ข้อมูลพื้นฐานประเทศอินเดีย

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 30, 2009 15:39 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. ข้อมูลทั่วไป
1.1 ที่ตั้งและภูมิศาสตร์ที่ตั้ง

ตั้งอยู่ในเอเชียใต้ มีพรมแดนติดบกับ 6 ประเทศ คือ จีน เนปาล ภูฏานในตอนเหนือ ทิศตะวันตกเฉียงเหนือจรดปากีสถาน ทิศตะวันออกจรดบังกลาเทศ และทิศตะวันออกเฉียงเหนือจรดพม่า

มีดินแดนในอาณัติ คือ หมู่เกาะนิโคบาและอันดามัน ซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่งด้านตะวันตกของประเทศไทยเพียง 300 กม. ทั้งนี้เมืองหลักของหมู่เกาะคือพอร์ตแบร์มีความตกลง Sister city กับเกาะภูเก็ตของไทย

พื้นที่ 3,287,590 ตารางกิโลเมตร ใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลก มีขนาดใหญ่กว่าประเทศไทย 6 เท่า จึงเรียกว่าเป็น “อนุทวีป”

มีพื้นที่เหมาะแก่การเพาะปลูกกว่า 54% ของพื้นที่ทั้งหมด และมีพื้นที่ชลประทานมากเป็นอันดับ 1 ของโลกมีอาณาเขตทางทะเลยาว 7,516.6 กิโลเมตร ติดอ่าวเบงกอล (ทิศตะวันออก) ทะเลอาหรับ (ทิศตะวันตก) และมหาสมุทรอินเดีย (ทิศใต้)

ภูมิอากาศ - แตกต่างกันอย่างมาก เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมฤดูร้อนและฤดูหนาว และมีพื้นที่กว้างใหญ่ ตอนเหนืออยู่ในเขตหนาว ขณะที่ตอนใต้อยู่ในเขตร้อน

  • ภาคเหนือ มี 4 ฤดู คือ ฤดูหนาว (ธันวาคม - กุมภาพันธ์) ฤดูร้อน (มีนาคม — มิถุนายน) ฤดูลมมรสุม (มิถุนายน — กันยายน) และฤดูหลังมรสุม (ตุลาคม — พฤศจิกายน) อุณหภูมิเฉลี่ยในที่ราบช่วงฤดูร้อน ประมาณ 35 C และฤดูหนาว ประมาณ 10 C

ภาคใต้ ภูมิอากาศคล้ายประเทศไทย โดยมี -3 ฤดู คือ ฤดูหนาว (ธันวาคม-กุมภาพันธ์) ฤดูร้อน (มีนาคม-กันยายน) ฤดูฝน (ตุลาคม —พฤศจิกายน) มักประสบภัยธรรมชาติ ได้แก่ น้ำท่วมฉับพลัน แผ่นดินไหว ภัยแล้ง และแผ่นดินถล่ม

เมืองหลวง - กรุงนิวเดลี (New Delhi)

เมืองสำคัญ

  • มุมไบ (เดิมชื่อบอมบ์เบย์) เป็นศูนย์กลางทางการค้า การเงิน และการคมนาคม เป็นเมือง
ท่าสำคัญ และเป็นแหล่งผลิตภาพยนตร์ภาษาฮินดีที่ใหญ่ที่สุดของอินเดีย
  • โกลกัตตา (เดิมชื่อกัลกัตตา) เป็นเมืองหลวงเก่า
  • เจนไน (เดิมชื่อมัทราส) เป็นศูนย์กลางธุรกิจทางตอนใต้ของอินเดีย อุตสาหกรรมหลัก คือ
ยานยนต์ IT, call center สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ปูนซีเมนต์ เมืองการศึกษา (มหาวิทยาลัยมัทรามีอายุเก่าแก่ที่สุดของอินเดีย) เป็นเมืองแห่งการแพทย์และการผลิตยา และเป็นเมืองภาพยนตร์ภาษาทมิฬที่ใหญ่เป็นอันดับสองรองจากมุมไบ
  • เบงกาลูลู (ชื่อเดิมบังกาลอร์)เป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง อาทิ เทคโนโลยีอวกาศ สารสนเทศ อิเล็กทรอนิกส์ การบิน และอวกาศ
  • ไฮเดอราบัด — เมือง IT ใหญ่เป็นอันดับสองรองจากบังกะลอร์
20 เมืองเศรษฐกิจร้อนแรงของอินเดีย
     เมือง        ประชากร       รายได้เฉลี่ยของ      การใช้จ่ายเฉลี่ย       สัดส่วนเงินเหลือใช้
                 (ล้านคน)          ครัวเรือน         ของครัวเรือน          ต่อรายได้(%)

2007-08 (ประมาณการ)

   มหานคร                (รูปี) 1 รูปี ประมาณ 0.70 บาท
มุมไบ              20.3            459,457           201,141             56.2
นิวเดลี             15.3            408,237           205,028             49.8
โกลกัตตา           13.8            287,199           174,951             39.1
เชนไน              6.9            337,059           155,286             53.9
เบงกาลูลู            6.6            300,678           164,923             45.1
ไฮเดอราบัด          5.7            273,353           149,251             45.4
อาห์เมดาบัด          4.8            317,856           134,479             57.7
ปูเน่                5.1            210,458           126,918             39.7
    รวม (มหานคร)  78.6            354,090           176,977             50.0
นครใหญ่
สุรัต                4.0            431,201           190,591             55.8
กันปูระ              2.7            158,761           118,567             25.8
ไชยปุระ            3.4             300,374           167,540             44.2
ลักเนา             2.6             280,393           152,948             45.5
นาคปุระ            2.5             308,625           182,871             40.7
โบปาล             2.8             165,210           128,836             22.0
คอย์มบาตอร์         1.7             219,846           152,050             30.8
     รวม(นครใหญ่) 19.8             283,071           159,407             43.7
เมืองดาวรุ่ง
ฟาริดาบัด           2.1             252,558           164,457             34.9
อมฤตษา            1.9             267,056           164,540             38.4
ลุธิอานา            1.5             273,211           134,187             50.9
จันทิการห์           1.1             484,775           212,805             56.1
จาลันธาร์           1.1             296,651           229,335             22.7
   รวม(เมืองดาวรุ่ง) 7.7             304,265           174,287             42.7
   รวม 20 เมือง  106.1             338,508           173,718             48.7

สำนักงานพาณิชย์ของไทย (Thai Trade Center) ตั้งอยู่ที่กรุงนิวเดลี มุมไบ และเจนไน

ทรัพยากรธรรมชาติ : ถ่านหิน มีปริมาณสำรองมากเป็นอันดับ 4 ของโลก แร่เหล็ก แมงกานีส ไมก้า บ็อคไซด์ ปิโตรเลียม แร่ไททาเนียม แก๊สธรรมชาติ หินปูน ยิปซั่ม และฟลูออไรด์

1.2 ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์

อินเดียมีประวัติศาสตร์เก่าแก่กว่า 3,500 ปี โดยเริ่มจากชาวดราวิเดียน (Dravidian) อพยพจากบริเวณประเทศปากีสถานเข้ามาสู่ลุ่มน้ำคงคาก่อน ต่อมาชาวอารยัน (Aryan) ได้เข้าอพยพมาจากตอนใต้ของรัสเซียขับไล่ชนชาวดราวิเดียนให้ถอยล่นไปทางใต้ (ปัจจุบันคือรัฐทมิฬนาฑู เกราลา รัฐกรณาฏกะ และ ศรีลังกา เป็นต้น) และตั้งถิ่นฐานอยู่แถบลุ่มน้ำคงคาแทน ต่อมาได้มีการผสมผสานกลมกลืนกันของทั้งสองอารยธรรมเกิดเป็นอารยธรรมฮินดูที่มีความคงทนต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ เช่น ศาสนาฮินดู ภาษาสันสกฤต และระบบชั้นวรรณะ อารยธรรมอารยันหรือฮินดูรุ่งเรืองมาจนถึงราวคริสต์ศตวรรษที่ 12 (แต่มีระยะหนึ่งที่อารยธรรมพุทธรุ่งเรืองในอินเดีย คือ ตั้งแต่พุทธกาลถึงราว 3 ศตวรรษก่อนคริสต์ศักราชในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช)

ในคริสต์ศตวรรษที่ 8 อารยธรรมอิสลามได้เริ่มขยายอิทธิพลเข้ามาในอินเดียตั้งแต่ โดยพ่อค้ามุสลิมจากตะวันออกกลาง และจักรวรรดิอาหรับได้ส่งกองทัพมาโจมตีแคว้นซินด์ (ปัจจุบันอยู่ในปากีสถาน) จักรวรรดิที่มีความยิ่งใหญ่ในสมัยนั้น คือ จักรวรรดิโมกุล ในคริสต์ศตวรรษที่ 16-18 ซึ่งเป็นสมัยที่มีการแพร่ขยายอิทธิพลวัฒนธรรมโมกุลอย่างกว้างขวาง ทั้งในด้านการปกครอง ภาษา ศิลปะ สถาปัตยกรรม วัฒนธรรม และศาสนาอิสลาม อย่างไรก็ดี ในสมัยของพระเจ้าออรังเซ็บ (Aurangzeb) ซึ่งเป็นผู้เคร่งศาสนาอิสลาม ได้ออกกฎหมายที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างชาวฮินดูและมุสลิม (เช่น จับผู้ต่อต้นไปต้มทั้งเป็น) และเป็นเหตุให้ชาวอินเดียต่อต้านอำนาจของจักรวรรดิ เมื่อสิ้นอำนาจของพระเจ้าออรังเซ็บในปี 2250 จักรวรรดิโมกุลก็ค่อยๆ แตกแยก เกิดการรบกันเองเพื่อแย่งชิงอำนาจ และเสื่อมลง เป็นโอกาสให้อังกฤษเข้ามามีอำนาจแทนที่

อังกฤษเริ่มเข้าไปมีอิทธิพลในอนุทวีปตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17 เพื่อค้าขายพร้อม ๆ กับครอบครองดินแดนและแทรกแซงในการเมืองท้องถิ่น จนกระทั่งอินเดียตกอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ ในปี 2420 โดยมีสมเด็จพระราชินีวิคตอเรียแห่งอังกฤษทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระเจ้าจักรพรรดินีแห่งอินเดีย หลังจากการรณรงค์ต่อสู้กับการปกครองของอังกฤษมาเป็นเวลานาน ภายใต้การนำของมหาตมะ คานธี อินเดียจึงได้รับเอกราชและร่วมเป็นสมาชิกอยู่ภายใต้เครือจักรภพ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2490 โดยยังมีพระมหากษัตริย์ของอังกฤษเป็นประมุข ซึ่งทรงแต่งตั้งข้าหลวงใหญ่เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์ ต่อมาในวันที่ 26 มกราคม 2493 ได้มีการสถาปนาสาธารณรัฐอินเดีย โดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุขของรัฐ และนายเยาวาหะราล เนห์รู (Jawaharlal Nehru) ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดีย

ในช่วงหลังจากได้รับเอกราช อินเดียมีข้อพิพาทกับต่างประเทศหลายกรณี อาทิ ในเดือนธันวาคม 2504 กองทัพอินเดียเข้ายึดครองดินแดนอาณานิคมของโปรตุเกส ได้แก่ กัว ดามัน และดิว ในเดือนตุลาคม 2505 มีข้อพิพาทกับจีนเรื่องพรมแดน ซึ่งนำไปสู่การทำสงคราม นอกจากนี้ อินเดียยังมีสงครามกับปากีสถานถึง 3 ครั้ง คือ ในปี 2490 และ 2508 โดยมีสาเหตุจากปัญหาความขัดแย้งเหนือดินแดนแคว้นจัมมู และแคชเมียร์ (ปัจจุบันทั้งสองฝ่ายก็ยังคงอ้างสิทธิในแคว้นทั้งสองเหมือนกัน) และในปี 2514 อินเดียช่วยปากีสถานตะวันออกทำสงครามกับปากีสถาน และได้รับชัยชนะ ทำให้เกิดการแบ่งแยกปากีสถานตะวันออกเป็นอิสระจากปากีสถานและเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นประเทศบังกลาเทศ

1.3 ประชากร

ขนาด

  • 1,166,079,217 คน (กรกฎาคม 2552) มีจำนวนมากเป็นอันดับ 2 ของโลก และคาดว่าจำนวนประชากรจะมากกว่าจีนภายในปี 2588
  • อัตราการเพิ่มของประชากรเฉลี่ยปีละ 1.548% สัดส่วนเป็นชายกว่า 52%

เชื้อชาติ อินโดอารยัน (72%) ดราวิเดียน (25%) มองโกลอยด์และอื่นๆ (3%)

ศาสนา ฮินดู (80.5%) มุสลิม (13.4%) คริสเตียน ซิกข์ พุทธและอื่นๆ (6.1%)

ภาษา : ฮินดีเป็นภาษาประจำชาติ และภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ใช้ในวงราชการและธุรกิจนอกจากนี้ ยังมีภาษาที่บัญญัติไว้ตามรัฐธรรมนูญ 22 ภาษา เช่น บังกลา คุชราต ปัญจาบี ฑมิฬ สันกฤต และเตลูกู เป็นต้น

การศึกษา

  • อัตราการรู้หนังสือโดยเฉลี่ย 64.8% (ข้อมูลปี 2544) (ชาย 70.2% หญิง 53.7%)
  • รัฐบาลเน้นความสำคัญของการศึกษา โดยมีโรงเรียนมากกว่า 1 ล้านแห่ง วิทยาลัยที่เปิดสอนวิชาทั่วไปประมาณ 9,200 แห่ง และสอนวิชาชีพเฉพาะอีก 4,600 แห่ง มหาวิทยาลัยรวม 300 แห่ง
1.4 รัฐบาล

ชื่อประเทศ : สาธารณรัฐอินเดีย (Republic of India) หรือเรียกอีกชื่อว่า คณราชย์ภรต (คณะแห่งรัฐ)

วันสำคัญ : วันที่ 15 สิงหาคม 2490 เป็นวันประกาศเอกราชจากอังกฤษ และวันที่ 26 มกราคม 2493 เป็นวันที่รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ จึงกำหนดให้วันที่ 26 มกราคมของทุกปีเป็นวันชาติ(Republic Day)

ระบอบการปกครอง ประชาธิปไตยระบบรัฐสภา

ระบอบการเมือง : สาธารณรัฐ (Federal Republic) แบ่งเป็น 29 รัฐ และ 6 สหภาพอาณาเขตของรัฐบาลกลาง (Union Territories)

ระบบการบริหาร : แยกอำนาจระหว่างฝ่ายตุลาการ ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหาร โดยฝ่ายนิติบัญญัติประกอบด้วย 2 สภา คือ ราชยสภา (Rajya Sabha) หรือวุฒิสภา และโลกสภา (Lok Sabha) หรือสภาผู้แทนราษฎร

ประมุขของรัฐ

  • นางประติพา ปาทิล (H.E. Mrs. Pratibha Devisingh Patil) ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 13 ซึ่งเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของอินเดีย เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2550

นายกรัฐมนตรี

  • นายมานโมฮาน ซิงห์ (H.E. Dr. Manmohan Singh) ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 14 เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2547

รัฐมนตรีพาณิชย์

  • นายคามาล นาธ (H.E.Mr. Kamal Nath) เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2547
1.5 การเป็นสมาชิกองค์กรระหว่างประเทศ
  • เป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2538 และยังเป็นสมาชิกกลุ่มการเจรจาต่างๆ ได้แก่ G-15 และ G-20 นอกจากนี้ ยังเป็นสมาชิกองค์กรสำคัญอื่นๆ เช่น UN, World Bank, ADB, WCO, WHO, WFP และ FAO เป็นต้น
  • South Asian Association for Regional Cooperation (SAARC) ก่อตั้งเมื่อปี 2528 เป็นองค์กรความร่วมมือในทุกด้านระหว่างประเทศเอเชียใต้รวม 8 ประเทศ คือ บังกลาเทศ อินเดีย ภูฏาน ปากีสถาน เนปาล ศรีลังกา มัลดีฟส์ และอัฟกานิสถาน
  • BIMSTEC ก่อตั้งเมื่อปี 2530 โดยเน้นความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิกในเอเชียใต้ (ไม่รวมปากีสถาน มัลดีฟส์ และอัฟกานิสถาน) และอาเซียน (ไทยและพม่า)
  • ASEAN Regional Forum (ARF) เน้นความสัมพันธ์ด้านความมั่นคง โดยอินเดียเข้าร่วมเมื่อปี 2539 หลังจากได้รับสถานะเป็น Dialogue Partner ของอาเซียนเมื่อปี 2538
  • Mekong-Ganga Cooperation (MGC) ก่อตั้งเมื่อปี 2543 ประกอบด้วยประเทศกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขงและแม่น้ำคงคารวม 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย ลาว พม่า เวียดนาม กัมพูชา และอินเดียโดยเน้นความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว การขนส่ง วัฒนธรรมและการศึกษา
  • Indian Ocean Rim Association for Regional Cooperation (IOR-ARC) อินเดียเป็นผู้ร่วมก่อตั้งเมื่อปี 2538 เน้นความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคมหาสมุทรอินเดียในลักษณะไตรภาคี คือ ภาครัฐบาล เอกชน และวิชาการ โดยมุ่งเน้นด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน เพื่อส่ง

เสริมการขยายปริมาณการค้าและการลงทุนระหว่างกัน

1.6 การจัดทำข้อตกลงทางการค้า

ความร่วมมือการค้า : ข้อตกลงทางการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านในการอำนวยความสะดวกทางการค้า อาทิ ภูฏาน บังกลาเทศ ปากีสถาน จีน มัลดีฟส์ และศรีลังกา และประเทศอื่นๆ ได้แก่ ไทย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ เกาหลีเหนือ และมองโกเลีย เป็นต้น

การให้สิทธิพิเศษ

ทางภาษี

ข้อตกลงแลกเปลี่ยนสิทธิพิเศษทางภาษีในระดับทวิภาคี เช่น บังกลาเทศ เนปาล อัฟกานิสถาน ภูฏาน ชิลี และศรีลังกา ส่วนในระดับภูมิภาค เช่น Mercosur SACU Asia Pacific Trade Agreement (APTA) และ SAFTA

เขตการค้าเสรี (FTA) : FTA ที่มีผลบังคับใช้แล้ว คือ อินเดีย-ศรีลังกา (ปี 2543) อินเดีย-สิงคโปร์ (ปี 2548) อยู่ระหว่างการเจรจากับไทย (ประกาศใช้ EHS ในสินค้า 82 รายการแล้ว) มอริเชียส จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย คูเวต กลุ่มอาเซียน สหภาพยุโรป สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป และกลุ่มความความร่วมมือแห่งอ่าวอาหรับ และกำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำ FTA กับออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินโดนีเซีย

2. การเมืองและการปกครอง

อินเดียเป็นประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา มีประธานาธิบดีเป็นประมุขของประเทศ และกระจายอำนาจการปกครองในลักษณะสหพันธรัฐ (Federal System) แบ่งออกเป็น 29 รัฐ และ 6 สหภาพอาณาเขตของรัฐบาลกลาง (Union Territories)รัฐธรรมนูญอินเดียแบ่งแยกอำนาจระหว่างรัฐบาลกลางและรัฐบาลมลรัฐ (State Government) อย่างชัดเจนโดยรัฐบาลกลางดำเนินการเรื่องการป้องกันประเทศด้านนโยบายต่างประเทศ การรถไฟ การบิน และการคมนาคมอื่นๆ ด้านการเงิน ด้านกฎหมายอาญา ฯลฯ ส่วนรัฐบาลมลรัฐมีอำนาจในการรักษาความสงบเรียบร้อยและรักษากฎหมาย การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของแต่ละมลรัฐ

การบริหารรัฐบาลกลาง

ฝ่ายนิติบัญญัติ ประกอบด้วย 2 สภา คือ

  • ราชยสภา (Rajya Sabha) หรือวุฒิสภา ตามรัฐธรรมนูญบัญญัติให้ราชยสภามีสมาชิก 250 คน ปัจจุบันมีสมาชิก 245 คน โดย 12 คนจะเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่างๆ ที่ได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดีทุก 2 ปีและอีก 233 คน มาจากการเลือกตั้งทางอ้อม เป็นผู้แทนของรัฐและ Union Territories
  • โลกสภา (Lok Sabha) หรือสภาผู้แทนราษฎร มีสมาชิก 545 คน โดยสมาชิก 543 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรง (530 คน มาจากแต่ละรัฐ ส่วนอีก 13 คน มาจาก Union Territories) และอีก 2 คน มาจากการคัดเลือกของประธานาธิบดี จากกลุ่มอินโด-อารยันในประเทศ ทั้งนี้มีวาระคราวละ 5 ปี เว้นเสียแต่จะมีการยุบสภาฝ่ายบริหาร ประธานาธิบดี เป็นประมุขของรัฐ และเป็นหัวหน้าคณะผู้บริหาร (Head of Executive of the Union)ประกอบด้วยรองประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐบาล ประธานาธิบดีได้รับการเลือกตั้งทางอ้อมจากผู้แทนของทั้ง 2 สภา รวมทั้งสภานิติบัญญัติของแต่ละรัฐ ดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นวาระที่ 2 ได้
  • รองประธานาธิบดี ได้รับการเลือกตั้งทางอ้อมจากผู้แทนของทั้ง 2 สภา ดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี และเป็นประธานราชยสภาโดยตำแหน่ง
  • นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ที่มีอำนาจในการบริหารอย่างแท้จริง ดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี ได้รับการแต่งตั้งโดยตรงจากประธานาธิบดี เป็นหัวหน้าคณะรัฐมนตรี (Council of Ministers) ซึ่งประกอบด้วย รัฐมนตรี (Ministers)รัฐมนตรีที่ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี (Ministers of State - Independent Charge) และรัฐมนตรีช่วยว่าการ (Ministers of State) รับผิดชอบโดยตรงต่อโลกสภาฝ่ายตุลาการอำนาจตุลาการเป็นอำนาจอิสระ ไม่ขึ้นกับฝ่ายบริหาร มีหน้าที่ปกป้องและตีความรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกา(Supreme Court) เป็นศาลสูงสุดขอu3591 .ประเทศ ผู้พิพากษาประจำศาลฎีกา มีจำนวนไม่เกิน 25 คน แต่งตั้งโดยประธานาธิบดี ระดับรัฐ มีศาลสูง (High Court) เป็นศาลสูงสุดของแต่ละรัฐ รองลงมาเป็น Subordinate Courts ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละรัฐ

การบริหารระดับรัฐ

โครงสร้างของฝ่ายบริหารในแต่ละรัฐ ประกอบด้วยผู้ว่าการรัฐ (Governor) เป็นประมุข ได้รับการแต่งตั้งโดยตรงจากประธานาธิบดี รัฐบาลมลรัฐ (State Government) ประกอบด้วยมุขมนตรี (Chief Minister) เป็นหัวหน้าและคณะรัฐมนตรีประจำรัฐ (State Ministers) ทั้งนี้ รัฐบาลแห่งรัฐจะมาจากพรรคการเมือง หรือได้รับแต่งตั้งจากสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ (Legislative Assembly)

การเมือง

อินเดียมีพรรคการเมืองมากมายทั้งในระดับชาติ มลรัฐ และระดับท้องถิ่น โดยมีพรรคระดับชาติที่สำคัญ ได้แก่ พรรคคองเกรส (Congress) พรรคภารติยะ ชนตะ (Bhartiya Janata Party: BJP) พรรคคอมมิวนิสต์อินเดีย(Communist Party of India) พรรคคอมมิวนิสต์อินเดียมาร์คซิส (Communist Party of India-Marxist) และพรรคชนตะดาล (Janata Dal)ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 14 เมื่อเดือนพฤษภาคม 2547 พรรคคองเกรสมีจำนวนผู้แทนที่ได้รับเลือกเข้าสู่โลกสภามากที่สุดเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลผสมภายใต้ชื่อพันธมิตรแห่งความก้าวหน้าหนึ่งเดียว (United ProgressiveAlliance: UPA) ชนะกลุ่มพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติ (National Democratic Alliance: NDA) ซึ่งเคยรวมตัวกันเป็นรัฐบาลชุดก่อนของอินเดียนำโดยพรรค BJP โดยรัฐบาลชุดปัจจุบันมีนายมานโมฮาน ซิงห์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่14 ของอินเดีย และเป็นผู้นำเชื้อสายซิกข์คนแรกของประเทศ รวมทั้งได้รับการขนานนามว่าเป็นสถาปนิกแห่งการปฏิรูปเศรษฐกิจของอินเดีย รัฐบาลผสมได้ร่วมกันจัดทำแผนพัฒนาชาติ (National Common Minimum Programme) เพื่อแก้ปัญหาความมั่นคงภายในประเทศ ลดปัญหาความรุนแรงในสังคมและความขัดแย้งระหว่างชนชั้นวรรณะ พัฒนาและส่งเสริมบทบาทของประชาชน ส่งเสริมการตรวจสอบความโปร่งใสของรัฐบาลเพื่อสร้างธรรมาภิบาล ให้โอกาสทางการศึกษาแก่ประชาชนที่ด้อยโอกาส รวมทั้งปรับปรุงความสัมพันธ์กับปากีสถาน ประเทศมหาอำนาจ และประเทศอื่นๆ ที่เป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอย่างไรก็ตาม รัฐบาลชุดปัจจุบันกลับพบกับแรงกดดันของพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายและพรรคร่วมรัฐบาลที่เฝ้าตรวจสอบและโจมตีนโยบายเศรษฐกิจและการต่างประเทศตลอดเวลาทำให้บางโครงการต้องสะดุดลง แม้ว่าพรรคBJP เป็นแกนนำฝ่ายค้านกลับไม่มีบทบาทในการกดดันรัฐบาลมากนัก ส่วนพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายที่มีฐานเสียงในรัฐเบงกอลตะวันตก และรัฐเกรละ ได้โจมตีนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศในกิจการค้าปลีก กิจการประกันภัย กิจการธนาคาร และการปรับปรุงท่าอากาศยาน นอกจากนี้ พรรคการเมืองฝ่ายซ้ายโจมตีและคัดค้านการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่เอนเอียงเข้ากับสหรัฐอเมริกาอันเกินควร รวมทั้งการทำข้อตกลงโครงการนิวเคลียร์กับสหรัฐฯ เนื่องจากเห็นว่าล่อแหลมต่อความมั่นคงของประเทศ และข้อตกลงนี้ทำให้อินเดียเสียเปรียบ รวมทั้งขาดเสรีภาพในการสั่งซื้อน้ำมันและก๊าซจากอิหร่าน โดยบรรดาพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายได้ถอนตัวจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาลเมื่อเดือนมิถุนายน 2551 และยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเมื่อเดือนกรกฎาคม 2551 ซึ่งฝ่ายรัฐบาลชนะการลงคะแนนเสียงไม่ไว้วางใจอย่างหวุดหวิดโดยได้รับเสียงสนับสนุนจากหลายพรรคเล็กและสมาชิกผู้แทนราษฎรอิสระให้อยู่บริหารประเทศจนครบวาระจนกว่าจะถึงการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2552

ผลการเลือกตั้งทั่วไปปี 2552

ล่าสุดผลการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร (โลกสภา) ครั้งที่ 15 เมื่อ 16 พฤษภาคม 2552 ปรากฏว่า พันธมิตรแนวร่วมก้าวหน้า (UPA) นำโดยพรรคอินเดียน เนชั่นแนล คองเกรส (INC) หรือพรรคคองเกรสของนายมันโมฮาน ซิงห์ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน มีคะแนนนำเหนือพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติ (NDA) ภายใต้การนำของพรรคภารติยะ ชนะตะ(BJP) แกนนำฝ่ายค้านอย่างขาดลอย โดยพรรคคองเกรสและพันธมิตรซึ่งมีคะแนนเสียงรวมกัน 260 คะแนน ต้องอาศัยเสียงสนับสนุนจากกลุ่มแนวร่วมอื่นอีกเพียงเล็กน้อยเพื่อให้มีคะแนนเกิน 272 จากทั้งหมด 543 ที่นั่งในสภาในการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ สิ่งที่กำลังรอการตัดสินใจของรัฐบาลใหม่คือการนำพาประเทศฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะนำพาเศรษฐกิจอินเดียมูลค่า 1.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของเอเชียรองจากญี่ปุ่นและจีน ให้มีอัตราการขยายตัวสูงกว่าร้อยละ8 ต่อปีเพื่อที่จะลดปัญหาความยากจนในประเทศ ทั้งนี้ ที่นั่งในรัฐสภาของพรรคคองเกรสที่เพิ่มขึ้นถึง 60 ที่นั่ง ขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์ หนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาลซึ่งต่อต้านการลงทุนของต่างชาติอย่างหัวชนฝามีคะแนนเสียงลดลงจาก 43 เหลือ 16 ที่นั่ง จะทำให้นักลงทุนต่างชาติมีความเชื่อมั่นต่อ เสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาลชุดใหม่มากขึ้น รวมถึงแนวโน้มการผ่านกฎหมายถือครองทรัพย์สินของต่างชาติและการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นหนึ่งในอุปสรรคการลงทุนของต่างชาติในอินเดียมาโดยตลอด ซึ่งหลายประเทศรวมทั้งไทยต่างก็คาดหวังว่าตลาดอินเดียจะมีส่วนช่วยอย่างสำคัญในการกระตุ้นการส่งออกของประเทศต่างๆ ที่กำลังซบเซาทั่วโลก

การเลือกตั้งอินเดียกับประเทศไทย ชัยชนะอย่างถล่มทลายของพรรคคองเกรสในการเลือกตั้ง

สภาผู้แทนราษฎรจะส่งผลให้รัฐบาลชุดใหม่ของนายกมานโมฮัน ซิงห์ มีความเข้มแข็งทางการเมืองมากขึ้น สิ่งสำคัญประการแรกที่รัฐบาลอินเดียจะต้องเร่งดำเนินการคือการผลักดันให้เศรษฐกิจมีอัตราการขยายตัวสูงกว่าร้อยละ 8 ต่อปีเพื่อขจัดปัญหาความยากจนในประเทศ โดยรัฐบาลอินเดียกลายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลังจากตลาดในประเทศชะลอตัวอย่างมาก การกลับมาจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้งของพรรคคองเกรสด้วยคะแนนเสียงที่เพิ่มขึ้นจากการเลือกตั้งครั้งก่อนน่าจะช่วยเปิดโอกาสการลงทุนให้กับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการเข้าไปลงทุนในอินเดียโดยเฉพาะในแง่ของการเปิดเสรีสาขาการลงทุนและการผ่อนคลายข้อจำกัดการถือครองทรัพย์สินของนักลงทุนต่างชาติ นอกจากนี้ความต่อเนื่องของการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและแนวโน้มที่รัฐบาลอินเดียจะกู้เงินเพื่อนำมากระตุ้นเศรษฐกิจได้ง่ายขึ้นโดยเฉพาะการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทั่วประเทศและการสร้างการจ้างงานให้กับประชาชนโดยเฉพาะในชนบทน่าจะช่วยเพิ่มโอกาสให้กับการลงทุนในภาคก่อสร้างและการส่งออกสินค้าของไทย ประกอบกับความคืบหน้าในการเจรจาและลงนามความตกลงฯ FTA ทั้งกรอบไทย-อินเดียและอาเซียน-อินเดียจะช่วยสร้างโอกาสให้กับภาคส่งออกไทยได้มากขึ้นโดยคาดว่า สินค้าส่งออกของไทยที่น่าจะได้รับประโยชน์จากการเปิด FTA กับอินเดียคือ ผลิตภัณฑ์ยาง พลาสติก กระดาษ ของเล่น ไฟเบอร์บอร์ด เครื่องใช้ไฟฟ้า เหล็กและเหล็กกล้า อัญมณีและเครื่องประดับ เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น

3. ประชากรและสังคม

แม้ว่าอินเดียจะมีพื้นที่เพียงร้อยละ 2.4 ของโลก แต่เป็นแหล่งอาศัยของคนมากกว่าร้อยละ 15 ของประชากรโลกรองจากจีน คนอินเดียส่วนใหญ่จะมีอายุน้อยกว่า 15 ปี และกว่าร้อยละ 70 ของประชากรอาศัยอยู่ในหมู่บ้านที่มีอยู่มากกว่า 550,000 แห่ง และส่วนที่เหลือก็กระจุกตัวอยู่ตามเมืองใหญ่ของประเทศ เช่น มุมไบ กัลกัตตา เดลี เจนไนและบังกาลอร์อินเดียเป็นสังคมที่มีความหลากหลายด้านเชื้อชาติ ภาษา ศาสนา และวัฒนธรรม โดยมีศาสนา วรรณะ และภาษา เป็นปัจจัยหลักกำหนดรูปแบบสังคมและการเมืองในทุกวันนี้ อินเดียมีภาษาราชการกว่า 22 ภาษา ซึ่งฮินดีเป็นภาษาประจำชาติที่ใช้กันมากที่สุด และใช้ภาษาอังกฤษในวงราชการและธุรกิจ แม้ว่าประชากรกว่าร้อยละ 82 นับถือศาสนาฮินดู แต่มีประชากรที่นับถือศาสนามุสลิมที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากอินโดนีเซีย และปากีสถาน อีกทั้งยังมีผู้นับถือศาสนาอื่น เช่น คริสเตียน ซิกข์ พุทธ และเจน การจัดลำดับชั้นทางสังคมและอาชีพในอินเดียเป็นการสะท้อนอิทธิพลของระบบวรรณะ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการจัดวาง ควบคุม และบริหารโครงสร้างสังคมอินเดียและควบคุมระบบความสัมพันธ์ของทุก ๆ ส่วนไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม, เศรษฐกิจ อาชีพหรือแม้แต่การเมืองของอินเดีย ตั้งแต่สมัยโบราณวรรณะที่สำคัญมี 4 วรรณะ คือ (1)วรรณะพราห์ม ได้แก่ นักบวช ปัจจุบันอาจตีความไปถึงนักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์และนักการเมือง (2) วรรณะกษัตริย์ ได้แก่ นักรบ ซึ่งอาจรวมไปถึงข้าราชการ (3) วรรณแพศย์ ได้แก่ พ่อค้า นักธุรกิจ (4) วรรณะศูทร ได้แก่ ผู้ใช้แรงงาน ชาวนา กรรมกร และคนยากจน ซึ่งสามวรรณะแรกเป็นชนชั้นผู้ปกครอง วรรณะสุดท้ายเป็นผู้ถูกปกครองแม้ว่าวรรณะเหล่านี้เป็นที่เข้าใจทั่วไปในอินเดีย แต่ยังมีการแบ่งวรรณะต่ำสุดในในสังคมฮินดู เรียกกันว่าเป็นกลุ่มคนอันมิพึงแตะต้อง คือ จัณฑาล หรือเรียกชื่อใหม่ว่า ดาลิต มีความหมายว่า อันเป็นที่รักของพระเจ้า ซึ่งเป็นชนชั้นที่ถูกเลือกปฏิบัติ ได้รับโอกาสทางสังคมและอาชีพน้อยที่สุดในสังคม อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปเศรษฐกิจและกฎหมายของอินเดียในปัจจุบันได้พยายามลดช่องว่างของสังคมและการกีดกันทางวรรณะเพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษา และอาชีพให้เท่าเทียมกันในสังคม

4. ข้อมูลเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ

เดิมอินเดียใช้ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมที่เน้นการพึ่งพาตนเอง โดยรัฐเป็นผู้ลงทุนในกิจการหลักๆ ของประเทศทั้งหมด ได้แก่ กิจการสาธารณูปโภคและสวัสดิการของประชาชน กิจการที่เป็นยุทธศาสตร์และความมั่นคงของประเทศ และอุตสาหกรรมหนัก แต่ก็ให้ความสำคัญในการสนับสนุนกิจการขนาดเล็กของเอกชน ในด้านการค้าอินเดียจำกัดและห้ามนำเข้าสินค้าด้วยมาตรการกฏหมายและกำแพงภาษี นอกจากนี้ ยังควบคุมการลงทุนอย่างเข้มงวดต่อมาอินเดียเริ่มผ่อนคลายมาตรการข้อจำกัดลงเนื่องจากผลกระทบจากวิกฤติการณ์น้ำมัน และสงครามอ่าวเปอร์เซียซึ่งทำให้ประสบภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2534 ทำให้อินเดียต้องขอความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจตามเงื่อนไขการกู้เงินของ IMFโดยประกาศนโยบายเปิดเสรีทางเศรษฐกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไป และกำหนดมาตรการที่สำคัญ เช่น ลดการขาดดุลงบประมาณของภาครัฐ การปฏิรูปอัตราแลกเปลี่ยน เพิ่มสัดส่วนถือหุ้นของต่างชาติ ลดการอุดหนุนส่งออกและข้อจำกัดการนำเข้า และตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานและระบบขนส่งให้ทันสมัยเพื่อรองรับการลงทุนจากต่างชาติได้มากขึ้น

4.1 ภาพรวมเศรษฐกิจ

อินเดียเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางเศรษฐกิจ นับตั้งแต่การทำเกษตรแบบโบราณ การเกษตรสมัยใหม่ การหัตถกรรม อุตสหกรรมยุคใหม่ ไปจนถึงธุรกิจบริการ (ซ๊อฟแวร์และการธนาคาร เป็นต้น ) ธุรกิจบริการเป็นแหล่งสร้างรายได้หลักให้กับประเทศอินเดีย โดยมีสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของผลผลิตของประเทศ .

สำหรับในด้านแรงงาน พบว่าประมาณ 1ใน 3 อยู่ในภาคบริการ ในขณะที่กว่าครึ่งหนึ่งในของแรงงานของประเทศอยู่ในภาคการเกษตร เป็นผลให้พรรคร่วมรัฐบาล UPA เน้นนโยบายส่งเสริมพัฒนาชนบทในด้านต่างๆ อาทิเช่น โครงสร้างพื้นฐาน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวชนบทที่ยากจนและกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ห่างไกล ปัจจุบันรัฐบาลได้ผ่อนคลายกฎระเบียบด้านการค้าการลงทุนลงของต่างชาติลง พร้อมทั้งเพิ่มสัดส่วนการเข้าไปลงทุนโดยตรงของต่างชาติในสาขาต่างๆ เช่น ในสาขาโทรคมนาคม เป็นต้น เพื่อเป็นเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างหนึ่ง อย่างไรก็ตาม การปกป้องในสาขาเกษตรยังคงมีอยู่สูงก่อให้เกิดอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดของสินค้าจากต่างประเทศ

แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะพบกับการชะลอตัว แต่อินเดียในปี 2551 ก็ยังมีการขยายตัวกว่าร้อยละ 7 เหตุผลสำคัญเบื้องหลังคืออินเดียมีตลาดภายในขนาดใหญ่ที่ช่วยพยุงให้เศรษฐกิจยังคงเดินหน้าต่อไปได้ นอกจากนั้นจุดแข็งประการสำคัญของอินเดียคือการมีประชาชนที่มีการศึกษาดีและพูดภาษาอังกฤษได้เป็นจำนวนมาก เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้อินเดียเป็นประเทศผู้ส่งออกซ๊อฟแวร์ชั้นนำรวมถึงแรงงานด้านซ๊อฟแวร์ด้วย

อินเดียมีความเจริญก้าวหน้าในด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นอย่างยิ่ง โดยเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา สร้างรายได้จาก 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2534 เป็น 17.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2545 และในปี 2549/50 การส่งออกซอฟต์แวร์และบริการมีมูลค่า 33.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ เพราะอินเดียมีประชากรร้อยละ 6 ที่มีความเป็นอยู่และการศึกษาดีในระดับนานาชาติ และมีสถาบันการศึกษาคุณภาพสูงที่เน้นการผลิตบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นอกจากนี้ อินเดียยังเห็นว่าอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เป็นอุตสาหกรรมสะอาดปราศจากมลพิษ เป็นการสร้างทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งมีการลงทุนต่ำและมีมูลค่าเพิ่มในการส่งออกสูงมาก ประกอบกับการสนับสนุนอย่างจริงจังของภาครัฐ ทั้งในระดับรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น มีการจัดตั้งองค์กรเฉพาะของภาครัฐ ที่ทำหน้าที่สนับสนุนการพัฒนาการส่งออกซอฟต์แวร์ คือ Software Technology Parks of India (STPI)รัฐกรณาฏกะ (Karnataka) เป็นรัฐที่มีศักยภาพด้านเทคโนโลยีสารสนเทศสูงที่สุดของประเทศ โดยเฉพาะที่เมืองบังกาลอร์ (เปลี่ยนชื่อเป็นเบงกาลูลู) ซึ่งเป็นเมืองหลวง ได้ชื่อว่าเป็น Silicon Valley ของอินเดีย ซึ่งเป็นศูนย์รวมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก โดยมีบริษัทชั้นนำกว่า 30 บริษัท และเป็นเมืองที่ดีที่สุดสำหรับการเป็นศูนย์บริการลูกค้าทางโทรศัพท์ (call centers) เป็นศูนย์รวมสำนักงานสาขานอกประเทศ (offshore offices) และศูนย์วิจัยและพัฒนาของบริษัทใหญ่ๆ หลายบริษัท อาทิ General Electric Intel และ General Motors ในขณะเดียวกันการเติบโตด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) ได้ขยายตัวอย่างรวดเร็วไปยังเมืองอื่นๆ ด้วย เช่น เจนไน ในรัฐทมิฬนาฑู และ กัลกัตตาในรัฐเบงกอลตะวันตก รวมทั้ง ไฮเดอราบัดและปูเน เป็นต้น โดยรัฐเหล่านี้มีกำลังคนที่มีความสามารถในด้านเทคโนโลยีสูง กอรปกับรัฐบาลของรัฐต่างๆ ได้ทุ่มเทในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับความเติบโตด้านนี้อย่างเอาจริงเอาจังด้วยนอกจากนั้น ความเจริญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่เรียกว่า ITes (IT enabled services) ยังเป็นปัจจัยสำคัญให้เกิดการขยายตัวในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของอินเดีย (เนื่องจากบุคคลกรในสาขา IT มีกำลังซื้อสูง) ที่กำลังเติบโตในเมืองใหญ่ต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วอย่างมีนัยสำคัญ โดยในช่วง 6-8 ปีทีผ่านมา ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่โตเฉลี่ยร้อยละ 35 ต่อปี พบว่าร้อยละ 70 ของการขยายตัวของอาคารสำนักงานเป็นการเช่า/ซื้อของบริษัท IT และ ITes ทั้งของอินเดียและต่างชาติอาคารสำนักงานเป็นการเช่า/ซื้อของบริษัท IT และ ITes ทั้งของอินเดียและต่างชาติ

นับตั้งแต่วิกฤตการเงินในสหรัฐอเมริกาลามเข้าสู่เอเชียและอินเดีย รัฐบาลอินเดียกลายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอินเดียหลักในตลาดที่มีประชากรกว่า 1.1 พันล้านคนและเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจอินเดียชะลอตัวลงอย่างหนักโดยเฉพาะการลงทุนในประเทศทั้งภาคบริการและภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากภาวะสินเชื่อตึงตัวจากแหล่งเงินกู้ในต่างประเทศและตลาดหลักทรัพย์ของอินเดียเอง ทั้งนี้ในปี 2550 ตลาดหลักทรัพย์อินเดียเป็นแหล่งระดมทุนของผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมของอินเดียถึงร้อยละ 40 ของเงินทุนทั้งหมด ประกอบกับประชาชนอินเดียที่มีรายได้จากการขายผลผลิตทางการเกษตรเป็นหลักได้รับผลกระทบจากภาวะสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกร่วงลงอย่างต่อเนื่องส่งผลให้กำลังซื้อของคนชนบทในอินเดียลดลงซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 60 ของประชากรทั้งประเทศ รัฐบาลอินเดียจึงออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 85 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งการสร้างการจ้างงานเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนในชนบท การก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ยังขาดแคลนอยู่มากในอินเดีย รวมถึงการลดภาษีในรูปแบบต่างๆ แม้ว่าเศรษฐกิจอินเดียจะเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวอย่างช้าๆ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในประเทศอินเดียปรับตัวสูงขึ้น เห็นได้จากยอดขายสินค้าคงทนอย่างโทรทัศน์ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2552 เพิ่มขึ้นร้อยละ 153 ยอดขายรถยนต์ในเดือนเมษายน 2552 เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 4.5 (yoy) เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคมที่เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1 (yoy) และคาดว่ารัฐบาลชุดใหม่จะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม คาดว่าน่าจะช่วยให้สัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของอินเดียเห็นผลชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง

แม้ว่าอินเดียจะพึ่งพาการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศไม่มากนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในเอเชีย แต่แนวโน้มการพึ่งพาตลาดต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยสัดส่วนการค้าระหว่างประเทศต่อ GDP เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 24.2 ในปี 2545 เป็นร้อยละ 43.3 ในปี 2551 ทำให้เศรษฐกิจของอินเดียชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลกจนอัตราการว่างงานพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วและเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อคะแนนเสียงเสียงของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา โดยไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 เศรษฐกิจอินเดียขยายตัวเพียงร้อยละ 5.3 ต่ำสุดในรอบ 6 ปี ขณะที่ผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม 2552 ร่วงลงต่ำสุดในรอบ 16 ปีตามภาคการส่งออกที่หดตัวอย่างหนัก อย่างไรก็ตาม สัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของหลายประเทศทั่วโลกนับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจอินเดียมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น แต่การปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจอินเดียยังต้องอาศัยปัจจัยกระตุ้นจากมาตรการทางเศรษฐกิจของรัฐบาลต่อไป แม้ว่าเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาลที่มีแนวโน้มดีขึ้นหลังการเลือกตั้งครั้งนี้จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติก็ตาม เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจที่สำคัญของอินเดีย

Economic indicators:                      2004       2005      2006        2007        2008       2009*
GDP (US$bn) (current prices)             669.4      784.3     874.8    1,102.40    1,209.70    1,185.70
GDP per capita (US$)                       597        689       757         940       1,016         982
Real GDP growth (% change yoy)             7.9        9.2       9.8         9.4         7.3         5.4
Current account balance (US$m)             781    -10,285    -9,299     -11,285     -33,330     -29,125
Current account balance (% GDP)            0.1       -1.3      -1.1          -1        -2.8        -2.5
Goods & services exports (% GDP):         17.4       20.1      22.7        21.2        24.7        23.9
Inflation (% change yoy)                   3.8        4.2       6.2         6.4         8.3         6.3
ที่มา: www.dfat.gov.au/
*ตัวเลขประมาณการ

การขยายตัวทางเศรษฐกิจของอินเดียยังมีข้อจำกัดเนื่องจากขาดแคลนสาธารณูปโภคพื้นฐานที่เพียงพอโดยเฉพาะการขนส่งทางบก ท่าเรือ และพลังงานไฟฟ้า กฎหมายแรงงานที่เข้มงวดในการกำหนดให้องค์กรที่มีลูกจ้างเกินกว่า 100 คนไม่สามารถปลดลูกจ้างออกจากงานได้เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาล ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการขยายกิจการ รวมทั้งระบบราชการที่ซ้ำซ้อน การทุจริต การควบคุมการลงทุนของต่างชาติ และการปกป้องอุตสาหกรรมขนาดย่อมในประเทศ ซึ่งรัฐบาลอินเดียได้เร่งปรับปรุงจุดออ่ นเหล่านี้โดยส่งเสริมการสร้างธรรมาธิบาล และเพิ่มเงินลงทุนก่อสร้างถนน และบริการสาธารณะต่างๆ เพื่อรักษาระดับการขยายตัวของเศรษฐกิจให้คงที่ในระดับร้อยละ 9 ต่อปีในช่วงปี 2550-2555 ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาแห่งชาติฉบับที่ 11

4.3 การค้าระหว่างประเทศ

นโยบายที่เกี่ยวข้องต่อการค้าระหว่างประเทศของอินเดีย เช่น นโยบายงบประมาณประจำปี (Budget Policy) และนโยบายการค้าแห่งชาติ (National Foreign Trade Policy) ได้ถูกกำหนดขึ้นอย่างสอดคล้องกันที่จะปฏิรูปเศรษฐกิจที่เข้าถึงประชาชน อาทิ การปล่อยสินเชื่อให้เกษตรกรเพิ่มขึ้น ผ่อนปรนการชำระหนี้แก่เกษตรกรพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและการชลประทานในชนบท ส่งเสริมการส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าส่งออกดั้งเดิม(ผ้าทอมือ หัตถกรรม อัญมณี และเครื่องหนัง) และจัดตั้งเขตการส่งออกสินค้าเกษตร (Agri-Export Zones) เป็นต้น

เป้าหมายหลักของอินเดียในการค้าระหว่างประเทศ คือ เพิ่มส่วนแบ่งตลาดส่งออกของอินเดียในตลาดโลกให้ได้ร้อยละ 1.6 ของการค้าโลกภายในปี 2552 หรือประมาณ 150 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และใช้การค้าเพิ่มการจ้างงานโดยมีกลยุทธ์ที่สำคัญ ได้แก่

  • ลดการควบคุม และสร้างบรรยากาศของความไว้วางใจและความโปร่งใสให้แก่ผู้ประกอบการ
  • ลดขั้นตอนของกระบวนการทำงาน และต้นทุนดำเนินงาน
  • ตั้งอยู่บนหลักการที่สินค้าส่งออกจะต้องไม่มีต้นทุนแฝงด้วยภาษีต่างๆ
  • สนับสนุนการพัฒนาให้อินเดียเป็นศูนย์กลางของการผลิต การค้า และการบริการ
  • ปรับปรุงเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศให้ได้มาตรฐานสากล
  • ปรับโครงสร้างภาษีสินค้าให้สอดคล้องกัน เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการเสียเปรียบจากข้อตกลงการค้าเสรี

จากรายงานการค้าโลกโดย WTO รายงานว่า ปี 2549 อินเดียเป็นผู้ส่งออกสินค้าอันดับที่ 28 ของโลกและมีส่วนแบ่งในตลาดโลกร้อยละ 1 ส่วนภาคการนำเข้ามีอัตราขยายตัวสูงเพื่อรองรับการผลิตและการบริโภคภายในประเทศที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น อินเดียเป็นผู้นำเข้าอันดับ 17 ของโลกและนำเข้าสินค้าร้อยละ 1.41 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมดของโลกปี 2551 มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของอินเดียมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเป็นลำดับ โดยอัตราการนำเข้าขยายตัวสูงกว่าการส่งออก จึงทำให้อินเดียขาดดุลการค้ามาตลอดโดยขาดดุลกว่า 1.1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ เนื่องจากมูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบสูงขึ้น คู่ค้าสำคัญของอินเดีย คือ สหภาพยุโรป จีน สหรัฐอเมริกา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดิอารเบีย สิงคโปร์ และอิหร่าน ส่วนไทยเป็นคู่ค้าอันดับ 24 มีสัดส่วนการค้าร้อยละ 1.1 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของอินเดีย

4.3.1 การส่งออก ปี 2551 การส่งออกของอินเดียมีมูลค่ารวม 175,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 20 จากปีก่อนหน้า เป็นประเทศผู้ส่งออกอันดับ 28 ของโลก (ประเทศไทยเป็นอันดับที่ 26) อินเดียส่งออกสินค้าสหรัฐมากเป็นอันดับ 1 มูลค่า 20,992 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือร้อยละ 11.7 ของการส่งออกทั้งหมด รองลงมาได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (10.3%) จีน (5.5%) และสิงคโปร์ (4.8%) ส่วนไทยเป็นตลาดส่งออกอันดับ 23 หรือร้อยละ 1.12 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของอินเดีย สินค้าส่งออกสำคัญได้แก่ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี สิ่งทอ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องจักร เคมีภัณฑ์ เครื่องหนัง เป็นต้น

4.3.2 การนำเข้า ปี 2551 การนำเข้ามีมูลค่ารวม 292,847 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 34.6 จากปีก่อนหน้า โดยอินเดียนำเข้าสินค้าจากจีนมากเป็นอันดับ 1 มูลค่า 30,811ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือร้อยละ 10.5 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมดรองลงมาได้แก่ ซาอุดิอารเบีย (7.9%) สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (6%) สหรัฐอเมริกา (5.6%) อิหร่าน และสวิสเซอร์แลนด์ (4.7%) ส่วนไทยเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 27 หรือร้อยละ 0.8 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมดของอินเดียส่วนใหญ่อินเดียนำเข้าสินค้าทุน และวัตถุดิบ สินค้านำเข้าสำคัญได้แก่ นำมันดิบ เครื่องจักร อัญมณี ปุ๋ย และเคมีภัณฑ์ เป็นที่น่าสังเกตว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การค้าระหว่างอินเดียกับจีนขยายตัวอย่างรวดเร็ว มูลค่าการค้าระหว่างกันเพิ่มขึ้นจากประมาณ 6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2545 เป็นกว่า 30,811ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2551 หรือเพิ่มขึ้นเกิน 5 เท่าในช่วงเวลาเพียง 6 ปี โดยอินเดียขาดดุลการค้ากับจีนมาตลอด อีกทั้งยังมีแนวโน้มขาดดุลมากขึ้นเป็นลำดับ

4.4 การลงทุนของต่างประเทศในอินเดีย

นโยบายการลงทุนจากต่างชาติ (FDI) ของอินเดียมีลักษณะค่อนข้างเสรี โดยผ่อนปรนกฎเกณฑ์ ระเบียบและมาตรการสำหรับการลงทุนจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมให้มีการนำเข้าและถ่ายโอนเทคโนโลยี เพิ่มเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ และกระตุ้นให้ธุรกิจของอินเดียสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล

นโยบายการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ ฉบับปี 2548 ได้ผ่อนปรนหรือยกเลิกเพดานการลงทุนของต่างชาติในอินเดียในหลายธุรกิจและเปลี่ยนระบบการลงทุนผ่านช่องทางอัตโนมัติมากขึ้น (Automatic Route) โดยอนุญาตให้ต่างชาติลงทุนได้สูงสุดถึง 100% ในธุรกิจเกือบทุกประเภท เช่น การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน อิเล็กทรอนิคส์ซอฟท์แวร์ อาหารสำเร็จรูป และการบริการ เป็นต้น ยกเว้นบางกิจการที่ต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนต่างชาติก่อน และ/หรือมีเงื่อนไขในการลงทุน ได้แก่ กิจการที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศ การธนาคาร การประกันภัย การบิน การสำรวจแหล่งธรรมชาติ และการค้าปลีก เป็นต้น นอกจากนี้ อินเดียยังมีนโยบายดึงดูดเงินลงทุนต่างชาติอย่างต่อเนื่องโดยเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zones: SEZs) ตามเมืองสำคัญหลายแห่งเพื่อกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานในประเทศ อำนวยความสะดวกด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานภายในพื้นที่ รวมทั้งมีมาตรการจูงใจทางภาษี เช่น ยกเว้นภาษีรายได้ในช่วง 5-10 ปีแรกและยกเว้นภาษีสินค้าทุนและวัตถุดิบที่ใช้ในกิจการที่ตั้งอยู่ใน SEZs เป็นต้น ธุรกิจที่รัฐบาลอินเดียส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติมาก ได้แก่ การก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน พลังงานการบริการโทรคมนาคม การพัฒนาซอฟท์แวร์ และอุตสาหกรรมอาหาร รวมทั้งจูงใจการลงทุนจากชาวอินเดียที่มีถิ่นพำนักต่างประเทศ (Non-resident Indians: NRIs) ด้วยการให้สิทธิการถือครองหุ้นสูงกว่านักลงทุนต่างชาติ

จากสถิติการลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศของ Department of Industrial Policy & Promotion รายงานว่าปี 2550 อินเดียมีเงินทุนต่างชาติสะสมรวมมูลค่า 67,327 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีเงินลงทุนต่างชาติไหลเข้ามูลค่า19,156 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 72 จากปีก่อนหน้า โดยเป็นการลงทุนในภาคบริการด้านการเงินและมิใช่ด้านการเงินร้อยละ 19.8 ของเงินลงทุนต่างชาติทั้งหมด รองลงมาได้แก่ คอมพิวเตอร์และซอฟแวร์ การก่อสร้าง(5.4%) อุตสาหกรรมยานยนต์ (4.3%) บ้านและอสังหาริมทรัพย์ (4.2%) และพลังงาน (3.4%) เป็นต้น ในช่วงปี 2543-2550 อินเดียรับเงินลงทุนต่างชาติจากประเทศมอริเชียสกว่าร้อยละ 45 ของมูลค่าการลงทุนต่างชาติ รองลงมาได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร สิงคโปร์ เนเธอร์แลนด์ และญี่ปุ่น

5. มาตรการด้านภาษี

อินเดียผูกพันอัตราภาษีของสินค้าภายใต้ WTO ไว้กว่าร้อยละ 74 ของจำนวนสินค้าทั้งหมด โดยผูกพันอัตราภาษีของสินค้าเกษตรทุกรายการ และร้อยละ 70 ของสินค้าอุตสาหกรรมโดยทั่วไปอินเดียผูกพันเพดานอัตราภาษีสินค้าอุตสาหกรรมไว้ที่ร้อยละ 0-40 ส่วนสินค้าเกษตรส่วนใหญ่ผูกพันที่อัตราร้อยละ 150 ยกเว้นพืชน้ำมันสำหรับการบริโภคที่ผูกพันอัตราไว้ที่ร้อยละ 300 แต่ไม่ผูกพันสินค้าประมง เครื่องหนัง ผลิตภัณฑ์จักรสาร รองเท้า ทองแดงและผลิตภัณฑ์ และอลูมิเนียม เป็นต้น นอกจากนี้ อินเดียได้กำหนดโควตาภาษีสำหรับการนำเข้านมผง ข้าวสาลี น้ำมันดิบจากเมล็ดดอกทานตะวันและดอกคำฝอย

สินค้า          อัตราภาษีที่ผูกพัน     อัตราภาษีทีเก็บจริง
เกษตร            1114.2%           34.4%
อุตสาหกรรม          36.2%           11.5%
ทุกรายการ           50.2%           14.5%
ที่มา:WTO

อินเดียได้ปรับลดอัตราภาษีศุลกากรลงอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยมีเป้าหมายจะลดอัตราให้ใกล้เคียงกับระดับอัตราภาษีของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน อย่างไรก็ตาม ในปีงบประมาณ 2551-2552 อัตราภาษีศุลกากรสำหรับสินค้าอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ยังคงอัตราร้อยละ 7.5 เท่ากับปีงบประมาณก่อนหน้าเนื่องจากต้องการรักษารายได้ศุลกากรเพื่อชดเชยกับอัตราภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ถึงแม้ว่าอัตราภาษีศุลกากรของสินค้าอุตสาหกรรมจะทยอยลดลงแต่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอัตราภาษีของสินค้าเกษตรมากนัก นอกจากนี้ ยังมีการเก็บอากรนำเข้าอื่นซึ่งทำให้อัตราภาษีที่ต้องชำระโดยรวมสูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคที่ต้องการคุ้มครองอุตสาหกรรมภายในประเทศ รวมทั้งมีการใช้มาตรการปกป้องและมาตรการต่อต้านการทุ่มตลาดอย่างมาก โดยเฉพาะกับสินค้านำเข้าจากจีน

5.1 โครงสร้างการคำนวณอัตราภาษีศุลกากรของอินเดีย ประกอบด้วย

1. อากรพื้นฐาน (Basic Customs Duty: BCD) เป็นอัตรามาตรฐานโดยเรียกเก็บเป็นอัตราตามราคา (Advalorem) และอัตราตามสภาพ (Specific rate) หรือทั้งสองแบบ

2. อากรศุลกากรเพิ่ม (Additional Customs Duty: ACD) เรียกเก็บเพิ่มเติมในอัตราร้อยละ 4 จากการนำเข้าสินค้าทุกรายการ เว้นแต่ได้รับการยกเว้นจัดเก็บสำหรับบางสินค้า ซึ่งเป็นการจัดเก็บที่นำมาประกาศใช้หลังจากเคยยกเลิกไป

3. Countervailing Duty (CVD.) เทียบเท่ากับอัตราภาษีสรรพสามิตที่เรียกเก็บจากการผลิตสินค้าในประเทศชนิดเดียวกันหรือคล้ายคลึงกับสินค้าที่นำเข้า

4. Countervailing Duty (CVD.) อัตราร้อยละ 8, 12, 6 เทียบเท่ากับภาษีสรรพสามิตที่เรียกเก็บจากสินค้าอุตสาหกรรมที่ผลิตในประเทศสำหรับสินค้าชนิดเดียวกันหรือคล้ายคลึงกับสินค้าที่นำเข้า 5. Educational Cess อัตราร้อยละ 2 โดยคำนวนจาก Basic Customs Duty เพื่ออุดหนุนการศึกษา

6. ภาษีต่อต้านการทุ่มตลาดหรือการปกป้อง เรียกเก็บเพิ่มเติมจากสินค้าที่พิสูจน์ว่าก่อให้เกิดความเสียหายแก่อุตสาหกรรมในประเทศ

7. ค่าธรรมเนียมการจัดการศุลกากร เรียกเก็บอัตราร้อยละ 1

5.2 ภาษีภายในประเทศที่เรียกเก็บเมื่อสินค้ามาถึงแดน

  • ภาษีผ่านแดนระหว่างรัฐ (Octroi) เป็นภาษีที่แต่ละรัฐจัดเก็บตามอัตราที่กำหนดเอง ส่วนใหญมีอัตราร้อยละ 1-1.5 ของสินค้าที่นำเข้าและเรียกเก็บกับสินค้าในประเทศเช่นกัน ซึ่งเรียกเก็บทุกครั้งที่สินค้าข้ามพรมแดนของแต่ละรัฐจนกว่าจะถึงจุดหมาย แต่ปัจจุบันหลายรัฐได้ยกเลิกแล้วหลังจากนำระบบภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้เมื่อเดือนเมษายน 2548
  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax) กำหนดโดยรัฐบาลกลางเพื่อแทนที่การเก็บภาษีขายที่แต่ละรัฐจัดเก็บ โดยมีอัตราส่วนใหญ่ร้อยละ 12.5
6. มาตรการที่มิใช่ภาษี

6.1 มาตรการจำกัด และห้ามการนำเข้าสินค้า

อินเดียยกเลิกนโยบายการจำกัดการนำเข้าสินค้าเพื่อให้เป็นไปตามพันธกรณีที่มีต่อ WTO โดยให้มีการนำเข้าสินค้าได้อย่างเสรี ยกเว้นบางสินค้าที่จำเป็นต้องมีมาตรการนำเข้าควบคุมอื่น เช่น ข้าวสาลี พืชน้ำมัน หรือน้ำมันเชื้อเพลิงที่ต้องนำเข้าโดยตัวแทนของรัฐบาล และควบคุมการนำเข้าสินค้าที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ความปลอดภัยของประชาชน และข้อห้ามทางศาสนา รวมทั้งห้ามนำเข้าสัตว์ป่า ไขมันสัตว์ เนื้อวัว ไก่และผลิตภัณฑ์จากไก่เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดนก

6.2 มาตรการใบอนุญาตนำเข้า

กำหนดประเภทสินค้าที่ต้องได้รับใบอนุญาตนำเข้าจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของอินเดีย เช่น รถยนต์ใหม่สินค้าเกษตรขั้นปฐม หินอ่อน และเครื่องจักรใช้แล้ว เป็นต้น

6.3 มาตรการปิดฉลาก

สินค้านำเข้าประเภทอาหารต้องปิดฉลากแสดงข้อความบนภาชนะบรรจุเป็นภาษาอังกฤษหรือฮินดู โดยระบุชื่อผู้นำเข้า ที่อยู่ผู้ผลิต วัน/เดือน/ปีที่ผลิต จำนวนของส่วนประกอบอาหาร ปริมาตร/น้ำหนักสุทธิ ราคาขายปลีกขั้นสูงสุด วันครบกำหนดหมดอายุ และแสดงสัญลักษณ์วงกลมสีน้ำตาลอยู่ภายในกรอบสี่เหลี่ยมจตุรัสสีน้ำตาลให้ปรากฏชัดเจนไว้บนฉลากด้านที่ข้างของชื่ออาหารและตัดกับสีพื้นของฉลาก หากเป็นอาหารมังสวิรัติต้องแสดงสัญลักษณ์รูปวงกลมสีเขียวภายใต้กรอบสี่เหลี่ยมจัตุรัสให้ชัดเจน ยกเว้นผลิตภัณฑ์นม

6.4 มาตรฐานการบรรจุหีบห่อ

สินค้านำเข้าทุกชนิดจะต้องผ่านมาตรฐานการบรรจุหีบห่อตามประกาศของรัฐบาลกลาง และตามมาตรฐานของน้ำหนักและมาตร โดยกำหนดให้ระบุชื่อที่อยู่ของผู้นำเข้า ปริมาณสุทธิตามมาตรฐาน หน่วยของน้ำหนัก เดือนและปีที่บรรจุหีบห่อ รวมทั้งราคาขายปลีกสูงสุดเมื่อรวมภาษีอื่นๆ แล้ว

6.5 มาตรการสุขอนามัย

  • สินค้าอาหาร ต้องมีหนังสือรับรองผลวิเคราะห์สินค้าจากประเทศต้นทาง และต้องผ่านการตรวจสอบมาตรฐานสุขอนามัยโดย Department of Food Processing และการตรวจสอบของกรมศุลกากร โดยต้องมีอายุสินค้า (Shelf life) ในเวลาที่นำเข้ามาในประเทศไม่น้อยกว่า 60% ของอายุสินค้า นับจากวันที่ผลิตและวันที่สินค้าหมดอายุ
  • สินค้าปศุสัตว์ทุกประเภทจะต้องขออนุญาตการนำเข้าจาก Department of Animal Husbandry and Dairying และต้องมีใบรับรองการตรวจสอบโรคจากประเทศต้นทาง โดยอินเดียกำหนดให้ขนส่งผ่านท่าอากาศยานและท่าเรือเฉพาะใน 4 เมืองหลัก ได้แก่ เดลี มุมไบ กัลกัตตา และเจนไน ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานีบริการตรวจสัตว์และออกใบอนุญาต (Animal Quarantine and Certification Services Stations)

6.6 มาตรการกักกันพืช

สินค้าพืช ผัก ทั้งสดและแห้งจะต้องมีใบอนุญาตนำเข้าและผ่านการตรวจสอบตามมาตรการตรวจสอบและกักกันโรคพืช (Plant Quarantine Order) ซึ่งกำหนดให้มีการตรวจวิเคราะห์ความเสี่ยงของโรคพืชและแมลง (PestRisk Analysis: PRA) รวมทั้งต้องปฏิบัติตามมาตรฐานหีบห่อที่ผ่านการฆ่าเชื้อตามวิธีการที่กำหนดหรือวิธีอื่นตามมาตรฐานนานาชาติและได้รับใบรับรองสุขอนามัย โดยอนุญาตให้นำเข้าผ่านจุดที่กำหนดไว้เท่านั้น

6.7 มาตรการกำหนดมาตรฐานสินค้า

สินค้าอุตสาหกรรมกว่า 150 รายการจะต้องได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์จาก Bureau of Indian Standards เช่น สิ่งทอ เคมีภัณฑ์และยาฆ่าแมลง ยาง และพลาสติกผลิตภัณฑ์การถนอมอาหาร แป้u3591 .มัน นม สีย้อมผ้า เหล็ก ปูนซีเมนต์และผลิตภัณฑ์คอนกรีต เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า ขวดนมเด็ก และแบตเตอร์รี่แห้ง อุปกรณ์ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนรถยนต์ และวัสดุก่อสร้าง ปั๊มน้ำ และอุปกรณ์กำจัดของเสีย เป็นต้น หากเป็นการนำเข้ารถยนต์หรือชิ้นส่วนยานยนต์ จะต้องปฎิบัติตามนโยบายอุตสาหกรรมรถยนต์มุ่งที่จะลดภาวะมลพิษจากยานยนต์

6.8 มาตรการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

อินเดียไม่ได้ร่วมลงนามในข้อตกลง WTO เรื่องการจัดซื้อจัดจ้างโดยภาครัฐ และการปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานต่างๆ ยังขาดมาตรฐาน ไม่โปร่งใส และยังมีการกีดกันผู้ประกอบการต่างชาติ มักจะใช้วิธีการประมูลที่ไม่เป็นธรรมกับผู้ประมูลต่างชาติเพื่อกดราคารับเหมา ลงมา แต่จะให้สัญญากับผู้ประมูลท้องถิ่น แม้ว่าผู้ประมูลต่างชาติจะให้ราคาต่ำกว่า

7. ปัญหาและอุปสรรคทางการค้าต่อไทย

ในการส่งสินค้าไปขายยังอินเดียพบว่าผู้ส่งออกไทยมีปัญหาและอุปสรรคทั้งที่เกิดขึ้นจากปัจจัยภายในประเทศไทยเอง และปัญหาที่เกิดจากข้อจำกัดภายในประเทศอินเดีย โดยสรุปปัญหาที่สำคัญ ดังนี้

1. อัตราภาษีศุลกากรสูง โครงสร้างการจัดเก็บภาษีศุลกากรและข้อยกเว้นที่หลากหลายตามประเภทของสินค้า

2. กระบวนการพิธีการศุลกากรมีความล่าช้าเนื่องจากระบบเอกสารจำนวนมาก รวมทั้งขาดการรวบรวมข้อมูลเผยแพร่อัตราภาษีและพิธีการนำเข้าอย่างครบถ้วนและเบ็ดเสร็จ ทำให้ใช้เวลาในการติดต่อหลายหน่วยงาน ทำให้ขาดความคล่องในการขายสินค้าในตลาดอินเดีย

3. ความไม่พร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน และระบบการขนส่งทำให้เพิ่มต้นทุนของสินค้า ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการกระจายสินค้าและการทำตลาดในอินเดีย

4. พิธีการและขั้นตอนการตรวจสอบสินค้าตามมาตรการสุขอนามัย และมาตรฐานสินค้ามีความล่าช้าเนื่องจากความไม่พร้อมของจุดทดสอบ และขั้นตอนของระบบราชการที่ซ้ำซ้อน

5. กฎระเบียบของอินเดียมีความแตกต่างกันในแต่ละรัฐและมีการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบการนำเข้าบ่อยทำให้การติดต่อธุรกิจ การค้า การลงทุนต้องมีการศึกษากฎระเบียบเฉพาะของรัฐนั้นๆ นอกจากนี้ ผู้ค้าและนักลงทุนไทยยังต้องเตรียมพร้อมในการจัดการความเสี่ยงและการบริหารสินค้าคงคลังจากเหตุการณ์ไม่คาดคิด เช่น ภัยธรรมชาติ หรือการประท้วงหยุดงาน

6. แม้ว่าอินเดียมีกฎหมายลิขสิทธิ์ที่มีประสิทธิภาพ แต่ยังขาดการบังคับใช้และการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์อย่างจริงจัง จึงยังคงมีการลอกเลียนแบบสินค้าอย่างแพร่หลาย ดังนั้น สินค้าไทยที่จะวางจำหน่ายในตลาดอินเดีย ควรจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเพื่อป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ซึ่งเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากและรวดเร็ว

7. ผู้ส่งออกไทยส่วนใหญ่ขาดข้อมูลตลาดที่สำคัญ ช่องทางการจัดจำหน่าย และกฎระเบียบการนำเข้าของอินเดีย ทำให้การวางแผนการตลาดไม่ชัดเจนและมีความเสี่ยงสูง

8. สินค้าไทยไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับสินค้าที่ผลิตในอินเดีย หรือจากประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำเช่น จีน รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้าของไทยมีราคาสูง ทำให้ต้นทุนสินค้าไทยโดยรวมเพิ่มขึ้นและใช้เวลานานในการขนส่งทางเรือ ส่งผลให้อำนาจการแข่งขันในตลาดอินเดียลดลง

9. ผู้ค้าและนักลงทุนไทยขาดความไว้เนื้อเชื่อใจนักธุรกิจอินเดีย

สรุปปัญหาและอุปสรรคในการส่งออกไปอินเดียรายสินค้า

สินค้าเกษตร
ปัญหา/ อุปสรรค
  • มาตรการสุขอนามัยกำหนดให้ผักและผลไม้ที่นำเข้าต้องผ่านการประเมินความเสี่ยงศัตรูพืชที่ด่านกักกันโรคพืชโดยจะสุ่มตรวจสินค้า หากเป็นผักและผลไม้ที่อยู่นอกบัญชีรายชื่อก็จะถูกตรวจสอบทุกครั้งที่นำเข้า และล่าช้าซึ่งทำให้สินค้าเน่าเสีย
  • อัตราภาษีศุลกากรสูง รวมทั้งค่าระวางขนส่งสินค้าทางอากาศมีราคาสูงทำให้ราคาผลไม้ไทยมีราคาสูงขึ้น
  • ปัญหาเรื่องการขนส่งสินค้า เช่น ไม่มีท่าเรือที่สะดวกต่อการขนส่งไปยังปลายทาง รวมทั้งมีการตรวจสอบที่ล่าช้าที่ด่านศุลกากรก่อนปล่อยสินค้า
  • การขนส่งทางเรือจากไทยไปอินเดียใช้เวลานานประมาณ 20 วัน แต่จากอินเดียมาไทยใช้เวลาเพียง 9 วัน
  • อินเดียใช้มาตรการปกป้องกับผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่นำเข้าจากไทย
  • ชาวอินเดียส่วนใหญ่ไม่รู้จักผลไม้ไทย
  • ราคาสินค้าเกษตรไม่เป็นไปตามกลไกตลาด แต่ขึ้นอยู่กับผู้จำหน่ายรายใหญ่ในท้องถิ่นที่เป็นผู้นำตลาด และมีสัญญาซื้อขายโดยตรงกับเกษตรกร ทำให้สามารถขายตัดราคา หรือกำหนดราคาขายได้โดยรัฐไม่ได้เข้ามาควบคุม
อาหารแปรรูป
ปัญหา/ อุปสรรค
  • สินค้าภายในประเทศได้รับการปกป้องจากรัฐบาลอินเดียโดยมีอัตราภาษีสูงและระบบการเก็บภาษีค่อนข้างซับซ้อน
  • กำหนดขั้นตอนควบคุมการนำเข้าด้านสุขอนามัยสูง โดยต้องผ่านการตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานสินค้าก่อนวางจำหน่าย แม้ว่าคุณภาพอาหารของไทยจะไดัรับการรับรองจากผู้นำเข้าในประเทศยุโรปก็ตาม และขั้นตอนการตรวจสอบก็ล่าช้าใช้เวลา และมีค่าใช้จ่ายสูงโดยหน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบคือ Central Food Laboratory ให้ส่งสินค้ามาตรวจล่วงหน้าจึงเป็นภาระผู้ส่งออกและผู้นำเข้า
  • หน่วยงานตรวจสอบยังมีสาขาไม่ครบถ้วน ณ จุดนำเข้าหรือด่านศุลกากรต่าง ๆ ของอินเดีย และหากเป็นสินค้าจำพวกเนื้อสัตว์ต่าง ๆ ต้องผ่านการตรวจสอบจาก Department of Animal Husbandry and Dairying สังกัดกระทรวงเกษตร
  • ผู้ส่งออกไทยไม่มีความรู้เรื่องช่องทางการจำหน่ายในอินเดีย
เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิคส์
ปัญหา/ อุปสรรค
  • เป็นสินค้าที่ผู้บริโภคอินเดียมีความต้องการสูง แต่เนื่องจากอัตราภาษีนำเข้าและค่าธรรมเนียมอื่นๆ รวมแล้วสูงถึง 34 เปอร์เซ็นต์ ทำให้สินค้าในหมวดนี้มีราคาสูง จึงมีการลักลอบนำเข้า
  • มีคู่แข่งที่สำคัญคือประเทศจีน และเกาหลีใต้ แต่สินค้าจากประเทศไทยได้รับความนิยมมากกว่าเนื่องจากมั่นใจในด้านคุณภาพเพราะเป็นแบรนด์จากประเทศญี่ปุ่น
ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์
ปัญหา/ อุปสรรค
  • ยี่ห้อของรถในอินเดียยังไม่ค่อยตรงกับที่ผลิตในเมืองไทย และยังมีการกดดันจากสมาคมผู้ผลิตในอินเดียที่ไม่ต้องการให้มีการนำเข้ามาแข่งขันกับผู้ผลิตในประเทศ การเข้าสู่ตลาดอินเดียของสินค้าหมวดนี้ควรที่จะเข้ามาเปิดโรงงานผลิตในอินเดีย เนื่องจากมีต้นทุนต่ำกว่า
  • อัตราภาษีนำเข้าสูง อย่างไรก็ตามการใช้ประโยชน์จากข้อตกลง การค้าเสรี ในสินค้าบางรายการก็สามารถที่จะเข้ามาทำตลาดในอินเดียได้
  • มีการลอกเลียนแบบสินค้าอย่างแพร่หลายและรวดเร็ว จึงควรจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าก่อนที่จะวางขายในอินเดีย
เสื้อผ้าสำเร็จรูปและผ้าผืน
ปัญหา/ อุปสรรค
  • สินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่นำเข้ามาในประเทศอินเดียจะต้องไม่มีสารย้อมสีที่เป็นอันตราย เช่น AZO ปนเปื้อนอยู่ และจะต้องระบุไว้ในใบอนุญาตส่งออกสินค้าที่ผ่านการทดสอบสารปนเปื้อนและรับรองจากหน่วยงานกำกับดูแลของประเทศผู้ส่งออก
  • สินค้าของอินเดียมีต้นทุนที่ต่ำกว่าทำให้ขายได้ราคาถูก
  • อัตราภาษีศุลกากรสูง 34 เปอร์เซ็นต์
  • ควรเป็นการนำเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากประเทศไทยเข้ามาจำหน่าย เพราะได้รับความนิยมจากผู้บริโภคอินเดียในด้านรูปแบบและคุณภาพ
อัญมณีและเครื่องประดับ
ปัญหา/ อุปสรรค
  • อินเดียเป็นคู่แข่งสำคัญของไทย เนื่องจากเป็นแหล่งวัตถุดิบ และสามารถจัดหาวัตถุดิบได้ดีกว่าไทย ประกอบกับมีแรงงานที่ถูก
  • อัญมณีไทยได้รับการยอมรับในด้านการออกแบบที่ทันสมัย มีฝีมือที่ปราณีตกว่า และใช้วัสดุที่มีคุณภาพกว่า โดยเฉพาะทองคำที่มีมาตรฐานกว่าสินค้าของอินเดีย
เครื่องหนังและผลิตภัณฑ์/รองเท้า
ปัญหา/ อุปสรรค
  • อินเดียมีแหล่งวัตถุดิบมาก และแรงงานราคาถูก แต่สินค้าไทยเข้ามาแข่งขันได้เนื่องจากมีรูปแบบที่ทันสมัยกว่า
  • อัตราภาษีนำเข้า 34 เปอร์เซ็นต์ ควรเจาะตลาดกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อเพราะสินค้าในรูปแบบเดียวกันของอินเดียจะมีราคาต่ำกว่า แต่สินค้าของไทยจะได้รับการยอมรับในด้านความสวยงามและฝีมือการตัดเย็บที่ดีกว่า
8. ความสำคัญทางเศรษฐกิจกับประเทศไทย

8.3 การค้าไทยกับอินเดีย

ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา (2547-2551) มูลค่าการค้าไทยกับอินเดียขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี โดยมีมูลค่าเฉลี่ยปีละ3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือร้อยละ 1.1 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของไทย ปี 2551 อินเดียเป็นคู่ค้าอันดับที่15 ของไทย โดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้าเฉลี่ยปีละ 766 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ ภายหลังการเริ่มต้นลดภาษีสินค้าบางส่วนจำนวน 82 รายการ (Early Harvest Scheme) ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีไทย-อินเดียเมื่อปี 2547 ส่งผลให้ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าอินเดียเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา

8.3.1 การส่งออก ปี 2551 อินเดียเป็นตลาดส่งออกอันดับ 14 ของไทยโดยส่งออกสินค้ามูลค่า 3.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.8 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 25.6 กว่าร้อยละ 84 ของการส่งออกของไทยไปยังอินเดียเป็นการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม สินค้าส่งออกที่สำคัญ คือ เม็ดพลาสติกเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบอัญมณีและเครื่องประดับเครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบเคมีภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูป

8.3.2 การนำเข้า ปี 2551 อินเดียเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 18 ของไทยโดยนำเข้าสินค้ามูลค่า 2.6พันล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.5 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 27 ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สินค้าเชื้อเพลิง และสินค้าทุน โดยสินค้านำเข้าที่สำคัญ คือ เครื่องเพชรพลอยและอัญมณี สินแร่โลหะอื่นๆ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เคมีภัณฑ์ เหล็กและเหล็กกล้า เป็นต้น เครื่องยนต์แบบสันดาปภายใน เคมีภัณฑ์ น้ำมันสำเร็จรูป (น้ำมันหล่อลื่นและน้ำมันเบรก) เป็นต้น

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ