จากรายงานสถานการณ์ข้าว Non-basmati ในยูเออีเมื่อต้นปี 2552 มีราคาลดลงร้อยละ 35 เนื่องจากรัฐบาลอินเดียปรับราคาขั้นต่ำข้าวลง และมีแนวโน้มราคาข้าวจะดิ่งลดลงอีก
ราคาข้าวบัสมาติคุณภาพดีลดต่ำลงประมาณ 700 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน หรือมีราคาตันละ 1,300 เหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากราคา 2,000 เหรียญสหรัฐฯ
สำหรับข้าว Non-basm ati ราคาอยู่ที่ตันละ 580 เหรียญสหรัฐฯลดลงจากที่ราคา 900 เหรียญสหรัฐต่อตันเนื่องจากตลาดผู้บริโภคในประเทศและผู้ค้าปลีกต้องการข้าวคุณภาพราคาถูกโดยการผสมข้าวบัสมาติคุณภาพดีกับข้าวบัสมาติคุณภาพต่ำกว่าเพื่อจำหน่ายในตลาดที่ขณะนี้ซบเซาจากผลกระทบวิกฤตทางการเงิน จึงทำให้พฤติกรรมการบริโภคของผู้บริโภคและร้านอาหารหันมาใช้ข้าวราคาถูก
เมื่อปี 2550 รัฐบาลอินเดียได้ระงับการส่งออกและปรับลงราคาขั้นต่ำของข้าวบัสมาติไว้ที่ตันละ 1,200 เหรียญสหรัฐฯ ต่อมาในเดือนเมษายน 2551 ได้ออกมาตรการระงับการส่งออกข้าว Non-basmati มาอีกระลอก เพื่อตรึงราคาข้าวในตลาดประเทศอินเดียให้มีราคาถูก และป้องกันไม่ให้ข้าวในประเทศขาดตลาด ดังนั้นผู้นำเข้าในยูเออีจึงหันมานำเข้าข้าวจากไทยทดแทนข้าวอินเดีย ซึ่งในปี 2551 จึงถือเป็นปีทองของการส่งออกข้าวไทยไปยังยูเออี
ผู้ค้าข้าวรายใหญ่ของดูไบคาดว่าราคาข้าวบัสมาติในปี 2552 จะลดต่ำลงไปอีกเพราะรัฐบาลอินเดียมีแผนการให้การสนับสนุน (subsidize) ผู้ประกอบการเพื่อการส่งออกจำนวน 200 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ทำให้ราคาส่งออกอยู่ในเกณฑ์ที่0ต่ำกว่าหรือสามารถแข่งขันกับข้าวบัสมาติจากปากีสถานได้
ข้าวบัสมาติของปากีสถานในตลาดยูเออีส่วนใหญ่เป็นข้าวผสมคุณภาพดีกับข้าวคุณภาพรองเพื่อทำราคาข้าวให้ลดลงเหมาะสำหรับสถานการณ์ตลาดที่ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่ายในปัจจุบัน อีกทั้งค่าเงินรูปีของปากีสถานอ่อนค่าลงกว่าร้อยละ 45 ในขณะที่เงินรูปีของอินเดียอ่อนตัวลงเพียงร้อยละ 15 จึงยิ่ง ทำให้ราคาข้าวปากีสถานลดลงเมื่อเทียบกับอินเดีย
จากการที่ราคาข้าวลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้นำเข้าข้าวในดูไบที่เก็บสต๊อกไว้จำนวนมากสำหรับเก็งกำไร บางบริษัทมีจำนวนถึง 100 คอนเทนเนอร์และซื้อไว้ที่ราคา 1,800 เหรียญสหรัฐฯต่อตันจึงประสบปัญหาการขาดทุน
นอกจากนั้นความต้องการบริโภคข้าว Non-basmati ในประเทศมีความต้องการลดลงเช่นกัน เพราะค่ายคนงานที่ใช้ข้าวประเภทนี้เลี้ยงคนงานหลายแห่งลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ลง อีกทั้งโครงการก่อสร้างที่หยุด ชลอตัวลงหรือลดขนาดการก่อสร้างลงต้องส่งคนงานกลับประเทศหรือบางแห่งต้องปิดตัวลง ค่ายคนงานเหล่านี้นิยมใช้ข้าวราคาถูก อาทิ ข้าวบัสมาติปากีสถาน ข้าวนึ่ง ข้าวขาว5% เป็นต้น
ตัวอย่างราคาขายปลีก
ข้าวบัสมาติ อินเดีย 10.50 Dhs./kg
ข้าวบัสมาติ ปากีสถาน 8.45 Dhs./kg
ข้าวอียปต์ 5.00 Dhs./kg ข้าวขาว 5% ไทย 2.50 Dhs./kg. ข้าวหอมมะลิไทย 5.00 Dhs./kg.
สำหรับสถานการณ์การส่งออกข้าวของไทยไปยูเออีมีมูลค่าขยายตัวในช่วง 3 ปีติดต่อกัน พอสรุปได้คือปี 2549 ส่งออกมูลค่า 22.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปี 2550 มูลค่า 40 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 78 ปี 2551 ส่งออกมูลค่า 94 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นอัตราการขยายตัวเพิ่มร้อยละ 134%
สำหรับความต้องการข้าวในยูเออีในปี 2552 จะหดตัวลง เนื่องจาก
1) สต็อกข้าวที่ซื้อเก็บไว้สำหรับเก็งกำไรในประเทศมีปริมาณอยู่มาก
2) ผู้นำเข้ายูเออีหันกลับไปนำเข้าจากข้าวอินเดียซึ่งเป็นชนิดของข้าวที่นิยมรับประ ทานกันทั่วไปในประเทศ รวมทั้งข้าวราคาถูกจากเวียตนาม ทำให้สัดส่วนการนำเข้าข้าวไทยลดลง
3) ปริมาณการบริโภคในประเทศลดลง การปลดพนักงาน ทำให้ชาวต่างชาติต้องเดินทาง กลับไปประเทศ มีการคาดหมายกันว่าในปี 2552 จำนวนประชากรของยูเออีจะหดตัว
4) สำหรับร้านอาหาร โรงแรมได้รับผลกระทบจากยอดการขาย และจำนวนการเข้าพักโรงแรมของนักท่องเที่ยวที่ลดจำนวนลงมาก อีกทั้งการใช้จ่ายอย่างประหยัดของผู้บริโภคในประเทศที่ลดการรับประทานอาหารนอกบ้าน
5) เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร และรักษาเสถียรภาพอาหารของประเทศ รัฐบาลยูเออีได้เช่าซื้อพื้นที่สำหรับการกสิกรรมและปลูกข้าวในต่างประเทศ เช่น ในประเทศปากีสถาน เพื่อส่งสินค้าเกษตรเหล่านั้นกลับไปยูเออี ดังนั้นกลยุทธ์การขยายตลาดสำหรับสถานการณ์ที่พลิกกลับไปเป็นตลาดของผู้ซื้อนั้น คือด้านราคาเพื่อรักษาสถานะและสัดส่วนตลาดในยูเออีให้ยั่งยืน
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองดูไบ
ที่มา: http://www.depthai.go.th