ธุรกิจค้าปลีกในประเทศจีน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 3, 2009 16:08 —กรมส่งเสริมการส่งออก

จีนยังคงมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มั่นคงจากการเปิดประเทศทั้งความมั่นคงทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เช่นเดียวกับการพัฒนาทางด้านการลงทุนจากต่างชาติ แต่การพึ่งพาทางด้านส่งออกแต่อย่างเดียวก็สร้างผลกระทบให้แก่โครงสร้างเศรษฐกิจของจีนไม่น้อยเนื่องจากตลาดหลักลดการนำเข้าลงอย่างมาก อย่างไรก็ตามเมื่อรักษาสมดุลย์ของเศรษฐกิจ รัฐบาลต้องพยายามที่จะกระตุ้นให้มีการบริโภคภายในประเทศให้มากขึ้น

เมืองใหญ่มีการขยายตัวสูงขึ้น โดยเกิดจากการที่คนงานอพยพเข้ามาทำงานในเมืองใหญ่ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เช่น เซียงไฮ้และปักกิ่งทำให้เกิดความต้องการที่อยู่อาศัย ส่งผลให้อสังหาริมทรัพย์มีความต้องการสูงขึ้นเรื่อยๆ รวมไปถึงยอดจำหน่ายของสินค้าที่เกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัยเช่น เฟอร์นิเจอร์และเครื่องไฟฟ้าด้วย

การเติบโตของธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่เกิดจากการรวมตัวของห้างระดับใหญ่ เช่น Dazhong รวมตัวกับ Yongle เมื่อปี 2549 ทำให้ปัจจุบัน Dazhong กลายเป็นห้างค้าปลีกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในปักกิ่ง ขณะที่ Wal-Mart ซึ่งเป็นการลงทุนต่างชาติครองส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 35

เมื่อปลายปี 2550 มีการออกระเบียบผ่อนผันการควบคุมธุรกิจขายตรงให้มีอิสระมากขึ้น ทำให้ในช่วงที่ผ่านมีการเติบโตทางธุรกิจค้าปลีกแบบไม่ผ่านร้าน (Non-store Retailing) ประเภทนี้มากขึ้นโดยเฉพาะจากบริษัท Amway และ Avon

รัฐบาลจีนมุ่งเน้นการบริโภคในประเทศ

เศรษฐกิจจีนยังไปได้ดี เพราะ GDP ยังเติบโตสูงถึง 9.8 ในปี 2551 จากที่เดิมเติบโตด้วยเลขสองหลักมาตลอด (ร้อยละ 11 ในปี 2550) ด้วยปัจจัยจากความมั่นคงทางการเมืองและสังคม พัฒนาการทางด้านการผลิตและการลงทุนจากต่างประเทศ ยังเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

แต่เพื่อมิให้ตัวเลขการเติบโตนี้ก้าวเร็วเกินไป รัฐบาลจีนได้กระตุ้นให้เกิดการบริโภคภายในประเทศเพิ่มรายได้ปรับปรุงการจ่ายเงินบำนาญให้แก่ผู้เกษียณอายุ ยกเลิกภาษีสินค้าเกษตร ซึ่งจะเพิ่มรายได้ให้ประชากรได้จับจ่ายใช้สอย อีกทั้งรัฐบาลกลางยังเพิ่มเงินอุดหนุนด้านสุขภาพ และการศึกษา เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคอีกด้วย

ด้วยปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ทำให้ตัวเลขค้าปลีกในปี 2550 เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 13 ทั้งจากระบบค้าปลีกแบบมีร้านและไม่มีร้าน (Store-based retailing and Non store retailing)

เพื่อสร้างความมั่นใจให้ระบบเศรษฐกิจโดยรวม ธนาคารได้ลดกฏเกณฑ์ในการใช้บัตรเครดิตลง ทำให้มีผู้ถือและใช้บัตรเครดิตมากขึ้น รวมถึงบัตรเครดิตเฉพาะของห้างค้าปลีกเองด้วย ซึ่งให้ประโยชน์โดยตรงทั้งกับผู้บริโภคและห้างที่ขายสินค้าคงทนเช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ ซึ่งมีราคาสูง การซื้อด้วยระบบเครดิตและระบบผ่อนทำให้การตัดสินใจซื้อทำได้ง่ายขึ้น ธุรกิจค้าปลีกแบบไม่มีของชำ(Non Grocery Retailing) จึงเพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 17 พฤติกรรมการใช้เครดิตจะทำให้คนใช้จ่ายด้วยเงินสดน้อยลง โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ แถมบัตรเครดิตของห้างค้าปลีกหรือห้างสรรพสินค้ายังมีโปรโมชันเช่นลดราคาสินค้าร้อยละ 5 เป็นต้น ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น

จำนวนชนชั้นกลางในจีนเพิ่มขึ้น เนื่องจากรายได้ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะคนที่ทำงานในบริษัทไฮเท็ค บริษัทต่างชาติ หรือสถาบันการเงิน และนักลงทุนใหม่ๆ คนกลุ่มนี้จะมีการจับจ่ายใช้สอยค่อนข้างสูงโดยเฉพาะกับสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆในชีวิต

คนกลุ่มนี้จะซื้อสินค้าจากห้าง แทนที่จะเป็นของถูกๆตามตลาดของที่คนกลุ่มนี้หาซื้อคือของดีๆ มีคุณภาพจากสถานที่ที่สะดวกสบาย ร้านแฟชั่นต่างประเทศ เช่น H&M และ ZARA ได้รับความนิยมจากกลุ่มนี้มาก

คนกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มเป้าหมายของสินค้า High-end ซึ่งจะชอบช้อปปิ้งในศูนย์การค้าห้างสรรพสินค้า ที่สะอาดโอ่โถงสามารถซื้อทุกอย่างได้ในที่เดียว รวมทั้งยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกเช่นโรงหนัง ร้านอาหารด้วย

ห้างค้าปลีกข้ามชาติเข้ามาในจีนหลังจากที่มีการผ่อนปรนเรื่องการครอบครองของต่างชาติมากขึ้นนับแต่ปลายปี 2547 ห้างเหล่านี้จะบุกตลาดเต็มที่โดยเฉพาะในเรื่องราคาสินค้าและการขยายสาขาของร้านทั้งในเมืองและชานเมือง จากนั้นก็เพิ่มการลงทุนเป็น 100% หรือเข้าถือหุ้นจากคู่ค้าเดิมของตนเพิ่มขึ้นเมื่อกฎหมายการลงทุนถูกยกเลิกไป

เมื่อมีคู่แข่งที่ทำการบุกตลาดอย่างแข็งขันเช่นนี้ทำให้ผู้ค้าปลีกในประเทศต้องมีการปรับตัวส่วนหนึ่งคือการขยายสาขาให้มากกว่าคู่แข่งต่างชาติ เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับระบบแฟรนไชส์ของตน และพร้อมสำหรับการแข่งขันต่อไป แต่หลายรายเลือกที่จะอยู่ในท้องถิ่นและรักษาส่วนแบ่งตลาดของตนไว้ ทำเลดีๆ ของร้านเริ่มหายากและค่าเช่าก็สูงขึ้นเรื่อยๆ การค้าปลีกนับวันยิ่งจะกลายมาเป็นเกมของตลาดทุนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

เห็นได้ชัดว่ามูลค่าหุ้นของบริษัทค้าปลีกของจีนโดดเด่นมากในตลาดหุ้นในฮ่องกงและในประเทศสิงคโปร์ ส่วนใหญ่เป็นเชนสโตร์สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องใช้ในบ้าน เช่น GOME Electrical Appliances Holding Ltd ., Sunning Appliance Chain Store ( Group) Co.Ltd และ Wumart Store Inc.

การลงทุนของค้าปลีกต่างชาติ

เพื่อเข้าเป็นสมาชิก WTO จีนต้องเปิดระบบการกระจายสินค้าให้เป็นเสรีเปิดกว้างให้การค้าส่ง ค้าปลีกเอเยนต์ ระบบแฟรนไชส์ และการขายตรงซึ่งถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงหลักของประเทศ

บริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนด้านการค้าในจีนต้องดำเนินการภายใต้เงื่อนไขต่างๆดั้งนี้ เงินทุนจดทะเบียนขั้นต่ำคือ 500,000 หยวน ( ประมาณ 2,507,575 บาท ) สำหรับค้าปลีก ระยะเวลาในการลงทุนคือ 30—40 ปี แล้วแต่ที่ตั้ง

สำหรับบริษัทลงทุนต่างชาติจะต้องทำตามกฎเกณฑ์ ในเรื่องการเปิดร้านค้าปลีก คือจะต้องขอเปิดพร้อมการยื่นขอจัดตั้งบริษัท จะต้องทำตามกฎหมายเขตการค้าของเมืองที่ตั้งอยู่ ถ้าจะขอเปิดสาขาเพิ่มหลังจากนั้นแล้ว ต้องผ่านการตรวจประจำปีรวมถึงรายละเอียดด้านเงินลงทุนอีกด้วย

นับจากวันที่ 11 ธันวาคม 2547 เป็นต้นมา บริษัทข้ามชาติที่ได้รับอนุมัติให้เข้ามาดำเนินการค้าส่ง ค้าปลีกจะเข้ามามีบทบาทในจีนมากขึ้นบริษัทเหล่านี้จะนำเข้าสินค้าเพื่อธุรกิจค้าปลีกของตน ส่งออกสินค้าที่มีการฐานการผลิตในจีน และธุรกิจที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ในส่วนของการค้าส่งบริษัทต่างชาติสามารถค้าส่งสินค้า นำเข้าและส่งออกสินค้าและธุรกิจที่เกี่ยวข้องอื่นๆ และจากเดือนมิถุนายน 2547 เป็นต้นมา ก็จะได้รับอนุญาตให้บริหารจัดการระบบแฟรนไชส์เพิ่มมาได้อีกด้วย

รัฐบาลท้องถิ่นมีอำนาจในการอนุมัติห้างค้าปลีกข้ามชาติได้ไม่เกิน 3 แห่ง โดยต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 3,000 ตารางเมตร จึงมีห้างในจีนได้ไม่เกิน 30 แห่ง รัฐบาลท้องถิ่นยังสามารถอนุมัติร้านค้าปลีกขนาดไม่เกิน 300 ตารางเมตร ได้ไม่เกิน 30 แห่ง โดยรวมแล้วทั่วประเทศจะมีร้านขนาดเล็กในจีนได้ไม้เกิน 300 แห่งเท่านั้น

  • ภายใต้กฎระเบียบของ WTO รัฐบาลจีนต้องออกกฎหมายเอื้อต่อการลงทุนของต่างชาติ ซึ่งเดิมมีการคุมเข้มโดยเฉพาะทางด้านการกระจายสินค้า
  • กฎระเบียบด้านการลงทุนต่างประเทศในธุรกิจค้าปลีกในประเทศซึ่งมีผลตั้งแต่ 1 มิถุนายน 2547 เปิดช่องให้การเข้ามาลงทุนในด้านกระจายสินค้าและค้าปลีกทำได้ง่ายขึ้น
  • ธุรกิจที่รัฐอนุญาตต่างชาติให้เข้ามาลงทุนมี 4 รูปแบบคือ ค้าปลีก ค้าส่ง แฟรนไชส์และธุรกิจตัวแทนจำหน่าย โดยบริษัทต่างชาติต้องเริ่มต้นด้วยแบบของ Foreign — Invested Commercial Enterprise (FICE) เพื่อที่จะดำเนินธุรกิจกระจายสินค้าได้ และจะได้รับสิทธ์ในการชำระภาษีในอัตราเดียวกับบริษัทในประเทศ
ค้าปลีกนอกระบบ

ไม่มีสถิติการค้าสำหรับค้าปลีกนอกระบบ ซึ่งส่วนหนึ่งของธุรกิจคือ สินค้าปลอมและ on line shopping ซึ่งไม่มีการชำระภาษีตามข้อมูลของนสพ. เศรษฐกิจ Nan Hua Morning Post และ Sunday Telegraph บอกว่ามูลค่าของธุรกิจนี้เมื่อปี 2549 สูงถึง 16 พันล้านเหรียญสหรัฐ

สินค้าหลักได้แก่ เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋าแบรนด์เนม และแม้แต่ผลิตภัณฑ์ IT เนื่องจากจีนได้กลายเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเลียนแบบลิขสิทธิ์ใต้ดินที่ใหญ่ที่สุดของโลกสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปค้นพบว่าสินค้าเลียนแบบลิขสิทธิ์ที่ตรวจพบในประเทศตนล้วนแล้วแต่มาจากจีน

สินค้าเหล่านี้จะพบได้ทุกหนทุกแห่งโดยเฉพาะที่ตลาด Yiwu ใน Zhejiang ซึ่งที่นี้แห่งเดียวมีสินค้ายอดขาย 32 พันล้านหยวนในปี 2547 ซึ่งร้อยละ 90 เป็นสินค้าเลียนแบบลิขสิทธิ์ โดยกล่าวกันว่า เมื่อมีสินค้าออกใหม่เช่น รองเท้ากีฬาAdidas ร้านใน Yiwa สามารถลอกเลียนแบบได้ภายใน 4 วัน โดยมีมูลค่าเพียงคู่ละ 4 เหรียญสหรัฐ เท่านั้น ตลาด Yiwa จึงสามารถดึงดูดพ่อค้าจากทั่วโลกมาซื้อสินค้าประเภทนี้ได้ปีละมากๆ

ตลาดใหญ่ของสินค้านอกระบบมี 4 แห่งคือ ตลาด Hanzhen ในเมือง Wuhen จังหวัด Hubei ตลาด Lingi ในจังหวัด Shandong ตลาด Shijianzhuang Nansantiao ในจังหวัด Hebei ตลาด Shenyang Wuai ในจังหวัด Liaoning

ช่องทางในการขายสินค้านอกระบบคือ ทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งไม่ต้องเสียภาษี ตัวเลขจากสมาชิกอินเทอร์เน็ตจีนระบุว่าการค้า on line รวมแล้วมีมูลค่าถึง 40 พันล้านหยวน ในปี 2549 ซึ่งในจำนวนนี้เป็นสินค้าไม่เสียภาษีถึงร้อยละ 90

พื้นที่ค้าปลีก

ตามเมืองใหญ่ เช่น ปักกิ่ง, เซี่ยงไฮ้ และกวางโจว ตามศูนย์กลางจะมีร้านค้าปลีกขนาดเล็กมากมาย ส่วนห้างขนาดใหญ่เช่น ห้างค้าปลีกและห้างสรรพสินค้าที่อยู่ในเมืองจะมีไม่มากนักและจะไปเปิดนอกเมืองซึ่งใกล้ที่อยู่อาศัยของประชากรมากขึ้น

เพื่อจะดึงดูดลูกค้าฐานะดี ค้าปลีกแบรนด์ดังๆ พยายามจะอยู่ตามใจกลางเมืองหรือย่านธุรกิจซึ่งใกล้ๆ กับที่อยู่ของลูกค้าเป้าหมาย

ในศูนย์การค้าจะมีสินค้าหลายชนิดหลายราคาทำให้ลูกค้ามีโอกาสเลือกมากขึ้น เนื่องจากศูนย์การค้าจะมีบรรยากาศที่ดีกว่า มีการเปิดแอร์และเครื่องทำความร้อน รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย จึงดึงดูดลูกค้าได้มากกว่าร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิมทั่วไป

ค้าปลีกแบบออนไลน์
ผู้นำในการค้าปลีกแบบไม่มีร้าน (Non Store Retailing)

จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตของจีนเติบโตขึ้นอย่างมาก เช่นเดียวกับการสั่งซื้อสินค้าแบบออนไลน์กลายเป็นผู้นำของการค้าปลีกแบบไม่มีร้าน ในปี 2549 จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในจีนเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับปีก่อนหรือประมาณ 153 ล้านคน

ความสะดวกในการสั่งซื้อสินค้าแบบออนไลน์เป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตอย่างรวดเร็ว ตรงข้ามกับโฮมช้อปปิ้งและการขายตรง ยังไม่มีกฏหมายควบคุมการค้าปลีกบนอินเทอร์เน็ต ซึ่งทำให้ค่อนข้างจะอิสระกว่าการค้าอื่น

คาดว่าผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในจีนจะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 336 ล้านคนภายในปี 2554 ขณะที่เมื่อปี 2550 มีเพียง 189 ล้านคนเท่านั้น

การค้าปลีกบนอินเทอร์เน็ตจะกลายเป็นอุปสรรคต่อค้าปลีกแบบมีร้าน โฮมช้อปปิ้งและการขายตรงเพราะปัจจุบันผู้ผลิตถือว่าการค้าบนอินเทอร์เน็ตเป็นช่องทางการขายที่สำคัญมาก แม้แต่บริษัทโฮมช้อปปิ้งรายใหญ่ Seven Star International Ltd. ยังเปิดตัวการค้าผ่านอินเทอร์เน็ตด้วยเช่นกัน

ค้าปลีกเริ่มเจาะเข้าสู่เมืองใหญ่อันดับรองๆ

ตามเมืองใหญ่ๆ เช่น เซียงไฮ้ กวางโจว ปักกิ่ง และเสินเจิ้น กลายเป็นศูนย์กลางหลักของธุรกิจค้าปลีกทุกประเภทห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ ซูปอร์มาร์เก็ต ห้างสรรพสินค้า และห้างขายสินค้าคงทนเช่นเฟอร์นิเจอร์และเครื่องไฟฟ้าจะมีครบทุกแบบ ขณะที่รัฐบาลกำลังมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงต้องมองไปยังเมืองระดับรองลงมาเพื่อให้ประชากรจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น

เมื่อเมืองใหญ่ๆ มีห้างเหล่านี้เต็มทุกพื้นที่แล้วแนวโน้มจึงจะเริ่มออกไปตามเมืองใหญ่ระดับรองๆบ้าง ดังจะเห็นคาร์ฟูเริ่มไปเปิดตามเมืองอื่นๆ เช่น Ning Bo ใน Zhejiang หรือ GOME ที่ขายสินค้าคงทน มาเปิดใน Nanjing และ Quingdao เพื่อที่จะสร้างเครือข่ายในประเทศ และกลายเป็นศูนย์กลางของโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์และเครื่องไฟฟ้า

ด้วยการขยายของห้างค้าปลีกขนาดใหญ่เข้าไปในต่างจังหวัด จะทำให้ร้านค้าปลีกขนาดเล็กเริ่มปิดตัวลง เพราะไม่สามารถแข่งขันในเรื่องราคาและโลจิสติกส์ได้

เครื่องขายน้ำอัตโนมัติ

ด้วยการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมในเมืองใหญ่มีส่วนทำให้อากาศและน้ำเต็มไปด้วยมลพิษ ในเซียงไฮ้น้ำก๊อกจะมีกลิ่น แต่น้ำแร่และน้ำกลั่นก็แพงเกินกว่าที่ผู้บริโภคจะซื้อใช้ในชีวิตประจำวันได้ น้ำจากเครื่องขายน้ำอัตโนมัติจึงเป็นการตอบสนองของตลาดได้เป็นอย่างดี เนื่องจากราคาไม่สูงมากนัก

เนื่องจากเครื่องขายน้ำอัตโนมัติลงทุนไม่สูง และไม่จำเป็นต้องมีคนเฝ้าจึงเป็นที่แพร่หลายในทุกเมืองใหญ่ๆ และเมืองเล็กๆ ในทุกระดับชั้น ยิ่งเครื่องขายน้ำอัตโนมัติแพร่หลายเท่าไหร่ก็จะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตน้ำขวดใหญ่ที่ขายตามห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ และซูปอร์มาร์เก็ต ซึ่งมีราคาต่อหน่วยสูงกว่ามาก นอกจากนี้เครื่องขายน้ำอัตโนมัติยังสะดวกกว่าเนื่องจากตั้งอยู่ในชุมชนจึงไม่ต้องลำบากในเรื่องการขนส่ง

กลุ่มการค้า

เนื่องจากรัฐบาลจีนไม่สามารถจะหนุนระบบการค้าในประเทศได้มากนักหลังจากเข้าเป็นสมาชิก WTO จึงทำให้สมาคมค้าปลีกเกาะกลุ่มมากขึ้น

กลุ่มการค้าที่มีบทบาทสำคัญที่สุดคือ สมาคมเชนสโตร์ และแฟรนไชส์ของจีน(The China Chain-Store and Franchinse Association หรือ CCFA) ตั้งขึ้นเมื่อปี 2540 ในฐานะเป็นองค์กรค้าปลีก ที่มีสาขาทั้งเมืองใหญ่ และ ชานเมือง รวมถึงซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ร้านเฉพาะด้าน ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ ห้างสรรพสินค้า และธุรกิจอื่นๆ เช่นโรงแรม ร้านอาหาร และร้านทำผม สมาชิกจะประสบผลสำเร็จผ่านระบบเชน (เครือข่าย)และแฟรนไชส์ ซึ่งแข่งขันกันได้อย่างดี และเป็นกลุ่มที่มีส่วนแบ่งในตลาดค้าปลีกมากพอควรความรับผิดชอบหลักของ CCFA คือการประสานกับเจ้าหน้าที่ของรัฐและระหว่างสมาชิกด้วยกันเอง หน้าที่คือปกป้องสิทธิทางกฎหมายให้สมาชิก และ ยังจัดพิมพ์สถิติและหนังสือที่เกี่ยวข้องกับระบบเชนสโตร์ เพราะการรวมตัวเป็นสมาคมทำให้รัฐต้องรับฟังปัญหาและข้อแก้ไข

ส่วนตัวแทนผู้บริโภคนั้นก็มีสมาคมสวัสดิการผู้บริโภค เพื่อสร้างจิตสำนึกของ สมาคมนี้จัดจัดทำการสำรวจคุณภาพสินค้า ราคาและบริการหลังการขาย เป็นตัวกลางระหว่างผู้บริโภคกับผู้ค้าและผู้ผลิต สะท้อนเสียงตอบรับและข้อคิดเห็นของผู้บริโภคให้กับตัวแทนของรัฐ และผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้อง สมาคมเหล่านี้ได้กลายเป็นกระบอกเสียงให้ผู้บริโภคจีนและปกป้องสิทธิประโยชน์ของผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกี่ยวข้องกับกฎหมายค้าปลีก

การจ้างงานในค้าปลีก

การจ้างงานในอุตสาหกรรมค้าปลีกเติบโตระหว่างร้อยละ1-2 ต่อปี ทุกปีในช่วงระหว่างปี 2545-50 แรงงานในธุรกิจนี้มีถึง 4 ล้านคน

เนื่องจากร้านค้าปลีกในจีนจะเป็นร้านชำขนาดเล็ก ยอดขายรวมของร้านค้าปลีกระดับต้นๆ รวมกันคิดเป็นแค่เพียงร้อยละ 10 ของยอดขายรวมทั้งประเทศ

ลูกจ้างเต็มเวลาจะมีจำนวน 3 ใน 4 ของแรงงานในธุรกิจค้าปลีก นอกจากนั้นจะเป็นพวกทำพาร์ทไทม์ เนื่องจากประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่า เพราะตัวเลขการขยายตัวของลูกจ้างพาร์ทไทม์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ในช่วงระหว่างปี 2547 - 9

แรงงานที่ทำงานในร้านของชำเป็นการจ้างสูงสุดที่คิดเป็นร้อยละ 44 ร้านชำเหล่านี้จะมีขนาดเล็กและเป็นเอกเทศ โดยมี่ยอดจำหน่ายปีละเฉลี่ย 75,000 หยวน (ประมาณ 376,136 บาท) แต่ละร้านจะมีลูกจ้างเพียง 1-2 คนเท่านั้น

ส่วนห้างค้าปลีกขนาดใหญ่แต่ละแห่งจะจ้างลูกจ้างเป็นจำนวนมาก นับตั้งแต่ 250-300 คน เมื่อเปิดให้ต่างชาติเข้ามาห้างค้าปลีกก็มีมากเช่น Wal Mart , Carrefour , Lotus และ Hymall พื้นที่ของห้างค้าปลีกขนาดใหญ่จะเป็นรูปแบบการขายปลีกที่มีขนาดใหญ่ที่สุด จึงทำให้ต้องการจ้างคนเป็นจำนวนมาก

กฎหมายแรงงานใหม่ผ่านเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2550 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2551 โดยบังคับให้คนงานทุกคนต้องมีการทำสัญญาว่าจ้างเป็นลายลักษณ์อักษร และถ้าภายใน 1 ปีคนที่ไม่มีสัญญาดังกล่าวต้องออกจากงาน คนงานที่ต้องการลาออกต้องแจ้งล่วงหน้า 30 วัน แต่อาจจะออกได้ถ้านายจ้างละเลยที่จะควบคุมให้สภาพทำงานเป็นไปตามสัญญาเช่น ไม่จ่ายค่าแรงหรือประกันสังคมตรงตามเวลาและครบถ้วนหรือออกระเบียบที่ขัดแย้งต่อกฎหมายแรงงาน

กฎหมายใหม่จะช่วยให้สถานภาพของ ลูกจ้างดีขึ้น โดยที่ห้างค้าปลีกเช่น คาร์ฟูร์ได้ต่อสัญญาใหม่ให้ลูกจ้างก่อนสัญญาจะสิ้นสุดลงอีก 2 ปี เพราะตามกฎหมายใหม่ถ้ามีการต่อสัญญา 2 ครั้งจะถือว่าเป็นลูกจ้างประจำทันที

ค่าจ้าง

จีนไม่มีระเบียบกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ แต่ในเมืองใหญ่ๆ เช่นปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และกวางโจว รัฐบาลท้องถิ่นจะตั้งอัตราจ้างขั้นต่ำและบังคับใช้

การจ้างงานในธุรกิจค้าปลีก ระหว่างปี 2545-50

(หน่วย: พันล้านหยวน)

                        2545         2546         2547          2548         2549         2550
แรงงานทั้งหมด        723,342.5    727,886.0    735,771.7     744,395.1    751,159.8    756,918.2
แรงงานค้าปลีก         22,463.0     26,760.0     25,270.0      26,786.2     28,661.0     28,828.8
เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ            3.1          3.7          3.4           3.6          3.8          3.8
แหล่งที่มาของข้อมูล: Nation statistics CCFA , company research , trade interviews ,  Euromonitor

Internation estimates

ห้างค้าส่งและระบบสมาชิก (Cash and Carry / Warehouse Club)

ห้างค้าส่งและระบบสมาชิก ไม่ใช่ธุรกิจที่ได้รับความนิยมมากนัก จึงมีห้างชนิดนี้เพียงไม่กี่แห่งในแต่ละเมือง รูปแบบการขายสินค้าชนิดแพ็คไว้มากกว่า 1 ชิ้น เช่น 3 หรือ 6 หรือ1 โหลแล้วแต่ชนิดของสินค้า ซึ่งรวมแล้วจะได้ราคาที่ถูกกว่า รูปแบบนี้เป็น รูปแบบกลุ่ม Metro ในเยอรมนีเป็นผู้ริเริ่มเมื่อปี 2539 เป็นการร่วมทุนระหว่าง Metro Jinjiang Cash & Carry Co Ltd กับ Jinjiang Group ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองเซียงไฮ้ จากนั้นก็มี Makro AG และ Wal Mart เปิดตามมา

Warehouse Store จะมีของไว้เพื่อธุรกิจขนาดเล็ก เช่น ร้านอาหาร สำนักงาน ผู้จัดเลี้ยงและร้านชำ (โชห่วย) ธุรกิจขนาดกลาง และขนาดเล็ก ในเมืองสามารถจะหาซื้อของจากตลาดผู้ค้าส่งและ ตลาดเกษตรกรในราคาที่ถูกกว่าห้างเหล่านี้ เพราะผู้ขายในตลาดค้าส่งและเกษตรกรจะซื้อตรงจากไร่ และไม่มีค่าสมาชิก หรือ ค่าใช้จ่ายอื่นเพิ่มเข้าไป แต่ปัจจุบัน Warehouse Store และ Cash & Carry ได้รับความนิยมมากขึ้นในเรื่องความสะดวกสบาย เนื่องจากจะหาทำเลที่ดีเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้า

โอกาสของ Cash & Carry และ Warehouse Store ต้องต่อสู้กับอุปนิสัยและความเคยชินของผู้บริโภคส่วนใหญ่ ที่ชอบซื้อของจากซูเปอร์มาร์เก็ตใกล้บ้าน ผู้บริโภคในจีนจะไม่ค่อยเป็นลูกค้าประจำของร้านใดร้านหนึ่งเป็นพิเศษ แต่จะซื้อตามเงื่อนไข เช่น มีการลดราคา หรือโปรโมชั่นพิเศษ

ผู้บริโภคชาวจีนเป็นผู้ที่ฉลาด จะลังเลที่จะจ่ายเงินเป็นค่าสมาชิก เพื่อซื้อของจากร้านจำกัดเพียงไม่กี่ร้าน หลายคนไม่ชอบซื้อจากร้านที่ต้องเป็นสมาชิก เพราะไม่เห็นประโยชน์ของการซื้อของจำนวนมา ที่ Wal Mart อัตราค่าสมาชิกรายปีคือ 150 หยวน (752.27 บาท) ขณะที่ราคาสินค้ามากกว่า 3,000 หยวนต่อปี (ประมาณ 12,470 บาท) ซึ่งจำนวนเงินดังกล่าวค่อนข้างสูงสำหรับการซื้อของชำสำหรับครอบครัวชาวจีน

ร้าน Cash & Carry และ Warehouse Store มักจะตั้งอยู่ชานเมือง หรือออกนอกใจกลางเมือง สำหรับผู้ซื้อค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปร้านเหล่านี้เพื่อซื้อสินค้าราคาถูกอาจไม่คุ้มค่า ร้านลักษณะนี้จะเป็นที่ชื่นชอบของผู้ซื้อทันสมัยที่ได้รับอิทธิพลตะวันตกมากกว่า

แต่ก็มีกลุ่มลูกค้าของ Cash & Carry และ Warehouse Store ซึ่งส่วนใหญ่เป็นครอบครัวที่รายได้มากกว่า 1 คน ขึ้นไปและมีกำลังซื้อมาก แต่ไม่มีเวลาซื้อของจากร้านชำทุกวันนอกจากนี้การที่คนจีนมีรถมากขึ้นก็เป็นส่วนที่ทำให้สามารถเข้าถึงร้านซึ่งมักจะอยู่ไกลจากตัวเมืองได้ง่ายขึ้น

ยอดขายที่ไม่คล่องตัวทำให้ผู้บริหาร Cash & Carry และ Warehouse Store เช่น Wal Mart ต้องปรับกลยุทธและรูปแบบของตนในจีน จีนค้าปลีกต่างชาติประเมินสถานการณ์และ พฤติกรรมการบริโภคในจีนผิดเป้าหมายไปมาก เพราะวิธีการที่ใช้ได้ผลในประเทศอื่นกลับใช้ไม่ได้กับจีน

Wal Mart มีอยู่ 5สาขาอยู่ในจีน และด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคชาวจีนทำให้ Wal Mart ต้องปรับตัวและแปลงสาขาทั้ง 5 แห่ง ที่เป็นระบบสมาชิกให้กลายเป็นศูนย์การค้าที่คุนหมิง และ เซินเจิ้นแทน ส่วนอีก 3 แห่ง ยังเป็นระบบสมาชิกแบบเดิม

แมคโครยกเลิกการลงทุนในจีนเมื่อปี 2546 โดยขายห้างให้กลับหุ้นส่วน คือ บริษัทเจียไต๋ (Chia Tai Enterprises International Ltd.) บริษัทสาขาของยักษ์ใหญ่ด้านการเกษตร ในไทย กลุ่มบริษัทเจริญโภคภัณฑ์

Metro เป็นห้างที่ประสบผลสำเร็จและมีอัตราการเติบโตค่อนข้างสูง ด้วยกลยุทธการดึงลูกค้าที่ได้ผล แต่ก็จำกัดขอบเขตมากจนถึงปี 2546 ซึ่งการควบคุมต่างๆถูกยกเลิกไปเมื่อปี 2547 มีกาเปิดห้าง 5 แห่ง และจนถึงปลายปี 2548 มีการขยายสาขาถึง 30 แห่ง ตามเมืองที่เป็นศูนย์กลางการค้า ภาคตะวันออก เหนือ กลาง และใต้ จนล่าสุดมีข่าวว่า Metro จะร่วมลงทุนกับจีน ภายใต้กลุ่มจินเจียง เพิ่มจากร้อยละ 60 ถึง 90 ซึ่งระหว่างนี้อยู่ระหว่างการอนุมัติจากกระทรวงพาณิชและรัฐบาลท้องถิ่น

ยอดจำหน่ายค้าปลีกแบ่งตามประเภท: มูลค่าระว่าง 2545-2550

(หน่วย : พันล้านหยวน)

                       2545       2546      2547      2548      2549        2550
ค้าปลีก               2,933.5    3,210.4   3,619.5   3,987.7   4,494.9     5,075.6
ค้าปลีกแบบมีร้าน        2,901.8    3,171.4   3,568.7   3,934.5   4,441.8     5,016.6
ค้าปลีกแบบไม่มีร้าน         31.7       39.1      50.8      53.1      53.1        59.0
แหล่งที่มา: Official statistics, trade associations, trade press, company research, trade interviews,
(อัตราแลกเปลี่ยน  1 หยวน RBT  เท่ากับ 5.01515  บาท)

ยอดจำหน่ายค้าปลีกแบ่งตามประเภท: มูลค่าเป็นร้อยละระว่าง 2545-2550

          อัตราเพิ่มคิดเป็นร้อยละ          2549/50    2545-50 คงที่    2545-2550 รวม
          ค้าปลีก                        12.9          11.6          73.0
          ค้าปลีกแบบมีร้าน                 12.9          11.6          72.9
          ค้าปลีกแบบไม่มีร้าน               11.1          13.2          86.1
แหล่งที่มาของข้อมูล : Official statistics, trade associations, trade press, company research, trade

interviews, Euromonitor International estimates

ยอดจำหน่ายการค้าปลีกแบ่งตามประเภท : มูลค่าปี 2545-2550

(หน่วย : พันล้านหยวน)

                              2545         2546         2547        2548        2549        2550
ค้าปลีกแบบมีร้าน               2,901.8      3,171.4      3,568.7     3,934.5     4,441.8     5,016.6
ร้านค้าปลีกมีของชำ             1,550.4      1,706.3      1,851.7     1,976.4     2,131.0     2,318.0
 - ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่            60.4        102.6        144.4       202.2       262.9       312.8
 - ซูเปอร์มาร์เก็ต               391.1        524.2        627.9       750.8       885.9     1,036.5
 - ร้านสินค้าราคาประหยัด             -            -          0.7         1.1         1.3         1.5
 - ร้านโชห่วย                  131.4        128.1        129.6       129.4       130.3       131.3
 - ร้านอาหาร เครื่องดื่มบุหรี่        24.7         25.1         29.1        30.5        31.5        33.0
 - ร้านของชำอื่นๆ               942.8        926.3        919.9       862.4       819.3       802.9
ร้านค้าปลีกไม่มีของชำ           1,351.4      1,465.0      1,717.0     1,958.1     2,310.8     2,698.6
 - ค้าปลีกแบบรวม               319.4        310.9        348.2       397.0       440.6       497.9
 - ร้านเครื่องสำอาง             120.3        136.0        146.7       163.8       179.6       195.5
 - ร้านเสื้อผ้า/รองเท้า           137.6        149.7        156.9       166.3       177.2       192.2
 - เฟอร์นิเจอร์/ของแต่งบ้าน       232.0        268.5        336.6       394.3       456.0       531.2
 - เครื่องไฟฟ้า                 346.1        401.1        479.7       552.2       728.8       911.1
 - บันเทิง                     179.6        181.9        231.3       266.2       309.3       350.8
 - อื่นๆ                        16.4         16.9         17.5        18.4        19.2        19.9
แหล่งที่มาของข้อมูล  : Official statistics, trade associations, trade press, company research,

trade interviews, Euromonitor International estimates

ส่วนแบ่งตลาดของบริษัทค้าปลีก: มูลค่าร้อยละ ปี 2547 - 2550 มูลค่าเป็นร้อยละ (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)

บริษัท

                                         2547       2548       2549        2550
GOME Electrical Appliances                0.7        1.2        1.4         1.6
Suning Appliance Chain Store              0.6        1.0        1.4         1.6
China Resources Enterprise                0.6        0.7        0.8         0.9
Carrefour (China) Hypermarket             0.4        0.5        0.6         0.6
Auchan China                              0.2        0.4        0.5         0.6
China Paradise Electronics                0.2        0.3        0.5         0.5
Shanghai Nong Gong Shang                  0.3        0.4        0.4         0.4
Sanlian Commercial                        0.3        0.3        0.4         0.4
Wal-Mart Business Information             0.2        0.3        0.3         0.3
Lianhua Supermarket Holdings              0.3        0.4        0.4         0.3
Shenzhen A-Best Supermarket               0.2        0.3        0.3         0.3
Shanghai Lotus Supermarket                0.2        0.3        0.3         0.3
Chain Store
Dashang Group                             0.3        0.3        0.3         0.3
Trust-Mart                                0.2        0.2        0.2         0.3
Wuhan Zhongbai Group                      0.2        0.2        0.2         0.2
Jiangsu Five Star Appliance               0.3        0.3        0.2         0.2
Amway (China)                             0.3        0.3        0.2         0.2
Watson (Group) HK Ltd, AS                 0.1        0.2        0.2         0.2
Hymall                                    0.1        0.2        0.2         0.2
Dashang Electric Appliance                0.1        0.2        0.2         0.2
Others                                   94.1       92.2       91.0        90.3
  รวม                                   100.0      100.0      100.0       100.0
แหล่งที่มาของข้อมูล  : Official statistics, trade associations, trade press, company

research, trade interviews, Euromonitor International estimates

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

กฎหมายหลักของจีนที่ควบคุมการค้าปลีกคือ กฎหมายต่อต้านการแข่งขันไม่เป็นธรรม (Competition Law) กฎหมายปกป้องสิทธิ์ผู้บริโภค (Consumer Protection Law) กฎหมายควบคุมคุณภาพสินค้า ( Product Quality Law) กฎหมายต่อต้านการแข่งขันไม่เป็นธรรม (Competition Law) มีการประกาศใช้เมื่อปี 2536 กำหนดว่าผู้ค่าต้องไม่ดำเนินกิจกรรมใดที่ทำให้การแข่งขันไม่เป็นธรรม รวมถึงการปลอมแปลงสิทธิ์เครื่องหมายการค้าหรือข้อมูลธุรกิจในทางลับ การลงโฆษณาข้อความที่เป็นเท็จให้ร้ายกับคู่แข่งให้เกิดความเสียหายแก่ชื่อเสียงและห้ามติดสินบน ผู้ฝ่าฝืน Competition Law จะถูกปรับและถ้าเป็นกรณีร้ายแรงอาจจะถึงขั้นถอนใบอนุญาตเช่นเดียวกับการดำเนินคดีอาญา

กฎหมายปกป้องสิทธิ์ผู้บริโภค (Consumer Protection Law) มีประกาศใช้เมื่อปี 2537 โดยตั้งกฎเกณฑ์เพื่อคุมครองผู้บริโภค ผู้บริโภคสินค้าธุรกิจบริการจะต้องทราบระเบียบตามกฎหมายคุณภาพสินค้าและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องอื่นๆ

ผู้ค้าปลีกและผู้ผลิตต้องให้ข้อมูลที่เพียงพอเกี่ยวกับสินค้าและการให้บริการ ผู้ค้าปลีกต้องออกใบเสร็จรับเงินให้แก่ผู้ซื้อ ผู้ค้าปลีกและผู้ผลิตต้องรับประกันเรื่องคุณภาพการใช้งาน วิธีใช้ ระยะเวลาในกานใช้ รวมไปถึงการให้บริการ

ผู้ค้าปลีกจะต้องแน่ใจว่าคุณภาพสินค้าและการให้บริการ จะเหมือนกับที่ระบุไว้ในเอกสารโฆษณาผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องจะต้องซ่อมแซม เปลี่ยนสินค้า คืนสินค้า หรือชดเชยตามกฎหมายหรือข้อตกลงระหว่างผู้ขายกับผู้บริโภค ผู้ดำเนินธุรกิจจะต้องไม่ตั้งกฎเกณฑ์ที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่มีเหตุผล

ผู้ฝ่าฝืน(Consumer Protection Law) จะถูกปรับและถ้าเป็นกรณีร้ายแรงอาจจะถึงขั้นถอนใบอนุญาตเช่นเดียวกับการดำเนินคดีอาญา กฎหมายควบคุมคุณภาพสินค้า ( Product Quality Law) มีการประกาศใช้เมื่อปี 2536 และมีกฎระเบียบหลายข้อสำหรับบริษัทต่างๆ จะต้องมีมาตราการเพื่อให้มีการเช็คและรักษาสินค้าให้มีคุณภาพดี ไม่มีตำหนิหรือหมดอายุ ธุรกิจที่ขายสินค้ามียี่ห้อต้องรูถึงระเบียบห้ามขายของปลอมปน เอาสินค้าเลียนแบบยี่ห้อมาขายแทนของจริง หรือ เอาของมียี่ห้อแต่มีตำหนิมาหลอกลวงผู้ซื้อ

ผู้ฝ่าฝืน Product Quality Law จะถูกปรับและถ้าเป็นกรณีร้ายแรงอาจจะถึงขั้นถอนใบอนุญาตเช่นเดียวกับการดำเนินคดี

เวลาเปิด

เวลาเปิดของห้างค้าปลีกจะต่างกันไปตามลักษณะห้างและท้องที่ เนื่องจาการแข่งขันค่อนข้างรุนแรงจึงทำให้เวลาในการเปิดเครื่องมือในการดึงดูดลูกค้า

ไม่มีกฎหมายควบคุมเวลาเปิดของห้างค้าปลีก ห้างทั่วไปจะเปิดประมาณ 8.00 — 22.00 น. ส่วนห้างสรรพสินค้าจะ เปิด 10.00 - 22.00 น. ขณะที่ร้านสะดวกซื้อที่เปิดตลอด 24 ชม. ก็มีในจีนเช่นกัน

  • ไม่มีกฎหมายควบคุมว่าภายใน 1 ปีต้องเปิดกี่วัน ร้านค้าปลีกส่วนใหญ่ โดยเฉพาะห้างค้าปลีกขนานใหญ่ ซูเปอร์มาร์เก็ตและห้งสรรพสินค้า จะไม่มีวันปิดตลอดปีนอกจากในวันสำคัญประจำปี
  • ร้านสะดวกซื้อที่เปิด 24 ชม. จะมีอยู่ตามเมืองใหญ่ๆ เช่น ปักกิ่ง, เซี่ยงไฮ้และ กวางโจว ส่วนสมาคมการค้าเภสัชกรรมควบคุมร้านขายยาว่าจะต้องมี 1 วันที่เปิดตลอด 24 ชม.และต้องผลัดกันไปตามวัน

วันอาทิตย์จะเป็นวันที่ร้านค้าปลีกจะมีลูกค้ามาก เนื่องจากเป็นวันหยุดห้างและศูนย์การค้าทุกแห่งจึงเปิดในวันอาทิตย์และจะเปิดนานกว่าวันปกติ

ร้านในเมืองใหญ่จะเปิดนานกว่าในต่างจังหวัด เช่นห้างสรรพสินค้าในเมืองใหญ่เปิดถึง 22.00 น. ที่ในต่างจังหวัดจะเปิดถึง 21.00 น.และไม่มีร้านสะดวกซื้อที่เปิดตลอด 24 ชม.

ศูนย์การค้า

ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ซึ่งมีการเติบโตอย่างมากในสหรัฐอเมริกาช่วงปลายปี 2513 และยุโรปปลายปี 2553 กำลังผุดขึ้นทั่วจีนนักพัฒนาที่ดินในจีนสร้างศูนย์การค้าพื้นที่กว่า 500,000 ตารางเมตร จะเป็นศูนย์การค้าหลายชั้นไม่ใช่แบบ 3 ชั้น ที่มีอยู่ทั่วสหรัฐฯ ผู้ซื้อจะเดินทางมาด้วยรถเมล์ รถใต้ดิน และส่วนหนึ่งขับรถมา ในวันที่คนมากๆ เช่นสุดสัปดาห์หรือวันหยุด The Grand View Mall ศูนย์การค้าทางตอนใต้ของเมืองกวางโจวมีคนเข้ามาจับจ่ายซื้อของถึง 600,000 คน กว่าจะถึงปลายปี 2548 ก็มีห้างสรรพสินค้าในจีนถึงกว่า 400 แห่งจากจำนวน 236 แห่งเมื่อปี 2546

เมื่อตุลาคม 2547 Gold Resources Hut สร้างบนเนื้อที่ 600,000 ตารางเมตรซึ่งถือว่าเป็นศูนย์การค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงปักกิ่ง เป็นตึกขนาดยักษ์สูง 5 ชั้น มีร้านค้ามากกว่า 1,000 ร้าน

การที่มีศูนย์การค้าผุดขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้หลายคนเกรงว่าจะทำให้มีสภาพเหมือนกับเศรษฐกิจของจีนที่เติบโตแบบกว้ากระโดด จนนักเศรษฐศาสตร์ไม่น้อยมองว่าอาจเป็นสัญญาณเตือนของเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วเกินและอาจจะร่วงลงอย่างรวดเร็วได้เช่นกัน รัฐบาลกลางเพิ่งจะสั่งธนาคารชาติให้ชะลอการปล่อยกู้โครงการสร้างศูนย์การค้า เพราะเกรงปัญหาที่จะตามมา

นักพัฒนาที่ดิน เช่น Capitlaland Group จากสิงคโปร์กำลังจะเข้ามาดำเนินการก่อสร้างหลายโครงการ เช่น ร่วมลงนามในสัญญากับ Shezhen International Trust and Investment Co. (Szitic) สร้างศูนย์การค้าใหญ่ 2 แห่ง ของ Wal Mart ค้าปลีกยักษ์ใหญ่ของอเมริกาโครงการท่อร้อยสาย 17 แห่ง สำนักงานใหญ่ของ Wal Mart เอเซีย รวมไปถึงศูนย์การค้าใหญ่ 2 แห่งในปักกิ่ง คือ Anzhen และ Wanjing Shopping Mall อีกด้วย

การค้าปลีก

จีนเป็นประเทศที่มี GDP เติบโตอย่างมั่นคงคือ ประมาณร้อยละ 13 ต่อปีมาตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาและในปีที่แล้วอัตราการเติบโตสูงถึงกว่าร้อยละ 16 ตามสถิติของกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม อัตราว่างงานในจีนจนถึงปลายปี 2551 คือ ร้อยละ 4 หรือคิดเป็น 8 ล้านคน ซึ่งสถิติคงที่จากปี 2547 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตามสถิตินี้เป็นของตนที่หางานทำในเมืองใหญ่และลงทะเบียนเพื่อขอรับเงินชดเชย แรงงานในจีนมี 150 ล้านคน ส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคการผลิตและบริการ คนในชนบทส่วนใหญ่จะทิ้งงานทำไร่ทำนาเพื่อมาหางานทำในเมือง ซึ่งรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ดีกว่า

จีนเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก คือ 1.3 พันล้าน ความแตกต่างทั้งรายได้และการบริโภคในเมืองและชนบทแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง รายได้ต่อหัวในเมืองจะสูงกว่าในชนบทถึง 3 เท่า ซึ่งมีผลต่อการจำหน่ายสินค้าของในเมืองชนบท

การกระจายความเจริญที่ไม่ทันต่อสภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจทำให้อัตราเติบโตของประชากรร้อยละ 1 ต่อปี ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้คนในชนบทส่วนหนึ่งอพยพเข้าในเมืองใหญ่ ทำให้อัตราประชากรในเมืองเพิ่มเป็นร้อยละ 5 หรือคิดเป็น 20 ล้านคน ระหว่างปี 2538 -2548

ชนชั้นกลางในจีนจะขยายจาก 65 ล้าน หรือร้อยละ 5 ของประชากรเป็นร้อยละ 45 ในปี 2551 โดยเป็นกลุ่มที่มีรายได้ที่เพิ่มขึ้นจะมีผลต่ออำนาจในการซื้อสินค้าต่อไป

ค้าปลีกต่างชาติเริ่มบุกตลาด

ยอดจำหน่ายจาการค้าปลีกในจีนยังนับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับสัดส่วนทางเศรษฐกิจและเปรียบเทียบกับประเทศตะวันตกอื่นๆ

จากเดิมผู้ค้าปลีกรายใหญ่ 100 ราย มี 45 แห่งเป็นของรัฐ 32 แห่งเป็นเอกชนและที่เหลือ 23 แห่งเป็นการร่วมลงทุนของต่างชาติ แต่จากปี 2547 เป็นต้นมาต่างชาติสามารถถือหุ้น 100% ในจีนได้โดยไม่ต้องมีหุ้นส่วนเก่าเช่น Wal Mart ปัจจุบันถือหุ้นร้อยละ 65 และ คาร์ฟูก็กำลังอยู่ระหว่างการซื้อหุ้นคืนจากคู่ค้าเก่าของตน

อัตราค่าเช่าที่สูงขึ้นมากทำให้ค้าปลีกจีนหลายแห่งประสบปัญหา โดยเฉพาะพวกที่ทำสัญญาเป็นเวลานาน ห้างที่เปิดใหม่จะใช้วิธีหารายได้เพิ่มเติมด้วยการที่เจ้าของสินค้าต้องจ่ายค่าเช่าพื้นที่ในการซื้อเข้าเป็นครั้งแรก การวางแสดงสินค้า การทำโปรโมชั่น มิฉะนั้นสำหรับห้างเปิดใหม่แล้วโอกาสที่จะคุ้มทุนหรือกำไรเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก

การขยายสาขาของห้างที่น่าจับตามอง โดยเฉพาะห้างค้าปลีกนอกเหนือจากการเก็บค่าเช่าต่างๆ เหล่านี้แล้ว ยังมีวิธีการบริหารจัดการภายในห้างที่ฉลาดแยบยล เช่นโลจิสติกส์หรือระบบเครือข่ายสารสนเทศเป็นต้น

เมื่อพูดถึงสิ่งจำเป็นในการบริโภค ซูเปอร์มาร์เก็ต ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่กลายเป็นธุรกิจค้าปลีกที่ทำกำไรและเติบโตเร็วที่สุด เพราะทั้งซูเปอร์มาร์เก็ต ห้างสามารถสร้างความเชื่อมั่นในเรื่องคุณภาพ และดึงดูดลูกค้าได้

ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่มีความได้เปรียบสูงเนื่องจากมีสินค้าหลายหลาย แข่งขันได้ในเรื่องราคา ดึงดูดคนได้มากและสามารถแบ่งสัดส่วนจากซูเปอร์มาร์เก็ตไปได้มาก ขยายสาขาได้มากเนื่องจากการตอบรับดี ถือว่าเป็นศูนย์กระจายสินค้าที่ดี เพราะห้างสามารถขายของถูกได้สั่งซื้อสินค้าเป็นจำนวนมากและลดค่าใช้จ่ายทางโลจิสติกส์ได้เมื่อเทียบกับซูเปอร์มาร์เก็ต แถมยังสามารถเพิ่มการขายด้วยการทำสินค้า House Brand ของตนเองอีกด้วย

ห้างสรรพสินค้าพบปัญหา

ห้างสรรพสินค้าพบปัญหาการแข่งขันสูง ยอดขายจากห้างสรรพสินค้าลดลงตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ถูกคู่แข่งเช่นเชนสโตร์ ค้าปลีกเฉพาะสินค้าเช่นอุปกรณ์ไฟฟ้า เครื่องใช้ในบ้านทั้งในประเทศและต่างชาติเข้ามาบุกตลาดมาก ทำให้ห้างสรรพสินค้าขยายไม่ได้เท่าที่ควร

ห้างสรรพสินค้าแบบดั้งเดิมจะมีการบริหารของตนเอง โดยรับภาระเรื่องการจ้างลูกจ้างและหาสินค้าเข้าร้าน พนักงานงานขายบางแผนกอาจจะได้เปอร์เซ็นต์จาการขาย แต่ห้างก็ยังเป็นผู้รับภาระเงินเดือนของลูกจ้างอยู่ดี

เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายทางธุรกิจทำให้บางห้างให้ผู้ผลิตเช่าพื้นที่และจ้างลูกจ้างของตนส่วนใหญ่จะเป็นสินค้ามียี่ห้อ เจ้าของห้างจะได้เปอร์เซนต์จากการขายบวกกับค่าเช่า ผู้ผลิตก็พอใจเพราะต้องการได้ลูกค้าจากทางห้าง และสามารถดูแลลูกค้าของตนได้ดีขึ้น ขณะที่ทางห้างก็ไม่ต้องลงทุน ในเรื่องการจ้างพนักงาน

ค้าปลีกยังมีอนาคตที่ดี

ดูจากแนวโน้มของค้าปลีกในจีน คาดการณ์ว่าตลาดจะยังเติบโตอีกมาก เนื่องจากเศรษฐกิจจีนยังแข็งแกร่งมากท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจของโลก ผู้บริโภคมีรายได้สูงขึ้น ทำให้การจับจ่ายใช้สอยเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อความเป็นอยู่ที่สบายขึ้น เช่น เครื่องไฟฟ้า เสื้อผ้า รองเท้า เครื่องสำอาง และเครื่องใช้ในห้องน้ำ เป็นต้น

คาดการณ์ยอดจำหน่ายการค้าปลีกแบ่งตามประเภท : มูลค่าปี 2550-2555 พันล้านหยวน

                         2550       2551       2552       2553       2554       2555
ค้าปลีก                 5,075.6    5,591.2    6,092.2    6,596.8    7,083.5    7,517.4
ค้าปลีกแบบมีร้าน          5,016.6    5,525.2    6,017.8    6,512.5    6,987.2    7,406.6
ค้าปลีกแบบไม่มีร้าน           59.0       66.0       74.4       84.3       96.3      110.9
แหล่งที่มาของข้อมูล :  Official statistics, trade associations, trade press, company research,

trade interviews, Euromonitor International estimates

คาดการณ์ยอดจำหน่ายการค้าปลีกแบ่งตามประเภท : มูลค่าร้อยละปี 2550-2555

อัตราเพิ่มคิดเป็นร้อยละ

2550-55 คงที่ 2550-2555

          ค้าปลีก                        8.2              48.1
          ค้าปลีกแบบมีร้าน                 8.1              47.6
          ค้าปลีกแบบไม่มีร้าน              13.4              87.8
แหล่งที่มาของข้อมูล  :  Official statistics, trade associations, trade press, company research,
trade interviews, Euromonitor International estimates

คาดการณ์ยอดจำหน่ายการค้าปลีกแบ่งตามประเภท : มูลค่าปี 2550-2555

(หน่วย : พันล้านหยวน)

                            2550       2551        2552        2553        2554        2555
ค้าปลีกแบบมีร้าน             5,016.6    5,525.2     6,017.8     6,512.5     6,987.2     7,406.6
ร้านค้าปลีกมีของชำ           2,318.0    2,485.3     2,635.3     2,779.2     2,922.5     3,050.5
 - ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่         312.8      362.9       410.1       453.1       493.9       533.4
 - ซูเปอร์มาร์เก็ต           1,036.5    1,155.7     1,259.7     1,360.5     1,462.6     1,550.3
 - ร้านสินค้าราคาประหยัด         1.5        1.7         2.0         2.4         2.9         3.5
 - ร้านของชำ                131.3      132.6       133.8       134.9       135.5       135.7
 - ร้านอาหาร เครื่องดื่มบุหรี่      33.0       34.4        35.6        36.6        37.5        38.3
 - ร้านของชำอื่นๆ             802.9      798.1       794.1       791.7       790.1       789.3
ร้านค้าปลีกไม่มีของชำ         2,698.6    3,039.9     3,382.5     3,733.3     4,064.7     4,356.0
 - ค้าปลีกแบบรวม             497.9      557.6       619.0       680.9       735.4       783.2
 - ร้านเครื่องสำอาง           195.5      211.2       226.4       241.2       253.7       264.2
 - ร้านเสื้อผ้า/รองเท้า         192.2      207.6       223.2       238.8       254.3       269.6
 - เฟอร์นิเจอร์/ของแต่งบ้าน     531.2      610.9       695.5       788.2       870.9       950.7
 - เครื่องไฟฟ้า               911.1    1,047.7     1,183.9     1,326.0     1,471.9     1,597.0
 - บันเทิง                   350.8      384.4       413.6       436.7       456.8       469.5
 - อื่นๆ                      19.9       20.4        21.0        21.4        21.7        21.9
แหล่งที่มาของข้อมูล  :  Official statistics, trade associations, trade press, company research,

trade interviews, Euromonitor International estimates

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ