กรมส่งเสริมการส่งออกจับมือสมาคมอัญมณีของไทยและญี่ปุ่น ติวเข้มพนักงานขายในญี่ปุ่น

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 9, 2009 12:09 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย ผู้ซื้อลดการใช้จ่าย เมื่อสินค้าขายได้ลดลงก็ส่งผลกระทบต่อทุกฝ่ายและท้ายที่สุดย่อมกระทบไปถึงกลุ่มแรงงานที่อยู่ในขบวนการผลิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กรมส่งเสริมการส่งออกตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้ และเข้าไปให้ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับผู้ประกอบการ ทั้งของไทย และในตลาดหลักๆ เพื่อร่วมกันจัดกิจกรรมกระตุ้นการขาย

ผู้ซื้อบางกลุ่มมองว่า อัญมณีและเครื่องประดับเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยที่ตัดทอนการใช้จ่ายได้ง่ายที่สุดขณะที่บางกลุ่มมองว่าการซื้อเครื่องประดับราคาแพง เป็นการให้รางวัลกับตัวเองในช่วงที่ทำงานหนัก ตลาดจึงยังมีโอกาสอีกมาก แม้ในภาวะที่เศรษฐกิจฝืดเคือง กรมส่งเสริมการส่งออกจึงได้ให้การสนับสนุนแนวคิดเรื่องการร่วมมือกันพัฒนาบุคคลากรฝ่ายขายของร้านเครื่องประดับในญี่ปุ่น โดยร่วมมือกันสามฝ่ายกับ Japan Jewelry Association; Japan Color Stone Promotion และ Thai Gems and Jewelry Trade Association เป็นการผนึกกำลังระหว่างภาครัฐ คือ กรมส่งเสริมการส่งออก กับสมาคมผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทย และสมาคมอัญมณีและสมาคมส่งเสริมพลอยสีของญี่ปุ่น จัดกิจกรรมติวเข้มพนักงานขายของร้านค้าปลีกเครื่องประดับในญี่ปุ่น เน้นจุดขาย และแนะนำเทคนิกที่พนักงานขายควรรู้ สำหรับใช้บอกกล่าวและจูงใจลูกค้า

การอบรมพนักงานขายในญี่ปุ่นจัดขึ้นในวันที่ 24 สิงหาคม, 25 สิงหาคม และ 27 สิงหาคม 2552 ที่ นครโอซา( 119 คน) กรุงโตเกียว (139 คน) และเมืองนาโกยา ( 104 คน) ตามลำดับซึ่งเป็นเมืองศูนย์กลางการขายและตลาดอัญมญีและเครื่อง ประดับที่สำคัญของประเทศ มีพนักงานขายของร้านค้าเข้าร่วมสัมมนาประมาณ 362 คน สูงกว่าจำนวนที่นั่งที่จัดเตรียมไว้ 300 คน โดยได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิชาวญี่ปุ่น ที่มีคร่ำหวอดในวงการเครื่องประดับ มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านการขายมานาน จึงรอบรู้เรื่องอัญมณีเป็นอย่างดีว่าสินค้าแต่ละชนิดควรใช้จุดขายอย่างไร การแนะนำยังรวมถึงกลยุทธ์ตลาดที่เหมาะสมจะนำมาใช้ในแต่ละสภาพเศรษฐกิจ เคล็ดลับการจูงใจลูกค้า รวมถึง เกล็ดข้อมูลที่เป็นหัวใจของการขาย เช่น อัญมณีสีแต่ละชนิดมีความเหมือนหรือต่างจากเครื่องประดับอื่นอย่างไร แนวโน้มแฟชั่น การผสมสีอัญมณีบนเครื่องประดับ ลักษณะของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ความคาดหวังของตลาด และกลยุทธ์การเอาใจลูกค้า

การอบรมนี้มีขึ้นเป็นครั้งแรก และไทยก็เป็นประเทศแรกที่จับมือกับญี่ปุ่นเจาะลึกไปยังกลุ่มบุคคลากรที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของการขาย เพราะเห็นพ้องกันว่า เขาเหล่านี้ เป็นบุคคลที่ใกล้ชิดกับลูกค้ามากที่สุด และลูกค้าก็มักจะเชื่อถือข้อมูลที่ได้รับการแนะนำจากพนักงานขาย บรรยากาศของการอบรมจึงอบอวลไปด้วยความ สนใจใคร่รู้จากตัวแทนขายของร้านค้าต่างๆ ที่ทั้งจดบันทึกสาระของการบรรยายจากผู้เชี่ยวชาญ การสอบถามแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมสัมมนา

กลุ่มผู้เข้าร่วมการอบรมประกอบด้วย พนักงานของร้านค้าปลีก ( 38.6 % ของจำนวนผู้เข้าร่วมอบรมทั้งหมด) ห้างสรรพสินค้า( 28.4%) พ่อค้าส่ง( 16.5%) ผู้ผลิต (6.6%) นอกจากนี้ยังเป็นผู้บริหารระดับผู้จัดการ 38.7 % เป็นพนักงานขาย 45.8 % แสดงถึงการให้ความสำคัญของกลุ่มผู้ประกอบการค้าปลีกในญี่ปุ่น ต่อการอบรมที่มีขึ้นนี้ ซึ่งผู้บริหารของ Japan Jewelry Association และ Japan Color Stone Promotion รวมทั้งนายกสมาคม Thai Gems and Jewelry Trade Association วางแผนว่าจะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดและดำเนินกิจกรรมต่อในลักษณะนี้ต่อในปี 2553 นอกจากนี้ จะนำเอาสาระสำคัญของการอบรม มาจัดทำคู่มือสำหรับพนักงานขายเพื่อแจกจ่ายแก่ร้านค้าปลีกที่จำหน่ายอัญมณีของไทยด้วย

ญี่ปุ่นเป็นตลาดใหญ่สำหรับสินค้าเครื่องประดับ มีมูลค่านำเข้าร่วม 2,807.35 ล้านเหรียญสหรัฐฯในปี 2551 โดยนำเข้าจากไทย 158.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีส่วนแบ่ง 5.6 % ครึ่งแรกปี 2552 นำเข้ารวม 1,008.87 ล้านเหรียญฯ ลดลง 31.9 % โดยเป็นการลดลงของเครื่องประดับทุกรายการ นำเข้าจากไทย 63.7 ล้านเหรียญฯ ลดลง 22.9 % ขณะที่ญี่ปุ่นเป็นตลาด อันดับที่ 9 ของการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทย สินค้าที่ญี่ปุ่นนำเข้าจากไทยในช่วงครึ่งแรกปี 2552 ได้แก่ เครื่องประดับทอง (17.6 ล้านเหรียญ) เพชร (16.0 ล้านเหรียญฯ)เครื่องประดับเงิน (14.5 ล้านเหรียญฯ) พลอยสีต่างๆ(5.4 ล้านเหรียญฯ)

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ