สันติภาพศรีลังกา-โอกาสใหม่การส่งออกไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 9, 2009 11:42 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ทันทีที่ประธานาธิบดีมหินธรา ราชาปักษาแห่งศรีลังกาได้ประกาศชัยชนะอย่างเด็ดขาดต่อกบฏพยัฆทมิฬอีแลมเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2552 ที่ผ่านมา รัฐบาลศรีลังกาได้ประกาสฟื้นฟูประเทศครั้งใหญ่ เปิดโอกาสใหม่ให้กับการส่งออกไทย โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างและการฟื้นฟูประเทศจะขยายตัวสุดขีด

นายไพศาล มะระพฤกษ์วรรณ รองกงสุลใหญ่ฝ่ายการพาณิชย์ ณ เมืองเจนไนเปิดเผยว่าตลาดศรีลังกามีประชากร 20 ล้านคนเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ใกล้เคียงกับออสเตรเลีย ขณะที่ประชากรก็มีกำลังซื้อสูง โดยมีรายได้เฉลี่ยวต่อหัวคนละ 1,600 เหรียญสหรัฐต่อปี (อินเดีย 960 เหรียญสหรัฐต่อปี) ที่ผ่านมาในปี 2552 งบประมาณของรัฐบาลหมดไปกับการสงครามมากถึง 1.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งต่อไปนี้ คาดว่ารัฐบาลจะผันเงินกว่าครึ่งของจำนวนนี้ไปใช้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศแทน

ปัจจุบันรัฐบาลมีแผนที่จะปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานขนานใหญ่ โดยเฉพาะถนน ไฟฟ้า ประปา และโทรศัพท์ในพื้นที่ทางภาคเหนือที่เคยเป็นเขตยึดครองของฝ่ายกบถมาเป็นเวลานาน และได้รับความเสียหายอย่างหนักระหว่างสงคราม

นาย นาวาร์ด คาบรัล ผู้ว่าการธนาคารชาติศรีลังกาได้แถลงว่า นับจากนี้ไป จะมีเงินมหาศาลไหลเข้าประเทศศรีลังกาเพื่อการฟื้นฟูประเทศจากแหล่งต่างๆ เช่น

1. ชาวทมิฬโพ้นทะเล- ชาวทมิฬโพ้นทะเลกว่า 74 ล้านคนทั่วโลกที่กระจายอยู่ในประเทศต่างๆ เช่น อินเดีย มาเลเซีย พม่า แอฟริกาใต้ สิงคโปร์ อังกฤษ มอริเชียส เรอุยอง อิตาลี สหรัฐ (ซิลิคอนแวลเลย์) ฝรั่งเศส เยอรมนี ออสเตรเลีย คานาดา สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน และเดนมาร์ค เริ่มมีความตื่นตัวที่จะส่งเงินเข้าไปศรีลังกาเพื่อช่วยเหลือพี่น้องชาวทมิฬ รวมทั้งสนใจที่จะเข้าไปลงทุนด้วย

2. IMF — รัฐบาลศรีลังกาได้กู้เงินเพื่อการพัฒนาจำนวน 1.9 พันล้านเหรียญสหรัฐจาก IMF

3. ลิเบีย — รัฐบาลศรีลังกากำลังเจรจาขอกู้เงินจำนวน 500 ล้านเหรียญสหรัฐจากลิเบีย

4. อินเดีย- รัฐบาลอินเดียประกาศสนับสนุนเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าเพื่อการฟื้นฟูประเทศจำนวน 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ

นักลงทุนต่างชาติเริ่มแสดงความสนใจเข้าไปลงทุนในหลายสาขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาขาที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โรงไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ก่อสร้างถนน (โดยเฉพาะเส้นทางหมายเลข A9 ทางภาคเหนือของประเทศเชื่อมเส้นทางการค้ากับอินเดีย) ที่พักอาศัย สินค้าไทยที่จะได้ประโยชน์โดยตรงจะเป็น ปูนซีเมนต์ วัสดุก่อสร้าง รถยนต์โดยสาร รถบรรทุกกระบะ เฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่งบ้าน เครื่องปั่นไฟ สินค้าอาหาร ผ้าผืน ปลาแปรรูป อาหารทะเลกระป๋อง เส้นใยประดิษฐ์ สินค้าเกษตรแปรรูป เม็ดพลาสติก/ผลิตภัณฑ์ เหล็กและเหล็กกล้า น้ำตาลทราย อัญมณีและเครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์ยาง และ เครื่องจักรกลทางการเกษตร ในอีกด้านหนึ่ง การค้าศรีลังกา-อินเดียจะขยายตัวเป็นอย่างมาก เนื่องจากสองประเทศมี FTA ระหว่างกัน จึงเป็นโอกาสดีที่จะเข้าไปลงทุนด้านการเดินทางและการขนส่งในศรีลังกา

นายไพศาลยังได้กล่าวในตอนท้ายอีกว่า ธุรกิจการท่องเที่ยวก็เป็นอีกสาขาหนึ่งที่รัฐบาลศรีลังกาให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เนื่องจากศรีลังกามีแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่อุดมสมบูรณ์ไม่น้อยหน้าประเทศมัลดีฟ แต่ยังมีความเหนือกว่าในด้านการมีแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การท่องป่า และการแสวงบุญ ซึ่งจะเป็นโอกาสที่เพิ่มขึ้นสำหรับธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องของไทยที่จะเข้าไปลงทุน ไม่ว่าจะเป็น โรงแรม สปา ร้านอาหาร และการจัดการด้านการท่องเที่ยว เป็นต้น สำหรับผู้สนใจตลาดศรีลังกาสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ thaitcchennai@eth.net

สำนักงานพาณิชย์ฯ ณ เมืองเจนไน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ