แฟนพันธุ์แท้หนังอินเดีย

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 24, 2009 17:10 —กรมส่งเสริมการส่งออก

รัก โกรธ เกลียด กลัว เศร้า เคล้าน้ำตา แอกชั่น ตลกขบขัน ผสมกันเหมือนแกงฮังเล อารมณ์ต่างๆ พรั่งพรูมารวมกันเหมือนน้ำป่าไหลหลากปรับเปลี่ยนแปรผันอย่างรวดเร็วในเสี้ยววินาที ทันใดนั้นฟ้าก็ร้องอย่างเกรี้ยวกราดอย่างบ้าคลั่งปานจะถล่มทลายแล้วเปลี่ยนเป็นฝนปรอยๆ สร้างอารณ์โรแมนติกให้กับคู่รักได้ซึ้งกันอย่างฉับพลันทันใด ณ บัดเดี่ยวนั้น คู่รักก็เริ่มขับขานบทเพลงรัก 10 เพลงรวด พร้อมการร่ายรำที่เร่าร้อนโดยมีทีมหางเครื่องที่โผล่มาจากซอกมุมไหนก็ไม่รู้อย่างน่าอัศจรรย์ และโดยไม่มีปี่มีขลุ่ยคู่รักก็ต้องพลัดพรากจากกันสุดขอบฟ้า โศกาอาดูร วิปโยคโศกเศร้า น้ำตาท่วมจอ ก่อนที่ทั้งคู่จะได้มาพบกันอีกในภายหลัง ก่อนที่ไฟจะเปิดสว่างขึ้นพร้อมภาพบนจอจะขึ้นป้ายว่า “พักครึ่งเวลา” เพื่อคุณได้ไปจ่ายตังค์ค่าขนมและน้ำอัดลมให้กับเจ้าของโรงหนังอีก แล้วจึงกลับมาสนุกกับภาพยนต์ต่อ โดยคุณจะได้หฤหรรษ์กับบทเพลงมาราทอนอีกไม่ต่ำกว่า 10 เพลง กระบวนการสร้างความแปรปรวนทางอารมณ์บันเทิงให้กับคุณนี้ใช้เวลาถึง 3 ชั่วโมงเต็ม ในราคาเพียง 30 รูป นี่ละเสน่ห์ของหนังอินเดีย! คุ้มค่าไหมล่ะ ถ้าคุณไม่ดูก็เชิญตามอัธยาศัย แต่อย่าได้ลองเชียว เดี๋ยวจะติดใจโดยไม่รู้ตัว ขอบอก

ไม่ว่าคุณจะชอบหรือคิดว่าน้ำเน่าก็ตาม แต่เชื่อไหมว่าโบลิวูดนั้น อยู่ยงคงกระพันอย่างเข้มแข็งมากว่า 96 ปีแล้ว โดยผลิตภาพยนต์ได้อย่างไม่น่าเชื่อถึง 200 เรื่องต่อปี มูลค่าของอุตสาหกรรมภาพยนต์อินเดียมีสูงถึง 3,060 ล้านเหรียญสหรัฐ การผลิตภาพยนต์กระจุกอยู่ที่ 3 เมืองหลัก คือ มุมไบเป็นเมืองภาพยนต์อันดับ 1 ของอินเดีย เรียก โบลิวูด รองลงมาคือไฮเดอราบัด เรียก โตลีวูด และสุดท้ายคือ เจนไน เรียกว่าโกลิวูด ทั้งนี้ภาพยนต์ส่งออกส่วนใหญ่จะเป็นภาพยนต์จากโบลิวูด

ชื่อนั้นสำคัญไฉน

ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าโบลิวูดได้รับแรงบันดาลใจจากฮอลิวู๊ด โดย “บ-ใบไม้” นั้นก็มาจาก “บ-บอมเบย์” (ปัจจุบันคือมุมไบ) นั่นเอง แม้ว่าเมืองบอมเบย์จะเปลี่ยนชื่อเป็นมุมไบแล้ว แต่ผู้สร้างหนังอินเดียก็ยังยืนกรานอย่างหนักแน่นว่าจะไม่เปลี่ยนชื่อเป็นโมลิวูดเด็ดขาด (อาจเป็นเพราะฟังดูคล้ายมูลิเน็ก)

ส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้ของโบลิวูดคือ เพลง เพลง และเพลง ซึ่งหนังจะทำเงินหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับว่าเพลงในหนังจะโดนใจคนดูคนฟังหรือไม่ อีกทั้ง ถ้าหนังประสบความสำเร็จ ผู้สร้างก็จะมีกำไรจากการทำซีดีเพลงขายร่ำรวยจากตลาด 1 พันล้านคนอีกต่อหนึ่ง ทั้งนี้รายได้จากลิขสิทธิเพลงคิดเป็น 6% ของรายได้จากภาพยนต์แต่ละเรื่อง ในอีกด้านหนึ่งธุรกิจเพลงดังจากภาพยนต์ก็มีมูลค่าถึงร้อยละ 48% ของธุรกิจเพลงเลยทีเดียว ซึ่งสิ่งนี้ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ภาพยนต์จากต่างประเทศไม่สามารถเจาะตลาดนี้ได้ง่ายๆ ภาพยนต์เพลงของอินเดียมีสเน่ห์เฉพาะตัว แม้แต่นายบาซ ลูแมน ผู้กำกับภาพยนต์เพลงเรื่องมูแลงรูต ก็ออกมายอมรับว่า เขาได้รับแรงบันดาลใจจากภาพยนต์เพลงของอินเดีย พูดง่ายๆ ก็คือเลียนแบบหนังอินเดียนั่นเอง นอกจากนั้น ภาพยนต์ Slumdog Millionaire ซึ่งเพลงประกอบภาพยนต์ก็แต่งโดยศิลปินอินเดียนาม เอ อาร์ ราห์มัน ซึ่งได้รับรางวัลออสการ์ไปเมื่อเร็วๆ นี้ แถมท้ายด้วยนักร้องเพลงประกอบภาพยนต์อย่างลาธา มังเกซการ์และโมฮัมมัด ราฟีก็มีชื่อปรากฎในกินเนสบุคว่า ร้องเพลงมากถึง 5 หมื่นเพลงในภาพยนต์กว่าพันเรื่อง

ในหนังโบลิวูดมักจะมีการร่ายรำควบคู่กับการ้องเพลงเสมอ เหมือนส้มตำจะขาดข้าวเหนียวไม่ได้ ดาราส่วนใหญ่จะไม่ร้องเพลงเอง เคยมีกองถ่ายหนังอินเดียมาถ่ายหนังบ้านเราหน้าห้างเซ็นทรัลเวิล์ด เวลาเขาจะถ่ายจะใช้วิธีเปิดเทปแล้วให้พระเอก-นางเอกร้องรำขยับปากตามเพลงที่นักร้องอาชีพบันทึกเสียงไว้แล้ว ต้องยอมรับว่าดาราเขาใจถึง เต้นกันสุดเหวี่ยงริมถนนกันเลย เป็นที่สนุกสนานของทั้งดารา และไทยมุงทั้งหลาย ดาราทุกคนเป็นเท้าไฟกันทั้งนั้น ท่าเต้นไม่ว่าจะเป็นแบบราชาสถาน ทมิฬ ชาๆๆ แทงโก เบรกด้าน มูนวอร์ก หรือแม้แต่แรปก็เต้นได้ทั้งนั้น ทั้งนี้คนอินเดียส่วนใหญ่ก็ชอบเต้นรำไม่เบาเช่นกัน จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่ามีฟูลมูนปาร์ตี้ที่ไหนจะเห็นคนอินเดียร่วมแจมอย่างสนุกสนานด้วยเสมอ

และเช่นเดียวกับฮอลิวูด ในบอลิวูดเราจะพบเห็นหนุ่ม-สาว สวยๆ หล่อๆ เดินกันให้ขวักไขวอวดโฉมกันเพื่อรอเวลาให้แมวมองคว้าตัวไปทดสอบหน้ากล้อง ใครโชคดีก็ถือว่าถูกหวยรางวัลที่ 1 ร้อยงวด (ความจริงน่าจะมากกว่านั้น) เพราะดาราดังของอินเดียมีรายได้ไม่ด้อยกว่าดาราฮอลิวูดเลย ครอบครัวดาราบางครอบครัวเล่นหนังกันทั้งตระกูล สืบเชื้อสายซุปเปอร์สตาร์กันอย่างต่อเนื่อง อย่างเช่น ดาวรุ่งพุ่งแรงชื่อ คารีนา กุมาร รันบีร์ กุมาร (ทายาท ราช กุมาร) และอภิเษก บัจจัน (ลูกของอามิตา บัจจัน) เป็นต้น

ตุ๊กตาทองอินเดีย

มีการจัดงานแจกรางวัลตุ๊กตาทองกันทุกปี งานระดับชาติมี 2 งาน คือ The National Film Awards ซึ่งประธานาธิบดีจะให้เกียรติเป็นผู้มอบรางวัล งานที่สอง คือ Filmfare Awads จัดโดยบริษัทวารสารภาพยนต์ชื่อ Filmfare ทั้งสองรางวัลดังพอๆ กัน และเริ่มแจกในปี 2497เหมือนกัน นอกจากนั้นก็ยังมีสถาบันอื่นๆ ก็แจกตุ๊กตาทองด้วย ในชื่อรางวัลต่างๆ เช่น Star Screen awards, Stardust Awards ,IIFA awards, Bollywood Movie Award และ Global Indian Film เป็นต้น

แฟนคลับ

ดาราอินเดียมีแฟนคลับของตนเองมากมายไม่น้อยหน้าดาราฮอลิวูดเลย แต่ที่เหนือกว่าฮอลิวูดก็คือ ดาราบอลิวูดได้รับการเทิดทูนบูชาราวกับเทพเจ้าเล็กๆ แฟนๆ จะพยายามทุกอย่างเพื่อให้ได้เข้าถึงตัวดาราคนโปรดของเขา ชอบสะสมรูปดาราเป็นอัลบัม และบางคนถึงกับตีตั๋วดูหนังที่ดาราที่ตนชอบเล่น ให้ได้มากรอบที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อให้หนังเรื่องนั้นประสบความสำเร็จรายได้ทะลุเป้า

100 ปีโบลีวูด

อายุของโบลิวูดเกือบจะครบ 100 ปีแล้ว ผ่านร้อนผ่านหนาวมายาวนาน หนังเรื่องแรกสร้างขึ้นในปี 2456 ซึ่งในตอนนั้นยังเป็นหนังเงียบอยู่ชื่อเรื่องราชาฮาริษจันทร์ (Raja Harishchandra) สร้างจากชีวิตจริงของพระราชาฮาริษจันทร์ จากนั้น โบลิวูดได้วิวัฒนาการมาเป็นลำดับก้าวขึ้นระดับโลกอย่างไม่น้อยหน้าฮอลิวูด โดยผ่านยุคต่างๆ ดังนี้

1. ยุคแรกแย้ม (ทศวรรษ 30,40 และ 50) หนังยุคแรกๆ ก็สร้างแบบง่ายๆ โดยนำเอานิยาย หรือมหากาพย์ที่ทุกคนรู้จักกันดีมาสร้างเป็นหนัง โดยทั่วไปมีลักษณะการเดินเรื่องแบบละครมากกว่าจะเป็นภาพยนต์ อย่างเช่น รามเกียรติ มหาภารตะ และมีหนังประเภทสะทอนสังคมที่ยากลำเค็ญในยุคนั้นให้เห็นกันประปราย

  • ภาพยนต์ยอดนิยม 1. อัชยุต กันยา (Achyut Kanya-นางจัณฑาล) 2. อาอะวารา (Aawara-คนจรจัด)
  • ดารายอดนิยม ได้แก่ ราช กุมาร,เดฟ อนันต์,ดิลิป กุมาร,นาร์กีส,มีนา กุมารี,นูตัน,มาธูบาลา

2. ยุคก้าวหน้า (ทศวรรษ 60) ช่วงรอยต่อระหว่างทศวรรษ 50 กับ 60 มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญสองด้านเกิดขึ้นพร้อมกันเพื่อให้ผู้ชมได้ลิ้มลองสิ่งใหม่ๆซึ่งได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว ในด้านหนึ่ง หนังประเภทมาซารา (Masara film- มาซาลาหมายถึงเครื่องเทศ ในที่นี้หมายถึงหนังที่มีครบเครื่องทุกรสไม่ว่าจะเป็น รัก ร้อง เต้น บู้) เป็นที่นิยมอย่างสูง ขณะที่อีกด้านหนึ่งผู้สร้างก็เน้นคุณภาพให้มีความเป็นภาพยนต์มากกว่าละครเช่นยุคก่อน

  • ภาพยนต์ยอดนิยม 1. ดูบีกาซามีน (Do Bigha Zameen-ที่ดินสองเอเคอร์) 2. โจรปล้นเพชร (Jewel Thief)
  • ดารายอดนิยม ได้แก่ เดฟ อนันต์, สัตยจิต เรย์,ริตวิค กาตัก,บิมาล รอย

3. ยุคดรามา (ทศวรรษ 70) เป็นยุคของหนังประเภทตื่นเต้น เร้าใจ ดุเดือดเลือดพล่าน ประเภทมาเฟีย อันพาลครองเมือง ฟ้าทลายโจร ซึ่งมาพร้อมกับระบบเสียงในฟิล์มที่ช่วยสร้างความเร้าใจมากยิ่งขึ้น

  • ภาพยนต์ยอดนิยม 1. โชเล่ 2. อนันต์
  • ดารายอดนิยม ได้แก่ อมิตา บัจจัน (มิตร ชัยบัญชาแห่งอินเดีย), ดาเมนดรา, ราเชษ คานา,เฮมา มาลินี,สันชีฟ กาปูร์, อัมจัด ข่าน

4. ยุคเคว้งคว้าง (ทศวรรษ 80) เป็นยุคตกต่ำสุดขีดของบอลิวูด เป็นยุคที่หนังอินเดียได้รับอิทธิพลดิสโกเข้าไปเต็มๆ พระเอก-นางเอกแต่งกายเลียนแบบหนังของจอห์น ทราโวตากันเป็นทิวแถว

  • ภาพยนต์ยอดนิยม 1. ดิสโกแดนเซอร์,มิสเตอร์อินเดีย,ฮีโร่
  • ดารายอดนิยม ได้แก่ มิตุน จักราบอร์ตี, แจกกี้ สรอฟ, อานิล กาปู,ศรีเดวี

5. ยุคบรรเจิด (ทศวรรษ 90) เป็นยุคที่โบลิวูดกลับมากลับมาเฟื่องฟูอลังการไปทั่วโลกเป็นครั้งแรก

  • ภาพยนต์ยอดนิยม 1. Maine Pyar Kiya (ตกหลุมรักเข้าเสียแล้ว)2. Hum Aapke Hain Kaun (ฉันคือใครสำหรับเธอ)- 3.Diwale Dulhania Le Jayenge (รักแท้กล้าๆ หน่อย)
  • ดารายอดนิยม ได้แก่ อามี ข่าน,ชารุก ข่าน (พระเอกเรื่องพระเจ้าอโศกมหาราช),ซาลมาน ข่าน,มธุรี ดิขษิท,จุไฮ ชวาลา,กาโจล

6. ยุคมัลติเพล็ก (สหัสวรรษใหม่)- มีการนำเอาเทคนิคใหม่ๆ มาใช้มากมาย เช่น แอนิเมชั่น SF ประกอบกับมีผู้กำกับฝีมือดีเกิดขึ้นมากมาย การเขียนบท เนื้อหา การเดินเรื่อง การถ่ายทำ ล้วนได้รับการยกเครื่องใหม่หมด เพื่อตอบรับกับกระแสการตอบรับของตลาดโลกที่มาแรงมาก ประกอบกับเกิดเศรษฐีใหม่จำนวนมากในหัวเมืองหลักอย่าง กรุงนิวเดลี มุมไบ เจนไน บังกะลอร์ ไฮเดอราบัด โกลกัตตาพากันไปอุดหนุนโรงหนังมัลติเพล็กกันอย่างคับคั่ง ส่งผลมให้โบลิวูดมีรายได้ไปพัฒนาวงการภาพยนต์ได้อย่างเต็มที่

  • ภาพยนต์ยอดนิยม 1.คุชคุชโฮตาไฮ (มีบางอย่างเกิดขึ้น) 2. กาบีกูษีกาบีกัม (บางครั้งสุขบางครั้งเศร้า) 3.โมฮับบาทีน (ตำนานรัก) 4. ลากาน-ได้รับการเสนอชื่อสำหรับรางวัลออสการ์ 5. กาโฮนา ปียาร์ไฮ (นี่แหละรัก) 6. รังดีบาซันตี (ฉันนี้สีส้ม) 7.โจธา อัคบา
  • ดารายอดนิยม ได้แก่ อามีร์ ข่าน, ชารุก ข่าน,หริติก โรษาน,ซาลมาน ข่าน, อภิเษก บัจจัน,คารีนา คาปูร์, ปรียังกา โชปรา, ปรีติ ซินตา, ไอษวารียา ไร ฯลฯ
โบลิวูดกับภาพยนต์ไทย

ใช่ว่าตลาดอินเดียจะไม่เปิดให้กับหนังจากต่างประเทศเสียทีเดียว ภาพยนต์ไทยหลายเรื่องประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลาย เช่น ก้านกล้วย องค์บาก และต้มยำกุ้ง ต่างได้รับการยอมรับอย่างล้นหลามจากผู้ชมชาวอินเดีย ภาพยนต์ไทยมีเสนห์คล้ายกับภาพยนต์อินเดียคือมีครบทุกรสชาติเช่นเดียวกัน ในเรื่ององค์บากและต้มยำกุ้ง แม้จะขาดบทเพลงและการร่ายรำ แต่บทบู้แนวแอกชั่น ก็สามารถชนะใจคนดู มีผู้ชมแน่นขนัดทุกรอบไป ทุกวันนี้ โทนี่ จาของเราโด่งดังในอินเดียเทียบชั้นได้กับ แจ็กกี้ ชานไปแล้ว สำหรับก้านกล้วยนั้น โดนใจคนอินเดียเต็มๆ ครอบครัวอินเดียเป็นครอบครัวขยาย ภาพยนต์ที่ทุกคนในครอบครัวสามารถดูได้อย่างสนุกสนานร่วมกันได้จึงประสบความสำเร็จได้โดยง่าย ดังนั้น ผู้สร้างหนังไทยที่สนใจจะเจาะตลาดผู้บริโภค 1 พันกว่าล้านคนเช่นอินเดีย คงจะต้องใช้ ภาพยนต์ดังกล่าวข้างต้นเป็นแนวทาง นอกจากนั้น ควรมี even marketing เสริมแรงเข้าไปด้วย เช่น การสาธิตมวยไทย การแสดงรำไทย และศิลปวัฒนธรรมไทย เพื่อสร้างกระแสไทยแลนด์ฟีเวอร์ควบคู่ไปด้วย นอกจากจะทำให้หนังไทยขายดีแล้ว ยังจะทำให้สินค้าและบริการที่เกี่ยวเนื่องก็จะได้รับอานิสงค์ขายดีตามไปด้วย ได้แก่ การท่องเที่ยว ค่ายมวยไทย การบินไทย สปาไทย โอทอป สินค้าศิลปาชีพ และผ้าไหมไทย เป็นต้น และสำหรับผู้ที่สนใจตลาดอินเดียก็ควรจะหันมาดูหนังอินเดียกันมากๆ เพื่อจะสามารถเข้าใจวัฒนธรรมการบริโภคของคนอินเดียให้มากขึ้น

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเจนไน

โดย ไพศาล มะระพฤกษ์วรรณ

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ