การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศอิตาลี

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 31, 2009 16:15 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ปี 2008 กำลังซื้อของครอบครัวในอิตาลีลดลงร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับปี 2007 เนื่องจากผลกระทบของวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวและทวีความรุนแรงเกินคาดคิดในปีปัจจุบันในอิตาลีก็เช่นกันบริษัทจำนวนมากต้องปิดกิจการลง คนตกงานเพิ่มขึ้น คนทั่วไปจึงลดการใช้จ่ายลงเพราะความหวาดหวั่นต่อความไม่มั่นคงในการดำรงชีวิตจากความผันผวนทางเศรษฐกิจที่ยังไม่มีสัญณาณว่าจะกลับสู่ภาวะปกติในเวลาอันสั้นหรือแม้แต่คาดหวังว่าจะดีขึ้นในอนาคตอันใกล้

หอการค้าอิตาลี (Confcommercio) ทำการสำรวจและวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค โดยนำสถิติปี 2008 เปรียบเทียบกับปี 2002 เพื่อให้เห็นความแตกต่างได้ชัดเจนขึ้น ผลปรากฎว่าครอบครัวชาวอิตาเลียนมีพฤติกรรมการใช้จ่ายที่เปลี่ยนไปดังต่อไปนี้

1. สินค้าที่มีการบริโภคลดลง
  • สินค้าคงทน ได้แก่

รถยนต์และรถมอร์เตอร์ไซด์ (ลดลงร้อยละ 6.8) ในภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง ที่ทำให้กำลังซื้อลดลงผู้บริโภคย่อมตัดทอนค่าใช้จ่ายสำ หรับสินค้าราคาแพงและฟุ่มเฟือยลงรถยนต์ที่มีอยู่ก็ใช้กันต่อไปหากไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนรวมถึงการนิยมซื้อรถยนต์ขนาดเล็กและราคาประหยัดมากขึ้น การลดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับรถยนต์หมายถึงการลดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องอื่นๆด้วย ได้แก่ ค่าประกันภัย ค่าน้ำมัน ค่าซ่อมบำรุง

เครื่องใช้ไฟฟ้า (ลดลงร้อยละ 7.1) เครื่องใช้ไฟฟ้านับเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกสบายแก่ชีวิตส่วนใหญ่เข้าข่ายสินค้าฟุ่มเฟือย ทุกครัวเรือนมีเครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วไปเกือบทุกชนิดอยู่แล้ว เช่น ตู้เย็น เครื่องซักผ้าเตารีด เป็นต้น การเปลี่ยนมักมีสาเหตุมาจากการต้องการใช้สินค้าที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยกว่า รูปแบบสวยงาม น่าใช้ เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีโอกาสใช้น้อยทั้งหลายก็จะจำหน่ายได้ยากขึ้น เช่น เครื่องทอดอาหาร เครื่องปั่นอาหาร วิทยุ เครื่องปิ้งขนมปัง เครื่องล้างจาน เป็นต้น

เสื้อผ้า (ลดลงร้อยละ 5.5) และ รองเท้า (ลดลงร้อยละ 7.5) การซื้อเสื้อผ้าหรือรองเท้าในสถานการณ์ปัจจุบันเป็นการซื้อเพื่อความสุขใจและต้องการความทันสมัยทางแฟชั่นมากกว่าความจำเป็นใช้อย่างแท้จริง ชาวอิตาเลียนชอบแต่งตัวและใช้เครื่องประดับ สินค้าแฟชั่นทั้งหลายซื้อกันเป็นประจำอยู่แล้วมีมากเพียงพอใช้ และสามารถลดปริมาณการซื้อลงได้หนังสือ (ลดลงร้อยละ 9.4) และหนังสือพิมพ์ (ลดลงร้อยละ 11.3) สิ่งพิมพ์เป็นสินค้าที่ราคาค่อนข้างสูงและต้องมีพื้นที่ในการจัดเก็บ ปัจจุบันการอ่านข้อมูลข่าวสารต่างๆทางอินเตอร์เน ตแทน ได้ข่าวสารที่รวดเร็วกว้างขวาง หลายหลากและประหยัดกว่า นอกจากนี้ ยังสามารถพกพาคอมพิวเตอร์เพื่ออ่านข่าวสารทางอินเตอร์เน็ตเวลาใดก็ได้ตามต้องการ

  • สินค้าในหมวดอาหาร ได้แก่

สินค้าอาหารที่มีการบริโภคลดลงส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ปกติมีราคาค่อนข้างแพงและไม่ถึงกับมีความจำเป็นต้องบริโภคเพื่อสุขภาพ จึงมีการเปลี่ยนไปทานอาหารประเภทอื่นๆ ที่สามารถทดแทนกันได้

อาหารทะเล (ลดลงร้อยละ 5.4) ปกติราคาค่อนข้างแพง ผู้บริโภคมีทางเลือกอาหารอื่นๆ ที่ราคาถูกกว่าและทดแทนกันได้ทั้งในด้านคุณค่าทางอาหารและรสชาติ เช่น อาหารประเภทถั่ว ที่อิตาลีมีหลายหลากชนิดและทานกันเป็นประจำอยู่แล้ว

ปลา (ลดลงร้อยละ 4.8) เป็นอาหารที่ราคาค่อนข้างแพง เช่นเดียวกับอาหารทะเล

นม เนย ไข่(ลดลงร้อยละ 1.4%) คนส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องน้ำหนัก เลือกลดอาหารประเภทนี้

ผลไม้ (ลดลงร้อยละ 1.4%) ราคาไม่คงที่ ผลิตผลขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศ ปัจจุบันอากาศรุนแรงและแปรปรวนอย่างรวดเร็วกว่าสมัยก่อน ผลจากภาวะโลกร้อนทำให้สินค้าเกษตรเสียหายเก็บผลได้ไม่เต็มที่จึงมีแนวโน้มแพงขึ้นตลอด ยกเว้นผลไม้ประจำฤดูกาล

  • ภาคบริการ ได้แก่

การท่องเที่ยวแบบซื้อทัวร์ (ลดลงร้อยละ 4.8%) การใช้อินเตอร์เน็ตอย่างแพร่หลายทำให้คนวางแผนการท่องเที่ยวหน้าจอได้ด้วยตนเอง เช่น การจองโรงแรม ซื้อตั๋วเดินทางต่างๆ สอบหาข้อมูล ทั้งนี้ การท่องเที่ยวตามฟาร์มเกษตรยังคงมีตลาดที่ไปได้ดีและมีแนวโน้มจะเติบโตต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นการท่องเที่ยวที่ใช้เงินไม่มากและไม่ต้องหยุดงานนาน

2. สินค้าที่มีการบริโภคเพิ่มขึ้น

สินค้าคงทน ได้แก่

โทรศัพท์มือถือ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 189.5) เป็นสินค้าที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีและรูปแบบ ได้รวดเร็วมากมือถือปัจจุบันมีประสิทธิภาพสูง ใช้งานได้หลายหลาก ทั้งรับอินเตอร์เน็ต ดูหนัง ฟังเพลง นอกเหนือจากการใช้โทรหากันหรือส่งข้อความเหมือนก่อน นอกจากนี้ อัตราค่าบริการที่ถูกลงอย่างมาก ทำให้คนใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อคุยเล่นกันมากขึ้น นอกจากเพื่อใช้ในการติดต่องานหรือยามจำเป็นเท่านั้นและกลุ่มเป้าหมายที่ไม่จำกัดอายุอีกต่อไป เด็กเล็กหรือคนมีอายุก็ใช้มือถือ กันเป็นและถือเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องนำติดตัวตลอดเวลาอีกทั้งกลายเป็นสินค้าแฟชั่น ที่นิยมเปลี่ยนกันบ่อยขึ้นการเติบโตของโทรศัพท์มือถือทำให้ผู้บริโภคจำนวนมาก ยกเลิกโทรศัพท์บ้าน เพื่อลดค่าใช้จ่ายลงเนื่องจากมีโอกาสใช้น้อยลงมาก

เครื่องใช้ไฟฟ้า (ทีวีจอแบน เครื่องเสียง เพิ่มขึ้นร้อยละ 50.4) ทีวีจอแบนมีความทันสมัย ทั้งในด้านรูปแบบและประสิทธิภาพในการใช้งานซึ่งปัจจุบันคนใช้ทีวีรับรายการต่างๆ ผ่านดาวเทียมนอกเหนือจากช่องปกติมากมายใช้เล่นเกมส์ ดูภาพยนต์ผ่านแผ่นซีดี วีซีดี ฯลฯ การแพร่หลาย ของทีวีประเภทนี้ ทำให้ทีวีแบบเดิมไม่มีขายแล้วในอิตาลี ส่วนเครื่องเสียง ประเภท iPod, MP3 พกพาติดตัวได้ สามารถฟังเพลงระหว่างเดินทางทำให้วิทยุหรือสเตริโอได้รับความนิยมน้อยลง

เครื่องมือและอุปกรณ์สำหรับตกแต่งบ้านและสวน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.3) ผู้คนให้เวลา อยู่กับบ้านมากขึ้นและใช้เวลาในการแต่งบ้านและสวนมากขึ้น

ยาและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง (เพิ่มขึ้นร้อยละ 40) สภาพสังคมที่เร่งรีบ ความเครียดและแรงกดดันจากการทำงาน ทำให้ผู้คนมีเวลาออกกำลังกาย และดูแลสุขภาพน้อยลง รวมถึงสุขภาพจิตที่แย่ลง ทำให้เจ็บป่วยบ่อยและต้องพึ่งพายารักษาโรคมากขึ้น

หมวดอาหาร ได้แก่

เนื้อสัตว์ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.2) เนื้อสัตว์มีให้เลือกมากมายและสามารถเลือกเนื้อดี ราคาไม่แพงได้ง่ายกว่าเลือกซื้อปลาหรืออาหารทะเลคุณภาพดีราคาถูก

ขนมปังและธัญพืช (เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7) เป็นอาหารประจำวัน ราคาไม่แพง และใช้ทดแทนอาหารอื่นๆได้ดี

กาแฟ ชา โกโก (เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1) เป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสังคมคนทำงานในสำนักงาน ที่ต้องพบปะผู้คนบ่อย

ภาคบริการ

การท่องเที่ยวแบบไปเอง (เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1) เช น หาสถานที่เที่ยวจองที่พักเองการแพร่หลายของอินเตอร์เน็ตทำ ให้ผู้บริโภคซื้อขายสินค้าและบริการผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์มากขึ้น ซึ่งสามารถค้นหาข้อเสนอต่างๆได้มากมาย กลายเป็นวิธีการซื้อขายสินค้าและบริการที่นิยมใช้มาก ขึ้นเรื่อยๆ เพราะสะดวกรวดเร็ว ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปข้างนอกหาข้อมูล

การทานอาหารนอกบ้าน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 5) ปัจจุบันผู้คนใช้เวลาทำงานนอกบ้านมาก ทำให้มีเวลาทำอาหารน้อยลง และความเหนื่อยล้าในชีวิตประจำวันและความเครียดทำให้การออกไปทานอาหารนอกบ้านเป็นสิ่งที่ช่วยผ่อนคลาย และได้อยู่สังสรรกับเพื่อนฝูงมากขึ้น

ค่าสาธารณูปโภค ได้แก่ ค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าใช้จ่ายส่วนกลางอาคาร ค่าประกัน ค่าธรรมเนียมธนาคาร เหล่านี้เป็นค่าใช้จ่ายที่บังคับรวมกันคิดเป็นร้อยละ 30 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดของครัวเรือนเป็นค่าใช้จ่ายที่มีผลอย่างมากต่อการวางแผน การเงิน สำหรับสินค้าอื่น

การดูแลสุขภาพ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7) อุปกรณ์และผลิตภัณฑ์เสริมความงาม (เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7) สุขภาพและความงามเป็นสิ่งที่ผู้คนให้ความสำ คัญ เพราะปัจจุบันมีการใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้นจึงใช้จ่ายเพื่อเสริมสุขภาพและเพื่อความงามภายนอกมากขึ้น ส่งผลให้ Fitness Center, Beauty Farm สปาและการนวด ขยายตัวอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กลายเป็นจุดนัดพบเพื่อเสริมสุขภาพผ่อนคลายคลายเครียด และเสริมความงาม

3. คาดการณ์ GDP และการบริโภคในประเทศ ของประเทศอิตาลี

ปี 2009 เป็นปีที่วิกฤตเศรษฐกิจโลกมีความรุนแรงและมีผลกระทบต่อการบริโภคในประเทศของอิตาลีเช่นกัน หอการค้าอิตาลีคาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติอิตาลี (GDP) จะติดลบร้อยละ 4.8 และกำลังซื้อของผู้บริโภคจะลดลงร้อยละ 1.9 ในปี 2010 การฟื้นตัวจะเริ่ม มีขึ้นเล็กน้อย และจะสู่สภาวะคงที่ในปี 2011

                               2009         2010            2011
GDP                            -4.8          0.6             0.8
การบริโภคในประเทศ               -1.9          0.6             0.6
หน่วย : ร้อยละ
สัดส่วนการใช้จ่ายของครอบครัวอิตาลี
                              1970           1980           1990           2000           2008
บริการ                         32.3           34.2           40.7           45.6           50.1
สินค้า                          67.7           65.8           59.3           54.4           49.9
- คงทนระยะยาว                  7.5           10.8           11.8           11.0            9.0
- คงทนระยะกลาง                11.2           14.1           13.7           12.3           10.6
- คงทนระยะสั้น                  49.0           41.0           33.8           31.1           30.2
รวมทั้งสิ้น                      100.0          100.0          100.0          100.0          100.0
หน่วย : ร้อยละ


4. แนวทางการปรับตัวเพื่อรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจของผู้ส่งออก

ในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจที่ถดถอยในอิตาลีทำให้การค้าในประเทศอิตาลีชะลอตัวลงมากเมื่อเปรียบกับปีที่ผ่านมา จึงส่งผลให้การส่งออกมายังอิตาลีลดน้อยลงเนื่องจากผู้บริโภคมีการรัดกุมในเรื่องของการจับจ่ายใช้สอยเป็นอย่างมากเนื่องจากผู้บริโภคอิตาเลี่ยนจัดได้ว่าผู้บริโภคที่มีความระมัดระวังในการใช้จ่ายผนวกกับภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ ทำให้การบริโภคของสินค้าฟุ่มเฟือยลดลง อย่างไรก็ดี โอกาสทางการค้าและการส่งออกยังคงมีอยู่แต่ต้องมีการปรับตัวในด้านของตัวสินค้าและราคาให้เข้ากับสภาพเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ปัจจุบัน

ในด้านสินค้า ควรศึกษาสถานการณ์ของตลาดที่กำลังเป็นอยู่ ณ ประเทศ นั้นๆ อาทิ เช่น

สินค้าแฟชั่นก็ยังเป็นสินค้าที่นิยมในการบริโภคของชาวอิตาเลี่ยนอยู่แต่จะมีการปรับแปลงพฤติกรรมในการซื้อที่แตกต่างออกไป เช่น การเลือกซื้อสินค้าที่ตาม Trend ที่มีราคาถูก ดังนั้นคาดว่าน่าจะเป็นช่องทางที่ผู้ส่งออกไทยที่ผลิตสินค้าแฟชั่นมีโอกาสที่จะส่งออกมายังอิตาลีแต่ต้องเน้นในด้านดีไซน์ คุณภาพ และที่สำคัญยิ่งคือราคาที่ เหมาะสมกับสินค้าเพื่อที่สามรถดึงดูดผู้บริโภคให้หันมาเลือกใช้สินค้าที่ผลิตจากประเทศไทย

สินค้าเฟอร์นิเจอร์, ของตกแต่งบ้านและของชำร่วย ผู้ส่งออกไทยควรผลิตสินค้าที่ใช้ต้นทุนต่ำและมีคุณภาพเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรีไซน์เคิลเพื่อลดต้นทุนและไม่ทำลายธรรมชาติ สิ่งที่สำคัญในการเลือกซื้อของชาวอิตาเลี่ยนคือ ดีไซน์ที่หรูหราและใช้งานตามอเนกประสงค์ รวมทั้งประหยัดเนื้อที่ในการจัดตั้ง สะดวกในการเคลื่อนย้าย จัดเก็บ และยิ่งไปกว่านั้นคือความปลอดภัยที่ได้รับมาตรฐานระดับ EU

โดยสรุปคือ ผู้ผลิตจะต้องทำความเข้าใจกระแสของตลาด และผลิตสินค้าที่ได้รูปแบบที่ตรงตามความต้องการ รวมทั้งยังคงความมีมาตรฐานคุณภาพของสินค้าให้อยู่ในระดับสากล ที่สำคัญคือต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคและต้องมีราคาที่ไม่สูงมากนักเพื่อที่จะสามารถดึงดูดผู้บริโภคได้ อีกทั้งยังต้องมีความเป็นนักreative ในตัวสินค้าเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆแต่ต้องอยู่ในฐานความต้องการของผู้ซื้อ

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโรม

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ