ตลาดรถยนต์เวียดนามจะก้าวสู่ motorization ในทศวรรษหน้า

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 2, 2009 16:04 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ตลาดรถยนต์ในเวียดนามยังคงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากแนวโน้มความต้องการของตลาดที่คาดว่าจะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นในระยะยาว ตามการเจริญเติบทางเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่เพิ่มสูงขึ้น

แม้ว่าสภาพเศรษฐกิจโดยทั่วไปของเวียดนามจะชะลอตัวมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านภาษีบ่อยครั้งและโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งที่ยังไม่ดีนัก แต่กระนั้นความต้องการรถยนต์ในเวียดนามกลับยังมั่นคงอยู่ ในช่วงไม่กี่ปีนี้ยอดจำหน่ายรถยนต์ภายในประเทศได้เพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ในปี 2550 สมาคมผู้ผลิตรถยนต์ของเวียดนาม (Vietnam Automobile Manufactures Association : VAMA) ซึ่งเป็นกลุ่มของผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ในประเทศเวียดนาม 17 ราย ได้จำหน่ายรถยนต์มากกว่า 80,390 คัน ซึ่งเกือบเป็นสองเท่าของยอดจำหน่ายในปี 2549 และสำหรับในปี 2551 ที่แม้ว่าจะมีสภาพเศรษฐกิจที่ไม่คล่องตัว ยอดจำหน่ายกลับเพิ่มขึ้นถึง 37% เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาโดยมียอดรวมแล้วกว่า 110,000 คัน ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 นี้ ยอดจำหน่ายรถยนต์มีจำนวนสูงกว่า 21,000 คัน ( รวมถึงรถอเนกประสงค์ (MVPs) และ Sport Utility Vehicle (SUVs) จำนวน 8,109 คัน ) ซึ่งสูงกว่าในช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่จำหน่ายได้ 6,965 คัน ทั้งนี้ เนื่องจากผู้บริโภคต่างรีบเร่งซื้อรถก่อนที่ภาษีการบริโภคพิเศษ ( special consumption tax ) จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2552 โดยผู้นำตลาดคือ โตโยต้าจำหน่ายได้ 5,300 คัน ตามด้วยผู้ผลิตในประเทศคือ Vinamotor และ Troung Hai จำหน่ายได้ 3,300 คัน และ 3,100 คัน ตามลำดับ

ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ของสมาคมผู้ผลิตรถยนต์ของเวียดนาม( VAMA) ปี 2551
   ชนิดของรถยนต์                  จำนวน ( คัน )      อัตราขยายตัว (%)
     รวมทั้งสิ้น                       110,198            37%
รถยนต์ที่ใช้ในเชิงพาณิชย์                 60,830             51%
รถยนต์อเนกประสงค์                    26,433             14%
รถยนต์ซีดาน                          22,923             35%
ที่มา :  Vietnam  Automobile Manufactures Association  (VAMA)

ตลาดรถยนต์กลายเป็นสิ่งที่เฟื่องฟูมากยิ่งขึ้นตั้งแต่มีการอนุญาตให้บริษัทรถยนต์ที่มีชาวต่างชาติเป็นผู้ลงทุนสามารถนำเข้ารถยนต์มาจำหน่ายภายในประเทศเวียดนามได้ ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงที่ทำไว้กับองค์การการค้าโลก (WTO) จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งเวียดนาม ( General Statistics Office of Vietnam) แสดงให้เห็นว่ารถยนต์และอะไหล่รถยนต์ที่นำเข้าในปี 2551 มีมูลค่าสูงถึง 2.44 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมากกว่าปี 2550 ถึง 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ และรถยนต์สำเร็จรูปจำนวน 50,400 คัน มีมูลค่ากว่า 1 พันล้านเหรียญ

สหรัฐ ซึ่งมากกว่าการนำเข้า ในปี 2550 ที่มีจำนวน 22,400 คัน เกือบสองเท่าตัว และจากข้อมูลของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของเวียดนาม ( MoIT) เวียดนามมีผู้ผลิตรถยนต์มากกว่า 40 รายและผู้ผลิตอะไหล่รถยนต์มากกว่า 100 ราย มีกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้นกว่า 200,000 หน่วยต่อปี

การค้ารถยนต์ในประเทศ

ผู้ค้ารถยนต์ในเวียดนาม ได้มีการนำเสนอรถยนต์นำเข้ายี่ห้อดังเข้ามาให้ตลาดท้องถิ่นได้รู้จัก อาทิ เช่น เบนท์เลย์ (Bentley), อินฟินิตี้ Infiniti) , แลมเบอร์กินี ( Lamborghini Gallardo), เฟอร์รารี่ (Ferrari), รอลซ์รอยซ์ (Rolls Royce), แฟนธอม (Phantom), แลนด์โรเวอร์ (Land Rover ), พอร์ช (Porsche) และ ออดี้ (Audi ) ส่วนบริษัท Euro Auto ที่ได้รับสิทธิ์เป็นดิลเลอร์รถยนต์ BMW ในเวียดนาม นั้นได้มีการนำเสนอรถ BMW 320i ซึ่งเป็น BMW รุ่นใหม่นำเข้ามาจากประเทศเยอรมันนีที่มีจุดเด่นตรงที่ประหยัดน้ำมัน นอกจากนี้ Euro Auto ยังได้เริ่มมีบริการแลกเปลี่ยนรถ BMW มือสองเพื่อเป็นการให้บริการเป็นพิเศษสำหรับผู้บริโภคที่ต้องการขายพอๆ กับที่ต้องการซื้อรถโดยบริษัทมีสิ่งอำนวยความสะดวกในการตรวจสอบสภาพรถ BMW มือสองและออกใบรับประกันการตรวจสอบคุณภาพ เพื่อทำให้ผู้ที่จะมาซื้อสามารถมั่นใจกับสภาพของรถมือสองได้

สำหรับบริษัทผลิตรถยนต์ต่างชาติในเวียดนามได้สร้างข้อได้เปรียบด้วยการปล่อยรถรุ่นใหม่ๆที่มีความหลากหลายโดยเน้นไปที่ SUVs และ MPVs เพื่อให้สนองต่อความต้องการของผู้บริโภค อาทิเช่น

  • Mercedes Benz ในเวียดนามได้นำเสนอรถรุ่น GLK ซึ่งเป็นรถ SUV ที่เหมาะสำหรับครอบครัว และเหมาะกับการเดินทางทั้งในเมืองและในชนบท
  • Toyota Motor Vietnam ประสบความสำเร็จกับรถ Fortuner ซึ่งเป็นรถ SUV 5 ที่นั่งที่ได้รับการสั่งจองเข้ามามากกว่า 1,000 คันภายในระยะเวลาเพียง 2 เดือนหลังจากการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเดือนมกราคม 2552
  • Honda Vietnam ได้เปิดตัวรถ CR-V ซึ่งเป็นรถ SUV คันแรกที่บริษัทประกอบเองตั้งแต่เปิดดำเนินการในเวียดนาม
  • Ford Vietnam ได้เข้ามาตีตลาดด้วย Ford Escape ที่เป็นรถ SUV รุ่นใหม่ที่มีลักษณะที่
โดดเด่นมากมาย
  • Vinastar ได้เปิดตัวรถ Mitsubishi Zinger 7 ที่นั่งที่มาพร้อมกับสมรรถนะที่ได้รับการปรับปรุงขึ้นมาจากรุ่นเดิม

โดยที่ special consumption tax สำหรับรถยนต์ที่มีขนาด 6 - 9 ที่นั่งได้มีการปรับขึ้นเป็น 45-60% ขึ้นอยู่กับขนาดของเครื่องยนต์โดยเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ศกนี้ ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ท้องถิ่นหันไปให้ความสนใจกับรถยนต์ขนาด 5 ที่นั่งหรือน้อยกว่าที่มีขนาดเครื่องยนต์ไม่เกิน 2000 cc เนื่องจากมีการลดภาษีของรถยนต์ประเภทนี้ลงส่วนรถยนต์ขนาดไม่เกิน 5 ที่นั่ง มีขนาดเครื่องยนต์มากกว่า 2000 cc - 3000 cc ซึ่งเป็นโมเดลที่นิยมในเวียดนาม ( Toyota Camry และ Honda Civic ) อัตราภาษีไม่เปลี่ยนแปลง

special consumption tax สำหรับการจำหน่ายรถยนต์ในเวียดนาม ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2552
 ชนิดของรถยนต์              ขนาดเครื่องยนต์                อัตราภาษีเดิม (%)       อัตราภาษีใหม่ (%)
ไม่เกิน  5  ที่นั่ง          ไม่เกิน  2000 cc                        50                   45
                       มากกว่า 2000 cc - 3000 cc              50                   50
                       มากกว่า 3000 cc                        50                   60
ขนาด  6 - 9 ที่นั่ง        ไม่เกิน  2000 cc                        30                   45
                       มากกว่า 2000 cc - 3000 cc              30                   50
                       มากกว่า 3000 cc                        30                   60

วิสัยทัศน์ระยะยาวในการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์

ตามพันธกรณี กับสมาชิกอาเซียนภายใต้ AFTA เวียดนามจะต้องเปิดตลาดรถยนต์อย่างสมบูรณ์กับประเทศ ASEAN ภายในปี 2561 โดยอัตราภาษีนำเข้าจะลดลงเหลือ 0% เพื่อให้เป็นไปตาม Common Effective Preferential Tariff (CEPT) และเมื่อถึงเวลานั้นอุตสาหกรรมรถยนต์ของเวียดนามจะต้องเผชิญหน้ากับการแข่งขันที่ดุเดือดของรถยนต์นำเข้าจากประเทศใน ASEAN ที่มีอุตสาหกรรมรถยนต์ที่แข็งแกร่งกว่า ได้แก่ ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ดังนั้น การเลือกสายการผลิตรถยนต์เพื่อที่จะนำมาพัฒนาจึงเป็นการตัดสินใจที่มีความสำคัญมากถึงการอยู่รอดในอุตสาหกรรมนี้

ขณะที่รัฐบาลมีความเห็นว่าผู้ผลิตรถยนต์ท้องถิ่นควรมุ่งเน้นที่การผลิตรถบรรทุก รถโดยสารและยานพาหนะเฉพาะทาง (specialized vehicle) โดยภายใต้กลยุทธ์ของรัฐบาลสำหรับการพัฒนาของอุตสาหกรรมยานยนต์ภายในปี 2553 และวิสัยทัศน์ถึงปี 2563 มีเป้าหมายหลักคือการพัฒนายานพาหนะเชิงพาณิชย์ อาทิ เช่น รถบรรทุก รถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถเฉพาะทาง ( Specialized vehicles )โดยคาดหวังให้มีการใช้วัตถุดิบในประเทศมากขึ้นเป็น 50 — 60% และมีส่วนแบ่งตลาดที่เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 50% ภายในปี 2553

ขณะเดียวกัน ผู้ที่อยู่ในวงการอุตสาหกรรมอย่าง Toyota Motor Vietnam (TMV) มีความเห็นแย้งว่าความต้องการรถบรรทุกและรถโดยสารในเวียดนามที่เพิ่มขึ้นนั้นส่วนใหญ่มีวัตถุประสงค์เพื่อการใช้ในธุรกิจ (business purpose) แต่โดยปกติแล้วสายการผลิตยานพาหนะประเภทนี้ไม่ได้มีเพื่อสนองความต้องการดังกล่าว ดังนั้นความต้องการยานพาหนะกลุ่มนี้ก็จะลดน้อยลงไปในเวลาไม่นานและไม่มีลู่ทางที่จะขยับขยายเติบโตต่อไปได้มากนักควรหันมาทำการพัฒนาสายการผลิตรถ MPV มากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถ MPVs ขนาด

6 — 9 ที่นั่ง เพราะมีโอกาสที่จะนำความเติบโตมาสู่อุตสาหกรรมรถยนต์ เนื่องจากช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับรถยนต์ที่ประกอบภายในประเทศที่มีต่อรถนำเข้าและยังช่วยลดการขาดดุลการค้าในระยะยาวได้อีกด้วย ทาง TMV เองนั้นค่อนข้างจะประสบความสำเร็จกับรถรุ่น Innova ซึ่งเป็นรถ MPV ขนาด 7 ที่นั่งที่มี local content สูงและยังมียอดจำหน่ายที่น่าพอใจนับตั้งแต่ทำการเปิดตัวเมื่อสองปีก่อน

เช่นเดียวกับผู้ผลิตรถยนต์ท้องถิ่นอย่างกลุ่ม Truong Hai (Thaco) ที่กำลังพุ่งเป้าไปที่การผลิตรถยนต์ขนาด 6 ถึง 9 ที่นั่งที่มีเครื่องยนต์ขนาดน้อยกว่า 2000 cc และรถซีดานที่มีขนาดเครื่องยนต์น้อยกว่า 1500 cc เนื่องจากบริษัทมองเห็นว่ายานพาหนะเหล่านี้เหมาะสำหรับสภาพของประเทศเวียดนามเพราะผู้ใช้รถยนต์กลุ่มหลักคือกลุ่มครอบครัว และหน่วยงานทั้งขนาดกลาง / ขนาดเล็ก และระบบขนส่งมวลชนที่ยังไม่เพียงพอกับความต้องการเดินทาง

การเข้าสู่ยุคของรถยนต์ ( Motorization )

การพัฒนาของตลาดยานยนต์นั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยที่สำคัญบางประการ อาทิเช่น นโยบายรัฐบาล อุปสงค์ของรถยนต์ อุตสาหกรรมที่รองรับ และโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง อย่างไรก็ตามปริมาณความต้องการรถยนต์ที่กำลังเพิ่มขึ้นนั้นถูกมองว่าเป็นแนวโน้มที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ของประเทศที่กำลังพัฒนา

ผู้คร่ำหวอดในวงการอุตสาหกรรมนี้ได้คาดการณ์ว่า ความต้องการบริโภครถยนต์โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถยนต์ส่วนบุคคลที่มีขนาดไม่เกิน 10 ที่นั่งจะเพิ่มขึ้นอย่างมากหลังจากปี 2563 เมื่อเศรษฐกิจของเวียดนามเจริญเติบโตขึ้นโดยมีรายได้ต่อหัว (per capita income) เพิ่มขึ้นและโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการขนส่งมีการปรับปรุงแล้ว

ปัจจุบัน รายได้ต่อหัวของประชากรเวียดนามมีมากกว่า 1,000 เหรียญสหรัฐต่อคน และมีสัดส่วนรถยนต์ 18 คันต่อประชากร 1,000 คน ด้วยสัดส่วนดังกล่าวขนาดนี้ ทำให้เวียดนามอยู่ในระยะเริ่มต้นของการปรับเปลี่ยนเป็นยุคการใช้รถยนต์ (Motorization) กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของเวียดนาม (MoIT ) คาดว่าช่วงของ Motorization ซึ่งจำแนกโดยสัดส่วนของรถยนต์ที่มากกว่า 50 คันต่อประชากร 1,000 คนนั้น จะเกิดขึ้นในประเทศเวียดนามตั้งแต่ปี 2563 ไปจนถึงปี 2568 โดยในปี 2563 ความต้องการรถยนต์ใหม่มีจำนวนประมาณ 246,000 — 347,000 คันและจะเพิ่มขึ้นเป็น 592,000 — 836,000 คันในปี 2568 ในจำนวนนี้เป็นรถบรรทุกและรถโดยสารเพียง 27% เท่านั้นที่เหลือจะเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการช่วยให้อุตสาหกรรมยานยนต์ได้พัฒนาและทำกำไรจากโอกาสอันดีครั้งใหญ่นี้ คนในวงการอุตสาหกรรมนี้กล่าวว่าสิ่งจำเป็นจะต้องทำคือ การมีนโยบายด้านภาษีที่เหมาะสม เพราะกฎหมายการเก็บภาษีที่ไม่มีความเหมาะสมจะไม่เป็นการสนับสนุนต่อนักลงทุนและอาจทำให้กิจการประกอบรถยนต์ภายในประเทศไม่สามารถอยู่รอดได้ จนต้องปิดกิจการและหันไปเป็นผู้จำหน่ายรถยนต์นำเข้าแทนเพราะผู้บริโภคยังมีความต้องการรถยนต์อยู่ ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้จะทำให้ภาวะการขาดดุลการค้ายิ่งเลวร้ายลง MoITคาดการณ์ว่าเวียดนามอาจจะต้องจ่ายเงินเป็นจำนวน 12 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปีในการนำเข้ารถยนต์ในช่วงMotorization ถ้าประเทศประสบความล้มเหลวในการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ของตนเอง

นอกจากนโยบายการเก็บภาษีแล้ว ยังได้มีการเรียกร้องให้รัฐบาลคำนึงถึงการลงทุนเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน เพราะเป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ของเวียดนามโดยขอให้รัฐบาลพิจารณาเพิ่มการสร้างเส้นทางที่ใช้สัญจรเพื่อรองรับการเติบโตของการใช้รถยนต์ ( Auto Boom ) ที่จะเกิดขึ้นในทศวรรษหน้านี้

สคต.นครโฮจิมินห์

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ