การค้าระหว่างประเทศของญี่ปุ่นและการค้าระหว่างญี่ปุ่นกับไทย 4 เดือนแรกของปี 2552 (มกราคม- เมษายน)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 23, 2009 15:00 —กรมส่งเสริมการส่งออก

การค้าระหว่างประเทศของญี่ปุ่น

ในเดือนเมษายน 2552 ญี่ปุ่นส่งออกมูลค่า 42,389.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นำเข้ามูลค่า 41,705.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งใกล้เคียงกับมูลค่าการส่งออก และนำเข้า ของเดือนมีนาคม 2552 ที่กระเตื้องขึ้นจากระดับต่ำสุดในเดือน มกราคม และกุมภาพันธ์ 2552ที่ผ่านมา และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเมษายน 2551 มูลค่าการส่งออก และการนำเข้าลดลงร้อยละ 36.8 และ 33.3 ตามลำดับ

สำหรับการค้าระหว่างประเทศของญี่ปุ่นในช่วง 4 เดือนแรก (มกราคม-เมษายน) 2552 ญี่ปุ่นขาดดุลการค้า 8,941.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯจากการส่งออกมูลค่า 161,715.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2551 ร้อยละ 39.7 นำเข้ามูลค่า 170,657.2 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 30.1

การส่งออกของญี่ปุ่น

สินค้าส่งออกของญี่ปุ่นมีมูลค่าลดลงในเกือบทุกประเภท โดยเฉพาะสินค้าส่งออกสำคัญ ประเภทยานพาหนะและอุปกรณ์ขนส่ง เครื่องจักร และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ที่การส่งออกลดลงมาก ขณะที่การส่งออก เรือ ผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม เครื่องสำอาง รถไฟ/รถรางและอุปกรณ์ มีมูลค่าเพิ่มขึ้น

ระยะ 4 แรกของปีนี้ การส่งออกของญี่ปุ่นไปประเทศต่างๆ ลดลงเกือบทุกประเทศในทุกภูมิภาคตลาดส่งออกของญี่ปุ่นที่มูลค่าลดลงมาก ได้แก่ สหรัฐฯ(-47.7 %) อังกฤษ(-50.9 %) รัสเซีย (-79.1 %) ชิลี(-63.8 %) ออสเตรเลีย(-47.6 %) สำหรับประเทศเอเชียที่ลดลงมาก คือ ได้หวัน(-43.3 %) และไทย(-43.3 %)ประเทศที่ญี่ปุ่นส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ปานามา ลิเบอเรีย และ Marshall Islands ที่ส่งออกเรือเพิ่มขึ้น

การนำเข้าของญี่ปุ่น

ในส่วนของการนำเข้า สินค้าที่ญี่ปุ่นนำเข้าลดลงมาก คือ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ส่วนประกอบยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่ ถ่านหิน เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม และอาหารบางประเภท เช่น เนื้อสัตว์ มีมูลค่าเพิ่มขึ้น

แหล่งนำเข้าสำคัญของญี่ปุ่นมีมูลค่านำเข้าลดลงจากเกือบทุกแหล่ง โดยเฉพาะประเทศผู้ส่งออกน้ำมันในตะวันออกกลาง เช่น ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับอิมิเรสต์ กาตาร์ อิหร่าน และคูเวต มูลค่าลดลงในอัตราร้อยละ 40.8- 60.9 ยกเว้นไม่กี่ประเทศที่ญี่ปุ่นนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ ออสเตรเลีย ที่มูลค่านำเข้าถ่านหินเพิ่มขึ้น จากปีก่อนมาก และบราซิลซึ่งมูลค่าไก่สดแช่เย็น/แช่แข็ง และกาแฟ เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ญี่ปุ่นนำเข้าสินค้าจากแหล่งนำเข้ารายย่อยบางประเทศเพิ่มขึ้น เช่น เปอโตริโก(อินทรีย์เคมี และ ผลิตภัณฑ์เภสัชกรรมมีมูลค่าเพิ่มขึ้น) พม่า (เสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้า ปลาและสัตว์น้ำทะเล) และจอร์แดน(สินค้าปุ๋ย) เป็นต้น

ในช่วง มกราคม-เมษายนปีนี้ ญี่ปุ่นนำเข้าจากไทยลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 28.6 ลดลงน้อยกว่าอัตราการลดร้อยละ 30.1 ของการนำเข้ารวม และเมื่อพิจารณาการนำเข้าของญี่ปุ่นจากประเทศคู่ค้าสำคัญในเอเชียแล้ว การนำเข้าจากประเทศที่อัตราการลดลงน้อยกว่าไทย คือ จีน(-16.4 %) มาเลเซีย(-20.4 %)และเวียดนาม(-24.1 %) โดยสินค้าสำคัญจากจีนที่เพิ่มขึ้นได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้า ผลิตภัณฑ์เหล็กสินค้าสำคัญจากมาเลเซียที่เพิ่มขึ้น คือ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ซึ่งมีมูลค่ากว่าครึ่งของการนำเข้าทุกสินค้าสำหรับเวียดนามมีสินค้าหลายประเภทที่มูลค่าสูงขึ้น เช่น เสื้อผ้าสำเร็จรูป เฟอร์นิเจอร์ รองเท้า เครื่องหนัง ผลิตภัณฑ์พลาสติก และผลิตภัณฑ์เหล็ก เป็นต้น ขณะที่การนำเข้าจากประเทศเอเชียอื่นๆ เช่น อินเดีย เกาหลีใต้ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ลดลงในอัตราร้อยละ 31.8 - 39.7

การค้าระหว่างญี่ปุ่นกับไทย

การค้าระหว่างญี่ปุ่นกับไทยเดือนเมษายน 2552 มีมูลค่าใกล้เคียงกับเดือนมีนาคม 2552 ทั้งการส่งออกมาไทย และการนำเข้าจากไทย โดยส่งออกมูลค่า 1,353.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นำเข้ามูลค่า 1,181.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเมษายน 2551 มูลค่าส่งออก และนำเข้า ลดลงร้อยละ 41.3 และ 29.0 ตามลำดับ

ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ญี่ปุ่นส่งออกมาไทยมูลค่า 5,424.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2551 ร้อยละ 43.3 นำเข้าจากไทยมูลค่า 4,822.6 ล้านเหรียญฯลดลงร้อยละ 28.6 ญี่ปุ่นได้ดุลการค้าไทย 601.7 ล้านเหรียญฯ ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 78.6 ทั้งนี้ อัตราการลดลงของมูลค่าส่งออกสูง กว่าอัตราการลดลงของมูลค่านำเข้า เนื่องจากสินค้าที่ญี่ปุ่นส่งออกไปไทยเป็นสินค้าอุตสาหกรรมเพื่อในใช้การผลิต ความต้องการสินค้าเหล่านี้ลดลงมากตามสถานการณ์การส่งออกของไทย

การนำเข้าจากไทย

มูลค่าการนำเข้าจากไทยในช่วง มกราคม-เมษายน ของปี 2552 โดยรวมลดลงเมื่อทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551 โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าสำหรับการผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ และ อิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ตาม สินค้าอาหารสำคัญหลายรายการ และผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสุขภาพ ยังคงขยายตัว รวมทั้งส่วนประกอบอากาศยานและอุปกรณ์การบิน แม้มูลค่ายังไม่สูงมาก แต่อัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก

สินค้าอุตสาหกรรมประเภท เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ ที่ญี่ปุ่นนำเข้าจากไทย ตามการนำเข้ารวมจากทุกแหล่งลดลง อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นนำเข้าสินค้าอุปโภคบางอย่างจากไทยเพิ่มขึ้น เช่น เครื่องสำอางและน้ำหอมมูลค่านำเข้าจากไทย จีน และไอร์แลนด์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.9, 11.3 และ 13.0 ตามลำดับ ขณะที่การนำเข้ารวมลดลงรอ้ ยละ 6.3 เนื่องจากสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ และฝรั่งเศสลดลง สำหรับเสื้อผ้าสำเร็จรูปญี่ปุ่นนำเข้าจาก เวียดนาม จีน ไทย และอินเดีย เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.4, 8.2, 10.6 และ 17.3 ตามลำดับ ขณะที่นำเข้าเสื้อผ้าจากอิตาลี และเกาหลีใต้ลดลงร้อยละ 28.0 และ 1.6 ตามลำดับ

สินค้าอาหารสำคัญจากไทยที่มูลค่าเพิ่มขึ้นได้แก่ เนื้อสัตว์ปรุงแต่ง อาหารทะเลแปรรูป อาหารสัตว์ข้าว ซอสและของปรุงแต่งสำหรับทำซอส เป็นต้น อย่างไรก็ตาม มีอาหารบางรายการที่ญี่ปุ่นนำเข้าจากไทยในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน เช่น น้ำตาล ซึ่งในปี 2551 ญี่ปุ่นนำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้นมากเพื่อทดแทนสินค้าจากออสเตรเลียที่ประสบปัญหาแห้งแล้ง และเนื้อปลาสดที่การนำเข้าจากไทยปีที่แล้วขยายตัวมาก ในปี 2552 ญี่ปุ่นลดการนำเข้าจากสหรัฐฯ ไทย และจีนลง แต่นำเข้าจากชิลี และนอรเวย์มากขึ้น

การส่งออกมาไทย

สินค้าที่ญี่ปุ่นส่งออกมาไทยช่วง มกราคม-เมษายน 2552 มีมูลค่าลดลงเกือบทุกชนิด ทั้ง สินค้ากึ่งสำเร็จรูป วัตถุดิบ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักร เครื่องยนต์ และส่วนประกอบยานยนต์ ยกเว้น ผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม เรือ หนังดิบและหนังฟอก หนังสือและสิ่งพิมพ์ ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น

ภาวะเศรษฐกิจ

รัฐบาลญี่ปุ่นโดยสำนักงานคณะรัฐมนตรี ประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจประเทศญี่ปุ่นว่าได้ผ่านจุดที่ถดถอยรุนแรงที่สุดมาแล้ว แม้ภาวะเศรษฐกิจยังไม่ดี แต่มีสัญญาณการกระเตื้องขึ้นในบางภาคส่วน เช่น การผลิตในภาคอุตสาหกรรม และการส่งออก ขณะที่การจ้างงาน การใช้จ่ายเพื่อการลงทุนของภาคเอกชน และการ ใช้จ่ายของคน ยังลดลง

ทั้งนี้ เศรษฐกิจญี่ปุ่นได้ตกต่ำรุนแรงที่สุดในช่วงไตรมาสแรก (มกราคม-มีนาคม) ของปีนี้ โดยreal GDP ลดลงจากไตรมาสก่อนร้อยละ 3.8 และลดลงในอัตราร้อยละ 14.2 ต่อปี (เดิมเมื่อเดือนพฤษภาคม2552 ทางการแถลงตัวเลขเบื้องต้น GDP ลดลงในอัตราร้อยละ 4.0 และ 15.2 ตามลำดับ)

เครื่องชี้เศรษฐกิจบางตัวแสดงสัญญาณดีขึ้น ในช่วงเดือนไตรมาสที่ 2 ของปี 2552นี้ ได้แก่ ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนเมษายน 2552 เพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคมที่ผ่านมาร้อยละ 5.9 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 เช่นเดียวกับการส่งออกที่ดัชนีมูลค่า และดัชนีปริมาณการส่งออกของญี่ปุ่นในเดือนเมษายนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนมีนาคม 2552 อยู่ที่ระดับ 76.7 และ 75.3 (ปี 2548 = 100 ) เพิ่มจากระดับต่ำสุดเมื่อเดือนมกราคม 2552 ที่มีค่าดัชนี 63.6 และ 61.7 ตามลำดับ

นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือนพฤษภาคม 2552 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 3.3เพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน ซึ่งตั้งแต่ปลายปี 2551 รัฐบาลญี่ปุ่นได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งการผลิต การจ้างงาน และการบริโภค และเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมารัฐบาลได้ประกาศมาตรการล่าสุด ให้ “eco-point” แก่ผู้ที่ซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นแต้มสะสมสำหรับนำไปแลกของรางวัลที่ทางการกำหนดได้ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม นี้

อย่างไรก็ตาม ทางการญี่ปุ่นประเมินว่าการใช้จ่ายของผู้บริโภคยังคงลดลง เนื่องจากภาวะการจ้างงานที่อัตราการว่างงานเดือนเมษายน 2552 เท่ากับร้อยละ 5 ซึ่งสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2548 รวมทั้งค่าจ้างและเงินโบนัสในช่วงฤดูร้อนที่จะถึงลดลงจากปีก่อน

ในส่วนของเศรษฐกิจโลก สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น ประเมินว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยงที่จะถดถอยลงอีก แม้จะมีสัญญาณที่ดีจากบางประเทศซึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะประเทศในเชียที่ภาวะการผลิตเริ่มกระเตื้องขึ้น เช่น จีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน รวมทั้งประเทศไทย

แนวโน้มเศรษฐกิจญี่ปุ่น

นักเศรษฐศาสตร์ และนักวิชาการภาคเอกชน เห็นว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นน่าจะผ่านจุดต่ำสุดแล้ว แต่ยังต้องใช้เวลากว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัว คาดกันว่าระยะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มฟื้นตัวจะอยู่ระหว่างครึ่งหลังของปี 2552 นี้ถึงครึ่งแรกปี 2553 และเห็นว่า แม้การผลิตกระเตื้องขึ้นจริง แต่ผลกำไรของบริษัทยังไม่ดีขึ้น อัตราค่าจ้าง ยังลดลง ผู้บริโภคจะยังระมัดระวังการใช้จ่าย โดยเฉพาะสินค้าฟุ่มเฟือย

ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย ผู้บริโภคญี่ปุ่นยังเน้นเรื่องคุณภาพ แม้จะเป็นสินค้าที่ราคาไม่แพงนักวิชาการภาคเอกชนมีข้อเสนอแนะว่าบริษัทควรสร้าง แบรนด์ให้เข้มแข็ง ผู้ผลิตควรทำความเข้าใจแนวโน้มความนิยมของผู้บริโภค เช่น เรื่องสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งริเริ่มสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการได้ดี ตัวอย่างเช่น Hybrid car หรือแม้กระทั่ง เบียร์ที่มีแคลอรี่ต่ำ เบียร์ที่ไม่มีแอลกอฮอล์ เป็นต้น

โดย สำนักงานส่งเสริมการค้าฯ ณ กรุงโตเกียว

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ