ประเทศมัลดีฟ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 8, 2009 14:55 —กรมส่งเสริมการส่งออก

มัลดีฟเป็นประเทศที่มีประชากรเพียง 3 แสนคน แต่มีนักท่องเที่ยวถึง 5 ล้านคนต่อปี การท่องเที่ยวจึงมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจของมัลดีฟเป็นอย่างยิ่ง ขณะที่มัลดีฟมีรายได้สูงจากการท่องเที่ยว แต่กลับไม่มีการผลิตสินค้าเอง ทุกอย่างต้องนำเข้า จึงเป็นโอกาสสำหรับนักธุรกิจไทยเข้าไปทำธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวและสินค้าอุปโภคบริโภค

1. ข้อมูลพื้นฐาน

ที่ตั้ง เป็นเกาะในมหาสมุทรอินเดีย ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอินเดียและทางตะวันตกของศรีลังกา

พื้นที่ ความยาวจากเหนือจรดใต้ 820 กิโลเมตร จากตะวันออกจรดตะวันตก 120 กิโลเมตร แต่เป็นพื้นที่ดินรวมเพียง 300 ตารางกิโลเมตรประกอบด้วยหมู่เกาะปะการัง 26 กลุ่ม (atoll) รวม 1,192 เกาะ มีประชากรอาศัยอยู่เพียงประมาณ 200 เกาะ และได้รับการพัฒนาเป็นโรงแรมสำหรับนักท่องเที่ยว 74 เกาะ

เมืองหลวง กรุงมาเล (Male)

เมืองสำคัญอื่นๆ กาน (Gan) ทางตอนใต้สุดของประเทศ มีสนามบินภายในประเทศในอดีตอังกฤษเคยใช้เป็นฐานทัพแห่งหนึ่งในมหาสมุทรอินเดีย

ภูมิอากาศ เป็นแบบเขตร้อนชื้น อุณหภูมิเฉลี่ย 27-30 C ตลอดทั้งปีช่วงที่ปราศจากมรสุม ได้แก่ ช่วงเดือนธันวาคม — มีนาคม

ประชากรประมาณ 369,031 คน

นักท่องเที่ยว — 5 ล้านคนต่อปี

อัตราการรู้หนังสือ 96%

เชื้อชาติ สิงหล ดราวิเดียน อาหรับและแอฟริกัน

วันชาติ/วันได้รับเอกราช 6 กรกฎาคม ค.ศ. 1965 (พ.ศ. 2508)

ภาษา มัลดิเวียนดิเวฮี (Maldivian Divehi) ซึ่งมีสำเนียงแบบภสิงหลา และใช้ตัวอักษรอาหรับ

ศาสนา อิสลาม นิกายซุนนี

หน่วยเงินตรา รุฟิยา (Rufiyaa) 1 รุฟิยา มี 100 ลาริ (Laari) 1 เหรียญสหรัฐ เท่ากับประมาณ 13 รุฟิยา หรือ 1 รุฟิยา ประมาณ 2.6 บาท (มีนาคม 2550) ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ 1,049 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2550)

รายได้เฉลี่ยต่อหัว 3,040 ดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2550)

การขยายตัวทางเศรษฐกิจ 6.6 % (ปี 2550)

ระบอบการปกครอง มัลดีฟส์ปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ ใช้กฎหมายอิสลามเป็นพื้นฐานผสมกับระบบ Common Law ของอังกฤษ ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งโดยตรง อยู่ในตำแหน่งคราวละ 5 ปี เป็นประมุขรัฐและหัวหน้ารัฐบาล ประธานาธิบดีคนปัจจุบันคือนาย มอมูน อัลดุล กายูม (Maumoon Abdul Gayoom) ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีมัลดีฟส์ โดยเข้ารับตำแหน่งเป็นสมัยที่ 6 เมื่อ เดือน ตุลาคม 2547

2. เชื้อชาติ

ชนพื้นเมืองที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานในประเทศมัลดีฟส์ คือกลุ่มผู้ใช้ตระกูลภาษาอินโด-อารยันซึ่งอพยพมาจากศรีลังกา เมื่อหลายศตวรรษแล้ว และเป็นบรรพบุรุษของชาวมัลดีฟส์ในปัจจุบันพยพเข้ามา ต่อมาในศตวรรษที่ 12 ก็มีชาวแอฟริกัน และชาวอาหรับ อพยพมาอยู่อาศัยกัน

3. เศรษฐกิจ

โครงสร้างทางเศรษฐกิจของมัลดีฟมีการท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมหลัก โดยมีสัดส่วน 28% ของ GDP และเมื่อรวมธุรกิจบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องโดยตรงและโดยอ้อมด้วยแล้ว ภาคบริการมีสัดส่วนถึง 77% ของ GDP ปัจจุบันกว่า 60% ของรายได้ประเทศมาจากการท่องเที่ยว มัลดีฟมีรีสอร์ตมากกว่า 87 แห่ง และมีนักท่องเที่ยวมากกว่า 5 ล้านคนไปเยือนมัลดีฟในปี 2550 ทั้งนี้เกือบทุกเดือนจะมีรีสอร์ตแห่งใหม่เกิดขึ้นเสมอ ภายหลังเหตุการณ์สึนามิ มัลดีฟส์ได้รับผลกระทบอย่างมาก เป็นผลให้นักท่องเที่ยวลดลงกว่าร้อยละ 25 และสูญเสียรายได้จำนวนมหาศาล มัลดีฟส์จึงระดมทุนจากนานาประเทศเพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยว และจัดกิจกรรมเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวกลับมาสู่มัลดีฟส์ สำหรับประมงและการเกษตร ซึ่งมีสัดส่วน 16% ของ GDP เริ่มมีความสำคัญน้อยลงเนื่องมาจากข้อจำกัดด้านพื้นที่ทางการเกษตรและแรงงานมีน้อย (แต่เป็นแรงงานที่มีคุณภาพและการศึกษาสูง) อย่างไรก็ตามมัลดีฟยังคงเป็นประเทศผู้ส่งออกทูน่าที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก ส่วนในด้านสินค้าอาหารส่วนใหญ่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วนเพียง 7% โดยส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้า การต่อเรือขนาดเล็กและ สินค้าหัตถกรรม

ในปี 2543 รัฐบาลมัลดีฟได้เริ่มมีการฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วยการยกเลิกโควตาการนำเข้าและเปิดเสรีการส่งออกให้เอกชนสามารถดำเนินการได้ในบางสาขา และในเวลาต่อมาก็ได้มีการลดข้อจำกัดด้านการค้าการลงทุนลงไปมาก ส่งผลให้มีการไหลเข้าของการลงทุนจากต่างประเทศมากยิ่งขึ้น ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของมัลดีฟในปี 2550 มีมูลค่า 1,049 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเฉลี่ย 7.5% ต่อปี รายได้ต่อหัวของมัลดีฟสูงที่สุดในกลุ่มประเทศเอเชียใต้ โดยมีรายได้ประมาณ 3,040 เหรียญ/คน/ปี

จุดแข็งของการท่องเที่ยวของมัลดีฟคือธรรมชาติที่ยังบริสุทธิอยู่มาก มีชายหาดขาว น้ำทะเลสีฟ้าครามใสสะอาดที่พบเห็นทั่วไปทุกหมู่เกาะ และยังมีแนวปะการังที่ยาวและสวยงามติดอันดับโลก เป็นที่สนใจแก่ผู้รักการว่ายน้ำ สายลม แสงแดด การดำน้ำ การพักผ่อนทั้งครอบครัว และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการฮันนีมูน

นักท่องเที่ยวของมัลดีฟเป็นนักท่องเที่ยวระดับบนเป็นส่วนมาก โดยส่วนใหญ่มาจากยุโรปและเอเชีย สัญชาตินักท่องเที่ยวจากยุโรปที่สำคัญคือ อิตาลี ฝรั่งเศส เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ และอังกฤษ ขณะที่นักท่องเที่ยวจากเอเชีย ส่วนใหญ่จะเป็น ญี่ปุ่น ฮ่องกง และจีน ปัจจุบันมัลดีฟเป็นแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำของโลก มีโรงแรมดังๆ จากทั่วโลกมาเปิดให้บริการแล้ว ไม่ว่าจะเป็น Hilton, Four Seasons, Club Med, One & Only อีกทั้งสถาบันการเงินชั้นนำของโลก ก็ได้ไปเปิดให้บริการแล้วเช่นกัน เช่น ธนาคาร Hong-Kong and Shanghai เป็นต้น

4. การค้าระหว่างประเทศ

มูลค่าส่งออกปี 2550 : 167 ล้านเหรียญสหรัฐ

สินค้าส่งออกสำคัญ มีชนิดเดียวคือ ปลา โดยเฉพาะปลาทูนา

ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ประเทศไทย 50% ศรีลังกา 15% อังกฤษ 11.5% ฝรั่งเศส 8.4% อัลจีเรีย 7.8% และญี่ปุ่น6.1%

มูลค่าการนำเข้าปี 2550: 940 ล้านเหรียญสหรัฐ

สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เรือขนาดใหญ่ ผลิตภัณฑ์อาหาร เสื้อผ้า สินคาอุปโภคบริโภค สินค้ากึ่งสำเร็จรูปและสินค้าทุน

แหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ สิงคโปร์ 22.7%, UAE 15.5%, อินเดีย 11.2%, มาเลเซีย 10.8%, ศรีลังกา 5.7%, และประเทศไทย5.3%

5. การค้ากับประเทศไทย

การส่งออกของไทยไปมัลดีฟเฉลี่ยปีละ 50 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าสำคัญได้แก่ สินค้า อุปโภคบริโภค เช่น เสื้อผ้าสำเร็จรูป อาหาร ผลิตภัณฑ์พลาสติก รถจักรยานยนต์ ตู้เย็น และสินค้าเครื่องก่อสร้าง เช่น ปูนซีเมนต์ เหล็กและเหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น

การนำเข้าของไทยจากมัลดีฟเฉลี่ยปีละ 50 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีสินค้าในกลุ่มประมง (โดยเพาะปลาทูนา) เพียงชนิดเดียวที่มีการนำเข้าจากมัลดีฟ

5. ความสัมพันธ์ไทย-มัลดีฟด้านอื่นๆ

การท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปมัลดีฟส์ในปี 2550 จำนวนประมาณ 2,494 คน นักท่องเที่ยวมัลดีฟส์เดินทางมาไทยในปี 2550 จำนวน 7,485 คน ปัจจุบันสายการบินบางกอกแอร์เวย์ได้เปิดเที่ยวบินตรงระหว่างกรุงเทพและกรุงมาเล

การประมง ประเทศมัลดีฟส์เป็นแหล่งปลาทูน่าที่สำคัญในมหาสมุทรอินเดีย ประเทศไทยยังไม่มีการติดต่อเพื่อทำประมงร่วมกับมัลดีฟส์ ทั้งระหว่างภาครัฐบาลและเอกชน ฝ่ายไทยเคยส่งเรือวิจัยประมงของกรมประมงเดินทางไปทำการศึกษาและวิจัยด้านปลาทูน่าในมัลดีฟส์ในบางโอกาส นอกจากนี้ รัฐบาลมัลดีสฟ์ได้กำหนดเงื่อนไขที่จะเข้าไปจับปลาในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของมัลดีฟส์ เช่น ต้องเสียค่าใบอนุญาต (license fee) ต้องจับปลาห่างฝั่งอย่างน้อย 78 ไมล์ และให้ผู้ได้รับอนุญาตจับปลาได้ไม่เกินปีละ 1.5 หมื่นตัน รวมทั้งทางการมัลดีฟส์ยังกำหนดให้ใช้วิธีการจับปลาแบบดั้งเดิมอีกด้วย

6. โครงการเมกะโปรเจคของมัลดีฟ

ปัจจุบันรัฐบาลมัลดีฟมีโครงการเมกะโปรเจคหลายโครงการที่ต้อนรับการลงทุนจากต่างประเทศ เช่น

1. Hulhumale Projects — เป็นโครงการถมพื้นที่บึงมหึมาขนาด 188 เฮกตาร์ ห่างจากเมืองหลวงเพียง 3 กิโลเมตรเพื่อพัฒนาเป็นเขตเมืองใหม่ที่หรูหราและทันสมัยและช่วยลดปัญหาความแออัดของเมืองหลวง โดยสามารถรองรับประชากร 53,000 คน และคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2020 โดยจะแบ่งเป็นย่านที่พักอาศัย ย่านการค้า และย่านอุตสหกรรมเบา

2. อู่จอดเรือยอร์ช “Marina” ตั้งอยู่ในเขต Hulhumale สามารถจอดเรือได้ 76 ลำ ในเขตมารีนาจะมีร้านอาหาร ร้านกาแฟ สถานบันเทิง สปา และการบริการอื่นๆ ได้แก่ สถานีเติมน้ำมัน และน้ำ เป็นต้น

3. โรงพยาบาลและโรงเรียนแพทย์ ตั้งอยู่ในเขต Hulhumale เช่นกัน โดยมีแผนที่จะพัฒนาเป็น Medical tourism Hub ต่อไปในอนาคต

4. ศูนย์ศิลปและวัฒนธรรม (Arts and cultural center) มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมแห่งใหม่ที่ครบวงจรสำหรับนักท่องเที่ยว เนื่องจากตั้งอยู่ใกล้กับสนามบินและรีสอร์ตจำนวนมาก

5. ย่านอาคารสำนักงานขนาดใหญ่ (Office Tower) - เพื่อเป็นย่านธุรกิจที่ทันสมัย รองรับการเป็นศูนย์กลางธุรกิจในอนาคต เช่นเดียวกับดูไบ

6. ย่านที่พักอาศัยกึ่งย่านธุรกิจ (Mix-Residential) โดยชั้นล่างๆ ของอาคารจะเป็นห้างสรรพสินค้า แต่ชั้นบนๆ จะเป็นส่วนที่พักอาศัย -ตั้งอยู่ในเขต Hulhumale เช่นกัน

7. โรงเรียนนานาชาติ - เพื่อรองรับบุตรหลานของบุคคลกรจากต่างประเทศ ที่จะเข้าไปทำงานในโครงการเมกะโปรเจ็คต่างๆ

7. ข้อคิดเห็น

ย่างก้าวของรัฐบาลมัลดีฟปัจจุบันคือการเป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบครบวงจร และนักท่องเที่ยวสามารถใช้เวลาพักผ่อนได้ยาวนานขึ้น เช่นเดียวกับดูไบ ดังจะเห็นได้จากโครงการเมกกะโปรเจกต่างๆ ที่รัฐบาลกำลังเร่งผลักดันอยู่ ซึ่งนักธุรกิจไทยที่มีประสบการณ์และความชำนาญในธุรกิจท่องเที่ยวอยู่แล้ว สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาได้ในหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็น ด้านการก่อสร้างแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ สาธารณูปโภค ร้านอาหารไทย การรักษาพยาบาล Healthcare และสปา เป็นต้น

สำหรับ ศูนย์ศิลปและวัฒนธรรมของมัลดีฟ ผู้บริหารงานการแสดงมืออาชีพอย่าง สยามนิรมิตร หรือกันตนา คงไม่พลาดโอกาสเสนอตัวเข้าไปบริหารงานในศูนย์ดังกล่าว เพราะจุดนี้จะเป็นจุด Highlight ของการพัฒนาการท่องเที่ยวมัลดีฟเลยทีเดียวก็ว่าได้ ที่ซึ่งมัลดีฟต้องการมืออาชีพเท่านั้นเข้าไปบริหาร

นอกจากนั้น ในภาพรวม ยังมีโอกาสความเป็นไปได้ในธุรกิจ สาขาต่างๆ สำหรับนักธุรกิจไทย เช่น

  • การผลิตสินค้าต่างๆ ในมัลดีฟมีน้อยมาก จึงต้องนำเข้าสินค้าเกือบทุกชนิด ดังนั้นจึงเป็นโอกาสให้กับสินค้าไทยในตลาดนี้ ทั้งเพื่อตอบสนองความต้องการของคนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยว อาทิเช่น เช่น อาหาร เครื่องนุ่งห่ม เครื่องอุปโภคบริโภค ของตกแต่งบ้าน อุปกรณ์กีฬาทางน้ำ รวมทั้ง สินค้าวัสดุก่อสร้าง และปูนซีเมนต์ เป็นต้น
  • การลงทุนในสาขาการท่องเที่ยว เช่น รีสอร์ต ร้านอาหาร สปา ธุรกิจท่องเที่ยวทางทะเล และการดำน้ำชมปะการังและสัตว์น้ำ ซึ่งมีอยู่หลากหลายสายพันธุ์และชุกชุมมากในเขตแนวปะการัง
  • ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น มัลดีฟมีโรงแรมและรีสอร์ตถึง 87 แห่ง และทุกแห่งต้องการอัพเกรตตัวเองด้วยการมีสปาไว้บริการลูกค้า ซึ่งสปาไทยก็เป็นที่ต้องการอย่างมากในมัลดีฟ
  • การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเขตเมืองหลวง และเกาะใกล้เคียงที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นพิเศษ
  • การขนส่งทางเครื่องบิน และทางทะเล
  • การพักผ่อนท่องเที่ยวแบบครอบครัว
  • แพคเกครับจัดงานแต่งงาน +ฮันนีมูน
  • โรงเรียนนานาชาติ
  • การแปรรูปสินค้าอาหารทะเล ปลากระป๋อง การจับปลาทูนา ธุรกิจห้องเย็น การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทะเลเพื่อป้อนให้กับโรงแรมและรีสอร์ตต่างๆ
  • การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน โรงแรม และรีสอร์ต ยังมีเกาะสวยๆ รอคนไทยเข้าไปพัฒนาอีกมากมาย

---------------------------

ดร. ไพศาล มะระพฤกษ์วรรณ

รองกงสุลใหญ่ฝ่ายการพาณิชย์ ณ เมืองเจนไน-อินเดีย

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ