สถานการณ์ส่งออกสินค้าไทยไปอิตาลี ประจำเดือนมิถุนายน 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 10, 2009 11:25 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. สถานการณ์ส่งออก

ในช่วง 6 เดือนแรก(ม.ค. — มิ.ย.)ของปี 2552 ไทยส่งออกสินค้ามายังอิตาลีทั้งสิ้น 647.1 ล้านเหรียญสหรัฐลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งส่งออกมูลค่า 1,103.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ -41.38 โดยมีสินค้าส่งออก 5 อันดับแรกได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ 92.5 ล้านเหรียญสหรัฐ(-18.71%) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ 55.0 ล้านเหรียญสหรัฐ(-65.26%) ปลาหมึกสดแช่เย็นแช่แข็ง 49.9 ล้านเหรียญสหรัฐ (-11.49%) และผลิตภัณฑ์ยาง 26.3 ล้านเหรียญสหรัฐ(-18.68%)

2. สาเหตุที่การส่งออกลดลง

เหตุผลการส่งออกอิตาลีในช่วง 6 เดือนแรก(ม.ค.-มิ.ย.) ของปี 2552 ลดลงถึงร้อยละ -41.38 เนื่องจาก

2.1. ภาวะวิกฤตเศรษฐกิจอิตาลีเพิ่งเริ่มที่๗ธเห็นการฟื้นตัวโดยสมาพันธ์ผู้บริโภค (Confcommercio) รายงานว่าภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยมากที่สุดในไตรมาสที่2 ของปี 2552 ได้ผ่านพ้นไปแล้วและเริ่มเห็นเค้าลางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจแล้ว อย่างไรก็ดีสิ่งที่ยังน่าเป็นห่วงที่สุดคือความเสี่ยงที่จะเกิดการว่างงานในช่วงฤดูใบไม้ร่วงคือตั้งแต่เดือนก.ย. — ต.ค. เป็นต้นไป ทั้งนี้ ณ เดือน มิ.ย.52 อัตราส่วนของครอบครัวอิตาเลี่ยนที่ยังคงไม่เชื่อมั่นในภาวะเศรษฐกิจว่าจะกระเตื้องขึ้น คิดเป็นร้อยละ 56.8 % (เพิ่มขึ้นจากเดือนม.ค. ซึ่งเท่ากับ 52.4 %) และสัดส่วนของครอบครัวที่มีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจดีขึ้นแล้วคิดเป็นร้อยละ 32.7 (เพิ่นขึ้นจากเดือนม.ค.52 ซึ่งเท่ากับ 30.2 %) ทำให้ประชาชนอิตาเลี่ยน46.2 % เห็นว่าจะออมเงินมากขึ้นและร้อยละ 25.8 จะบริโภคลดลงแนวโน้มสินค้าที่จะมีการบิโภคลดลงได้แก่ การเดินทางท่องเที่ยว ภัตตาคาร รถยนต์ เสื้อผ้า และรองเท้า ส่วนแนวโน้มสินค้าที่การบริโภคคงที่ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า สิ่งบันเทิง และสุขภาพความงาม

2.2. สถานะของผู้ประกอบการของอิตาลีในขณะนี้ต้องประสบปัญหาการรับชำระเงินจากลูกค้าที่ล่าช้าในขณะที่ต้องจ่ายเงินสดล่วงหน้าสำหรับค่าวัตถุดิบเพื่อให้สามารถดำเนินการผลิตได้ การขาดสภาพคล่องและการที่ยังไม่สามารถเข้าถึงเงินเชื่อจากระบบธนาคารพาณิชย์ได้อย่างเต็มที่ ประกอบกับช่วงก.ค.-ส.ค. จะเป็นช่วงพักร้อนยาวของคนอิตาเลี่ยน ทำให้ผู้ประกอบการอิตาลีส่วนใหญ่รอดูสถานการณ์ในช่วง ก.ย. — ต.ค. ค่อนข้างที่จะมีการสั่งซื้อสินค้ารอบใหม่ ทั้งนี้ สามารถวิเคราะห์สาเหตุการนำเข้าที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญแยกรายสินค้าได้ ดังนี้

2.2.1. เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ

การส่งออกในช่วง 6 เดือนแรก (ม.ค.-มิ.ย.) ของปี 52 มีมูลค่า 55 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งส่งออกมูลค่า 158.3 ล้านเหรียญสหรัฐคิดเป็นร้อยละ 65.26 เหตุผลเนื่องจาก

(1) ความต้องการบริโภคในประเทศลดลงเนื่องจากครอบครัวคนอิตาเลี่ยนส่วนใหญ่ได้ซื้อสินค้าในปีก่อนหน้าแล้ว ประกอบกับในช่วงภาวะวิกฤตเศรษฐกิจหากเป็นสินค้าที่คงทนประชาชนจะชะลอการซื้อและตัดสินใจซื้อสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพก่อน ทั้งนี้ หากดูการนำเข้าจากทั่วโลกในช่วง ม.ค. — เม.ย. 52 ปรากฏว่าอิตาลีนำเข้าลดลงจากแทบทุกประเทศโดยลดลงถึงร้อยละ 60.16

(2) เป็นสินค้าที่รัฐบาลอิตาลีไม่ได้ออกมาตรการช่วยเหลือเช่นเดียวกับสินค้าอื่นเช่นอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ได้รับมาตรการช่วยเหลือด้านการเงินเพื่อกระตุ้นความต้องการซื้อของผู้บริโภค

(3) เป็นสินค้าที่มีการแข่งขันสูงมากโดยเฉพาะในเรื่องของราคา โดยราคาเฉลี่ยของแอร์ชนิด split type ของอิตาลีจะอยู่ระหว่าง 350 — 400 ยูโร ขณะที่ราคาของจีนจะอยู่ที่ประมาณ 200 ยูโร และราคาของไทยจะอยู่ที่ประมาณเกือบ 400 ยูโรซึ่งใกล้เคียงกับราคาของอิตาลี แม้ว่าผู้นำเข้าอิตาลีจะยอมรับว่าสินค้าไทยมีคุณภาพดีแต่ราคาก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญ ทั้งนี้ ความต้องการของแอร์คอนดิชั่นในอิตาลีขณะนี้ ปรากฏว่าชนิดเคลื่อนย้าย (Portable)ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก (-30%) ในขณะที่ชนิด split type ลดลงน้อยว่า (-18%) โดยความต้องการในตลาดทางใต้ของอิตาลีจะมีมากกว่าทางตอนเหนือและสินค้าที่มีคุณภาพตั้งแต่ปานกลาง — สูงสุดจะมีแนวโน้มความต้องการดีกว่า

(4) ไทยครองตลาดเป็นอันดับที่ 3 (สัดส่วนตลาด 9.92%) รองจากจีน (34.63%) เบลเยี่ยม(11.08%) ไต้หวัน(0.23%) โดยมีประเทศที่อิตาลีนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญคือ ออสเตรีย (+100.86%)สวิสเซอร์แลนด์ (+73.45%) โรมาเนีย (+8,546.81%)

2.2.2. รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ

การส่งออกในช่วง 6 เดือนแรก (ม.ค.-มิ.ย.) ของปี 52 มีมูลค่า 24.3 ล้านเหรียญสหรัฐลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งส่งออกมูลค่า 49.1 ล้านเหรียญสหรัฐคิดเป็นร้อยละ 50.63 เนื่องจาก

(1) เป็นสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจมากที่สุดจนทำให้รัฐบาลอิตาลีต้องออกมาตรการช่วยเหลือทางด้านการเงินให้แก่ผู้ซื้อรถใหม่ ซึ่งมาตรการดังกล่าวไม่ได้ ครอบคลุมถึงรถยนต์ที่ใช้สำหรับการพาณิชย์ด้วย อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการกลุ่มสินค้าดังกล่าวได้ออกมาร้องขอให้รัฐบาลอิตาลีมีมาตรการช่วยเหลือทางด้านการเงินด้วยเช่นกันซึ่งยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐบาล

(2) ผู้บริโภคที่จำเป็นต้องซื้อรถใหม่จะหันไปซื้อรถมือสองแทน เนื่องจากต้องการประหยัดเงินอันเนื่องมาจากความไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจว่าจะดีขึ้น

(3) อย่างไรก็ดี ตลาดรถยนต์ในอิตาลีเริ่มมีสัญญานที่ดีขึ้นบ้างแล้ว โดยยอดรถใหม่ที่จดทะเบียนในเดือน มิ.ย. 52 เท่ากับ 209,315 คัน (+12.4%) เมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย. 51 ซึ่งนับว่าเป็นช่วงที่ดีที่สุดนับตั้งแต่ 17 เดือนที่ผ่านมาและ ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 52 มียอดรถใหม่ที่จดทะเบียนแล้วทั้งสิ้น 1,128,361 คันลดลงร้อยละ 10.67 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและคาดว่าทั้งปี 2552 จะมียอดซื้อรถใหม่ทั้งสิ้น 2 ล้านคันลดลงร้อยละ 7.4 เมื่อเทียบกับปี 51

(4) แนวโน้มตลาดอิตาลีจะนิยมรถแบบ Hybrid fuel มีน้ำหนักเบา, ปลอดภัย, ประหยัดไม่ก่อมลภาวะที่เป็นพิษ เช่น รถที่ใช้แก๊ส LPG ก๊าซมีเธนหรือดีเซลเป็นต้น รวมทั้งเป็นรถที่มีองค์ประกอบที่เหมาะสมทั้งด้านเครื่องยนต์และส่วนประกอบที่เป็นอิเลคโทรนิคชั้นสูง

(5) ประเทศผู้นำเข้าในตลาดอิตาลี 5 อันดับแรก ได้แก่ เยอรมัน (สัดส่วนตลาด 38.48%)ฝรั่งเศส (11.20%) โปแลนด์ (10.30%) สเปน (9.14%) และญี่ปุ่น (4.99%) โดยไทยครองตลาดเป็นอันดับที่ 23 (0.28%) ทั้งนี้ในภาพรวมในช่วง 4 เดือนแรกของปี 52 อิตาลีนำเข้าลดลงจากทั่วโลก ยกเว้นอินเดีย (อันดับที่ 13 สัดส่วนตลาด 1.38%) และโรมาเนีย (อันดับที่ 16 สัดส่วนตลาด 0.84%) ทั้งนี้ อาจเป็นผลจากการที่บริษัทเฟี๊ยตของอิตาลีได้ร่วมลงทุนกับบริษัทตาร์ตาร์ของอินเดีย เปิดโรงงานผลิตรถปิ๊กอัพและรถที่ใช้ในอุตสาหกรรมขึ้นที่อินเดียนั่นเอง

(6) สิ่งที่ผู้ผลิตรถยนต์และส่วนประกอบของไทยต้องคำนึงถึงคือการพยายามหันมาผลิตรถยนต์ประเภท Eco- Sustainable และรถที่ใช้ไฟฟ้าที่มีขนาดเล็กและขนาดกลาง (ชนิด City Car) และในราคาต้นทุนที่ไม่แพง เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะตลาดในปัจจุบัน

2.2.3. เคมีภัณฑ์ /เม็ดพลาสติก

เคมีภัณฑ์การส่งออกในช่วง 6 เดือนแรก (ม.ค.-มิ.ย.) ของปี 52 มีมูลค่า 23.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งส่งออกมูลค่า 54.6 ล้านเหรียญสหรัฐคิดเป็นร้อยละ -57.79เม็ดพลาสติก การส่งออกในช่วง 6 เดือนแรก (ม.ค.-มิ.ย.) ของปี 52 มีมูลค่า 9.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งส่งออกมูลค่า 26.6 ล้านเหรียญสหรัฐคิดเป็นร้อยละ -65.15 โดยมีเหตุผลดังนี้

(1) เป็นสินค้าที่ใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจค่อนข้างมากได้แก่ อุตสาหกรรมก่อสร้าง (สีทาบ้าน กาวและผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการก่อสร้าง) อุตสาหกรรมรถยนต์(ชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่ทำจากพลาสติก) เครื่องไฟฟ้าและอุตสาหกรรมสิ่งทอ

(2) ผู้ประกอบการของอิตาลีขาดสภาพคล่องและเข้าถึงสินเชื่อได้ยาก ผู้ซื้อชะลอการสั่งซื้อใหม่และปัญหาการล่าช้าในการชำระเงิน รวมทั้งผลกระทบจากการปรับปรุงระเบียบสารเคมี REACH ที่ยัง ไม่มีความชัดเจนในทางปฏิบัติของอิตาลีเอง

(3) คาดว่าในปี 2552 การผลิตเคมีภัณฑ์ในอิตาลีจะลดลง - 15% ซึ่งเป็นผลจากการลดลงอย่างมากในช่วงครึ่งแรกของปี 52 และคาดว่าจะฟื้นตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 52 อันเนื่องมาจากตลาดส่งออกหลักของอิตาลีคือประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปที่ปรับตัวดีขึ้นนั่นเอง

ทั้งนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจไม่มากได้แก่อุตสาหกรรมการเกษตร ยาและเครื่องสำอางค์ และบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหาร

(4) ประเทศผู้เข้าในตลาดอิตาลี 5 อันดับแรก ได้แก่ เยอรมัน (สัดส่วนตลาด 27%) ฝรั่งเศส(16.18%) เนเธอร์แลนด์ (10.06%) เบลเยี่ยม (6.83%) และสหราชอาณาจักร (6.56%) โดยไทยครองตลาดอันดับที่ 25 (สัดส่วน 0.21%)ประเทศคู่แข่งสำคัญได้แก่ ญี่ปุ่น (สัดส่วน 3.57%) จีน (1.42%) อินเดีย (0.87%)อินโดนีเซีย (0.61%) ไต้หวัน(0.23%)

2.2.4. ยางพารา

การส่งออกยางพาราในช่วง 6 เดือนแรก (ม.ค.-มิ.ย.) ของปี 52 มีมูลค่า 19.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีมูลค่า 80.8 ล้านเหรียญสหรัฐคิดเป็นร้อยละ-75.54 เหตุผลเนื่องจาก

(1) อุตสาหกรรมที่ใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจค่อนข้างมากได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องจักรและการก่อสร้าง ซึ่งตลาดของกลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้ยังคงทรงตัว มีเพียงอุตสาหกรรมยานยนต์เท่านั้นที่เริ่มเห็นการฟื้นตัวได้ในมิ.ย. 52 จึงทำให้ความต้องการในตลาดลดลง

(2) คาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 52 ความต้องการในภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องได้แก่ผลิตภัณฑ์ยาและถุงมือยางที่ใช้ในทางการแพทย์จะเพิ่มสูงขึ้นอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009 ซึ่งอาจส่งผลให้ความต้องการนำเข้ายางพาราเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

(3) ประเทศผู้นำเข้าในอิตาลี 5 อันดับแรกคือ เยอรมัน (สัดส่วนตลาด 17.97%) ฝรั่งเศส (13.43%) จีน (5.13%) เบลเยี่ยม (4.94%) และสเปน (4.90%) โดยไทยครองตลาดอันดับที่ 10 (สัดส่วนตลาด 3.17%) แต่หากพิจารณารายละเอียดสินค้าจะเห็นได้ว่าอิตาลีนำเข้ายางพาราธรรมชาติ (พิกัด 4001) จากไทยเป็นอันดับ 1 (สัดส่วน 31.0%) โดยมีคู่แข่งสำคัญได้แก่ อินโดนีเซีย (สัดส่วน 14.78%) มาเลเซีย (9.40%) เวียดนาม(7.06%) และ อินเดีย(1.60%)

2.2.5. ข้าว

การส่งออกมายังอิตาลีในช่วง 6 เดือนแรก (ม.ค.-มิ.ย.) ของปี 52 มีมูลค่า 12.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีมูลค่า 23.4 ล้านเหรียญสหรัฐคิดเป็นร้อยละ-48.32 เนื่องจาก

(1) ปริมาณสินค้าคงเหลือในสต๊อกของผู้นำเข้ายังคงมีมากอันเนื่องมาจากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นในช่วงก่อนหน้า(+39.5% ในเดือนเม.ย. 52 และ +19.38% ในเดือนพ.ค. 52) ทำให้ผู้นำเข้าชะลอการสั่งซื้อไปจนกว่าจะถึงเดือน ก.ย. 52

(2) อิตาลีได้เพิ่มพื้นที่ในการเพาะปลูกข้าวมากขึ้นจากเดิมในปี 2551 ที่มีพื้นที่ปลูกข้าว224,000 เฮคตาร์เป็น 240,000 เฮคตาร์ ในปี 2552 อันเนื่องมาจากผลผลิตข้าวโพดและธัญพืชที่ลดลง ทำให้ผลผลิตข้าวของอิตาลีเพิ่มขึ้นและราคาข้าวลดลงส่งผลให้ความต้องการนำเข้าข้าวลดลงตามไปด้วย

(3) ราคาข้าวที่สูงขึ้นตั้งแต่เดือนมี.ค. 52 เป็นต้นมาซึ่งสูงกว่าราคาพาสต้า ทำให้คนอิตาเลี่ยนหันมาบริโภคพาสต้ามากขึ้น (ตั้งแต่ต.ค. 51 ราคาข้าวเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ในขณะที่ราคาพาสต้าลดลง)

ทั้งนี้ ราคาข้าวเฉลี่ยในตลาดอิตาลีมีดังนี้ ข้าวอิตาเลี่ยนจะอยู่ระหว่าง 3-3.93 ยูโรต่อ 1 กิโลกรัม ข้าวไทยราคาอยู่ระหว่าง 2.35 ยูโร(ขนาด 500 กรัม) 2.80 ยูโร (ขนาด 1 กิโลกรัม) และ 7.5 ยูโร(ขนาด 3 กิโลกรัม ) ข้าวอินเดีย 3.9 ยูโร (ขนาด 1 กิโลกรัม)

(4) ประเทศผู้นำเข้าในตลาดอิตาลี 5 อันดับแรกได้แก่ ไทย (สัดส่วน 20.87 %) อินเดีย(17.78%) กรีซ (9.83%) ฝรั่งเศส (8.73%) และโรมมาเนีย(8.00%) ประเทศคู่แข่งสำคัญได้แก่ ปากีสถาน (7.5%)เวียดนาม(5.59%) บังคลาเทศ (2.63%)

3. ข้อคิดเห็น

3.1. แม้ว่ารัฐบาลอิตาลีจะได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตั้งแต่ปลายปี 51 เป็นต้นมาและเมื่อ 26 มิถุนายน 2552 ก็ได้ให้ความเห็นชอบกฤษฎีกาฉุกเฉิน (emergency decree ) ในการกระตุ้นเศรษฐกิจและกำลังซื้อให้แก่ภาคประชาชนและธุรกิจของอิตาลีอีกระลอกหนึ่ง เพื่อช่วยให้ภาวะเศรษฐกิจอิตาลีสามารถฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 52 ซึ่งมาตรการดังกล่าวเริ่มส่งผลให้เห็นเค้าลางของการฟื้นตัวในเดือน มิ.ย. 52 ก็ตามแต่ในภาพรวมตลาดอิตาลีก็ยังคงทรงตัว เนื่องจากได้รับผลกระทบการภาวะเศรษฐกิจหนักที่สุดตั้งแต่เคยประสบมา ทั้งนี้ สภาเศรษฐกิจและแรงงานแห่งชาติ (National Council on the Economy and Labour —CNEL ) ได้รายงานว่าภายในปี52 คาดว่าจะมีจำนวนคนว่างงานเพิ่มขึ้นระหว่าง 270,000 — 460,000 คน โดยอัตราการว่างงานจะอยู่ระหว่าง 7.9 -8.6% เมื่อเทียบกับปี 51 และเห็นว่าจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องดำเนินมาตรการช่วยเหลือโดยการเพิ่มเงินค่าจ้างและค่าชดเชย รับประกันการจ่ายเงินชดเชยให้แก่ผู้ตกงาน โดยให้ครอบคลุมถึงคนงานอิตาเลี่ยนและแรงงานต่างชาติให้มากขึ้นและคล่องตัวขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปีตามที่คาดการณ์ไว้

3.2. ในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน รัฐบาลอิตาลีโดย หน่วยงานต่างๆ เช่นสมาคมเกษตรกรแห่งอิตาลี(Farmers Association Coldiretti) ได้จัดกิจกรรมเพื่อชักชวนประชาชนอิตาเลี่ยนให้ซื้อสินค้าที่ผลิตโดยอิตาลี “Made In Italy” ให้มากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้านม ชีส เนื้อวัวและเนื้อหมูเนื่องจากอิตาลีมีการนำเข้าจากต่างประเทศค่อนข้างมาก เช่นสินค้านม ซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งของสินค้าที่วางขายในซุปเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ เป็นนมที่ผลิตในเยอรมัน สาธารณรัฐเช็ค โปแลนด์และลิทัวเนียร์ในขณะที่บางสินค้าเช่น น้ำมะเขือเทศเป็นการนำเข้ามาจากจีนและนำมาติดฉลากว่าเป็นสินค้าที่ผลิตในอิตาลีซึ่งเป็นการหลอกลวงผู้บริโภค ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรในอิตาลีได้เตรียมที่จะออกกฎหมาย (decree) ในสัปดาห์หน้าเกี่ยวกับการติดฉลากสินค้าที่ต้องมีข้อมูลแหล่งกำเนิดให้ขัดเจนเพื่อให้ผู้บริโภคทราบและตัดสินใจซื้อสินค้าได้อย่างถูกต้อง

3.3. แม้ว่า ภาวะเศรษฐกิจอิตาลีในเดือนมิถุนายน 52 ได้เริ่มปรากฏเค้าลางของการฟื้นตัวดีขึ้นแล้วก็ตามแต่จากนโยบายทั้งภาครัฐและเอกชนที่พยายามกระตุ้นและชักชวนให้ประชาชนอิตาลีหันมานิยมซื้อสินค้า “Made In Italy” ให้มากขึ้นทำให้ผู้ประกอบการไทยคงต้องตระหนักในการผลิตสินค้าที่จะสามารถจูงใจให้ผู้ซื้อ ตัดสินใจซื้อสินค้านำเข้าแทนการซื้อสินค้า “Made In Italy” ซึ่งราคาเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญนอกเหนือจากการรักษาคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐานและข้อกำหนดของสหภาพยุโรปเพื่อให้สามารถแข่งขันให้ได้ ไม่เฉพาะสินค้านำเข้าจากประเทศคู่แข่งเช่น จีน เท่านั้น แต่รวมถึงสินค้าที่ผลิตในอิตาลีเองด้วย

3.4. สินค้าที่ยังคงมีศักยภาพในตลาดอิตาลีได้แก่ สินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องเช่นเสื้อผ้า อุปกรณ์ตกแต่งและของเล่น อาหารและสินค้าที่อิตาลีนำเข้าเพื่อผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูป (finished products) และส่งออก เช่น จิวเวลรี่ เป็นต้น

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโรม

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ