การนำเข้าและตลาดไก่สดและไก่แปรรูปในญี่ปุ่น

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 24, 2009 13:53 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ญี่ปุ่นเป็นตลาดส่งออกไก่สำคัญตลาดหนึ่งของไทย เพราะปริมาณอาหารที่ผลิตในประเทศมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 40 ของปริมาณแคลอรี่ที่ต้องการบริโภค และไก่ ก็เป็นอาหารประเภทโปรตีน ที่ญี่ปุ่นผลิตได้ไม่พอกับความต้องการบริโภค นอกจากนี้ ไก่ ยังเป็นอาหารที่มีแคลอรี่ต่ำ มีราคาถูก สามารถนำไปปรุงอาหารได้หลากหลายชนิด ความนิยมบริโภคจึงสูงขึ้นโดยเฉพาะในช่วงเทศกาลพักผ่อน กิจกรรมสังสันในกลุ่มเพื่อน ยิ่งในช่วงเศรษฐกิจถดถอย ผู้บริโภคใช้จ่ายอย่างประหยัด ไก่ จึงเป้นอาหารทางเลือกที่ตลาดต้องการมากขึ้น

ในปี 2551 ญี่ปุ่นนำเข้าไก่ เพื่อการบริโภค จำนวนมากถึง 736,825 ตัน มูลค่า 2,631.94 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในจำนวนนี้เป้นการนำเข้าไก่สด แช่เย็น และแช่แข็ง จำนวน 426,097 ตัน มูลค่า 1,306.81 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และเป็นไก่แปรรูปจำนวน 310,746 ตัน มูลค่า 1,325.13 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ความต้องการของตลาด

ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และไก่แปรรูป ที่ญี่ปุ่นนำเข้า แม้ว่าจะมีการใช้ทดแทนกันบ้าง แต่โดยทั่วไปต่างก็มีตลาดเฉพาะของแต่ละชนิด กล่าวคือ ไก่แปรรูป มุ่ง supply ไปยังกลุ่มภัตตาคาร อุตสาหกรรมอาหารและ Catering รวมถึงการขายปลีกอาหารสำเร็จรูป ส่วนไก่สด แม้จะมีลูกค้ากลุ่มเดียวกัน แต่การขายส่วนใหญ่จะมุ่งไปยังการจำหน่ายปลีกในซูเปอร์มาร์เก็ตสำหรับการบริโภคของครัวเรือน การใช้ในภัตตาคารและกลุ่ม Chain restaurant เป็นต้น

ประเทศไทย เคยครองส่วนแบ่งตลาดไก่ และไก่แปรรูปในสัดส่วนสูง แต่การส่งออกต้องได้รับผลกระทบ เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดนก ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรปห้ามนำเข้า การส่งออกในรูปไก่สดจึงหยุดชะงัก และไม่มีการส่งออกไปญี่ปุ่นนับแต่นั้นมา ไทยจึงต้องสูญเสียตลาดให้แก่ไก่สดจากบราซิล แม้ว่า ผู้ผลิตและส่งออกไทยได้หันมาส่งออกไก่แปรรูปซึ่งมีมูลค่าต่อหน่วยเพิ่มสูงขึ้น และปริมาณมูลค่าส่งออกจากไทยไปญี่ปุ่นก็สูงขึ้นอย่างมาก แต่ก็ยังไม่สามารถทดแทนตลาดที่สูญเสียไป ด้วยเพราะตลาดไก่สด และไก่แปรรูปไม่สามารถทดแทนกันได้เต็มที่

ปัจจุบัน ญี่ปุ่น ยังไม่อนุญาตให้นำเข้าไก่สดจากไทย เพราะยังเป็นมีการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกทำให้ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากบราซิล เป็นสัดส่วนสูงกว่า 90 %ของการนำเข้าไก่สดทั้งหมด

ระหว่างมกราคม-พฤษภาคม 2552 ญี่ปุ่นนำเข้าไก่และผลิตภัณฑ์ ดังนี้

  • ไก่แปรรูป(HS: 1602.32) นำเข้ารวม 120,379 ตัน เพิ่มขึ้น 0.2 % มูลค่า 556.625 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพิ่มขึ้น 23.7 % เทียบกับระยะเดียวกันของปี 2551

ประเทศไทยเป็นแหล่งนำเข้าไก่แปรรูปรายใหญ่ที่สุด จำนวน 70,860 ตัน มูลค่า 343.111 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปริมาณนำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้น 43.3% และมูลค่าเพิ่มขึ้น 13.7 % ในขณะที่การนำเข้าจากแหล่งผลิตอื่นๆ ได้แก่ จีน บราซิล เกาหลีและสหรัฐฯ ลดลงเมื่อพิจารณาจากฐานปริมาณ หรือมูลค่า ทั้งนี้ ไทยมีส่วนแบ่งตลาดไก่แปรรูปในญี่ปุ่นที่ 58.8 % ของปริมาณ และ 61.6 % ของมูลค่า

  • ไก่สด แช่เย็น และแช่แข็ง (HS: 0207.11; .12; .13; .14) จำนวน 136,450 ตันเพิ่มขึ้น 7% มูลค่า 402.681 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 9.7 % มีบราซิล สหรัฐฯ ฟิลิปปินส์ อาร์เจนตินา ฝรั่งเศส เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ ตามลำดับ โดยไม่มีการนำเข้าจากไทยตั้งแต่ปี 2551
แนวโน้มตลาด

การที่ญี่ปุ่นต้องนำเข้าอาหารหลากชนิดจากต่างประเทศเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 60 ของจำนวนแคลอรี่จึง มีความตื่นตัวสูงในเรื่องความปลอดภัยของสารอาหารและสุขภาพ ข่าวการพบสารพิษและสารตกค้างในอาหารที่นำเข้าได้สร้างความตื่นตัวและระมัดระวังในหลุ่มผู้ซื้อสินค้า รัฐบาลญี่ปุ่นเองก็ตระหนักถึงความเสี่ยงจากความจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าและหันมาเร่งรัดวิจัย หาทางเพิ่มผลผลิตในประเทศ

รัฐบาลประกาศนโยบาย food safety และใช้เป็นจุดขายในการบุกขยายตลาด การเร่งรัดแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของไข้หวัดนก รวมถึงปัญหาคุณภาพอาหารและอาหารแปรรูปชนิดอื่นๆ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการส่งออกของไทย

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ