อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ของอิตาลี

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 1, 2009 11:42 —กรมส่งเสริมการส่งออก

บทนำ

อุตสาหกรรมอาหารสัตว์แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่

1. อาหารสัตว์สำหรับการทำปศุสัตว์ที่นำมาเป็นอาหารของมนุษย์ เนื้อสัตว์ที่รับประทานในอิตาลี ได้แก่ วัว ลูกวัว ม้า แพะ แกะ ไก่งวง ไก่ หมู กระต่าย ปลา เป็นต้น อาหารสัตว์เป็นอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มการเติบโตดี ตามการขยายตัวของประชากรที่มีเพิ่มขึ้น ในอิตาลีสามารถทำปศุสัตว์ได้มากมาย ครอบคลุมสัตว์ที่ใช้เป็นอาหารทุกประเภท เนื่องจากมีสภาพภูมิอากาศไม่หนาวจัด เนื้อสัตว์ที่ผลิตในประเทศมีปริมาณเพียงพอสำหรับตลาดในประเทศ ผู้บริโภคก็มั่นใจในคุณภาพของเนื้อสัตว์ที่เลี้ยงในประเทศเอง ว่ามีความปลอดภัยและมีมาตรฐานสูง เนื่องจากมีมาตรการต่างๆที่ตรวจสอบแหล่งที่มาได้ทันที

2. อาหารสัตว์สำหรับสัตว์เลี้ยงในบ้าน (Pet food) ซึ่งสัตว์ที่นิยมเลี้ยงในบ้านมากที่สุดได้แก่ สุนัขและแมว สัตว์อื่นมีบ้างแต่จำนวนน้อยมาก ได้แก่ หนู เต่า ปลา นก เนื่องจากมีสัตว์หลายชนิดที่กฎหมายไม่อนุญาตให้เป็นสัตว์เลี้ยง นอกจากนี้การดูแลค่อนข้างยุ่งยาก เพราะสภาพอากาศที่หนาวเกือบตลอดปี ทำให้ต้องเลี้ยงอยู่ในบ้านเป็นส่วนใหญ่

อาหารที่เป็นวัตถุดิบในการนำมาผลิตอาหารเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ เนื้อสัตว์ พืช และธัญพืช ในอิตาลีมีไม่เพียงพอกับความต้องการ เพราะเศษเนื้อและชิ้นส่วนอวัยวะสัตว์ที่เหลือจากการชำแหละเอาเนื้อส่วนที่ใช้ในการบริโภคของมนุษย์แล้วมีไม่มาก ส่วนใหญ่ผู้ผลิตอาหารสัตว์ในประเทศรับไปผลิตอาหารสัตว์สำหรับการปศุสัตว์ ส่วนธัญพืชที่ใช้สำหรับเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด พืชตระกูลถั่ว ก็ปลูกได้เพียงบางช่วงอากาศ ระยะเวลาสั้นๆเท่านั้น ทำให้ต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ

การนำเข้า
มูลค่าการนำเข้าอาหารสัตว์ทั้งหมด

ในปี 2008

อิตาลีนำเข้าอาหารสัตว์ คิดเป็นมูลค่า 2.330,416 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20,97 เมื่อเทียบกับปี 2007 การนำเข้าเรียงตามมูลค่าดังนี้

อาเจนติน่า มีมูลค่า 785,049 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 28,58 เมื่อเทียบกับปี 2007 มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 33,69

ฝรั่งเศส มีมูลค่า 314,093 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1,33 เมื่อเทียบกับปี 2007 มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 13,48

เนเธอร์แลนด์ มีมูลค่า 147,224 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 15,60 เมื่อเทียบกับปี 2007 มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 6,32 บลาซิล มีมูลค่า 124,525 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 86,91 เมื่อเทียบกับปี 2007 มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 5,34

เยอรมัน มีมูลค่า 112,627 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16,24 เมื่อเทียบกับปี 2007 มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 4,83

ไทย (อันดับที่ 12) มีมูลค่า 50,339 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 26,19 เมื่อเทียบกับปี 2007 มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 2,16

ช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2009

อิตาลีนำเข้าอาหารสัตว์ คิดเป็นมูลค่า 301,119 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 27,08 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2008 การนำเข้าเรียงตามมูลค่าดังนี้

อาเจนติน่า มีมูลค่า 99,703 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 36,68 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2008 มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 33,11

ฝรั่งเศส มีมูลค่า 42,200 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 19,89 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2008 มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 14,01

บลาซิล มีมูลค่า 24,464 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 37,63 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2008 มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 8,12

เยอรมัน มีมูลค่า 15,987 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 32,11 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2008 มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 5,31

ไทย (อันดับที่ 10) มีมูลค่า 7,370 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 23,97 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2008 มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 2,45

โดยรายงานนี้จะกล่าวถึงอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยงในบ้าน (Pet food) ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกมาอิตาลีที่สำคัญมากสินค้าหนึ่ง

มูลค่าการนำเข้าอาหารสัตว์สำหรับสัตว์เลี้ยงในบ้าน (Pet food)

ในปี 2008

อิตาลีนำเข้าอาหารสัตว์เลี้ยงในบ้าน คิดเป็นมูลค่า 532,111 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 19,13 เมื่อเทียบกับปี 2007 โดยการนำเข้าเรียงตามมูลค่าดังนี้

ฝรั่งเศส มีมูลค่า 188,479 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 19,99 เมื่อเทียบกับปี 2007 มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 35,42

เบลเยียม มีมูลค่า 53,284 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 35,27 เมื่อเทียบกับปี 2007 มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 10,01

ไทย มีมูลค่า 50,339 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 26,32 เมื่อเทียบกับปี 2007 มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 9,46 อิตาลีนำเข้าอาหารสัตว์เลี้ยงในบ้านจากไทยมากที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศในเอเชีย และมีแนวโน้มการนำเข้าเพิ่มขึ้นตลอดเสมอมา

เยอรมัน มีมูลค่า 47,507 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0,21 เมื่อเทียบกับปี 2007 มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 8,93

ออสเตรีย มีมูลค่า 40,547 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 25,72 เมื่อเทียบกับปี 2007 มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 7,62

เดนมาร์ก มีมูลค่า 35,916 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8,16 เมื่อเทียบกับปี 2007 มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 6,75

นอกจากนี้ นำเข้าจาก สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฮังการี สเปน เป็นต้น

ช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2009

อิตาลีนำเข้าอาหารสัตว์เลี้ยงในบ้าน คิดเป็นมูลค่า 74,177 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 21,62 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2008 โดยนำเข้าเรียงตามมูลค่าดังนี้

ฝรั่งเศส มีมูลค่า 28,901 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 12,16 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2008 มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 38,96

เยอรมัน มีมูลค่า 8,811 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 19,60 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2008 มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 11,88

เบลเยียม มีมูลค่า 7,607 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 18,99 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2008 มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 10,26

ไทย มีมูลค่า 7,370 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 23,97 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2008 มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 9,94

ออสเตรีย มีมูลค่า 5,958 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 29,08 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2008 มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 8,03

ฮังการี มีมูลค่า 3,581 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 38,80 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2008 มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 4,83

การนำเข้าตั้งแต่ต้นปีมีแนวโน้มลดลงเกือบทุกประเทศ เนื่องจากผลกระทบจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ไทยจะส่งออกได้ลดลงในช่วงดังกล่าว แต่ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น และคาดว่าเมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวในช่วงหลังของปี การส่งออกก็จะดีขึ้น

ประเภทของอาหารสัตว์เลี้ยงในบ้าน

อาหารสัตว์เลี้ยงในบ้าน แบ่งเป็นอาหารเปียกและแห้ง อาหารเปียกจะเป็นอาหารที่เห็นส่วนประกอบอาหาร เช่น เนื้อ พืช และธัญพืช มักจะใส่ในเจราตินเหลว ส่วนอาหารแห้งจะเป็นอาหารเม็ด ซึ่งมีลักษณะต่างๆ ทั้งกลม แบบ รี ฯลฯ และมีหลายขนาด

อาหารเปียกหรือแห้ง ไม่มีความแตกต่างด้านโภชนาการทางอาหาร แต่เป็นเรื่องของความน่าทานและความสะดวกในการนำไปใช้มากกว่า อาหารสัตว์มากกว่าครึ่งเป็นอาหารเปียกประเภทอาหารกระป๋อง เพราะมีส่วนประกอบที่เป็นของเหลวและน้ำมาก น้ำหนักจึงมากกว่าอาหารแห้ง ผู้ซื้อจะนิยมซื้อกระป๋องขนาดเล็ก แบบกระป๋องละมื้อเดียว (300-600 กรัม สำหรับแมว 120 กรัม) หรือหลายมื้อ ไม่เกิน 2 วัน (600 กรัม -1 กิโลกรัม) และต้องเก็บในตู้เย็น ซึ่งอาหารสัตว์จะมีกลิ่นแรงมากเมื่อเปิดกระป๋องแล้ว จึงไม่เป็นที่นิยมเก็บไว้สำหรับมื้อต่อๆไปนัก

ส่วนอาหารแห้ง ส่วนใหญ่บรรจุในถุงหรือกล่องทำจากกระดาษหรือพลาสติก จะน้ำหนักเบากว่า เก็บรักษาง่าย สามารถซื้อขนาดใหญ่กว่าอาหารกระป๋อง

                                       การผลิตในประเทศ (ตัน)                    การนำเข้า (ตัน)
ประเภทอาหาร                       สุนัข        แมว        รวม          สุนัข         แมว         รวม
สำเร็จรูป (Complete)             266.092    134.225    400.317      156.679    112.912      269.591
อาหารหลักทั่วไป (Maintenence)     262.215    133.451    395.666      132.166    101.468      233.634
แห้ง                            193.466     77.869    271.335     97.484,5     31.777    129.261,5
เปียก                            68.749     55.582    124.331     34.681,5     69.691    104.372,5
อาหาร Diets                      3.877        774      4.651       24.513     11.444       35.957
แห้ง                              3.815        774      4.589       15.343      7.754       23.097
เปียก                                62          0         62         9.17       3.69        12.86
อาหารเสริม (Complementary)        10.58          0      10.58        4.414      5.383        9.797
แห้ง                             10.048          0     10.048           47         15           62
เปียก                                 0          0        ---        2.368      4.105        6.473
Biscuits & Snacks                  532          0        532        1.999      1.263        3.262
รวมทั้งสิ้น                        276.672    134.225    410.897      161.093    118.295      279.388

ช่องทางการกระจายสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงในบ้าน

1. Hyper and Supermarket คิดเป็นร้อยละ 38,9 (จำนวน supermarkets 8,885 แห่ง, hypermarkets 397 แห่ง) เน้นจำหน่ายสินค้าจำนวนมาก ราคาถูกถึงปานกลาง ยี่ห้อที่คนส่วนใหญ่เลือกซื้อ ผู้ซื้อมักเลือกซื้ออาหารสัตว์ในสถานที่นี้ เนื่องจากสามารถจ่ายกับข้าวพร้อมกันไปเลย ไม่เสียเวลา

2. Pet shops คิดเป็นร้อยละ 30,8 (จำนวน 3,738 แห่ง) มีสินค้าหลายหลายและที่หาไม่ได้ตามท้องตลาดทั่วไป และมักมีผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำปรึกษาและแนะนำสินค้า ผู้ซื้อต้องตั้งใจมาโดยเฉพาะ

3. Private Labels คิดเป็นร้อยละ 11,3 เป็นสินค้าที่มีลูกค้าเฉพาะกลุ่ม

4. Farm outlets คิดเป็นร้อยละ 8,7 (มีประมาณ 400 แห่ง) สินค้าส่วนใหญ่คุณภาพและราคาถูก เน้นขายปริมาณมาก

5. Garden and Do-It-Yourself Centers คิดเป็นร้อยละ 3,1 (จำนวน garden 150 แห่ง และ Do-It-Yourself Centers 600 แห่ง) สินค้ามีให้เลือกไม่หลายหลาก และเป็นเพียงส่วนน้อยเมื่อเทียบกับสินค้าอื่น

6. Discount stores คิดเป็นร้อยละ 3 สินค้าส่วนใหญ่คุณภาพต่ำ และราคาถูก

7. Direct sales to Consumers (breeders, kennels, organisations) คิดเป็นร้อยละ 2,2

8. Others (door-to-door selling, e-commerce) คิดเป็นร้อยละ 0,9

9. Traditional food stores คิดเป็นร้อยละ 0,8 ซึ่งเป็นร้านค้าประเภทโชห่วย ที่นับวันจะลดน้อยลงเรื่อย โดยเฉพาะในเมืองที่ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ขยายตัวมากขึ้น แต่ยังมีมากตามชนบท เมืองตามภูเขา

10. Veterinary Office คิดเป็นร้อยละ 0,3 สัตวแพทย์ส่วนใหญ่ยังไม่เห็นประโยชน์ทางด้านการค้าในการตั้งมุมขายสินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยง นอกจากจะยุ่งยากในการจัดการสินค้าระหว่างต้องดูแลรักษาสัตว์แล้ว ยังมีเรื่องการเสียภาษีที่ซับซ้อนและยุ่งยาก อาจไม่คุ้มค่าใช้จ่ายหากขายได้จำนวนน้อย ยกเว้น การขายสินค้าอาหารและยาเฉพาะอย่างที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและการดูแลสัตว์ที่นำมารักษา และที่สำคัญคือความรู้สึกถึงจรรยาบรรณแพทย์

ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงในบ้าน (Pet food)

อาหารสุนัขและแมวที่มีจำหน่ายในท้องตลาดอิตาลี เป็นยี่ห้อของบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ ที่ผู้บริโภคทั่วโลกรู้จักดีอยู่แล้ว ครอบคลุมส่วนแบ่งตลาดเกือบทั้งหมด เนื่องจากมีสินค้าหลากหลาย และราคาปานกลาง ได้แก่

  • บริษัท NESTLE' (ยี่ห้อ Alpo, Fancy Feast, Friskies, Mighty Dog, Bull, Fido, Pro Plan, Purina, Felix, Fufi)
  • บริษัท HEINZ (ยี่ห้อ 9 Lives, Amore, Gravy Train, Kibbles n Bits, Recipe, Vets)
  • บริษัท COLGATE-PALMOLIVE (ยี่ห้อ Hill's Science Diet, Hill’s Prescription Diet)
  • บริษัท PROCTER & GAMBLE (ยี่ห้อ Eukanuba, Iams)
  • บริษัท MARS (ยี่ห้อ Kal Kan, Mealtime, Pedigree, Sheba, Chappi, Cesar, Royal Canin, Frolic, Whiskas, Kitekat)

ปัจจุบัน มีการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงที่ไม่ใช้เนื้อ (Vegetarian or Cruelty-free) ซึ่งมีการทดสอบแล้วว่าสุนัขที่เป็นสัตว์ทานเนื้อ สามารถปรับสภาพร่างกายให้ทานอาหารดังกล่าวแทนอาหารที่ประกอบด้วยเนื้อสัตว์ได้เป็นอย่างดี แต่ควรปรึกษาสัตว์แพทย์ให้เป็นผู้วางแผนการทานอาหารในระยะแรก และค่อยๆเปลี่ยนจากทานเนื้อมาทานพืชแบบค่อยเป็นค่อยไป ในระยะยาวพบว่าสุขภาพของสุนัขจะแข็งแรงขึ้น และไม่ค่อยเป็นโรค อาหารจำพวกพืชหลากชนิดสามารถครอบคลุมความต้องการทางโภชนาการได้ เช่นมีโปรตีนเหมือนเนื้อสัตว์ และย่อยง่ายกว่า อีกทั้งไม่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ เพราะอาหารสัตว์ส่วนใหญ่ทำมาจากเนื้อสัตว์คุณภาพต่ำที่ไม่ใช้สำหรับการบริโภคของมนุษย์ และจากอวัยวะที่เหลือจากการชำแหละเพื่อการบริโภคของมนุษย์ เช่น กระดูก สมอง เครื่องใน เล็บ ขน ฯลฯ นำมาผ่านกรรมวิธีทำเป็นผงแป้ง เพื่อนำไปผสมกับส่วนผสมอื่นๆในการผลิตอาหารสัตว์ การใช้เศษซากอาหาร สัตว์ฆ่าด้วยยา หรือเป็นโรค ดังกล่าว ยังเป็นที่กังขาขององค์กรเพื่อสุขภาพหลายแห่งว่าจะส่งผลต่อจิตใจและสุขภาพของสัตว์ที่เลี้ยง อย่างเช่น กรณีโรควัวบ้า ที่เคยเป็นข่าวมาแล้ว หากการผลิตไม่ได้มาตรฐานเพียงพอ ซึ่งมักจะมีผู้ผลิตที่ละเมิดกฎระเบียบ หละหลวมต่อความสะอาด ทำให้อาหารสัตว์กลับเป็นโทษต่อสุขภาพของสัตว์เลี้ยง ก่อเกิดโรคต่างๆในระยะยาว เช่น โรคมะเร็ง โรคอ้วน หรือโรคหัวใจ หรือทำให้ถึงตายได้ในระยะสั้น เช่น กรณีอาหารสัตว์ปนเปื้อนสารเมลามีน ที่ก็เคยเจอแล้วในอิตาลี จนต้องประกาศเรียกเก็บสินค้าที่ปนเปื้อนมาทำลาย

การผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงในบ้านที่ใช้เนื้อของสัตว์ขนาดใหญ่ สัตว์แพทย์ชี้แจงว่าไม่ใช่ความจำเป็นด้านโภชนาการ แต่เป็นผลประโยชน์ทางการค้ามากกว่า เพราะโดยธรรมชาติของสุนัข ไม่เคยล่าสัตว์ใหญ่เป็นอาหารอยู่แล้ว การนำเอาซากเหลือของสัตว์ใดก็ตาม ไม่ว่าจะขนาดใหญ่หรือเล็กมาผลิตอาหารสัตว์เป็นวิธีการ recycle ของเหลือ ที่ดีกว่าการทำลายทิ้งเปล่าๆนั่นเอง ฉะนั้น เจ้าของสัตว์เลี้ยงจึงควรปรึกษาข้อมูลด้านอาหารกับสัตว์แพทย์ และเลือกซื้ออาหารที่เหมาะกับสัตว์เลี้ยงตน โดยไม่หลงเชื่อคำโฆษณา

มีชุมนุมผู้คุ้มครองสัตว์ในอิตาลี (www.animalsavingclub.com) พยายามให้ความรู้ถึงโทษของการใช้วัตถุดิบที่เรียกได้ว่าเป็นซากเนื้อเศษเหลือ และพืชในข่าย OGM เพราะมีความเป็นห่วงด้านความปลอดภัยของอาหาร เพราะท้ายที่สุดสัตว์เลี้ยงเหล่านั้นก็กลายมาเป็นอาหารของมนุษย์อีกทอดหนึ่ง และมนุษย์เองก็เป็นผู้ได้รับโทษ หรือสัตว์เลี้ยงในบ้านที่ต้องรับเคราะห์จากโรคภัยที่สั่งสมอันเกิดจากการทานอาหารสัตว์ที่มีเชื้อโรคหรือไม่ถูกสุขลักษณะ รวมถึงการคุ้มครองในแง่คุณธรรม ด้วยการต่อต้านและประจานผู้ผลิตที่ยังทำการค้นคว้าวิจัยและทดลองกับสัตว์มีชีวิต

ในอิตาลีมีผู้ผลิตอาหารสัตว์ประเภท Vegetarian or Cruelty-free ไม่มากนัก และราคาแพงกว่าที่ผลิตจากผู้ผลิตข้ามชาติรายใหญ่ แต่อนาคตของอาหารสัตว์ประเภทนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้นมาก เหมือนกับที่ปัจจุบันผู้บริโภครู้จักและหันมาใส่ใจกับสินค้าเกษตรอิทรีย์มากขึ้น เพราะความไม่แน่ใจในความปลอดภัยของอาหาร สำหรับสัตว์เลี้ยงก็เช่นกัน ผู้ที่เลี้ยงสัตว์ในปัจจุบันมีแนวโน้มลดลง ใช้อาหารสัตว์สำเร็จรูปมากขึ้น ดูแลเอาใจใส่สัตว์ดีขึ้น และต้องการสินค้าที่ปลอดภัยให้กับสัตว์เลี้ยงของตน โดยให้ความสำคัญกับการเลือกสินค้าอาหารสำเร็จรูปอย่างมาก

ลู่ทางและโอกาสทางการค้าอาหารสัตว์ไทย

ประเทศไทยยังสามารถส่งออกวัตถุดิบสำหรับผลิตอาหารสัตว์ได้อีกมาก เนื่องจากมีความเชี่ยวชาญด้าน ปศุสัตว์ และปลูกพืชที่ใช้ผลิตอาหารสัตว์ได้ตลอดปี ได้แก่ พืชตระกูลถั่ว ข้าว ข้าวโพด และธัญพืช จึงมีศักยภาพในการป้อนวัตุดิบให้ตลาดต่างประเทศในปริมาณมากและต่อเนื่อง แม้แต่การรับจ้างหรือผลิตอาหารสัตว์สำเร็จรูปเอง ก็มีโอกาสการทำตลาดสูง เนื่องจากมีวัตถุดิบพร้อมและราคาถูก อีกทั้งแนวโน้มการใช้อาหารสัตว์สำเร็จรูปมีเพิ่มขึ้นตลอด นอกจากความสะดวกในการใช้แล้ว ยังประหยัดค่าใช้จ่ายและทุ่นเวลาในการเตรียม มีความปลอดภัยด้านอาหารสูง และควบคุมปริมาณการให้ได้ดีกว่ากว่าอาหารที่เตรียมเอง เพราะมีระบุคุณค่าทางโภชนาการ และปริมาณในการให้

นอกจากนี้ ผู้ผลิตอาหารสัตว์อิตาลีมีแนวโน้มในการจ้างผลิตหรือหาสินค้าจากต่างประเทศมากขึ้น เพราะความไม่แน่นอนของอากาศ ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ทำให้ได้ผลผลิตทางการเกษตรที่ไม่แน่นอน ไม่เพียงพอและราคาแพง รวมถึงเนื้อสัตว์ที่ราคาแพงในยุโรป เนื้อที่นิยมใช้คือเนื้อไก่และหมูสำหรับอาหารสุนัข และเนื้อปลาสำหรับอาหารแมว ประเทศไทยก็มีศักยภาพในการเลี้ยงที่ได้มาตรฐานสากลอยู่แล้ว

สำหรับผู้ประกอบการไทย ควรศึกษาแนวโน้มสินค้าและความเคลื่อนไหวของตลาด เพื่อเป็นประโยชน์ในการนำไปผลิตอาหารสัตว์ที่ตลาดต้องการ ซึ่งประเทศไทยได้เปรียบด้านวัตถุดิบและค่าจ้างแรงงาน และควรศึกษาค้นคว้าการผลิตอาหารสัตว์ที่มีความเสี่ยงต่อโรคภูมิแพ้ต่ำ ซึ่งเป็นโรคที่เป็นมากในสัตว์เลี้ยงปัจจุบัน

ข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง (สุนัขและแมว) ในอิตาลี

1. จำนวนสุนัขและแมว

ปัจจุบันมีสัตว์เลี้ยงที่มีเจ้าของมาขอขึ้นทะเบียนไว้แล้วจำนวน 4.491.396 ตัว ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2006 ซึ่งมีประมาณ 6 ล้านตัว ในความเป็นจริง คาดว่ามีสุนัขและแมวรวมกันถึง 14 ล้านตัว และที่ตกสำรวจอีกมาก เพราะเจ้าของไม่นำสัตว์มาขึ้นทะเบียน

การนำสัตว์มาเลี้ยง เป็นภาระทั้งด้านเวลาและค่าใช้จ่าย อีกทั้งมีความผิดตามกฎหมาย หากเจ้าของนำไปปล่อย หรือละเลยไม่เลี้ยงดูให้ดีจนเข้าข่ายทรมานสัตว์ ทำให้คนที่อยากมีสัตว์เลี้ยง ต้องไตร่ตรองให้รอบคอบ สัตว์เลี้ยงจึงไม่ใช่สิ่งของสำหรับให้เป็นของขวัญเด็กหรือคนรักเหมือนในอดีตอีกต่อไป ซึ่งคนรับเองอาจจะรู้สึกหนักใจมากกว่าดีใจ เพราะกลายเป็นภาระด้านค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูและความรับผิดชอบด้านจิตใจต่อสัตว์

นอกจากนี้ เจ้าของสัตว์เลี้ยงต้องใส่ใจศึกษากฎระเบียบที่เข้มงวดมากมาย ที่มีบทลงโทษที่รัดกุมและหนักขึ้น เช่น

  • ต้องอบรมให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในสังคมได้โดยไม่รบกวนผู้อื่น โดยเฉพาะที่อยู่ในพื้นที่จำกัดอย่างอพาทเม้นท์ ที่กฎหมายไม่ห้ามการมีสัตว์เลี้ยง แต่เจ้าของต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการเห่าเสียงดังที่ทำลายความสงบของหลายครัวเรือน ความดุร้ายและอาจทำร้ายหรือขู่คนให้กลัว การทำความสกปรกแก่ที่สาธารณะ เป็นต้น ปัจจุบันสามารถทำประกันภัยให้กับสัตว์เลี้ยง โดยมีค่าใช้จ่ายประมาณ 150-200 ยูโรต่อปี เพื่อคุ้มครองความเสียหายกรณีที่สุนัขหรือแมวไปสร้างความเสียหายแก่สิ่งของ หรือทำร้ายคน ในทางตรงกันข้ามก็คุ้มครองเมื่อสุนัขได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ
  • เจ้าของต้องทราบว่าสุนัขที่เลี้ยงเป็นพันธุ์อะไร หากเป็นสุนัขขนาดใหญ่ หรือเป็นพันธุ์ที่มีนิสัยดุร้าย ตามกฎหมายระบุไว้ ต้องสวมปลอกปากและมีสายจูงเสมอเมื่ออยู่ในสถานที่สาธารณะ และต้องโกยอุจจาระสัตว์เลี้ยงไปทิ้งเมื่อพาไปถ่ายนอกบ้าน มิฉะนั้นก็จะได้รับโทษปรับ
  • ต้องทำความสะอาด อาบน้ำ ตัดขน แปรงฟัน พาไปตรวจร่างกาย ฉีดวัคซีน พาออกไปออกกำลังกายวิ่งเล่นกลางแจ้ง หากสัตว์เลี้ยงไม่ได้ออกกำลังกาย จะทำให้เกิดโรคอ้วนได้ง่าย และเกิดความซึมเศร้า การเลี้ยงสัตว์เลี้ยงในที่จำกัด และปล่อยสัตว์อยู่ตามลำพังเสมอ เพราะเจ้าของต้องไปทำงาน และไม่มีใครอยู่บ้าน อาจก่อปัญหาสุขภาพจิตร้ายแรงต่อสัตว์ได้

2. การขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง

ประเทศอิตาลีได้ออกกฎหมายใช้ตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2008 บังคับให้เจ้าของสุนัขนำสุนัขหรือแมว(ไม่บังคับ) ไปขึ้นทะเบียนที่สาธารณสุขประจำอำเภอที่ตั้งของที่อยู่อาศัย หรือกับสัตว์แพทย์ที่ขึ้นกับกระทรวงสาธารณสุข โดยจะฝัง microchip ขนาดเล็กมากให้สุนัข ที่ประกอบด้วยหมายเลข 15 หลัก ที่นำไปค้นหาข้อมูลของสุนัขและเจ้าของได้ เจ้าของสุนัขที่ไม่นำสุนัขไปขึ้นทะเบียน เมื่อถูกตรวจพบ จะถูกโทษปรับระหว่าง 25-125 ยูโร สำหรับสุนัขเกิดใหม่ ต้องนำไปขึ้นทะเบียนตั้งแต่อายุได้ไม่เกิน 2 เดือน ก่อนหน้านี้ก็สามารถนำสุนัขไปขึ้นทะเบียน แต่เป็นความสมัครใจ ไม่เป็นกฎหมายบังคับเหมือนปัจจุบัน และใช้วิธีสลักข้อมูลบนผิวหนัง (Tatoo) ซึ่งเมื่อขนสุนัขยาวก็บดบัง อ่านข้อมูลลำบาก หรืออาจคลาดเคลื่อน จางเลือน จึงได้เปลี่ยนมาใช้ microchip อย่างเดียวตั้งแต่เดือนมกราคม 2005

การขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง มีจุดประสงค์ดังนี้

1. เพื่อตามหาเจ้าของเมื่อพบสุนัขหรือแมวหลงทาง ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยใครก็ตามที่พบ ให้เข้าไปเวปไซด์ http://nsis.sanita.it/NACC/anagcaninapublic_new/home.jsp ของกระทรวงสาธารณสุข ใส่รหัส microchip ที่พบบนตัวสัตว์ ก็จะได้ข้อมูลทั้งสัตว์และเจ้าของ

2. เพื่อป้องกันการนำไปปล่อยทิ้งเมื่อไม่ต้องการเลี้ยงแล้ว เจ้าของจะถูกลงโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี และปรับระหว่างหนึ่งพันถึงหนึ่งหมื่นยูโร แต่ละปีมีสถิติการปล่อยทิ้งสัตว์เลี้ยงเสมอ โดยเฉพาะช่วงใกล้เข้าหน้าร้อน ที่คนมักเดินทางไปพักผ่อนยาว การนำสัตว์เลี้ยงไปด้วย ทำให้ไม่สะดวก และที่พักส่วนใหญ่ไม่ต้อนรับสัตว์เลี้ยง หรือรับเฉพาะที่มีขนาดเล็ก การเอาไปฝากในสถานรับเลี้ยงชั่วคราว ก็มีค่าใช้จ่ายสูง ทำให้คนที่นำสัตว์มาเลี้ยงเสมือนของเล่น มักนำไปปล่อย และสัตว์เหล่านี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุตามท้องถนน และที่น่าสลดใจคือ สถิติการทิ้งสัตว์เลี้ยงในปีนี้ส่งสัญญาณแล้วว่าเพิ่มขึ้นกว่าเดิม โดยมีสาเหตุมาจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ

3. เพื่อลดจำนวนสุนัขและแมวจรจัดและจำกัดการแพร่พันธุ์ของสัตว์ดังกล่าว เมื่อเจ้าหน้าที่พบสัตว์จรจัดไม่มี microchip หาเจ้าของไม่ได้ จะทำหมัน พร้อมฉีดวัคซีนป้องกันโรคบ้าให้ทันทีและปล่อยไป (ถ้าสถานสงเคราะห์ในท้องถิ่นนั้นมีสัตว์แออัดจนไม่สามารถรับสมาชิกใหม่เพิ่มได้) และเพื่อป้องกันอันตรายจากสุนัขและแมวจรจัดที่มักจะดุร้าย หรือการติดเชื้อโรคจากความสกปรกของสัตว์เร่ร่อนเหล่านั้น

4. สามารถขอทำ Passport เพื่อใช้เดินทางทั้งทางอากาศ ทางรถไฟ ทางเรือ ซึ่งปัจจุบันต้องนำสัตว์เลี้ยงขึ้นทะเบียนก่อนจึงขอทำเอกสารดังกล่าวได้ ค่าใช้จ่ายในการทำ ประมาณ 60 ยูโร หากจะนำสัตว์เลี้ยงเดินทางด้วย โดยเฉพาะไปต่างประเทศ ควรเตรียมการล่วงหน้านานๆและศึกษากฎระเบียบให้ดีเสียก่อน เนื่องจากอย่างน้อยที่สุดต้องแสดงใบตรวจสุขภาพ และฉีดวัคซีนไม่ต่ำกว่าอย่างน้อยกี่วัน และวัคซีนประเภทไหนบ้าง รวมถึงข้อห้ามและข้อจำกัดต่างๆที่สายการบิน เรือ รถไฟ แต่ละประเทศกำหนดไว้ และห้ามนำสัตว์เลี้ยงที่อายุต่ำกว่า 3 เดือน เข้าอิตาลีและสหภาพยุโรป

5. สามารถบันทึกและเรียกดูข้อมูลสัตว์และสถิติการฉีดวัคซีนหากมีการเปลี่ยนเจ้าของ ย้ายที่อยู่อาศัย หรือสุขนัขและแมวตาย ต้องแจ้งสำนักงานที่เกี่ยวข้องภายใน 15 วัน

งานแสดงสินค้าเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง

งานแสดงสินค้าระดับนานาชาติที่เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง อาหารและอุปกรณ์เครื่องใช้สำหรับสัตว์เลี้ยงที่สำคัญที่สุดของอิตาลี ได้แก่ ZOOMARK (www.zoomark.it) จัดขึ้นปีละครั้ง ในเดือนพฤษภาคม ณ ศูนย์แสดงสินค้าเมืองโบโลญญ่า

สามารถตรวจสอบและหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

1. สมาคมผู้ประกอบการด้านอาหารสัตว์เลี้ยงในบ้าน (www.assalco.it)

2. กระทรวงสาธารณสุขอิตาลี (www.ministerosalute.it/caniGatti/caniGatti.jsp)

หากผู้ผลิต/ผู้ส่งออกไทยต้องการรายละเอียดหรือให้ประสานงานใดเพิ่มเติม สามารถติดต่อ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโรม ได้ที่ Via Erminio Spalla 41, 00142 Rome โทรศัพท์ +39 06 5030804 โทรสาร +39 06 5030805 E-mail:thaitcrome@thaitcrome.it

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโรม

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ