ผู้ที่คิดจะเปลี่ยนรถและการนำรถดังกล่าวมาใช้ในหน่วยงานต่างๆ ทั้งของราชการและเอกชน(ประมาณ 4,000 และ 200,000 คันตามลำดับ) ทั้งนี้ รัฐบาลมีเป้าหมายระยะยาวว่า ยอดขายรถใหม่ในปี 2020 Eco Car จะมีส่วนแบ่งตลาดไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง (ปี 2008 ยอดขายรถยนต์ใหม่ในญี่ปุ่น 5,082,235 คัน)

3.2.2 ส่งเสริมการใช้พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ (Solar power) ด้วยเงินสมทบและภาษี

มาตรการนี้ เป็นส่วนหนึ่งของแผนงานที่มีชื่อว่า The Low Carbon Evolution อยู่ภายใต้งบกระตุ้นเศรษฐกิจ งวดที่ 3 และ 4 จำนวนรวม 6.55 หมื่นล้านเยน

แผน The Low Carbon Evolution นี้ อยู่ภายใต้งบกระตุ้นเศรษฐกิจ งวดที่ 4 โดยกำหนดกรอบงบประมาณไว้ที่ 8.8 ล้านล้านเยน ประกอบด้วย 1) การพัฒนาพลังงานจากแสงอาทิตย์และนำมาใช้อย่างจริงจัง 2) การพัฒนาและส่งเสริมการใช้รถยนต์และอุปกรณ์ประหยัดเชื้อเพลิงและมีประสิทธิภาพด้านพลังงานสูง 3) การปฏิวัติด้านการขนส่งและโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟ Superconducting MAGLEV และ 4) การสร้างแหล่งทรัพยากรใหม่ โดยการรีไซเคิลวัสดุที่มีค่าจากของเสีย

มาตรการฯ นี้ เริ่มใช้ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม 2009 ประกอบด้วย การที่รัฐจ่ายเงินสมทบ และการเงินกู้ในการติดตั้งอุปกรณ์ไปหักลดหย่อยภาษีเงินได้

3.2.3 แต้มอนุรักษ์ (Eco-point)

มาตรการนี้ เป็นส่วนหนึ่งของแผนงานที่มีชื่อว่า The Low Carbon Evolution ในส่วนของแผนงาน การพัฒนาและส่งเสริมการใช้รถยนต์และอุปกรณ์ประหยัดเชื้อเพลิงและมีประสิทธิภาพด้านพลังงานสูง แม้ว่า งบกระตุ้นเศรษฐกิจ งวดที่ 4 ยังไม่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา METI ก็ได้ประกาศใช้มาตรการนี้ไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2009 เนื่องจาก ยังไม่ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับมูลค่าของ Eco-point ในเบื้องต้น คาดว่า จะมีมูลค่าแต้มละ 1 เยน โดยผู้ซื้อต้องเก็บใบรับประกัน ใบเสร็จรับเงิน และต้นขั้วใบรับรีไซเคิล เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการรับ Eco-point ต่อไป

Eco-point ถูกนำมาใช้กับอุปกรณ์ไฟฟ้า 3 ชนิด ได้แก่

1) เครื่องปรับอากาศ รุ่นที่ได้รับมาตรฐานการประหยัดพลังงาน ระดับ 4 ดาว

2) ตู้เย็น รุ่นที่ได้รับมาตรฐานการประหยัดพลังงาน ระดับ 4 ดาว ยกเว้น รุ่นที่ขนาดเล็กกว่า 250 ลิตร ต้องผ่านมาตรฐานการประหยัดพลังงาน ระดับ 5 ดาว

3) โทรทัศน์สัญญานดิจิตอล ต้องผ่านมาตรฐานการประหยัดพลังงาน ระดับ 4 ดาว และรุ่นที่มีมาตรฐานเทียบเท่า (ไม่จำเป็นต้องมีใบรับรองจากผู้ขาย/ผู้ผลิต) ได้แก่ Plasma Hi-Vision TV / LED Backlight Liquid Crystal TV / Wireless Liquid Crystal TV

โดยมีรายละเอียดของการได้รับแต้ม ดังนี้

     เครื่องปรับอากาศ                              ตู้เย็น                        โทรทัศน์สัญญานดิจิตอล
  ขนาด              จำนวนแต้ม          ขนาด            จำนวนแต้ม         ขนาด          จำนวนแต้ม
มากกว่า 3.6            9,000            ตั้งแต่ 501 ลิตร ขึ้นไป   10,000         ใหญ่กว่า 46” V     36,000
2.8 / 2.5             7,000           401-500 ลิตร           9,000          42/40” V        23,000
ต่ำกว่า 2.2             6,000           251-400 ลิตร           6,000             37” V        17,000
นำเครื่องเก่ามารีไซเคิล    3,000           ต่ำกว่า 250 ลิตร         3,000           26/32” V       12,000
                                    นำเครื่องเก่ามารีไซเคิล      5,000        เล็กกว่า 26” V       7,000

นำเครื่องเก่ามารีไซเคิล 3,000

สำนักงานที่ปรึกษาด้านอุตสาหกรรม กรุงโตเกียว

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ