ธุรกิจการรับรองเครื่องหมายฮาลาลในสหรัฐอเมริกา

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 21, 2009 09:41 —กรมส่งเสริมการส่งออก

บทนำ

ในปัจจุบัน ผู้บริโภคชาวมุสลิมในสหรัฐฯ มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ คาดว่ามีผู้บริโภคชาวมุสลิมอาศัยในสหรัฐฯ ประมาณ 8.5 ล้านคน และมีกำลังซื้อประมาณ 12 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ องค์การด้านศาสนาอิสลามในสหรัฐฯ ได้รณรงค์และผลักดันให้ชาวมุสลิมและเยาวชนมุสลิมเพิ่มการบริโภคอาหารที่เป็นฮาลาล

นอกจากนั้นแล้ว รัฐบาลสหรัฐฯ โดยกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) และ สำนักงานอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) ให้การสนับสนุนในด้านอาหารฮาลาล ได้แนะนำผู้ผลิต/ส่งออกสหรัฐฯ ที่ต้องการส่งออกสินค้าอาหาร ยา และ เครื่องสำอางไปยังตลาดผู้บริโภคมุสลิม ต้องได้รับการรับรองตราฮาลาล Islamic Food and Nutrition Council of America และ Islamic Services of America เป็นองค์กรที่รัฐบาลสหรัฐฯ ผู้ผลิตสินค้าสหรัฐฯ และ ผู้ส่งออกสหรัฐฯ คุ้นเคยและใช้บริการมากที่สุด

สถานะการณ์ของตลาดฮาลาล จึงเป็นเครื่องชักจูงให้เกิดองค์กร/หน่วยงาน หรือภาคเอกชนหันมาให้บริการรับรองฮาลาลมากขึ้น ปัจจุบัน มีจำนวน 7 หน่วยงาน ในสหรัฐฯ

1. Halal Food Council International (HFCI)

2. ISWA Halal Certification

3. Islamic Food and Nutrition Council of America (IFANCA)

4. Islamic Services of America (ISA)

5. Islamic Society of North America (ISNA)

6. Muslim Consumer Group for Food Products

7. Food Science and Technology, Mississippi State University

ข้อเท็จจริง

1. ผู้บริโภคมุสลิมในสหรัฐฯ มีความเชื่อว่า สินค้าที่ได้รับเครื่องหมายฮาลาล เป็นสินค้าฮาลาลที่แท้จริง ซึ่งผลิตถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม สามารถซื้อบริโภคได้ ผู้บริโภคมิได้ให้ความสำคัญว่าผู้ใด องค์กร/หน่วยงานไหน เป็นผู้ดำเนินการรับรองเครื่องหมาย

2. ผู้ผลิตสินค้าในสหรัฐฯ มักจะให้ความสำคัญต่อผู้ให้บริการรับรองเครื่องหมายฮาลาล ว่า รายใดมีชื่อเสียงมากกว่ากัน หรือพิจารณาลึกลงไปว่าในตลาดต่างประเทศที่ต้องการส่งออกสินค้าไปจำหน่าย ยอมรับเครื่องหมายของผู้ให้บริการรายใดในสหรัฐฯ

3. ผู้ผลิตสินค้าในสหรัฐฯมีความต้องการรับรองเครื่องหมายฮาลาล เพื่อจุดประสงค์จำหน่ายสินค้าภายในประเทศให้แก่ผู้บริโภคชาวมุสลิม และ เพื่อส่งออกไปยังกลุ่มประเทศมุสลิม

4. องค์กร/หน่วยงานให้บริการรับรองเครื่องหมายฮาลาลในสหรัฐฯ บริหารงานกันเป็นอิสระ ไม่มีการประสานงานหรือมีความร่วมมือซึ่งกันและกัน แต่เป็นการแข่งขันกันในด้านธุรกิจให้บริการรับรองเครื่องหมายฮาลาล ดังนั้น จึงไม่มีเครื่องหมายฮาลาลที่เป็นเอกลักษณ์ของสหรัฐฯ เพียงเครื่องหมายเดียว

5. ปัจจุบัน ไม่มีองค์การที่เป็นกลางและจัดตั้งขึ้นมาเพื่อกำกับดูแลและควบคุมในเรื่องการรับรองเครื่องหมายฮาลาล หรือกำหนดมาตรฐานฮาลาลเป็นกลางในสหรัฐฯ อีกทั้งภาครัฐบาลสหรัฐฯ ไม่เข้ามามีบทบาทในการกำกับและดูแล

6. มีผู้ผลิตสินค้าอาหารในสหรัฐฯ ที่ฉวยโอกาสพิมพ์เครื่องหมายรับรองฮาลาลลงบนสินค้าโดยไม่ผ่านการรับรอง ซึ่งเป็นการหลอกลวงผู้บริโภค ปัจจุบัน รัฐบาลใน 4 มลรัฐในสหรัฐฯ คือ อิลลินอยส์ มิชิแกน มินเนโซต้า และ นิวเจอร์ซี่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีผู้บริโภคมุสลิมอาศัยจำนวนมาก ได้ออกกฏหมายป้องกันการแอบอ้างตราฮาลาล และมีบทลงโทษต่อผู้กระทำผิด

การให้บริการรับรองเครื่องหมายฮาลาล

1. บุคคลทั่วไปสามารถจัดตั้งองค์กร/หน่วยงานขึ้นทำธุรกิจเสนอการให้บริการตรวจสอบและรับรองเครื่องหมายฮาลาลได้โดยเสรีภาพ ในสหรัฐฯ

2. ไม่มีองค์การที่เป็นกลางและจัดตั้งขึ้นมากำกับดูแลและควบคุมในเรื่องการรับรองฮาลาลในสหรัฐฯ อีกทั้งภาครัฐไม่เข้ามามีบทบาทในการกำกับและดูแล

3. การให้บริการรับรองเครื่องหมายฮาลาลในสหรัฐฯ จึงเป็นธุรกิจประการหนึ่ง ซึ่งใครก็ได้สามารถดำเนินการได้ หากเป็นผู้มีความรู้ในเรื่อง Food Science หรือมีความรู้ในเรื่องวิธีการฮาลาล ก็สามารถจัดตั้งธุรกิจขึ้นมาเสนอให้บริการได้

4. องค์กร/หน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นให้บริการรับรองเครื่องหมายฮาลาลบางแห่ง ไม่มีผู้ทรงคุณวุฒิประจำ มักจะใช้วิธีนำผู้ทรงคุณวุฒิจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากประเทศมาเลเซีย (Halal Malaysia) มาดำเนินการตรวจสอบโรงงาน

5. องค์กร/หน่วยงานที่ให้บริการรับรองเครื่องหมายฮาลาลจะคิดค่าธรรมเนียมการให้บริการตรวจสอบ (Fee Base Service) และรวมไปถึงการกำกับดูแล (Supervision) โดยจะคิดค่าธรรมเนียมต่อสินค้าและมีช่วงระยะเวลาของผลบังคับ

การสร้างควมเชื่อถือขององค์กร/หน่วยงาน

1. คุณสมบัติและประสบการณ์ของผู้บริหารกิจการ (เจ้าของธุรกิจ) จะเป็นหลักฐานอ้างอิงในเบื้องต้น เพื่อสร้างความเชื่อถือให้กับผู้มารับใช้บริการ เช่น องค์กร/หน่วยงานมีผู้บริหารหรือผู้ดำเนินการซึ่งความรู้ปริญญาเอก (Phd.) เรียนจบสาขา Food Science และ มีประสบการณ์ทำงานในวงการ Food Technology

2. ชื่อองค์กร/หน่วยงานเป็นปัจจัยสร้างความเชื่อถือได้ เช่น คณะ Food Science and Technology มหาวิทยาลัย Mississippi State University (MSU)ในรัฐ Mississippi สหรัฐฯให้บริการรับรองเครื่องหมายฮาลาล อีกทั้งดำเนินการโดยศาสตราจารย์ที่เป็นชาวมุสลิม ซึ่งเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่โรงงานผู้ผลิตและผู้บริโภค

3. การเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับองค์การ/หน่วยงานให้บริการในลักษณะเดียวกันในต่างประเทศ (Accreditation) จะเป็น Credential ที่เพิ่มศักยภาพให้แก่องค์กร/หน่วยงาน ซึ่งพบกว่า มีองค์กร/หน่วยงานจำนวน 3 แห่งในสหรัฐฯ คือ IFANCA, ISA และ HFCI มีความร่วมมือกับ JAKIM ของประเทศมาเลเซีย

4. พบว่าองค์กร/หน่วยงานที่ให้บริการรับรองและตรวจสอบ จะมีผู้บริหารเป็นคนมุสลิม มีชื่อเสียงเรียงนามเป็นมุสลิม และบางคนเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงและทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคม/ชมชนมุสลิม

แนวทางการสร้างชื่อเสียงและขยายตลาดการให้บริการรับรองเครื่องหมายฮาลาล

IFANCA และ ISA จัดได้ว่าเป็นองค์กรรับรองเครื่องหมายฮาลาลที่ประสบความสำเร็จมีชื่อเสียง และ เป็นที่ยอมรับมากในสหรัฐฯ ได้ดำเนินการมานานกว่า 30 ปีองค์กร/หน่วยงานที่ให้บริการรับรองเครื่องหมายฮาลาลดำเนินการส่งเสริมและขยาย

ตลาดให้บริการด้วยวิธีต่างๆ ซึ่งแตกต่างกันไป บางองค์การ/หน่วยงานที่มีกำลังคนมาก จะมีความ Active มาก ในขณะที่องค์กร/หน่วยงานที่มีกำลังคนน้อย ก็จะมีลูกค้าน้อยตามไปด้วย วิธีการที่ทำองค์กร/หน่วยงานประสบความสำเร็จทั้งด้านชื่อเสียงและการขยายตลาด แยกได้เป็น 2 แนวทาง ดังนี้

1. การสร้างศักยภาพให้เป็นที่ยอมรับในตลาด

1.1 องค์กร/หน่วยงานรับรองเครื่องหมายฮาลาลของสหรัฐฯ จะขอให้องค์การศาสนาอิสลามต่างประเทศรับรองการ (Endorsement) การดำเนินการรับรองเครื่องหมายฮาลาล

1.2 การเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับองค์กร/หน่วยงานให้บริการในลักษณะเดียวกันในต่างประเทศ เพื่อใช้เป็นช่องทางในการสร้างเครือข่าย (Network) ให้ยอมรับในต่างประเทศ

1.3 การจัดทำสัมมนาและการประชุม (Seminar & Conference) ด้านฮาลาล: พบว่า องค์กร Islamic Food and Nutrition Council และ Islamic Society of North America (ISNA) จะจัดการสัมมนาและประชุมขึ้นทุกปี และมีผู้ทรงคุณวุฒิด้านฮาลาลมาร่วมงานจากทั่วโลก ทั้งนี้ เพื่อแสดงให้เห็นว่า องค์กร/หน่วยงานมีศักยภาพ และ ดำเนินการเรื่องฮาลาลเอาจริงเอาจัง

1.4 การเขียนบทความเกี่ยวอาหารฮาลาลลงในนิตยสาร/วารสารอาหารในสหรัฐฯ

2. การส่งเสริมและการขยายการให้บริการ

2.1 การเข้าร่วมงานแสดงสินค้า: พบว่า องค์กร Islamic Food and Nutrition Council of America (IFANCA) และ Islamic Services of America (ISA) เข้าร่วมงานแสดงสินค้า IFT Food Expo ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าด้าน Food & Ingredients เป็นประจำทุกปี เพื่อเสนอขายบริการและประชาสัมพันธ์องค์กร

2.2 Islamic Food and Nutrition Council of America (IFANCA) และ Islamic Services of America (ISA) เป็นได้ว่าเป็นองค์กรที่ประสบความสำเร็จสูงและเป็นที่ยอมรับทั่วโลก จะดำเนินกลยุทธ์ตลาดให้บริการรับรองเครื่องหมายฮาลาล โดยการชี้ให้ลูกค้าเห็นว่า เครื่องหมายฮาลาลนั้นไม่เพียงแจ้งให้ผู้บริโภคทราบว่า อาหาร/สินค้าที่บริโภคถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลามเท่านั้น แต่ยัง เป็นปัจจัยที่สามารถช่วยขยายตลาดสินค้าและเพิ่มยอดขายได้

2.3 ลูกค้า องค์กร/หน่วยงาน IFANCA และ ISA ใช้วิธีการตลาดแบบ Knock Door ลูกค้า ซึ่งลูกค้าดังกล่าวจะได้มาจากงานแสดงสินค้า หรือการเข้าร่วมสัมมนา รวมทั้งลูกค้าที่ติดต่อมาโดยตรง โดยจะเดินทางไปพบลูกค้าทั้งในประเทศสหรัฐฯ และในต่างประเทศ

2.4 นอกจากวิธีการ Knock Door ลูกค้าด้วยตนเองแล้ว องค์กร/หน่วยให้รับการรับรองเครื่องหมายฮาลาล ได้สร้างความสะดวกและความรวดเร็วในการให้บริการ โดยใช้ Web Site เป็นสื่อกลาง องค์กร/หน่วยงานจะจัดทำ Web Site ขึ้นเพื่อให้ข้อมูลเรื่องราวเกี่ยวกับฮาลาลเบื้องต้นพร้อมทั้งคำแนะนำต่างๆ ให้ผู้สนใจได้ศึกษา และทั้งเปิดโอกาสให้ผู้สนใจขอรับเครื่องหมายฮาลาลสามารถแจ้งความจำนงผ่าน Web Site ได้ และทางองค์กรจะติดตามและให้ข้อมูลเพิ่มเติมต่อไป

2.5 พบว่า IFANCA ใช้วิธีการโฆษณาผ่าน Web Site ที่เกี่ยวข้องกับ Halal เช่น www.halal.com หรือการโฆษณาในนิตยสาร Halalpak (www.halalpak.com)

ข้อคิดเห็นและเสนอแนะ

1. เนื่องจากประเทศไทยเป็นที่รู้จักว่าเป็นเมืองพุทธศาสนา เมื่อพูดถึงอาหารฮาลาล จึงค่อนข้างเสียเปรียบประเทศอื่นๆ ที่เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่าเป็นประเทศของชาวมุสลิม เช่น มาเลเซีย อินโดนิเซีย เป็นต้น ดังนั้น การสร้างศักยภาพการผลิตสินค้าอาหารฮาลาล จึงต้องมุ่งเน้นในด้านคุณภาพและความถูกต้อง จึงควรจะจัดทำโครงการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ตราฮาลาลของไทย ให้ผู้บริโภคชาวมุสลิมทราบว่า ฮาลาลไทยเป็นสัญญลักษณ์แห่งคุณภาพและถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม

2. การปรับปรุงเครื่องหมายฮาลาล (Halal Logo) เช่น เพิ่มคำว่าฮาลาลเป็นภาษาอังกฤษ “HALAL” ลงบนโลโก้ และปรับรูปแบบให้มีความสอดคล้องกับเครื่องหมายฮาลาลขององค์กร/หน่วยงานอื่นๆ

3. เพื่อเพิ่มศักยภาพให้แก่เครื่องหมายฮาลาลของไทย ประเทศไทยอาจจะพิจารณาออกระเบียบกำหนดให้อาหารฮาลาลนำเข้าจากต่างประเทศเพื่อจำหน่ายให้ชาวไทยมุสลิมในประเทศไทย จะต้องได้มาตรฐานของฮาลาลไทย หรือที่จะต้องมีเครื่องหมายรับรองฮาลาลไทย

4. องค์กรรับรองเครื่องหมายฮาลไทยจะต้องร่วมกิจกรรมเพื่อประชาสัมพันธ์เครื่องหมายฮาลาลไทยในต่างประเทศสหรัฐฯ ดังนี้

4.1 การไปเข้าร่วมงานแสดงสินค้าอาหารในสหรัฐฯ เช่น งาน IFT Annual Meeting & Food Expo (www.am-fe.ift.org/cms) ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าและการประชุมและจัดแสดงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในการผลิตอาหารในอนาคตและวัตถุดิบใช้ผลิตอาหาร (Food Ingredients & Additive) ที่ใหญ่ที่สุดของภูมิภาคอเมริกา จัดขึ้นทุกปีโดยสถาบัน Institute of Food Technologist (IFT) มีผู้เข้าชมงานประมาณ 22,000 คน การเข้าร่วมงานจะได้รับประโยชน์ในด้าน การเผยแพร่และประชาสัมพันธ์องค์กรและการให้บริการรับรองเครื่องหมาฮาลาลของไทยให้เป็นที่รู้จักต่อวงการอาหารในสหรัฐฯ

4.2 การเข้าร่วมงานประชุมประจำปีของชาวมุสลิมในสหรัฐฯ เช่น งาน Annual ISNA Convention จัดขึ้นโดย Islamic Society of North America (www.isna.net) ในต้นเดือนกันยายนของทุกปี มีผู้เข้าชมงานประมาณ 12,000 คนโดยในงานจะแยกเป็น 2 ส่วน คือการประชุม และ การจัดงานแสดงสินค้า ซึ่งจะมีประมาณ 500 คูหา ประกอบไปด้วยผู้ผลิตสินค้าฮาลาลและผู้ให้บริการแก่กลุ่มผู้บริโภคมุสลิม การเข้าร่วมงานจะได้รับประโยชน์ในด้านการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เครื่องหมายอาหารฮาลาลไทยให้เป็นที่รู้จักในหมู่ผู้บริโภคชาวมุสลิมในสหรัฐฯ

5. ผู้ผลิตอาหารฮาลาลของไทยควรให้ความสำคัญในด้าน รสชาติ คุณภาพ ราคา และรูปแบบใหม่ ๆ ของสินค้า ให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคมุสลิมรุ่นใหม่ (Second หรือ Third Generation) ซึ่งต้องการสินค้าหลากหลายรูปแบบ อีกทั้งจะเลือกซื้อสินค้าที่มีแบรนด์และเป็น Brand Royalty และเป็นกลุ่มที่ไม่ค่อยเคร่งครัด ว่าเครื่องหมาย/สัญญลักษณ์ฮาลาลจะมาจากประเทศไหนเพียงแต่ขอให้มีตราฮาลาลก็เป็นการเพียงพอแล้ว และจะให้ความสำคัญกับ รสชาติ และ รูปแบบของอาหาร เป็นสำคัญ

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ