การปรับตัวของผู้บริโภค และกลุ่มผู้ประกอบการ เพื่อต่อสู้กับเศรษฐกิจ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 10, 2009 15:01 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่เป็นอยู่ในญี่ปุ่น และทั่วโลก รวมถึงปัจจัยด้านโครงสร้างทางสังคมญี่ปุ่น และของโลกที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ สัดส่วนของประชากรอายุมากกว่า 65 ปีมีจำนวนเพิ่มขึ้น แต่ประชาการในวัยเด็กลดน้อยลง การจับจ่ายใช้สอยจึงมีแนวโน้มลดน้อยลงตามไปด้วย ข้อมูลจากการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคในญี่ปุ่นของ สถาบันวิจัย Nikkei ระหว่างเดือนเมษายน-มิถุนายน 2552 พบว่า มากกว่า60% ของผู้ตอบแบบสอบถามแจ้งว่ามีการใช้จ่ายของครัวเรือนลดลงประมาณ 10 % จากรายจ่ายปกติ ส่งผลให้ ยอดการขายปลีกในซุปเปอร์มาร์เก็ตสำหรับเดือนพฤษภาคมลดลงเฉลี่ย 2% และ ยอดการขายในห้างสรรพสินค้าลดลงมากกว่า 12.3% เมื่อเทียบกับยอดขายในเดือนเดียวกันจากปีที่แล้ว ธุรกิจการค้าขายรายย่อยในญี่ปุ่นจึงต้องปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ และพัฒนาทั้งตัวของโครงสร้างการประกอบการ และการวางแผนกลยุทธ์การทำตลาด ให้เหมาะสมกับสภาวะการณ์แข่งขันที่สูงขึ้นแนวโน้มกลยุทธ์การทำธุรกิจการค้าปลีกจากบริษัทชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น ตลอดจนพฤติกรรมการบริโภคในปัจจุบัน ที่ผู้ประกอบการการผลิต และ การค้าขายในประเทศไทยควรติดตาม เรียนรู้ เพื่อจะได้นำไปปรับแผนการตลาดให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ในการขยายตลาดทั้งในต่างประเทศ และในประเทศ ดังนี้

1.การลดราคาสินค้า

การสำรวจอุตสาหกรรมธุรกิจขนาดย่อย อาทิ ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ และ ร้านค้าเฉพาะทาง พบว่าประมาณ 47% ของผู้ประกอบการวางแผนลดราคาสินค้าลง แนวโน้มและสัดส่วนดังกล่าวสูงขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับการสำรวจเมื่อปี 2551 ซึ่งเป็นจำนวนเพียง 9 % นอกจากนี้ ยังพบว่า การลดราคาสินค้าเกิดขึ้นในทุกกลุ่มธุรกิจค้าปลีก ได้แก่ ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านค้าของสหกรณ์ ห้างสรรพสินค้าชั้นนำ แม้แต่ร้านสะดวกซื้อที่มักจะตั้งราคาตามที่ผู้ผลิตแนะนำ (suggested retail price) วิธีการที่นำมาใช้ในการปรับลดราคา เช่น การจำหน่ายสินค้าภายใต้ชื่อร้านค้าตนเองหรือ private brand product ในราคาที่ถูกกว่าแบรนด์ผู้ผลิตการลดราคาสินค้าที่จัดจำหน่ายอยู่แล้วลง 10-20% และ การมองหาลู่ทางควบรวมกิจการหรือเข้าเป็นหุ้นส่วนในภาวะเศรษฐกิจซบเซาและผู้บริโภคตัดทอนการใช้จ่าย พบว่า ซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่มียอดการขายลดน้อยลง แต่ ร้านค้าปลีกเฉพาะทาง เช่น ร้านเสื้อผ้าขายปลีกที่มีผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่ๆ หรือ ซุปเปอร์มาร์เก็ตประจำท้องถิ่นที่ตอบสนองความต้องการการบริโภคของคนท้องถิ่นได้ดี กลับมีผลกำไรที่ดีขึ้นแสดงให้เห็นว่าในสภาวะเศรษฐกิจที่เป็นอยู่นี้ ขนาดของกิจการไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จหรือความสามารถในการเพิ่มยอดขายของธุรกิจ แต่อยู่ที่ความสามารถในการปรับตัวและกลยุทธ์ที่นำมาใช้ได้อย่างเหมาะสม

2. การเน้นขายสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

การสำรวจพบว่า ประมาณ 84% ของผู้ซื้อเลือกซื้อสินค้าโดยพิจารณาทั้งราคาขาย ควบคู่ไปกับการเลือกสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มากกว่า 40% ยินยอมที่จะซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแม้ว่าสินค้านั้นจะมีราคาที่สูงกว่าปกติเล็กน้อย โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเพื่อการดูแลรักษาสุขภาพ และอาหารซึ่งผู้ซื้อจะให้ความสำคัญสูงสุดต่อความสะอาดและปลอดภัย สิ่งที่ผู้ซื้อต้องการให้ผู้ผลิตสินค้าปรับเพิ่ม คือการข้อมูลเกี่ยวกับตัวสินค้า วิธีการใช้ และดูแลรักษาสินค้าในรูปแบบที่เข้าใจได้ง่าย โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่มีพัฒนาการใหม่ๆ และสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งราคาจำหน่ายสูงกว่าสินค้าปกติ เช่น อัตราการประหยัดไฟฟ้า น้ำ เพื่อคำนวนความคุ้มทุนจากราคาที่สูงขึ้น จำนวนการลดการคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นต้นสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่ได้รับความสนใจในกลุ่มผู้บริโภคได้แก่ เครื่องซักผ้าและเครื่องปั่นผ้าแห้ง ตู้เย็น โทรทัศน์ และ รถยนต์ไฮบริด โดยผู้ที่ซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไปแล้ว มากกว่า 70% ตอบว่าพอใจต่อการเลือกซื้อสินค้านั้น

3. การร่วมมือระหว่างบริษัทเพื่อการพัฒนาสินค้านวัตกรรม

ในยุคที่ผู้ซื้อประหยัด และตัดทอนการใช้จ่าย กลับพบว่าตลาดสินค้าเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของบริษัท Fast Retailing ขายภายใต้ private-brand ชื่อ Uniqlo กลับขยายตัวสวนกระแสเศรษฐกิจ และมียอดขายในปี 2552 สูงถึง 102.1 พันล้านเยน หรือ เพิ่มขึ้น 11.7% เทียบกับปีที่ผ่านมา เหตุผลสำคัญ คือ การสร้างภาพลักษณ์ของสินค้าแฟชั่นโดยร่วมมือกับดีไซด์เนอร์ชื่อดังของยุโรป ควบคู่ไปกับการพัฒนานวัตกรรมสินค้าใหม่ๆ ร่วมกับผู้ผลิตวัตถุดิบ เช่น ร่วมกับบริษัท Toray พัฒนาสิ่งทอสำหรับเครื่องแต่งกายที่เก็บความร้อนได้ดีสำหรับเสื้อผ้าในหน้าหนาว พร้อม ๆ กับการวางแผนเชิงรุกสำหรับการขยายตลาดสินค้า Uniqlo ออกไปต่างประเทศ โดยวางเป้าหมายจะเพิ่มยอดขายให้เป็น 5 ล้านล้านเยน ภายในปี 2563 (คศ.2020)

4. การขายสินค้าผ่านสื่อโทรคมนาคม เช่น อินเตอร์เน็ต

การสั่งซื้อสินค้าทางสื่ออินเตอร์เน็ตมียอดขายเพิ่มขึ้นประมาณ 7% จากปีที่ผ่านมา เมื่อรวมกับการสั่งซื้อสินค้าทางไปรษณีย์และโทรสารแล้ว ยอดรวมการขายจากการซื้อสินค้าที่ขายทางตรง (ไม่ผ่านร้านค้า) มียอดการขายรวมกันมากกว่ายอดขายรวมของร้านสะดวกซื้อ หรือ ห้างสรรพสินค้า เวปไซต์ที่ให้บริการขายสินค้าทางอินเตอร์เน็ต/เวปไซด์ขนาดใหญ่ เช่น Rakuten มียอดการขายที่เพิ่มขึ้นกว่า 24% ในปีนี้ ทำให้ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ เช่น Itoyokado เริ่มเข้าสู่ธุรกิจขายตรงทางอินเตอร์เน็ตแล้ว โดยมีการปรับปรุงและสร้างพันธมิตรด้าน logistic ทำให้สามารถส่งมอบสินค้าที่สุ่งซื้ออย่างรวดเร็วในลักษณะเดียวกับการส่งอาหารหรือ Pizza บริการสั่งซื้อและ Home delivery นี้ได้รับความนิยมมากในกลุ่มสตรีที่ทำงานนอกบ้านแม่บ้านที่มีบุตรเล็ก ผู้สูงอายุ พัฒนาการ e-business ในญี่ปุ่นกำลังก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ผู้ซื้อสามารถใช้โทรศัพท์มือถือในการเข้าไปชมและสั่งซื้อสินค้าได้โดยสะดวก

หลักการสำคัญในการทำธุรกิจการสั่งซื้อสินค้าผ่านสื่อโทรคมนาคม คือ การให้รายละเอียดของสินค้าที่ครบถ้วนและถูกต้อง ช่วยให้ผู้ซื้อประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางออกไปมองหาที่ร้าน มีสินค้าจำเป้นต่อการดำรงชีวิตหลากหลาย ผู้ซื้อสามารถเลือกสั่งสินค้าได้อย่างครบถ้วนในคราวเดียวกัน มีการบริหารการจัดส่งที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็วและเชื่อถือได้ การจัดส่งที่ต้องมีประสิทธิภาพและความรวดเร็ว

5. การควบรวมกิจการเพื่อขยายขนาดและร่วมมือด้านการตลาด

การควบรวมกิจการและการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ เป็นยุทธศาสตร์ที่ใช้ได้ในทุกสมัยเพื่อการขยายเครือยข่ายการค้า และเข้าสู่ธุรกิจใหม่ๆ บริษัทผู้ค้าขนาดใหญ่อย่าง Itochu ได้ทำการควบรวมกิจการในเชิงหุ้นส่วนกิจการ หรือ equity-method subsidiaries กับบริษัทผู้ผลิตสินค้าด้านอาหาร และบริษัทผู้ผลิตสินค้าด้านเครื่องแต่งกายขนาดใหญ่ในจีน เพื่อเปิดลู่ทางการค้าขายสินค้าอื่นๆ ในอนาคตให้กับบริษัทของตัวเองและบริษัทญี่ปุ่นอื่นๆที่อาจเข้ามาร่วมลงทุนในอนาคต

บริษัท Fast Retailing ผู้ผลิตเครื่องแต่งกาย Uniqlo ได้ปรับกลยุทธ์และแผนการตลาดโดยออกไปเปิดร้านในต่างประเทศ รวมทั้งซื้อควบรวมบริษัทผู้ผลิตรายย่อยที่ถึงแม้ว่าจะยังไม่สามารถทำกำไรให้บริษัทและต้องมีการปรับเปลี่ยนการดำเนินงานการจัดการให้สอดคล้องกันก็ตาม แต่บริษัท Fast Retailing ได้ให้ ความสำคัญของการมีบริษัทลูก ในด้านการเติบโต และการสร้างฐานการตลาดที่จะใหญ่ขึ้น ที่จะส่งผลดีต่อเป้าหมายของบริษัทที่ต้องการเป็นร้านค้าเครื่องแต่งกายขายปลีกเฉพาะทางที่ใหญ่ที่สุดในโลกในปี 2020 Seven Eleven Japan ได้วางหลักการทำธุรกิจการขายปลีก โดย ให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นต่อการเลือกจำหน่ายเฉพาะผลิตภัณฑ์คุณภาพดี เพื่อสร้างความเชื่อถือ เชื่อมั่นและสร้างความพอใจแก่ผู้บริโภคนอกจากนี้ได้มีการ การปรับเปลี่ยนระบบการจัดการที่จุดจำหน่าย หรือ ระบบ point of sale systemให้มีความละเอียดเจาะจงเป็นประโยชน์ต่อการวิเคราะห์ความพึงพอใจและความต้องการของลูกค้ามากยิ่งขึ้น เพื่อมุ่งสู่การสร้างตลาดในระดับบุคคล

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ