ข้อมูลสินค้าของขวัญของประดับตกแต่งบ้านในตลาดสิงคโปร์

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 7, 2009 14:40 —กรมส่งเสริมการส่งออก

สินค้าของขวัญ ของประดับตกแต่งบ้านของไทยมีโอกาสในตลาดสิงคโปร์ จากเหตุผลที่ว่าสินค้าไทยมีคุณภาพได้ระดับมาตรฐานนานาชาติ เป็นที่นิยมของโลกและของชาวสิงคโปร์ แม้จะมีราคาสูงกว่าจากแหล่งประเทศผู้ผลิตอื่น แต่เนื่องจากการเดินทางระหว่างสิงคโปร์กับไทยเป็นไปได้อย่างสะดวกรวดเร็ว และความต้องการของตลาดภายในสิงคโปร์มีจำนวนน้อย นอกเหนือจากการสั่งซื้อโดย ตรงแล้วผู้นำเข้า/ค้าส่ง/ค้าปลีกของสิงคโปร์บางรายใช้วิธีเดินทางไปประเทศไทยและ Cash n Cary สินค้าตามที่ได้รับคำสั่งซื้อซึ่งนับเป็นการส่งออกที่ไม่มีการจดบันทึกสถิติ

ความนิยมของชาวสิงคโปร์

เดิมชาวสิงคโปร์ส่วนใหญ่มีความนิยมสินค้าที่มาจากประเทศผู้ผลิตในตะวันตก ซึ่งมีรูปแบบที่ทันสมัย เปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล คุณภาพได้มาตรฐานนานาชาติ แต่มีราคาสูง และต่อมาหันมานิยมสินค้าที่ผลิตจากจีนและในภูมิภาค ที่ผลิตรูปแบบสไตล์ฝรั่ง คุณภาพพอสมควร และคำนึงถึงแต่ราคาของสินค้าเป็นสำคัญ ในนิยามของ “สินค้าราคาถูกคุณภาพดี”

ประเภทสินค้า ของขวัญ ของประดับตกแต่งบ้าน ที่น่าสนใจแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ (1) Gifts (2) Home Textiles Products (3) Interior Decorative (4) Artificial Flowers และ (5) Houseware Products โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

(1) Gifts : สินค้าของขวัญ/ของชำร่วย
  • รูปแบบสินค้า บรรจุภัณฑ์และราคาขายปลีก : ประเภทที่นิยมใช้เป็นของขวัญ ได้แก่

1. ผลิตภัณฑ์ Pewter ขนาดเล็ก ได้แก่ พวงกุญแจ เหยือก ถ้วยชา กรอบรูป ที่ตัดซองจดหมาย จานรองแก้ว ที่เปิดขวด กล่องใส่นามบัตร กล่องเล็กๆเอนกประสงค์ เป็นต้น จัดใส่กล่องพลาสติกหรือกล่องกระดาษสวยงามที่ด้านหนึ่งเป็นแผ่นพลาสติกใสสามารถมองเห็นสินค้าได้ ราคาอยู่ระหว่าง 5 — 50 เหรียญสิงคโปร์

1. ปากกา/ดินสอ/Laser Pointer Pen ที่ออกแบบแปลกกว่าเครื่องเขียนธรรมดา โดยจัดใส่กล่องของขวัญพลาสติก/กล่องกระดาษหรือหนัง ราคาอยู่ระหว่าง 7 — 80 เหรียญสิงคโปร์

2. เหยือก/ขวดน้ำพลาสติก รูปแบบแปลกและสีสรรสวยงาม บรรจุในกล่องกระดาษที่ด้านหนึ่งเป็นแผ่นพลาสติกสามารถมองเห็นสินค้าได้ ราคาอยู่ระหว่าง 3 — 25 เหรียญสิงคโปร์

3. กระเป๋าผ้ารูปแบบต่างๆ ขนาดประมาณ 1.2 x 1.5 ฟุต โดยมีการ screen ภาพสวยงามหรือคำพูดต่างๆที่มีข้อคิด และบรรจุในกล่องพลาสติกใส ราคาอยู่ระหว่าง 2 — 15 เหรียญสิงคโปร์

5. เสื้อยืด/หมวก/ร่ม/ผ้าเช็ดมือ โดยมีแบบที่เข้ากับ Trend ของแต่ละฤดูกาล มีสีสดใสบรรจุในกล่องพลาสติกใส ราคาอยู่ระหว่าง 5 — 20 เหรียญสิงคโปร์

6. ตุ๊กตา ส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะรูปสัตว์ต่างๆ ได้แก่ หมี (ยอดนิยม) สุนัข แมว ยีราฟ เต่า เป็นต้น มีสีตามธรรมชาติ หรือสดใส บรรจุกล่องพลาสติกใส ราคาอยู่ระหว่าง 5 — 45 เหรียญสิงคโปร์

7. เครื่องหนังขนาดเล็ก ได้แก่ กระเป๋าสตางค์ ซองใส่นามบัตร ซองใส่หนังสือเดินทาง กระเป๋าใส่คอมพิวเตอร์ Lab Top กระเป๋าใส่กล้อง กระเป่าใส่เอกสาร ป้ายชื่อติดกระเป๋าเดินทาง ซองใส่ปากกา/ดินสอ กระเป๋าใส่เครื่องเขียน กระเป่าใส่พวงกุญแจ กระเป๋าใส่ไวน์ 1-2 ขวด โดยสินค้าบรรจุกล่องพลาสติกใสหรือกล่องกระดาษสีสวยงาม ราคาอยู่ระหว่าง 10 — 120 เหรียญสิงคโปร์

8. ของใช้ประเภทอิเล็คทรอนิกส์ขนาดเล็ก ได้แก่ เครื่องคิดเลข เครื่องคิดเลขพร้อมนาฬิกา เครื่องคิดเลขพร้อมซองนามบัตร วิทยุพร้อมนาฬิกา แผนที่โลกพร้อมนาฬิกา นาฬิกาที่ติดกับ Robot ลักษณะต่างๆ ซึ่งสินค้าบรรจุกล่องพลาสติกใส/กระดาษแข็ง ราคาอยู่ระหว่าง 8 — 45 เหรียญ-สิงคโปร์

9. สมุดจดโน๊ตพร้อมปากกา ขนาดสำหรับพกพา โดยปกสมุดเป็นพลาสติกใสหรือหนัง พร้อมปากกาขนาดสั้นสีสดใสและทำที่เสียบแบบน่าสนใจให้คู่กับสมุด บรรจุกกล่องกระดาษหรือกล่องพลาสติกใส ราคาอยู่ระหว่าง 5 — 20 เหรียญสิงคโปร์

10. กระเป๋าพกพาสำหรับใส่อุปกรณ์การกีฬา ผลิตด้วยผ้า/Polyester/PVC/Water Proof Material มีสายสั้นหรือยาวหรือที่ถือเป็นไม้ สีสดใส สินค้าบรรจุกล่องพลาสติกใส ราคาขึ้นอยู่กับขนาดและวัสดุที่ผลิต ซึ่งอยู่ระหว่าง 8 — 40 เหรียญสิงคโปร์

11. เครื่องมือจำเป็นในชีวิตประจำวัน ได้แก่ ไฟฉาย มีดเอนกประสงค์ขนาดเล็ก กระเป๋าเครื่องมือสำหรับการทำสวน เข็มทิศพร้อมนาฬิกาปลุกและเครื่องคิดเลข ไฟฉุกเฉินใช้สำหรับรถยนต์ สายวัดสินค้าบรรจุกล่องกระดาษหรือกล่องพลาสติกใส ราคาอยู่ระหว่าง 10 — 55 เหรียญสิงคโปร์

นอกจากนี้ ของขวัญซึ่งเป็นของที่ระลึกจากสิงคโปร์ เป็นที่นิยมของชาวสิงคโปร์ซื้อฝากเพื่อนชาวต่างชาติ และนักท่องเที่ยวที่เยือนสิงคโปร์เป็นอย่างมาก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ต่างๆที่มีสัญญลักษณ์เป็นรูปสิงโตทะเล (Merlion) หรือภาพวิวที่บ่งถึงความเป็นสิงคโปร์ ประเภทสินค้า เช่น ที่ทับกระดาษ นาฬิกา ซองใส่นามบัตร พวงกุญแจ ที่แขวนมือถือ กรอบรูป ของตั้งโชว์บนโต๊ะ รูปภาพบนแม่เหล็กสำหรับติดตู้เย็น เหยือก เสื้อยืด กระเป๋าผ้า จานแก้วตั้งโต๊ะ ชุดปากกา/ดินสอตั้งโต๊ะ เทอร์โมมิเตอร์ กล่องใส่อัญมณี Memo Clip หมวก ร่ม อุปกรณ์ขนาดเล็กใช้ในการเดินทาง เป็นต้น ส่วนใหญ่สินค้าจะบรรจุกล่องกระดาษหรือกล่องพลาสติกใส ราคาอยู่ระหว่าง 1 — 50 เหรียญสิงคโปร์

อนึ่ง บริษัทต่างๆในสิงคโปร์ มีนโยบายการมอบของขวัญ Corporate Gift ให้แก่ลูกค้าในช่วงเทศกาลโดยเฉพาะช่วงคริสต์มาส/ปีใหม่ สินค้าประเภทนี้ได้รับการสั่งซื้อเป็นจำนวนมากในแต่ละปี เนื่องจากเป็นการส่งเสริมเผยแพร่ประชาสัมพันธ์บริษัทนั้นๆถึงลูกค้าได้โดยตรงต่อมาเมื่อกลางปี 2551 เศรษฐกิจโลกถดถอยและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสิงคโปร์อย่างแรง จึงทำให้บริษัทต่างๆต้องตัดลดค่าใช้จ่ายลงเพื่อความอยู่รอด และส่งผลให้การสั่งซื้อสินค้าประเภทนี้ลดลงมาก อย่างไรก็ตาม บริษัทต่างๆยังคงยึดถือประเพณีมอบของขวัญนี้อยู่ โดยเฉพาะธนาคาร/บริษัทการเงิน ซึ่งสินค้าประเภทนี้ รวมถึงสินค้าที่เป็นของขวัญ เครื่องเขียน เครื่องใช้ในครัวเรือนขนาดเล็ก อุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการสัมมนา เครื่องใช้อิเล็คทรอนิคส์/ไฟฟ้าขนาดเล็ก เสื้อยืด นาฬิกาข้อมือ นาฬิกาตั้งโต๊ะ กระเป๋าผ้าหรือกระเป๋าเอนก ประสงค์ เครื่องใช้บนโต๊ะทำงาน แก้วเจียระไนและของสวยงามวางประดับโต๊ะ เครื่องหนังขนาดเล็ก ชุดถ้วยชา/กาแฟ รวมถึง ถ้วยรางวัล โล่ห์คริสตัล เป็นต้น ทั้งนี้ ผู้นำเข้าฯนิยมนำเข้าจากจีน ฮ่องกง และไต้หวัน เป็นส่วนใหญ่

  • แนวโน้มการนำเข้า และการซื้อขาย :

สิงคโปร์ส่วนใหญ่นำเข้าสินค้าของขวัญจากจีน ฮ่องกง และไต้หวัน ซึ่งสินค้ามีคุณภาพปานกลางและราคาถูก อีกทั้งรูปแบบทันสมัย เปลี่ยนไปตาม Trend ของสังคมแต่ละฤดูกาล นอกจากนี้ การสื่อสารที่ใช้ภาษาจีนกลางทำให้การติดต่อซื้อ-ขายเป็นไปได้สะดวกและเป็นที่ยอมรับในความเป็นเชื้อชาติจีนด้วยกัน

การจำหน่ายสินค้า ซึ่งผู้นำเข้าส่งต่อให้แก่ผู้ค้าส่ง/ค้าปลีก ร้านค้าในศูนย์การค้า รวมถึงการจำหน่ายผ่านเว็บไซด์ด้วย ซึ่งคาดว่า การซื้อ-ขายผ่านเว็บไซด์จะมีอัตราเพิ่มขึ้นในอนาคต เพราะผู้จัดจำหน่ายสามารถลดค่าใช้จ่ายค่าเช่าพื้นที่ร้าน/การดำเนินการ/พนักงานและอื่นๆที่เกี่ยวข้องได้ประมาณร้อยละ 15 จึงทำให้ราคาจำหน่ายสินค้าทางเว็บไซด์ถูกลง รวมถึงการสื่อสารโทรคมนาคมทางเว็บไซด์และการtransfer เงินในสิงคโปร์มีระบบที่สะดวกและปลอดภัย

(2) Home Textiles Products
  • รูปแบบสินค้า ได้แก่ ผ้าม่าน ผ้าปูโต๊ะ ผ้าที่ใช้ประดับตกแต่งห้อง/สถานที่ ผ้าปูที่นอน ผ้าที่ใช้ในครัวเรือน และที่นอนและอุปกรณ์ เป็นต้น
  • การนำเข้าสินค้า โดยที่สิงคโปร์ต้องนำเข้าสินค้าประเภทนี้จากประเทศต่างๆทั่วโลก มูลค่าการนำเข้าในปี 2551 สรุป ดังนี้
  • สินค้าผ้าม่าน ผ้าปูโต๊ะ และผ้าที่ใช้ประดับตกแต่ง นำเข้ารวมมูลค่า 14.5 ล้านเหรียญสิงคโปร์ ประเทศคู่ค้าอันดับ 1 คือ จีน รองลงมาได้แก่ มาเลเซีย สหราชอาณาจักร ไต้หวัน ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย สหรัฐฯ ตุรกี อินเดีย และไทยเป็นอันดับที่ 25 มูลค่านำเข้า 7,000 เหรียญสิงคโปร์ มีส่วนแบ่งตลาดเพียงร้อยละ 0.05 ทั้งนี้ การนำเข้าจากไทยลดลงจากปี 2550 ร้อยละ 83.3 และนำเข้าลดลงจากมาเลเซีย สหรัฐฯ ฝรั่งเศส อิตาลี และปากีสถาน ร้อยละ 22.4, 11.9, 71.3, 46.8 และ 80.9 ตามลำดับ
  • สินค้าผ้าปูที่นอน และผ้าอื่นๆที่ใช้ในครัวเรือน นำเข้ารวมมูลค่า 74.7 ล้านเหรียญ
สิงคโปร์ ประเทศคู่ค้าอันดับ 1 คือ จีน รองลงมาได้แก่ มาเลเซีย ปากีสถาน อินโดนีเซีย อินเดีย ฮ่องกง อิตาลี สหรัฐฯ เกาหลีใต้ เยอรมนี และไทยเป็นอันดับที่ 12 มูลค่านำเข้า 416,000 เหรียญสิงคโปร์ มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 0.56 ทั้งนี้ การนำเข้าจากไทยลดลงจากปี 2550 ร้อยละ 61.5 และนำเข้าลดลงจากมาเลเซีย อินโดนีเซีย และอินเดีย ร้อยละ 31.7, 12.9 และ 5.8 ตามลำดับ
  • สินค้าที่นอนและอุปกรณ์ นำเข้ารวมมูลค่า 112.6 ล้านเหรียญสิงคโปร์ ประเทศ คู่ค้าอันดับ 1 คือ จีน รองลงมาได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ไทยเป็นอันดับ 4 มูลค่านำเข้า 5.9 ล้านเหรียญ-สิงคโปร์ ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 5.3 นำเข้าเพิ่มขึ้นจากปี 2550 ร้อยละ 8.1 ประเทศอื่นๆรองจากไทย ได้แก่ ญี่ปุ่น เวียดนาม เดนมาร์ค สหรัฐฯ ไต้หวัน อินเดีย อิตาลี และฮ่องกง ทั้งนี้ นำเข้าลดลงจากญี่ปุ่นร้อยละ 11.0
  • ความนิยม :

ส่วนใหญ่ชาวสิงคโปร์นิยมสินค้าที่ผลิตจากจีนแต่ มีสไตล์แบบตะวันตก โดยที่ชาวสิงคโปร์ประกอบไปด้วยชาวจีน มาเลย์ อินเดีย และอื่นๆ ดังนั้น เชื้อชาติและศาสนามีอิทธิพลอย่างมากต่อการเลือกซื้อสินค้าประเภทนี้ ได้แก่ ชาวจีนนิยมสีที่สดใสโดยเฉพาะสีแดงและมีลายมากๆ ส่วนชาวมาเลย์นิยมสีสดใสเข้มๆและมีการตกแต่งระบายพริ้ว และชาวอินเดียนิยมสไตล์แขกที่มีสีพื้นเข้มทึบ เป็นต้น

  • บรรจุภัณฑ์และโครงสร้างราคา : ส่วนใหญ่บรรจุกล่องกระดาษแข็งมีลายสวยงามสีสดใสและด้านหน้าเป็นแผ่นพลาสติกในมองเห็นสินค้า สำหรับราคาขึ้นอยู่กับวัสดุและคุณภาพ เช่น
  • ผ้าปูโต๊ะขนาด 4 คน ราคาประมาณ 20 - 120 เหรียญสิงคโปร์
  • ผ้าปูที่นอนขนาดเตียงเดี่ยว ราคาประมาณ 25 — 175 เหรียญสิงคโปร์
  • ผ้าประดับโต๊ะอาหาร ขนาด 8 ที่นั่ง ราคาประมาณ 45 — 250 เหรียญสิงคโปร์
  • แนวโน้มการซื้อขาย : เนื่องจากภาคการก่อสร้างในสิงคโปร์มีการเจริญเติบโตมาก โดยในปี 2551 ขยายตัวร้อยละ 25 ด้วยมีโครงการขนาดใหญ่คือ Integrated Resorts (IRs) 2 โครงการที่ Marina Bay และเกาะ Sentosa อีกทั้งมีโครงการสร้างที่พักอาศัยของ Housing Development Board (HDB) จึงคาดว่า สินค้า Home Textiles Products จะมีความต้องการมากขึ้นในปีนี้ และต่อเนื่องไปอีก ช่วงระยะ 2-3 ปี ข้างหน้า นอกจากนี้ โรงแรมต่างๆ มีนโยบายที่จะปรับปรุงสถานที่และสิ่งตกแต่งภายในให้มีความสวยงามทัดเทียมกับโรงแรมใหม่ของ IRs ที่จะสร้างแล้วเสร็จในปี 2553-2555 จึงทำให้สินค้าฯ มีความต้องการเพิ่มขึ้นต่อไปอีกระยะหนึ่ง ทั้งนี้ ความต้องการสินค้าฯของชาวสิงคโปร์จะยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี จากเหตุผลที่ชาวสิงคโปร์แยกไปตั้งครอบครัวใหม่ประมาณร้อยละ 8 ต่อปี และการถือปฏิบัติตามวัฒนธรรมประเพณีซึ่งต้องเปลี่ยนเครื่องใช้ในบ้านก่อนถึงเทศกาลปีใหม่ โดยเชื้อชาติจีน เปลี่ยนก่อนเทศกาลตรุษจีน(เดือนมกราคม/กุมภาพันธ์) เชื้อชาติมาเลย์ เปลี่ยนก่อนเทศกาล Hari Raya Puasa (เดือนกันยายน) และเชื้อชาติอินเดีย เปลี่ยนก่อนเทศกาล Deepavali (เดือนตุลาคม)
(3) Interior Decorative Products
  • รูปแบบสินค้า ได้แก่ เครื่องใช้ต่างๆสำหรับการตกแต่งภายในสถานที่ซึ่งผลิตจากวัสดุต่างๆ (พลาสติก แก้ว เซรามิค PVC ไม้) เช่น เฟอร์นิเจอร์ แจกัน โคมไฟ เป็นต้น
  • การนำเข้า ในปี 2551 สรุปได้ ดังนี้
  • สินค้าเฟอร์นิเจอร์ มูลค่านำเข้ารวม 1,594.2 ล้านเหรียญสิงคโปร์ ตลาดนำเข้าสำคัญ 10 อันดับแรก ได้แก่ จีน มาเลเซีย สหรัฐฯ อิตาลี เยอรมนี ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และไต้หวัน สำหรับไทยเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 13 มูลค่านำเข้า 19.7 ล้านเหรียญสิงคโปร์ ลดลงจากปีก่อนหน้าร้อยละ 3.5 ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 1.24 สำหรับตลาดส่งออกสำคัญ 10 อันดับแรก ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย จีน อินเดีย ไทย ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร สหรัฐฯ และ ฮ่องกง

อนึ่ง อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ของสิงคโปร์มีมูลค่าสูงถึง 1.1 พันล้านเหรียญ-สิงคโปร์ต่อปี ขยายตัวในอัตราร้อยละ 11 ซึ่งการร่วมลงทุนในต่างประเทศ เป็นประการสำคัญที่ทำให้ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ของสิงคโปร์อยู่รอดได้ ในช่วงปี 2523 เฟอร์นิเจอร์เป็นสินค้าที่ทำให้การเจริญเติบโตเศรษฐกิจของสิงคโปร์สูงขึ้น แต่ต่อมาสินค้าอิเล็คทรอนิกส์ได้เข้ามาแทนที่ ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ต้องปรับเปลี่ยน ย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศในเอเชียและส่งออกสินค้าไปยังตลาดทั่วโลก ซึ่งส่งผลให้อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์มีการเจริญเติบโตมากขึ้น โดยมีโรงงานผลิตจำนวน 681 แห่ง (พนักงาน 6,953 อัตรา) อยู่ในจีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย และเวียดนาม

  • สินค้าโคมไฟและไฟประดับ นำเข้ารวมมูลค่า 255.5 ล้านเหรียญสิงคโปร์ ประเทศ คู่ค้าอันดับ 1 คือ จีน รองลงมาได้แก่ เยอรมนี ฮังการี สหรัฐฯ อิตาลี ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส มาเลเซีย สหราช-อาณาจักร ออสเตรเลีย ฮ่องกง และนำเข้าจากไทยเป็นอันดับที่ 15 มูลค่า 5.6 ล้านเหรียญสิงคโปร์ ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 1.6 (นำเข้าลดลงจากปีก่อนหน้าร้อยละ 14.6) ทั้งนี้ นำเข้าลดลงจากฝรั่งเศส สหราช-อาณาจักร และฮ่องกง ร้อยละ 11.6, 22.5 และ 22.2 ตามลำดับ
  • บรรจุภัณฑ์ ส่วนใหญ่ไม่มีบรรจุภัณฑ์เฉพาะ เมื่อมีผู้ซื้อสินค้าฯ ผู้ขายจะจัดห่อสินค้าฯให้ด้วยวัสดุที่สามารถป้องกันความเสียหายของสินค้าฯ ในขณะที่นำส่งให้ลูกค้า
  • โครงสร้างราคา
  • สินค้าเฟอร์นิเจอร์ ได้แก่ (1) เก้าอี้ชุดโซฟา PVC ขนาด 3+2 ที่นั่ง ราคาประมาณ 700-1,600 เหรียญสิงคโปร์ (2) โต๊ะทานอาหาร(แก้ว)ชุด 6 เก้าอื้ ราคาประมาณ 800-1,900 เหรียญสิงคโปร์ (3) โซฟาเตียงนอน (เดี่ยว) ราคาประมาณ 400-800 เหรียญสิงคโปร์ เป็นต้น
  • โคมไฟและไฟประดับ ราคาประมาณ 30 — 1,500 เหรียญสิงคโปร์
  • แนวโน้มการซื้อขาย

เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมการก่อสร้างยังคงขยายตัวและคาดว่าจะมีความเจริญเติบโตต่อไปอีกระยะหนึ่ง จึงทำให้สินค้าฯ เป็นที่ต้องการมาก แต่ผู้ผลิตไทยคงต้องแข่งขันกับผู้ผลิตสิงคโปร์ นอกจากนี้ สิงคโปร์มีหน่วยงานให้การสนับสนุน ได้แก่

1. International Enterprise Singapore (IE Singapore) แผนก Lifestyle and Business Services (Website: www.iesingapore.gov.sg) จัดนำคณะนักธุรกิจ และคณะผู้แทนการค้าเดินทางไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก เพื่อประชา สัมพันธ์และขยายตลาดสินค้า สร้างโอกาสและประสบการณ์ ให้มีความเข้าใจตลาดต่างประเทศ เพื่อบริษัทจะได้ผลิตสินค้าได้ตรงตามความต้องการ และสร้างเครือข่ายธุรกิจด้วย ให้ความสำคัญอย่างมากแก่ตลาดนิวเดลฮี มุมไบ รัสเซีย และลาตินอเมริกา ทั้งนี้ IE Singapore ทราบดีว่า บริษัทเฟอร์นิเจอร์สิงคโปร์จะประสบปัญหาเมื่อเข้าสู่ตลาดโลก ที่มีการแข่งขันสูง และคู่แข่งจำนวนมาก ซึ่งสินค้าเกรดสูง จะต้องแข่งขันกับผู้ผลิตของประเทศในยุโรปที่มีชื่อเสียงมานาน และสินค้าเกรดกลาง-ต่ำ ต้องแข่งขันกับตลาดใหม่ เช่น จีน และเวียดนาม ดังนั้น ผู้ผลิตสิงคโปร์จำเป็นต้องสร้างสรรรูปแบบใหม่ๆ เข้ามาอย่างต่อเนื่อง และพัฒนาให้สินค้ามีคุณภาพอยู่ในระดับเดียวกับคู่แข่งขัน โดยบริษัทผู้ผลิต/ผู้ส่งออกเฟอร์นิเจอร์สิงคโปร์ได้รวมตัวจัดตั้งแกนกลางในการนำเสนอสินค้าเฟอร์นิเจอร์ในงานแสดงสินค้านานา- ชาติ ใช้ชื่อว่า Mozaic

2. Singapore Furniture Industries Council (SFIC) (Website: iffs.com.sg)

ดำเนินงานสนับสนุนในด้านต่างๆ ดังนี้

  • ประสานงานข้อมูลเกี่ยวกับเฟอร์นิเจอร์ให้แก่บริษัทเฟอร์นิเจอร์ที่เป็นสมาชิก ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มสำคัญ ได้แก่ กลุ่มการผลิต ค้าส่งและค้าปลีก และ contract work นอกจากนี้ มีกลุ่มสนับสนุนอื่นๆ อาทิ การค้นคว้าและออกแบบ การจัดหาวัตถุดิบ อุปกรณ์/เครื่องมือ
  • จัดงาน International Furniture Fair Singapore เป็นประจำทุกปี ซึ่งในช่วงการจัดงาน 5 วัน มีมูลค่าการซื้อ-ขายประมาณ 240 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อีกทั้งเป็นการสนับสนุน Singapore’s MICE (Meeting, Incentives, Conventions and Exhibitions) และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวด้วย
  • จัดโปรแกรมต่างๆ ภายใต้ Local Enterprise and Association Development (LEAD) Programme สำหรับสมาชิกเข้าร่วม อาทิ Designer Co-Development Programme, The Designer Entrepreneur Development Programme, Exporters Mentoring Programme
  • จัดตั้ง International Furniture Centre : IFC (Website: www.ifcsingapore.com) ซึ่งสร้างแล้วเสร็จและเปิดดำเนินธุรกิจเมื่อกลางปี 2550 บนพื้นที่มากกว่า 160,000 ตารางฟุต เป็นศูนย์ กลางรวมผลงานของบริษัทผู้ผลิตที่มีชื่อเสียงและได้รับรางวัล ได้แก่ 2010 Lifestyle Pte. Ltd., Ackerman and Smith Pte. Ltd., Aero Furnishing Furniture Pte. Ltd., Barang Barang Pte. Ltd., Brighton Furniture Display Centre, Bedding Specialist, Cellini Design Centre Pte. Ltd., City Furniture Company Pte. Ltd., FBT Furniture Pte. Ltd., Country Style Furniture Pte. Ltd., Furniture Club Holdings Pte. Ltd., Gets Bros & Co (S) Pte. Ltd., I VIVI Pte. Ltd., Home Themes Pte. Ltd., King Furniture Pte. Ltd., Lorenzo International Pte. Ltd., Picket & Rail Holding Pte. Ltd., Mondi Lifestyle Pte. Ltd., Sal Sal Living Pte. Ltd., Summit House Singapore Pte. Ltd., Siang Ching Furniture Pte. Ltd., Lucano by Star Furniture Group, Unikhome Pte. Ltd., Unironna Pte. Ltd. และ Winter International Group Pte. Ltd.
(4) Artificial Flowers
  • รูปแบบสินค้า ได้แก่ ดอกไม้ประดิษฐ์ที่ทำจากวัสดุต่างๆ ได้แก่ ผ้า พลาสติก ยางพารากระดาษเคลือบ เป็นต้น ส่วนใหญ่เป็นดอกไม้ที่ประดิษฐ์ให้เหมือนธรรมชาติทั้งรูปลักษณ์ ขนาดและสี
  • การนำเข้า สิงคโปร์นำเข้าดอกไม้ประดิษฐ์ ในปี 2551 มูลค่ารวม 6.8 ล้านเหรียญสิงคโปร์ โดยนำเข้าอันดับ 1 จาก จีน รองลงมาได้แก่ ฮ่องกง มาเลเซีย ฝรั่งเศส สหรัฐฯ อินเดีย และนำเข้าจากไทยเป็นอันดับที่ 7 มูลค่า 93,000 เหรียญสิงคโปร์ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 2.8 ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 1.4 ประเทศคู่แข่งขันสำคัญในเอเชีย ได้แก่ ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม
  • บรรจุภัณฑ์ ส่วนใหญ่สินค้าจะจัดจำหน่ายโดยการนำดอกไม้มาจัดเป็นแจกันขนาดต่างๆ หรือจัดเป็นช่อนำบรรจุในกล่องพลาสติกใสผูกโบว์
  • โครงสร้างราคา ส่วนใหญ่สินค้าฯที่ผลิตจากจีน จะมีราคาที่ถูกกว่าแหล่งผลิตอื่นๆ
  • จำหน่ายเป็นก้าน เป็นดอก และเป็นช่อ ราคาประมาณ 3 — 15 เหรียญสิงคโปร์
  • จำหน่ายเป็นช่อบรรจุกล่อง ราคาประมาณ 18 - 45 เหรียญสิงคโปร์
  • จำหน่ายเป็นแจกัน ราคาตามขนาดเล็ก กลาง ใ หญ่ ประมาณ 40 — 300 เหรียญสิงคโปร์
  • แนวโน้มการนำเข้า และการซื้อขาย
  • การนำเข้าจะมีปริมาณสูงในช่วงก่อนเทศกาลต่างๆ โดยเฉพาะเทศกาลคริสต์มาส/ ปีใหม่ และเทศกาลตรุษจีน ที่ผู้ซื้อนิยมจัดหาเพื่อมอบเป็นของขวัญและตกแต่งบ้านเพื่อต้อนรับเทศกาล นอกจากเทศกาลดังกล่าว ชาวสิงคโปร์ให้ความสำคัญในวันวาเลนไทน์อย่างมาก ซึ่งจะมอบดอกกุหลาบให้แก่กันและกัน ไม่เฉพาะดอกไม้สดที่ใช้เท่านั้น ยังนิยมจัดช่อดอกกุหลาบประดิษฐ์เพื่อการนี้ด้วย เนื่องจากในช่วงวันวาเลนไทน์ ดอกไม้สดจะมีราคาสูงมากและต้องยุ่งยากจัดหาภายในวันนั้น จึงทำให้ดอกไม้ประดิษฐ์ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ สินค้าฯนอกจากจะจัดจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้าทั่วไปแล้ว ยังมีการจำหน่ายตามร้านดอกไม้สดทั่วไปด้วย
  • การสร้างโรงแรมและที่พักอาศัยเพิ่มขึ้น จะส่งผลให้ดอกไม้ประดิษฐ์มีความต้องการเพิ่มมากขึ้น ที่จะใช้ประดับสถานที่ให้มีความสดใส สวยงามเป็นธรรมชาติ รวมทั้งให้ความสะดวกและลดค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา คาดว่าจะมีอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 5
(5) Houseware Products
  • รูปแบบสินค้า แบ่งออกเป็นประเภทตามวัสดุที่ใช้ในการผลิต ได้แก่ พลาสติก ไม้ Porcelain และแก้ว ซึ่งผลิตเพื่อประโยชน์ใช้สอยในครัวเรือน
  • การนำเข้าในปี 2551 สรุปได้ ดังนี้
  • เครื่องใช้ที่ผลิตจากพลาสติก นำเข้ารวมมูลค่า 90.9 ล้านเหรียญสิงคโปร์ นำเข้าอันดับ 1 จาก จีน รองลงมาได้แก่ มาเลเซีย ไต้หวัน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และนำเข้าจากไทยเป็นอันดับที่ 6 มูลค่า 5.5 ล้านเหรียญสิงคโปร์ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 42.3 ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 6.1 ประเทศคู่ค้าสำคัญอื่นๆ ได้แก่ ฮ่องกง เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย และฝรั่งเศส
  • เครื่องใช้ที่ผลิตจากไม้ นำเข้ารวมมูลค่า 3.2 ล้านเหรียญสิงคโปร์ นำเข้าอันดับ 1 จาก จีน รองลงมาได้แก่ เวียดนาม ญี่ปุ่น ฮ่องกง มาเลเซีย ออสเตรเลีย และนำเข้าจากไทยเป็นอันดับที่ 7 มูลค่า 49,000 เหรียญสิงคโปร์ ลดลงจากปีก่อนหน้าร้อยละ 70.5 ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 1.5 ประเทศคู่ค้าสำคัญอื่นๆ ได้แก่ ไต้หวัน สหรัฐฯ ฝรั่งเศส และอินโดนีเซีย
  • เครื่องใช้ที่ผลิตจาก Porcelain นำเข้ารวมมูลค่า 39.2 ล้านเหรียญสิงคโปร์ นำเข้าอันดับ 1 จาก จีน รองลงมาได้แก่ มาเลเซีย ฝรั่งเศส อินโดนีเซีย สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และนำเข้าจากไทยเป็นอันดับที่ 9 มูลค่า 1.1 ล้านเหรียญสิงคโปร์ ลดลงจากปีก่อนหน้าร้อยละ 11.7 ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 2.7 ประเทศคู่ค้าสำคัญอื่นๆ ได้แก่ ฮ่องกง เกาหลีใต้ อิตาลี และไต้หวัน
  • เครื่องใช้ที่ผลิตจากแก้ว นำเข้ารวมมูลค่า 51.6 ล้านเหรียญสิงคโปร์ นำเข้าอันดับ 1 จาก ฝรั่งเศส รองลงมาได้แก่ จีน เยอรมนี สหรัฐฯ อิตาลี ญี่ปุ่น และนำเข้าจากไทยเป็นอันดับที่ 7 มูลค่า 1.9 ล้านเหรียญสิงคโปร์ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 14.9 ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 3.8 ประเทศคู่ค้าสำคัญอื่นๆ ได้แก่ มาเลเซีย ฮ่องกง เบลเยี่ยม และออสเตรีย
  • บรรจุภัณฑ์ และราคาจำหน่าย
  • เครื่องใช้ในครัวเรือนและของใช้บนโต๊ะอาหาร ที่ไม่จัดเป็นชุด ส่วนใหญ่จะบรรจุกล่องกระดาษแข็งสีน้ำตาล หรือไม่มีการบรรจุภัณฑ์ ราคาจำหน่ายขึ้นอยู่กับประเภทของสินค้าและวัสดุที่ใช้ผลิต เช่น (1) จานอาหาร Pocelain ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 9 นิ้ว ราคาประมาณ 8 — 35 เหรียญสิงคโปร์ (2) แก้วน้ำ ขนาดสูง 4 นิ้ว ราคาประมาณ 3 — 25 เหรียญสิงคโปร์ (3) ชามสลัดไม้ ราคาประมาณ 15 — 30 เหรียญสิงคโปร์
  • เครื่องใช้ในครัวเรือนและของใช้บนโต๊ะอาหาร ที่จัดเป็นชุด 4 คน 6 คน 8 คน และ 12 คน จะบรรจุกล่องกระดาษแข็งสีสรรสวยงาม ราคาจำหน่ายประมาณชุดละ 60 — 500 เหรียญสิงคโปร์
  • นอกจากนี้ ยังมีชุดที่พร้อมสำหรับเป็นของขวัญ เช่น (1) แก้ว 2 ใบ บรรจุกล่องสวยงาม ด้านหนึ่งเป็นพลาสติกใสมองเห็นสินค้า ราคาประมาณ 10 — 45 เหรียญสิงคโปร์ (2) ขวดโหลลวดลายดอกไม้/ผลไม้ สำหรับใส่อาหาร/ขนม บรรจุกล่องพลาสติกใส/กล่องอลูมิเนียม ราคาประมาณ 8 — 30 เหรียญสิงคโปร์ (3) ถ้วยชา/กาแฟพร้อมจานรอง 2 ที่ บรรจุกล่องพลาสติกใส/กล่องอลูมิเนียม ราคาประมาณ 12 — 40 เหรียญสิงคโปร์ เป็นต้น
  • แนวโน้มการนำเข้า และการซื้อขาย
  • ส่วนใหญ่จะมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาล เพื่อใช้เป็นของขวัญ
  • ผู้ซื้อที่น่าสนใจนอกจากผู้นำเข้าทั่วไป คือ ผู้จัดหาสินค้า (Supplier) ให้แก่โรงแรมและภัตตาคารต่างๆในสิงคโปร์ แต่จะมีข้อจำกัดในการเก็บสต๊อก เนื่องจากไม่มีพื้นที่เพียงพอสำหรับการเก็บสต๊อกในสิงคโปร์ ดังนั้น ผู้ผลิตไทยพึงควรระวังในปัญหานี้ เนื่องจากจะทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นสำหรับการเก็บสต๊อกในไทยและการจัดส่งสินค้าไปยังสิงคโปร์ในแต่ละครั้งที่มีปริมาณไม่มาก
ข้อคำนึงถึงที่ผู้ผลิต/ผู้ส่งออกไทยควรรับทราบ เมื่อทำการค้า-ขายกับสิงคโปร์ ในเรื่องต่อไปนี้

(1) สิงคโปร์ไม่เรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าของขวัญ ของตกแต่งประดับบ้าน แต่ภาษี ที่ต้องเสียคือ ภาษีสินค้าและบริการ (Goods and Services Tax : GST) ร้อยละ 7

(2) สภาพบ้านเมืองของสิงคโปร์มีพื้นที่จำกัด การสร้างสำนักงานและที่พักอาศัยจึงต้องสร้างในแนวตั้งสูง (Vertical Grow Up) ให้ได้พื้นที่ใช้งานได้มาก โดยเฉพาะที่พักอาศัยซึ่งส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 90 ของที่พักอาศัยเป็นในรูปแบบตึกสูงโครงการเคหะ (Housing Board Development : HDB) และตึกสูง Condominium (เอกชน) และร้อยละ 10 เป็นบ้านหลัง

(3) ขนาดของที่พักอาศัยส่วนใหญ่ เหมาะสมกับของใช้/ของประดับตกแต่งบ้านที่มีขนาดเล็ก และสามารถใช้งานได้หลายลักษณะ ทั้งในการใช้เป็นของตกแต่งให้มีบรรยากาศสวยงามและเป็นของที่ใช้ในชีวิตประจำวันควบคู่กันไป

(4) การรวมตัวของหลายเชื้อชาติ(จีน มาเลย์ อินเดีย และอื่นๆ) เป็นชาวสิงคโปร์ เป็น ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เอกลักษณ์ในการเลือกซื้อสินค้าและตกแต่งให้บ้านเป็นแบบฉบับของตน ซึ่งผู้ผลิตไทยอาจจะผลิตสินค้าฯ เพื่อรสนิยมตามเชื้อชาติ สามารถส่งเสริมให้สินค้าฯเป็นที่นิยมของชาวสิงคโปร์ทุกเชื้อชาติ เพื่อการขยายตลาดสินค้าในสิงคโปร์

(5) การส่งออกสินค้าฯเพื่อจำหน่ายในตลาดสิงคโปร์ จะได้เพียงสำหรับตลาดจำนวนประมาณ 4 ล้านกว่าคน ซึ่งการขยายตัวจะอยู่คงที่ในแต่ละปี แต่หากใช้จุดแข็งของสิงคโปร์ที่มีศักยภาพ ได้แก่ ด้านการค้า เครือข่ายธุรกิจกับคนสัญชาติจีนในประเทศต่างๆ ศูนย์กลางสำคัญด้านการเงินการธนาคารและการโลจิสติกส์ในการจัดการด้าน Supply Chain ในระดับมาตรฐานโลก รวมทั้งการเป็นศูนย์กลางในด้านต่างๆทำการค้ากับทั่วโลก เช่น (1) ประตูเปิดสู่เอเซีย-แปซิฟิก (2) ศูนย์กลางการค้า/บริการของภูมิภาค (3) ศูนย์กลางการเดินเรือพาณิชย์ (4) ศูนย์กลางการเงินของภูมิภาค

(5) ศูนย์กลางการบินพาณิชย์ เป็นต้น และใช้สิงคโปร์ที่มีการค้าอย่างเสรี ให้เป็น Gateway ทำธุรกิจในลักษณะ Trading Hub จัดการด้านการเงิน/ธนาคาร การสื่อสารและการคมนาคมขนส่ง และเป็นเอเย่นต์ส่งออกต่อ(re-export) สินค้าที่ไทยผลิตไปสู่ประเทศที่สามเพื่อขยายการส่งออกไปยังประเทศนานาชาติและประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค โดยเฉพาะอินโดนีเซียและบรูไนที่มีความมั่นใจในสิงคโปร์เป็นเสมือนบริษัทแม่ นอกจากนี้ สิงคโปร์มีนโยบาย Regionalization คือ จะทำการค้าและการลงทุนกับประเทศในเอเชียมากขึ้น ดังนั้น สิงคโปร์สามารถเป็นตัวแทนการค้าให้แก่ผู้ผลิต/ผู้ส่งออกไทยที่ควรพิจารณาร่วมลงทุนและส่งเสริมการส่งออกสินค้าต่อไป อาจเป็นไปในลักษณะที่ไทยผลิตสิงคโปร์ทำการตลาด

(6) การติดต่อนำเสนอสินค้าฯต่อผู้นำเข้าสิงคโปร์ ควรจัดทำข้อมูลรายละเอียดให้ครบถ้วน ได้แก่ราคา รายการ/รูปแบบสินค้า ระยะเวลาส่งมอบ เป็นต้น และกรุณาตอบข้อสอบถามพร้อมติดตามผลอย่างต่อเนื่อง ปัญหาที่ผู้นำเข้าสิงคโปร์ได้ประสบคือ ผู้ผลิตไทยชะลอและใช้เวลานานมากในการตอบข้อสอบถาม

(7) การที่ประเทศไทยเป็นแหล่งแห่งวัตถุดิบเกือบทุกประเภท ทำให้ไทยมีความล้ำหน้า ไม่จำเป็นต้องเสาะหาวัตถุดิบเพื่อการผลิต อีกทั้งบุคคลากรไทยรุ่นใหม่มีหัวคิดสร้างสรรและมีจิตใจที่จะปฏิรูปการผลิตใหม่ๆ แต่เนื่องจากช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ถึงปัจจุบันไทยมีอัตราค่าครองชีพที่สูงขึ้นและสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง จึงทำให้ต้นทุนการผลิตสูงตามไปด้วย ทำให้ราคาสินค้าไม่สามารถแข่งขันได้ในตลาดสิงคโปร์ ดังนั้น หากผู้ผลิตไทยสามารถปรับเปลี่ยนการใช้วัสดุและลดราคาต้นทุนลง จะทำให้ราคาแข่งขันได้ และส่งผลให้การขยายการส่งออกสินค้าไปยังตลาดสิงคโปร์ได้เพิ่มมากขึ้น

(8) การขยายตลาดของสิงคโปร์ไปยังภูมิภาคต่างๆ ได้ทำให้อุตสาหกรรมต่างๆของสิงคโปร์อยู่รอดได้ และส่งผลให้สามารถนำสินค้าเกรดสูงเข้าสู่ตลาดโลก ซึ่งผู้ผลิตฯ ได้ขยายธุรกิจไปยังตลาดนานาชาติ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น ตะวันออกกลาง และตลาดใหม่ ทั้งที่เป็นการส่งออกสินค้า การตกแต่งโครงการอสังหาริมทรัพย์ และจัดตั้งร้านค้าปลีก รวมถึงการจัดตั้งสำนักงานในประเทศต่างๆ ทั่วโลก

(9) บริษัทสิงคโปร์ยึดถือหลักการสำคัญ ได้แก่

1. ทำการควบคุมการผลิต การส่งออกและจัดส่งสินค้าตรงตามกำหนดเวลา

2. ราคาที่สามารถแข่งขันได้

3. ติดตามความต้องการ/การเปลี่ยนแปลงของตลาดอย่างสม่ำเสมอ

4. รักษาระดับคุณภาพสินค้าโดยใช้เทคโนโลยีก้าวหน้าทันสมัย และเพิ่มมูลค่าสูงให้แก่สินค้า

5. เน้นการให้บริการอย่างดี

6. สามารถปรับการผลิตได้ตามความต้องการ ทั้งปริมาณ รูปแบบ ขนาด และสี

7. เข้าร่วมในงานแสดงสินค้าต่างๆ เพื่อสร้างเครือข่ายนานาชาติ

8. สร้างยี่ห้อของตนเอง รวมทั้งโฆษณาประชาสัมพันธ์และการให้สปอนเซอร์

9. ร่วมลงทุนในต่างประเทศ

นโยบายสนับสนุนของภาครัฐ ในภาพรวม ดังนี้
  • ในช่วงเวลาปกติ หน่วยงาน International Enterprise Singapore (IE Singapore) เป็นหน่วยงานหลักให้การสนับสนุนในการนำคณะผู้แทนการค้าสิงคโปร์เข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติ โดยเป็นหัวหอกและช่วยประสานงาน ซึ่งสมาคมการค้าต่างๆจะเป็นผู้รวบรวมบริษัทผู้สนใจเข้าร่วมงาน
  • ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก ปี 2552 ภาครัฐสิงคโปร์ได้ให้ความช่วยเหลือ ดังนี้ด้านการเงิน การค้า การอุตสาหกรรม และการลงทุน
  • รัฐบาลจัดสรรเงินงบประมาณ 5.8 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ เพื่อกระตุ้นธนาคารให้
บริษัทกู้ยืมเงิน (Stimulating Bank Lending) โดยจัดให้มีโปรแกรมเพื่อช่วยเหลือบริษัทโดยเฉพาะ SMEs
  • Enhancing Business Cash Flow and Competitiveness รัฐบาลออกระเบียบและมาตรการต่างๆเพื่อลดหย่อนภาษี ซึ่งรัฐบาลจะสูญเสียรายได้รวม 2.6 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ เพื่อช่วยเหลือให้บริษัทมีเงินทุนหมุนเวียนและสร้างความสามารถในการแข่งขันทางการค้าแก่บริษัทสิงคโปร์

การนำเข้า/ส่งออก

  • รัฐบาลจัดตั้งโปรแกรม New Export Coverage Scheme (ECS) โดยการดูแลของ International Enterprise Singapore (IE Singapore) ช่วยเหลือค่าใช้จ่ายครึ่งหนึ่งของเบี้ยประกันแต่ไม่เกิน 100,000 เหรียญสิงคโปร์ สำหรับบริษัทที่ทำการค้าต่างประเทศซึ่งมีรายได้ต่อปีน้อยกว่า 80 ล้านเหรียญ-สิงคโปร์ เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2552 เป็นต้นไป เพื่อช่วยเหลือบริษัทผู้ส่งออกในสิงคโปร์ประมาณ 1,000 ราย
  • หน่วยงาน IE Singapore จัดสรรงบประมาณ 66 ล้านเหรียญสิงคโปร์ในการส่งเสริมการส่งออก (Export Promotion) ซึ่งบริษัทประมาณ 5,000 ราย จะได้รับสิทธิประโยชน์ รวมทั้งสมาคมการค้าและหอการค้าต่างๆที่จะจัดงานแสดงสินค้านานาชาติและการนำคณะนักธุรกิจสิงคโปร์เยือนต่างประเทศ

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ สิงคโปร์ฯ

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ