ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนทำให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกหันมาใส่ใจช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม เพิ่มมากขึ้นรวมทั้งความพยายามของรัฐบาลหลายๆ ประเทศ ในการร่วมมือกำหนดแนวทางการลดภาวะโลกร้อน ผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นในปัจจุบันก็ตื่นตัวในเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเช่นกัน มีการรณรงค์การใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งให้ความสำคัญกับสินค้าเกษตรอินทรีย์เพิ่มมากขึ้น จนทำให้ญี่ปุ่นเป็นตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ขนาดใหญ่อันดับต้นของโลก รองจากสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา
ท่ามกลางกระเสการตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อมนักการตลาดปัจจุบันได้เสนอแนวคิดใหม่ในการทำความเข้าใจผู้บริโภค ว่าด้วยการดำรงชีวิตด้วยวิถีแห่งสุขภาพที่ดีกับนิเวศวิทยาอย่างยั่งยืน (Lifestyles of Health and Sustainability : LOHAS) โดยผู้บริโภคที่จัดอยู่ในกลุ่ม LOHAS นี้ มีลักษณะเด่นคือ
- มีความสนใจกระตือรือร้นต่อประเด็นสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก รวมทั้งรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและใส่ใจสุขภาพ
- มีความตระหนักในความรับผิดชอบต่อสังคมสูง
- การเน้นคุณค่าในตัวบุคคล และการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง
จากการสำรวจพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวญี่ปุ่น พบว่ามีประชากรถึง 29.3% ที่จัดอยู่ในกลุ่ม LOHAS โดยในจำนวนนี้ส่วนมากเป็นเพศหญิงมีระดับการศึกษาค่อนข้างสูง โดย 55.6% มีการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปและกว่า 50% มีรายได้มากกว่า 51,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี
รัฐบาลญี่ปุ่นได้เริ่มร่างกฎหมายเกี่ยวกับมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ในปี พ.ศ 2543 และเริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อเดือนเมษายน 2544 โดยกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง (Ministry of Agriculture, Forestry and Fisheries : MAFF) เป็นหน่วยงานออกกฎระเบียบ/มาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ ตาม JAS (Japanese Agricultural Standard of Organic Agricultural Products) ซึ่งกำหนดมาตรฐาน สำหรับ Organic Plant, Organic Feeds, Organic Livestock Products, และ Organic Processed Products เกี่ยวกับ กระบวนการผลิต วัตถุดิบ/เมล็ดพันธุ์ สารที่ใช้ควบคุมโรค การเก็บรักษา และการระบุข้อความในฉลากเป็นต้น โดยมีพื้นฐานจาก Codex นอกจากนี้สินค้าที่จะติดฉลากว่าเป็นสินค้า/อาหาร “organic” ได้ ต้องได้รับการรับรองจาก Registered Certification Organization (RCOs) ที่ขึ้นทะเบียนกับ MAFF
กระแสการตื่นตัวทั่วโลกในการรักษาสิ่งแวดล้อม ทำให้ผลิตภัณฑ์จากฝ้ายออร์แกนิคที่ใช้วัตถุดิบและกระบวนการผลิตเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้กลายเป็นสินค้าหนึ่งที่ผู้บริโภคหันมาให้ความสนใจ โดยในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมาประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมได้กลายเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การเติบโตอย่างยั่งยืนของธุรกิจชั้นนำต่างๆ ในหลายประเทศ ได้แก่ ห้าง Wal-Mart, Carrefour, Woolworths ซึ่งเป็นธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ รวมทั้งกลายเป็นจุดขายให้กับหลายสินค้า ได้แก่ โครงการ “Plan A” ของ Marks & Spencer หรือ “We Care” ของ C&A เป็นต้น
จากแนวโน้มข้างต้นส่งผลให้การผลิตฝ้ายออร์แกนิคทั่วโลก ในช่วงดังกล่าวเพิ่มขึ้นกว่า 53 % และมูลค่ายอดขายเพิ่มจาก 583 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 2.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2551
ในส่วนของเสื้อผ้าและสิ่งทอที่ผลิตจากฝ้ายออร์แกนิค นอกจากสหรัฐอเมริกาที่เป็นตลาดรองรับที่สำคัญด้วยมูลค่า 203 ล้านดอลลาร์สหรัฐแล้ว ประเทศญี่ปุ่นก็นับเป็นตลาดใหญ่ของสินค้านี้เช่นกันด้วยมูลค่าทางการตลาดประมาณ 8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีปริมาณนำเข้าประมาณ 2,000 ตันต่อปีนอกจากนี้มีการโฆษณาจำหน่ายสินค้าที่ผลิตจากฝ้ายออร์แกนิคทางอินเตอร์เนตอย่างกว้างขวางจึงนับเป็นสินค้าหนึ่งที่มีแนวโน้มเป็นที่นิยมของผู้บริโภคญี่ปุ่นในปัจจุบัน
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองฟูกูโอกะ
ที่มา: http://www.depthai.go.th