อาหารสุขภาพเพื่อสัตว์เลี้ยง ตลาดที่กำลังเติบโต

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 3, 2009 14:17 —กรมส่งเสริมการส่งออก

หากเราติดตามสถิติประชากรในญี่ปุ่น จะพบว่ามีตัวเลขและข้อมูลที่น่าสนใจจำนวนมาก เช่น ญี่ปุ่นมีประชากรจำนวน 127.07 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นประชากรเด็ก หรือผู้มีอายุน้อยกว่า 15 ปี จำนวน 17.14 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 13.4 (การสำรวจของ Japan Pet Food Association วันที่ 1 เมษายน 2552) แต่มีจำนวนสุนัขและแมวมากถึง 26.83 ล้านตัว (ข้อมูลเมื่อปลายปี 2551) ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงในญี่ปุ่นจึงมีมูลค่าสูงถึง 105.6 พันล้านเยน (หรือประมาณ 35.2 พันล้านบาท) ในปี 2551 ขยายตัว 6.4 % จากปี 2550 บริษัทวิจัยตลาด Fuji Keizai คาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดจะเพิ่มขึ้นเป็น 110.3 พันล้านเยน (หรือประมาณ 36.8 พันล้านบาท) เพิ่มขึ้น 4.4 %ในปี 2552

ชาวญี่ปุ่นมีอายุเฉลี่ยสูงขึ้น ยิ่งกว่านั้นสภาพเศรษฐกิจ ทำให้ขนาดของครอบครัวมีจำนวนเล็กลงจำนวนวันรุ่นและผู้สูงอายุที่อยู่ลำพังคนเดียวมีสัดส่วนมากขึ้น กลุ่มบุคคลเหล่านี้จึงนิยมมีสัตว์เลี้ยงไว้เป็นเพื่อนแก้เหงา และด้วยเหตุที่ทั้งสุนัข และแมว เป็นสัตว์เลี้ยงคลุกคลีใกล้ชิดกับเจ้าของ ผู้เลี้ยงจึงมีความรู้สึกผูกพันและเลี้ยงดูอย่างดี เสมือนหนึ่งเป็นสมาชิกในครอบครัว หรือเป็นบุตรหลาน บริษัทที่ผลิตอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยง จึงคิดค้นเมนูใหม่ๆออกมาล่อใจผู้เลี้ยง สินค้าใหม่ๆ ดังกล่าวล้วนมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น (value added products) นอกจากนี้ยังเพิ่มความหลากหลายของรสชาด กลิ่นและเป็นอาหารเพื่อสุขภาพมากยิ่งขึ้นด้วย(Tastier flavor and healthier ingredients)

ในกลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยง ก็ยังอีกพบว่า ตลาดอาหารแมวขยายตัวรวดเร็วกว่าอาหารสุนัข ทั้งนี้เพราะหลายๆปัจจัย เช่น ขนาดบ้านที่เล็ก ภาวะเศรษฐกิจที่ต้องลดค่าใช้จ่ายลงและความสะดวกในการเลี้ยงดู ทำให้ชาวญี่ปุ่นเปลี่ยนไปเลี้ยงสุนัขขนาดเล็ก และเลี้ยงแมวมากขึ้น เนื่องจากแมวต้องการความเอาใจใส่จากเจ้าของน้อยกว่า เช่นไม่ต้องจูงออกไปเดินเล่น ซึ่งเหมาะกับวัยทำงานที่มีเวลาน้อย และผู้สูงวัยนอกจากนี้ อพาทเมนต์จำนวนมากก็เริ่มอนุญาตให้ผู้อยู่อาศัยเลี้ยงแมวได้ การวิจัยของบริษัท Fuji Keizai สรุปว่า แมวเป็นสัตว์ที่เลือกทานอาหารมากกว่าสุนัข เจ้าของจึงสรรหาอาหารที่คิดว่าพิเศษ รสชาดอร่อยมาให้ทาน ยิ่งอาหารมีความแปลกใหม่และเป็นอาหารสุขภาพ แม้ว่าราคาจะสูงขึ้น แต่ผู้ซื้อต่างก็ยินดีจ่าย ซึ่งบริษัท Unicharm Pet-care Corp อธิบายว่า ช่วงการให้อาหารจะเป็นจังหวะที่เจ้าของและสัตว์เลี้ยงได้ใกล้ชิด ได้ใช้เวลาสื่อสารระหว่างกัน

มูลค่าการจำหน่ายอาหารแมวจึงขยายตัวแม้ในช่วงที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นถดถอย ที่น่าแปลกใจ คือยิ่งเป็นอาหารคุณภาพดี ราคาสูง จำนวนขายยิ่งมากขึ้น เป้นการสวนกระแสตลาดสินค้าชนิดอื่นๆ ทำให้ซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ ที่เปิดตัวสินค้า private-brand ราคาถูกกว่าปกติ ต้องปรับคุณภาพขึ้น ทั้งนี้จากข้อมูลของ Nikkei Point-of-sale (POS) พบว่าอาหารแมวที่เป็นกลุ่มราคาถูกมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 9 ของมูลค่าตลาด

โดยทั่วไป แมวเริ่มเข้าสู่วัยแก่เมื่ออายุ 7 ปี และจะอ่อนแอลงเร็วขึ้นเรื่อยๆ จนถึงอายุ 11 ปี ปัจจุบันครึ่งหนึ่งของจำนวนแมวในญี่ปุ่นมีอายุเฉลี่ยประมาณ 7 ปี ซึ่งอยู่ในวัยที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ และอาหารก็เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้สัตว์มีอายุยืนยาว ผู้เลี้ยงส่วนมากมีมุมมองเหมือนๆกัน คือ คิดว่าค่าอาหารที่มีสุขอนามัยที่ดี แม้จะมีราคาแพง แต่ก็ยังมีราคาต่ำกว่าค่ารักษา พยาบาลหรือค่าดูแลสัตว์เลี้ยง ด้วยเหตุนี้อาหารเพื่อสุขภาพที่ดี และอาหารสำหรับแมวอายุมาก (health and aged oriented cat food) จึงยังขยายตัวต่อไปอีก

ด้วยเหตุที่ชาวญี่ปุ่นมองสัตว์เลี้ยงว่าเป็นสมาชิกหนึ่งของครอบครัว ดังนั้นตั้งแต่สหรัฐอเมริกาตรวจพบว่าอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยงที่ผลิตจากจีนมีการปนเปื้อนและเป็นอันตรายต่อสัตว์ ญี่ปุ่นจึงได้แก้ไขกฎหมายนำเข้าอาหารสัตว์เลี้ยง มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อ 1 มิถุนายน 2552 โดยกำหนดให้ผู้จำหน่ายต้องให้รายละเอียดของเครื่องปรุงที่ใช้ผลิต บนสลากสินค้า ซึ่งผู้ที่อยู่ในวงการตลาดเชื่อว่าน่าจะช่วยให้ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

ในปี 2551 ญี่ปุ่นนำเข้าอาหารแมวและสุนัข ชนิดที่บรรจุสำหรับขายปลีก จำนวน 368,412 ตัน มูลค่า 795.63 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปริมาณนำเข้าลดลง 4.8% แต่มูลค่าเพิ่มขึ้น 11.4 % เทียบกับปี 2550 ระหว่างมกราคม-มิถุนายน 2552 นำเข้า จำนวน 171,318 ตัน ลดลง 6.2 % มูลค่า 393.85 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 3.29 % เทียบกับระยะเดียวกันของปี 2551

ประเทศไทยเป็นแหล่งนำเข้ารายใหญ่ที่สุด ครองส่วนแบ่ง 30-32 % ของมูลค่านำเข้า หรือมีจำนวน 109,275 ตัน มูลค่า 258.15 ล้านดอลลาร์ในปี 2551 และครึ่งแรกของปี 2552 นำเข้าจากไทย 54,033 ตันมูลค่า 125.77 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่า แหล่งนำเข้าอื่น ได้แก่ สหรัฐฯครองตลาดประมาณ 25 % ออสเตรเลีย( 12-15%) จีน( 12-13 %) และฝรั่งเศส 6-7 %) กล่าวได้ว่าอาหารของไทยเป็นที่ชื่นชอบและได้รับความนิยม ทั้งจากผู้บริโภคชาวญี่ปุ่น และสัตว์เลี้ยงในญี่ปุ่น ซึ่งก็ยังมีศักยภาพที่จะขยายได้อีกมาก

ไทยครองตลาดเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของอาหารสัตว์เลี้ยงในญี่ปุ่นมานาน โดยแย่งส่วนแบ่งมาจากสหรัฐฯ ขณะเดียวกันญี่ปุ่นก็เป็นตลาดหลักสำหรับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยโดยมีการส่งออกไปญี่ปุ่นร้อยละ 42 - 48% ของการส่งออกทั้งหมด ตลาดอื่นๆ ได้แก่สหรัฐฯ อิตาลี ออสเตรเลีย และสหราชอาณาจักร

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ