โครงการพบปะผู้บริหารภาครัฐและเอกชนเพื่อเผยแพร่ศักยภาพและกิจกรรมของประเทศไทยในประเทศกัวเตมาลาและเบลิซในระหว่างวันที่ 15-20 มิถุนายน 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 15, 2009 15:58 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ด้วยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเม็กซิโกได้ร่วมจัดทำโครงการกับสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเม็กซิโก ภายใต้งบประมาณ FMIP ในการสำรวจ พบปะผู้บริหารภาครัฐฯ และเอกชนของประเทศในเขตอาณา โดยการเดินทางไปประเทศกัวเตมาลาและประเทศเบลิซ ในระหว่างวันที่ 15 - 20 มิถุนายน 2552 โดยในการนี้ โครงการดังกล่าวได้เสร็จสิ้นลงจึงใคร่ขอสรุปผลดำเนินการดังต่อไปนี้

1. คณะฯ ได้เดินทางไปประเทศกัวเตมาลาเป็นประเทศแรก โดยการเยือนกรุงกัวเตมาลามาซีตี้ และมีโอกาสการเข้าพบกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายลาร์ พีร่า (Mr. Lars Pira) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการค้าต่างประเทศ นายเดวิด ริคาร์โด คริสเตียนนี่ ฟลอเรส (Mr. David Ricardo Cristiani Flores) โดยมีการหารือกันในด้านความร่วมมือโดยเฉพาะด้านการส่งเสริมการค้าและการลงทุนและประเด็นที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

1.1 ประเทศกัวเตมาลา เป็นประเทศแรกในภูมิภาคอเมริกากลางที่ทำการเปิดสถานเอกอัครราชทูตในไทยในปลายปี 2513 แต่ต่อมาได้ปิดลงด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ ประเทศไทยและกัวเตมาลามีความสัมพันธ์ที่รอบรื่นมาโดยตลอด แต่ไม่ใกล้ชิดมากนัก การค้าระหว่างสองประเทศมีอัตราการขยายตัวมาโดยตลอด โดยในระยะ 3 ปีหลังมีการขยายตัวอย่างสูง โดยในปี 2551 มูลค่าการค้ารวม 106.79 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยไทยส่งออกมูลค่า 102.76 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และนำเข้ามูลค่า 4.03 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับปี 2552 ช่วง 5 เดือนแรก มูลค่ารวม 27.65 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ไทยส่งออกมูลค่า 26.78 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ของช่วงเดียวกัน และไทยนำเข้า 1.50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ของช่วงเดียวกัน โดยไทยได้ดุลการค้ากับกัวเตมาลามาโดยตลอด สินค้าที่ไทยส่งออกหลักได้แก่ รถยนต์ ชิ้นส่วนและอะไหล่ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน เครื่องซักผ้าและชิ้นส่วนอาหารทะเลแปรรูป ผลิตภัณฑ์ยางพารา โพลิเมอร์และวัสดุพลาสติก เครื่องจักรและชิ้นส่วน ผลไม้กระป๋องและเคมีภัณฑ์ โดยรถยนต์ถือเป็นรายการที่ไทยส่งออกเป็นอันดับแรก ทั้งนี้ กัวเตมาลามีรถยนต์ที่จำหน่ายจากประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีเป็นหลัก นำเข้ามาจำหน่ายเกือบทุกยี่ห้อ ด้วยเหตุจึงนำเข้ารถยนต์จากไทย คือ รถกระบะ น้ำหนัก 1 ตัน ของยี่ห้อ โตโยโต้ และอีซูซุ นอกจากนี้ ยังมีจำหน่ายรถยนต์ของนิสสัน ฮอนด้า ฮีโน่ ฮุนได ซึ่งได้รับความนิยมในประเทศ

1.2 สำหรับประเด็นของนโยบายด้านความสัมพันธ์และประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้าและการลงทุนของทั้งสองประเทศมีดังต่อไปนี้

การจัดทำความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางทูตและราชการ โดยฝ่ายไทยได้เสนอให้มีการจัดทำความตกลงกับกัวเตมาลา โดยประเทศกัวเตมาลาเป็น 1 ใน 7 ประเทศในลาตินอเมริกาที่ไทยเสนอทำความตกลง ซึ่งหากสำเร็จจะเป็นความตกลงฉบับแรกที่ไทยทำกับกัวเตมาลา โดยฝ่ายกัวเตมาลาได้ให้ความเห็นชอบต่อข้อเสนอของไทยแล้ว และในหลักการ กัวเตมาลาจะต้องได้รับความเห็นชอบจากประเทศสมาชิก SICA ในอเมริกากลาง ซึ่ง SICA ได้มีมติเห็นชอบไปแล้ว โดยรัฐมนตรีช่วยฯ ได้มีความเห็นเพิ่มเติมว่า หากสามารถดำเนินการเรื่องการยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางทูตและหนังสือเดินทางราชการแล้ว ขั้นต่อไปควรจะพิจารณาเรื่องการยกเว้นการตรวจลงตราให้แก่ประชาชนของทั้งสองด้วย เพราะจะสามารถจะทำให้ประชาชนทั้งสองฝ่ายเดินทางเข้าออกประเทศได้สะดวกขึ้น และเอื้อให้เกิดการค้าและการลงทุนและการท่องเที่ยวระหว่างกันมากยิ่งขึ้น

การจัดทำความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน ฝ่ายกัวเตมาลาได้เสนอจัดทำความตกลงในระหว่างการเยือนกัวเตมาลา และเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2549 ครม.ได้มีมติรับทราบการเสนอการจัดทำความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนระหว่างสองประเทศ โดยกัวเตมาลาได้ส่ง counter draft ให้ฝ่ายไทยผ่าน สอท. ณ กรุงเม็กซิโก ซึ่งฝ่ายไทยได้แจ้งว่า ขณะนี้กำลังรวบรวมความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรัฐมนตรีช่วยฯฯ ได้กล่าวว่า หากความตกลงดังกล่าวบรรลุลงได้ จะให้นักลงทุนทั้งสองเกิดความเชื่อมั่นต่อการลงทุนในอนาคต

1.3 ในประเด็นการหารือกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการค้าต่างประเทศกัวเตมาลา และคณะฯ โดยได้รับการบรรยายเรื่องศักยภาพการลงทุนในประเทศกัวเตมาลา โดยสถานะของกัวเตมาลาอยู่ในสภาพที่แข็งแรง มีการขยายทางเศรษฐกิจร้อยละ 4.9 และอัตราเงินเฟ้อที่ไม่สูงมาก มีรัฐบาลที่มั่นคง ประเทศกัวเตมาลา ส่งออกสินค้าด้านการเกษตร ตลาดส่งออกหลักไปยังประเทศสหรัฐฯ เป็นอันดับ 1 ตามด้วย เอล ซาวาดอร์ ฮอนดูรัส เม็กซิโกและคอสตาริกา สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ กาแฟ เสื้อผ้าสำเร็จรูป น้ำตาล กล้วย น้ำมันเชื้อเพลง และเครื่องเทศ และมีรายได้จากการท่องเที่ยว และจากแรงงานที่ไปทำงานในสหรัฐฯ สินค้านำเข้าหลักคือน้ำมันเชื้อเพลง โดยนำเข้าส่วนใหญ่จากประเทศเพื่อนบ้านคือเวเนซุเอลา รถยนต์ และอะไหล่ชิ้นส่วน เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า พลาสติก โดยมีการลงทุนจากประเทศสหรัฐฯ ที่เข้ามามีบทบาทการลงทุนมากในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา โดยกัวเตมาลามีความสนใจเพื่อส่งเสริมให้มีผู้ลงทุนจากต่างประเทศในกลุ่มพลังงาน โทรคมนาคม ธุรกิจทางการเงิน กิจกรรมเหลืองแร่ และเกษตรกรรม

นอกจากนี้ กัวเตมาลามีความสัมพันธ์กับไต้หวัน และมีการจัดทำข้อตกลงการค้าเสรีกับไต้หวัน ซึ่งเริ่มมีผลใช้บังคับใช้เมื่อเดือนกรกฎาคม 2549 ที่ผ่านมา แต่ก็เริ่มมีความสัมพันธ์กับจีนเพิ่มมากขึ้น มีอุตสาหกรรมน้ำตาล เฟอร์นิเจอร์ เคมีภัณฑ์ ปิโตรเคมี เหล็ก ยาง และการท่องเที่ยว โดยเฉพาะเมืองที่มีชื่อเสียงคือ แอนติกว่า ซึ่งมีชื่อของเรื่องกาแฟ โดย บริษัท สตาร์บัค ได้ไปสร้างชื่อให้กับกาแฟของเมืองแอนติกว่าและนำไปไปจำหน่ายในร้านทั่วโลก

ในโอกาสเดียวกัน สำนักงานฯ ได้เดินทางไปย่านร้านค้าของคนจีน ซึ่งมีขนาดเล็กและเข้าไปสำรวจร้านขายอาหารและขายของชำของเอเชียซึ่งเป็นร้านที่มีขนาดใหญ่สุดในกัวเตมาลา ชื่อว่า Agrochina ที่อยู่ ณ 11 Avenida 20-30 Zona 1, Guatemala 01001, Tel : Z502X 2232 3567, 2232 8131 Fax: (502) 2238 2406 E-mail : agrochina@newcomgua.com และได้สอบถามผู้บริหารคือ Mr. Jose Jacobo Sanchez ซึ่งเป็นเป็นคนจีนรุ่นที่สองที่เกิดในโตในประเทศกัวเตมาลา โดยพบว่าร้านมีการนำเข้าอาหารแปรรูปจากเอเชียโดยมาจากจีนเป็นส่วนใหญ่ แต่พบว่ามีจำหน่ายสินค้าไทยด้วย เป็นสินค้าประเภทน้ำปลา ซ้อส อาหารกระป๋อง และเครื่องแกงจากไทย โดยเป็นการนำเข้ามาจากนครลอสแอนจิลิส และเมืองไมอามีในสหรัฐฯ เนื่องจากเป็นการนำเข้าในปริมาณน้อย โดยอาศัยผู้นำเข้าและผู้จัดจำหน่ายจากสหรัฐฯ ส่งออกมายังกัวเตมาลา โดยผู้บริหารได้อธิบายว่าประเทศกัวเตมาลามีคนจีนอาศัยอยู่ประมาณ 4,000 ราย ทั้งกลุ่มที่มาใหม่จากไต้หวัน และกลุ่มจีนที่อาศัยอยู่เดิม นอกจากนี้ จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจพบว่า ประชาชนกัวเตมาลา เริ่มนิยมอาหารแปลกใหม่ที่สามารถมาดัดแปลงเป็นอาหารแนวฟิวชั่นทำให้อาหารแปรรูปจากเอเชียเริ่มได้รับความสนใจมากขึ้น ทั้งนี้ ในปัจจุบันไม่มีร้านอาหารไทย แต่มีร้านอาหารที่ขายอาหารจากเอเชียในหลายประเภทรวมทั้งอาหารไทยด้วย แต่ออกเป็นแนวฟิวชั่น และอยู่ในตลาดระดับบนชื่อว่า Tamarindos

ปัญหาหลักในการทำธุรกิจในประเทศกัวเตมาลา ผู้นำเข้าได้อธิบายว่าคือเรื่องความปลอดภัย มีการลักพาตัว มีอาชญากรรมที่สูงมาก และหน่วยงานตำรวจไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะปกป้องประชาชน

1.4 คณะฯ ได้มีการจัดทำการสัมมนาเพื่อเผยแพร่ศักยภาพของประเทศไทยแก่สมาชิกหอการค้ากัวเตมาลา และนักธุรกิจกัวเตมาลา ณ ห้องประชุมของโรงแรม Westin Camino Real โดยได้มีการได้รับความร่วมมือจากหอการค้ากัวเตมาลาในการจัดกิจกรรมโดยได้รับสนใจมากและมีผู้เข้าฟังทั้งสิ้นจำนวน 68 ราย โดยได้รับเกียรติ์จากประธานหอการค้ากัวเตมาลา นาย โฮลเก พริซ อาบูลารัช (Mr. Jorge Biz Abularach) ซึ่งเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และเป็นผู้แข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของกัวเตมาลาในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ตลอดจนนายลาร์ พีร่า (Mr. Lars Pira) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศกัวเตมาลา นอกจากนี้ มีเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานส่งเสริมการลงทุนกัวเตมาลา ซึ่งนักธุรกิจที่ให้ความสนใจ ในกิจการการนำเข้าส่งออก และธุรกิจบริการ อาทิ ร้านอาหารไทย ธุรกิจโลจิสติกส์ที่มีศักยภาพต่อการค้า และการจัดคู่ด้านการร่วมลงทุน โดยมีการทำข่าวในสื่อโทรทัศน์และสื่อหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นอีกด้วย

2. ประเทศที่เดินทางต่อมาคือประเทศเบลิซ โดยคณะฯ เข้าพบกับหน่วยงานที่สำคัญคือ พบกับนางเนนซี นามิส (Ms. Nanny Namis) ผู้อำนวยการด้านการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศและการค้าต่างประเทศ นางลอร์รา เอสควิเวล (Ms. Laura Esquivel) ผู้อำนวยการด้านผลิตภัณฑ์ จากหน่วยงานคณะกรรมการการท่องเที่ยวเบลิซ และนายไมเคล สวิฟท์ (Mr. Michael Swift) ผู้อำนวยการใหญ่ หน่วยงานส่งเสริมการค้าและการลงทุนเบลิซ Betraide ตลอดจนเยือนโรงงานผลิตน้ำผลไม้ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศเบลิซ โดยมีประเด็นสำคัญและสรุปว่าประเทศเบลิซดังต่อไปนี้

2.1 ประเทศเบลิซกับไทยมีการค้าระหว่างไม่มากนัก แต่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2551 มูลค่าการค้ารวม 5.93 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ไทยส่งออก 4.53 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และไทยนำเข้า 1.40 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2552 มูลค่าการค้ารวม 1.40 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ไทยส่งออก 0.98 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และไทยนำเข้า 0.30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้าหลักที่ไทยส่งออก ได้แก่ รถยนต์ อะไหล่และชิ้นส่วน อาหารทะเลแปรรูป ผลิตภัณฑ์จากแป้ง เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์นม และผลไม้แปรรูป

2.2 สำหรับด้านนโยบายเบลิซได้เสนอให้มีการทำความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือทางการทูตและหนังสือราชการมื่อปี 2548 โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาจากฝ่ายไทย โดยรัฐบาลเบลิซได้เปิดสถานเอกอัครราชทูตในไทยเมื่อในปี 2546 และได้แจ้งว่าได้ปิดสถานทูตฯ ลงชั่วคราว เนื่องจากปัญหาทางการเงิน โดยทั้งสองฝ่ายกำลังพิจารณาหาบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์ที่เหมาะสม ในแต่ละประเทศ นอกจากนี้แล้ว รัฐบาลไทยได้มอบเงินช่วยเหลือเบลิซจากการประสบภัยเฮริเคน dean เมื่อเดือนสิงหาคม 2549 ที่ผ่านมา

2.3 คณะฯ ได้จัดทำการสัมมนาเพื่อเผยแพร่ศักยภาพของประเทศไทยแก่สมาชิกหอการค้าเบลิซ ณ ห้องประชุมของโรงแรม Belize Biltmore Plaza Hotel โดย ได้รับสนใจจำนวน 30 ราย โดยประธานหอการค้า นางซิลลิน คลีแลนด์ โกเมส (Ms. Celene Cleland- Gomez) ประธานหอการค้าและสมาชิกหอการค้าเบลิซ ซึ่งประกอบด้วยนักธุรกิจด้านโลจิสติกส์ อิเลกทรอนิกส์ การท่องเที่ยว สถาบันการศึกษา และกลุ่มคนจีนที่สนใจเกี่ยวกับประเทศไทย

2.4 สำหรับรายละเอียดประเทศเบลิซ ตามการชี้แจงว่า เป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคอเมริกากลางและแคริเบียน เป็นสมาชิกกลุ่มประเทศในแคริเบียนเรียกว่า Caricom และมีความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจการค้าและทางการเมือง กับประเทศกลุ่มในแคริเบียนมากกว่าในกลุ่มประเทศลาตินอเมริกา มีความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ในแง่ของความช่วยเหลือในการปราบปรามการฟอกเงินและการค้ายาเสพติด การปกป้องกันการค้ามนุษย์และปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา โดยมีดินแดนที่ที่ติดกับประเทศกัวเตมาลาซี่งมีข้อพิพาทกับอังกฤษในอดีต และการไม่ให้การรับรองประเทศเบลิซจนถึงกระทั้งปี 2535 โดยขณะนี้ข้อพิพาทยังคงมีอยู่และความรุนแรงมีน้อยลง นอกจากนี้ มีดินแดนที่ติดกับประเทศเม็กซิโก ทำให้ประเทศเบลิซมีศักยภาพในการใช้เป็นจุดเชื่อมต่อด้านโลจิสติกส์ จุดเด่นของประเทศเบลิซคือ เป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์กับประเทศอังกฤษมาช้านาน จึงมีระบบของการทำงานและระบบราชการแบบของอังกฤษ รวมทั้งใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ ซึ่งทำให้การติดต่อกับนักธุรกิจของไทยทำได้ง่ายกว่าการทำกับประเทศในกลุ่มลาตินอเมริกา นอกจากนี้ ประเทศเบลิซ ได้มีการจัดตั้งพื้นที่เขตการค้าเสรี หรือ Free Trade Zone ขึ้น โดยตั้งอยู่ตามแนวในชายแดนระหว่างเบลิซกับเม็กซิโก จึงมีการส่งออกสินค้าที่ผลิตจากประเทศเม็กซิโกไปยังประเทศที่ 3 ผ่านเข้าไปในประเทศในแคริเบียน และยังมีการส่งออกไปยังประเทศในเอเชียและออสเตรเลียอีกด้วย

แต่จุดอ่อนของเบลิซ ก็คือ แม้ว่าประเทศมีพื้นที่มากพอสมควร แต่มีประชากรจำนวนน้อย และมีพื้นที่ว่างเปล่ามาก มีประชากรประมาณเพียง 307,000 คนทำให้ศักยภาพในภาคภาคอุตสาหกรรมทำได้ยาก เนื่องจากปัจจัยของปริมาณกำลังแรงงานที่มีอยู่ รวมทั้งฐานของผู้บริโภคก็มีน้อย แต่หากดูในภาพของกลุ่มประเทศแคริเบียนหรือในกลุ่ม Caricom แล้วจะทำให้มีฐานผู้บริโภคใหญ่ขึ้นมา เพราะในกลุ่มจะมีประชากรรวมประมาณ 15 ล้านคนในภูมิภาค แต่ยังไรก็ตาม ก็ถือว่าเป็นกลุ่มแรงงานที่มีการศึกษาในระดับสูง โดยเริ่มมีธุรกิจด้านการทำ subcontracting services ในธุรกิจ call center เนื่องจากแรงงานพูดภาษาอังกฤษได้ดี นอกจากนี้ เนื่องจากประเทศเบลิซได้ให้ความสนใจต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก กฎระเบียบต่างๆ ยังคงมีข้อจำกัดอยู่มาก และแผนแม่บทการพัฒนาประเทศยังไม่มีใช้ อาทิ แผนแม่บทการพัฒนาการท่องเที่ยวของประเทศ ซึ่งคาดว่าจะผ่านการรับรองจากสภาผู้แทนฯ อีกใน 2 ปีข้างหน้า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมีน้อย โดยขายการท่องเที่ยวจึงอยู่ในสภาพแบบ eco-friendly มากกว่าการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจขนาดใหญ่ หากเปรียบเทียบอย่างประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศเม็กซิโกแล้ว ไม่สามารถแข่งขันได้ ซึ่งไม่มีความสามารถที่จะขายในรูปแบบการประชุม convention ที่จะต้องใช้โรงแรมหรือธุรกิจร้านอาหารที่สามารถรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวขนาดใหญ่ได้ ดังเช่นในเม็กซิโก ซึ่งมีแบบอย่างการเท่องเที่ยวทางทะเลอย่างเมืองแคนคูน หรือ เมืองอากะปูลโก เป็นต้น ดังนั้น โรงแรมที่มีอยู่ในเบลิซจึงมีขนาดเล็ก โดยเฉลี่ยจำนวนห้องระหว่าง 40-70 ห้อง และยังไม่พอเพียงต่อปริมาณนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามา ธุรกิจร้านอาหาร รวมทั้งสันทนาด้านการบันเทิงที่มีอยู่น้อย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาโครงสร้างใหม่ และขยายตัวเพื่อที่จะสามารถรองรับกับปริมาณนักท่องเที่ยวในปัจจุบันที่เดินทางเข้ามาประมาณเฉลี่ยปีละ 1 ล้านรายซึ่งถือเป็นรายได้หลักของประเทศเบลิซ โดยในจำนวนนักท่องเที่ยวดังกล่าวนั้น ประมาณ 600,000 รายเดินทางมา เป็นนักท่องเที่ยวจากเรือสำราญ cruise ship โดยหน่วยงานการท่องเที่ยว ได้เปิดเผยว่า คณะกรรมการการท่องเที่ยวเบลิซ ได้ทำความตกลงกับกลุ่มธุรกิจเรือ cruise ship ว่าหากเรือดังกล่าวเข้ามาสู่น่านน้ำในประเทศเบลิซเมื่อใด กิจกรรมบันเทิงในเรือจะต้องหยุดลง เพื่อจะทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาและหากิจกรรมทำในประเทศ แต่เนื่องจากความไม่พร้อมของโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ และเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ทำให้ค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคมีอัตราสูงกว่าในประเทศลาตินอเมริกาอื่นๆ รวมทั้งค่าแรงงานที่มีอัตราเฉลี่ยในระดับกลางในกลุ่ม caricom ก็ตาม แต่ถือว่ามีอัตราแต่สูงหากเทียบกับประเทศในกลุ่มประเทศลาตินอเมริกา ทั้งนี้ ผลประโยชน์ที่น่าจะเห็นชัดจากฝ่ายไทย น่าจะเป็น การเปิดธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องสำหรับการท่องเที่ยว อาทิ ร้านอาหารไทย สปาหรือนวดแผนไทย เป็นต้น

นอกจากนี้ เบลิซมีความสัมพันธ์กันประเทศไต้หวันอยู่มาก ทำให้ไต้หวันเข้ามาลงทุนในด้านการประมงเลี้ยงกุ้ง และปลา โดยเฉพาะการเลี้ยงปลาทะเล ทางหอการค้าได้เปิดเผยว่ามีโครงการขนาดใหญ่และมีการส่งออกไปสหรัฐฯ อยู่ในปริมาณมาก จากการสอบถามพบว่าในปัจจุบันมีคนจีน ที่เป็นกลุ่มดั่งเดิมที่อาศัยอยู่ในประเทศและมีสัญชาติเป็นเบลิซอยู่แล้วประมาณ 5,000 ราย บวกกับกลุ่มคนจีนไต้หวันที่ได้มีการเดินทางมาทำธุรกิจเพิ่มเติมอีกประมาณ 12,000 คน ทำให้ในอนาคต คาดว่าน่าจะมีศักยภาพในการค้าและการลงทุน โดยประเทศเบลิซได้กำหนด 7 กลุ่มอุตสาหกรรมที่รัฐฯ จะพยายามผลักดันให้การสนับสนุน โดยเห็นว่าอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ และของตกแต่งประเภท handicraft เป็นอุตสาหกรรมที่ฝ่ายฝ่ายไทยน่าจะพิจารณาศึกษาดู และอาจมีความสนใจที่จะเข้ามาดูโครงสร้างและร่วมลงทุนในอนาคต

3. สรุปผลการเยือนของประเทศกัวเตมาลาและเบลิซ
สำนักงานฯ มีความเห็นว่าการเดินทางไปครั้งนี้ ประสบความสำเร็จทั้งสองประเทศ และมีความเห็นดังต่อไปนี้
1. ประเทศกัวเตมาลา

มีการขยายตัวทางการค้าสูงมาก โดยมีสองปัจจัย เนื่องจากประเทศมีการเจริญเติบโตในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากความสงบภายในประเทศ ทำให้ประเทศกัวเตมาลาได้มีการขยายตัวมากอย่างเห็นได้ชัด โดยกิจการร้านค้าส่วนใหญ่เกิดขึ้นมากมาย ศูนย์การค้าพุดขึ้นมา เป็นอย่างมาก มีร้านอาหารในกลุ่มแฟรนไชส์ของสหรัฐฯ เข้ามาทำธุรกิจมาก และถือว่าอาจจะมากกว่าประเทศเม็กซิโกด้วยซ้ำ แต่อีกปัจจัยหนึ่ง ได้มีสื่อเสนอข่าวว่า การเจริญเติบโตของประเทศกัวเตมาลา เกิดมาจากการฟอกเงินของกลุ่มผู้ค้ายาเสพติด เนื่องประเทศกัวเตมาลาอยู่ห่างประเทศโคลัมเบีย และโคลัมเบียสามารถใช้ช่องทางทางทะเลทั้งสองด้านของประเทศกัวเตมาลา มาเป็นทางผ่านของยาเสพติดไปสู่ประเทศเม็กซิโก และสหรัฐอเมริกาต่อไป

มีการยกระดับของกลุ่มชนชั้นระดับกลางและระดับสูงเพิ่มมากขึ้น ที่มีความต้องการสินค้าและการบริการที่ดีว่าที่มีอยู่ ทำให้เกิดกิจการในระดับสูงเกิดขึ้นมาก รวมทั้งกิจการร้านอาหารที่มีเพิ่มขึ้นและอยู่ในระดับสูงขึ้นด้วย ซึ่งเป็นการรองรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่มามาจากยุโรปและสหรัฐฯ ที่ให้ความสนใจ แหล่งท่องเที่ยวทางทะเล ป่าที่สมบูรณ์และแหล่งโบราณสถานในยุคแอสแท็ค และเมืองเก่าแบบ colonia town อีกด้วย

ปัญหาหลักน่าจะเป็นเรื่องของอาชญากรรมและกลุ่มผู้ค้ายาเสพติด โดยเฉพาะการปราบปรามของรัฐฯ ที่มีน้อยและมักไม่ได้ผล ตลอดจนการไม่ค่อยได้เห็นการลงโทษเท่าที่ควร อย่างไรก็ตามได้มีนักธุรกิจกัวเตมาลาที่แสดงความสนใจที่จะเดินทางไปประเทศไทยในงานแสดงสินค้าที่กรมฯ จัดขึ้น สำหรับงานฯ ของขวัญของชำร่าย เสื้อผ้าสำเร็จรูปและผ้าผืน อะไหล่รถยนต์ โดยเฉพาะ ประธานหอการค้าฯ ถือว่า สามารถใช้ประโยชน์เป็น contact person ของกรมฯ ได้ด้วย เพราะมีบทบาทในด้านการเมืองและการค้าที่สำคัญ และได้แสดงความจำนงว่าที่จะนำคณะฯ มาสำรวจและเจรจาการค้าในไทยช่วงเดือนมีนาคม — เมษายน 2553 โดยสำนักงานฯ จะได้มีการประสานงานและติดตามผลในโอกาสต่อไป

2. ประเทศเบลิซ

ถือว่าเป็นประเทศมีโอกาสทางการค้าในแง่ของการใช้เป็นฐานการกระจายสินค้าและการส่งออกไปประเทศที่สาม มีศักยภาพ เนื่องจากนักธุรกิจที่มาตั้งรกรากเป็นชาวอังกฤษ แคนาดาและสหรัฐฯ ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว ในการเปิดร้านอาหารไทย หรือธุรกิจสปาและนวดไทย ธุรกิจโรงแรมและการให้บริการท่องเที่ยว เป็นต้น รวมทั้งธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวจากการเดินทางของ cruise ship และการมีฐานของคนจีนจำนวนประมาณ 17,000 คน ที่เข้าใจวัฒนธรรมและการค้าขายแบบเอเชีย จะทำให้การร่วมลงทุนหรือการนำเข้าสินค้ามีศักยภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ มีนักธุรกิจจีนได้แสดงความสนใจที่จะเปิดร้านอาหารไทยขึ้น และได้แจ้งว่าจะขอเดินทางไปไทยเพื่อศึกษาศักยภาพการเปิดร้านอาหารไทยในประเทศเบลิซอีกครั้ง โดยจะประสานงานกับสำนักงานฯ ในโอกาสต่อไป

นอกจากนี้ เนื่องเบลิซ ยังคงถือว่าเป็นประเทศที่มีความจำเป็นจะต้องมีการพัฒนาอีกมาก ยังคงต้องการความช่วยเหลือด้านวิชาการ ด้านเทคนิค และประสบการณ์จากประเทศอื่นอีกด้วย การเข้ามามีบทบาทของไทยมากยิ่งยิ่งขึ้น ซึ่งมีกิจกรรมที่จะได้ผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย น่าจะทำให้เบลิซเป็นคู่ค้าของไทยไปสู่ประเทศที่สามได้ง่ายขึ้น โดนอาศัยความเชี่ยวชาญจากกลุ่มที่ทำงานด้านโลจิสติกส์มาใช้ประโยชน์ หรืออาจใช้เป็นฐานของพื้นที่เพื่อการเพาะปลูกผักผลไม้ของไทยเพื่อเข้าสู่ประเทศสหรัฐฯ เนื่องจากสภาพแวดล้อมเป็นลักษณะเมืองร้อนเหมือนประเทศในแคริเบียน หรือเหมือนประเทศไทย

ทั้งนี้ได้สำนักงานฯ ได้แนบรายชื่อบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้เข้าพบตามรายละเอียดเอกสารดัง รวมทั้งรูปภาพการดำเนินโครงการมาพร้อมนี้

สำหรับเอกสารด้านการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศ สำนักงานฯ ได้ดำเนินการจัดส่งให้ ห้องสมุดกรมส่งเสริมการส่งออกเพื่อนำไปใช้ประโยชน์แก่ผู้ที่สนใจต่อไป

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเม็กซิโก

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ