ประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและภาวะสินค้าในตลาดอิตาลีระหว่างวันที่ 16-31 กรกฎาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 10, 2009 12:27 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. สถานการณ์ทั่วไป

ภาวะเศรษฐกิจในช่วงสัปดาห์หลังของเดือนกรกฎาคม เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น จากรายงานของ ISTAT แจ้งว่าการค้าในตลาดนอก EU ของอิตาลีในเดือน มิ.ย. 52 เริ่มเป็นบวกถึง 155 ล้านยูโร เป็นผลมาจากมูลค่าการนำเข้าที่ลดลงถึง 29.6%

2. ผลการศึกษาวิจัยของสถาบันศึกษาและวิเคราะห์เศรษฐกิจแห่งอิตาลี (ISAE) ได้รายงานสรุปได้ดังนี้

2.1 ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจของอิตาลีได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วและจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นเรื่อยๆ หลังจากการหยุดพักร้อน(ก.ค.-ส.ค.) เป็นต้นไป โดย GDP จะเริ่มเป็นบวกได้ในปี 2553

2.2 คาดว่าในปี 2552 GDP ของอิตาลีจะลดลง -5.3 % และดีขึ้นเป็น + 0.2% ในปี 2553 ในขณะที่การลงทุนจะลดลง -11.2 % ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนก.ค. 52 เริ่มสูงขึ้นจาก 105.4 จุด ในเดือน มิ.ย. 52 เป็น107.5 ซึ่งถือได้ว่าสูงสุดตั้งแต่พ.ย. 50 เป็นต้นมา ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นต่อภาพรวมเศรษฐกิจได้เริ่มขยับสูงขึ้นจาก 81.1 จุดเป็น 85.4 จุดและดัชนีความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมในเดือน ก.ค. 52 ได้เพิ่มสูงขึ้นจาก 69.8 จุดในเดือน มิ.ย. 52 เป็น 71.7 จุด

2.3 การวิเคราะห์แนวโน้มการบริโภคปรากฏว่าภาวะเงินเฟ้อได้ลดลง เนื่องจากเป็นช่วงของการลดราคาสินค้าในช่วงฤดูร้อน (Summer Sale) ทั่วทั้งประเทศนั่นเองโดยพบว่าในเขตตอนเหนือของอิตาลีภาวะเงินฟ้อจะลดลงน้อยกว่า

นอกจากนี้ คนอิตาเลียนจะมาซื้อสินค้าโดยเฉพาะสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่นอาหารในลักษณะการแพ็ค (Packed) มากขึ้น ในขณะเดียวกันก็จะลดการบริโภคสินค้าที่ไม่จำเป็น เช่น สินค้าประเภทไม่ใช่อาหาร (Non — food) ลงโดยผู้บริโภค 1 ใน 4 จะซื้อสินค้าที่ลดราคาและมีโปรโมชั่นตามห้าง Hyper และ Supermarket ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตลาดของสินค้าที่มีตราของห้าง เองได้เพิ่มขึ้นถึง 15 %

3. ในด้านช่องทางการจำหน่ายสินค้าลดราคามียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้น +7.4 % ในขณะที่ยอดขายใน Supermarket ลดลง — 0.8% ในร้านค้าท้องถิ่นลดลง -1.9% และร้านขายสินค้าเฉพาะอย่าง (Specialized Stores) ลดลง— 3.6%

4. Mr.Pietro Clucci ,CEO ของบริษัท Stretto di Messina SPA ซึ่งเป็นผู้รับเหมาดำเนินการก่อสร้างสะพาน Messina เพื่อเชื่อมระหว่างเกาะซิซีลีและแผ่นดินใหญ่กล่าวว่า คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในต้นปี 2553 และเสร็จสิ้นภายในปี 2559 โครงการดังกล่าวเป็นหนึ่งในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเบอลุสโคนี มูลค่า 6,000 ล้านยูโร ซึ่งรัฐบาลคาดว่าจะสามารถช่วยการจ้างงานในประเทศและสร้างภาพพจน์ของอิตาลีในขณะเดียวกันก็จะช่วยให้เกาะซิซีลีใกล้ชิดกับแผ่นดินใหญ่มากขึ้นทั้งในด้านกายภาพ สังคมจิตวิทยาและจะช่วยในการเดินทางแทนการใช้เรือเฟอร์รี่ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ลักษณะเป็นสะพานแขวนความยาว 3,690 เมตร ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นสะพานแขวนที่ยาวที่สุดในโลก สามารถรองรับรถยนต์ได้ชั่วโมงละ 4,500 คันและรองรับรถไฟได้ 200 ขบวนต่อวัน

5. Standard & Poor ซึ่งเป็นหน่วยงานจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ได้รายงานว่าบริษัทได้ติดตามผลการดำเนินการของบริษัทเฟี๊ยตของอิตาลีโดยเฉพาะหนี้สินระยะยาวและได้จัดอันดับความน่าเชื่อถือของเฟี๊ยตเป็น BB+และ negative credit ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่กลุ่มบริษัท เฟี๊ยต ได้ประกาศที่จะออกพันธบัตรเงินกู้อายุ 3 ปี ในตลาดหุ้นไอริช ซึ่งยังไม่ได้มีการกำหนดวงเงินที่แน่นอน แต่คาดว่าจะมีมูลค่าสูงกว่า 500 ล้านยูโร ทั้งนี้ S&P แจ้งว่าเหตุผลที่บริษัทเห็นว่าเฟี๊ยต มีความเสี่ยงในด้านเครดิตและอาจไม่สามารถชำระหนี้ที่ครบกำหนดได้เนื่องจาก เฟี๊ยตได้ทำข้อตกลงที่ค่อนข้างผูกมัดกับบริษัทไครซ์เลอร์ ของสหรัฐเมื่อต้นปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ผู้บริหารของเฟี๊ยตได้ออกมารายงานผลการดำเนินการในไตรมาสที่ 2 ของปี 52 ว่าหนี้สินอุตสาหกรรมในเดือน มิ.ย. 52 จะลดลงจากไตรมาสที่ 1 ของปี 52 ที่เท่ากับ 6.6 พันล้านยูโรเป็น 5.7 พันล้านยูโรและสภาพคล่องได้เพิ่มขึ้นจาก 5.1 พันล้านยูโรเป็น 6.4 พันล้านยูโร นอกจากนี้จากรายงานผลการดำเนินงานของบริษัท ณ เมืองตูริน ซึ่งเป็นฐานการผลิตแจ้งว่ายอดการขาดทุนในไตรมาส 2 เท่ากับ 168 ล้านยูโร เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีผลกำไรถึง 604 ล้านยูโร อย่างไรก็ดี บริษัทยังคงยืนยันว่าผลการดำเนินการในปี 52 จะสามารถทำรายได้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้คือ 1,000 ล้านยูโร และหนี้สินอุตสาหกรรมจะต่ำกว่า 5,000 ล้านยูโร

6. หอการค้ามิลาน (The Milan Chamber of Commerce) ได้รายงานว่า ในขณะที่หลายๆกลุ่มอุตสาหกรรมของอิตาลีต้องประสบผลกระทบจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจที่ถดถอยค่อนข้างมาก แต่ปรากฏว่าธุรกิจไอศครีมกลับมีอัตราการขยายตัวค่อนข้างดี โดยในไตรมาสแรกของปี 52 จำนวนผู้ประกอบการร้านไอศครีมเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 10

และร้านไอศครีมตาม Out Let ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ บริษัทผู้ผลิตและผู้จำหน่ายไอศกรีมส่วนใหญ่(16%) จะอยู่ทางตอนเหนือ แคว้นลอมบาร์ดี แคว้นเอมีเลียโรมันญ่า และเวเนโต้ และร้อยละ 19 เป็นร้านไอศครีมตาม Out Let

7. รัฐมนตรีต่างประเทศของอิตาลี(Mr.Franco Fratlini) กล่าวว่าอิตาลีเตรียมที่จะลงนามข้อตกลงร่วมเป็นพันธมิตรกับประเทศเซเนกัลและเซียร่าเลโอน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและปกป้องผลประโยชน์ในการลงทุนระหว่างกันรวมทั้งการร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาเช่น ข้อขัดแย้งหรือเส้นทางการค้ายาเสพติด เป็นต้น ความตกลงดังกล่าวเป็นผลจากการที่รัฐบาลอิตาลีต้องการริเริ่มและแลกเปลี่ยนทางการค้ากับกลุ่ม Sub- Saharan โดยร่วมมือกันในรูปแบบหุ้นส่วนทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง

8. ตลาดสินค้าของเด็กเล่น

8.1 กระทรวงพัฒนาเศรษฐกิจของอิตาลี (Economic Development ministry) ได้ทำข้อตกลงกับสมาคมผู้ผลิตสินค้าของเด็กเล่น (Italian Toys Association —ASSOGIOCATTOLI) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะยกระดับตลาดสินค้าของเด็กเล่นให้ครอบคลุมสินค้าปลอมและไม่ปลอดภัย โดยรัฐบาลจะให้ความช่วยเหลือทางการเงินผ่านหน่วยงานICE (Italian Foreign Trade Institute) และร้อยละ 50 ของกิจกรรมจะช่วยสนับสนุนในด้านการส่งออก(ในปี 2551 มีมูลค่า 550 ล้านยูโร)

8.2 อิตาลีเป็นตลาดสินค้าของเด็กเล่นที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ในสหภาพ ยุโรปโดยร้อยละ 27 เป็นของเด็กเล่นและเกมส์สำหรับอายุ 0-3 ปี ร้อยละ 61 สำหรับอายุ 4 — 11 ปี และ 12 % สำหรับอายุ 12 ปี ขึ้นไป

8.3 ชนิดสินค้าของเล่นเด็กที่เป็นที่นิยมในตลาดอิตาลี ได้แก่ ตุ๊กตา (Dolls) ของเด็กเล่นที่ใช้นอกบ้าน (Out Door Toys) เครื่องเล่นเกมส์ (Electronic game ) ของเด็กเล่นสำหรับทารกและวัยก่อนเข้าเรียนของเด็กเล่นสำหรับการเรียนรู้และของเด็กเล่นชนิดประกอบเอง เป็นต้น

8.4 ไทยครองตลาดเป็นอันดับที่ 19(สัดส่วน 0.44 %) ตามด้วย ฮ่องกง ไต้หวันและอินโดนีเซีย

9. ตลาดสินค้าเสื้อผ้าเด็ก

9.1 อุตสาหกรรมเสื้อผ้าเด็กของอิตาลีเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจไม่มากนัก อันเนื่องมาจากการใช้แหล่งผลิตในต่างประเทศซึ่งช่วยให้สินค้ามีราคาถูกและมีคุณภาพ

9.2 การบริโภคในประเทศลดน้อยลง(0.2%) เนื่องจากครอบครัวชาวอิตาเลี่ยนชะลอการซื้อเสื้อผ้าเด็กใหม่และหันไปใช้วิธีการแลกเปลี่ยนหรือใช้เสื้อผ้าเด็กที่ได้จากเพื่อนฝูงและญาติมิตรที่ไม่ได้ใช้แล้วแทน รวมทั้งการซื้อเสื้อผ้ามือสองด้วย

9.3 ตลาดเสื้อผ้าเด็กของอิตาลีในขณะนี้จะแบ่งเป็น 2 ตลาดคือ ตลาดระดับสูงและตลาดระดับต่ำ (ก่อนหน้าภาวะวิกฤตเศรษฐกิจมีตลาดระดับกลางด้วย) โดยตลาดระดับสูงเป็นสินค้า Made in Italy และขายในร้านขายสินค้าเฉพาะอย่าง (specialized store) และร้านขายสินค้าฟุ่มเฟือย (Luxury shops) ส่วนตลาดระดับต่ำจะเป็นสินค้าที่ไม่ใช่แบรนด์และบางสินค้านำเข้าโดยผู้จัดหน่ายรายใหญ่ซึ่งต้องเป็นสินค้าที่มีการดีไซน์ที่ดี มีคุณภาพและราคาจูงใจโดยส่วนใหญ่นำเข้าจากจีน (34-45%) อินเดีย เวียดนาม อินโดนีเซีย ศรีลังกาและบังกลาเทศ โดยมีราคาขายอยู่ระหว่าง 5-30 ยูโร (สำหรับเสื้อผ้าเด็กสวมใส่เล่น,เสื้อผ้ากีฬาและชุดนอนอายุไม่เกิน 14 ปี)

9.4 สมาคมผู้ผลิตเสื้อผ้าเด็กของอิตาลีได้เสนอให้รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ โดยการขอยกเว้นภาษีซื้อ (VAT )

9.5 โอกาสของสินค้าไทยในตลาดอิตาลียังคงมีอยู่แม้ว่าจะมีคู่แข่งสำคัญเช่น จีน เวียดนามและอินเดีย ก็ตามเนื่องจากสินค้าไทยเป็นที่ยอมรับจากผู้บริโภคชาวอิตาเลี่ยนทั้งในด้านดีไซน์และคุณภาพสินค้ามากกว่า แต่จะต้องมีราคาที่สามารถแข่งขันได้ คือไม่สูงกว่า 40-50 ยูโร ประเด็นสำคัญที่ผู้ส่งออกไทยต้องคำนึงถึงอีกประการหนึ่งคือการส่งมอบสินค้าที่ตรงเวลา เนื่องจากเป็นสินค้าแฟชั่นและมีฤดูกาล นอกจากนี้ผู้ส่งออกไทยควรยืดหยุ่นในด้านปริมาณการสั่งซื้อในแต่ละครั้งเนื่องจากที่ผ่านมาผู้ส่งออกไทยจะรับคำสั่งซื้อสินค้าในแต่ละครั้งไม่น้อยกว่า 2,000 — 3,000 ชิ้น ในขณะที่ผู้ประกอบการอิตาลีจะต้องการสั่งซื้อครั้งละ 200- 500 ชิ้นเท่านั้น

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโรม

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ