การค้าขายกับห้าง Wal-Mart และ ห้าง Target

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 5, 2009 11:53 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ห้าง Wal-Mart และ ห้าง Target เป็นห้างยักษ์ใหญ่ของวงการค้าปลีกของสหรัฐฯ และเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก ห้าง Wal-Mart เป็นที่รู้จักกันในด้านจำหน่ายสินค้าราคาถูก (Low-Price) มีกลยุทธ์ในการจำหน่ายโดยเน้นการช่วยเหลือและสนับสนุนผู้มีรายได้ต่ำ ในขณะที่ห้าง Target จะดำเนินกลยุทธ์ในทางตรงกันข้าม คือ จะเน้นด้านภาพพจน์ของสินค้า (Trendy Merchandise) มีสไตล์ดีไซนื ทันสมัยและมีราคาย่อมเยาว์ จะเห็นว่าห้างทั้งสองมีลูกค้ากลุ่มเดียวกัน แต่ใช้กลยุทธ์ดึงดูดลูกค้าแตกต่างกัน

ภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐ ส่งผลกระทบต่อการดำเนินการค้าของห้างทั้งสองเป็นอย่างยิ่ง ในขณะที่ห้างต่างๆ ทั่วสหรัฐฯ ประสบปัญหายอดจำหน่ายลดลงในอัตราสูง ห้าง Wal-Mart เป็นห้างแห่งเดียวที่มียอดจำหน่ายขยายตัวเป็นที่น่าพอใจ ในขณะที่ห้าง Target ประสบปัญหายอดขายลดลงต่อเนื่องในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2552 ซึ่งห้างต้องปรับกลยุทธ์การขาย โดยหันมาดำเนินกลยุทธ์โฆษณาว่าขายสินค้าราคาถูก เช่นเดียวกับห้าง Wal-Mart และเพิ่มปริมาณการจำหน่ายสินค้าอาหาร

มารู้จักห้าง Wal-Mart

ห้าง Wal-Mart เป็นผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกทีมียอดจำหน่ายมากที่สุดในโลก มีมูลค่า 405.60 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (14,196 พันล้านบาท) ในปี 2551 และมีร้านสาขาจำนวน 7,870 แห่ง ทั่วโลกและมีพนักงานกว่า 2.1 ล้านคน

ห้าง Wal-Mart แยกร้านค้าออกเป็น 4 ประเภท คือ Wal-Mart Stores จำนวน 890 สาขา ห้าง Wal-Mart Super Center จำนวน 2,970 สาขา ร้าน Wal-Mart Neighborhood Markter จำนวน 430 สาขา ห้าง Sam Clum จำนวน 600 สาขา และห้าง Wal-Mart International จำนวน 2,980 สาขา ใน 14 ประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินโดนีเซีย อินเดีย

มารู้จักห้าง Target

ห้าง Target เป็นผู้นำเข้าตลาดค้าปลีกอันดับที่ 5 ของสหรัฐ มียอดจำหน่าย 64.95 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (2,273 พันล้านบาท) ในปี 2551 มีสาขาทั่วประเทศจำนวน 1,699 แห่งในสหรัฐฯ ไม่มีสาขาในต่างประเทศ และมีพนักงานจำนวน 366,000 คน และมีร้านขายสินค้า 3 แบบ คือ ห้าง Target Store จำนวน 1,004 สาขา ห้าง Target Greatland มีจำนวน 450 สาขา และร้าน Super Target 245 สาขา

ทั้ง 2 ห้างขายสินค้าอะไร

จากการประมวลตัวเลขการขายจากรายงานประจำปีของห้าง Wal-Mart และ ห้าง Target พบว่า ห้างทั้งสองมีสัดส่วนการขายสินค้าแตกต่างกันมาก ห้าง Wal-Mart ขายสินค้ากลุ่มอาหารสูงถึงร้อยละ 49 ของสินค้าทั้งหมด สินค้า Non-Food มีเพียงร้อยละ 51 ในขณะที่ห้าง Target มีการกระจายสัดส่วนการขายสินค้า มีสินค้าอาหารเพียงร้อยละ 25 ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 75 เป็นสินค้าในกลุ่ม Non-Food เช่น เสื้อผ้าสำเร็จรูป ของใช้และตกแต่งบ้าน อิเลคทรอนิคส์ และสินค้าเพื่อสุขภาพ

การนำเข้าสินค้าจากประเทศไทย

สินค้าไทยที่จำหน่ายตามห้าง Wal-Mart และห้าง Target ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ซื้อผ่านผู้นำเข้าของสหรัฐฯ เช่น อาหารทะเลแช่แข็ง ปลาทูน่ากระป๋อง สับปะรดกระป๋อง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าอีกส่วนหนึ่ง เป็นสินค้าที่ห้าง Wal-Mart และห้าง Target นำเข้าเอง โดยตรงจากประเทศไทย ในปี 2551 ห้างทั้งสองนำเข้าจากประเทศไทยรวมเป็นมูลค่า 100.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ห้าง Wal-Mart นำเข้าเป็นมูลค่า 95 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีสินค้านำเขาสำคัญได้แก่ โทรทัศน์จอแบน (Flat Screen TV) เฟอร์นิเจอร์ และเสื้อผ้าสำเร็จรูป และสินค้าอื่นๆ ได้แก่ ของเล่น รองเท้า ส่วนห้าง Target นำเข้าเป็นมูลค่า 5.5 ล้านเหรียญสหรัฐ มีสินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เฟอร์นิเจอร์ และของใช้ตกแต่งบ้าน สินค้าอื่นๆ ได้แก่ ของเล่น และผลิตภัณฑ์ประทินผิว

การติดต่อขายสินค้าให้กับห้างทำอย่างไร

การขายให้ผู้นำเข้าสหรัฐฯ ที่ขายสินค้าให้ห้าง Wal-Mart และห้าง Target เป็นวิธีที่ผู้ผลิต/ส่งออกไทยดำเนินการอยู่แล้ว ปัจจุบัน ทั้งห้าง Wal-Mart และห้าง Target มีสำนักงานจัดซื้อ (Buying Office) ในประเทศไทย จึงเป็นอีกทางหนึ่งที่จะนำเสนอขายสินค้าไทยโดยตรง

1. การติดต่อกับห้าง Wal-Mart: ปัจจุบัน สำนักงานใหญ่ของห้าง Wal-Mart ทีเมือง Bentonville ในรัฐ Arkansas สหรัฐฯ จะจัดซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการ/ผู้จัดจำหน่ายในสหรัฐฯ เท่านั้น (Domestin Procurement) การจัดซื้อ/นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ห้างฯกำหนดให้ผู้ผลิต/ส่งออกในต่างประเทศติดต่อไปยังสำนักงานใหญ่จัดซื้อสินค้าจากทั่วโลก (Global Procurement Office) ตั้งอยู่ที่ประเทศจีนเท่านั้น

Wal-Mart (Shenzhen)Co.,Ltd.

2/F Kerry Center, 2008 Renimin Nan Road

Shenzhen, Guangdong Province,

China 518020

Tel (86-755) 82218490

Fax. (86-755) 25607079, 2560709

Food: foodinfo@wal-mart.com

Non-Food: nonfoodinfo@wal-mart.com

Apparel: apparelinfo@wal-mart.com

Fresh: freshinfo@wal-mart.com

สำหรับผู้ผลิต/ส่งออกไทย อาจจะเลือกการติดต่อกับสำนักงานจัดซื้อของห้าง Wal-Mart ในประเทศไทย

Wal-Mart Global Procurement-Thailand

18/4 Government Housing Bank Bldg.

Rama 9 Rd., Huaykwang

Bangkok 10310

Tel. (02) 643-1311

Attn: Khan Narisa Padmas

2. การติดต่อกับห้าง Target ซื้อกิจการบริษัท Associate Merchandising Corp (AMC) ซึ่งห้างฯ ใช้บริการจัดซื้อมานาน Target Sourcing (TSS/AMC) ทำหน้าที่เพื่อจัดซื้อสินค้าให้ห้าง Target โดยเฉพาะ ห้าง Target มีสำนักงาน TSS/AMC จำนวน 58 แห่งทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทย ผู้ผลิต/ส่งออกไทยติดต่อกับสำนักงาน TSS/AMC ในประเทศไทยได้ ดังนี้

Target Sourcing Service (TSS/AMC)

889 Thai CC Tower, 18th Floor

South Sathorn Rd.

Bangkok 10120

Tel. 02-210-0674-8

Fax. 02-210-0679

Attn: Khun Siriwan Sarpetch

ข้อเสนอแนะ

1. โครงสร้างการขายสินค้าของห้าง Wal-Mart และ ห้าง Target แสดงให้เห็นถึงรูปแบบความต้องการซื้อและนำเข้าสินค้าและเป็นช่องทางต่อการเพิ่มการส่งออกสินค้าไทย ปัจจุบันห้าง Wal-Mart จำหน่ายสินค้าอาหารในสัดส่วนสูง ในขณะเดียวกัน ห้าง Target เปลี่ยนกลยุทธ์สินค้า โดยหันมาเพิ่มการจำหน่ายสินค้าอาหารมากขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มยอดขายในภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ จึงเป็นช่องทางและโอกาสที่ผู้ผลิต/ส่งออกไทยควรพิจารณานำเสนอสินค้าอาหารชนิดต่างๆ ของไทยให้ห้าง Wal-Mart และ ห้าง Target ได้นำไปจำหน่ายเพิ่มขึ้น นอกเหนือไปจาก สับปะรดกระป๋อง กุ้งแช่แข็ง และปลาทูน่ากระป๋อง ซึ่งห้างฯ ซื้อจากผู้นำเข้า/ตัวแทนในสหรัฐฯ ไปจำหน่ายสินค้าที่มีลู่ทางนำเสนอต่อห้างทั้งสอง ได้แก่ ข้าวโพดกระป๋อง ขนมขบเคี้ยว เครื่องปรุงอาหาร และอาหารสำเร็จรูป

2. กรมฯ เชิญผู้บริหารสำนักงานจัดซื้อของห้าง Wal-Mart และ ห้าง Target ในประเทศไทย มาบรรยายและให้คำแนะนำวิธีการทำธุรกิจกับห้าง Wal-Mart และ ห้าง Target (Doing Business with Wal-Mart & Target) ให้ผู้ผลิต/ส่งออกไทยได้มีความเข้าใจในการทำการค้าและทรายแนวโน้มความต้องการสินค้าของห้างยักษ์ใหญ่ทั้งสองของสหรัฐฯ ได้อย่างถูกต้อง

3. ห้าง Wal-Mart และ ห้าง Target ให้ความสำคัญมากในด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (Social & Environment Responsibility) ซึ่งส่งผลกระทบต่อนโยบายการซื้อและนำเข้าสินค้า ดังนั้น ผู้ผลิต/ส่งออกไทยที่ต้องการค้าขายกับห้างทั้งสองจะต้องจัดระบบการผลิตที่แสดงให้เห็นว่ามีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่นในเรื่อง Sustainability, Fair Trade, Waste Reduction เป็นต้น

4. การจัดตั้งสำนักงานสาขาของผู้ผลิต/ส่งออกไทยในสหรัฐฯ จะเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยขยายตลาดสินค้าไทยในสหรัฐฯ เพราะว่าผู้ซื้อรายใหญ่ๆ จำนวนมาก เช่น ห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาร์เก็ต ไม่นำเข้าโดยตรง แต่ใช้ตัวแทนในการซื้อและนำเข้าสินค้า ดังนั้น หากผู้ผลิต/ส่งออกไทยพิจารณาจัดตั้งสำนักงานขายในสหรัฐฯ เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวกลาง(เป็นผู้นำเข้า/จัดจำหน่ายเอง) ให้บริการลูกค้ากลุ่มนี้ อีกทั้งเป็นโอกาสให้ผู้ผลิต/ส่งออกไทยสามารถนำสินค้าไปเสนอขายให้ห้าง Wal-Mart หรือ Target ในสหรัฐฯ ในสหรัฐฯ ได้โดยตรง

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ