ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ (นายวีระศักดิ์ จินารัตน์) นำคณะบุกประเทศลาตินอเมริกา (บราซิล ชิลี และอาร์เจนตินา ) ระหว่างวันที่ 5 - 17 สิงหาคม 2552
ปัจจุบัน กลุ่มประเทศลาตินอเมริกา เช่น บราซิล ชิลี และอาร์เจนตินานับเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ เป็นแหล่งวัตถุดิบของประเทศไทย และได้รับผลกระทบจากวิกฤติทางเศรษฐกิจไม่มากนัก เนื่องจากรัฐบาลของประเทศเหล่านี้ได้เข้ามาช่วยเหลือธุรกิจระดับ SMEsโดยประกาศให้เงินอุดหนุนสินเชื่อเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกทางหนึ่ง
กระทรวงพาณิชย์ เล็งเห็นความสำคัญและได้กำหนดประเทศดังกล่าวไว้ในยุทธศาสตร์การขยายตลาดต่างประเทศไปยังตลาดใหม่ ซึ่งนอกจากจะเปิดสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศแห่งใหม่เพิ่มใน กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เยนติน่าในปีนี้นอกเหนือจากสำนักงานส่งเสริมการค้าที่ประเทศชิลี และบราซิล แล้ว กระทรวงพาณิชย์ยังมีแผนการเชิงรุกในการนำคณะผู้ประกอบการทั้งภาครัฐ และเอกชนเดินทางไปเปิดตลาดในกลุ่มประเทศเหล่านี้ และในเดือนสิงหาคม 2552 นายวีระศักดิ์ จินารัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ จะนำคณะผู้บริหารภาครัฐ และเอกชนเดินทางไปประเทศบราซิล ชิลี และอาร์เยนติน่า
ประเทศไทยมีการค้ากับประเทศบราซิลปีละกว่า 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยไปประเทศดังกล่าว ได้แก่ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ และส่วนประกอบ เครื่องยนต์ ด้าย และเส้นใยประดิษฐ์ ยางพารา ของใช้ในบ้าน และเม็ดพลาสติก เป็นต้น บราซิลเป็นตลาดนำเข้า ถั่วเหลือง และสินค้าที่สำคัญที่กราซิลส่งออกอีกชนิดหนึ่งก็คือ เครื่องบินเล็กขนาด 12-20 คน
มูลค่าการค้าระหว่างไทย-ชิลี ปี 2551 เท่ากับ 539.52 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยไปประเทศชิลี ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน รถยนต์ และส่วนประกอบ ปูนซีเมนต์ อาหารแปรรูป ผลิตภัณฑ์ยาง และเสื้อผ้าสำเร็จรูป นอกจากนี้ชิลียังเป็นแหล่งวัตถุดิบนำเข้าที่สำคัญของไทยคือ ปลาทูน่า ปลาแซลมอน ทองแดง เยื่อกระดาษ และเศษกระดาษเป็นต้น
มูลค่าการค้าระหว่างไทย-อาร์เจนตินา ปี 2551 เท่ากับ 971.51 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยไปประเทศ อาร์เจนติน่า ได้แก่ เครื่องจักรกล รถยนต์ และส่วนประกอบ เครื่องยนต์ เคมีภัณฑ์ และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป สำหรับเครื่องปรับอากาศเริ่มเป็นที่ต้องการมากขึ้นตามลำดับ อาร์เยนติน่านับเป็นแหล่งวัตถุดิบหนังสัตว์ที่สำคัญของไทยในอนาคต นอกเหนือจากเนื้อสัตว์จากอาร์เยนติน่าที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก
การเดินทางของคณะในครั้งนี้ นอกจากจะแสวงหาลู่ทางการเพิ่มการค้าระหว่างกันแล้ว ยังจะสำรวจแหล่งวัตถุดิบ รวมทั้งช่องทางการกระจายสินค้าของไทย โดยคณะจะได้พบกับสภาหอการค้า และสมาชิกที่เป็นภาคเอกชน ผู้บริหารกลุ่มกิจการซุปเปอร์มาร์เก็ต กลุ่มผู้นำเข้าสินค้ารายใหญ่ เช่น อาหาร อะหลั่ยยานยนต์ ยางพารา และอัญมณี และในวันพุธที่ 12 สิงหาคม 2552 คณะจะได้เข้าพบกับ รมช.พณ.อาร์เจนตินา เพื่อหารือในรายละเอียดการค้าร่วมกันเพื่อปูทางให้ภาคเอกชนเข้ามาติดต่อกันให้มากขึ้นในอนาคต
ที่มา: http://www.depthai.go.th