เศรษฐกิจญี่ปุ่นส่อแววดีขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 1, 2009 17:16 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ด้วยขนาดเศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก แม้จะไม่ได้พึ่งพาการส่งออกในสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบเคียงกับประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ แต่เมื่อตลาดผู้ซื้อประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง การส่งออกชะลอตัว อำนาจซื้อในต่างประเทศถดถอย ก็ทำให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นสั่นสะเทือนไม่น้อย การบริโภคและการใช้จ่ายภาคเอกชนในญี่ปุ่นอ่อนตัวลงในวงกว้าง ส่งผลให้ช่วงไตรมาสแรก (มกราคม-มีนาคม) 2552 GDP ของญี่ปุ่นมีค่าเป็นลบ เมื่อคำนวนทั้งปีติดลบสูงถึง -15.2% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551 นับเป็นการถดถอยที่รุนแรงมากกว่าประเทศพัฒนาอื่นๆ หรือมีค่าเป็นลบมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2498 เป็นต้นมา และเป็นค่าลบที่สูงกว่า -14.4% ในไตรมาสสุดท้ายปี 2551 (ตุลาคม-ธันวาคม)

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เริ่มมีสัญญาณว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจจะต่ำใกล้ถึงขีดสุดแล้ว ขณะเดียวกันการผลิตในภาคอุตสาหกรรมก็เริ่มขยับสูงขึ้นนับตั้งแต่เดือนมีนาคมเมื่อสินค้าคงคลังเริ่มน้อยลง นักเศรษฐศาสตร์หลายสำนัก คาดว่า อาจเห็นภาพเชิงบวกชัดเจนขึ้นในไตรมาสที่สอง หรือ เมษายน-พฤษภาคม นี้ GDP อาจเพิ่ม+1.1% เทียบกับไตรมาสแรก เพราะสินค้าคงคลังทั้งในญี่ปุ่นและในต่างประเทศเริ่มหมดลง จนต้องเริ่มการผลิตใหม่ การส่งออกไปจีนเริ่มปรากฎสัญญาณว่าจะฟื้นตัวหลังจากที่ลดต่ำลงติดต่อกันมา 4ไตรมาส โดยเฉพาะในกลุ่มวัตถุดิบอุตสาหกรรมและอิเลคทรอนิกส์ อุตสาหกรรมในญี่ปุ่นที่เริ่มฟื้นตัวและเพิ่มกำลังการผลิต เช่น เคมีภัณฑ์ และ Ethylene, Liquid — crystal panels, Plasma panel แต่การฟื้นตัวจะปรับดีขึ้นต่อเนื่องและยาวนานเพียงใด ก็ยังต้องขึ้นกับหลายปัจจัยทั้งภายนอกและภายใน เช่น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจของยุโรป ว่าจะปรับดีขึ้นเพียงใดในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ การแข็งค่าของเงินเยน ปัจจัยบวกที่จะช่วยเร่งการฟื้นตัว คือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ และ cash handout ที่ทำให้มีการใช้จ่ายเงินในประเทศมากขึ้น ขณะที่ปัจจัยลบที่ยังมีอยู่ เช่น การแพร่ระบาดของไข้หวัด H1N1 ซึ่งทำให้หลายบริษัทหลีกเลี่ยงการทำธุรกิจในเขตที่มีการแพร่ระบาดโรค ชาวญี่ปุ่นงดการเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง ภาคธุรกิจเลื่อนการเดินทางและอุตสาหกรรมท่องเที่ยวซบเซา

การพึ่งพากันทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆในโลก ทำให้การค้าไม่ได้จำกัดเพียงการนำเข้าส่งออกสินค้าและบริการ แต่รวมถึงการนำเข้าและส่งออกปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่งด้วยเหตุนี้ ญี่ปุ่นจึงพยายามขยายแนวคิดการหันมาพึ่งพากันเองภายในภูมิภาคเอเชีย JTEPA ที่บังคับใช้แล้วตั้งแต่พฤศจิกายน 2550 และ AJCEP ที่กำลังจะมีผลบังคับในวันที่ 1 มิถุนายน ศกนี้ จึงเป็นโอกาสทางธุรกิจที่ผู้ส่งออกและนักลงทุนไทยควรเร่งใช้ประโยชน์ให้มากขึ้น ธุรกิจที่ซบเซาลงเพราะสภาพเศรษฐกิจ และการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัด ทำให้บริษัทตัดทอนค่าใช้จ่าย และงดการเดินทาง แต่ธุรกิจ การบริโภค และการค้ายังต้อง ดำเนินต่อไป ในสภาวะเช่นนี้ผู้ขายต้อง pro-active ควรเดินทางไปเยี่ยมเยียนและไปพบลูกค้าแทนการอยู่กับที่คอยให้ลูกค้าเดินทางมาหา ที่สำคัญต้องเน้น customer oriented ต้องศึกษาความต้องการของตลาดอย่างใกล้ชิดและพัฒนา นำเสนอสินค้าใหม่ๆ อยู่เสมอจึงจะประสบความสำเร็จ

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ