อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ในญี่ปุ่น

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 14, 2009 16:09 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. สภาพทั่วไป และการผลิตภายในประเทศ

แม้ว่าญี่ปุ่นมีเฟอร์นิเจอร์แบบดั้งเดิมที่มีลักษณะเฉพาะตัว เช่น เสื่อ Tatami โต๊ะ Kotatsu แต่วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ทำให้เฟอร์นิเจอร์ที่ใช้กันส่วนใหญ่ เป็นเฟอร์นิเจอร์แนวตะวันตกที่เป็น legged furniture ไม่ว่าจะเป็น ชุดโต๊ะสำหรับรับประทานอาหาร ที่นอน โต้ะ เก้าอี้ โซฟา แต่มีการออกแบบ รูปทรง และ ขนาดที่เหมาะกับพื้นที่ใช้สอยของบ้าน และสำนักงานที่มีขนาดเล็ก แคบกว่าประเทศอื่นทั่วไป

เฟอร์นิเจอร์ที่ผลิตในญี่ปุ่น เป็นผลผลิตที่มีคุณภาพ มีดีไซน์ และฝีมือปราณีต มีทั้งเฟอร์นิเจอร์ไม้และโลหะ การผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้ในญี่ปุ่นมีมูลค่าประมาณ 9 แสนล้านเยนต่อปี เฟอร์นิเจอร์โลหะมีมูลค่าปีละ 4.5-5 แสนล้านเยน

เฟอร์นิเจอร์โลหะส่วนใหญ่เป็นเฟอร์นิเจอร์สำหรับใช้ในสำนักงาน โดยผลิตตามมาตรฐาน Japan Industrial Standard หรือ JIS เช่น สินค้าที่ทำจากเหล็กต้องมีความคงทนใช้งานได้ไม่ต่ำกว่า 15 ปี บริษัทผู้ผลิตชั้นนำของญี่ปุ่นมีประวัติยาวนาน เช่น OKAMURA ผลิตและส่งออกทั่วโลก KOKUYO ที่จำหน่ายทั้งเฟอร์นิเจอร์และเครื่องเขียน และ ITOKI ซึ่งจำหน่ายและส่งออกเฟอร์นิเจอร์คุณภาพสูง

ส่วนเฟอร์นิเจอร์ไม้ผู้ผลิตภายในประเทศของญี่ปุ่น เป็นอุตสาหกรรมในท้องถิ่น จึงมีลักษณะเฉพาะตามแหล่งผลิต ส่วนใหญ่มีขนาดเล็กถึงกลาง มูลค่าการผลิตแต่ละรายไม่เกิน 1 หมื่นล้านเยนต่อปี แหล่งผลิตสำคัญที่สุดได้แก่ เมือง Okawa ในจังหวัด Fukuoka หรือ Saga บนเกาะคิวชู เมืองแหล่งผลิตสำคัญอื่นๆ อยู่ในเขต Fuchuu Tokushima Hida-Takayama และ Niigata อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ประกอบการเฟอร์นิเจอร์ไม้ภายในประเทศของญี่ปุ่นได้ลดลง และ ลักษณะเฉพาะตัวเริ่มไม่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน

เฟอร์นิเจอร์ไม้ที่ผลิตในประเทศ ได้แก่ เคาน์เตอร์ทำครัว โต๊ะ เก้าอี้ ตู้ ชั้นวางของ เตียงนอน ตู้วางเครื่องเสียง และอื่นๆ โครงสร้างการผลิตของสินค้าแต่ละประเภทปี 2549 มีดังนี้

โครงสร้างการผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้ของญี่ปุน่ จำแนกรายประเภทปี 2549

                    ประเภท                   มูลค่า(ล้านเยน)        สัดส่วน(%)
เคาน์เตอร์ทำครัว (สำหรับวาง sink เตา พร้อมตู้)         238,303           27.1
ตู้ และชั้นวางของ                                   200,233           22.8
โต๊ะ เก้าอี้                                        163,949           18.6
เตียงนอน                                          24,627            2.8
ตู้วางเครื่องเสียง                                     9,349            1.1
เฟอร์นิเจอร์ไม้เบ็ดเตล็ด                              242,204           27.6
    รวม                                         878,665          100.0
ที่มา : Ministry of Economy, Trade and Industry “Census of Manufacturers, report by commodity 2006”

การผลิตเฟอร์นิเจอร์ภายในประเทศทุกประเภทมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากการแข่งขันด้านราคาผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ญี่ปุ่นหลายราย สั่งผู้ผลิตแบบ OEM ต่างชาติหรือบางส่วนร่วมทุนในต่างประเทศที่ต้นทุนต่ำโดยเฉพาะประเทศจีน และประเทศอาเซียน

2. การนำเข้าเฟอร์นิเจอร์

การนำเข้าเฟอร์นิเจอร์ของญี่ปุ่นขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2543 ถึงปี 2550 เมื่อมีการแก้ไขกฎหมายมาตรฐานอาคารที่เข้มงวดขึ้น ซึ่งมีผลตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2550 จำนวนการก่อสร้างบ้าน/อาคารที่อยู่อาศัยใหม่ ในปี 2550 เริ่มลดลง ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ผู้บริโภคญี่ปุ่นระมัดระวังการใช้จ่าย การนำเข้าเฟอร์นิเจอร์ของญี่ปุ่นปี 2551 ลดลงร้อยละ 9 และช่วง 5 เดือนแรก(มกราคม-พฤษภาคม)ของปี 2552 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 12

เฟอรนิเจอร์ที่นำเข้าส่วนใหญ่ เกือบร้อยละ 70 เป็นเฟอรนิเจอร์ไม้ เฟอร์นิเจอร์โลหะประมาณร้อยละ 27 เฟอร์นิเจอร์ทำจากวัสดุอื่นอีกเล็กน้อย เช่น พลาสติก และหวาย เป็นต้น

การนำเข้าเฟอร์นิเจอร์ของญี่ปุ่นจำแนกตามวัสดุที่ใช้ผลิต

หน่วย : ล้านเยน

                        2548     2549     2550     2551     2551        2552      share    change

(ม.ค.-พ.ค.) (ม.ค.-พ.ค.) 2552 52/51

รวม                  304,445  328,465  336,283  306,785    84,136      73,945     100.0     -12.1
เฟอร์นิเจอร์ไม้          206,691  221,338  227,883  209,482    57,150      51,292      69.4     -10.3
เฟอร์นิเจอร์โลหะ         83,901   91,846   91,490   83,437    23,182      19,698      26.6     -15.0
ทำจากวัสดุอื่น            13,853   15,281   16,909   13,866     3,804       2,955       4.0     -22.3
ที่มา International Development Association of the Furniture Industry of Japan คำนวณจากสถิติการค้าของ Ministry of Finance, Japan

แหล่งนำเข้าเฟอร์นิเจอร์ที่สำคัญของญี่ปุ่น คือ จีน ครองส่วนแบ่งตลาดประมาณครึ่งหนึ่ง ของมูลค่านำเข้า เนื่องจากได้เปรียบเรื่องต้นทุนการผลิต และผู้ผลิตญี่ปุ่นหลายรายไปร่วมลงทุนในจีน เฟอร์นิเจอร์จากจีนครองสัดส่วนสูงสุดทั้งเฟอร์นิเจอร์ไม้ และเฟอร์นิเจอร์โลหะ โดยเฉพาะเฟอร์นิเจอร์โลหะญี่ปุ่นนำเข้าจากจีนกว่าร้อยละ 60

แหล่งนำเข้าสำคัญอื่นๆ ได้แก่ เวียดนาม ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ไต้หวัน อิตาลี เยอรมัน และสหรัฐอเมริกา โดยสินค้าจากไทยแม้จะมีมูลค่าน้อยกว่าจีนมาก แต่ในอดีตไทยครองส่วนแบ่งตลาดอันดับ 2 มูลค่านำเข้าเฟอร์นิเจอร์จากไทยเริ่มลดลงตั้งแต่ปี 2550 ขณะที่สินค้าจากเวียดนามขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ในปี 2551 และ 2552 ที่มูลค่าการนำเข้าของญี่ปุ่นลดลงก็ตาม สินค้าจากไทย และเวียดนามประมาณร้อยละ 80 เป็นเฟอร์นิเจอร์ไม้

เฟอร์นิเจอร์ที่ญี่ปุ่นนำเข้าจากประเทศเอเชียเป็นสินค้าระดับกลางลงมา ขณะที่สินค้าจากยุโรปและสหรัฐอเมริกาเป็นเฟอร์นิเจอร์ราคาปานกลางถึงเฟอร์นิเจอร์หรูราคาแพง ปี 2551 และปี 2552 ที่ประสบภาวะเศรษฐกิจถดถอย การนำเข้าสินค้าเหล่านี้จากยุโรป และสหรัฐฯ ลดลงอย่างมาก

การนำเข้าเฟอร์นิเจอร์ของญี่ปุ่นจำแนกตามแหล่งนำเข้า

หน่วย : ล้านเยน

                    2548      2549      2550      2551      2551         2552      share   change

(ม.ค.-พ.ค.) (ม.ค.-พ.ค.) 2552 52/51

จีน               141,185   159,828   171,689   160,605     42,086       37,335      50.5   -11.3
เวียดนาม           21,172    24,499    27,550    26,637      6,952        7,723      10.4   +11.1
ไทย               29,505    29,778    28,096    22,562      6,248        5,031       6.8   -19.5
ไต้หวัน             24,986    23,814    22,244    19,929      6,381        4,717       6.4   -26.1
มาเลเซีย           16,938    18,242    16,769    17,002      6,056        6,700       9.1   +10.6
อินโดนีเซีย          17,657    18,079    18,332    18,029      5,015        4,416       6.0   -11.9
อิตาลี              16,574    16,666    14,640     9,743      2,994        1,759       2.4   -41.2
เยอรมนี             5,538     7,090     7,493     5,389      1,411          769       1.0   -45.5
สหรัฐอเมริกา         5,237     5,254     4,749     4,050      1,418          764       1.0   -46.1
ประเทศอื่นๆ         25,653    25,217    24,721    22,839      5,575        4,731       6.4   -15.1
 รวม             304,445   328,465   336,283   306,785     84,136       73,945     100.0   -12.1
ที่มา International Development Association of the Furniture Industry of Japan คำนวณจากสถิติการค้าของ Ministry of Finance, Japan

3. กฎระเบียบ

กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเฟอร์นิเจอร์ มีดังนี้

  • ผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายต้องปิดฉลากสินค้าเป็นภาษาญี่ปุ่น เช่น ขนาด วัสดุที่ใช้ การดูแลรักษาเป็นต้น ตาม Household Goods Quality Labeling Labeling Law และ Consumer Product Safety Law
  • Building Standard Law มีข้อกำหนดเกี่ยวกับ การจัดระบบหมุนเวียนอากาศ วัสดุก่อสร้างเพดานและ วัสดุที่ใช้ตกแต่งภายใน โดยจำกัดการใช้วัสดุที่มีสารประกอบอินทรีย์ระเหย หรือ Volatile Organic Compounds (VOCs) นอกจากนี้ ห้ามใช้วัสดุที่มีสารเคมีที่ใช้กำจัดปลวกชนิด chlorpyrifos ใน “habitable room” ทั้งในบ้านพักอาศัย สำนักงาน ภัตตาคาร และโรงแรม เป็นต้น
  • ติดเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม Japan Industrial Standard หรือ JIS Mark ได้โดยความสมัครใจ ทั้งนี้ Japan Industrial Standards Institute ได้กำหนดคุณสมบัติสำหรับขนาด รูปร่าง คุณภาพของผลิตภัณฑ์ วัสดุ ส่วนประกอบของโครงสร้าง วิธีการประกอบ การเคลือบชั้นนอก ฯลฯ สำหรับเฟอร์นิเจอร์สำนักงานทุกประเภท
4. ภาษีนำเข้า

เก้าอี้ที่ทำด้วยหนังเป็นเฟอร์นิเจอร์ประเภทเดียวที่ต้องเสียภาษีนำเข้าร้อยละ 3.8 และภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ญี่ปุ่นทะยอยลดลงภาษีนำเข้าลงเหลือศูนย์ในปี 2557

เฟอร์นิเจอร์ประเภทอื่นๆ ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า

5. ช่องทางการกระจายสินค้าเฟอร์นิเจอร์

5.1 ช่องการกระจายเฟอร์นิเจอร์สำหรับครัวเรือน

ผู้นำเข้าเฟอร์นิเจอร์สำหรับครัวเรือนมีทั้ง ผู้ผลิต/ผู้ค้าส่งเฟอร์นิเจอร์ในประเทศ บริษัท Trading ที่นำเข้าเฟอร์นิเจอร์ และบริษัท Tradingนำเข้าสินค้าทั่วไป

ผู้นำเข้า/ผู้ค้าส่งข้างต้น จำหน่ายต่อให้ผู้ค้าปลีกเฟอร์นิเจอร์ เช่น ร้านจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ห้างสรรพสินค้า home center ร้านจำหน่ายสินค้าตกแต่งภายใน รวมทั้ง บริษัทรับคำสั่งซื้อทาง mail และบริษัทรับเหมาก่อสร้างบ้าน และบางกรณี ผู้ค้าปลีกบริษัทรับคำสั่งซื้อทาง mail และบริษัทรับเหมาก่อสร้างบ้าน นำเข้าสินค้าโดยตรง

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ และ ของตกแต่งภายในของญี่ปุ่นเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมก่อสร้างกรณีของบ้านเดี่ยว ผู้รับเหมาการก่อสร้างแบบกึ่งสำเร็จ หรือ ผู้รับเหมาด้านการทำไม้ จะจัดซื้อเฟอร์นิเจอร์และ ของตกแต่งโดยตรงกับกับบริษัทผู้ประกอบการรับทำเฟอร์นิเจอร์ และ ของตกแต่ง หรือ บริษัทผู้วางแผนเฉพาะทาง สำหรับในกรณีของบ้านจัดสรร บริษัทเจ้าของโครงการ (developer) จะทำสัญญากับผู้รับเหมาทั่วไป (general developer) แล้ว ผู้รับเหมาทั่วไป หรือ บริษัทเจ้าของโครงการเองก็จะสั่งซื้อสินค้ากับผู้ผลิตของตกแต่งภายใน หรือ ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์เครื่องไม้ หรือ ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์แบบ built in โดยตรง โดยเฟอร์นิเจอร์เครื่องไม้มักจะใช้กับบ้านที่มีราคาสูง

บริษัทเจ้าของโครงการในปัจจุบันมักเสนอการซื้อขายเฟอร์นิเจอร์ และ ของตกแต่งภายในต่อผู้อยู่อาศัยในระหว่างการซื้อขายบ้าน เนื่องจากต้องการเพิ่มมูลค่าการซื้อขายบ้านต่อหลัง การซื้อขายแบบนี้จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทเจ้าของโครงการก่อสร้างบ้าน และ ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์หรือของตกแต่งใช้สอยมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นมากขึ้น

5.2 ช่องทางการกระจายสินค้าเฟอร์นิเจอร์สำนักงาน

บริษัทชั้นนำ ได้แก่ บริษัท Okamura บริษัท Kokuyo บริษัท Itoki และบริษัท Uchida Yokoเป็นผู้ผูกขาดตลาด เนื่องจาก ตลาดเฟอร์นิเจอร์สำนักงานซึ่งผู้บริโภคส่วนใหญ่เป็นองค์กร และหน่วยงานของรัฐ ผู้ค้าธรรมดา หรือกิจการค้าปลีก (Retail outlets) ไม่สามารถรับคำสั่งซื้อครั้งละใหญ่ๆ ได้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องอาศัยช่องทางกระจายสินค้าอื่นๆ เช่น การขายตรงให้ลูกค้ารายใหญ่ การทำสัญญาผ่านผู้ทำสัญญากลาง (General contractors) ผู้ผลิตลักษณะ Housing makers สำนักงานสถาปนิก และขายผ่านบริษัทสาขาของผู้ผลิต (Manufacturer’s affiliated sales companies) นอกจากนี้ การจำหน่ายทาง Mail order sales และทางInternet-based online sales ก็กำลังขยายตัวในส่วนของเฟอร์นิเจอร์สำนักงานขนาดเล็ก

6. แนวโน้มตลาด

วิถีชีวิตปัจจุบันโดยเฉพาะคนที่อาศัยในเขตเมืองมักอยู่แบบครอบครัวเล็กๆ หรือเป็นครอบครัวอยู่อาศัยคนเดียวมากขึ้น เนื่องจากอยู่เป็นโสด และแต่งงานช้าลง รวมทั้ง ครอบครัวที่ทำงานนอกบ้านทั้งสามีและภรรยา ทำให้คนสมัยใหม่ใช้เวลาในบ้านน้อยลง ขนาดพื้นที่ใช้สอยของบ้านโดยเฉลี่ยลดลง ส่งผลให้ความต้องการเฟอร์นิเจอร์น้อยลงด้วย

ด้านโครงสร้างของการกระจายสินค้าเฟอร์นิเจอร์ก็มีแนวทางเปลี่ยนไป โดยการเกิดขึ้นของร้านจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ขนาดใหญ่ (mega store) ได้ทำให้ผู้ขายส่งมีบทบาทในการตลาดน้อยลง การจัดส่งโดยตรงจากผู้ผลิตสู่ผู้ค้าปลีกรายย่อยมีมากขึ้น การแข่งขันระหว่างผู้ค้าปลีกรายใหญ่ และการเพิ่มขึ้นของการนำเข้าก่อนปี 2551 ส่งผลให้ราคาต่อหน่วยของสินค้ามีทิศทางที่ถูกลง mega store chain และ ผู้ค้าปลีกที่มี brand ได้ขยายส่วนแบ่งตลาด โดยได้เปรียบในการแข่งขันจากความหลากหลายของสินค้า และด้านราคาขณะที่ผู้ค้าปลีกขนาดกลางและรายย่อยต่างประสบปัญหายอดขายลดลง

อนึ่ง ในปี 2549 IKEA ซึ่งเป็นร้านค้าปลีกเฟอร์นิเจอร์รายใหญ่ของโลกได้เริ่มเข้ามาทำธุรกิจในญี่ปุ่น ร้านจำหน่ายแต่ละแห่งมีเนื้อที่กว่า 40,000 ตารางเมตร มีสินค้าเฟอร์นิเจอร์ และของตกแต่งบ้านจำนวนมาก และหลากหลายให้ผู้บริโภคได้เลือกซื้อ ได้กระตุ้นความสนใจแก่ลูกค้ารายใหม่ๆ

7. สิ่งที่ควรคำนึงเพื่อการรักษาลูกค้าและขยายตลาดญี่ปุ่น
  • ผู้บริโภคญี่ปุ่นนิยมสินค้าแบบเรียบ แต่มีดีไซน์ และใช้ประโยชน์จากพื้นที่อย่างคุ้มค่า นอกจากนี้ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม และการประหยัดพลังงานเป็นกระแสความนิยมในสินค้าทุกประเภท
  • ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เคร่งครัดในกฎเบียบ ดังนั้นผู้ผลิตต้องให้ความสำคัญเรื่อง ความปลอดภัยจากสารเคมี และความแข็งแรง
  • ผู้ส่งออกควรศึกษา ให้เข้าใจรสนิยม และติดตามแนวโน้มตลาด และในโอกาสที่พบลูกค้าควรเตรียมรายละเอียดเกี่ยวกับสินค้า brochure ตัวอย่างวัสดุ และหากมีข้อมูลที่แปลเป็นภาษาญี่ปุ่นก็จะอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้ามากขึ้น

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ