เศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มฟื้นตัว

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 25, 2009 11:12 —กรมส่งเสริมการส่งออก

รัฐสภาญี่ปุ่นรายงานเศรษฐกิจญี่ปุ่นในช่วงไตรมาสที่สอง(เมษายน-มิถุนายน) ปี 2552 ว่า มีสัญญาณปรากฎชัดเจนว่าเศรษฐกิจได้เลยผ่านจุดต่ำสุดและปรับตัวดีขึ้นแล้ว โดยไตรมาสนี้ GDP มีค่าบวก 0.9 % หรือมีอัตราขยายเมื่อคำนวนทั้งปีที่ 3.7 % (เทียบกับไตรมาสแรกที่หดตัวถึง 3.1% จากไตรมาสสุดท้ายของปี 2551) เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ของปี 2551 ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกไปจีน และตลาดในเอเชีย ที่กระเตื้องขึ้น External Demand (คำนวนจาก การส่งออก ลบ การนำเข้า) โดยรวมขยายเพิ่ม 1.6 % มาตรการกระตุ้นของรัฐบาล ทำให้การบริโภคของครัวเรือนสูงขึ้น 0.8% (เทียบกับที่เคยลดต่ำลง 1.2 % ในไตรมาสแรก) เนื่องจากนโยบายจูงใจของรัฐบาล เช่น Tax break และการอุดหนุนเพื่อการซื้อสินค้าที่ลดมลภาวะ และประหยัดพลังงาน เช่น eco-car; energy saving home appliances และ eco-point

สถาบันวิจัยเอกชน 28 สถาบัน ประเมินว่า GDP ของประเทศ ทั้งปีจะยังหดตัว 3% ในปีงบประมาณ 2552 (เมษายน 2552-มีนาคม 2553) และจะเป็นค่าบวก +1% ในปีงบประมาณ 2553 (เม.ย 53-มีค. 54) แต่ยังเชื่อว่าการฟื้นตัวยังไม่เต็มที่นักในปีหน้า การบริโภคของประชาชนซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง 55 % ของ GDP ของประเทศ และการลงทุนยังอยู่ระดับต่ำ ตัวช่วยยังเป็นเรื่องการส่งออกไปยังตลาดจีน และประเทศกำลังพัฒนาการลงทุนของครัวเรือนลดลง -9.2% ขณะที่การส่งออกเพิ่มขึ้น 9.1 % แต่การนำเข้ายังคงลด 2.6 % การว่างงานอยู่ในระดับสูง 5.4 % ในเดือนมิถุนายน 2552 และอาจเพิ่มเป็น 6.0 %

ปัจจัยด้านลบที่อาจจะส่งผลต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาสสุดท้ายและต้นปีหน้า เช่น ความแปรปรวนของอากาศ ทำให้ผลผลิตเกษตรลดต่ำลงกว่าที่ควรจะเป็น ตลาดเสื้อผ้าหน้าร้อนซบเซา ผู้บริโภคยังขาดความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจ คาดว่า GDP ในไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปี 2552 อาจจะขยาย 2.1 % และ 1.8 %ตามลำดับ ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงต่อการขยายตัวเศรษฐกิจ ที่ยังต้องเผชิญ ได้แก่ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ยังไม่ฟื้นตัว อัตราการว่างงานที่อยู่ระดับสูง ราคาสินค้าที่มีแนวโน้มลดต่ำลงเพื่อจูงใจให้ซื้อ และความไม่แน่ใจของผู้บริโภคต่ออนาคตทางเศรษฐกิจและการเมือง

ด้านการค้าไทย-ญี่ปุ่นในช่วง 6 เดือนแรกปีนี้(มค.มิย. 2552) ญี่ปุ่นส่งออกมายังไทยมูลค่า 8,508.68 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 40.83 % เทียบกับ 6 เดือนแรกปี 2551 โดยส่งออกสินค้าหลักๆ ที่ญี่ปุ่นส่งออกมายังไทย 30 รายการแรก ซึ่งเป็นกลุ่มส่วนประกอบเครื่องจักร และเครื่องจักรไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์เคมี มีมูลค่าลดลงทุกรายการ ขณะที่ไทยส่งออกสินค้าไปญี่ปุ่นมูลค่า 7,223.55 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 29.31 % โดยสินค้าส่วนใหญ่ที่ส่งออกไปญี่ปุ่นมีมูลค่าลดลง เช่น ยางพารา เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ รถยนต์และจักรยานยนต์ อุปกรณ์สำหรับเครื่องจักร แผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น สินค้าส่งออกของไทยที่ยังคงเพิ่มขึ้น เช่น เนื้อสัตว์ปรุงแต่งอาหารทะเลแปรรูป อาหารสัตว์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องสำอางและน้ำหอม

ในช่วงเศรษฐกิจถดถอย มีการปรับตัวในกลุ่มผู้ค้า และพฤติกรรมการบริโภคของชาวญี่ปุ่น ที่สำคัญ เช่น ผู้บริโภคใช้จ่ายอย่างประหยัด ชลอการซื้อสินค้าราคาแพง ลดการทานข้าวนอกบ้าน แต่หันไปปรุงอาหารทานในครัวเรือนและจัด home party ผู้ซื้อยอมรับตลาดสินค้ามือสอง และสินค้าราคาถูก โดยยินยอมลดมาตรฐานคุณภาพลง ธุรกิจให้เช่าสินค้าแบรนด์เป็นธุรกิจใหม่ที่มีอนาคตสดใส ผู้ผลิตและผู้ขายตัดทอนและลดต้นทุน แต่ยังเน้นและใช้การให้ความมั่นใจเรื่องคุณภาพเป็นจุดขายสำคัญ นำไปสู่การแข่งขันของสินค้า House brand ของร้านค้าปลีกที่ขยายชนิดและประเภทสินค้าจากของใช้ในครัวเรือนไปสู่อาหาร และสินค้าอุปโภค-บริโภคอื่นๆ

การขยายตลาดสินค้าไทยในช่วงเศรษฐกิจถดถอย ผู้ผลิต จำเป็นต้องทำการบ้านและทำงานหนักขึ้นเช่น ต้องศึกษาตลาดเพื่อเรียนรู้แรงจูงใจ รสนิยมและแฟชั่น สินค้าต้องมีความแปลกใหม่ สามารถใช้งานได้จริงและเป็นประโยชน์ในการลดภาระในชีวิตประจำวัน สินค้าที่เกี่ยวกับสุขภาพ การตั้งราคาต้องเหมาะสมเพื่อให้สามารถแข่งขันได้

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ