โอกาสและการปรับตัวของสิ่งทอไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 16, 2009 15:44 —กรมส่งเสริมการส่งออก

เนื่องจากปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลก ส่งผลกระทบให้ตลาดหลักของสินค้าสิ่งทอไทย คือ สหรัฐ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย มียอดคำสั่งซื้อลดลงแต่ทางสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอยังเชื่อว่าภาพรวมของการส่งออกสิ่งทอในปีนี้จะเป็นไปตามเป้าหมาย คือ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5% โดยมีปัจจัยที่เอื้อประโยชน์หลายประการ ดังนี้

1. แนวโน้มการส่งออกของจีนและบังคลาเทศที่เป็นคู่แข่งสำคัญของไทยลดลง เนื่องมาจากทางการจีนได้ออกกฎหมายแรงงานฉบับใหม่ ทำให้ผู้ประกอบการจีนต้องเพิ่มสวัสดิการและค่าแรงส่งผลให้ต้นทุนการผลิตของจีนสูงขึ้น อีกทั้งทางการจีนได้เลิกอุดหนุนการส่งออกทำให้ผู้ประกอบการจีนหันมาเน้นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศมากขึ้น รวมถึงผู้ส่งออกจีนมีปัญหาการส่งมอบสินค้าไม่ตรงเวลา ขณะที่ผู้ส่งออกไทยไม่มีปัญหาเรื่องนี้ ส่วนบังคลาเทศมีปัญหาเรื่องการใช้แรงงานเด็กซึ่งประเทศตะวันตกให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากจนอาจส่งผลให้คำสั่งซื้อที่เป็นของบังคลาเทศไหลเข้ามาสู่อาเซียนมากขึ้น

2. หลังมีความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจญี่ปุ่นและไทย (JTEPA) ทำให้ผู้นำเข้าบางรายพึ่งพาตลาดจีนกระจายคำสั่งซื้อมายังไทยมากขึ้น ขณะที่สินค้าไทยสามารถแข่งขันราคากับจีนได้ เพราะตามความตกลงไทยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าซึ่งสินค้าจีนต้องเสียภาษีเข้าประเทศญี่ปุ่นถึง 12% ขณะเดียวกันสมาคมอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยได้หารือกับสหพันธ์สิ่งทอญี่ปุ่น ถึงความคืบหน้าการส่งผู้เชี่ยวชาญมาให้ข้อมูลลักษณะผ้าที่ตลาดญี่ปุ่นต้องการและความร่วมมือตรวจสอบคุณภาพสินค้าสิ่งทอเครื่องนุ่งห่มที่ส่งออกไปญี่ปุ่นเพื่อให้สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยสามารถตรวจสอบและรับรองคุณภาพเครื่องนุ่งห่มที่ส่งออกไปญี่ปุ่น

3. ผู้ส่งออกสิ่งทอพยายามปรับตัว โดยจะไปจับคู่ (match making) กับประเทศที่เป็นผู้ผลิตเสื้อผ้าในอาเซียนมากขึ้น เช่น เวียดนาม กัมพูชา ลาว ที่มีค่าแรงตัดเย็บเสื้อผ้าที่ราคาถูกกว่าไทยแต่ประเทศเหล่านี้ไม่มีฐานการผลิตผ้าผืน ดังนั้นเร็วๆ นี้จะจัดจับคู่ในเวียดนาม เพื่อหาทางจับคู่ระหว่างประเทศผู้ผลิตผ้าผืน เช่น ไทย อินโดนีเซีย และประเทศที่ตัดเย็บเสื้อผ้า เช่น เวียดนาม เขมรเพื่อจะให้ประเทศเหล่านี้ใช้ผ้าผืนจากไทย เห็นได้จากเวียดนามนำเข้าผ้าผืนในปีที่ผ่านมาสูงถึง 820 ล้านหรียญสหรัฐ โดยกว่า 50% เป็นการนำเข้าจากจีน ในขณะที่นำเข้าจากไทยประมาณ 5% เท่านั้น เนื่องจากเวียดนามเองไม่มีอุตสาหกรรมต้นน้ำที่สามารถผลิตผ้าผืนเองได้ ในขณะที่ไทยพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตผ้าผืนไปมากทั้งนี้ ในภูมิภาคอาเซียนมีเพียงไทยและอินโดนีเซียเท่านั้นที่ผลิตผ้าผืน ข้อได้เปรียบของไทยคือกรอบข้อตกลงอาฟต้า ภายใต้อาเซียนทำให้ภาษีนำเข้าผ้าผืนลดลงเหลือ 0% ในปีนี้ ทำให้ทางเวียดนามต้องใช้ผ้าผืนในอาเซียนมากขึ้น เนื่องจากค่าขนส่งและราคาถูกกว่าจีน

4. ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อผลักดันตลาดส่งออกสิ่งทอของไทยให้เพิ่มขึ้น ในการแสวงหาโอกาสและเพิ่มช่องทางส่งออกใหม่ๆ เช่น รับงานผลิตสินค้าในลักษณะการทำสัญญา และเสนอขายสินค้าให้โครงการต่างๆ หรือ Contract Project และ Project Sales เช่น ลูกค้ากลุ่มโรงแรม สปารีสอร์ท สนามกอล์ฟ โครงการก่อสร้างโรงแรม ส่วนการเลิกจ้างแรงงานนั้น ยืนยันว่าในอุตสาหกรรมสิ่งทอไม่น่าเป็นห่วง เพราะหากโรงงานใดปิดแรงงานจะสามารถไปทำงานอีกโรงงานหนึ่งได้ เพราะเป็นแรงงานที่มีทักษะอยู่แล้ว

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ