ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคแอฟริกาใต้

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 25, 2009 16:27 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ประเทศแอฟริกาใต้ หรือ สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ ตั้งอยู่ทางใต้สุดของทวีปแอฟริกา ทิศเหนือติดกับประเทศ นามิเบีย บอตสวานา ซิมบับเว ด้านตะวันออกเฉียงเหนือติดกับโมซัมบิกและสวาซิแลนด์ทิศตะวันออก ติดมหาสมุทรอินเดีย ส่วนด้านตะวันตกติดกับมหาสมุทรแอตแลนติก มีพื้นที่ใหญ่เป็น 2.5 เท่าของประเทศไทย

แอฟริกาใต้ มีเมืองหลวง 3 แห่ง คือ

เคปทาวน์ เป็นเมืองของฝ่ายนิติบัญญัติ

เมืองพริทอเรีย เมืองหลวงอย่างเป็นทางการของฝ่ายบริหาร

โบลมฟอนแตน เมืองหลวงฝ่ายศาล

ส่วนเมืองที่สำคัญและมีชื่อเสียงก็คือ กรุงโยฮันเนสเบิร์ก ซึ่งเป็นเมืองที่ถูกวางรากฐานแบบตะวันตกเป็นศูนย์กลางการบินและอุตสาหกรรมต่างๆ

แอฟริกาใต้ โอบล้อมด้วยมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแอตแลนติก ด้านหน้าหันเข้าหามหาสมุทรใหญ่ ทั้งสองด้านหลังมีเทือกเขาสูงเป็นฉากหลัง ไกลออกไปคือปลายสุดของทวีป เคปพอยท์และแหลมกู๊ดโฮป มีถนนเลียบหน้าผาสูงชันที่ปกคลุมไปด้วย ดอกไม้หลากสี และมีทะเลอยู่เบื้องล่าง

ประชากร เป็นชาวพื้นเมืองผิวขาว ได้แก่ชาวแอฟริกันที่สืบเชื้อสายมาจากชาวดัชต์ ที่มาตั้งถิ่นฐานเป็นกลุ่มแรก ทั้งนี้ปัจจุบันมีทั้งชาวดัชต์ เยอรมนี ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร และชนเผ่าพื้นเมือง (ซูลู)

ดอกไม้ประจำชาติ คือ ดอกคิงโพรเธีย

สัตว์ประจำชาติ คือ กวาง springkok

ภาษาราชการ : ประเทศแอฟริกาใต้ เป็นประเทศที่มีผู้คนหลายเชื้อชาติอาศัยอยู่ และมีภาษาทางการถึง 11 ภาษา (อัฟริกัน อังกฤษ ซูลู โซซา สวาติ เอ็นเดเบลี โซโทใต้ โซโทเหนือ ซองกา สวันนา เวนดา) ทั้งนี้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่นิยมใช้มากที่สุดทั้งในเรื่องการค้าและชีวิตประจำวัน

รัฐบาล : ประชาธิปไตย

ปัจจุบันประชากรทุกประเทศทั่วโลกรวมถึงคนแอฟริกาใต้ต้องประสบกับภาวะข้อจำกัดของเวลา เนื่องจากการออกไปทำงานนอกบ้านและการติดขัดของการจราจร ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่แน่ชัดว่าสินค้าที่จะได้รับความนิยมสูงจะต้องเป็นสินค้าที่สามารถอำนวยความสะดวกและประหยัดเวลาให้แก่ผู้บริโภคเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้บริโภคที่มีรายได้น้อย ดังนั้นการจับจ่ายซื้อสินค้าในห้างสะดวกซื้อจึงเป็นที่นิยม สำหรับประเทศแอฟริกาใต้ขณะนี้มีผู้ประกอบการค้าปลีก 2 รายใหญ่ ได้แก่ Pick n Pay และ Woolworths ครองตลาดอยู่ และจะให้บริการทั้งในรูปแบบร้านค้าปลีกและการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ ทั้งนี้นอกจากสินค้าราคาประหยัดและอำนวยความสะดวกในการซื้อแล้ว ปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลมาก คือ สื่อต่างๆ โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ มีผลต่อแนวโน้มความต้องการสินค้าของผู้บริโภคแอฟริกาใต้เป็นอย่างสูง โดยเฉพาะครอบครัวที่มีรายได้ระดับกลางถึงระดับสูง ซึ่งสินค้าที่ผู้บริโภคกลุ่มนี้ให้ความสำคัญในลำดับต้นๆ คือสินค้าที่เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพและความสวยงาม ดังนั้นการประชาสัมพันธ์และการโฆษณาสินค้าปลอดสารเคมี เช่น ผัก ผลไม้ น้ำผลไม้ ผ่านสื่อโทรทัศน์จึงมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น แทนที่อาหารปรุงแต่ง อาหารจานด่วน และน้ำอัดลม นอกจากนี้ การใส่ใจในเรื่องสุขภาพยังรวมไปถึงการตระหนักถึงอันตรายของการสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์ การควบคุมคอเลสเตอรอลอีกด้วย ด้วยเหตุนี้สินค้าประเภทอุปกรณ์ เสื้อผ้า และรองเท้ากีฬาก็มีอัตราขยายตัวของการโฆษณาผ่านสื่อฯ สูงขึ้นตามไปด้วย

กลุ่มผู้บริโภค

วัยเด็กทารก : มีการคาดการณ์ว่าระหว่างปี 2550 — 2558 ประชากรวัยทารกของแอฟริกาใต้จะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 7.8 และมีแนวโน้มว่าจะขยายตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่รวดเร็ว ซึ่งสินค้าสำหรับเด็กวัยดังกล่าวที่ได้รับการยอมรับและเป็นที่นิยมในแอฟริกาใต้ ได้แก่

             “Nestle และ Lactogen”           :  ผลิตภัณฑ์นม

“Huggies, Purity และ Nestle” : ผลิตภัณฑ์ผ้าอ้อมเด็ก

สินค้าสำหรับเด็กทารก อาทิ เสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ และของเล่นในตลาดแอฟริกาใต้โดยส่วนใหญ่ถูกครองตลาดโดยผู้ผลิตแบรนด์ดังข้างต้น เนื่องจากเป็นแบรนด์ที่ได้รับความเชื่อมั่นและศรัทธาจากกลุ่มผู้บริโภค อย่างไรก็ตามการตัดสินใจซื้อสินค้าก็ขึ้นอยู่กับกำลังซื้อเป็นสำคัญด้วย ทั้งนี้ที่แอฟริกาใต้มีการจัดงานแสดงสินค้า “ Baba Indaba” ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าสำหรับเด็ก ที่ดีที่สุดและใหญ่ที่สุดของแอฟริกาใต้ โดยผ่านการรับรองจาก EXSA (Event Association of Southern Africa) ในปี 2551 สินค้าที่นำเสนอในงานฯ ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวตกรรมใหม่ มีการผสมผสานระหว่างรูปลักษณ์และสิ่งที่สร้างความรู้สึกที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของแต่ละบุคคล โดยมุ่งกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นพ่อแม่ยุคใหม่ที่ต้องการสินค้าที่มีทั้งรูปแบบและเอกลักษณ์เฉพาะตัว พร้อมกับต้องมีคุณสมบัติที่จะอำนวยความสะดวกให้ชีวิตเป็นเรื่องง่ายขึ้น

วัยเด็ก : การตัดสินใจมีครอบครัวของคนในปัจจุบันเปลี่ยนไปจากอดีต กล่าวคือสมัยก่อนพ่อแม่วัย 20 ขึ้นไป ก็เริ่มมีบุตรกันแล้ว แต่ขณะนี้การตัดสินใจแต่งงานและการมีบุตรช้าลง โดยคนในวัย 30 ปีขึ้นไปเพิ่งจะเริ่มคิดที่จะวางแผนมีครอบครัว ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวแสดงโดยนัยว่าเด็กที่เกิดขึ้นมาจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี เนื่องจากพ่อและแม่อยู่ในช่วงวัยที่มีรายได้มั่นคงแล้ว ดังนั้นสินค้าเด็กที่ผู้บริโภคกลุ่มนี้ต้องการจะต้องเป็นสินค้าคุณภาพสูงและมีแบรนด์เป็นที่ยอมรับ เช่น ของเล่นก็ต้องเป็นของเล่นที่ช่วยเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็ก ซึ่งในปัจจุบันผู้ประกอบการใช้แนวคิดสร้างสรรค์ในการผลิตของเล่นออกมา อีกทั้งยังสามารถที่จะต่อยอดการผลิตสินค้านั้นๆ ในรูปแบบต่างๆ ได้หลากหลาย อาทิ นำตัวการ์ตูนไปสร้างเป็นภาพยนตร์ (Spiderman และ Shrek ) เป็นต้น อย่างไรก็ตามการตัดสินใจซื้อสินค้าสำหรับเด็กวัยนี้ขึ้นอยู่กับผู้ปกครอง เป็นหลัก

เด็กวัยก่อนวัยรุ่น (8 — 12 ปี) : เด็กวัยก่อนวัยรุ่นมีอิทธิพลสูงต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้ปกครอง โดยเฉพาะครอบครัวที่มีรายได้ระดับกลางถึงสูง สินค้าประเภทคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือเป็นสินค้าที่เด็กวัยนี้มีความต้องการสูง เนื่องจากเด็กวัย 8-12 ปี เป็นช่วงวัยที่เริ่มมีสังคมและต้องการการสื่อสารกับเพื่อนๆ นอกจากนี้เด็กวัยก่อนวัยรุ่นจะมีความชื่นชอบกับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีรูปแบบเด็กๆ (กุ๊กกิ๊ก) เช่น เครื่องเล่น MP3 เครื่องเล่นซีดีและดีวีดี ที่มีลวดลายการ์ตูนเป็นต้น

เด็กวัยรุ่น : เด็กวัยนี้เริ่มมีอำนาจการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าด้วยตนเอง พวกเขาจะสนใจในโลกกว้าง ดังนั้นสื่อต่างๆ จึงมีอิทธิพลสูงต่อเด็กกลุ่มนี้ เด็กส่วนใหญ่จะเลือกซื้อสินค้าตามสื่อโฆษณาและจะเลือกใช้สินค้าที่เป็นแบรนด์สมัยนิยม โดยเฉพาะเด็กที่มีช่วงอายุระหว่าง 16-24 ปี ซึ่งเป็นวัยที่ต้องการความแตกต่างและโดดเด่น ไม่จำเป็นต้องเป็นสินค้าราคาแพงที่สุดหรือถูกที่สุด แต่ต้องเป็นสินค้าที่โดนใจที่สุด

นักเรียน นิสิต นักศึกษา : โดยรวมนักเรียน นิสิต นักศึกษาของแอฟริกาใต้จะทำกิจกรรมเพื่อความบันเทิงในร่ม เช่น ดูโทรทัศน์ ฟังเพลง ใช้เวลาว่างกับคู่หู ครอบครัว และเพื่อน ด้วยเหตุนี้ปริมาณการใช้อินเตอร์เน็ตจึงขยายตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ตัวอย่างเครือข่ายที่เป็นที่นิยม เช่น StudentVillage.co.za ซึ่งเป็นเครือข่ายเฉพาะสำหรับนักเรียน นิสิต นักศึกษาโดยตรง โดยจะนำเสนอทุกเรื่องที่เกี่ยวข้อง อาทิ แนวทางอาชีพ chatrooms, blogs และเกม เป็นต้น ทั้งนี้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าใช้บริการเครือข่ายนี้ทางโทรศัพท์มือถือได้ด้วยอีกหนึ่งช่องทางหนึ่ง ทั้งนี้สำหรับวัยรุ่นตอนปลายพวกเขายังนิยมสินค้าเสื้อผ้าแบรนด์เนม และแบรนด์ยอดนิยมคือ “Nike” ซึ่งผู้บริโภคให้การยอมรับว่าเป็นสินค้าที่นำเสนอว่ามีเทคโนโลยีผสมผสานอยู่ในตัวสินค้า ประกอบกับ Nike เป็นแบรนด์สมัยนิยม จึงได้รับการยอมรับอย่างยาวนาน

ผู้บริโภควัย 20 ปี ขึ้นไป : ประชากรวัย 20 ของแอฟริกาใต้มีอัตราการขยายตัวร้อยละ

35.9 จากจำนวน 7.2 ล้านคนในปี 2538 เป็น 9.7 ล้านคนในปี 2550 และคาดว่าในช่วงปี 2550-2558 ประชากรในช่วงวัยดังกล่าวจะขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.7 ทั้งนี้แบ่งเป็นผู้บริโภค 2 กลุ่ม คือ กลุ่มคนหนุ่มสาวที่ยังไม่มีครอบครัว และกลุ่มคนที่มีครอบครัวแล้วแต่ยังไม่มีบุตร

ประเภท - กลุ่มคนหนุ่มสาวที่ยังไม่มีครอบครัว

ลักษณะ - ยังไม่มีภาระค่าใช้จ่ายมากนัก ดังนั้นพวกเขาจึงสนใจเรื่องแฟชั่นและการนันทนาการ โดยสินค้าที่จะตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มนี้ได้ดี คือ สินค้าพื้นฐานทั่วไป เช่น เฟอร์นิเจอร์ และรถยนตร์ และ ฯลฯ

ประเภท - กลุ่มคนที่มีครอบครัวแล้วแต่ยังไม่มีบุตร

ลักษณะ - ผู้บริโภคกลุ่มนี้จะมีกำลังซื้อสูงกว่าเนื่องจากมีจำนวนสมาชิกในครอบครัวที่มีรายได้มากกว่า 1 คน ซึ่งสินค้าที่เป็นที่ต้องการ คือสินค้าที่มีรูปแบบหรูหราและมีคุณสมบัติใช้งานที่ทนทาน นอกจากนี้สินค้าฟุ่มเฟือยประเภท บุหรี่ แอลกอออล์ รวมถึงการรับประทานอาหารนอกบ้านก็ยังคงเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคกลุ่มนี้

ผู้บริโภควัย 30 ปีขึ้นไป : เนื่องจากผู้บริโภคกลุ่มนี้เป็นวัยทำงานและเริ่มต้นมีครอบครัว ดังนั้นพวกเขาจะซื้อสินค้าจำเป็น อาทิ เครื่องใช้ในบ้าน เช่น เครื่องล้างจาน ไดร์เป่าผม เครื่องนันทนาการในบ้าน รวมถึงผลิตภัณฑ์เด็กอ่อน อุปกรณ์กีฬา และเครื่องดนตรี เป็นต้น ทั้งนี้ค่าใช้จ่าย 1 ใน 3 ของรายได้ของครอบครัวจะใช้จ่ายไปในเรื่องของอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม

ผู้ใหญ่วัยกลางคน : ร้อยละ 93.1 ของผู้ใหญ่วัย 40 ปีขึ้นไปในแอฟริกาใต้เป็นคนที่มีรายได้สูง ดังนั้นพวกเขาจึงต้องการสินค้าและบริการชั้นดี โดยการจับจ่ายของคนวัยนี้โดยส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพและ Medical care นอกจากนี้พวกเขายังชื่นชอบสินค้าฟุ่มเฟือยประเภทอัญมณีและเครื่องประดับ เสื้อผ้าแฟชั่น รวมถึงการรับประทานอาหารนอกบ้าน อย่างไรก็ตามนอกจากกลุ่มคนที่มีรายได้สูงแล้ว ในความเป็นจริงก็ยังมีประชากรวัยกลางคนในแอฟริกาใต้จำนวนไม่น้อยที่เป็นชนชั้นแรงงานและมีรายได้ต่ำ ดังนั้นจึงมิใช่เรื่องง่ายสำหรับผู้ประกอบการที่จะจัดกลุ่มประเภทสินค้าสำหรับประชากรกลุ่มนี้

ผู้บริโภควัยเกษียณ (อายุ 65 ปี ขึ้นไป) : ผู้บริโภคกลุ่มนี้โดยรวมจะมีรายได้ลดลงอย่างมาก ดังนั้นพวกเขาจึงนิยมที่จะพักผ่อนอยู่ที่บ้าน และใส่ใจในเรื่องการดูแลสุขภาพ ส่งผลให้สินค้าประเภทผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ยา สินค้าที่มีผลต่อเรื่องการนอนและการย่อยอาหาร เป็นที่สนใจสำหรับผู้บริโภคกลุ่มนี้

วัฒนธรรมการจับจ่าย

การใช้จ่ายของผู้บริโภคในแอฟริกาใต้เพิ่มขึ้นร้อยละ 84.8 ในช่วงระหว่างปี 2538-2550 หรือคิดเป็นเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 และคาดว่าจะมีอัตราการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 53.8 ในช่วงปี 2550-2558 โดยสินค้าพื้นฐานที่ผู้บริโภคมีการจับจ่ายสูงสุด คือ อาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าระดับการศึกษาของประชากรมีส่วนสำคัญโดยตรงต่อการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า ซึ่งจะพิจารณาได้จากคนยิ่งมีการศึกษาสูง ความตระหนักในเรื่องคุณภาพของสินค้าก็สูงตามไปด้วย เป็นเหตุให้การคาดการณ์แนวโน้มการใช้จ่ายของประชากรแอฟริกาใต้ในช่วงปี 2550 — 2558 ผู้บริโภคจะให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นในเรื่องการศึกษา การพักผ่อน และนันทนาการ นอกจากนี้ในปี 2550 ร้อยละ 13.9 ของการใช้จ่ายทั้งหมดของคนแอฟริกาใต้เป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเรื่องการเดินทาง (transport) และตามมาด้วยค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับที่พักอาศัยร้อยละ 13.0 นอกจากนี้ในปีดังกล่าวธุรกิจบริการก็มีอัตราการขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นมาก จากร้อยละ 37.1 ในปี 2538 เป็นร้อยละ 42.2 ในปี 2550

วัฒนธรรมการรับประทาน

การซื้ออาหาร โดยเฉลี่ยร้อยละ 19 ของการจับจ่ายโดยรวมของคนแอฟริกาใต้ คือการซื้อสินค้าอาหาร โดยเฉพาะผลไม้ มีอัตราการขยายตัวสูงมากถึงร้อยละ 91.1 ในช่วงปี 2538 — 2550 ในขณะที่สินค้าผักมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 50.1 จาก 18.1 พันล้านแรนด์ในปี 2538 สู่ 27.2 พันล้านแรนด์ในปี 2550 เมื่อพิจารณาจากอัตราการขยายตัวของสินค้าผักและผลไม้ แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคตระหนักถึงความสำคัญของการใส่ใจในเรื่องสุขภาพ ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพและบรรจุภัณฑ์ของสินค้าผัก ผลไม้สดของซุปเปอร์มาร์เก็ตทั่วประเทศ โดยจะเห็นได้จากสินค้าอาหารสดจะบรรจุในหีบห่อที่โปร่งใส ผู้ซื้อสามารถมองเห็นตัวสินค้า และมีขนาดที่เหมาะสมสะดวกต่อการหยิบใช้และเก็บรักษา

          ผู้บริโภคแอฟริกาใต้จะเป็นนักชอปสินค้าในปริมาณครั้งละมากๆ โดยส่วนใหญ่หนึ่งสัปดาห์ก็จะมีการซื้อหาสินค้า 1 ครั้งในวันหยุดเสาร์หรืออาทิตย์ และจะนิยมซื้อสินค้าที่ห้างสะดวกซื้อ ร้านค้าเฉพาะสินค้า บูติกเสื้อผ้าสตรี ซุปเปอร์มาร์เก็ตที่มีสาขาอยู่ตามที่ต่างๆ  ร้านขายส่งขนาดใหญ่    และร้านค้าปลีก     เป็นต้น ทั้งนี้จำนวนซุปเปอร์มาร์เก็ตในแอฟริกาใต้คิดเป็นร้อยละ 55 ของจำนวนร้านค้าปลีกอาหารประจำชาติ

อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์ : 4.202 แรนด์ (23 / 06 / 52)

ตลาดค้าปลีก หลักในแอฟริกาใต้มีผู้ประกอบการหลัก 4 ราย ได้แก่

๏ Shoprite / Checkers สัดส่วนการครองตลาดร้อยละ 33

          ๏   Pick n Pay           สัดส่วนการครองตลาดร้อยละ  33
          ๏   SPAR                 สัดส่วนการครองตลาดร้อยละ  26
          ๏   Woolworths           สัดส่วนการครองตลาดร้อยละ  8

นอกจากนี้ตลาดค้าปลีกหลักข้างต้นแล้ว ในแอฟริกาใต้ยังมีการขยายตัวอย่างสูงของร้านค้าปลีกรายย่อย โดยเฉพาะร้านจำหน่ายผักผลไม้สด รวมถึงร้านขายของอิสระ เช่น พ่อค้าทั่วไป คาเฟ่ spaza shops (ร้านสะดวกซื้อที่ดำเนินการอยู่ในตึกที่พักอาศัย) คนเร่ขายของตามถนน พ่อค้าเร่ และการเปิดท้ายรถขายของ เป็นต้น ซึ่งการขายในรูปแบบที่กล่าวมาแพร่หลายในชนบท เมืองเล็กๆ คิวแท็กซี่ และสถานีรถไฟ ซึ่งเป็นบริเวณที่ไม่มีห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ตั้งอยู่

สินค้าออร์แกนิก : ซุปเปอร์มาร์เก็ต 2 แห่งในแอฟริกาใต้ที่เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่และเป็นแหล่งกระจายสินค้าออร์แกนิก ได้แก่ Woolworths และ Pick n Pay ทั้งนี้หากคิดเป็นอัตราส่วนการซื้อสินค้าออร์แกนิกของคนแอฟริกาใต้ แบ่งได้เป็น ดังนี้ ผลไม้ร้อยละ 37% (ในขณะที่อัตราการซื้อของยุโรปคิดเป็น 28% สหรัฐฯ 17%) ผัก ร้อยละ 37% (ยุโรป 25% สหรัฐฯ 17%) สัตว์ปีก 35% (ยุโรป 17% สหรัฐฯ 14%) ไข่ 42% (ยุโรป 34% สหรัฐฯ 19%) ผลิตภัณฑ์นม 31% (ยุโรป 21% สหรัฐฯ 14%) อาหารปรุงแต่ง 14% ยุโรป 7% สหรัฐฯ 9%) สำหรับในยุโรปและสหรัฐฯ สินค้าออร์แกนิกจะมีราคาสูง เป็นเหตุให้ผู้บริโภคไม่ค่อยซื้อสินค้าดังกล่าวเท่าที่ควร

สินค้า GMOs : สินค้า GMOs เริ่มเติบโตเป็นธุรกิจการค้าในแอฟริกาใต้ เมื่อปี 2540 โดยมีผู้บริโภคจำนวนไม่มากนักที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องพันธุวิศวกรรมศาสตร์ (GMOs) ดังนั้นกรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้เริ่มดำเนินการสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชนทั้งเรื่องหลักการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาค พร้อมกับกระตุ้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็น และจากการนำเสนอแนวคิดส่งผลที่ชัดเจนในเรื่องฉลากสินค้า กล่าวคือมีการกวดขันในเรื่องเงื่อนไขของฉลากสินค้าอาหาร และยิ่งกฎระเบียบเข้มงวดเพิ่มขึ้นเท่าไร ราคาของสินค้าก็จะสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว ซึ่งเป็นโอกาสของผู้บริโภคที่จะสามารถเลือกซื้อสินค้าอาหารได้ทั้งที่เป็น GM หรือ non-GM

พฤติกรรมการบริโภค

เนื่องจากแอฟริกาใต้เป็นประเทศที่มีการผสมผสานระหว่างหลายเชื้อชาติและวัฒนธรรม อาทิ African, Malay, Indian และอิทธิพลจากโปรตุเกส ดังนั้นวัตถุดิบที่นิยมนำมาใช้ประกอบอาหารจึงมีความหลากหลาย เช่น เนื้อสัตว์ ข้าวโพด อาหารทะเล และเครื่องเทศ เป็นต้น ซึ่งเปรียบเสมือนแอฟริกาใต้เป็นแหล่งรวมเรื่องการครัวจากทั่วโลก อาทิ กรีซ อิตาเลียน จีน เม็กซิกัน รวมถึงร้านอาหารของคนทางตอนใต้ของรัฐลุยเซียนา(Cajun enthnic restaurant) ซึ่งพบเห็นได้ทั่วไปตามเมืองใหญ่

โดยปกติคนแอฟริกาใต้รับประทานอาหาร 3 มื้อต่อวัน โดยมื้อค่ำจะเป็นมื้อหลัก ในขณะที่อาหารเช้าจะประกอบไปด้วย ธัญพืช ผลไม้สด นม และข้าวต้มข้าวโอ๊ตและหากมีเวลา การบริโภคเนื้อในยามเช้าก็นับเป็นความสุขอย่างหนึ่งเช่นกัน ดังนั้นอาหารเช้าแบบอังกฤษจึงเป็นที่นิยมมาก แต่ผู้บริโภคแอฟริกาใต้ก็มีการดัดแปลง โดยการเพิ่มเนื้อสัตว์เข้าไปด้วย เช่น เนื้อแกะ สเต็ก หรือไส้กรอกเนื้อ เป็นต้น สำหรับอาหารกลางวันคนแอฟริกาใต้จะรับประทานแซนวิช และในมื้อค่ำจะรับประทานอาหารแบบเต็มรูปแบบ ซึ่งจะมีการรับประทานผักและสลัดร่วมด้วย ทั้งนี้วัตถุดิบหลักของครัวแอฟริกาใต้คือ เนื้อสัตว์และอาหารทะเล ซึ่งโดยปกติผู้บริโภคแอฟริกาใต้ชื่นชอบที่จะทำอาหารรับประทานร่วมกันที่บ้าน แต่เนื่องจากปัจจุบันเวลาไม่อำนวยประกอบกับจำนวนสตรีที่ออกไปทำงานนอกบ้านเพิ่มสูงขึ้น และการแยกกันอยู่เป็นครอบครัวเล็กก็เพิ่มสูงขึ้น เป็นเหตุให้ผู้บริโภคหันมานิยมอาหารสะดวกซื้อและอาหารจานด่วน ดังนั้นแหล่งบริการประเภทร้านอาหารครอบครัว แฟรนไชนส์เบอร์เกอร์ / ไก่ / อาหารทะเล / อาหารจีน /อาหารไต้หวัน และอาหารอิตาเลียน (แบบซื้อกลับบ้าน) จึงมีอัตราการขยายตัวสูงมากขึ้น อย่างไรก็ตามในปี 2548 News24 (สำนักพิมพ์ของแอฟริกาใต้) ได้ทำการสำรวจความเห็นผ่านสื่ออินเตอร์เน็ต และเปิดเผยผลการสำรวจว่าร้อยละ 40 ของผู้ตอบแบบสำรวจเชื่อว่าอาหารจานด่วนประเภทไก่ทอด (KFC) เป็นอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง ในขณะที่ร้อยละ 39 มีความเห็นเช่นเดียวกันกับอาหารประเภทแฮมเบอร์เกอร์ (McDonal’s) อย่างไรก็ตามผลสรุปที่ออกมาคือคนแอฟริกาใต้ต้องการอาหารจานด่วนที่เป็นอาหารเพื่อสุขภาพ

Kauai “คาวาย” เป็นผู้นำแนวโน้มการบริโภคอาหารสุขภาพจานด่วนในแอฟริกาใต้ที่ประสบความสำเร็จสูง และมีอัตราการขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยตั้งแต่ปี 2541 บริษัทฯ ได้เปิดศูนย์กระจายสินค้าประมาณ 4 แห่งต่อปี ซึ่งขณะนี้มีศูนย์กระจายสินค้าจำนวน 46 แห่งในแอฟริกาใต้ โดยจะเปิดทั้งลักษณะภัตราคารเต็มรูปแบบและศูนย์กระจายสินค้าขนาดย่อมที่มีสถานที่ออกกำลังกายไว้บริการด้วย เมนูอาหารจะมีทั้งอาหารมังสวิรัติและไม่เป็นมังสวิรัติ สลัดผัก แซนวิช รวมถึงน้ำผลไม้และน้ำปั่นหลากหลายชนิด โดยทุกเมนูจะปลอดจากวัตถุกันเสียและจะประกอบและปรุงเมื่อได้รับคำสั่งซื้อ

พฤติกรรมการประกอบอาหาร

คนแอฟริกาใต้นิยมปรุงอาหารโดยใช้วัตถุดิบสดโดยเฉพาะสัตว์ปีก เนื้อสัตว์ (สีแดง) และผัก ในขณะที่อาหารแปรรูปแบบแห้งเป็นวัตถุดิบสำคัญสำหรับการเตรียมอาหาร ในเวลาที่จำกัดซึ่งอาหารประเภทนี้รวมถึงพาสต้าและข้าวด้วย อย่างไรก็ตามอาหารจานด่วนและอาหารสะดวกซื้อก็ยังคงได้รับความนิยมสูง เนื่องจากปัจจัยหลัก คือ ประหยัดเวลาและสะดวก

บาร์บีคิวถือเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของการรับประทานผู้บริโภคชาวแอฟริกาใต้ ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะมีกิจกรรมการปรุงอาหารร่วมกันทุกสัปดาห์ ทุกวัน หรือในช่วงวันหยุด ซึ่งบริเวณที่พวกเขานิยมทำบาร์บีคิว คือ บริเวณบ้าน สวน บริเวณที่ตั้งแคมป์ในวันหยุด หรือบริเวณที่เหมาะสมกลางแจ้ง ส่วนวัตถุดิบที่นิยมใช้ นอกจากเนื้อแล้ว ปลาก็ได้รับความนิยมเช่นกัน ประชากรที่อาศัยอยู่แถบชายฝั่งตะวันตกดัดแปลงวิธีการประกอบบาร์บีคิวโดยนำอาหรทะเลมาปิ้งบนไฟ ทั้งนี้เนื่องจากรายได้ของประชากรเพิ่มขึ้น แนวโน้มการรับประทานบาร์บีคิวก็มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะในส่วนของ Soweto ถึง Cape Town ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าการเตรียมอาหารโดยเฉพาะเนื้อสัตว์เป็นหน้าที่ของผู้ชาย ซึ่งจะเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจว่าจะเลือกเนื้อสัตว์ชนิดไหนและขนาดใดมาปรุงบาร์บีคิว

การดื่มและการสูบบุหรี่

ผู้บริโภคเสียค่าใช้จ่ายต่อเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสมสูงขึ้นจาก 25.4 พันล้านแรนด์ ในปี 2538 ถึง 44.9 พันล้านแรนด์ ในปี 2550 ซึ่งเบียร์เป็นสินค้าที่มีอัตราการขยายตัวในลำดับต้นๆ โดยตัวเลขที่เพิ่มขึ้นมีผลมาจากการเพิ่มขึ้นของระดับรายได้ ส่งผลให้การตัดสินใจซื้อขึ้นอยู่กับความต้องการและแรงบันดาลใจเป็นสำคัญ ประกอบกับการเกิดขึ้นของคนผิวดำรุ่นใหม่ที่เป็นชนชั้นกลางมีจำนวนเพิ่มขึ้น ด้วยเหตุนี้ผู้ประกอบการ ผู้ผลิต จึงได้ออกสินค้าแบรนด์พิเศษในทุกประเภทสินค้า โดยสอดแทรกความเป็นสากลไว้ในตัวสินค้าด้วย เพื่อให้ผู้ซื้อเกิดความรู้สึกว่าสินค้าที่ตนตัดสินใจซื้อมีคุณค่าและมีความเฉพาะตัว

เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มร้อน

โดยรวมเครื่องดื่มประเภทชาราคาประหยัดและเครื่องดื่มสมุนไพรร้อนประเภทต่างๆ เป็นที่นิยมของผู้บริโภคส่วนใหญ่ ในขณะที่เครื่องดื่มร้อนประเภทกาแฟจะถูกจำกัดอยู่ในตลาดระดับบน สำหรับคนที่มีรายได้สูง

การพัฒนาและแนวโน้มการใส่ใจในเรื่องสุขภาพที่เพิ่มสูงขึ้น และจำนวนของผู้มีรายได้ระดับกลางที่ขยายวงกว้างมากขึ้น ส่งผลต่อสินค้าเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ให้มียอดจำหน่ายเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะน้ำอัดลมแบรนด์ต่างๆ น้ำผลไม้ น้ำผัก และชาพร้อมดื่ม อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้บริโภคหลักในแอฟริกาใต้ยังคงให้ความสำคัญกับเรื่องราคา กล่าวคือราคาต้องสมเหตุผลกับคุณภาพของสินค้า

บุหรี่

แม้นว่าจะมีหลายปัจจัยที่มีผลต่อยอดจำหน่ายบุหรี่ เช่น จำนวนผู้บริโภคที่ใส่ใจใน เรื่องสุขภาพเพิ่มสูงขึ้น การกำหนดภาษีบุหรี่ให้สูง รวมถึงพรบ.การต่อต้านบุหรี่ แต่ปริมาณการซื้อสินค้าบุหรี่ก็ยังคงเพิ่มสูงขึ้น จาก 6.6 พันล้านแรนด์ ในปี 2538 สู่ 11.2 พันล้านแรนด์ในปี 2550 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ประชากร การขาดนโยบายที่จะใช้บังคับเรื่องการสูบบุหรี่ และพรบ.การต่อต้านการสูบบุหรี่ถูกเพิกเฉยในสถานที่ส่วนตัว เป็นต้น

การซื้อสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่

โดยเฉลี่ยค่าใช้จ่ายประมาณร้อยละ 1.2 ของรายได้ของผู้บริโภคแอฟริกาใต้ หมด ไปกับสินค้าบุหรี่และเครื่องดื่มที่มีแอลกอออล์ โดยรัฐบาลได้ออกพรบ.เพื่อควบคุมการซื้อสินค้าทั้งสองชนิดดังกล่าว นอกจากนี้ยังไม่อนุญาตให้วางจำหน่ายสินค้าบุหรี่ตามชั้นขายของที่ผู้บริโภคจะหยิบจับได้เอง หากต้องการสินค้าต้องแจ้งแก่พนักงานขายเท่านั้น ทั้งนี้มี 2 ช่องทางการจำหน่ายที่ได้รับการยกเว้น ได้แก่ ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติและร้านจำหน่ายสินค้าปลอดภาษี ซึ่งโดยปกติตู้จำหน่ายสินค้าบุหรี่อัตโนมัติจะตั้งอยู่ในสถานที่ที่มิดชิด เช่น บาร์และผับ และเมื่อพรบ.การห้ามสูบบุหรี่ในอาคารเริ่มบังคับใช้ เครื่องจำหน่ายสินค้าฯ อัตโนมัติก็พบเห็นได้น้อยลง คิดเป็นร้อยละ 1.6 ของช่องทางการการจำหน่ายบุหรี่ทั้งหมด ทั้งนี้ในแอฟริกาใต้ห้ามมิให้มีการโฆษณาสินค้าบุหรี่ตามสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ วิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์ และ/หรือ ในโรงหนัง ซึ่งถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย

เครื่องดื่มประเภทไวน์และเบียร์ที่ไร้แอลกอฮอล์เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทเดียวที่ผู้บริโภคสามารถซื้อหาได้ที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตและห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ และเช่นเดียวกับสินค้าบุหรี่ รัฐบาลได้ออกพรบ.ห้ามการโฆษณาสินค้าดังกล่าวในสื่อโทรทัศน์ การเป็นสปอนเซอร์สนับสนุนงานแข่งขันกีฬา นอกจากนี้การโฆษณาสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะต้องระบุว่าไม่จำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี

นิสัยการดื่ม

ผู้บริโภคแอฟริกาใต้นิยมดื่มกับเพื่อนที่บริษัทหรือในครอบครัว ในขณะที่ภัตราคารหลายแห่งเริ่มนำเครื่องดื่มประเภทไวน์มาจำหน่ายปลีกในราคาไม่สูงมานำเสนอให้ลูกค้ารับประทานพร้อมอาหาร เพื่อเป็นการส่งเสริมการขาย

นิสัยการสูบบุหรี่

กลุ่มบุรุษเพศจะสูบบุหรี่มากกว่ากลุ่มสตรี แต่ในปี 2547 อัตราการสูบบุหรี่ของเพศหญิงเริ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มสตรีผิวดำและหญิงอินเดียแดง

สินค้าแฟชั่น

การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคเป็นผลพวงมาจากการความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจส่งผลต่อปริมาณความต้องการสินค้าประเภทเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า โดยจะเห็นได้จากสินค้าแฟชั่นดังกล่าวขยายตัวสู่ชนบทและย่านเมืองเล็ก ทั้งนี้แบรนด์ดังที่ครองตลาดอยู่คือ Nike, Adidas, Puma, CAT และ Hi-Tec รายจ่ายร้อยละ 5 ของรายได้ของผู้บริโภคแอฟริกาใต้เป็นเรื่องของเสื้อผ้าและรองเท้า ซึ่งร้อยละ 80 เป็นการซื้อสินค้าดังกล่าวจากร้านค้าปลีก

เครื่องประดับและของใช้ส่วนตัว

สินค้าเครื่องประดับและอุปกรณ์แฟชั่นที่ใช้เป้นส่วนประกอบหรือประดับเสื้อผ้า เช่น เข็มขัด หมวก ถุงมือ ผ้าพันคอ และเนคไท เป็นสินค้าที่มีอัตราการขยายตัวเร็วมาก รวมไปถึงสินค้าประเภทอัญมณี เครื่องประดับเงิน นาฬิกา และสินค้าสำหรับการเดินทาง ซึ่งมีการใช้จ่ายสำหรับสินค้ากลุ่มนี้เพิ่มขึ้นจาก 1.7 พันล้านแรนด์ในปี 2538 เป็น 4.3 พันล้านแรนด์ในปี 2550 หรือคิดเป็นร้อยละ 152.2

แนวโน้มแฟชั่น

คนแอฟริกาใต้จะแต่งกายเป็นทางการเมื่อไปทำงาน อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับนโยบายของบริษัทด้วย บางบริษัทก็อนุญาตให้พนักงานแต่งกายกึ่งทางการ ไม่ต้องใส่สูทและผูกไท เฉกเช่นเดียวกับทุกประเทศทั่วโลก ทั้งนี้ปัจจุบันผู้หญิงได้รับการจ้างงานสูงขึ้น ดังนั้นชุดเครื่องแบบสำหรับใส่ทำงานก็มีปริมาณความต้องการสูงตามไปด้วย ในขณะที่สตรีทั่วไปก็มีความต้องการสินค้าที่เกี่ยวกับสุขภาพและฟิตเนตเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน ส่งผลให้รองเท้ากีฬาสตรีและเสื้อผ้ามีอัตราการขยายตัวสูงขึ้น

คนแอฟริกาใต้นิยมสวมใส่เสื้อผ้าลำลอง ง่ายๆ สบายตัว ดังนั้นกางเกงยีนส์และรองเท้า (แบบใช้งานสมบุกสมบัน) จึงพบเห็นได้ตามท้องถนนทั่วไป โดยวัยรุ่นจะตามแฟชั่นของอเมริกา (ฮิป-ฮอป) ซึ่งสื่อโทรทัศน์มีอิทธิพลอย่างยิ่งในกลุ่มเด็กวัยรุ่น

สุขภาพและการบริการเพื่อสุขภาพ

ค่าใช้จ่ายร้อยละ 1.7 ของคนแอฟริกาใต้เป็นการจับจ่ายซื้อหาสินค้าเพื่อสุขภาพและบริการเกี่ยวกับสุขภาพ ซึ่งมีอัตราการเพิ่มขึ้นจาก 45.3 พันล้านแรนด์ ในปี 2538 สู่ 114.9 พันล้านแรนด์ในปี 2550 หรือคิดเป็นร้อยละ 153.8 โดยธุรกิจโรงพยาบาลมีอัตราการขยายตัวสูงสุดคิดเป็นร้อยละ 363.3 ตามด้วยการให้บริการผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลร้อยละ 144.3 และสินค้าเกี่ยวกับยาและเภสัชกรรมร้อยละ 125.9

ประเทศแอฟริกาใต้ยังขาดบุคลากรทางการแพทย์ รัฐบาลจึงมีนโยบายจ้างงานแพทย์ชาวต่างชาติโดยออกข้อกำหนดให้เอื้อประโยชน์ต่อความต้องการดังกล่าว ทั้งนี้ยังคงมีข้อขัดแย้งกันระหว่างภาครัฐและเอกชนในเรื่องการกำหนดราคา และอัตราการให้บริการแก่ประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องที่ทั้งสองฝ่าย ต้องพิจารข้อตกลงร่วมกัน

สาเหตุการเสียชีวิตของคนแอฟริกาใต้ในปี 2543 คิดเป็นร้อยละ 25.5 คือผู้ติดเชื้อ HIV โรคหัวใจร้อยละ 6.5 วัณโรคในปอดและอื่นๆ ประมาณร้อยละ 5.5 โดยเพศชายมีสัดส่วนของการเสียชีวิตจากการถูกฆาตกรรม วัณโรคในปอด และอุบัติเหตุบนท้องถนนมากกว่าเพศหญิง ในขณะที่เพศหญิงจะเสียชีวิตเนื่องจาก การติดเชื้อ HIV การถูกทุบตี โรคหัวใจ และโรคเบาหวานมากกว่า

สินค้าเครื่องสำอางและเครื่องใช้ในห้องน้ำ

คนแอฟริกาใต้นับเป็นผู้บริโภคที่มีความเชื่อมั่นในแบรนด์สินค้า และมักจะมองหาสินค้าที่มีความพิเศษและแตกต่าง โดยสินค้าประเภทเครื่องสำอางและเครื่องใช้ในห้องน้ำจะวางจำหน่ายที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตและห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ร้อยละ 42.5 ร้านขายของชำ 20.4% และห้างสรรพสินค้า 16.7% ในขณะที่การขายตรงคิดเป็นร้อยละ 5 ทั้งนี้จากอัตราการขยายตัวของผู้บริโภคผิวดำและการเพิ่มขึ้นของการยอมรับผลิตภัณฑ์ความงามสำหรับเพศชาย ส่งผลให้สินค้าประเภทนี้มีลู่ทางทางการตลาดอีกมาก นอกจากนี้การเติบโตของสื่อโฆษณา ในโทรทัศน์ก็นับเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลให้ผู้บริโภคหันมาสนใจภาพลักษณ์ของตนเอง และยินดีที่จะจ่ายเงินเพื่อซื้อผลิตภัณฑ์ที่ช่วยส่งเสริมบุคลิกให้ชวนมอง

โดยทั่วไปสตรีชาวแอฟริกาใต้นิยมการแต่งหน้าให้ดูเป็นธรรมชาติ แต่เมื่อพวกเธอต้องเข้าสังคมหรือไปร่วมงานที่เป็นทางการพวกเธอก็ไม่ละเลยความสำคัญของการแต่งหน้าเช่นกัน ในขณะที่คนแอฟริกาใต้เพศชายมักมีค่านิยมว่าภาพลักษณ์ของบุรุษที่เซ็กซี่จะต้องเป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง และสินค้ายอดนิยม 3 ประเภทที่ผู้บริโภคเพศชายให้ความสำคัญ คือ น้ำยาดับกลิ่น ยาสีฟันที่มีผลให้ฟันมีสีขาว และน้ำยาหลังโกนหนวด

แอฟริกาใต้เป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรที่ป่วยเป็นมะเร็งผิวหนังสูงที่สุดเป็นอันดับสองของโลกโดยมีสาเหตุหลักมาจากการถูกแสงแดดมากเกินไปในวัยเด็ก (อายุน้อยกว่า 18 ปี) ดังนั้นสินค้าดูแลผิวที่มีประสิทธิภาพป้องกันแสงแดดได้สูงจึงเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคต้องการ

การค้าไทย-แอฟริกาใต้

แอฟริกาใต้นับเป็นประเทศที่มีโครงสร้างทางเศรษฐกิจแข็งแกร่งที่สุดในทวีปแอฟริกาและมีเศรษฐกิจที่มีความหลากหลายทั้งภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และภาคบริการ นอกจากนี้ยังเป็นตลาดขนาดใหญ่และมีกำลังซื้อสูง ประกอบกับเป็นตลาดที่ดำเนินธุรกิจ

การค้ากับประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2552 (ม.ค.-พ.ค.) การส่งออกของไทยไปแอฟริกาใต้มีมูลค่า 55,872.50 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 22.95 ซึ่งสินค้าไทยที่มีศักยภาพได้แก่ ข้าว รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยางเป็นต้น ทั้งนี้เนื่องจากผู้บริโภคแอฟริกาใต้ส่วนใหญ่นิยมสินค้าที่มีคุณภาพ ถูกสุขอนามัย และควรได้รับการรับรองคุณภาพจากหน่วยงานของภาครัฐ ดังนั้นแอฟริกาใต้จึงนับเป็นตลาดที่มีโอกาสทางการลงทุนสูงของผู้ประกอบการไทย อย่างไรก็ตามขณะนี้เศรษฐกิจแอฟริกาใต้ตกอยู่ในภาวะถดถอยเช่นเดียวกับทุกประเทศทั่วโลก และเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2535 สืบเนื่องจากผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและการทำเหมืองแร่ลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งไตรมาสแรกของปี 2552 มีอัตราการขยายตัวลดลงร้อยละ 6.4 ซึ่งนับเป็นการปรับตัวลดลงมากที่สุดนับแต่ปี 2527 ด้วยเหตุนี้ผู้ประกอบการไทยควรเตรียมความพร้อมให้ดีก่อนการตัดสินใจลงทุน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ