การเข้ามาทำงานและลงทุนทางธุรกิจในอิตาลี Marco Mazzeschi

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 21, 2009 11:21 —กรมส่งเสริมการส่งออก

บทนำ

จากอัตราคนเข้าเมืองที่อยู่ในระดับสูงและยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประเทศอิตาลีถือเป็นประเทศเริ่มแรกในกลุ่มสหภาพยุโรปที่มีคนเข้าเมืองเป็นจำนวนมาก และถือเป็นเป้าหมายหลักในการย้ายถิ่นฐานสำหรับกลุ่มประเทศในแถบเมดิเตอร์เรเนียน อย่างไรก็ตาม ประเทศอิตาลียังขาดนโยบายด้านสังคมระดับมหภาคเพื่อจัดการแก้ไขปัญหาดังกล่าวในองค์รวม ด้วยเหตุนี้ ประเทศอิตาลีจึงได้ผ่านการรับรองกฎหมายการตรวจคนเข้าเมืองในปี ๒๕๔๑ และในเดือนสิงหาคม ๒๕๔๕ (Organic Immigration Laws in 1998 and in August 2002) ทำให้การตรวจคนเข้าเมืองของประเทศให้ความสำคัญสำหรับให้แรงงานต่างชาติอาศัยอยู่ในถิ่นกำเนิดของตนเอง (Push Factors) มากกว่าการย้ายถิ่นฐานเข้าสู่ประเทศอิตาลี (Pull Factors)

นอกจากนี้ ประเทศอิตาลียังไม่ได้กำหนดระเบียบและกฎเกณฑ์สำหรับแรงงานต่างชาติที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ดังนั้น กลุ่มบริษัทร่วมทุนต่างชาติที่มีการลงทุนอยู่ในประเทศอิตาลีจึงได้กำหนดระเบียบปฏิบัติดังกล่าว (Agevolata Procedure) เพื่อนำเข้าแรงงานต่างชาติที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น ในระดับผู้บริหาร หรือมีความเชี่ยวชาญพิเศษจากประเทศของ ผู้ลงทุน ในความเป็นจริงแล้ว ขั้นตอนการร้องขอแรงงานต่างชาติที่ตั้งอยู่บนเงื่อนไขโดยบริษัทจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด และเป็นแรงงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านซึ่งไม่สามารถว่าจ้างได้ในประเทศอิตาลี ควรจะได้รับผ่อนผันจากระบบการกำหนดจำนวนแรงงานต่างชาติของประเทศอิตาลี (Quotas System) ที่จะได้รับการพิจารณาให้ทำการว่าจ้างแรงงานต่างชาติภายในจำนวนที่กำหนด โดยผ่านความเห็นชอบจากหน่วยงานของรัฐในแต่ละปี

กลุ่มสมาคมอุตสาหกรรมและพรรคการเมืองต่างๆ ได้พยายามเรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐทำการถ่ายโอนภารกิจการตรวจคนเข้าเมืองให้หน่วยงานหรือองค์กรอิสระ เพื่อผลักดันให้เกิดกลไกที่มีความคล่องตัว (Fast Track Procedure) และ ลดขั้นตอนสำหรับการว่าจ้างแรงงานต่างชาติที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพราะแรงงานต่างชาติส่วนใหญ่จะประสบปัญหาเกี่ยวกับระบบการตรวจคนเข้าเมืองของประเทศอิตาลีที่มีความขัดแย้งในตัวเองไม่มีความไม่ชัดเจนในการออกกฎหมาย และขาดความระมัดระวังในการปฏิบัติงานของหน่วยงานท้องถิ่น นั่นคือสิ่งที่แรงงานต่างชาติจะต้องเผชิญเมื่อต้องปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนด นอกจากนี้ ยังคงมีความขัดแย้งกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ซึ่งมีแนวปฏิบัติที่แตกต่างกัน เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายของหน่วยงานที่แตกต่างกัน

ตั้งแต่ปี ๒๕๔๒ ประเทศอิตาลีได้มีการปรับปรุงขั้นตอนการตรวจคนเข้าเมืองให้มีความคล่องตัวสูง โดยหน่วยงานของรัฐทำการอนุมัติจำนวนการว่าจ้างแรงงานต่างชาติในแต่ละปี และพิจารณาจากความต้องการในตลาดแรงงาน ทั้งนี้ เพื่อว่าจ้างแรงงานต่างชาติที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

  • แรงงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในบางประเภท เช่น พยาบาล บุคลากรทางด้านข้อมูลข่าวสาร และผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับวิศวกรและนักเขียนโปรแกรม จะได้รับผ่อนผันไม่ต้องแสดงหลักฐานอ้างอิงต่างๆ เพื่อสนับสนุนการว่าจ้างแรงงานต่างชาติ
  • แรงงานจากประเทศในแถบเมดิเตอร์เรเนียน เช่น ประเทศโมรอคโค ตูนีเซีย อัลบาเนีย และอียิปต์ เพื่อเปิดโอกาสการว่าจ้างแรงงานต่างชาติ
ขั้นตอนการตรวจคนเข้าเมืองสำหรับการทำงานและการลงทุนทางธุรกิจของประเทศอิตาลี
(Italian Immigration Procedure for Work or Business Purposes)

ขั้นตอนการตรวจคนเข้าเมืองของประเทศอิตาลีสำหรับการทำงานและลงทุนทางธุรกิจจะมีความแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่แรงงานต่างชาติจะพำนักอยู่ในประเทศอิตาลี โดยแบ่งออกได้เป็น ๒ ระยะ ดังนี้

- ธุรกิจระยะสั้น (Short Term Stay)

หากแรงงานต่างชาติมีความต้องการที่จะเดินทางเข้าประเทศอิตาลี เพื่อติดต่อลงทุนทางธุรกิจภายในระยะเวลา น้อยกว่า ๙๐ วัน ให้ปฏิบัติตามขั้นตอนดังต่อไปนี้

1. การขอวิซ่าเพื่อติดต่อธุรกิจ (Business VISA Request) หากแรงงานต่างชาติมีหนังสือเดินทางของประเทศตน (VISA National) จะต้องยื่นแบบคำร้องขอวีซ่าเพื่อติดต่อธุรกิจจากสถานกงสุลของประเทศอิตาลีที่ตั้งอยู่ในประเทศของผู้ร้องขอ การร้องขอวีซ่าประเภทดังกล่าว จะไม่สามารถกระทำได้ทั้งในประเทศอิตาลีและจากสถานกงสุลของประเทศอิตาลีในแต่ละประเทศ หากผู้ร้องขอไม่อยู่ในฐานะของพลเมืองประเทศนั้น โดยทั่วไปขั้นตอนการพิจารณาและอนุมัติวีซ่าจะใช้เวลาประมาณ ๓—๑๕ วัน นับจากวันที่ได้ยื่นแบบคำร้อง อย่างไรก็ตามระยะเวลาในการพิจารณาอาจมีความแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับขั้นตอนการพิจารณาของสถานกงสุลหลังจากยื่นแบบคำร้องขอ

2. สำหรับวีซ่านานาชาติ (Non VISA Nationals) แรงงานต่างชาติที่ถือหนังสือเดินทางนานาชาติ (Non VISA Nationals) สามารถเดินทางเข้าประเทศอิตาลีเพื่อติดต่อลงทุนทางธุรกิจได้ภายในระยะเวลาประมาณ ๙๐ วัน โดยไม่มีความจำเป็นต้องยื่นแบบคำร้องขอวีซ่า ทั้งนี้ ระเบียบและกฎเกณฑ์ของประเทศอิตาลียังไม่มีความชัดเจนสำหรับคำจำกัดความของการติดต่อลงทุนทางธุรกิจ ว่าควรประกอบไปด้วยกิจกรรมรูปแบบใด ดังนั้น นักธุรกิจสามารถเดินทางท่องเที่ยวในประเทศอิตาลีได้ รวมถึงการเดินทางไปยังกลุ่มประเทศต่างๆ (Schengen Countries)เพื่อติดต่อลงทุนทางธุรกิจ เจรจาต่อรอง กำหนดเงื่อนไขความร่วมมือ เข้าร่วมการประชุมสัมมนา ทำการติดตั้งตรวจสอบ และซ่อมบำรุงผลิตภัณฑ์และอุปกรณ์ต่างๆ ที่ได้ วางจำหน่าย หรือการสั่งซื้อสินค้าที่อยู่บนพื้นฐานความร่วมมือด้านธุรกิจและอุตสาหกรรม

- ธุรกิจระยะยาว (Long Term Stay)

หากแรงงานต่างชาติมีความต้องการที่จะเดินทางเข้าประเทศอิตาลี เพื่อติดต่อลงทุนทางธุรกิจภายในระยะเวลามากกว่า ๙๐ วัน กฎหมายของประเทศอิตาลีกำหนดประเภทของแรงงานต่างชาติไว้ ๓ ประเภทด้วยกัน คือแรงงานในสังกัด (Subordinated Workers) แรงงานอิสระ (Autonomous Workers) และแรงงานที่ถูกมอบหมาย (Assigned Workers)

1. แรงงานในสังกัด (Subordinated Workers หรือ Lavoratori Dipendenti) คือ แรงงานต่างชาติที่ได้รับการว่าจ้างจากบริษัทหรือผู้ลงทุนที่ดำเนินธุรกิจอยู่ในประเทศอิตาลี การพิจารณาและอนุมัติวีซ่าสำหรับแรงงานต่างชาติประเภทนี้ (Lavoro Subordinato) จะขึ้นอยู่กับจำนวนแรงงานต่างชาติที่กำหนดโดยหน่วยงานของรัฐในแต่ละปี นอกจากนี้ บริษัทผู้ว่าจ้างในประเทศอิตาลีจะต้องทำการตรวจสอบความถูกต้องของระดับฝีมือ และประวัติทางอาชญากรรมของแรงงานต่างชาติจากสำนักงานแรงงาน (The Labour Authority) และสำนักงานตำรวจ และยื่นคำร้องขอใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) ที่ออกโดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (The Immigration Office) เพื่อเป็นการยืนยันการว่าจ้างแรงงานต่างชาติอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

2. แรงงานอิสระ (Autonomous Workers หรือ Lavoratori Autonomi) คือ แรงงานต่างชาติที่จัดตั้งบริษัทหรือลงทุนทางธุรกิจในประเทศอิตาลี เพื่อรับงานอิสระในลักษณะของบริษัทที่ปรึกษา (Consultants) หรือเพื่อออกใบอนุญาตประกอบอาชีพ เช่น หมอ สถาปนิก หรือทนายความ โดยเป็นบริษัทที่ลงทุนทางธุรกิจตามกฎหมาย หรืออาจเป็นตัวแทนการประกอบธุรกิจของบริษัทในประเทศอิตาลี (Legal Representative)

ขั้นตอนของบริษัทที่ปรึกษาเพื่อออกใบอนุญาตประกอบอาชีพต่างๆ เป็นการดำเนินการที่เป็นไปตามขั้นตอนและ ใช้ระยะเวลานาน และการออกใบอนุญาตทำงานจะต้องเป็นไปตามจำนวนแรงงานต่างชาติที่ถูกกำหนดโดยหน่วยงานของรัฐ ในแต่ละปี ในทางตรงกันข้าม การยื่นแบบคำร้องขออนุมัติวีซ่าสำหรับแรงงานต่างชาติที่ได้รับการว่างจ้างให้ทำงานในบริษัทของประเทศอิตาลีอาจจะดำเนินการได้คล่องตัวมากกว่า ทั้งนี้ บริษัทผู้ว่าจ้างจะต้องมีความพร้อมของเอกสารหลักฐานสำหรับรับรองแรงงานต่างชาติได้อย่างถูกต้องและสร้างความเชื่อมั่นในการพิจารณาทุกขั้นตอน

3. แรงงานที่ถูกมอบหมาย (Assigned Workers หรือ Lavoratori Distaccati) ขั้นตอนการมอบหมาย(Assignment Procedure) เริ่มต้นขึ้นเมื่อแรงงานต่างชาติได้รับการว่าจ้างให้ทำงานในบริษัทของประเทศอิตาลีภายในระยะเวลาไม่เกิน ๒ ปี หรืออาจขยายระยะเวลาได้ถึง ๕ ปี ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขการจ่ายค่าตอบแทนของบริษัทร่วมทุนต่างชาติ นอกจากนี้ กฎหมายการตรวจคนเข้าเมืองของประเทศอิตาลีได้กำหนดประเภทของขั้นตอนการมอบหมายงานในรูปแบบที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความสันพันธ์ระหว่างบริษัทของประเทศอิตาลีและบริษัทร่วมทุนต่างชาติ โดยมีรายละเอียดดังนี้

3 (i) การโอนย้ายในระหว่างบริษัทร่วมทุน (Intra-company Transfer) โดยแรงงานต่างชาติสามารถโอนย้ายจากบริษัทร่วมทุนต่างชาติในต่างประเทศ สู่บริษัทเครือข่ายในประเทศอิตาลีได้ วิธีการมอบหมายงานในลักษณะนี้ จะใช้สำหรับแรงงานต่างชาติที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น ระดับผู้บริหารองค์กร หรือผู้จัดการองค์กร โดยบริษัทร่วมทุนต่างชาติหรือบริษัทในเครือจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดภายในระยะเวลาอย่างน้อย ๖ เดือน

3 (ii) ข้อตกลงความร่วมมือการให้บริการ (Service Agreement Assignment)โดยอาศัยความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนแรงงานระหว่างบริษัทร่วมทุนต่างชาติและบริษัทในประเทศอิตาลี ซึ่งข้อตกลงความร่วมมือจะต้องได้รับความยินยอมตามเงื่อนไขของทั้ง ๒ บริษัท เพื่อกำหนดลักษณะของบริการความร่วมมือและแผนการดำเนินงาน และแรงงานต่างชาติจะได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบการดำเนินงานภายในระยะเวลาที่กำหนด

3 (iii) แรงงานคุณภาพ (Highly Qualified Workers) โดยอนุญาตให้บริษัทหรือองค์กรความร่วมมือที่ดำเนินการอยู่ในประเทศอิตาลี สามารถโอนย้ายแรงงานต่างชาติที่มีคุณภาพเพื่อเข้ามาทำงานในบริษัทของประเทศอิตาลีภายในระยะเวลาที่กำหนด ทั้งนี้ เพื่อช่วยในการพัฒนาระบบงานและรูปแบบของกิจกรรมพิเศษต่างๆ

3 (iv) แรงงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน (Special Categories ofWorkers)จากรายชื่อลักษณะแรงงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน แสดงให้เห็นถึงลักษณะงานเฉพาะด้านที่ถูกกำหนดไว้สำหรับแรงงานต่างชาติในประเทศอิตาลีภายในระยะเวลาที่กำหนด เช่น นักหนังสือพิมพ์ (Journalists) นักกีฬา (Athletes) นักศิลปะ (Artists) และนางพยาบาล (Nurses)

แนวโน้มในอนาคต (Trends)

ถึงแม้ว่าจำนวนคนเข้าเมืองของประเทศอิตาลีจะมีปริมาณลดลงเนื่องมาจากผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจประเทศอิตาลียังต้องเตรียมความพร้อมในการพัฒนาระบบต่างๆ ให้เพียงพอและมีประสิทธิภาพสำหรับรองรับแรงงานต่างชาติในอนาคต อย่างไรก็ตาม แนวทางที่หน่วยงานของรัฐจะดำเนินการเกี่ยวกับการตรวจคนเข้าเมือง เป็นประเด็นที่มีความเสี่ยงสำหรับสถาบันการเมืองการปกครองของประเทศ และอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งขึ้นในสังคมเป็นอย่างมาก สิ่งที่น่าสนใจก็คือ แนวทางการพัฒนาระบบที่เรียกว่า “EU Blue Card” ซึ่งจะบังคับใช้เป็นกฎหมายอย่างเต็มรูปแบบ โดยผ่อนผันให้แรงงานต่างชาติสามารถทำงานได้ในทุกพื้นที่ของประเทศเพื่อลดช่องว่าง การขาดแรงงานในตลาดแรงงาน โดยทั่วไป ประเทศอิตาลีจะมีความล่าช้าในเรื่องของการนำกฎระเบียบของสหภาพยุโรป (EU Legislation) ไปสู่การปฏิบัติ จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะมีการนำมาตรการบางอย่างที่เป็นประโยชน์มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงาน ก่อนที่จะประกาศบังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มรูปแบบต่อไป

หากไม่คำนึงถึงปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจในปัจจุบัน อาจคาดหวังได้ว่าโอกาสสำหรับแรงงานต่างชาติที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ แรงงานคุณภาพ และแรงงานบริการสำหรับสถานพยาบาลผู้สูงอายุ ยังคงเป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานของประเทศอิตาลีเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลงไป

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโรม

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ