สปา และผลิตภัณฑ์สปาไทยในสายตาผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่น

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 22, 2009 15:31 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ศูนย์อาเซียน-ญี่ปุ่น ได้จัดสัมมนาโดยเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านสปา ชาวญี่ปุ่น 2 คน ได้แก่ Mrs. Wakaba Nishida จากบริษัท Oriental Spa Use และ Mrs. Fumika Kawakubo จากบริษัท BeMoore ซึ่งได้เดินทางมาให้คำปรึกษา และคัดเลือกผลิตภัณฑ์สปาสำหรับไปจัดแสดงภายใต้โครงการ ASEAN Health and Wellness 2009 ของศูนย์ ซึ่งจะมีขึ้นเป็นเวลา 1 เดือน ระหว่างวันที่ 22มิถุนายน ถึง 22 กรกฎาคม 2552 เป็นการแบ่งปันความรู้ด้านการจัดการ และ ด้านผลิตภัณฑ์สปา รวมทั้งให้ข้อมูลกับผู้ที่เกี่ยวข้องของญี่ปุ่น จาการไปเยี่ยมชมและคัดเลือกสินค้าจาก 5 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ไทย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และ อินโดนีเซีย

ในส่วนของไทยเอง ได้มีการนำเสนอข้อมูลของ 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท Earth Factory, Spaovation และ Thai Spa and Natural มีผู้เข้าร่วมรับฟังการนำเสนอมากกว่า 55 คน จากหลายสาขาอาชีพ เช่น นักธุรกิจ นักวิจัยและ นักศึกษา ซึ่งสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ขอสรุปใจความสำคัญที่ผู้เชี่ยวชาญนำเสนอ สำหรับเป็นข้อมูลแก่ผู้ประกอบการไทยเพื่อให้รับรู้จุดแข็ง จุดอ่อน และมุมมองของตลาด ดังนี้

จุดเด่นของการจัดการ และ ผลิตภัณฑ์สปาในประเทศไทย คือ
  • การใช้สมุนไพรที่หลากหลายในการป้องกันและทุเลาอาการป่วยด้วยสปา
  • การควบคุมมาตรฐาน และ การอบรมพนักงานที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะ การได้รับการรับรอง ISO 9001-2000 การได้รับการรับรอง OEM (Original Equipment Manufacturing) การมีเครื่องมือ เทคโนโลยีที่สามารถรองรับการผลิตได้สูง การทำธุรกิจในโรงแรมที่มีมาตรฐาน ซึ่งจะสร้างความมั่นใจ และ ความรู้สึกปลอดภัยให้กับลูกค้า
  • ประสบการณ์การทำธุรกิจกับต่างประเทศ รวมทั้งในญี่ปุ่น ที่มีมาก
  • การนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีสรรพคุณที่น่าสนใจ เช่น ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยสร้างเสน่ห์ต่อเพศตรงข้าม แต่ประเด็นนี้อาจเป็นดาบสองคมได้ในระยะยาว
ประเด็นของการจัดการ และ ผลิตภัณฑ์สปาจากประเทศไทยในอนาคตกับตลาดประเทศญี่ปุ่น
  • กฎเกณฑ์การนำเข้าผลิตภัณฑ์สมุนไพรมายังญี่ปุ่น
  • การสร้างตลาด การสร้างแบรนด์ และ การนำเสนอข้อเด่นที่แตกต่าง ของการจัดการและผลิตภัณฑ์ สปาจากประเทศไทย
  • ประเด็นการนำเสนอการรับรองหรือ การควบคุมมาตรฐาน ที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญ เช่น มาตรฐานผลิตภัณฑ์ออแกนิกส์ ที่มักมีการจัดการหลายมาตรฐาน หรือ การรับรองความสามารถบุคลากร
ประเด็นอื่นๆที่น่าสนใจจากประสบการณ์ของต่างประเทศ
  • การสร้างศูนย์การเรียนรู้ หรือการอบรมระดับภูมิภาค ที่มีการรับรองในระดับสากล ดังที่ ผู้ประกอบการจาก กัมพูชา และเวียดนามบางคนได้เข้ามาเรียนรู้การนวดจากในประเทศไทยก่อนไปเริ่มกิจการที่ประเทศของตน หรือ การที่ประเทศเพื่อนบ้านส่วนใหญ่ยังไม่มีระบบการรับรองมาตรฐานที่เท่าเทียมประเทศไทย
  • การสร้างภาพของการมีส่วนร่วมต่อสังคม (Corporate Social Responsibility : CSR) ในธุรกิจสปา เช่น การลงทุนปลูกตะไคร้ในเกาะที่แร้นแค้นใน ฟิลิปปินส์ ซึ่งนอกจากจะเป็นการช่วยเหลือสังคมแล้วยังเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีต่อธุรกิจ และ ผลิตภัณฑ์
  • การนำประวัติศาตร์และวัฒนธรรมมาเข้ามาร่วมกับการทำธุรกิจสปา เช่น การใช้ไม้หอมที่เป็นวัสดุสร้างพระพุทธรูปตามวัฒนธรรมโบราณในเวียดนามมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์สปา หรือ การทำ สปาแบบเฉพาะแนวท้องถิ่น เช่น สปาสไตล์บาหลีจะแตกต่างกับสปาในเกาะชวา หรือ ในแถบอื่นๆในประเทศ อินโดนีเซีย
  • การทำธุรกิจกับประเทศในแถบยุโรป หรือในโรงแรมชั้นนำเครือต่างประเทศ จะสามารถยกระดับภาพลักษณ์ของสินค้าและผลิตภัณฑ์ได้อย่างอัตโนมัติ เพิ่มความเชื่อถือต่อผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นได้ดี
ข้อสังเกตุ และความเห็น

ตลาดสปา บริการเพื่อผ่อนคลายและเสริมความงาม ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งที่เริ่มมีบทบาทสูงขึ้นในธุรกิจท่องเที่ยวของญี่ปุ่น และเชื่อกันว่าจะกลายเป็นธุรกิจที่ต้องอยู่คู่กันในทุกๆ ที่ในระยะต่อจากนี้ไป เมื่อตลาดขยายตัวกว้างขึ้นมูลค่าการค้าสูงขึ้น ก็ทำให้เป็นที่สนใจของประเทศต่างๆ ที่จะเข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่ง จุดแข็งของไทย คือการมีสมุนไพรธรรมชาติจำนวนมากที่เป็นตัวยา กลิ่น (aroma) มีเอกลักษณ์แบบเอเชีย และที่สำคัญคือ hospitality ที่บรรจุอยู่ในบริการ ซึ่งชาวญี่ปุ่นต่างรับรู้ว่ามีความโดดเด่น และเป็นจุดขายสำคัญ

ญี่ปุ่นมีแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นหุบเขา ธรรมชาติและน้ำพุร้อนกระจายอยู่ทั่วประเทศ ที่พักแบบสไตล์ญี่ปุ่นทั้งที่เป็น resort และ ryukan เกือบทั้งหมดเน้นรูปแบบการให้บริการแช่น้ำร้อนจากธรรมชาติ (onzen) การเสริ์ฟอาหารพิเศษของท้องถิ่น และการได้อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติที่เงียบสงบ เมื่อชาวญี่ปุ่นเดินทางออกไปท่องเที่ยวในต่างประเทศ ได้พบเห็นบริการใหม่ๆ ที่ให้บรรยากกาศผ่อนคลายจึงประทับใจ ทำให้เริ่มมีสถานบริการสปา เสริมความงามและนวดเปิดให้บริการในญี่ปุ่นกระจายอยู่ตามที่ต่างๆ การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้กลายเป็นความคุ้นเคยยามพักผ่อน หรือเคลียดจากงานหนัก ชาวญี่ปุ่นจึงมองหาบริการที่ไม่ใช่เพียงเพื่อให้หายเหนื่อย แต่ต้องการลด ความเหนื่อยล้าของประสาทสัมผัสทั้งห้า( five elements) ด้วยเหตุนี้ สถานบริการโรงแรม resort และ Ryukan ในแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ จึงเห็นถึงความจำเป็นต้องปรับตัว ด้วยการนำบริการใหม่ๆ เข้าไปสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สถานบริการของตน แต่ด้วยความรู้และข้อมูลเรื่องสปายังมีอยู่อย่างจำกัด และ อาจจะเพราะเกรงกลัวว่าสินค้าและบริการจากภายนอกจะเข้าไปแย่งชิงตลาดและทำลายธุรกิจของท้องถิ่น ความรู้สึกปิดกั้นจึงยังมีอยู่ในมุมมองของเจ้าของสถานบริการในญี่ปุ่น โดยเฉพาะที่เป็นกิจการขนาดเล็ก อย่างไรก็ตาม การยอมรับถึงความจำเป็นต้องปรับตัวเริ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

สปา ทั้งที่เป็นรูปแบบการให้บริการ การบริหารจัดการ และผลิตภัณฑ์ ได้รับความสนใจและเป็นที่รู้จักกว้างขวางยิ่งขึ้นในญี่ปุ่น โอกาสของการขยายตลาดบริการและสินค้าในสาขานี้จึงมีสูงมาก สิ่งที่ผู้ประกอบการญี่ปุ่นเห็นว่าสำคัญและต้องการคำแนะนำ คือ จะนำสปาไทยและผลิตภัณฑ์เข้าไปแนะนำในสถานบริการได้วิธีใดบ้าง และมูลค่าเพิ่มที่จะได้รับ ซึ่งผู้ผลิตและบริหารธุรกิจสปาไทยควรให้ข้อมูล และชี้แนะให้ชัดเจนเพื่อเป็นก้าวแรกสู่การทำธุรกิจและความเป็นหุ้นส่วน ระหว่างกัน

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ